Blog

เจาะลึกมุมมอง ความคิด และความหลงใหลในชีวิตของสถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย ดวงฤทธิ์ บุนนาค

เจาะลึกมุมมอง ความคิด และความหลงใหลในชีวิตของสถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย ดวงฤทธิ์ บุนนาค

22 สิงหาคม 2559

ถ้าพูดถึงสถาปนิกชาวไทยที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักแห่งยุคสมัยทั้งในบ้านเราและในระดับสากล ชื่อของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทสถาปนิก DBALP (DUANGRIT BUNNAG ARCHITECT LIMITED) ต้องอยู่ในอันดับต้นๆ เป็นแน่แท้ ด้วยสไตล์การออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งคมคาย และแฝงความสัมพันธ์อย่างกลมกลืมกับบริบทของที่ตั้งและสภาพแวดล้อมรอบข้าง กับผลงานอันโดดเด่นอย่าง โครงการ H1 ทองหล่อ, รีสอร์ท Costa Lanta กระบี่ (ซึ่งได้รางวัล the Best 50 New Hotels in the World จากนิตยสาร Conde Nast Traveler), ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุด ผลงานรีสอร์ท The NAKA ที่ภูเก็ต ที่เขาออกแบบก็ชนะรางวัล International Architectural Award จากพิพิธภัณฑ์ส่งเสริมด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งชิคาโก (Chicago Athenaeum Museum of Architecture and Design) และ ศูนย์สถาปัตยกรรม ศิลปะ การออกแบบ และชุมชนเมืองศึกษาแห่งสหภาพยุโรป (Centre for Architecture Art Design and Urban Studies) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ งานดีไซน์ที่ล้ำสมัย โดยนับเป็นหนึ่งในรางวัลสำคัญอันทรงคุณค่าและมีชื่อเสียงที่สุดในโลกอีกด้วย

หรือถ้าใครไม่ค่อยมักคุ้นกับวงการสถาปัตยกรรม ก็น่าจะเคยแวะไปเยี่ยมเยือน The Jam Factory ที่ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือคลองสาน โครงการสุดชิคริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปรับปรุงจากโรงงานเก่าจนกลายเป็นแหล่งพักผ่อนในดวงใจของคนเมือง ที่มีทั้งร้านหนังสือ ร้านอาหาร แกลเลอรี ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และงานดีไซน์ และลานกว้างที่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์และบันเทิงท่ามกลางร่มเงาของแมกไม้ใหญ่อันร่มรื่น ซึ่งก็เป็นโครงการที่เขาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นนั่นเอง

ต้องขอบคุณเทคโนโลยีการสื่อสารอันไร้พรมแดนของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เรามีโอกาสพูดคุยทางไกลกับเขาลัดฟ้าในระหว่างที่เขากำลังรอการขึ้นไปบรรยายในงานสัมนาทางสถาปัตยกรรมที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาร่วมกันสัมผัสกับตัวตนความคิด และวิถีชีวิตการทำงานของสถาปนิกระดับแนวหน้าอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค หรือคุณด้วง เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ในแวดวงสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆ กันเถอะ

WURKON:

คุณดวงฤทธิ์ไปบรรยายเกี่ยวกับอะไรที่เซี่ยงไฮ้เหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
คือผมจบจากโรงเรียนชื่อ AA (Architectural Association School of Architecture) ที่ อังกฤษ ซึ่งเขาจะมีโปรแกรมที่เรียกว่า Visiting School ที่ไปสอนและทำเวิร์คช็อปทั่วโลกเป็นร้อยโปรแกรม แล้วบังเอิญเพื่อนผมเขาเป็นครูสอนอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ งานประชุมสัมมนาที่ SHANGHAI TEN เขาก็เลยเชิญผมมา เขาเอาคนที่เรียน AA มาพูดสี่ห้าคน ซึ่งเป็นคนเจ๋งๆ ทั้งนั้นน่ะ ผมก็อยากเป็นคนเจ๋งบ้าง ผมก็เลยมา (หัวเราะ) แค่นั้นแหละ มาบรรยายเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม จริงๆ ก็เอาโปรเจ็กต์ของเรานั่นแหละมาบรรยาย คือเวลาสถาปนิกเขาเดินทางไปบรรยายทั่วโลก เขาก็จะแชร์ไอเดีย แชร์ความคิด เอาผลงานมาให้ดูแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กัน อันนี้มันก็เป็นเรื่องปกติของวิชาชีพ ผมน่ะทำเยอะหน่อย ผมไปบรรยายเยอะ ส่วนมากคนไทยจะไม่ชอบไปบรรยายเพราะภาษาอังกฤษจะไม่ค่อยแข็งเลย จะหลีกเลี่ยงที่จะไปบรรยาย แต่ผมนี่แรดมากน่ะ ใครเชิญมาเล็กใหญ่อะไรไปหมด เพราะว่าผมอยากแชร์ให้เขาเห็นว่าคนไทยก็มีงานนะเว้ย ไม่ได้ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน (หัวเราะ)

The Naka - ภูเก็ต

WURKON:
ล่าสุดผลงานของสตูดิโอ DBALP ของคุณดวงฤทธิ์ก็เพิ่งได้รางวัลจากชิคาโก้มาด้วย

ดวงฤทธิ์:
ใช่ จากโปรเจ็กต์ The Naka ที่ภูเก็ต จริงๆ ผมส่งหลายชิ้นนะครับ แต่ชิ้นนี้ได้รางวัลเยอะเหมือนกัน แล้วที่ได้กับพวก T.R.O.P. terrains + open space กับ อมตะ (Department of ARCHITECTURE) ที่เป็นห้าหกโปรเจ็กต์พวกนั้นก็เป็นอีกรางวัลนึงชื่อ World Architecture แต่อันนั้นเพิ่งเข้ารอบ Short list ยังไม่ได้รางวัล ต้องไปพรีเซนต์ที่เบอร์ลินเดือนกันยายนนี้ ก็ต้องดูว่าจะได้รางวัลหรือเปล่า แต่รางวัลนี้มันเป็นของ Chicago Athenaeum ซึ่งมันเป็นพิพิธภัณฑ์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งผมส่งมาสี่ห้าปีแล้ว ไม่ได้สักอัน (หัวเราะ) เพิ่งมาได้อันนี้แหละ มันก็เป็นเวทีใหญ่เหมือนกัน แต่มันไม่ได้เป็นเวทีใหญ่สุดนะ แต่เป็นเวทีนึงที่คนรู้จักเยอะ เราก็คิดว่ามันก็เวิร์คที่จะส่ง ก็แสดงว่าเวทีมันก็น่าเชื่อถือแหละ เพราะมีส่งแล้วไม่ได้ด้วย (หัวเราะ) ไม่ใช่ส่งแล้วจะได้กันหมด

WURKON:
รางวัลนี้เป็นรางวัลแบบไหนเหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
มันก็เป็นรางวัลที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโดยตรงน่ะครับ ก็มองในแง่ของดีไซน์ ในแง่ของการใช้วัสดุ ในแง่ของการออกแบบชุมชนเมือง มองในทุกๆ แง่มุมของสถาปัตยกรรม เหมือนกับเป็นรางวัลที่ให้กับสถาปัตยกรรมโดยตรงเลย บ้านเราส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักรางวัลนี้กันเท่าไหร่ เพราะอาจจะไกลตัวนิดนึง แต่ในโซนของยุโรปและอเมริกาจะรู้จักรางวัลนี้เยอะ ผมคิดว่ามันก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าอย่างเราประกวดแบบใกล้ๆ บ้านเราเราก็น่าจะได้แล้ว เพราะคนแถวนี้ก็รู้จัก แต่เราก็อยากคนให้คนโซนยุโรปและอเมริการู้จักเราบ้าง ต้นเดือนกันยานี้ก็ต้องไปรับรางวัลที่อิสตันบุล ตุรกี ไปช่วงล้มรัฐประหารพอดี (หัวเราะ)

WURKON:
มีคนไทยเคยได้รางวัลนี้มาก่อนไหมครับ

ดวงฤทธิ์:
เท่าที่ผมรู้ยังไม่มีนะ เอเชียก็น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นยุโรปและอเมริกาเยอะ นี่ก็เหมือนฝ่าด่านเข้าไป จริงๆ ถ้าจะพูดให้ดูดี อันนี้คือผมทำเพื่อชาตินะ (หัวเราะ) อยากจะให้คนฝั่งโน้นมันยอมรับพวกเราบ้าง เพราะจริงๆ แล้วคนไทยเก่งๆ เยอะ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่ว่าเราไม่ค่อยแรดออกไปข้างนอก ไม่ค่อยทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก เหมือนเป็นนิสัยคนไทย คือจะเป็นเพราะว่าถ่อมตัวหรือขี้เกียจผมก็ไม่แน่ใจ ซึ่งมันก็ทำให้ชื่อเสียงของคนไทยถูกจำกัดในวงแคบมาก แต่ตอนนี้ก็ดีนะ มันก็มีคนฝ่าด่านออกไปบ้างเหมือนกัน อย่างรางวัล World Architecture เนี่ย น้องๆ ก็ส่งเยอะ คือผมก็กระตุ้นให้ทุกคนส่ง เพราะผมคิดว่ายังไงก็ต้องพยายามทำให้พวกเขารู้จักคนไทยให้ได้ เพราะไม่งั้นอนาคตมันจะหากินกันลำบากน่ะ

WURKON:
เพราะตอนนี้โลกมันก็แคบลง

ดวงฤทธิ์:
ใช่ จะหากินกันแต่ในบ้านเราอย่างเดียวมันก็ไม่ค่อยเวิร์ค เพราะคนอื่นเขาก็อยากเข้ามาทำมาหากินในบ้านเราด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างการยอมรับในระดับต่างประเทศให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็เป็น Mission Statement (ถ้อยแถลงพันธกิจ) ที่ผมอยากจะทำให้มันเกิดขึ้นแหละ เพราะถ้าเขาหันมามองสักคนนึงน่ะนะ เดี๋ยวเขาก็หันมามองที่เหลือด้วย ซึ่งอันนี้มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโซนเอเซียไปแล้ว เราคิดว่าก็อยากให้มันเกิดขึ้นกับยุโรป อเมริกาบ้าง ว่าเออ หันมาดูสถาปนิกไทยเราออกแบบเป็นนะเว้ย สวยด้วย เผลอๆ จะสวยกว่าอีก

WURKON:
ตอนนี้คุณดวงฤทธิ์มองว่าแนวโน้มของงานสถาปัตยกรรมโลกมันไปในทิศทางไหนเหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
เมื่อวานนี้ตอนที่สัมมนากันเราก็พูดกันว่า จริงๆ แล้ว แนวความคิดทางสถาปัตยกรรมในโลกทั้งหมดมันไม่ได้เปลี่ยนไปจากยุค 80s, 90s เท่าไหร่ คือช่วงปี 90s ผมไปเรียนที่ AA พอดี แล้วมันก็มีความคิดใหม่ ๆ ทางสถาปัตยกรรมเยอะมากเลย ไอ้สิ่งที่คุณเรียกว่า Deconstruction, Postmodernism มันเกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยผมหมดเลย (อันนี้ผมหมายถึงในทางสถาปัตยกรรมนะ ไม่ใช่ในทางวรรณกรรม) พอถึงตอนนี้ทุกอย่างที่เรามีมันเรียกว่า “more of the same” น่ะ คือมันไม่มีอะไรออกไปจากของเก่าเลย สิ่งที่เพิ่มเข้ามามันคือคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง คือคอมพิวเตอร์มันสร้างสุ้มเสียงหรือหน้าตาของสถาปัตยกรรมให้มันซับซ้อนขึ้น ให้มันเหมือนจริงขึ้น เหมือนเรามีเทคนิคใหม่ มีดินแบบใหม่ในการปั้นรูป ขึ้นรูปได้ มันก็ดูหวือหวา แต่แนวความคิดหรือแก่นของมันไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเลย เอาจริงๆ เราไม่มีอะไรใหม่เลยในทางสถาปัตยกรรม มันแค่ดูหวือหวา ดูเฟี้ยวขึ้น เท่านั้น ผมกลับคิดว่าแนวคิดที่เรียกว่า 

 Ontological* มันเป็นวิธีคิดใหม่ทางสถาปัตยกรรมซึ่งมันลงไปลึกกว่าวิธีคิดทางสถาปัตยกรรมทั่วๆ ไป คือลงไปลึกถึงแหล่งกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ อันนี้เป็นวิธีที่มันจะทำให้สถาปัตยกรรมมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แต่มันยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น อย่างในมาเลเซียเองก็มีสถาปนิกชื่อ อึง เสก สัน (Ng Sek San) ก็เริ่มมีแนวความคิดใหม่ๆ แบบ Ontological ที่มันมีความเป็นเอเซีย มีความเป็นเซนอยู่เยอะมาก ซึ่งมันสามารถพัฒนาไปได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังค้นคว้าอยู่ วันนี้ผมก็จะพูดเรื่องนี้แหละ เราก็จะเผยแพร่แนวคิดแบบนี้ออกไป แต่เราจะไม่พูดว่ามันเป็นตะวันออกนะ เราพูดว่ามันเป็น Ontological ซึ่งมันจะลงไปลึกกว่าแนวคิดแบบตะวันออกหรือตะวันตก ซึ่งเราไม่อยากแบ่งแยกแบบนั้น

*Ontological คือแขนงหนึ่งของปรัชญาที่มุ่งศึกษาสภาวะแห่งความเป็นจริงหรือธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย เพื่อจะให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ว่า อะไรคือความเป็นจริงอันเป็นที่สุด

TCDC - เชียงใหม่

WURKON:
เอาจริงๆ ตอนนี้โลกทั้งสองฝั่งก็หลอมรวมกันจนแทบจะแยกไม่ออกแล้ว

ดวงฤทธิ์:
ใช่ มันเป็นโลกเดียวกันหมดแล้ว ประเด็นก็คือว่าถ้าเราแยกเป็นตะวันออกหรือตะวันตก เราก็จะมีข้อจำกัด ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมแค่คิดว่า Ontological มันมีที่มาบางอย่างเหมือนกับตะวันออก แต่มันก็ไม่ใช่ตะวันออกทั้งหมด เพราะเรื่องนี้ (มาร์ติน) ไฮเดกเกอร์ (นักปรัชญาชาวเยอรมัน) เป็นคนพูด แต่รากเหง้ามันมาจากตะวันออกนั่นแหละ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจ สำหรับวิธีการนำเสนอใหม่ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งมันไม่ได้พูดในระดับของความคิดหรือปรัชญาทางสถาปัตยกรรมแล้ว แต่มันลงลึกไปถึงต้นกำเนิดของความคิดเลย และผมคิดว่ามันจะทำให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่มันชัดเจนขึ้น ดูแล้วสบายตา แต่มันสวย และมัน “จริง” ซึ่งจะทำให้คนหลงรักมากขึ้น ทุกวันนี้เราดูงานสถาปัตยกรรมเฟี้ยวๆ แล้วเราก็บอกว่า ก็เรื่องของมึง มึงแน่ มึงเก่ง มึงมีตังมึงก็ทำไปสิ ไม่ใช่เรื่องของกู (หัวเราะ) คือเราไม่ได้หลงรักมันน่ะ แต่ถ้าผมเปรียบเทียบกับ Jam Factory เนี่ย คนเดินเข้ามาแล้วมันหลงรักน่ะ ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมมันควรจะเป็นแบบนั้น ควรจะเป็นที่ที่คนเดินเข้ามาแล้วตกหลุมรักน่ะ มันไม่เกี่ยวกับดวงฤทธิ์ คนเดินเข้ามา Jam Factory โอเค อาจจะรู้ว่าดวงฤทธิ์ทำ แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับดวงฤทธิ์เลย แต่เป็นสถานที่ที่ทำให้เขาหลงรัก ซึ่งผมคิดว่าสถาปัตยกรรมมันควรจะถูกสร้างออกมาแบบนั้น มากกว่าอาคารที่ดูก้าวร้าวและวางก้ามว่ากูแน่ กูเก่ง ไม่ได้ว่าใครนะ อันนี้ผมเล่าให้ฟังเฉยๆ (หัวเราะ)

WURKON:
อันนี้ทำให้นึกถึงตอนที่เคยคุยกับสถาปนิกคนนึงเขาบอกว่าเขาไม่อยากทำงานสถาปัตยกรรมที่มีเสียงดัง

ดวงฤทธิ์:
ผมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดคล้ายๆ กับที่ผมพูดนะ แต่มันก็ไม่เชิงเหมือนกันซะทีเดียว ผมว่าเสียงดังได้ ไม่มีปัญหา คือผมก็เป็นคนเสียงดัง แต่มันมีความนอบน้อมถ่อมตัวในความดังนั้น คือ “It’s not about me” น่ะ ผมไม่เคยคิดว่างานสถาปัตยกรรมของผมมันเป็นอัตลักษณ์หรือตัวตนของผมนะ ผมไม่เคยทำจากตัวตนผม แต่วิธีที่ผมไม่ได้ทำมาจากตัวตนของผมมันก็เลยมีตัวตนมีเอกลักษณ์ไง ถ้าคนพยายามทำให้สถาปัตยกรรมมีอัตลักษณ์ตัวตนสำหรับสถาปนิก มันก็จะกลายเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อสถาปนิก ไม่ใช่สถาปัตยกรรมเพื่อประชาชน นึกออกไหม ซึ่งอันนี้คนก็ไม่หลงรัก แล้วผมว่าสุดท้ายมันก็ไม่มีตัวตน ซึ่งวิธีที่ผมอธิบายมันจะเป็นมุมมองนั้น มันจะเสียงดังก็ได้ เวลาผมไปบรรยายผมก็เสียงดังนะ (หัวเราะ) เวลาผมส่งประกวดงานผมก็เสียงดัง แต่มันเป็นวิธีดังอีกแบบนึง เราตะโกนไปยังอีกพื้นที่นึงที่เขายังไม่ได้ยินเรา คือถ้าเราตะโกนดังแข่งกันเนี่ย มันก็ไม่มีประโยชน์ มันก็เต็มไปด้วยเสียงดัง แต่ถ้าเราตะโกนดังเรียกให้คนอื่นมองเห็นเรา อันนี้ผมว่าควรจะดัง

WURKON:
ตอนนี้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนในการออกแบบรวมถึงในงานสถาปัตยกรรมด้วย คุณดวงฤทธิ์มีมุมมองอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างครับ

ดวงฤทธิ์:
สำหรับผมมันเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนคุณกำลังถามว่า พี่ด้วงครับตอนนี้พี่ด้วงหายใจเข้าหายใจออกไหมครับ? คือสำหรับผมมันเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องถามน่ะ ไอ้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันต้องอยู่อยู่แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของบริบท คุณไม่จำเป็นต้องพูดถึงมันด้วยซ้ำ แต่คุณไม่ทำไม่ได้น่ะ ทุกวันนี้ มันต้องเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ มันต้องอยู่ในจิตใต้สำนึก มันต้องอยู่ในทุก ๆ อย่างที่คุณทำอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ ผมถึงไม่เคยพูดว่างานผมเป็นงานออกแบบที่ยั่งยืนนะครับ เพราะมันดูงี่เง่ามาก ถ้าผมนั่งอยู่แล้วบอกว่า ผมกำลังหายใจเข้านะครับ ผมกำลังหายใจออกนะครับ เพราะสำหรับผม มุมมองของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมันเหมือนคุณหายใจเข้าและหายใจออก คุณไม่จำเป็นต้องบอกใครหรือเปล่าวะ? คุณต้องทำอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกวันนี้มันไม่สามารถออกแบบสถาปัตยกรรมโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถเอาตรงนี้มาเป็นจุดขายของผมได้ มันไม่ใช่ประเด็นน่ะ

WURKON:
แต่มันก็มีบางคนที่ไม่คำนึงถึงตรงนี้เลยเหมือนกันนะครับ

ดวงฤทธิ์:
ไอ้นั่นผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมนะ คือเราต้องแยกให้ออกระหว่างวิถีของตึกกับวิถีของสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมมันมีมุมมองของการบูรณาการ มันมีการผสมผสานอยู่ในตัว มันต้องเอามุมมอง เอาบริบทต่างๆ เข้ามาประมวล เข้ามาคิด แต่ในวิธีที่ตึกมันถูกก่อกำเนิดขึ้น มันไม่ต้องคิดอะไรเลย มันก็เป็นแค่โครงสร้าง เป็นตึก เอาคนยัดเข้าไปได้ จบ! นิยามระหว่างคำว่า “สถาปัตยกรรม” กับ “ตึก” สำหรับผมมันเลยต่างกัน มันไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน เรามีตึกเยอะในประเทศไทย เป็นโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งาน แต่เราไม่นับรวมเป็นสถาปัตยกรรม สำหรับผมนะ ถ้าเกิดเขาบอกว่าเขาทำตึกขึ้นมาตึกนึง แล้วไม่คิดถึงอะไรเลย ไม่สนใจอะไรเลย ไม่เอามุมมองของสภาพแวดล้อมเข้ามา ไม่เอามุมมองของการใช้งาน ไม่มีความพยายามที่จะทำให้มันแตกต่างจากงานที่เขาเคยทำอยู่แล้ว แค่ทำตึกให้มันเสร็จไปอีกตึกนึง แล้วขายเอาเงินมา อันนี้สำหรับผมมันเป็นแค่ตึก มันไม่ใช่สถาปัตยกรรม เพราะฉะนั้น สำหรับผม คนที่ออกแบบตึกกับคนที่ออกแบบสถาปัตยกรรมมันยืนอยู่คนละที่กัน

WURKON:
อย่างโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาน่ะเหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
อันนั้นก็คืออันนึงที่มันไม่ได้สร้างขึ้นมาจากบริบทไง ไม่ต้องพูดว่ามันไม่เป็นสถาปัตยกรรม แต่ในแง่ของเซนส์ของความสร้างสรรค์ เวลาเราสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างมันต้องมีบริบทอะไรบางอย่าง แต่โครงการนี้มันไม่ได้สร้างมาจากบริบท แต่มันถูกสร้างเพราะมีคนนึงอยากสร้าง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะสร้างไปทำไม ไม่รู้ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังมันในการจะสร้าง ซึ่งอันนี้ก็ต้องไปถกเถียงกัน แต่เวลาที่โครงการมันไม่ได้ถูกสร้างจากความต้องการของประชาชน คือคนที่อยู่ในเมืองเขาไม่อยากได้ ตอนทำคุณก็ไม่เคยมาถามเรา เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันมีอะไรผิดปกติตรงนี้แล้ว คุณไปสร้างที่บ้านคุณก็ไม่มีปัญหาไง จะสร้างทาง 14 กิโลเมตรหลังบ้านคุณ มันไม่มีปัญหา แต่พอมาสร้างในเมืองเนี่ย มันต้องเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มันต้องบวกเอาประชาชนเข้ามาในบริบทในการสร้างด้วย เวลาที่มันไม่ได้ทำแบบนั้น มันไม่เวิร์ค อันนี้คุณตัดสินใจว่าคุณจะทำกันละ แล้วคุณยัดเยียดให้ประชาชนมาเห็นด้วยทีหลัง มันทุลักทุเลน่าดู มันไม่ใช่เรื่อง มันตอแหลละ ผมว่าโครงการนี้มันมีความตอแหลระดับสูงน่ะ

WURKON:
พูดเรื่องวัสดุทางสถาปัตยกรรมบ้างครับ ตอนนี้การกลับมาใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่นี่ดูเหมือนจะกลับมากลายเป็นเทรนด์ที่ฮิตกันในวงการสถาปัตยกรรมมากเหมือนกัน

ดวงฤทธิ์:
โอ ตอนนี้ผม Crazy มาก ผมกำลังทำโครงการนึงทำจากไม้ไผ่ ความจริงผมเองก็สนใจ แต่ผมไม่มีปัญญาไง ผมก็ไปเจอกับมาร์คูส (โรเซลีบ/Markus Roselieb) ที่เชียงใหม่ เขาศึกษาเรื่องไม้ไผ่ เข้าใจธรรมชาติของไม้ไผ่มาก ซึ่งผมคิดว่าไม้ไผ่เนี่ย บางกาละเทศะมันเหมาะสมแฮะ มันใช้ได้ ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ แล้วผมก็เริ่มพัฒนาโปรเจ็กต์นึงที่พัทยา กำลังทำแบบอยู่ มันใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักหมดเลยนะ ใหญ่บึ้มเลย 800 ตารางเมตร ทำจากไม้ไผ่หมดเลย แล้วผมไม่ได้ใช้ไม้ไผ่เพราะความดัดจริตว่าอยากจะเป็นคนรักษ์โลกอะไรนะ ผมมองเห็นคุณค่าของมัน คือผมพบว่า เออ ไม้ไผ่มันเวิร์คจริงๆ โว้ย! คือมันสามารถทำตึกในฟอร์มโค้งๆ อย่างที่ผมอยากทำได้ดีกว่าและถูกกว่าเหล็ก ทำแล้วมีเหตุผลที่จะทำ เพราะธรรมชาติของไม้ไผ่มันมีความโค้งเวลาเราดัดใช่ไหม มันทำแล้วเป็นธรรมชาติ คือผมสนใจไม้ไผ่เพราะ หนึ่ง ความแข็งแรงมันพอๆ กับเหล็ก และสอง มันสามารถสร้างรูปทรงอะไรบางอย่างซึ่งแปลกและมีเอกลักษณ์ได้ ซึ่งเหล็กก็สามารถสร้างได้เหมือนกัน แต่มันไม่เป็นธรรมชาติ มันฝืนน่ะ และมันแพง ไม้ไผ่มันทำได้ถูกกว่า และไม่ค่อยฝืน ซึ่งอันนี้ผมชอบและทำให้ผมสนใจไม้ไผ่

WURKON:
แล้วในแง่ของความคงทนล่ะครับ

ดวงฤทธิ์:
โอเคเลยครับ คือเขามีการศึกษาวิธีการคงคุณภาพมัน อย่างการเอาไปแช่บอแรกซ์ เอาน้ำตาลออกมาจากไม้ไผ่ มันก็จะไม่มีมอดละ แล้วเขาก็เอาไปตากแดดรับความร้อนแล้วก็เอาน้ำราดให้เส้นใยและเยื่อมันแข็งแรงน่ะ เขาเอาไปก็ทำโรงเรียนที่เชียงใหม่มาหกเจ็ดปีแล้ว ผมไปดูมาแล้วมันก็ยังใช้ได้นะ คือแข็งแรงเลย จริงๆ แล้วถ้าเราเอามุมมองเดิมที่มีกับไม้ไผ่ออกไปได้ปุ๊บเนี่ย มันจะเป็นวัสดุซึ่งมีความเป็นไปได้และใช้งานได้เยอะเลยทีเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าทุกตึกผมต้องทำด้วยไม้ไผ่นะ ไม่ใช่ แค่บางอันที่เวิร์ค ข้อดีอีกอย่างคือมันเป็นวัสดุซึ่งเราสามารถปลูกได้ คือผมเนี่ยชอบไม้ คนส่วนมากบอกว่าผมเนี่ยเลว เพราะชอบใช้ไม้ ตัดไม้ทำลายป่า ผมก็บอกว่า เดี๋ยวนะ! คือไม้ที่กูใช้เนี่ย กูใช้ไม้จากป่าปลูก คือไม้สน มันมีการปลูกทดแทนได้ ไม้ไผ่ก็เหมือนกัน มันปลูกได้ ถ้าเราไม่ใช้ไม้ เราใช้เหล็กใช้หินเนี่ย มันหมดไปเรื่อยๆ เลยนะ แต่ไม้นี่ปลูกได้ ผมคิดว่าอาคารที่ทำจากไม้น่ะดี แล้วไม้เนี่ยมันก็เป็นวัสดุซึ่ง ค่าพลังงานในการผลิตมัน เขาเรียก Imminent Energy ต่ำมาก ถ้าเราใช้เหล็กผลิตอาคาร ค่าพลังงานมันอยู่ที่ 20 แต่ถ้าเราใช้ไม้ ค่ามันอยู่ที่ 8 ประมาณนั้น

WURKON:
เอาจริงๆ ในแง่ของการเกิดใหม่และการทดแทน ไม้มันก็เป็นวัสดุที่ใช้เวลาน้อยที่สุดถ้าเทียบกับวัสดุอื่นๆ

ดวงฤทธิ์:
ใช่ๆ ไม้มันเร็วสุดแล้วก็ถูก คือเรามักไปมองเรื่องพลังงานไง ว่าอาคารแบบนี้มันจะใช้พลังงานเท่าไหร่ รีสอร์ตที่ผมทำแต่ละอันมันไม่ติดแอร์ไง ก็เลยไม่ต้องสนใจเรื่องพลังงาน ลอบบี้เปิดโล่งก็จบ ใช้อุณหภูมิจากสภาพแวดล้อม มันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ทีนี้ถามว่าในแง่สิ่งแวดล้อมมันจะวัดด้วยอะไรล่ะ มันก็ไปวัดเรื่องของ Imminent Energy คือค่าพลังงานแฝงในการผลิตอาคารหลังนั้น ซึ่งอันนี้มันจะหมายรวมถึงเรื่องวัสดุต่างๆ การเดินทางของวัสดุ ว่ามาจากที่ไกลหรือใกล้ ไอ้พวกนี้มันจะพิจารณาหมด ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ บ้านเราพอพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็จะนึกถึงการรีไซเคิล กับการประหยัดพลังงานสองอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีมุมมองอยู่ห้าอย่างที่เขาพูดกัน ของผมก็จะไปครอบคลุมมุมมองเรื่อง Imminent Energy กับ Carbon Footprint อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องรีไซเคิล อีกอย่าง คุณรู้ไหมว่าวัสดุที่เอามารีไซเคิลบางอย่าง ค่า Imminent Energy สูงกว่าเอาวัสดุใหม่มาทำอีก คือโอเค คุณเอาขยะมารีไซเคิลได้บางส่วน แต่คุณใช้พลังงานลงไปอีกเยอะมากกว่าการผลิตปกติ ซึ่งเราก็ต้องมาบวกลบกันว่า Carbon Footprint มันถูกใช้ไปเท่าไหร่ ถูกป่ะ ผมว่าในสภาพแวดล้อมสุดท้ายมันก็ไปจบตรงนี้นี่แหละ ว่าเราผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่าไหร่ อันนี้คือมาตรวัดสำคัญ

The Jam Factory - คลองสาน (ภาพล่างสุดจากเพจ The Jam Factory)

WURKON:
อย่าง Jam Factory ของคุณดวงฤทธิ์นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ไหมครับ

ดวงฤทธิ์:
ใช่ จริงๆ Jam Factory ถ้าเกิดเราพูดสั้นๆ เกี่ยวกับมุมมองทางด้านสภาพแวดล้อมเนี่ย มันก็เป็นการเอาโกดังเก่ามาทำ ซึ่งโอเค มันเริ่มต้นจากผมไม่มีเงิน ผมก็ต้องเริ่มต้นจากการใช้วิธีเอาของเก่ามาปรับปรุงใหม่เอา สร้างใหม่มันแพง ใช่ไหม แต่ผลพลอยได้ของมันจริงๆ คือ มันเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า เออ มึงเอาตึกเก่าๆ ที่ดูไม่มีค่ามาทำให้มีค่าก็ได้นี่หว่า! เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ มีคนอยากเอาตึกเก่าๆ มาปรับปรุงใหม่เยอะมาก แม่งโคตรบันดาลใจเลย ข้อดีที่มันเกิดขึ้นคือ คุณก็เซฟ Carbon Footprint ในการสร้างตึกใหม่ใช่ป่ะ อันนี้มันเป็นอะไรที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้จริงๆ เลย ไม่ได้เป็นแค่แนวคิดน่ะ ผมว่าสิ่งที่มันดีเกี่ยวกับ Jam Factory คือ มันอนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้น แล้วมันไม่ได้พยายามดัดจริตเป็นช๊อปปิ้งมอลล์ มันไม่ได้พยายามทำกิจกรรมเพื่อจะโปรโมทตัวเอง เอางี้ดีกว่า คือคนมาใช้พื้นที่เราเพื่อทำกิจกรรมที่เขาอยากทำ มันเกิดขึ้นแบบนั้น เราทำตลาดนัดทุกสิ้นเดือนให้ชาวบ้านหรือเด็กๆ รุ่นใหม่ เอาของมาขายได้ มีที่ขายของ เราเก็บค่าเช่าถูกจะตาย มันเหมือนเป็นพื้นที่ทางธุรกิจขนาดเล็กในบริเวณนั้น ซึ่งเราก็แฮปปี้ไง ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือ มี Thailand Young Farmer มาขายของ คือมันสนุกน่ะ คนถึงชอบ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับตัวเอง เราทำเกี่ยวกับคนอื่นตลอด ผมมองถึงมุมมองของคนมากกว่ามุมมองของตัวเองน่ะ ผมคิดว่า Jam Factory มันจะทำยังไงได้บ้างที่จะเติมเต็มคนโดยรอบ คนในวงการศิลปะ วงการสถาปัตยกรรม วงการดนตรี ฯลฯ เราถามตัวเองว่าเราจะเติมเต็มคนพวกนี้ได้ยังไงบ้าง เราไม่ได้คิดว่าเราจะได้เงินจากตรงนี้เท่าไหร่ หรือได้ค่าเช่าเท่าไหร่ ทุกวันนี้เราทำ Jam Factory เราขาดทุนนะ คือขาดทุนนิดหน่อย แต่บังเอิญว่าร้านอาหารมันได้กำไรมันก็โอเค อย่างทำตลาดนัดเนี่ย เราไม่ได้เงินนะ ไปๆ มาๆ เราลงทุนสุดสัปดาห์นึงแสนสองแสนบาท เก็บค่าบูธเก็บมาได้ก็หมดเกลี้ยงพอดี แต่คนเอาของมาขายเขาก็แฮปปี้ โง่หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) แล้วเอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ตัวเองดูดีอะไรอย่างงั้นหรอกนะ ผมแค่สนุกน่ะ มันน่าสนุกดีเว้ย ทำไมไม่มีคนทำแบบนี้ อันที่บันดาลใจผมคือตอนที่ผมไปอังกฤษแล้วไปแถวๆ Brick Lane มันมีอยู่ช่วงนึงที่มันดังมาก แล้วคนมาเยอะๆ น่ะ ผมรู้สึกว่าผมอยากทำ Brick Lane ที่กรุงเทพฯ โอเค ที่ Jam เล็กๆ ก็ยังดีวะ อะไรประมาณนี้ ผมชอบคน ผมชอบมนุษย์ ผมชอบเห็นการเป็นมนุษย์น่ะ

WURKON:
จริงๆ สถาปัตยกรรมมันก็เป็นการทำงานกับมนุษย์อยู่แล้วนี่ครับ

ดวงฤทธิ์:
อืมม์ บางทีมันก็ลืม บางทีมันก็เกี่ยวกับ “กู” มากไปนิดนึงน่ะ (หัวเราะ)

WURKON:
คุณดวงฤทธิ์มองทิศทางของวงการสถาปัตยกรรมบ้านเรายังไงบ้างครับ

ดวงฤทธิ์:
พูดแล้วมันก็จะน่าหมั่นไส้นะ มันก็เป็นไปตามทิศทางที่เราพยายามจะสร้างให้เขาเดินนั่นแหละ เอาจริงๆ ผมไม่คิดว่าเราควรจะมีทิศทางอะไรนะ เอาสิ่งที่ผมเห็นดีกว่า ผมเห็นคนรุ่นใหม่หกเจ็ดคนที่ผมรู้จักที่โคตรดีน่ะ อย่าง บี อมตะ (หลูไพบูลย์) Junsekino, T.R.O.P. (terrains + open space) อะไรพวกนี้ มันเป็นโลกอันสดใสงดงามของสถาปัตยกรรมเลยน่ะ มันเต็มไปด้วยคนมีสปิริต จิตใจดี มีน้ำใจ ไม่ด่าไม่นินทากัน คือผมเห็นว่าโลกข้างหน้าของวงการสถาปัตยกรรมมันสดใสมาก มันอยู่กับคนรุ่นใหม่ๆ พวกนี้แหละ มันมีแต่ความเป็นไปได้เต็มไปหมด ผมไม่รู้หรอกว่าทิศทางมันจะเป็นยังไง แต่ผมมีความหวัง ผมมีความรู้สึกว่าอนาคตมันต้องดีแน่ๆ ผมชื่นชอบเด็กยุคใหม่น่ะ

WURKON:
เมื่อกี้เห็นมีเครื่องดนตรีวางอยู่ในออฟฟิศด้วย คุณดวงฤทธิ์เล่นดนตรีแนวไหนเหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
เล่นให้เป็นเพลงก็บุญแล้วคู้ณ! (หัวเราะ) ไม่มีแนวหรอก อยากเล่นอะไรก็เล่นไป เพื่อนฝูงมาพร้อมจะเล่นก็เล่นไป เล่นเพลงไทยร่วมสมัยบ้าง เพลงเก่าๆ บ้าง แล้วแต่เพื่อนน่ะ ผมน่ะชอบเพลงบลูส์ ชอบเพลงแจ้ส เพื่อนที่เล่นกับผมคนเนี้ย ไม่ได้เจอกันนานแล้ว สมัยเรียนสถาปัตย์น่ะ มันชอบเล่นแจ้ส ผมก็ชอบเล่นกับมัน ไม่ได้เล่นเก่งหรอกนะ พอเล่นได้เฉยๆ แต่หลังๆ ผมไม่ค่อยได้เจอมันก็เลยต้องเล่นไปตามยถากรรม (หัวเราะ) เครื่องดนตรีในห้องนั้นน่ะเอามาให้ลูกน้องซ้อม มีอยู่ช่วงนึงมันมีงานดนตรี ก็เลยซื้อมา หลังๆ ก็ไม่ค่อยได้ซ้อมกัน แล้วลูกน้องเก่าคนนึงผมเป็นนักดนตรีวง ศรีราชาร็อกเกอร์ อะไรประมาณนั้นน่ะ (หัวเราะ)

WURKON:
ได้ข่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้คุณดวงฤทธิ์ซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของคุณวีรพร นิติประภา (ที่ได้รางวัลซีไรต์ในปี 2558) เพื่อจะเอามาทำเป็นภาพยนตร์ด้วย

ดวงฤทธิ์:
คือผมอ่านหนังสือเขาจบ ผมก็เห็นภาพเลยว่าถ้าหนังสือเรื่องนี้เป็นหนังแล้วเป็นเอก [รัตนเรือง] กำกับ มันจะแจ๋วมาก ผมก็คุยกับคุณแหม่ม [วีรพร] ก่อน ว่า เออ ผมขอซื้อลิขสิทธิ์ได้ไหม เขาก็บอกว่า เหมือนกับคุยกับคนอื่นอยู่ ผมก็เลยบอกว่า คุณแหม่มบอกมาเลยว่าเท่าไหร่? เขาก็บอกราคามา ผมก็เซย์เยสเลย เอาเลยครับคุณแหม่ม ซื้อ! ตอนนั้นยังไม่มีเงินสักบาท (หัวเราะ) เจรจาเสร็จผมก็ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ ไปคุยกับคุณลิ้ม สมชัย ส่งวัฒนา เขาเป็นคนแรกที่เซย์เยสเลยน่ะ เขาก็ลงทุนทำกับผม ก็เลยเริ่มต้นได้ ตอนแรกโทรไปติดต่อเป็นเอก ก็โน้มน้าวอยู่นาน เพราะเขายังไม่ได้อ่านหนังสือ ผมก็เล่าว่าผมเห็นภาพอะไรยังไง แต่ตอนนี้เขาอ่านเรียบร้อยแล้ว เขาอินแล้ว แล้วเป็นเอกก็เป็นคนแนะนำคงเดช [จาตุรันต์รัศมี] มา บอกว่าให้คงเดชเขียนบท

WURKON:
เป็นดรีมทีมเลย

ดวงฤทธิ์:
ใช่ เป็นดรีมทีม เป็นเอกกำกับ คงเดชเขียนบท ดวงฤทธิ์โปรดิวซ์ (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่ดีมากเลยน่ะ เพราะตอนนี้ผมคอนโทรลเงินทุนอยู่ไง เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นศิลปะที่ถูกสร้างในวิธีที่มันควรจะถูกสร้างไง

WURKON:
คือไม่ใช้ธุรกิจนำ?

ดวงฤทธิ์:
ก็ธุรกิจนำนั่นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่ธุรกิจนำแบบหนังต้องมีอย่างงี้อย่างงั้นเพื่อให้มันขายได้ ผมก็ให้เขาทำงานไปอย่างที่เขาอยากทำนั่นแหละ คือเขามีอิสระเต็มที่ในการทำงาน ผมก็แค่ดูว่าจากสิ่งที่เขาทำจะเอาไปขายยังไงได้บ้าง ผมแค่บอกเป็นเอกแค่ว่า ผมอยากได้แค่ 20 ซีนที่มันฟินน่ะ ผมจะได้เอาไปตัดทีเซอร์ขายได้ก็พอแล้ว (หัวเราะ) เขาก็เก็ตนะ เป็นเอกเขามืออาชีพมากๆ เขาก็ทำงานโฆษณาอยู่แล้วไง เขาก็เข้าใจว่าผมพูดถึงอะไร แต่ผมจะไม่ไปบอกว่าตัวละครต้องเป็นอย่างงี้ พระเอกนางเอกต้องเป็นคนนั้นคนนี้เพื่อที่มันจะขายได้ ผมจะไม่พูดแบบงั้นเลย เขามีอิสระที่จะเลือกได้เต็มที่เลย

WURKON:
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณดวงฤทธิ์เลือกนิยายเรื่องนี้มาทำหนังครับ

ดวงฤทธิ์:
ความชอบล้วนๆ เลยน่ะ (หัวเราะ) ผมว่าหนังสือเล่มนี้เขาเขียนดี มันมีมิติที่คุณจะอ่านให้มันตื้นก็ได้ จะอ่านให้มันลึกก็ได้ จะอ่านซ้าย อ่านขวาก็ได้ ผมว่ามันเป็นบทประพันธ์ที่ฉลาดอันนึงน่ะ มันมีแง่มุมเยอะ

WURKON:
หนังเรื่องนี้เป็นหนังอินดี้นอกกระแสไหมครับ

ดวงฤทธิ์:
ไม่ๆๆ เราไม่ได้ทำหนังอินดี้ ผมตั้งใจทำเป็นหนังเมนสตรีม (กระแสหลัก) นะ ทำให้คนทั่วไปดู ไม่ได้เป็นหนังศิลปะอะไร เป็นหนังป๊อปเลยแหละ แต่มันไม่จำเป็นต้องป๊อปในวิธีที่ พูดตรงๆ คือไม่ต้องป๊อปแบบโมเดลของหนังค่ายใหญ่ที่ทำเงินร้อยล้านน่ะ เป็นหนังที่คนธรรมดาดูเพลิดเพลิน เข้าใจได้ สนุกสนานได้ แต่มันถูกทำในวิธีที่เราให้คุณค่ากับความเป็นหนังมากขึ้น ด้วยวิธีที่เล่าเรื่องแบบหนัง หรือวิธีที่เอามุมมองเชิงพาณิชย์มาใช้ในแบบที่มันไม่ควบคุมหนังจนเกินไปเท่านั้นเอง เราให้คนทำงาน อย่างผู้กำกับหรือคนเขียนบทมีความเป็นตัวของตัวเองในสิ่งที่เขาทำ ดูแล้วได้กลิ่นอายของเขาบ้าง ผมก็ไม่ได้ว่าหนังค่ายใหญ่ที่เขาทำมันไม่ดีนะ มันก็เป็นหนังที่ดี เราก็ดูหนังเขาบ้างเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราก็คิดว่ามันน่าจะมีอีกวิธีนึงที่จะทำเท่านั้นเอง

WURKON:
มีทางเลือกใหม่ๆ ?

ดวงฤทธิ์:
ใช่ แต่เกลียดมากเลยเวลาคนบอกว่าผมจะทำหนังทางเลือก (หัวเราะ) มันคลิเช่มากๆ ผมบอก กูไม่ได้ทำหนังทางเลือกนะเว้ย! กูทำหนังเมนสตรีมเนี่ยแหละ แต่ว่ากูจะทำให้มันดี

WURKON:
อย่างงี้คุณดวงฤทธิ์ดูเรื่องการโปรโมทหรือการจัดจำหน่ายไว้บ้างหรือยังครับ

ดวงฤทธิ์:
ก็คิดไปตลอดเวลานะ ก็คุยกับเป็นเอกว่า เดี๋ยวเปิดกล้องเดือนมีนา ก็เริ่มโปรโมทเลย โปรโมทไปพร้อมๆ กันให้คนอยู่ในบรรยากาศของการสร้างหนังไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นวิธีโปรโมทอีกแบบนึง คือให้คนติดตามไปตลอดทาง ว่ากระบวนการถ่ายทำตรงไหน เรื่องเป็นยังไง ไปถึงไหนแล้ว ก็สนุกดี ที่สำคัญก็ต้องไปคุยกับโรงหนัง อันนี้ก็ต้องใช้เส้นสายนิดหน่อย (หัวเราะ) แต่ผมว่าจริงๆ มันก็เหมือนไก่กับไข่น่ะ ถ้าเราโปรโมทดี คนก็มีความคาดหวังเยอะแยะไปหมด แล้วโรงหนังจะไม่ให้เราฉายเหรอวะ? คุณก็ต้องทำให้คนอยากดูน่ะ ผมว่ามันก็เหมือนกับเราทำโปรดักต์ที่คนอยากได้ ทำให้มันดี ผมว่ามันก็ขายตัวเองน่ะ มีสมัยนึงคนเราคิดว่าทำโปรดักต์อะไรก็ได้ ถ้ามาร์เก็ตติ้งดีแล้วมันจะขายได้ แต่ผมกลับคิดว่าต้องทำโปรดักต์ให้ดีก่อน ถ้าหนังมันดี คนก็อยากดู ก็แค่นั้นเอง

Wonderfruit Pavillion 2014 @ Siam Country, พัทยา ชลบุรี

WURKON:
ดูเหมือนหลายอย่างในชีวิตของคุณดวงฤทธิ์จะขับเคลื่อนด้วย passion นะครับ

ดวงฤทธิ์:
ใช่ ทุกอย่างเป็น passion หมดเลย ไม่มี passion จะทำทำไมล่ะ? บังเอิญ passion ผมเยอะไปหน่อย ก็เลยต้องทำเยอะ เป็นความเดือดร้อนของชีวิตที่ผมต้องอยู่กับมัน (หัวเราะ)

WURKON:
อย่างเวลาไปงานเปิดนิทรรศการศิลปะก็เจอคุณดวงฤทธิ์บ่อยๆ เหมือนกัน

ดวงฤทธิ์:
ชอบงานศิลปะ ไม่มีอะไรเลย บางคนไปเพราะไปเจอคน ไปเข้าสังคม ผมไม่เคยคิดเรื่องพวกนี้เลยว่ะ ผมไปเพราะผมชอบ งานที่ผมไม่ชอบก็ไม่ไป งานไหนผมคันๆ อยากดูผมก็ไป งานไหนผมไม่สนใจผมก็ไม่ไป เขาเชิญผมก็ไม่ไป บางงานผมก็ไม่ไปวันเปิดด้วย บางงานที่ไปวันเปิดเพราะเขาเชิญแล้วผมอยากดู ผมก็ไป บางวันก็แอบไปคนเดียว จริงๆ ผมชอบไปดูเงียบๆ

WURKON:
แล้วสะสมงานศิลปะบ้างไหมครับ เห็นเหมือนมีวางๆ อยู่ในออฟฟิศหลายชิ้น

ดวงฤทธิ์:
ไม่เลย ไม่ได้สะสม อันนี้ซื้อมาเพราะเขามาแสดงแล้วไม่มีใครซื้อ แต่เขาบินไปต่างประเทศแล้วไม่มีที่เก็บ ก็มาวางไว้ที่ผม แต่บางอันที่ซื้อก็มี โปสเตอร์บ้าง อะไรบ้าง สัพเพเหระ ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นงานศิลปะหรอก ผมชอบอะไรผมก็ซื้อ อย่างงานของ TUNA Dunn ผมก็ชอบ เขาเอางานมาวางขายในงาน ART GROUND (ที่ The Jam Factory) ผมก็ซื้อมา งานมันดีว่ะ คุณดูสิ เจ๋งว่ะ ผมชอบเด็กคนนี้มากเลย พูดแล้วขนลุก! ชอบ ผมหลงรักศิลปิน ชอบคนทำงานศิลปะ เรามองตัวเองว่าไม่ใช่คนทำงานศิลปะ เราเป็นคนทำงานสถาปัตยกรรม

WURKON:
แต่เห็นสถาปนิกบางคนก็มองว่างานสถาปัตยกรรมของตัวเองไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะนี่ครับ

ดวงฤทธิ์:
ไม่อ่ะ สถาปัตยกรรมมันก็คือสถาปัตยกรรม ศิลปะมีคุณค่าสูงกว่าเยอะ มันบริสุทธิ์กว่าเยอะ ในแง่ของการสื่อสาร สถาปัตยกรรมมันถูกบิดเบือนด้วยความเป็นพาณิชย์ ด้วยลูกค้า มันจะเป็นศิลปะได้ยังไง (หัวเราะ) มันก็แค่ตึกหรือเปล่าวะ โอเคมันสวย มันก็ดีไป แต่มันก็ทำงานตามบรีพ ตึกก็เป็นตึกน่ะ

Emquartier 2015

WURKON:
แต่ก็มีสถาปนิกบางคนที่บอกว่าตึกของตัวเองเป็นศิลปะ ไม่เหมือนกับตึกดาษดื่นอื่นๆ ที่ไม่ต่างอะไรกับขยะ

ดวงฤทธิ์:
ผมว่าตึกทุกตึกมันถูกสร้างจากบริบทที่อยู่โดยรอบมัน เพราะฉะนั้นตึกมันก็เลยทำไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าตึกนึงมันจะเลวกว่าอีกตึกนึงเสียหน่อย ตึกมันคนละบริบทกัน หน้าตามันก็ไม่เหมือนกัน บริบทที่ว่านี่มันก็เป็นเรื่องของการรับรู้ในแต่ละคนด้วยนะ มันแตกต่างหลากหลายไปตามลักษณะเฉพาะของสถาปนิกแต่ละคนด้วย ปัจจัยมันเยอะจะตาย มันไม่ได้แปลว่าอะไรถูกผิดดีเลว ผมไม่เคยเปรียบเทียบน่ะ ถ้าให้ผมไปบอกว่างานผมดีกว่าชาวบ้าน ผมจะไม่สบายใจมาก ผมคิดว่ามันวัดกันไม่ได้ว่ะ มันก็เป็นการสร้างสรรค์น่ะ คุณจะบอกว่าคนนี้ดีกว่าคนนี้ได้เหรอ เอาจริงๆ นะ มันก็ไม่ได้ ถูกป่ะ

WURKON:
แต่สังคมเราชอบตัดสินกันแบบนี้ไง ดีเลว ขาวดำ ชัดเจน

ดวงฤทธิ์:
ผมว่าเราดูละครหลังข่าวกันมากเกินไปน่ะ แล้วเราก็ตัดสินคนว่าคนนี้เป็นคนดีถาวร และเป็นคนเลวถาวร เพราะมันง่ายกว่าที่จะสร้างความเข้าใจแบบนั้น ซึ่งผมว่ามันงี่เง่าน่ะ แต่ผมไม่ได้บอกว่าใครงี่เง่ากว่าใครนะ (หัวเราะ)

WURKON:
เท่าที่คุยกันมาคุณดวงฤทธิ์นี่ดูเป็นคนตรงไปตรงมามากเลย ไม่คิดจะรักษาภาพพจน์หน่อยเหรอครับ

ดวงฤทธิ์:
ผมว่าจริงๆ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยเลยแหละ ผมเรียกมันว่าความ Inauthenticity น่ะ คุณอาจใช้คำว่า ดัดจริต, เสแสร้ง, ตอแหล แต่ผมใช้คำว่า Inauthentic มันซอฟต์หน่อย สังคมไทยมันมีความ Inauthentic อยู่เยอะ แล้วอันนี้มันเป็นมะเร็งของสังคมเลย ผมว่ามันเป็นแหล่งกำเนิดความหายนะทุกอย่างของสังคม เหมือนถ้าคุณเจอผู้หญิงคนนึงที่สวยฉิบหาย แต่เสแสร้งน่ะ ผมว่าคุณไม่รักเขาหรอก คุณอาจจะอยากเอาเขา แต่คุณไม่อยากแต่งงานกับเขา คุณไม่อยากอยู่กับเขาไปตลอดชีวิตหรอก คุณอยากอยู่กับคนที่ตรงไปตรงมากับคุณ คนที่คุณอยู่ด้วยแล้วสบายใจ อันนั้นคือความ Authentic ซึ่งสังคมไทยไม่ค่อยมี เพราะเราห่วงว่าจะดูดีหรือเปล่า ซึ่งอันนี้คือปัญหา เวลาเราพูดเรื่องการเมืองก็ต้องดูดี เวลาเราพูดเรื่องเซ็กส์ก็ต้องดูดี เวลาเราพูดเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องดูดี เราห่วงกับการดูดีมากน่ะ นักการเมืองก็ใช้ประโยชน์จากการดูดีนี่แหละ เป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากเรา เพราะเขาทำยังไงก็ได้ให้กูดูดีในสายตาของคนที่จะเลือกกู แล้วใช้ความดูดีนั่นแหละหลอกล่อให้เราหลงกล ผมว่าสังคมไทยมันหายนะตรงนี้แหละ คือการทำให้ตัวเองดูดี และหลีกเลี่ยงจากการดูไม่ดี เวลาที่เราอยากจะดูดีเราจะเริ่ม Inauthentic เราจะเริ่มเสแสร้งอะไรบางอย่างไง

WURKON: 
เมื่อกี้ได้ยินคุณดวงฤทธิ์บอกว่างานสถาปัตยกรรมมันมีความเป็นพาณิชย์ มันต้องทำงานกับลูกค้า แบบนี้เวลาทำงานคุณต้องประนีประนอมกับลูกค้าไหมครับ

ดวงฤทธิ์:
ผมไม่เคยประนีประนอม ผมว่ามันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องขายงานสร้างสรรค์คุณด้วยการประนีประนอม คุณต้องยืนหยัดจากจุดยืนที่เข้มแข็ง สิ่งที่คุณมีคือความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่มี เขาถึงได้จ้างคุณ ถ้าเขามีเขาก็ไม่มาจ้างคุณหรอก ถูกป่ะ? ถ้าผมบอกลูกค้าว่า ผมทำตึกนี้ตามความต้องการคุณก็ได้นะครับ แต่มันจะไม่สวยนะ สุดท้ายเขาก็จะไม่แก้แบบผม เพราะเขากลัวไม่สวย

WURKON: 
แล้วปัจจัยอื่นๆ อย่าง หมอดูฮวงจุ้ย อะไรแบบนี้ล่ะครับ เห็นสถาปนิกหลายคนก็ปวดหัวกับอะไรทำนองนี้อยู่มากเหมือนกัน

ดวงฤทธิ์:
ผมก็บอกลูกค้านะว่า ทำก็ได้ แต่ผมคิดสตางค์เพิ่มสองเท่า ไม่ได้ปฏิเสธนะ แต่คิดค่าความยุ่งยากและเสียเวลาชีวิตผมไง หมอดูเนี่ยมันเกิดจากความกลัว ทุกคนที่ดูหมอจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ในชีวิตน่ะ แล้วเวลาที่เรามีความไม่สมบูรณ์ในชีวิตเราจะกลัว เพราะฉะนั้นการดูหมอมันเป็นพื้นฐานที่มาจากความกลัว ถ้าคุณไม่มีความกลัวคุณก็ไม่ต้องดูหมอ ผมเป็นคนนึงที่ไม่ดูหมอดูเลย ชีวิตผมก็ไม่ได้แย่มากนะ ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยล้มเหลว ผมก็เคยล้มเหลวประจำ แต่ช่างแม่ง ล้มก็ทำใหม่ ไม่เห็นต้องกลัว เมื่อไม่นานมานี้นี่ผมขยายธุรกิจแล้วเศรษฐกิจมันดิ่งลงมามาก ไม่เหลือเงินสักบาท ลูกน้องนี่กลัวกันตัวสั่นเลย ฉิบหาย จะเจ๊งไหมวะ สุดท้ายมันก็กลับขึ้นมาได้ ก็ไม่รู้สึกว่ากลัวอะไรนะ ก็ค่อยๆ ทำไป ได้ไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที (ยิ้ม)

ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมโดย วิสันต์ ตั้งธัญญา

ขอบคุณภาพจาก http://dbalp.com

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

#WURKON #architecture #TheNakaPhuket #hotelandresort #Phuket#DBALP #DuangritBunnag #bestnewhotelintheworld #wallpapermagazine #internationaarchitecturalaward#chicagoathenaeummuseumofarchitectureanddesign#centreforarchitectureartdesignandurbanstudies #ontological #sustainable#enviornment #ecodesign#environment #carbonfootprint #imminentenergy #material #bamboo #sustainable #enviornment #jamfactory  #music#movie #ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต #นวนิยาย #วีรพรนิติประภา #ซีไรต์#ภาพยนตร์ #เป็นเอกรัตนเรือง #คงเดชจาตุรันต์รัศมี #environment #passion #art#TUNADunn #authentic #แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรม

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON  Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

 Official Line : @wurkon / Twitter : @wurkon / Follow Instagram : @wurkon


Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30