Department of Architecture นักสำรวจสิ่งใหม่ๆ สู่งานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย
21 พฤศจิกายน 2559
ในตอนที่ผ่านๆ มาเรานำเสนอเรื่องราวของสตูดิโอสถาปนิกชั้นแนวหน้าของเมืองไทยอย่างสตูดิโอสถาปนิก DBALP ของคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค และสตูดิโอสถาปนิก All(zone) ของคุณ รชพร ชูช่วย ไปแล้ว ในตอนนี้เราจะขอนำเสนอเรื่องราวของสตูดิโอสถาปนิกชั้นแนวหน้าของไทยอีกแห่งที่มีผลงานโดดเด่นไม่แพ้สตูดิโอที่กล่าวถึงก่อนหน้าเลย
สตูดิโอสถาปนิกแห่งนี้มีชื่อว่า Department of Architecture ที่ก่อตั้งโดยสองสถาปนิกที่เคยร่วมงานกันในบริษัท Metric Consulting Engineers & Architects โดยหลังจากทั้งคู่ได้แจ้งเกิดโครงการรีสอร์ท Six Senses ที่เกาะสมุย ซึ่งคว้าทั้งรางวัลรีสอร์ทที่ดีที่สุดในโลกโดยนิตยสาร Condé Nast Traveler และรางวัลยอดเยี่ยมจากสมาคมสถาปนิกสยามมาแล้ว ทั้งคู่ก็ออกมาเปิดสตูดิโอสถาปนิกแห่งนี้ร่วมกัน
Department of Architecture เป็นสตูดิโอออกแบบสถาปัตยงานกรรมหลากหลาย ทั้งอาคาร สถาปัตยกรรมภายใน, ภูมิสถาปัตยกรรม และงานออกแบบอื่นๆ ในโครงการหลากหลายประเภทและขนาด โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวคิดใหม่ทางสถาปัตยกรรม การสำรวจข้อมูลทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมาใช้ในงานออกแบบ รวมไปถึงการทดลองนำวัสดุต่างๆ มาใช้กับงานสถาปัตยกรรมด้วยเทคนิคและวิธีคิดใหม่ๆ โดยมีผลงานโดดเด่น อาทิ อาคาร Sunone, ร้านอาหาร Zense กรุงเทพฯ, The Commons คอมมูนิตีมอลล์ ย่านทองหล่อ, รีสอร์ทศาลา ภูเก็ต, ล็อบบี้บาร์และร้านอาหารในโรงแรมฮิลตัน พัทยา ฯลฯ และได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามถึงห้ารางวัล นอกจากนั้นสตูดิโอแห่งนี้ยังมีส่วนร่วมในโครงการออกแบบอาคารเรียนฉุกเฉิน สำหรับโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเยียวยาหลังภัยพิบัติจากความช่วยเหลือของเหล่าสถาปนิกรุ่นใหม่ที่จัดขึ้นโดยองค์กร Design for Disasters (D4D)
ล่าสุด ผลงาน The Commons ของพวกเขา ได้รับรางวัล Highly Commended Award (รองชนะเลิศอันดับ 1) ในประเภท Shopping Category จากWAF (World Architecture Festival) แห่งปี 2016 ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีมาอีกด้วย
และในคราวนี้เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับสองสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้อย่าง คุณบี อมตะ หลูไพบูลย์ และ คุณตี้ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ เกี่ยวกับที่มาที่ไป แนวความคิด และปรัชญาในการทำงานของสตูดิโอสถาปนิกแห่งนี้ มาร่วมกันค้นหาว่ามันจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ของเราได้อย่างไรบ้างกันเถอะ
WURKON:
เริ่มแรกเลย สตูดิโอ Department of Architecture นี่มีที่มายังไงครับ
อมตะ:
คือก่อนหน้านี้เราสองคนทำงานร่วมกันมาที่บริษัท Metric ตั้งแต่ปี 2001 ก็ทำที่นั่นมาสามสี่ปี ผลงานที่ทำร่วมกันที่นั่นก็มี โรงแรม Six Senses ที่สมุย แล้วก็รีสอร์ทที่กระบี่ชื่อ Zeavola ตอนนั้นเราทำกันสามคน มีน้องอีกคนชื่อ ท็อป หลังจากทำสองโครงการนี้เสร็จเราก็ออกมาตั้ง Department of Architecture ณ ปีนี้ก็ครบ 12 ปีแล้ว
WURKON:
พูดถึงการทำงานในบริษัท เคยได้ยินคุณบีให้สัมภาษณ์ว่า สถาปนิกหลายคนจบมาแล้วจะชอบทำงานฟรีแลนซ์ เพราะเงินดีกว่าการทำงานประจำกับบริษัท แต่คุณบีบอกว่าการทำงานบริษัทมันมีประโยชน์
อมตะ:
คือฟรีแลนซ์เนี่ย ถ้านับรายได้ในช่วงแรกของอาชีพเนี่ย ก็จะดูเหมือนตัวเลขเยอะ เมื่อเทียบกับเงินเดือนเมื่ออยู่ในบริษัท ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มต้นที่หมื่นห้าหมื่นหก จนถึงหมื่นแปดสองหมื่น อะไรประมาณนี้ แต่ถ้าเกิดเขารับงานฟรีแลนซ์ แต่งคอนโดเพื่อน หรือแต่งคอนโดญาติ ก็อาจจะได้สักแปดหมื่น ทำสามสี่เดือน เวลาหารก็คงจะดูเยอะดี แถมเวลานึงทำได้หลายโครงการด้วย แต่ว่าจริงๆ แล้วเนี่ย เขาก็จะไม่มีพัฒนาการ เพราะความซับซ้อนของงานมันจะไม่มีขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้ถูกฝึกฝน ไม่ได้ถูกเปิดไปสู่วิธีคิดอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการได้สัมผัสกับวัสดุ กับทีมงานที่เกี่ยวข้องอย่าง วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง กราฟฟิกดีไซเนอร์ แต่ถ้าอยู่บริษัทเนี่ย สเกลของงานมันอาจจะยากขึ้น อาจจะใหญ่ขึ้น หรือมีประสบการณ์ของสถาปนิกรุ่นพี่ๆ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาน้อง แน่นอนว่าพอมาอยู่บริษัทเนี่ย ช่วงแรกอาจจะได้เงินเดือนน้อยกว่าตอนเป็นฟรีแลนซ์หน่อยนึง แต่ไม่นานก็จะขยับมาพอๆ กัน แล้วก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อสามารถรับงานเองได้ ขอบเขตของงานก็จะมีมากกว่า และก็จะได้เงินดีกว่าในที่สุดครับ
WURKON:
แปลว่าต้องอดทนก่อน
ทวิตีย์:
จริง ๆ ถ้าเกิดว่าสนุกมันก็ไม่ต้องอดทนน่ะค่ะ ประโยชน์หลักๆ ของการทำงานออฟฟิศในช่วงแรกคือเราเรียนทางลัดน่ะ เราเรียนจากคนที่มีประสบการณ์เป็นสิบๆ ปี ที่เขามาบอกมาสอนเราเลยน่ะ กับการที่เราจบมาใหม่ๆ แล้วหาเอาเอง มันช้ากว่าแน่นอน
WURKON:
อย่างคุณตี้เองก็เคยทำงานในบริษัทสถาปนิกที่สหรัฐอเมริกามาด้วยใช่ไหมครับ ประสบการณ์ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
ทวิตีย์:
ใช่ค่ะ ทำที่นิวยอร์ก กับชิคาโก้ ก็สนุกดี เป็นช่วงเริ่มต้น เราก็เป็นจูเนียร์ ก็ทำงานแบบ เขียนแบบ ทำโมเดล อะไรแบบนี้ ที่สำคัญคือตอนที่อยู่อเมริกาเราก็ได้อยู่บริษัทที่เจ้านายเก่งมาก เราเรียนรู้จากเขาเยอะ แม้เราจะเป็นจูเนียร์ก็ตาม แต่เราเห็นวิธีคิดของเขา ซึ่งมันก็เป็นประสบการณ์ที่ดีของเรา
WURKON:
แล้วตอนที่อยู่ที่ Metric ทำงานประเภทไหนเป็นส่วนใหญ่ครับ
อมตะ:
อย่างแรกเลย Metric เป็นบริษัทใหญ่ มีคนทั้งหมด 70 กว่าคน ซึ่ง 80% เป็นวิศวกร Metric เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยวิศวกรสามท่าน หนึ่งในนั้นคือคุณอาของตี้ และอีกท่านนึงก็คือคุณพ่อผมที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็คล้ายๆ เป็นธุรกิจครอบครัว แล้วพอทำบริษัทใหญ่เนี่ย โครงการที่ทำก็ต้องใหญ่ประมาณนึง ไม่งั้นก็จะไม่คุ้มโอเวอร์เฮด ก็ต้องยอมรับ แล้วก็เลยเป็นเหตุผลนึงว่า ถ้าเรามาเปิดบริษัทของเรา ด้วยความที่เราเล็กกว่า เราก็มีความยืดหยุ่นในการรับงานได้แทบทุกสเกล
WURKON:
ที่บอกว่าใหญ่นี่ใหญ่ขนาดไหนครับ
อมตะ:
ก็ทำอาคารที่อยู่ในสนามบิน เช่น โรงซ่อมเครื่องบิน โรงเก็บเครื่องบิน ศูนย์ฝึกลูกเรือ อะไรต่างๆ ก็จะเป็นอาคารขนาดใหญ่ ใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้างเป็นหลัก
WURKON:
การทำงานในสเกลที่ใหญ่ระดับนี้มาก่อน มันช่วยในเรื่องของวิธีคิดและประสบการณ์การทำงานไหมครับ
อมตะ:
อ๋อ แน่นอน พอเริ่มปั๊บก็ทำงานสเกลใหญ่ที่มันมีความซับซ้อนในการออกแบบ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องร่วมมือกับคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งวิศวกรและงานวิศวกรรมต่างๆ รวมถึงคนที่เป็นมืออาชีพมากๆ อย่าง PM (Project Management), QS (Quantity Surveyor) ต่างๆ ก็เป็นการเรียนรู้ทางเทคนิค รวมถึงเซ็ตของวัสดุที่ทำงานโครงการลักษณะนั้นก็จะเป็นวัสดุที่เราไม่ค่อยรู้จัก เช่นพวกเหล็กพิเศษต่างๆ Insulation แปลกๆ พัดลมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียนปกติ ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้ตรงนี้
WURKON:
แล้วทำไมถึงตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง
ทวิตีย์:
เนื่องจากบริษัท Metric เป็นบริษัทที่มีพื้นทางวิศวกรรม แต่เราเป็นสถาปนิก ทีนี้โครงสร้างของบริษัทมันก็ไม่ค่อยคล่องตัวสำหรับความเป็นสถาปนิกสักเท่าไหร่ อย่างพนักงานเขียนแบบของเขาก็ถนัดงานวิศวกรรมมากกว่า รวมถึงมันเป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่ แล้วเราอยากจะทำโครงการที่ทั้งใหญ่และเล็ก ซึ่งบริษัท Metric จะรับโครงการที่สเกลเล็กไม่ได้ เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราออกมาทำเองมันจะคล่องตัวมากกว่า คือจะรับงานได้หลากหลายสเกล รวมทั้งรับงานที่มีความเป็นสถาปัตยกรรมเป็นหลักได้ชัดเจนมากกว่า
WURKON:
แถมยังสนุกกว่าด้วย?
อมตะ:
อ๋อ นั่นแน่นอน (คุณตี้หัวเราะ) เพราะพอเราเลือกรับงานได้เองเนี่ย นอกจากว่าสเกลงานจะเล็กลงแล้ว ลักษณะของอาคารมันก็เปิดกว้างมาก แล้วสิ่งนึงที่เราต้องการที่สุดคือความยืดหยุ่นของเวลาในการออกแบบ ซึ่งถ้าทำโครงการใหญ่เนี่ย เวลามันค่อนข้างเป็นเงินเป็นทองน่ะ พูดตรงๆ ทำคอนเซ็ปต์ปุ๊บ ดีเทลปั๊บ ทั้งหมดอาจจะเสร็จในเวลาไม่นานนัก แต่พอเรามาทำเองเนี่ย ถ้าเราเจอลูกค้าที่เข้าใจ เราก็จะขอเวลาที่ค่อนข้างมาก เพราะว่าเวลาที่ใช้ในการออกแบบมากขึ้นเนี่ย ตีสักสองเดือน ในกระบวนการทั้งหมด มันมีผลอย่างมหาศาลกับผลงานตอนที่เสร็จแล้ว เวลาพูดกับลูกค้า สมมติว่าเขาบอกว่า อาคารลักษณะนี้คนอื่นเขาทำกันหกเดือน โอ๊ย คุณมาขอแปดเดือนเก้าเดือน คุณทำช้ากว่าตั้งเกือบครึ่ง แต่จริงๆ แล้วเวลาสองสามเดือนเนี่ย มีผลต่ออาคารนี้อีกกี่ปีล่ะ สามสิบปี ห้าสิบปี สัดส่วนระหว่างสามเดือนเทียบกับห้าสิบปีมันกระจิ๋วมากเลยนะ เพราะฉะนั้นลูกค้าที่เข้าใจก็จะเป็นลูกค้าที่เหมาะกับเรา แต่ใครที่แบบ ไม่ได้เลย อยากได้งานดี งานด่วน เอาแค่หกเดือน มีเท่าเนี้ย เท่าคนอื่น แต่คุณต้องทำดีกว่าคนอื่น เราก็มีหัวอยู่เท่าๆ กันน่ะ (หัวเราะ) มันต้องใช้เวลา ผมว่างานดีดีมันจะได้จากลูกค้าที่เข้าใจ
ทวิตีย์:
คือถ้าจะให้คอนเซ็ปต์มันออกมาดี มันก็ต้องบ่มนิดนึงน่ะค่ะ ต้องใช้เวลา รวมทั้งช่วงทำรายละเอียดเนี่ย ถ้าจะให้งานดีช่วงสุดท้าย มันก็ต้องพิถีพิถัน เราจะละเอียดมากกับการสร้างรายละเอียด ซึ่งก็ต้องใช้เวลามากอีกเหมือนกัน
WURKON:
จะว่าไป รายละเอียดในงานสถาปัตยกรรมก็เป็นจุดเด่นของพวกคุณด้วย อย่าง โรงแรม Six Senses ที่สมุยเนี่ย นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องรายละเอียดแล้ว ยังมีการนำเอาวัสดุท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบด้วย
ทวิตีย์:
เนื่องจากว่ามันอยู่ที่สมุยใช่ไหมคะ เราดูไซต์แล้วเรารู้สึกว่าทำยังไงมันถึงจะสอดคล้องกับบริบท เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีความเชื่อมโยงกับวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้พอมันสร้างมาแล้วมันจะไม่เป็นของที่แปลกปลอมกับพื้นที่ ทีนี้พอเรามาคิดถึงการใช้วัสดุท้องถิ่น เราก็ไม่อยากใช้แบบเดิมๆ ที่เขาใช้กันมา แต่ถ้าเราเริ่มจากวัสดุอันนี้แล้วเราเอามาพลิกแพลง คิดใหม่ เอามันมาใช้ในรูปแบบใหม่ เราจะทำยังไงได้บ้าง เราก็เริ่มค้นคว้าว่าเราจะทำยังไง
อมตะ:
จริงๆ แล้วแนวคิดในการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ไม้ ไม่ไผ่ หรือ หวาย อะไรต่างๆ เหล่านี้เนี่ย อีกเหตุผลนึงคือเรารู้ว่า Hotel Operator (ผู้บริหารโรงแรม) คือทีม Six Senses ซึ่งมู้ดแอนด์โทนของเขาจะเป็นแนว Rustic (สไตล์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชนบท) แต่เราคงไม่ตกแต่งเป็นแนว Rustic แต่เราตอบด้วยสิ่งที่ได้มู้ดไปในทางเดียวกัน คือการใช้วัสดุธรรมชาติแทน แต่วิธีในการใช้อย่างที่น้องตี้พูด คือเราใช้อย่างร่วมสมัย ซึ่งเราก็ดีใจว่าคนมองออก คนมองผ่านผิวนอกเข้าไปเห็นการออกแบบพื้นที่ ตอนแรกเรานึกว่าคนจะคิดว่าเป็นแนว ธรรมชาติและ Rustic แต่จริงๆ แล้วคนกลับรู้ได้ถึงความเป็นร่วมสมัยของมัน
WURKON:
มันไม่ใช่งานสถาปัตยกรรมแบบประเพณี แต่เป็นการเอาวัสดุท้องถิ่นมาใช้แบบร่วมสมัย
อมตะ:
ใช่ครับ ซึ่งกว่าจะได้มามันก็ต้องใช้เวลามากครับ อย่างเราจะใช้ไม้ไผ่เป็นราวกันตก ก็ต้องไปซื้อไม้ไผ่มาลองทำเวิร์กช็อปกัน เอามาตอก วางถี่ห่างเท่าไหร่ถึงจะสวย ของพรรค์นี้อยู่ในดรออิ้งมันมองไม่ออก
WURKON:
ก็เลยต้องใช้เวลาในการออกแบบนานกว่าปกติ
อมตะ:
โครงการนั้นใช้เวลามากที่สุดเท่าที่เคยทำงานมาครับ (หัวเราะ) เราออกแบบปีกว่าๆ ออกแบบอย่างเดียวเลยนะ
WURKON:
แล้วลูกค้าเขารอไหวเหรอครับ
อมตะ:
โหย ลูกค้าน่ารักที่สุดในโลก น่ารักมาก ที่ยอมเสี่ยงกับเรา เพราะงาน Six Senses เนี่ย ตอนนั้นผมยังทำโรงครัวการบินไทยอยู่เลย
ทวิตีย์:
เราไม่ได้มี Reference ของประสบการณ์อย่างอื่นเลย
อมตะ:
ซึ่งเจ้าของโครงการคือ คุณทศ จิราธิวัฒน์ คงเห็นความตั้งใจแล้วก็เห็นอะไรบางอย่าง ก็เลยให้เรามาลองทำรีสอร์ตแรกๆ ของท่าน ซึ่งลงทุนไปเกินห้าร้อยล้านบาท ให้ทีมงานเด็กๆ ตอนนั้นผมยัง 29 อยู่เลย ส่วนน้องตี้เพิ่ง 20 กลางๆ เขาเสี่ยงเงินห้าร้อยล้านกับเราเนี่ย เราก็ทำกันสุดใจน่ะ
WURKON:
โห แล้วตอนนั้นไม่กดดันเหรอครับ
ทวิตีย์:
โหย ทำกันถึงเที่ยงคืนทุกวัน ใช้เวลาเป็นปีกว่า มันไม่ใช่แค่เราต้องใช้เวลาเยอะ แต่เราก็ประสบการณ์น้อยด้วย
อมตะ:
เราไม่เคยทำรีสอร์ต เราไม่เคยทำโรงแรม เราไม่เคยใช้ไม้ เราไม่เคยใช้ไม้ไผ่ ตอนนั้นผมใช้แต่ Metal Sheet คือทุกอย่างเป็นองค์ความรู้ใหม่หมดเลย
ทวิตีย์:
ใหม่หมด แม้แต่ฟังก์ชั่นโรงแรม Operator เขาก็ดีมาก ก็แนะนำเรา เหมือนส่งแบบกับอาจารย์ คือเขาปล่อยให้เราทำในเรื่องของความงาม แต่เขาก็จะตรวจฟังก์ชั่น ว่าอันนี้ไม่ได้ อันนี้ต้องอยู่ใกล้กับอันนี้ อันนี้ต้องมีขนาดเท่าไหร่ วิธีคิดขนาดของร้านอาหาร กับสัดส่วนของจำนวนห้องพัก เราก็จะเรียนรู้เยอะมาก
อมตะ:
ตอนนั้นเราเป็นทีมงานใหม่ที่ต้องยอมรับว่า มีความตั้งใจ 120% แต่ไม่มีประสบการณ์เลย ใหม่มาก สดๆ คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดช่วยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่เข้าใจ ให้เวลา CM (Construction management) ที่คอยดูคอยทัก ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่กับโครงการนี้เกือบสี่ปี แต่พอเสร็จออกมาแล้ว เนื่องจากว่าเราอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลาขนาดนั้น เราไม่รู้หรอกว่ามันดีแค่ไหน ก็รู้สึกว่า มันคงดีล่ะมั้ง แต่พอออกไปแล้วได้รับการตอบรับดี
WURKON:
และยังได้รางวัลด้วย
อมตะ:
ได้รางวัลยอดเยี่ยมสมาคมสถาปนิกสยามครับ ก็แปลกใจนะ
ทวิตีย์:
ไม่คิดว่าจะได้ ตอนแรกไม่คิดจะส่งด้วย แต่มีเพื่อนๆ มาบอกว่า ส่งสิ มันดีนะ! เราก็แบบ ไม่แน่ใจ จริงเหรอ?
WURKON:
ในการทำงาน สถาปนิกหลายคนจะมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่พอดูงานแล้วรู้ว่าใครออกแบบ แต่เคยได้ยินมาว่า เอกลักษณ์ของ Department of Architecture คือการไม่มีสไตล์ มันหมายความว่ายังไงครับ
อมตะ:
จริงๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราสองคนคุยกันตั้งแต่แรกเริ่มตั้งบริษัท ว่าจะไปแนวไหนดี เพราะตอนนั้นเราก็ค้นคว้ากันมาว่า บริษัทสถาปนิกเจ๋งๆ มันมีทิศทางยังไงบ้าง ถึงตอนนั้นเราจะมีคนรู้จักจากรีสอร์ตและโรงแรม งั้นเราก็มาตลาดนี้ไปเรื่อยๆ สบายๆ ไปเลยดีไหม เพราะมี reference ต่างๆ แล้ว แต่เราคิดว่าเราไม่อยากทำแบบนั้น เราคิดว่าเราอยากสำรวจสิ่งใหม่ๆ และคำว่า สิ่งใหม่ๆ มันก็หมายถึง ไม่เหมือนเดิม และนั่นคือสิ่งที่เราสนุกกับมัน
ทวิตีย์:
จริงๆ หลักๆ เลยก็คือเราไม่อยากทำอะไรซ้ำน่ะค่ะ (หัวเราะ) รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกและตื่นเต้นกว่าที่จะหาสิ่งใหม่ๆ ทำไปเรื่อยๆ และจริงๆ มันดีกับโปรเจ็กต์ด้วย เพราะเมื่อเราเปิดรับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหน พอมีโจทย์ใหม่มา เราก็จะลืมของเดิมซะ แล้วโฟกัสกับโจทย์ใหม่ว่าเราจะทำอะไรกับมัน ไม่ใช่ติดอยู่กับว่าเราจะเอาอะไรมาใส่ให้มัน
WURKON:
ไม่ใช่ว่าต้องใช้ไม้ไผ่ในทุกโครงการอะไรแบบนี้
ทวิตีย์:
ไม่ต้อง เราคิดว่าโจทย์นี้เราควรจะทำอะไรกับมัน วิธีคิดเราก็จะเติบโตมากับโปรเจ็กต์เอง
อมตะ:
การเริ่มต้นจากศูนย์ทุกๆ ครั้งในโปรเจ็กต์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นสิ่งดีมาก เราเอนจอยมากตั้งแต่ Six Senses อันนั้นเราใหม่มากจริงๆ พอตอนนี้ ต่อให้เรามีประสบการณ์เป็นสิบ ๆ ปี เนี่ย แต่พอเราเข้าไปทำแต่ละงาน เนื่องจากเราไม่ได้จำกัดว่าเราจะรับงานประเภทไหน อาคารแบบใด ประเทศไหน เพราะฉะนั้น เราเริ่มปั๊บก็เริ่มศูนย์ทุกครั้ง เหมือนหัวว่างเปล่าเข้าไป เพราะฉะนั้นดีไซน์ที่ได้มามันจะ Specific (เฉพาะเจาะจง) กับโครงการนั้นจริงๆ
WURKON:
เหมือนเป็นงานแบบ Site Specific (งานออกแบบที่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่) เลยนะครับ
อมตะ:
เป็น Site Specific, Program Specific, Owner Specific แล้วก็เป็น Method ของดีไซน์ที่ Specific ซึ่งมันจะตอบสนองกับบริบท รวมถึงวัสดุ และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังพื้นที่ตั้งด้วย
WURKON:
กลับกันกับสถาปนิกหลายคนที่มักจะมีลายเซ็นเฉพาะตัวของตัวเองอย่างชัดเจน
อมตะ:
ช่วงแรกๆ พอเราเปิดบริษัทเนี่ย ต้องยอมรับเลยว่าสามสี่ปีแรก ขายตัวยาก (หัวเราะ) ขายงานให้เขาซื้อเรายากเหมือนกัน เพราะ Reference เราไม่เยอะ แล้วพอ Reference เราไม่เยอะ พอเราจะไปดีไซน์ในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมที่เราเคยทำเนี่ย เขาจะยังไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ที่คุณมาจ้างเราเนี่ย อย่าหวังว่าจะได้ของที่คล้าย Six Senses คล้าย Zeavola หรืออะไร คุณจะได้ของใหม่จริงๆ จนกระทั่งวันนี้ผ่านมาสิบกว่าปี เรามีงานที่หลากหลายเยอะพอแล้ว
ทวิตีย์:
ตอนนี้คนเริ่มเห็นแล้วว่า อ๋อ ถ้าอยากได้แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็มาหาเรา
WURKON:
จุดเด่นคือความไม่เหมือนใคร
ทวิตีย์:
ไม่เหมือนตัวเองด้วย (หัวเราะ)
อมตะ:
ถ้าเข้ามาหาเรา อย่าบอกว่าอยากได้สิ่งที่คล้ายโปรเจ็กต์ไหน ไม่ว่าจะพูดถึงโปรเจ็กต์คนอื่น หรือโปรเจ็กต์ของเราเองก็ตาม เดี๋ยวเรามาเซอร์ไพรส์กัน คุณมาคุยกับเรา เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะทำอะไรให้ (หัวเราะกันร่วน) ต้องให้เวลาเราสิ อีกสองเดือนกลับมาด้วยคอนเซ็ปต์ แล้วคุณจะเห็น ถ้าลูกค้าอยากได้งานด่วนๆ เราก็ไม่แมตซ์ บางทีก็อยากได้งานหลายงานนะ ที่น่าสนใจ โจทย์ดีๆ ไซต์สวยๆ แต่พอเร่งมากๆ เราก็ไม่แมตซ์
Sala Phuket
WURKON:
อย่างรีสอร์ทศาลา ภูเก็ต นี่ก็ได้รางวัลมาเหมือนกันใช่ไหมครับ
อมตะ:
ศาลาภูเก็ตนี่เป็นรีสอร์ตแห่งแรกในชื่อ Department of Architecture ก็ได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามด้วย งานนี้ทำมาเกือบสิบปีแล้ว อันนี้ก็อย่างที่รู้กันว่ามีโรงแรมที่ภูเก็ตนับร้อยนับพัน เราจะทำอะไรที่แตกต่างล่ะ? โลเคชั่นของรีสอร์ทก็ไม่ได้มีเอกลักษณ์มากนัก เป็นที่ราบๆ ไม่มีเนิน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ชายหาดก็อยู่ห่างออกไป เพราะว่าต้องตั้งหลบเข้ามาเยอะเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างขึ้นมาเองจากที่ตั้งที่คาแรคเตอร์ไม่ชัดเจนนัก เราก็ต้องหาสิ่งอื่นเป็นจุดตั้งต้น และเราก็คิดว่า ประวัติศาสตร์ของภูเก็ตเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เราก็เร่ิมต้นจากการอ่านประวัติศาสตร์ของภูเก็ตเชิงลึกกันเป็นอาทิตย์ๆ แบ่งกันอ่าน เพราะแค่ประวัติศาสตร์มันก็มีแง่มุมอยู่มากมาย มีเหมือง มีเรื่องของเชื้อชาติ ชนชาติ เพราะพื้นที่ตรงนั้นมันก็เป็นการผสมผสานของคนหลายชนชาติ หลังจากอ่านทั้งหมดแล้วเราก็นำทั้งหมดมาวิเคราะห์กัน จำได้เลยว่าจุดเริ่มต้นการออกแบบจริงๆ เกิดขึ้นตอนที่เราอยู่ที่ร้านอาหาร ระย้า ที่เมืองเก่าภูเก็ต เราสองคุยกันอยู่บนโต๊ะกินข้าวเนี่ย ปุ๊บๆๆๆ ได้ออกมาเลย
WURKON:
ดูๆ ไปการทำงานที่มันมีการค้นคว้าข้อมูล การศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ แบบนี้มันก็คล้ายกับการทำงานของนักประวัติศาสตร์หรือนักมานุษยวิทยามากกว่าจะเป็นนักออกแบบเสียอีกนะครับ
อมตะ:
ผมว่ามันคงเป็น A bit of everything น่ะครับ ถ้าเกิดว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับโลเคชั่นที่มีประวัติศาสตร์ มันก็จะมีการค้นคว้าข้อมูลลักษณะนั้น แต่ในบางโครงการสิ่งที่เราค้นคว้าอาจจะไปในทางวัสดุ หรือบางอันก็อาจจะเกี่ยวกับการสำรวจ Visual พิเศษ เนื่องจากมีความตั้งใจจะให้เกิด Visual อะไรเป็นพิเศษ การค้นคว้าก็จะเป็นไปในทางวิทยาศาสตร์และเรขาคณิตไป
งานตกแต่งภายในโรงแรม Hilton พัทยา
WURKON:
อย่างการตกแต่งภายในที่โรงแรมฮิลตัน พัทยาเนี่ย เราดูแล้วมันเหมือนกับเป็นงานศิลปะ Installation (ศิลปะจัดวาง) เลยนะครับ
อมตะ:
ดีใจที่ใช้คำนี้ครับ (ยิ้มกว้างทั้งคู่)
ทวิตีย์:
จริงๆ เพราะว่างานนี้เราทำงานตกแต่งภายใน ไม่ใช่สถาปัตยกรรม เราก็ไม่ค่อยจะสามารถสร้าง Space ได้สักเท่าไหร่ คือขอเจาะพื้นอะไรได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เราทำงานในสเปซ ที่มีอยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างงั้นเราจะสร้างคาแรคเตอร์ให้กับพื้นที่นี้ยังไง และเราก็สนใจงานศิลปะด้วย และก็อยากทดลอง พื้นที่มันก็มีขนาดใหญ่และสามารถจะทดลองได้ อย่างตัวล็อบบี้ที่มีผ้าข้างบน จริงๆ เนี่ย มันเริ่มจากที่ตัวสเปซมันแบนๆ เราก็รู้สึกว่าเราจะทำยังไงกับมันดี เราก็เลยจินตนาการว่า ถ้าเรายืนอยู่ใต้น้ำตื้นแล้วมีคลื่นอยู่บนหัวเรา มันน่าจะสร้างสเปซที่น่าสนใจได้ คือมันก็เป็นการสร้างสเปซแหละ แต่สร้างด้วยความเป็นพื้นผิวของผ้า หรืองาน Installation และเราก็ตั้งใจให้คลื่นตัวนี้นำสายตาจากทางเข้า ไหลไปสู่คลื่นจริงบนทะเล เราก็สนุกกับการทดลองที่มันเป็นศิลปะมากขึ้น
อมตะ:
โครงการนี้เป็นโครงการที่เราทำการทดลองการเบลอกันระหว่างงานศิลปะ Installation กับ งานออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งจริงๆ แล้วจะเห็นหลายส่วน อย่างตรงทางเดินที่มีคริสตัลห้อยระย้าลงมาเป็นรูปทรงคลื่นยาวเกือบ 20 เมตรนั่นก็ใช่
ทวิตีย์:
ตรงนั้นเนี่ย เนื่องจากตัวอาคารมันมีขนาดใหญ่และมีพื้นที่ใช้สอยกระจายอยู่ในอาคาร เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้มันเชื่อมกัน พื้นที่ตั้งนั้นไม่มีฟังก์ชั่นอะไรเลยนอกจากเป็นทางเดินอย่างเดียว เราก็รู้สึกว่า โหย คนต้องเดินยาวจากตรงนี้ไปถึงตรงนั้นเนี่ย จะทำยังไงให้เขาไม่เบื่อ หรืออยากเดิน จริงๆ ถ้าเกิดปล่อยๆ มันไปคนก็ต้องเดินอยู่ดีแหละ (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าตรงนี้มันเจ๋งมากเลยเพราะมันเป็นที่ที่ไม่มีฟังก์ชั่น (น้ำเสียงตื่นเต้น) ซึ่งนานๆ ทีเราจะได้ของที่ไม่มีฟังก์ชั่น เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสมากกว่าจะเป็นอะไรที่ หวาย อะไรก็ไม่รู้! ก็รู้สึกว่า ไหนๆ มันก็ไม่มีฟังก์ชั่นเลย เราจะทำอะไรก็ได้ ก็เลยอยากทำงานศิลปะใส่เข้าไป ใช้งานศิลปะเป็นตัวนำ Space
WURKON:
ปกติสถาปนิกทั่วๆ ไปมักไม่ค่อยสนใจจะเอางานศิลปะร่วมสมัย มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางกายภาพในงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่ที่เห็นก็มักจะเป็นแค่เอางานประติมากรรมประดับหรือเอาภาพวาดแขวนผนังเท่านั้น
อมตะ:
อาจเพราะว่าตัวตนเราสองคนเราเอนจอยกับงานศิลปะในหลายๆ แขนง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันคงจะดีมากเลยที่เราจะเอาสิ่งที่เราสนใจเป็นส่วนตัวเข้ามาอยู่ในงานที่เราทำ หลังจากฮิลตันพัทยา เราจะมีการเอาการเบลอกันของงานศิลปะแขนงอื่นเข้ามาอยู่ในงานเราเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม
WURKON:
แล้วเทคนิคในการทำงานศิลปะในลักษณะนี้ขึ้นมา อย่างการทำผ้าให้เป็นแพทเทิร์นริ้วคลื่นเนี่ย ไปเรียนรู้จากที่ไหน หรือไปหาใครมาทำให้เหรอครับ
ทวิตีย์:
คิดขึ้นมาเองค่ะ (หัวเราะ) อย่างผ้าเนี่ย เรารู้ว่าเราอยากห้อยให้มันเป็นระนาบ ตอนแรกเราก็หาวัสดุก่อน ว่าจะเป็นผ้าหรืออลูมิเนียมแผ่นเรียบ หรือเป็นอะไร ในที่สุดก็ได้เป็นผ้า เพราะมันเป็นวัสดุที่เหมาะที่สุด เพราะมันมีความนุ่ม มันจะทำให้บรรยากาศดี พอเราใส่แสงเข้าไปมันจะเรืองแสง แล้วรูปร่างของมันเราก็ทดลองขึ้นในคอมพิวเตอร์ได้ แต่จะติดตั้งยังไง จะเอามันมาซักได้ยังไง จะติดกลับขึ้นไปใหม่ยังไง อันนี้ก็ต้องคิดขึ้นมาเอง
อมตะ:
ว่าเอาผ้ามาเย็บอย่างงี้ ข้างบนผ้าติดแถบเวลโคร แถบแควกๆ น่ะครับ ด้านบนเพดานติดรางอลูมิเนียม แล้วติดเวลโครอีกด้านนึงซะ เอามาติดกันก็อยู่ ดึงออกก็เอาไปซักได้ และก็ติดกลับได้อย่างรวดเร็ว มีตัวเลขกำกับเย็บติดอยู่ แล้วถ้าเราจะทำ Lighting เราจะทำยังไง เราก็ต้องทดลอง
ทวิตีย์:
ก็คิดรายละเอียดกันเอง อย่างตัวคริสตัลเนี่ย เรารู้ว่าเราอยากให้มันเป็นประกาย และอยากให้มันแขวนอยู่อย่างงี้ ก็คิดว่าคงเป็นสลิงแหละ แต่ทีนี้ตอนแรกเราจะไม่รู้รายละเอียดหรอกว่าทำยังไงสลิงมันถึงจะตึง ทำยังไงคริสตัลมันถึงจะอยู่ตรงนั้น พอเราอยากได้อย่างงี้ เราก็เลยคิดว่า เอ๊ะ แล้วมีใครช่วยเราได้ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า แชนเดอร์เลีย (โคมไฟระย้า) มันก็เป็นแบบนี้ แล้วเขาก็ใช้คริสตัล คนที่ผลิต แชนเดอร์เลียน่าจะรู้ว่าทำยังไง เราก็เลยไปคุยกับเจ้าที่ทำแชนเดอร์เลีย เขาก็จะมานำเสนอรายละเอียดว่า ตรงนี้มันมีแคลมที่ติดอย่างนี้นะ สลิงดึงหัวดึงท้าย หมุนตรงนี้ ยึดอย่างงี้แล้วมันจะตึง มันมีของที่มีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งปกติเขาไม่เคยทำงานอะไรแบบนี้ เขาก็มาทำงานกับเรา
อมตะ:
จริงๆ งานของเราจำนวนมากที่ทำอะไรยากๆ ขึ้นมาเนี่ย แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้รายละเอียดได้ทุกอย่าง เราก็ต้องทำงานกับคนที่เราคิดว่าน่าจะทำงานกับเราได้ อย่างงาน Installation ผ้าเนี่ย เราก็ไปทำงานกับผู้ผลิตผ้าม่านอย่างละเอียดเลย หรืออย่างผนังสนิมที่ The Commons เนี่ย เราก็ทำงานกับศิลปินที่ทำงานโลหะ ว่าเราอยากได้ผนังที่เป็นสังกะสีแล้วมีแถบสีๆ ของสนิมที่ถูกกัดกินในเวลาที่ต่างๆ กัน จะทำให้มันเกิดขึ้นยังไง เราไม่มีทางรู้อยู่แล้ว เราก็ต้องไปปรึกษาศิลปินว่าเขาจะกัดกรดสังกะสียังไงให้เป็นสนิม เคลือบอะไรทับให้สนิมมันหยุดอยู่ตรงนั้น มีสีสนิมอยู่กี่สี่ จริงๆ แล้วงานเราทั้งหมดมันไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ด้วยนักออกแบบเพียงฝ่ายเดียว เราคิดออก มีจุดเริ่มต้น แต่เราต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ผลิต ศิลปิน หรือช่างฝีมือต่างๆ
WURKON:
คือมีภาพอยู่ในหัวแล้วไปหาคนทำให้มันกลายเป็นจริงออกมา?
ทวิตีย์:
ใช่ แต่เราค่อนข้างชัดว่าเราอยากได้อะไรน่ะค่ะ เช่นอย่างสนิมเนี่ย คือเราก็รู้ว่าเราอยากได้ความหลากหลายโทนสีของสนิม คราวนี้เราก็ไปขอให้ศิลปินทดลองให้
อมตะ:
หลังจากพอมีประสบการณ์ประมาณหนึ่ง เราก็พอรู้แล้วว่าวัสดุประเภทนี้เราจะไปหาใคร วัสดุประเภทโลหะแบบนี้จะไปหาคนนั้น หรืองานช่วงหลังบางทีเรามีงานอะครีลิคอยู่บ้าง เราจะไปหาใคร งานเกี่ยวกับเม็ดแก้วเม็ดคริสตัล เราจะไปหาใคร
WURKON:
ฟังดูสนุกดีนะครับ
อมตะ:
โอ้ สนุกมาก!
ทวิตีย์:
สนุก! (หัวเราะ) ได้ทดลอง
WURKON:
แล้วการทำให้ลูกค้ายอมรับและเข้าใจในการทำงานที่เป็นการทดลองอะไรแบบนี้มันไม่ยากเหรอครับ
อมตะ:
โอ๋ย! ไม่ยาก ถ้าในแง่นี่นะ ผมกลับคิดว่าไม่ยาก ถ้าเราคิดอะไรมาแล้วเรามีเปอร์สเป็คตีฟมา แล้วเราบอกลูกค้าประมาณนึงว่าเดี๋ยวมันจะออกมาเป็นอย่างงี้ ถ้ามันดีจริงลูกค้าก็โอเคแหละ แต่แน่นอนว่าลูกค้าย่อมต้องมีความสงสัยในเรื่องของการใช้งานได้จริง การดูแลรักษา ซึ่งเราก็ต้องตอบเขาให้ได้ อย่างงาน Installation ผ้าบนเพดานเนี่ย จริงๆ มันก็แค่ดึงแควกออกไปแล้วใส่เครื่องซักผ้า เพราะเครื่องซักผ้าของโรงแรมมันใหญ่ไง พอซักเสร็จเขาก็มีเครื่องรีดให้เรียบได้เลย
WURKON:
เวลาออกแบบต้องคิดเลยไปถึงตรงนั้นด้วยใช่ไหมครับ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วก็เสร็จเลย ให้ลูกค้าไปหาวิธีซักเอาเอง
ทวิตีย์:
ไม่ได้ ต้องคิดไปให้ถึงค่ะ เพราะยังไงลูกค้าต้องถามอยู่แล้ว
อมตะ:
โอ๊ย! ไม่งั้นโดน Hotel Operator เล่นเละแน่ๆ เวลาเราขึ้นเปอร์สเป็คตีฟ คำแรกที่เขาถามเลยคือ “แล้วจะซักยังไง?” ถ้าเราไม่คิดคำตอบไว้ก่อน เราก็ดูเป็นแค่เด็กช่างฝัน แต่ไม่รู้เรื่องอะไรจริง
ทวิตีย์:
อย่าง Installation แชนเดอร์เลียคริสตัลเขาก็ต้องถามว่า เยอะแยะอย่างงี้ เช็ดยังไง? เราก็บอกว่าเหมือนแชนเดอร์เลียทั่วไป คุณก็ต้องจ้างคนที่เขาทำความสะอาดแชนเดอร์เลีย ปีละครั้ง จริงๆ การมีแชนเดอร์เลียในโรงแรมมันไม่แปลกไง แต่มันแค่เป็นแชนเดอร์เลียที่เป็นแบบนี้เท่านั้นเอง คือพอเราพูดอย่างงี้ เขาก็คุ้นเคยกับสิ่งที่เขาต้องมีอยู่แล้ว
WURKON:
มันเป็นสิ่งของที่มีอยู่ปกติทั่วไป เพียงแต่แค่มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปเท่านั้น?
ทวิตีย์:
ใช่ๆ การดูแลรักษามันก็เหมือนๆ กัน
อมตะ:
คือถ้าเราจะพรีเซนต์สิ่งที่แปลกและยากนิดนึงเนี่ย เราต้องคิดแทนลูกค้าก่อน ต้องตอบคำถามเขาให้ได้ อย่างสนิมเนี่ย เรารู้เลยว่าพอเราพรีเซนต์ไปเนี่ย เดี๋ยวเขาต้องบอกว่า อ้าว แล้วสนิมมันจะไม่ตกลงไปในอาหารเหรอ? ไม่ครับ! เราถึงต้องหยุดสนิมไง ต้องเคลือบหยุดสนิมไม่ให้อ็อกซิเจนเข้าไปมันก็หยุด มันก็ไม่หล่นลงมา
WURKON:
งานสถาปัตยกรรมมันไม่ใช่มองแค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของฟังก์ชั่นด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้งานกับมนุษย์
อมตะ:
ถูกต้องครับ (ยิ้ม)
อาคาร SunOne
WURKON:
ผลงานอีกชิ้นนึงที่เราชอบคืออาคาร Sunone ตรงที่ตัวอาคารมันมีสิ่งที่คุณเรียกว่า Double Skin
อมตะ:
ใช่ครับ เป็นผิวอาคารภายนอก คือ Sunone เนี่ย เป็นอาคารสำนักงานแห่งแรก ก่อนหน้านั้นเราทำรีสอร์ทกันมาตลอด สิ่งที่น่าสนใจของอาคารนี้ก็คือ โลเคชั่นของเขาอยู่ในชุมชนที่เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่มีตึกสูงเลย รอบข้างเป็นอาคารหนึ่งถึงสองชั้น เป็นบ้านคนหมดเลย สงบเงียบหมดเลย ทีนี้เนี่ย อาคาร Sunone ต้องเป็นอาคารสูงสี่ชั้นขึ้นไปแน่นอนตามโปรแกรมที่จำเป็นต้องมี เราก็รู้สึกว่าเราจะทำยังไงให้อาคารออฟฟิศที่มีคนทำงาน 24 ชั่วโมงเนี่ย เข้าไปแทรกอยู่ในความสงบของชุมชนที่เรียบร้อย แล้วไม่รู้สึกว่าเราจะไปรุกล้ำเขา เพราะฉะนั้นเนี่ย เราก็คิดว่า อาคารของเราจะมีผิวภายนอกที่เป็นสกรีน ที่ทำหน้าที่สองอย่าง อย่างแรกคือ ให้คนภายนอกที่อยู่ในบ้านรอบๆ ข้าง มองเข้ามาไม่เห็นข้างในนัก แม้จะทำงานดึกดื่นก็จะไม่เห็นคนเดินไปเดินมาสี่สิบคนอยู่ มันก็เป็นทั้งการให้ความเป็นส่วนตัวแก่คนข้างในไม่ให้คนข้างนอกเห็น และคนข้างนอกก็จะไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน และอีกอย่างนึงคือ สกรีนเนี่ย ทำให้เกิดแพทเทิร์นของแสงที่น่าสนใจ เมื่อมองออกไปข้างนอก เพราะพอเราขึ้นไปอยู่ที่ชั้นสามชั้นสี่เนี่ย วิวมันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ พอเราอยู่ในความสูงในระดับนี้ สิ่งที่เราเห็นมันไม่ใช่วิว แต่จะเป็นหลังคาหลายสีของบ้านมากกว่า เราก็เลยให้สกรีนเป็นตัวเปลี่ยนภาพที่คนข้างในมองเห็น แทนที่จะเป็นภาพของหลังคา ให้กลายเป็นแพทเทิร์นของแสงแทน
WURKON:
เป็นการแปลงทัศนียภาพในการมอง อันนี้ก็เหมือนวิธีคิดของงานศิลปะอีกแล้วนะครับ
อมตะ:
(หัวเราะ) สิ่งที่น่าสนใจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นจริงๆ แต่จะเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ผิวอาคารภายนอกเนี่ย มาทำหน้าที่ในการตอบเงื่อนไขหลักๆ ของอาคาร หลังจากนั้นเนี่ย เรื่องอื่นๆ ก็ค่อยๆ ตามมา แล้วอีกอย่างอาคารนี้ก็เป็นสำนักงานของนักออกแบบซอฟต์แวร์ เราเลยอยากให้ผิวของอาคารมีแพทเทิร์นที่มีคาแรคเตอร์ของความเป็นดิจิตอลนิดๆ
WURKON:
ในส่วนการตกแต่งภายในก็มีความน่าสนใจไม่แพ้ภายนอกเหมือนกัน ดูเหมือนจะเป็นการตกแต่งที่ล้อไปกับผิวภายนอกของอาคารด้วย
อมตะ:
การตกแต่งภายในเราใช้แผ่น PVC Strip ( ม่านริ้วพลาสติกใส) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้กับพวกห้องเย็นในซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเรารู้จัก PVC Strip มาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ตอนทำอยู่ที่ Metric ตอนทำโรงงาน ทำห้องเย็น ตอนนั้นก็เคยคิดอยู่ว่า มันน่าสนใจจังเลย มันน่าจะไปใช้อะไรได้มากกว่านี้ พอมาถึงตอนทำ Sunone ก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่เหมาะสม เพราะว่ามันสามารถกำหนด Space ได้ เช่นแบ่งโซนของแต่ละแผนก ห้องประชุม แต่คนก็ยังพอมองเห็นภายในได้
WURKON:
ไม่ได้ปิดให้มองไม่เห็น?
อมตะ:
ไม่ปิด แค่กำหนดโซนนิ่ง มันเกิดขึ้นได้เพราะว่าเราต้องแน่ใจว่า เมื่อคุณมีห้องประชุมที่เวลาคุณประชุมอะไรแล้วคนมองเข้าไปเห็นข้างในได้ เจ้าของเขาโอเคไหม? เขาโอเค เขาไม่มีอะไรต้องปิดบัง
ทวิตีย์:
จริงๆ เขาชอบด้วย เพราะว่าวิธีการทำงานของออฟฟิศเขา คือเป็นโปรเจ็กต์เหมือนกัน เขาทำซอฟต์แวร์ แต่มันก็เป็นโปรเจ็กต์ๆ แต่ละกลุ่ม เวลาเขาทำงานเนี่ย เขาจะระดมสมองกันในทีม แล้วพอเขาประชุมระดมสมองกันเนี่ย จริงๆ เขาอยากเปิดให้คนที่อยู่ทีมอื่นเดินผ่านมาเห็นหรือเข้ามาร่วมประชุมออกความเห็นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับวิธีทำงานของเขา เพราะฉะนั้นห้องประชุมที่มันไม่ปิด ที่ถ้ามีใครสนใจก็เดินทะลุผนังเข้ามาเลย แล้วก็เข้ามาร่วมถกเถียงและเปลี่ยนได้เลยเนี่ย เป็นสิ่งที่เขาชอบ จริงๆ มันตอบโจทย์วิธีการทำงานของเขา
WURKON:
ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกคุณเสนอไปใช่ไหมครับ
ทวิตีย์:
ใช่ๆ เพราะว่าเราเข้าใจวิธีการทำงานของเขา และเราคิดว่าสิ่งนี้มันตอบโจทย์ และพอทำขึ้นมาเขาก็ชอบ
WURKON:
จริงๆ วิถีชีวิตการทำงานของสำนักงานสมัยใหม่นี้มันเป็นแบบนี้กันเยอะเลยนะครับ ที่เป็นพื้นที่เปิดแบบโอเพ่นสเปซ มีการเปิดให้คนทำงานในแผนกต่างได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ได้แยกกันทำงานเหมือนสมัยก่อน อย่างเช่น ออฟฟิศของ Google, Pixar และ facebook อะไรแบบนี้
อมตะ:
จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการทำงานของเขาด้วยแหละ ซึ่งพอเราคุยกับเขาเข้าใจ เรารู้สึกว่า การออกแบบซอฟต์แวร์เนี่ย ครีเอทีฟมากพอๆ กับวิชาชีพเราเลย กระบวนการคล้ายกันมาก มีโจทย์ แล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์ตีโจทย์เพื่อหาคำตอบ ซึ่งพอเราเข้าใจวิธีการทำงานของเขาก็รู้สึกว่า เราน่าจะนำเสนอพื้นที่ทำงานที่มันเปิดได้ แต่ถ้าเกิดว่ามันเป็นบริษัทไฟแนนซ์ หรือบริษัททนาย ผมคงทำอย่างงั้นไม่ได้ใช่ไหมครับ (หัวเราะกันหมด) เพราะทุกอย่างคงต้องเป็นความลับ
WURKON:
องค์ประกอบที่น่าสนใจอีกอย่างของอาคาร Sunone คือการออกแบบบันไดที่เปิดโล่ง ทำให้เห็นพื้นที่ทั้งหมดของสำนักงาน
ทวิตีย์:
จริงๆ เป็นความตั้งใจหลักอันนึง ที่จะทำให้การทำงานร่วมกันภายในออฟฟิศเขาดีที่สุด ให้คนรู้จักกันได้มากขึ้น ตอนแรกที่เราไปดูที่ออฟฟิศเก่าเขา ทุกคนก็จะนั่งอยู่ในคอกทำงาน แล้วเวลาทำงานร่วมกันบางทีก็อีเมลคุยกันในออฟฟิศ บริษัทเขาใหญ่เหมือนกัน แต่คนก็ไม่ได้รู้จักกัน อีเมลคุยกับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ทีนี้พอเราไปทำ เราก็คิดว่า ถ้าเกิดเราทำให้คน เห็นกัน รู้จักกัน เดินมาคุยกันที่โต๊ะได้ แล้วก็มีพื้นที่ส่วนกลางที่เขามาทำงานร่วมกัน มันน่าจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อม และพลังขับเคลื่อนในการทำงานที่ดี เพราะฉะนั้นดีไซน์ออฟฟิศก็เลยจะเป็นโอเพ่นแปลน และเปิดให้มันเชื่อมกันทั้งหมด
WURKON:
คนทำงานไอทีก็จะได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วยใช่ไหมครับ
อมตะ/ทวิตีย์:
(หัวเราะกันทั้งคู่) ใช่ๆ
อมตะ:
ตอนแรกที่นำเสนอโครงการนี้มันก็เกินสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้น โอเพ่นแปลนเนี่ย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ป๊อปปูลาร์มากเท่าทุกวันนี้ แต่ก็เริ่มมีแล้วนะ แต่ตอนนั้นกว่าจะโน้มน้าวว่าทุกคนไม่ต้องมีคอกทำงานเนี่ย ก็ยากอยู่เหมือนกัน จะได้เหรอ? เราต้องมีความเป็นส่วนตัวนะ เราจะได้วางของ วางรูปแฟน วางรูปหมาอะไรต่างๆ เราก็บอก ก็ไม่ควรจะวางไง จะได้เรียบร้อย (หัวเราะ) พอทีมงานของเขาย้ายเข้าไปตอนแรกก็ตกใจเหมือนกัน หา! มันโล่งขนาดนี้เลยเหรอ? แต่ในที่สุดเขาก็ปรับตัวได้ ตอนนี้ถ้าแวะไปก็ยังจะสวยสะอาดได้ใกล้เคียงวันแรกๆ
WURKON:
เหมือนเคยมีบางคนบอกว่า ถ้าไปถามคนสมัยก่อนที่นั่งรถม้าว่าอยากจะได้พาหนะแบบใหม่ยังไง เขาก็จะตอบว่า อยากได้รถม้าเร็วๆ แทนที่จะตอบว่ารถยนต์
ทวิตีย์:
ใช่ๆ บางทีเราก็ต้องคิดอะไรไปล่วงหน้า
อมตะ:
โชคดีว่าเจ้าของเขา ซึ่งจริงๆ ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนะ แต่เขาเชื่อใจ ให้เราทำไป แล้วพอเสร็จมาเขาก็แฮปปี้มาก
WURKON:
เคยได้ยินคุณบีนิยามว่าการทำงานของ Department of Architecture ไม่ใช่แค่การออกแบบอาคารอย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบ ประสบการณ์ และ ความฝัน
อมตะ:
จริงๆ แล้วทุกๆ โครงการ เลยนะ เราไม่ได้มองแปลนเป็นแปลน เรามองแปลนว่าเป็นสถานที่ที่คนจะเข้าไป หรือมองว่าเป็นสเปซที่คนที่อยู่ตรงนั้นจะเกิดประสบการณ์อะไรกับสเปซนั้นๆ แน่นอน นักออกแบบคือคนออกแบบประสบการณ์ และจริงๆ แล้วแทบทุกโครงการ เจ้าของโครงการมาหาเราด้วยความฝัน บางคนฝันง่ายๆ บางคนฝันยากๆ บางคนฝันมาแบบเห็นภาพแล้ว บางคนฝันมาแค่รู้สึกถึงอารมณ์ที่ต้องการ เราก็ต้องทำเหมือนหมอดูตีความฝันน่ะ (หัวเราะกันร่วน)
WURKON:
เพราะบางทีมันก็เป็นนามธรรมมากๆ?
The Commons (Community Mall) ทองหล่อ
อมตะ:
อย่างที่ The Commons (Community Mall) เนี่ย คุณเต้ คุณแต๊ว (วรัตต์ และ วิชรี วิจิตรวาทการ) คือเจ้าของโครงการนี้ ก็มาด้วยความฝัน ว่าอยากสร้างสเปซสำหรับชุมชน โดยมีความเป็นร้านค้าปลีกที่มี F&B Outlets (แผนกบริการอาหารและเครื่องดื่ม) ต่างๆ แต่สิ่งแรกๆ ที่เขาต้องการคือต้องการสถานที่ที่เป็น Community ซึ่งมาก่อนความเป็น Mall เสียอีก ซึ่งเขาไม่ได้อยากสร้าง Community Mall แต่เขาอยากสร้าง Community (แหล่งชุมชน) เราก็ต้องมาตีความฝันคำนี้ของเขาว่า ถ้าเป็น Community มันควรจะมีสเปซยังไงบ้าง สิ่งที่จะทำให้เกิด Community ที่เราตีความคือ เรารู้สึกว่าคนไทยคนกรุงเทพฯ คนทองหล่อ ไม่ค่อยมีพื้นที่กลางแจ้งที่ไม่มีแอร์ให้นั่งกันสักเท่าไหร่ เรามีพื้นที่แบบนั้นอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 12 เดือน เพราะว่ามันร้อน หรือฝนตก เพราะฉะนั้นเราก็เลยตั้งใจจะสร้างพื้นที่กลางแจ้งที่ใช้งานได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกๆ ฤดู นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความต้องการของพื้นที่นี้ จากตรงนั้นเราก็มาหาวิธีทางสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกิดส่ิ่งนั้นขึ้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่ได้มาทีหลัง จริงๆ โครงการอื่นๆ แทบทุกโครงการก็จะมาด้วยความฝัน อย่างเช่น Dii (wellness med spa) คือ Medical Spa เจ้าของก็มี Spa Product และ Spa Services ในชื่อ Divana อยู่แล้ว แต่ฝันว่าอยากจะมีสาขาใหม่เป็นตลาดอีกกลุ่มนึง ที่ทันสมัยขึ้น ที่ unisex ขึ้น ที่กึ่ง Medical ขึ้น จะทำยังไงดี? เราก็ดูว่า อ๋อ ถ้าอย่างนั้นต้องทำอะไรบ้าง 1. 2. 3. 4. ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนโปรดักต์เขา จะใช้โปรดักต์เดิมมาใส่แพคเกจใส่ขวดใหม่ มันไม่พอ มันต้องเปลี่ยนโปรดักต์เลย เราก็แนะนำเขาไปเป็นขั้นๆ
WURKON:
แบบนี้มันก็ไม่ใช่การออกแบบอาคารอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นการออกแบบแบรนด์ใหม่เลย
อมตะ:
ในโครงการนั้นเราอาจจะมีส่วนร่วมเยอะนิดนึง ด้วยความที่เป็นสิ่งที่เราพอจะแนะนำได้ แต่เราก็ไม่ได้ทำทั้งหมด ในแง่ของกราฟฟิกดีไซน์และโปรดักต์ดีไซน์ก็เป็น BOF ทำ เราก็คุยกับเจ้าของว่าถ้าจะไปแนวนี้ก็ควรจะเป็น BOF นี่แหละ
WURKON:
เวลาคุณสองคนทำงานนี่ทำยังไงเหรอครับ คิดงานคิดด้วยกันหรือแยกกันคิดครับ
อมตะ:
ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ถ้าเกิดโครงการใหญ่มากๆ เราก็จะทำงานในโครงการนั้นทั้งสองคน ถ้าโครงการขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ก็จะต่างคนต่างทำ ยกตัวอย่าง SALA ภูเก็ตเนี่ย เป็นช่วงเริ่มต้นของออฟฟิศ เราก็ทำทั้งคู่ เราก็จะคุยกัน ว่าเราจะรีเสิร์ชเรื่องอะไร แยกกันรีเสิร์ช กลับมาปั๊บ ก็มาระดมสมองกัน จริงๆ แล้วเรามีความคิดที่เหมือนและต่าง สิ่งที่ดีคือเราสองคนไม่ได้เหมือนกัน 100% แต่เรามีจุดมุ่งหมายหลักเหมือนกัน ว่าเราอยากทำสิ่งที่ชัดเจน อยากทำสิ่งที่ใหม่ เพราะฉะนั้นเนี่ย ในเมื่อจุดมุ่งหมายหลักมันเหมือนกันแล้ว วิธีคิดที่ต่างกันบ้างกลับทำให้งานมันหลากหลายและสดใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นงานใหญ่เราก็จะคุยกันจนได้ ทิศทาง วิธีการของการดีไซน์ที่เซ็ตกันไว้ ว่างานนี้จะใช้อะไร ถ้าเป็นงานใหญ่เราก็จะค่อยแยกกันไปทำคนละสองสามตึกก็แล้วแต่ อย่างเช่น SALA เป็นงานรีสอร์ต ก็จะมีอาคารเยอะ มีวิลล่า มีร้านอาหาร มีล็อบบี้ มีสปา มีอะไรต่างๆ อย่างที่นี่เราจะเอาความรู้สึกทางสถาปัตยกรรมที่มาจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะ ตะวันตก จีน ไทย มลายู ซึ่งทั้งหมดนี้หลอมรวมกันอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบ Chino Protugese สมัยโบราณ แต่มาใส่ในภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เรามีแค่นี้ แล้วต่างคนก็ต่างแยกกันไปทำงาน แล้วเราก็จะกลับมาคุมภาพรวมในแง่ของภาพลักษณ์ต่อไป แต่ถ้าเป็นโครงการเล็กเนี่ย ต่างคนก็ต่างค่อนข้างจะอิสระ แต่เนื่องจากเรากินข้าวเที่ยงด้วยกันเกือบทุกวัน ถ้าเราสองคนอยู่ออฟฟิศ เราก็จะสั่งอาหารคลีนมานั่งกิน แล้วก็คุยเรื่องงาน เรื่องสัพเพเหระต่างๆ เป็นเรื่องปกติเลยที่พอเราแยกกันทำงานแล้วพอคนคนนึงเข้าไปทำงานลึกๆ เนี่ย บางทีมันติดขัด พอติดขัดปั๊บเนี่ย การมาคุยกันมัน คลิก ไขกุญแจเปิดประตู ให้อีกคนไปทำงานต่อได้ ซึ่งมันเป็นพลวัตรที่ดี
The Flow - A Multipurpose Pavilion
WURKON:
ส่วนใหญ่สถาปนิกที่เคยรู้จักหลายคนมักจะมีปัญหากับหมอดูฮวงจุ้ย พวกคุณเจอปัญหาแบบนี้กันบ้างไหมครับ
ทวิตีย์:
(หัวเราะร่วน) จริงๆ เราเจอไม่เยอะ เป็นเรื่องน่าแปลก เราเจอนิดหน่อยน่ะค่ะ ในระดับที่น้อย อย่างตั้งแต่ Six Sense เขามีหมอดูฮวงจุ้ยจริงจังเลยนะ มาหมุนแผ่นเข็มทิศ แต่คอมเม้นต์น้อยมาก แบบ ครัวต้องหันไปทางนี้ เตาต้องหันมาทางนี้
อมตะ:
โต๊ะแคชเชียร์ ต้องหันไปทางไหน เพรสซิเดนเชียล สวีท ต้องหันไปทางไหน
ทวิตีย์:
น้อยเนอะ ไม่ค่อยมี ประหลาดเหมือนกัน เคยทำโครงการนึง เจอหมอดูฮวงจุ้ยที่มีชื่อเสียงมาก ดังมาก เข้าไปเราเกร็งมาก เราออกแบบไปเท่ๆ เหลี่ยมๆ เลย ไปถึงเขาบอก ต้องโค้ง กระจกต้องเป็นครึ่งวงกลมอย่างงี้ (หัวเราะ) เราก็คุยกับเขาว่ามันใช้วิธีอื่นเลี่ยงได้ไหม ที่สุดเหลือแค่บันไดโค้งลบมุม (หัวเราะ) เขาก็ยอมนะ ก็ประหลาดใจเหมือนกันเพราะเขาเป็นหมอดูใหญ่มากๆ เลย
อมตะ:
จริงๆ ตอนนี้เราทำงานในต่างประเทศ 60-70% เราทำงานกับเมืองจีนเยอะ ที่เมืองจีนเราไม่เคยเจอซินแสฮวงจุ้ยเลยครับ คนจีนไม่เห็นจะเชื่อเลยครับ ทั้งๆ ที่เราทำกับคนจีนตลอดเวลา
ทวิตีย์:
ตอนแรกเนี่ยเราแบบ โหย คนจีน ต้องมาแน่ๆ เลย เราก็ถามเขาเป็นอย่างแรกเลย ถ้ายูมี Feng Shui Master นะยูเอามาเลย ให้เรารู้ตั้งแต่แรก เดี๋ยวทำให้ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วค่อยมาแก้
อมตะ:
เขาแบบ ทำไม Feng Shui Master เกี่ยวอะไรด้วย? คนจีนในประเทศจีนเขาไม่สนใจเลยนะครับ
ทวิตีย์:
ในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีเลย เราก็ไม่รู้ว่าในโซนอื่นเขาจะมีหรือเปล่า?
WURKON:
สงสัยคงหายไปตอนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมหมดแล้วมั้งครับ
ทวิตีย์:
ใช่ๆ ไต้หวันก็ไม่มีเลย
อมตะ:
แต่ทำในอินโดนีเซียที่เจ้าของเป็นคนจีน อันนั้นมีหมอฮวงจุ้ยมาเกี่ยวข้อง โหย คอมเม้นต์มาเพียบเลย แต่เจ้าของก็จะกรองให้ว่าสิ่งที่จำเป็นที่จะให้เราแก้จริงๆ คืออะไร แต่บางอันก็หนักอยู่ ทางเข้า เราเข้าทางนี้ จะให้เข้าข้างๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับพี่ๆ น้องๆ ที่เคยเจอ เราถือว่าน้อยมาก
ทวิตีย์:
มันคงเป็นความบังเอิญที่ไม่ค่อยเจอ แต่สักวันก็คงจะเจออีกแหละ
WURKON:
แต่ก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านอะไร?
ทวิตีย์:
ถ้ามีก็อยากจะถามก่อน อยากให้เขาบอกเกณฑ์มาก่อนออกแบบ คือถ้าบอกไว้เลย มันก็เป็นโจทย์อย่างนึง เหมือนกับโจทย์อย่างอื่น เหมือนขนาดของโครงการ ฟังก์ชั่นอะไร เราก็จัดให้ได้ แต่ถ้ามาบอกทีหลังก็เหนื่อย
WURKON:
แบบนี้ถือว่าเราประนีประนอมกับลูกค้าไหมครับ อย่างน้อยก็ในแง่ของฟังก์ชั่น
อมตะ:
ฟังก์ชั่นเป็นสิ่งที่ต้องตอบโจทย์ แน่นอนว่าอย่างน้อยสถาปัตยกรรมฟังก์ชั่นมันต้องใช้งานได้
ทวิตีย์:
มันไม่ใช่ว่าสวยหรือน่าประทับใจ แต่ใช้งานไม่เวิร์ค มันก็ไม่เวิร์ค
WURKON:
สถาปนิกชื่อดังบางคนทำงานสถาปัตยกรรมที่สวยมากๆ แต่ฟังก์ชั่นอาจจะไม่เวิร์กเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ของ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ ที่ออกแบบอาคารมาสวยมาก แต่ตัวผนังพิพิธภัณฑ์โค้ง ทำให้แขวนภาพยาก อะไรแบบนี้
อมตะ:
อันนั้นมันต้องประนีประนอม คนใช้งานต้องเรียนรู้ในการอยู่กับสถาปัตยกรรมด้วย ถ้าเกิดผนังโค้ง คุณก็แขวนภาพตรงได้ คุณไม่จำเป็นต้องดัดภาพวาดคุณให้โค้งนี่นา จริงไหม? (หัวเราะ)
ทวิตีย์:
มันไม่ใช่แขวนไม่ได้ไง มันก็แขวนได้อยู่ดี
อมตะ:
แต่สถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นได้ดีที่สุดนะ ไม่จำเป็น สถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นได้ดีที่สุด คือสถาปัตยกรรมที่มีฟังก์ชั่นดี แต่สถาปัตยกรรมที่มีฟังก์ชั่นดีเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดหรือเปล่า? นั่นมันก็อีกเรื่องนึง
ทวิตีย์:
จริงๆ มันก็เหมือนกับว่าทำไมผู้หญิงใส่ส้นสูง ถ้าพูดอย่างงี้ คนทั่วไปจะเข้าใจ คือมันเดินยากแหละ แต่มันสวยไง ยิ่งสูงยิ่งสวย (หัวเราะ)
WURKON:
ขนาดเราเป็นผู้ชายเคยลองใส่ดูแล้วทรมานมากเลยนะ
อมตะ:
เคยลองด้วยเหรอ? แสดงว่ามีอินเนอร์อยู่นะเนี่ย (หัวเราะกันลั่น)
WURKON:
มันไม่ใช่แค่ใส่แล้วเดินยากธรรมดานะ หัวจะทิ่มเอาเลย แต่ในหนังบางเรื่องผู้หญิงใส่แล้ววิ่งเลย ทำได้ไงน่ะ!
ทวิตีย์:
ใช่! แล้วนักร้องที่ใส่เต้นน่ะ!
อมตะ:
เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่ารองเท้าที่ดีที่สุด คือรองเท้าที่ใส่สบายที่สุด ก็คงเป็นรองเท้า crocs แล้วแหละ (หัวเราะกันร่วน) เก้าอี้ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องนั่งได้ ความสูงเหมาะสม แข็งแรง ขยับตัวแล้วไม่ล้ม เพราะฉะนั้นแน่นอน ผู้อยู่อาศัยก็ต้องเรียนรู้และปรับการใช้งานของตัวเองนิดหน่อยเพื่อเข้าไปอยู่ในสถาปัตยกรรมนั้นๆ
WURKON:
เหมือนที่คุณบีพูดถึงการออกแบบอาคาร Sunone ว่าตอนแรกมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้คุ้นเคย แต่พอใช้งานไปก็จะคุ้นเคยไปเอง
ทวิตีย์:
บางทีมันอยู่แค่ความไม่ชินน่ะค่ะ
อมตะ:
ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ยากในการปรับเลย
WURKON:
แล้วเราจะหาสมดุลของสิ่งเหล่านี้ยังไง ระหว่างฟังก์ชั่นกับความสวยงาม ระหว่างลูกค้า กับตัวนักออกแบบ
อมตะ:
ผมว่าเราต้องคิดแทนตัวคนใช้ ว่าถ้าเราเป็นคนใช้งานจริงๆ คิดอย่างไม่มีอคติมากนัก
ทวิตีย์:
ไม่เข้าข้างตัวเองนัก
อมตะ:
เราจะประนีประนอมตัวเองมาใช้สิ่งนี้ได้หรือเปล่า ถ้าเกิดเราไม่มีอคติ แล้วเราตอบว่าได้ เราก็ไปโน้มน้าวเจ้าของโครงการ อย่างตอนแรกที่ทำ Commons เนี่ย เราก็เสียวๆ ว่าเราจะให้คนนั่งตามบันได คนจะรู้สึกว่า นั่งขยับเก้าอี้แล้วเดี๋ยวจะตกหรือเปล่า หรือคนไทยไม่ค่อยชอบนั่งตามบันไดเพราะมันไม่เหมาะสมอะไรต่างๆ แต่ว่าพอคุยกับเจ้าของ เขาก็บอกว่าไม่แปลกอะไร อาจจะเพราะเขาโตมาในนิวยอร์ค ก็เลยคุ้นเลย แต่ว่าตอนแรกเราก็เสียวว่าคนไทย คนกรุงเทพฯ ทั่วๆ ไปจะนั่งบันไดได้หรือเปล่า?
WURKON:
เอาจริงๆ เด็กสยามฯ เขาก็นั่งบันไดกันนะครับ
อมตะ:
ใช่ๆๆ (หัวเราะ) แล้วคนก็นั่งกันได้จริงๆ
ทวิตีย์:
จริงๆ คนรุ่นใหม่ขึ้นมาก็คงนั่งได้แหละค่ะ
WURKON:
อย่างตอนนี้เรานั่งคุยกันที่ Commons เนี่ย มีลมพัดเข้ามาตลอดเวลาเลยนะครับ
อมตะ:
มันคือการจัดการเรื่อง “ภาวะอยู่สบาย” ของที่นี่ คือเราต้องการให้มีภาวะอยู่สบาย ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน อุณหภูมิเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อาคารโปร่งมาก ไม่ว่าชั้นพื้นดิน ชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นสี่เนี่ย สามารถมีลมธรรมชาติเข้าจากผนังได้ทุกชั้น หรือแม้กระทั่งช่องรับแสงบนหลังคา ก็จะมีสกรีน และตัวสกรีนก็จะลอยตัวใต้หลังคาหน่อยนึง เพื่อที่ว่า ถ้าลมมาจากระดับสูงเนี่ย ก็สามารถตลบกลับเข้ามาได้ เพราะฉะนั้นลมก็จะไหลเวียนตลอดทั่วอาคาร และเราก็จะมีพัดลมอยู่หลายระบบ อย่างในบริเวณหลักก็จะมีพัดลมใหญ่อยู่หนึ่งตัว หมุนเบาๆ ทำให้เกิดความหมุนเวียนอากาศ ถ้ามองขึ้นไปบนเพดานข้างบน จะมีพัดลมสองเซ็ต เซ็ตนึงจะหมุนเพื่อดูดลมร้อนออกไป อีกเซ็ตนึงจะหมุนเพื่อดูดลมเย็นเข้ามาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ เพราะฉะนั้น ตัวผิวอาคารที่โปร่งให้ลมทะลุทะลวง และเพิ่มการเคลื่อนไหวอากาศจะทำให้เรานั่งแล้วอยู่สบาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ร้อนมาก แดดมาเต็มๆ เลย ตรงที่นั่งนี้ก็ไม่โดนแดด เพราะอาคารชั้นสามชั้นสี่ลอยตัวสูงและมีสกรีนอยู่จำนวนมากช่วยบังแดดให้หมด แต่ในขณะเดียวกันมันก็สว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟ และต่อให้ฝนตก ตรงนี้ก็ไม่เปียก เพราะฉะนั้นเนี่ย ลักษณะของอาคาร ผนัง และอะไรต่างๆ ที่ทำทั้งหมด ก็เพื่อจะสร้างพื้นที่กลางแจ้งให้อยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ
WURKON:
ซึ่งตรงส่วนนี้ก็เป็นการประหยัดพลังงาน และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกในปัจจุบันคำนึงถึงกันมากด้วย
ทวิตีย์:
อย่างอันนี้ เราอยากที่จะสร้างพื้นที่ที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด ก็คือ กลางวันใช้แสงธรรมชาติ ไม่ต้องเปิดไฟเยอะ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ร้อน แล้วก็ไม่ต้องเปิดแอร์ เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่ไม่ต้องใช้แอร์ ซึ่งมันก็เกี่ยวกับวิธีการออกแบบที่จะทำยังไงถึงจะได้มา จริงๆ มันมาตั้งแต่เริ่ม Massing (การสร้างรูปทรง) เลย ว่าวางอาคารยังไงให้ลมมันเข้าได้ทุกทิศทาง ลมมันมาจากไหน หรืออย่างอาคาร Sunone เนี่ย จริงๆ ตัว Double Skin ตัวนั้น ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้คนมองอย่างเดียว แต่ตัวมันก็ทำหน้าที่กันแสงแดดด้วย ซึ่ง Sunone เราทำผนังส่วนที่ทึบสนิทเลยก็คือด้านตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือทิศใต้เป็นสกรีนบังแดด ซึ่งกรองความร้อนที่จะเข้ามา ทำให้ Sunone ใช้แอร์น้อยมาก คือบิลค่าไฟฟ้าของเขาถูกลงครึ่งนึงของออฟฟิศเก่าน่ะค่ะ
อมตะ:
ทั้งๆ ที่มีพื้นที่มากกว่าออฟฟิศเก่าถึงสองเท่า แต่ค่าไฟฟ้าน้อยกว่าออฟฟิศเดิมครึ่งนึง ตอนออกแบบเราก็มีแอร์อยู่ทุกพื้นที่เป็นเรื่องปกติแหละ แต่ในที่สุดเวลาใช้ เขาเปิดทีละครึ่ง เพราะว่าเย็นพอ พอตอนเช้าแดดมาทางนี้ก็เปิดแค่ครึ่งนี้ก็เย็นแล้ว จริงๆ แล้วมันแค่เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลน่ะครับ พูดตรงๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะทำอาคารให้เป็น Super Green มันเป็นไปโดยธรรมชาติ
ทวิตีย์:
จริงๆ เวลาออกแบบ โดยเฉพาะในภูมิอากาศร้อนแบบประเทศเรา แค่เขียนแปลนที่ร้อน เราจะรู้สึกเลยว่าร้อน เมื่อไหร่ที่เราเขียนกระจกอยู่ทิศตะวันตกเมื่อไหร่เนี่ย แบบว่ารู้สึกได้เลย ว่าร้อน (หัวเราะ) ฉะนั้นถ้ากระจกมันต้องอยู่ฝั่งตะวันตกจริงๆ ก็ยื่นชายคาไปเยอะๆ หรืออะไรอย่างงี้ มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเอง (หัวเราะ) มันก็เลยเป็นไปโดยธรรมชาติ
EMERGENCY SCHOOL อาคารเรียนฉุกเฉินต้านแผ่นดินไหว โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
WURKON:
สถาปัตยกรรมที่ดีในความหมายของพวกคุณคืออะไร
ทวิตีย์:
สถาปัตยกรรมที่ดีคือ สถาปัตยกรรมที่ทำให้คนมีความสุข ซึ่งความหมายกว้างมากนะ “ความสุข” เนี่ย แล้วแต่คนจะนิยามว่าคนมีความสุขเพราะอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น รู้สึกดี ชอบ หรือมันทำให้สิ่งแวดล้อมเราดี ทุกอย่างมันก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้มนุษย์มีความสุข
อมตะ:
ชอบสถาปัตยกรรมที่กระตุ้น Sense ของเรา ไม่ว่า Sense อะไรก็ตาม บางครั้ง ความมุ่งหมายของสถาปัตยกรรมนั้นๆ ตั้งใจจะทำให้เราสงบ บางครั้ง สถาปัตยกรรมนั้นๆ ตั้งใจจะทำให้เราตื่นเต้น บางครั้งสถาปัตยกรรมนั้นๆ ตั้งใจจะทำให้เรารู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายหรืออะไรก็แล้วแต่ สถาปัตยกรรมที่กระตุ้น Sense ของเรา ไม่ใช่แค่การใช้งานเฉยๆ ถ้าสถาปัตยกรรมนั้นสามารถกระตุ้น Sense ของเราได้อย่างเหมาะสมไปอย่างที่ตั้งใจไว้ได้อย่างชัดเจน ในบางงานถึงขั้นรุนแรง เรารู้สึกว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ดี
WURKON:
พวกคุณมองว่าสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ บ้านเราเป็นยังไงบ้างครับ
อมตะ:
ดี ดีมาก! น่าตื่นเต้น
ทวิตีย์:
มีคนเก่งๆ เยอะไปหมดเลย เยอะมากๆ เป็นจังหวะที่ดีมาก
อมตะ:
ช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา และจะต่อไปอีกหลายสิบปี เป็นช่วงที่สถาปนิกรุ่นน้องๆ น่าสนใจทุกช่วงอายุเลย ตั้งแต่ สี่สิบ สามสิบ หรือ ยี่สิบกลาง ยี่สิบปลายๆ มีผลงานดีๆ ออกมา รู้สึกดีใจมาก การมาเป็นแผงมันยก... จะบอกว่ายกระดับมันก็รุนแรงไปนะ (หัวเราะ) มันยก Perception (ความตระหนักรู้) ของวิชาชีพ
WURKON:
ไม่ใช่แค่คนออกแบบตึก
อมตะ:
ไม่ใช่แค่คนออกแบบตึก เราออกแบบสถาปัตยกรรม และมันจะเป็นการเพิ่มความต้องการวัตถุประสงค์ในการอยากได้อาคารจากสถาปนิกมากกว่าฟังก์ชั่น
WURKON:
คำถามสุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงานในสายอาชีพนี้บ้างครับ
อมตะ:
อาชีพนักออกแบบเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักออกแบบภายใน กราฟฟิกดีไซเนอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นอาชีพที่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งจบหรือมีประสบการณ์น้อยเนี่ย คุณจะรู้สึกว่ายากมาก เพราะจะมีคนที่เป็นคู่แข่งคุณ หรือคนที่คล้ายๆ คุณอยู่จำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นการที่คุณจะเอาตัวรอดได้ต่อไปและเป็นนักออกแบบได้ในระยะยาวเนี่ย คุณต้องมีความมุ่งมั่นอย่างสูงส่ง ถึงขั้นดื้อดึงที่จะต้องทำงานที่ดีให้ได้ แม้ในช่วงแรกๆ อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งเรื่องเงิน หรือการยอมรับจากลูกค้า มันเป็นเรื่องปกติ ที่พอคุณเพิ่งจบ คุณอาจจะไม่ได้ลูกค้าที่เข้าใจทางดีไซน์มาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณเสนอไปลูกค้าอาจจะตามไม่ทัน อย่าเพิ่งเสียกำลังใจแล้วเปลี่ยนตัวเอง เอาละวะ! ทำตามเขาแหละ ทำตามมีตามเกิด เอาให้มันจบไป ผมว่าเราต้องมีความดื้อดึงอดทนในการจะผลักดันสิ่งที่เราเชื่อทางด้านการออกแบบ ในช่วงแรกจะยากมาก แต่เมื่อถึงอายุนึง เริ่มมีผลงานเนี่ย มันจะง่ายขึ้นในหัวข้อนั้น แต่จะยากในหัวข้ออื่นแทน (หัวเราะ) เพราะอาชีพนี้ยากมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงเวลาไหน จบก็ยากอย่างนึง ทำงานมาห้าปีก็ยากอย่างนึง พอมีออฟฟิศอย่างเราก็มีสิ่งที่ยากอีกอย่าง คือมันยากหมด เพราะฉะนั้นอาชีพนี้ต้องขอเลยว่าต้องมีความอดทนและรักงานจริง ถ้าคุณรักแต่คุณขี้เกียจ คุณก็ไม่ค่อยเหมาะ แต่ถ้าคุณอดทน รัก และสู้ต่อไป ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดี สักวันนึงผ่านไปห้าปี สิบปีเป็นอย่างน้อย อาชีพนี้เหมือนที่กรองแป้งทำเค้กน่ะครับ รูมันเล็กมาก คุณเขย่าไปเหอะ ตั้งนานน่ะ กว่ามันจะหล่นทีละนิดๆ น่ะ เพราะฉะนั้นอาชีพนี้ความลำบากมันจะเยอะมาก ในที่สุดแล้ว ผ่านไปสิบปีมันจะเหลือคนในอาชีพนี้อยู่น้อยมาก คุณต้องตั้งคำถามตัวเองว่า คุณรักมันจริงหรือเปล่า? ถ้ารักจริงนะ อดทน เดี๋ยวคุณก็จะผ่านรูกรองลงไปได้ แต่ถ้ารู้ตัวว่าไม่รักพอ ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า อย่ามาเสียเวลาไปห้าปีสิบปีเลย ไปเปิดร้านกาแฟหรือไปทำอะไรก็ได้ (หัวเราะ)
ทวิตีย์:
มันเป็นอาชีพที่ยากจริงๆ แต่มันอยู่ที่ว่า เรามี Passion กับมันไหมน่ะ ถ้ามี Passion ที่สุดแล้วมันก็จะให้รางวัลกับเรา
WURKON:
พอมี Passion มันจะไม่ยากใช่ไหมครับ?
ทวิตีย์:
ก็ยากอยู่ดีแหละค่ะ (หัวเราะกันลั่น) โถ พยายามจะช่วย! (หัวเราะร่วน) มันสนุกแหละ แต่ก็ยาก เรียกว่าท้าทายดีกว่าค่ะ
อมตะ:
พูดจริงๆ อาชีพไหนก็ตาม ถ้าคุณจะทำให้ดีมันยากหมดแหละ จะเป็นนักออกแบบ หรือเป็นเชฟเป็นอะไร ทำให้ดีจริงๆ มันยากหมดแหละครับ ไม่มีอะไรง่าย เท่านี้แหละครับ (ยิ้ม)
ขอบคุณภาพจาก Department of Architecture
ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล
ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมโดย วิสันต์ ตั้งธัญญา และ W Workspace and Tra Chang
ขอบคุณ The Commons เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์
#WURKON #Architect #departmentofarchitecture #อมตะหลูไพบูลย์ #ทวิตีย์วัชราภัยเทพาคำ #sixsenses #samui #hotels #material #social #culture #environment #community #Dii #ฮวงจุ้ย #function #SALAphuket #saveenergy #environment #perception #sense #hilton #pattaya #hotel #floorlobby #mainlobby #17thfloor #bar #pattayabeach #ceilingplane #dynamicwavelines #movement #fabric #cristal #installation #sunone #secondskin #screen #PVCstrip #collaboration #openplan #openspace #แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมไทย
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon