The New Rijksmuseum การบูรณะพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับแนวหน้าของโลกอันแสนโกลาหล
12 มีนาคม 2562
ใครที่เคยไปเที่ยวฮอลแลนด์มาแล้ว โดยเฉพาะคนที่รักศิลปะน่าจะรู้จักพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่โตติดอันดับแนวหน้าของยุโรปและของโลก
ก่อตั้งขึ้นในปี 1800 ในกรุงเฮกและย้ายเข้าไปเปิดในกรุงอัมสเตอร์ดัมในปี 1808 และเปิดให้เข้าชมในปี 1885 อาคารหลักที่เห็นในปัจจุบันออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัชต์ ปีแยร์ ไคเปอส์ (Pierre Cuypers) มันถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงงานศิลปะและวัตถุทางประวัติศาสตร์กว่า 8,000 ชิ้น จากคอลเล็คชั่นที่เก็บสะสมเอาไว้กว่า 1 ล้านชิ้นที่ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปีค.ศ. 1200-2000 และในจำนวนนั้นมีผลงานชิ้นเอกของจิตรกรเอกของโลกอย่างเรมบรันต์, ฟรันส์ ฮัลส์ และ โยฮานเนสต์ เฟอร์เมียร์
ในปี 2003 มันถูกปิดเพื่อบูรณะปรับปรุงครั้งใหญ่โดยสถาปนิกชาวสเปน อันโตนิโอ ครูซ และ อันโตนิโอ ออร์ติซ โดยวางแผนว่าจะใช้เวลา 5 ปี แต่กลับล่าช้าและกินเวลายืดเยื้อไปเกือบ 10 ปี และใช้งบประมาณไปถึง 375 ล้านยูโร เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ รวมถึงดราม่านานับประการ ตั้งแต่ขั้นตอนการประมูลที่มีปัญหา การแก้ไขแบบรอบแล้วรอบเล่า การใช้วัสดุในการซ่อมแซมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผู้บริหาร การแย่งชิงตำแหน่งของคนที่เข้ามาใหม่ การแย่งชิงประมูลงานศิลปะเข้ามาเพิ่มหน้าตาและบารมีของพิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการทาสี และการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาคมเมืองอาทิ การประท้วงของผู้รณรงค์เรื่องการขี่จักรยาน สหภาพคนพิการที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ไร้สาระ แต่กลับนำมาซึ่งการพลิกผันของแผนการซ่อมแซมอย่างมโหฬาร (ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศตามหลักการประชาธิปไตยของประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี) แต่ความยุ่งยากล่าช้าเนิ่นนานนับทศวรรษนั้นก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าคู่ควรแก่การรอคอย เพราะหลังจากเปิดทำการขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 เมษายน 2013 โดยมีสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์เป็นประธานในการเปิดงาน ก็มีผู้ชมจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้าไปชมเป็นจำนวนมาก รวมถึงแขกระดับวีไอพีอย่างประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมผลงานมาสเตอร์พีซของหนึ่งในศิลปินเอกของโลกชาวดัตช์อย่างเรมบรันต์์ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย
ในปี 2013 และ 2014 พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ โดยมีการบันทึกเอาไว้ว่ามีผู้ชมจำนวนถึง 2.2 ล้าน และ 2.45 ล้านคนเลยทีเดียว อีกทั้งมันยังได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งยุโรปประจำปี 2015 ที่มอบโดยที่ประชุมพิพิธภัณฑ์แห่งยุโรป โดยที่ประชุมพิพิธภัณฑ์แห่งยุโรปกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ในคำแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของพวกเขาว่า “เป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นเยี่ยมที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง มอบประสบการณ์อันมีค่าแก่สาธารณชน และเต็มไปด้วยโปรแกรมการแสดงที่ตระหนักถึงสังคมและเหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศและวัย”
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงจะเป็นเรื่องราววงในที่ปุถุชนคนธรรมดาผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ หรือแม้แต่ประชาชนชาวดัชต์เดินดินทั่ว ๆ ไปได้รับรู้ ถ้าไม่ได้นักทำหนังสารคดีหญิงสัญชาติฮอลแลนด์อย่าง อูเคอ โฮเคินไดจค์ (Oeke Hoogendijk) ที่เข้ามาบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเอาไว้ จนออกมาเป็นสารคดีที่มีชื่อว่า
The New Rijksmuseum - The Film (2014)
The New Rijksmuseum (2104), Column Film, Documentary Club เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
ที่รวบรวมขั้นตอนและกระบวนการบูรณะอันยาวนานบานปลายและโกลาหลนับสิบปี และกลั่นกรองออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีความยาว 120 นาทีเรื่องนี้ออกมาให้เราได้ชมกัน
“สิบปีก่อน ตอนที่ฉันเริ่มทำหนังเรื่องนี้ ฉันตั้งใจจะสร้างบทบันทึกการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ เป้าหมายคือเพื่อจรดจารเอาไว้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้และเหล่าคนทำงานที่นี่จะแปรผันไปเช่นไรบ้างในระหว่างการบูรณะครั้งสำคัญ
แต่แล้ว...สิ่งที่ฉันได้เจอเมื่อลงมือถ่ายกลับพลิกไปคนละทิศละทาง เพราะเพียงไม่นาน สตาฟฟ์ของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคน่าหงุดหงิดเรื่องแล้วเรื่องเล่า ตั้งแต่ศึกภายนอกจนถึงศึกภายในกันเอง ถึงขั้นที่ผู้อำนวยการผู้ทรงอิทธิพลต่อพิพิธภัณฑ์ลาออก และกำหนดการเปิดต้องเลื่อนจากปี 2008 ไปเป็นปี 2013
ฉับพลัน บทที่ฉันเขียนร่างไว้ในใจก็กลายเป็นไร้ประโยชน์ และฉันต้องตัดสินใจเปลี่ยนมาถ่ายหนังด้นสดไหลตามสถานการณ์แทน!
เพื่อจะให้เป้าหมายใหม่นั้นสำเร็จได้จริงๆ สำคัญมากที่ฉันจะต้องได้รับความไว้วางใจจากเหล่าภัณฑารักษ์ พนักงาน, และสถาปนิกทุกคนของพิพิธภัณฑ์ ฉันทุ่มเวลามหาศาลไปกับการสนทนาเป็นการส่วนตัว และใช้เวลาหลายต่อหลายปีค่อยๆ ผูกสัมพันธ์กับพวกเขาจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในที่สุด จึงต้องขอบคุณความสัมพันธ์เหล่านั้นอย่างแท้จริงที่ช่วยให้ฉันได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำทุกอย่าง ตั้งแต่วันแรกที่รถขุดเริ่มขุดดินก้อนแรก จนถึงในห้องประชุมที่เหล่าผู้บริหารถกเถียงกันเรื่องสีผนัง ตั้งแต่วันเปิดซองประมูลของผู้รับเหมา จนถึงในห้องใต้ดินที่มืออาชีพช่วยกันบูรณะจิตรกรรมชิ้นสำคัญระดับมาสเตอร์พีซของดัชต์ในยุคศตวรรษที่ 17
จากหนังที่ควรจะว่าด้วยความภาคภูมิใจของชาติฮอลแลนด์ กลับกลายมาเป็นอะไรที่ไม่น้อยหน้าละครดราม่าเชคสเปียร์ไปเสียได้ โดยมีตัวละครอย่างบรรดาผู้จัดการโครงการที่ล้มเหลว, เหล่าเจ้าหน้าที่และผู้บริหารจนตรอก, ผู้รับเหมาและนักออกแบบชาวต่างชาติที่อึ้งตะลึงเมื่อได้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจอันแสนจะยืดยาดเชื่องช้าส่งผลให้การบูรณะเต็มไปด้วยความสับสนน่าปวดหัวและในที่สุดก็ต้องชะงักงันน่าหวาดหวั่นอย่างไร ในจุดหนึ่งเราถึงกับรู้สึกกันทีเดียวว่าการบูรณะทั้งหลายทั้งปวงนี้คงไม่มีวันสำเร็จเป็นแน่
ในปี 2008 หลังจากพิพิธภัณฑ์ประกาศว่าจะเลื่อนวันเปิดออกไปอีก 5 ปี ฉันก็รู้ตัวเลยว่า ฉันก็ด้วยเหมือนกันที่จะต้องใช้เวลาอีก 5 ปีเต็มอยู่หลังกำแพงพิพิธภัณฑ์ไรค์จส์แห่งนี้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานของอีก 5 ปีแห่งการต่อสู้ดิ้นรนที่ไม่ธรรมดาแน่นอน”
The New Rijksmuseum (2104), Column Film, Documentary Club เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
อูเคอและมือตัดต่อเริ่มต้นด้วยฟุตเตจทั้งหมดถึง 275 ชั่วโมง และแม้จะไม่มีสตาฟฟ์ของพิพิธภัณฑ์คนใดอธิบายได้ชัด ๆ เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ทั้งสองก็ค่อยๆ ประกอบสร้างและทำความเข้าใจเหตุการณ์เองทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งทุกอย่างค่อยดูมีเหตุผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พวกเขาต้องใช้เวลา 7 เดือนเต็มกับการตัดต่อทุกๆ อย่างที่ถ่ายไว้ให้เรียงร้อยเป็นเส้นเรื่องต่อเนื่องกัน กระทั่งกลายเป็นหนังที่เล่าให้เราเห็นว่า สุดท้ายแล้วเป็นตัวโครงการบูรณะนั่นต่างหากที่ ‘กำกับ’ คน ไม่ใช่คนเป็นฝ่ายกำกับโครงการหรอก!
“เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ฉันก็ตระหนักว่าตัวเองโชคดีขนาดไหน ที่ได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางโปรเจ็กต์สุดวิเศษและแสนโกลาหลนี้ ได้ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับขั้นตอนบูรณะงานมาสเตอร์พีซของเรมบรันต์ เฟอร์เมียร์ และศิลปินอีกมากมาย แม้ตลอดระยะทาง ทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่เว้นแม้แต่ตัวฉันด้วยจะสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะจบสิ้นลงยังไง แต่ในที่สุดเราก็ได้มาถึงวันที่พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ได้เปิดทำการอีกครั้งอย่างงดงามและด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่วัดจากจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมวันละกว่า 14,000 คน ฉันดีใจจริงๆ ที่สตาฟฟ์ทุกคนของไรจ์คส์ยอมแบ่งปันความกล้าหาญ ความอ่อนแอ ความไว้ใจ และยอมเปิดพื้นที่เร้นลับให้ฉันได้บันทึกไว้ในหนังเรื่องนี้” อูเคอ โฮเคินไดจค์ กล่าวถึงผลงานสารคดีเรื่องล่าสุดของเธอ
ถึงแม้จะเป็นหนังสารคดีที่เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์อันยุ่งยากและยาวนานนับสิบปี ก็อย่าเพิ่งคิดไปว่ามันเป็นสารคดีที่น่าเบื่อชวนหลับไปเสียก่อน เพราะนอกจากความวุ่นวายโกลาหลของเหล่าคนทำงานเบื้องหลังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความขัดแย้งและเรื่องราวซาบซึ้งรันทดไปจนถึงบ้าบอชวนหัวจนแทบจะกลายเป็นหนังดราม่ามากกว่าจะเป็นสารคดีแล้ว มันยังแสดงให้เห็นถึงการทำงานของทีมงานระดับหัวกะทิของวงการศิลปะและพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ (ที่เจริญแล้ว) กระบวนการทำงานของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในการจัดเก็บ คัดเลือกผลงานที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน ซึ่งกว่าจะได้ออกมาเป็นนิทรรศการให้คนเข้าชมนั้นมันไม่ใช่่เรื่องง่ายดายเลย รวมถึงการทำงานของสถาปนิก นักออกแบบชั้นนำของโลก ที่ต้องเคี่ยวกรำกับโจทย์ที่ท้าทายและโหดหินเป็นอย่างมาก และการทำงานของช่างบูรณะภาพจิตรกรรม (Restorer) ผู้เชี่ยวชาญ ที่เฝ้าเพียรขมักเขม้นซ่อมแซมและพื้นฟูบูรณะผลงานศิลปะชั้นครูที่ชำรุดเสียหายจากกาลเวลาอย่างประณีตแข่งกับเวลาอันกระชั้นชิด ซึ่งนับเป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง
และที่สำคัญที่สุด หนังยังเต็มไปด้วยงานศิลปะชั้นเยี่ยมและล้ำค่าของเหล่าศิลปินบรมครูของโลกทั้งจากเนเธอร์แลนด์เองและเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดที่เป็นหนึ่งในภาพวาดชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภาพจิตรกรรมจากยุคทองของดัตช์ (Dutch Golden Age paintings) ซึ่งนับเป็นภาพวาดชิ้นเอกที่เปรียบเสมือนตัวละครเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ (รวมถึงสารคดีเรื่องนี้ด้วย) เลยก็ว่าได้ ภาพภาพนั้นมีชื่อว่า
The Night Watch, 1642
The Night Watch, 1642, สีน้ำมันบนผ้าใบ, เรมบรันต์ ฟัน ไรน์, พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์
ผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินเอกชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก จิตรกรคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุคทองดัชต์ เรมบรันต์ ฟัน ไรจ์น (Rembrandt van Rijn) ซึ่งเป็นภาพที่เขาวาดขึ้นตอนยังหนุ่มมาก ๆ และเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่สร้างชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์และส่งให้เขากลายเป็นจิตรกรที่โด่งดังที่สุดในฮอลแลนด์ มันเป็นภาพวาดที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพในการวาดภาพที่จับเอารายละเอียดทางอารมณ์อันท่วมท้นของผู้คนแสดงออกมาทางสีหน้าและภาษากาย ในขณะเดียวกันก็สำรวจลึกไปถึงจิตวิญญาณของพวกเขา เรมบรันต์เป็นจิตรกรที่ขึ้นชื่อในการใช้สีสันอันหนักแน่นและการใช้องค์ประกอบที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างแสงและเงาอย่างมีจังหวะจะโคน ผนวกกับฝีแปรงอันอิสระและกระฉับกระเฉงในการสร้างมิติที่สะท้อนบุคลิกลักษณะภายในของคนที่เป็นแบบและนำเอาชีวิตใส่ลงในภาพที่เขาวาด
เดิมทีภาพนี้มีชื่อจริงว่า Militia Company of District II under the Command of Captain Frans Banninck Cocq หรือในอีกชื่อว่า The Shooting Company of Frans Banning Cocq and Willem van Ruytenburch ซึ่งอันที่จริงชื่อที่ติดปากคนอย่าง The Night Watch นั้นเกิดจากความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะฉากที่เกิดขึ้นในภาพนั้นไม่ใช่ตอนกลางคืน แต่ความมืดในภาพนั้นเกิดจากคราบฝุ่น การซ่อมแซมที่ย่ำแย่ และการลงน้ำมันเคลือบเงาหนาหลายชั้นของนักสะสมเพื่อปกป้องภาพเขียนจากกาลเวลาและการประทุษร้าย (ซึ่งเคยมีเกิดขึ้นจริง ๆ ในอดีต) และเพื่อเป็นการปิดบังฝีแปรงอันอิสระของเรมบรันต์จากนักวิจารณ์ที่มักจะคิดว่าสไตล์ของเขาเหมือนภาพวาดไม่เสร็จ เมื่อมีการซ่อมแซมอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สีสันอันสดใสและแสงสีในยามกลางวันอันเจิดจ้าที่แท้จริงของภาพจึงถูกเปิดเผยออกมาในที่สุด
ข้อมูล หนังสือ 50 paintings you should know by: Tamsin Pickeral / Kristina Lowis, Masterpieces of art by: Serena Marabelli / Lucia Gasparini, https://goo.gl/XZo7dV, http://goo.gl/IZeXNK ขอบคุณ facebook Documentary Club เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
#WURKON #art #Rijksmuseum #natherland #oekehoogendijk #documentary #dutchgoldenage #rembrandtvanrijn #nightwatch #restoration #บูรณะโกลาหล #สารคดี #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon