Blog

คุยกับ วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง VaSLab ห้องทดลองทางสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

คุยกับ วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง VaSLab ห้องทดลองทางสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

14 มีนาคม 2562

ในหลายตอนที่ผ่านมาเรานำเสนอผลงานของสตูดิโอสถาปนิก VaSLab (Vertere Architecture Studio Laboratory) เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นในด้านการออกแบบที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้มีความเชี่ยวชาญในงานออกแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน ด้วยแนวคิดที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ผลงานของ VaSLab ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผลงานของศิลปินและสถาปนิกในยุคหัวก้าวหน้า (Avant-garde) และยุคโมเดิร์นนิสม์ (Modernism) อาทิ คิวบิสซึ่ม (Cubism), แอบสแตรก (Abstract), ดาดา (Dada), เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) และ ดีคอนสตรัคติวิสม์ (Deconstructivism) ผลงานของพวกเขาจึงมักจะให้ความสำคัญกับรูปทรงและพื้นที่ว่าง (Form & Space) ที่แฝงความเคลื่อนไหวและมีนัยยะซ่อนอยู่

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ สตูดิโอแห่งนี้ก็จะพยายามสอดแทรกแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมและการทดลองเพื่อสรรค์สร้างงานสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่มีรายละเอียดและลักษณะที่แตกต่างไปตามแต่บริบทของแต่ละโครงการ

พวกเขายังได้แรงบันดาลใจจากความเชื่อที่ว่า ความคิดสามารถก่อตัวจนกลายเป็นรูปเป็นร่างได้ แรงขับของปฏิกิริยาที่พวกเขาค้นพบในบริบทของแต่ละพื้นที่ตั้งจึงกลายเป็นเครื่องมืออันดีในการสร้างสรรค์พื้นที่และรูปทรงของงานออกแบบแต่ละโครงการขึ้นมา

VaSLab มีผลงานที่โดดเด่นและน่าจับตาอย่าง Honda Big Wing อาคารโชว์รูมของบริษัทฮอนด้าที่มีรูปทรงโฉบเฉี่ยวแปลกตา จนได้เข้ารอบสุดท้าย (Finalist) รางวัล World Architecture Festival ปี 2009 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน, และเข้ารอบรางวัล WAN Awards 2010 จากเว็บไซต์ www.worldarchitecturenews.com

รวมถึงผลงานออกแบบรีสอร์ต Casa de La Flora เขาหลัก ที่ได้รับรางวัล Winner of International Architecture Award by The Chicago Athenaeum: Museum of Architecture and Design and The European Centre for Architecture Art Design and Urban Studies รางวัล Winner of Iconic Awards 2014 by The German Design Council และ Finalist รางวัล World Architecture Festival Awards ปี 2013

ด้วยความที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนสำนักงานที่เปรียบเสมือนห้องทดลองทางสถาปัตยกรรมของ VaSLab และมีโอกาสได้พูดคุยกับสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้อย่าง คุณวสุ วิรัชศิลป์ เกี่ยวกับแนวความคิดในการทำงาน รวมถึงแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปของสตูดิโอแห่งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาร่วมกันรับฟังเรื่องราวของเขาไปพร้อมๆ กันเลย

WURKON:

แรกสุดเลย คุณวสุมีความสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่เมื่อไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกวิชาชีพนี้ครับ

วสุ:

จริงๆ แล้วผมชอบวาดรูป ฟังเพลง และชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ทำให้เรามีวิชาที่เราเก่งหน่อย คือ วิชาศิลปะและภาษาอังกฤษ ที่เราเรียนดีมาคู่กัน พอตอนเอนทรานซ์ก็มีอยู่ไม่กี่คณะที่ใช้ความสามารถในการวาดรูปสอบเข้าไปได้ ก็มี คณะสถาปัตยกรรม หรือไม่ก็คณะจิตรกรรม ไปเลย แต่ผมเลือกสถาปัตย์เพราะว่าดูมีอะไรน่าค้นหามากกว่า แล้วผมก็ชอบดูอาคารต่างๆ แล้วตอนเด็กๆ ผมก็ชอบต่อเลโก้มาก เลโก้มันจะมีพวกเซ็ตอะไรต่างๆ ของมัน เราชอบพวกเซ็ตอวกาศน่ะ บางทีก็ชอบต่อในแบบของเราเอง ทดลองทำอะไรต่างๆ ขึ้นมา แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะว่าชอบทางนี้ พอเอนทรานซ์ก็เลยเลือกคณะสถาปตัย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอันดันหนึ่ง ตอนนั้นไปศิลปากรแล้วชอบ เพราะก่อนหน้านั้นผมเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งมันอยู่ใกล้จุฬาฯ มาก เราเลยรู้สึกเบื่อ เพราะเราอยู่แถวนั้นมานาน แล้วอีกอย่างเราชอบสภาพแวดล้อมของศิลปากรมาก รู้สึกว่ามันใช่ (หัวเราะ) คือ เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ แล้วอยู่กันแบบค่อนข้างมีบรรยากาศความเป็นศิลปะสูง ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ก็สอบเอนท์ติดเข้าไปเป็นอันดับหนึ่งเลย เพราะว่าผมก็ทำเต็มที่แหละแต่พอเข้าไปด้วยกิจกรรมอะไรต่างๆ เลยทำให้ปีแรกๆ เราไม่ได้โฟกัสเรื่องเรียนมาก ทั้งสังสรรค์กินดื่ม ทั้งรับน้อง มันเป็นอะไรที่สนุกมาก

แต่พอขึ้นปีสองนี่เราได้ไปเจอห้องสมุด ซึ่งเป็นห้องสมุดทางดีไซน์ที่ดีในระดับต้นๆ ของประเทศไทย แล้วบังเอิญว่ายุคนั้น เป็นยุค 90 ซึ่งเป็นยุคของ Deconstruction พอดี ผมก็เลยได้อ่าน ได้ค้นคว้าข้อมูล ก็เลยได้รู้ว่า เฮ้ย สถาปัตยกรรมมันมีอะไรที่มันมากกว่าตึกนะ มันมีการสร้างกรอบความคิด มีไดอะแกรม มีการสร้างงานที่แตกต่างกัน สำหรับสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่หลายๆ คน ยุคนั้นงานสถาปัตยกรรมแบบ Deconstruction เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้ไม่นาน มีสถาปนิกอย่าง แดเนียล ลิบสกิน (Daniel Libeskind), ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid), แฟรงค์ เกห์รี (Frank Gehry) ผมเลยเริ่มศึกษาและเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทั้งๆ ที่มันอ่านค่อนข้างยาก และใช้ศัพท์สูง แปลแล้วก็ต้องมาแปลอีกที อ่านสองสามรอบ บางทีก็เก็ตไม่หมด แต่ว่าด้วยความที่ชอบ เพราะรู้สึกว่ามีบางอย่างที่แตกต่างจากที่อาจารย์สอน คือมันมีสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบฉบับ กับสถาปัตยกรรมที่มีความหมาย หรือมีอะไรบางอย่างแฝงอยู่ภายใน ผมเลยมุ่งไปทางหลังนิดนึง จนทำให้ปีสองเทอมปลายผมพยายามที่จะคิดโปรเจ็กต์ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเหล่านั้นขึ้นมา คือเราอาจจะไม่ได้รู้จักมันเต็มที่ถึง 100% หรอก แต่เราก็พยายามที่จะผลักดันตัวเองไปทางนั้น คือจากคนที่เรียนสถาปัตย์ไปวันๆ ทำ basic design และทำแปลนบ้าน หลังคาบ้าน พอถึงมันมีอะไรจุดประกายเรา ตอนปีสองเทอมปลายเนี่ย ความรู้สึกมันต่างกันมาก เพราะว่า Passion มันเกิดขึ้นมาตอนนั้นเลย เราอยากทำโปรเจ็กต์ให้เจ๋งๆ แล้วเราจะรู้สึกแฮปปี้เวลามีรุ่นพี่ หรือมีใครมาถาม ว่านี่โปรเจ็กต์ใใคร เราเริ่มรู้สึกภูมิใจว่า เฮ้ย! เราทำอะไรที่มันแตกต่างได้ และเราก็สนุกไปกับมัน จากปีสองเริ่มมาเรื่อยๆ เริ่มทำงานด้วยความหลงใหล มีความรู้สึกว่ามันสนุก และมีกระบวนการแนวความคิดที่มันชัดเจนขึ้น เราสามารถพรีเซนต์ให้อาจารย์ฟังได้ว่าเราได้ความคิดมาจากไหน สิ่งเหล่านี้ไม่มีถูกผิด แต่ว่ามันเป็นความมั่นใจอย่างหนึ่ง เวลาที่เราพรีเซนต์แบบ การพรีเซนต์ด้วยความมั่นใจ กับการพรีเซนต์แบบไม่มีความมั่นใจ มันต่างกันมากเลยนะ มันก็เลยทำให้ผมมุ่งมาทางนี้

พอช่วงปีสามเทอมปลาย มันก็มีจุดที่ทำให้ผมมีทางเดินชีวิตที่ต่างจากคนอื่นๆ คือ คุณอาผมเขากลับมาจากนิวยอร์ก เขาก็มาดูงานผมแล้วบอกว่า ผมควรไปเรียนที่ New York นะ เขาพูดเล่นๆ แหละ แต่ผมกลับมาคิดจริงจัง เพราะตอนนั้นผมรู้แล้วว่า ไม่มากก็น้อย เวลาเราอ่านหนังสือหรือค้นคว้าเกี่ยวงานสถาปัตยกรรมต่างประเทศ เขาจะอ้างถึงมหาวิยาลัยหลายๆ แห่งที่มีแนวคิดเรื่องพวกนี้ มันก็มี The Cooper Union, Pratt Institute ,มี New York University, SCI-Arc (Southern California Institute of Architecture, Los Angeles แล้วบังเอิญว่าทุกอย่างมันเป็นใจให้ เพราะผมเป็นพลเมืองที่นั่นด้วย ผมมีสองสัญชาติ เพราะผมเกิดที่อเมริกา และผมก็ชอบภาษาอังกฤษ มันก็เลยไม่เป็นอุปสรรค แล้วอาผมก็อยู่นิวยอร์กด้วย เอ๊ะ มันเข้าทางนะ ผมก็เลยไปปรึกษาอาจารย์หลายท่านว่าผมจะไปเรียนที่นิวยอร์ก อาจารย์หลายท่านก็ไม่เห็นด้วยนะ เพราะผมเรียนปีสาม อีกสองปีก็จบแล้ว แต่ผมมีความสงสัยตัวเองมาก ว่าถ้าเราไม่ลองเราก็ไม่รู้นะ แล้วนิวยอร์กมันก็เป็นเมืองที่ผมคงไม่มีโอกาสได้ไป ต่อให้เรียนจบ ทำงานแล้วคงไปยาก แล้วอาผมก็อยู่ที่นั่นด้วย ผมก็เลยคิดว่า ไปดีกว่า ก็ตัดสินใจดรอปเรียนที่ศิลปากร

WURKON:

แล้วที่บ้านว่ายังไงบ้าง

วสุ:

ทุกคนไม่เห็นด้วยเลย ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ แต่ตอนนั้นเกรดผมก็ไม่ได้ดีมากนะ 2 กว่าๆ ที่ ศิลปากร ผมมาได้เกรดดีๆ ตอนช่วงปีสองเทอมปลายและปีสาม ปีหนึ่งนี่ผมรั่วมาก เพราะกิจกรรมเยอะปรับตัวไม่ทันน่ะ แต่ตอนปีสามผมก็แฮปปี้อย่างนึงว่า อาจารย์อัชชพล ดุสิตนานนท์ ที่เป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยามตอนนี้ ไม่รู้แกจำตอนนั้นได้หรือเปล่า พอตรวจแบบเสร็จปุ๊บ แกเดินมาจับมือกับผม บอกว่าแบบคุณเท่มาก แล้วตอนนั้นอาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ผมนับถือ เขาเป็นอาจารย์คนนึงที่ผมชอบ เพราะเขามีแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ และสอนเด็กในวิธีที่น่าสนใจ ผมก็เลยแฮปปี้ ว่าอย่างน้อยเราพิสูจน์ตัวเองในระดับนึงว่า ถึงเราไม่ได้เรียนเอาเกรด แต่เราก็ได้เกรดดีเพราะความที่เราไม่เอาเกรดเนี่ยแหละ และเราก็รู้สึกว่าอาจารย์โอเคกับงานเรา รุ่นพี่รุ่นน้องรู้สึกว่างานเรามันน่าสนใจ มันก็เลยสั่งสมความมั่นใจมาเรื่อยๆ จนทำให้ผมรู้สึกว่าการไปนิวยอร์กมันน่าลองเสี่ยงดู ก็ไป

WURKON:

เข้าไปเรียนที่ไหนครับ

วสุ:

ผมเข้าเรียนที่ Pratt Institute ผมเลือกที่นี่ เพราะ Cooper Union เนี่ย ยากมาก มันเข้ากลางปีไม่ได้ ต้องเรียนตั้งแต่ปีหนึ่ง ส่วนสองมหาวิทยาลัยที่เหลือเนี่ย จริงๆ ผมชอบ SCI-Arc มาก แต่มันอยู่แถวแอลเอ ผมไม่รู้จักใครที่นั่น ก็เลยคิดว่า Pratt ก่อน เพราะท่าทางง่ายกว่า แล้วอาก็อยู่แถวนั้นด้วย ถ้าเปลี่ยนใจก็ค่อยว่ากันอีกที แต่พอไปแล้ว ผมกลับชอบนิวยอร์กมาก มันก็เลยกลืนกันไปเลย แล้วอาจารย์ก็ท้าทาย ว่าถ้าผมทำดีไซน์ได้ A หมด เขาจะให้ข้ามขึ้นมาเลย ไม่ต้องเสียเวลาเก็บหน่วยกิต เพราะว่าไปที่โน่น ผมโอนหน่วยกิตได้ระดับนึง แต่โดยเฉลี่ยแล้วผมจะช้ากว่าเพื่อนไปปีนึง ปรากฎว่าผมก็ทำได้ ได้ A เยอะ ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เอาเกรด มันแสดงเห็นว่า ผมเอา Passion ผลักดันตัวเองมากกว่าเอาเป้าหมายตั้ง คือเป้าหมายของนักศึกษาเนี่ย มันก็คือเกรด A อยู่แล้ว

WURKON:

ตอนเรียนก็ไม่ได้หวังว่าจะได้ A ?

Six-Zone Prison ผลงานที่ทำระหว่างที่เรียนกับไรมันด์ เอบราฮัม (Raimund Abraham) ที่สถาบัน Pratt Institute

วสุ:

ใช่ๆ เพราะผมไม่ใช่คนที่เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก โอเค อาจจะอยู่เตรียมอุดม แต่ผมกับเพื่อนเป็นเด็กหลังห้องนิดๆ แต่เราก็เอาจริงเอาจังนะ เมื่อถึงเวลา เราเอาตัวรอดได้ (หัวเราะ) พอเรียนที่ Pratt Institute จบออกมา ก็ได้เกียรตินิยม ทั้งที่ผมก็ไม่ได้มุ่งมั่นว่าต้องได้นะ แต่ไม่ได้เป็นเกียรตินิยมอันดับหนึ่งนะครับ เป็นอันดับรอง ได้เกรดเฉลี่ยน 3.2 มันก็ได้แล้ว ไม่ได้ยากมาก แต่มันทำให้เรารู้ว่า พอเราใช้ Passion ผลักดันตัวเอง เราก็ได้เป้าหมายกลับมา แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ เทอมสุดท้ายผมได้เรียนและทำงานกับอาจารย์ ไรมันด์ เอบราฮัม (Raimund Abraham) ซึ่งเป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่ผมชอบมาก แกมาสอน ซึ่งแกก็มาจาก Cooper Union ด้วย เทอมสุดท้ายผมได้เรียนกับแก ผมก็ทำสุดชีวิตเลย ก็ได้เป็นท็อปของห้อง เป็นเหมือนธีสิสน่ะ แล้วงานของผมก็ได้โชว์ที่ Pratt Institute สองปีซ้อน แล้วก็ได้ลงในหนังสือ Year Book ด้วย มันก็เป็นอะไรที่แฮปปี้ เพราะพอผมมองกลับไปตอนที่เรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งนึงที่ผมได้มาก็คือ การที่เราฝึกฝนการทำงานในระดับที่เราจบงานให้เสร็จได้ เราคุมเวลาได้ ไม่ใช่ว่าเป็นอาร์ติสต์จนควบคุมเวลาไม่อยู่ เพราะบางคนที่เรียนที่ Pratt Institute นักศึกษานานาชาติเนี่ย บางทีเขาคอนเซ็ปต์เยอะ แต่งานเสร็จไม่ทันเวลา

WURKON:

เพราะความคิดมันไม่ Practical (เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ) ?

วสุ:

ไม่ Practical เลย แต่ทักษะที่ผมได้จากเมืองไทย เรื่องการตัดงาน การทำดรออิ้ง ทำโมเดลเนี่ย ทำให้ผมอยู่ตรงกลางระหว่างการใช้ความคิดและการลงมือปฏิบัติ

WURKON:

เพราะต้องทำงานด้วยมือล้วนๆ

วสุ:

ใช่ๆ (หัวเราะ) ถูกต้อง สมัยนั้นไม่มีโปรแกรม Autocad เขียนแบบในคอมพิวเตอร์ ผมต้องเขียนมืออย่างเดียวเลย ซึ่งผมรู้สึกว่าผมโชคดีมากๆ เลย เพราะผมได้ทั้งสองฝั่ง เพราะที่เมืองนอกเขาอัดให้เราคิดอย่างเดียวเลย ได้แสดงออกถึงความคิดของตัวเอง เมืองไทยไม่ค่อยมีเลย มันมีแต่คำถามว่าถูกหรือผิด เพราะเมืองไทยเราทำข้อสอบแบบปรนัย (ตัวเลือก) แต่ที่ Pratt เนี่ย เป็นข้อเขียนอย่างเดียวเลย ไม่มีปรนัย มันก็ทำให้เราต้องรู้ลึกรู้จริง และต้องอ่านประวัติศาสตร์เยอะ ต้องอ่านหลายรอบ

WURKON:

มั่วไม่ได้?

วสุ:

มั่วไม่ได้ๆ และเราต้องสามารถที่จะแสดงความคิดตัวเองได้ด้วย ว่าคุณคิดยังไง? มันต่างกันมาก เพราะถึงแม้ศิลปากรจะมีวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี แต่ว่าด้วยสภาพแวดล้อม มันไม่ได้ทำให้เราถูกสอนให้คิดด้วยตัวเอง เราก็แค่ทำงานออกแบบ วิชาอื่นช่างมัน มันก็เลยไม่ได้นำมาใช้ร่วมกันไง

WURKON:

ส่วนใหญ่วิชาทฤษฎีเราจะให้เด็กคณะอื่นทำให้

วสุ:

ใช่ๆ (หัวเราะ) มันเป็นวิชาเลือกน่ะ คนก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ จริงๆ ผมรักมหาวิทยาลัยศิลปากรนะ ทุกวันนี้ประหลาดใจมาก เมื่อสักปีที่แล้วผมได้รับรางวัลศิษย์ดีเด่น ของมหาวิทยาลัยศิลปกร คณะสถาปัตยกรรม ทั้งๆ ที่ผมเรียนไม่จบ เพราะกรรมการเขาแจ้งมาว่า เราจะเสนอชื่อคุณ สนใจไหม? ผมก็บอกว่า ผมเรียนไม่จบนะ เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร คุณเคยเรียนที่นี่ 3 ปี ก็ถือว่าคุณเป็นเด็กศิลปกร ปรากฏว่าได้ ผมก็เลยแฮปปี้มาก เพราะว่าเราก็รักศิลปากรนะครับ แต่อย่างที่บอก ตอนช่วงเวลานั้นมันมีเหตุผลที่ทำให้ผมต้องเลือกไปเรียนที่นิวยอร์ก

WURKON:

เพราะเป็นความท้าทาย

วสุ:

ใช่ครับ เหมือนกับเราได้ลองเสี่ยงครั้งหนึ่งในชีวิตน่ะครับ

WURKON:

แล้วพอเรียนจบมาแล้วเป็นยังไงบ้าง ได้ทำงานที่โน่นไหม

วสุ:

ตอนแรกกลับมาที่เมืองไทยก่อน ตอนจบตรี ทำที่ Tandem Architects ตอนนั้นเป็นยุคทองที่สถาปนิกหลายคนในสมัยนั้น มุ่งมั่นว่าจะต้องเข้าไปทำงานที่นั่นกัน A49 ก็เป็นอีกที่นึง ในระหว่างนั้น ผมก็สมัครปริญญาโทที่ Columbia University ด้วย เพราะผมรู้สึกว่าอยากเรียนต่อ ทำงานไปประมาณ 6 เดือนปรากฏว่าได้รับจดหมายมาว่าเข้าได้อีก ก็เลยกลับไปเรียนต่อที่นิวยอร์กอีกปีครึ่ง

WURKON:

ทำไมถึงเลือก Columbia University ล่ะครับ

วสุ:

ก็ชัดเจนเหมือนกัน แนวทางเดียวกัน มันมีอยู่ไม่กี่มหาวิทยาลัย มี Columbia, UCLA แต่ว่า Columbia โดดเด่นที่สุดในตอนนั้น เพราะเขาเริ่มมีสอนวิชา Paperless Studio คอมพิวเตอร์เริ่มมาแล้ว แล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ผมอยากสำรวจและเรียนรู้ แล้ววิธีการสอนของ Columbia จะคล้ายกับ Pratt คือจะยืนอยู่บนแนวคิดแบบคอนเซ็ปช่วลเยอะ อีกอย่างที่ผมเลือกเรียนที่นี่เพราะว่ามันอยู่นิวยอร์กเหมือนกัน ผมชอบเมืองนี้ เลยเป็นอะไรที่ตัดสินใจง่ายมาก สมัครที่เดียวเลย ถ้าไม่ได้ก็ทำงานต่อ ผมก็ไม่ได้มีแผนสองว่าถ้าเข้าไม่ได้ จะไปเรียนที่ไหนแทน

WURKON:

ตัดสินใจชัดเจน?

วสุ:

ใช่ ก็ปรากฏว่าเข้าได้ ก็กลับไปเรียนต่อ แล้วปรากฏว่า จริงๆ แล้ว ที่ Pratt กับ ศิลปากร เนี่ย ผมได้ พื้นฐานที่แน่นมาก กลับกลายเป็นว่า พอผมไปเรียนปริญญาโทที่ Columbia เนี่ย ผมไปทำการทดลองกับตัวเองเยอะ คือ ทำงานอะไรที่เรายังไม่เคยทำ กับ ไปศึกษาคนอื่นว่าเขาคิดยังไง คนไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือโซน อเมริกาใต้ อย่างบราซิล หรือคนอเมริกันเอง คน ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ มันน่าสนใจมาก เพราะวัฒนธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย บางคนก็มาแบบปรัชญาสุดๆ แบบพูดโน่นพูดนี่พรีเซนต์ งานก็ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ใช้วิธีการนำเสนอจนทำให้งานเขาดูดี แต่บางคนนี่ก็พลังงานเยอะสุดๆ ก็สนุกดี พอมานั่งคิดแล้วผมได้พื้นฐานมาจากการทำงานกับ ไรมันด์ เอบราฮัม ตอนเรียนที่ Pratt มากๆ มันเป็นอะไรที่ต่อยอดในความคิดผมทุกวันนี้ ว่าผมต้องทำงานแบบไหน

WURKON:

คุณได้เรียนรู้อะไรจากเขาบ้าง แนวความคิดอะไรของเขาที่คุณคิดว่ามันพิเศษ

วสุ:

หลักๆ นี่เขาเชื่อในเรื่องของ Existentialism* และการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับโลก คือเขาพูดถึงเรื่อง Collision คือการปะทะกัน เช่น เขายกตัวอย่างว่า โลกประกอบด้วยน้ำกับอากาศ เส้นขอบฟ้าคือการ Collide (ปะทะ) ของสองสิ่ง ต้นไม้กับโลกคือ Collide ของสองสิ่ง สถาปัตยกรรมก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นอาคารมันจะมีรื่องของแรงปะทะสูง มันจะมีพลังขับเคลื่อนบางอย่าง พอออกแบบพื้นที่ว่างหรือช่องหน้าต่าง มันจะมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง อันนั้นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าใช่ ผมเลยไม่เคยแสดงตัวตนด้วยสีสันเลย กระทั่งทุกวันนี้ผมชอบทำงานสีโมโนโทน เลือกใช้วัสดุอย่างคอนกรีต ไม้ หิน เหล็ก กระจก หรือการเลือกเสื้อผ้า ทุกอย่างจะเป็นแนวนี้หมด

*Existentialism (อัตถิภาวนิยม) คือ แนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน และความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียวของสิ่งที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการมีอยู่ของมนุษย์ ปรัชญาแนวนี้โดยทั่วไปจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในอิสรภาพ และยอมรับในผลสืบเนื่องจากการกระทำของปัจเจก และยังเชื่อว่าปัจเจกจะต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้เลือกไว้ด้วย

WURKON:

ใช้สีเนื้อแท้ของวัสดุ

วสุ:

ใช่ครับ จะชอบอะไรแบบนั้นมากกว่า ไม่มีเหตุผลนะ มันเป็นความชอบส่วนตัว ส่วนตัวแล้วผมชอบวาดเส้นขาว-ดำ สมัยเรียนศิลปากรผมก็ไม่ชอบใช้แอร์บรัช ใช้สีเหมือนที่คนอื่นเขาใช้กันนะ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันสวยน่ะ หลังจากนั้นก็จบมาทำงานที่นิวยอร์กประมาณสองปี แล้วก็กลับมาเมืองไทย มาสอนที่ ABAC เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดี คือด้วยความบังเอิญว่าคนที่ชวนผมไปสอนเนี่ย ก็จบ Columbia แล้วก็เรียนที่ Pratt ด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน ความเชื่อเเดียวกับผมเลย เขาก็เรียนกับ ไรมันด์ เอบราฮัม เหมือนกัน ผมก็เลยไปสอน ก็สนุกกับการสอนหนังสือ ในระหว่างนั้นก็มีงานฟรีแลนซ์เข้ามาด้วย ก็ได้ทำงานแรก เป็นงานจากคุณกาจบดินทร์ สุดลาภา บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Daybeds Magazine ลูกค้าคนแรกของผมเลย เขาให้ทำบ้านในหมู่บ้านนวธานี

Deviated House บ้านที่ออกแบบให้กับคุณกาจบดินทร์ สุดลาภา บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Daybeds Magazine

WURKON:

ดูจากในรูปแล้วถือว่าเป็นบ้านที่ล้ำมากเลยนะครับ สำหรับในสมัยนั้น

วสุ:

ใช่ครับ เรื่องของเรื่องคือ ผมไม่ได้รู้จักคุณกาจบดินทร์เป็นการส่วนตัวนะ แต่เขาสนิทกับเพื่อนสนิทของผมที่เรียน Columbia ชื่อ โทนี่ วรวรรต ศรีสอ้าน ลูกชายด ร. วิจิตร ศรีสอ้าน เรียนอสังหาฯ คุณกาจบดินทร์เขาบอกเพื่อนผมว่า เขาอยากได้สถาปนิกรุ่นใหม่มาออกแบบบ้านให้ แต่ที่สำคัญสถาปนิกคนนั้นต้องเคยอยู่นิวยอร์กมา เพราะเขาอยากได้บ้านสไตล์ Loft คือ สมัยน้ันพวกโซโห ในนิวยอร์กมันดังไง พวกแกลเลอรีโซโห ทำ Loft เพดานสูงๆ เพื่อนผมก็แนะนำผมไป ผมก็เข้าไปคุยกับเขา ปรากฏว่าผมได้งาน จนทำบ้านออกมาเสร็จ ผมก็กลับไปทำงานที่นิวยอร์กอีกปีหนึ่ง

ตอนผมไปนี่เป็นช่วง 9/11 เลยนะ คือผมอยู่ East Villege แถวถนน 12 แล้วตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์มันอยู่ใต้สุดเลย เช้าวันนั้นผมเดินไปทำงาน ก็เดินขึ้นไป Midtown ผมก็ได้ยินเสียงดัง แต่ก็อย่างที่รู้ เมืองนิวยอร์กมันเสียงดังอยู่แล้ว ผมเลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วผมก็เห็นกลุ่มควัน คนยืนมุงดู คุยกัน พอไปถึงออฟฟิศ ผมก็ได้ฟังข่าวเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ผม ห้ะ! เขาก็คุยกันว่าคงเป็นเครื่องบินเล็ก สงสัยใครเซ่อซ่าบินมาชน ตลกดี แล้วสักพักนึงก็มีลำที่สองชน มาตอนนี้เขาเริ่มคุยกันว่าเป็นการก่อการร้ายกันแล้ว ก็เลยกลับบ้านกันหมด แล้วในช่วงสองอาทิตย์นั้นน่ากลัวมาก เพราะก็มีแต่ข่าวว่าจะมีมาอีก โทนี่ เพื่อนผมก็มาอยู่กับผมนี่แหละ เพราะเขาอยู่แถวตึกเอมไพร์สเตท ซึ่งมันก็มีข่าวมาว่าจะโดนถล่มไปด้วย มันเครียดมากน่ะ ได้กลิ่นไหม้จากดาวน์ทาว์นมาถึง จะไปไหนมาไหนก็มีการตรวจเข้มเลย แล้วผมไม่เคยขึ้นนะ ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์เนี่ย อยู่แต่ข้างล่าง ด้วยความที่อยู่นิวยอร์กมานาน เดี๋ยวก็ค่อยขึ้นเมื่อไรก็ได้ คือนักท่องเที่ยวไปนิวยอร์กนี่ต้องขึ้นนะ พ่อแม่ผมไปเที่ยวก็ขึ้น แต่ผมไม่สนใจ ก็เดินดูข้างล่าง สุดท้ายก็ไม่ได้ขึ้น (หัวเราะ)

WURKON:

ที่บ้านไม่ตกใจกันแย่เหรอครับ

วสุ:

ตกใจมากครับ ทุกคนก็โทรศัพท์มา แต่ตอนนั้นโทรศัพท์ติดต่ออยาก ก็เป็นห่วงกันหมด แต่สุดท้ายก็ติดต่อได้ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เราโอเค

WURKON:

พอคุณวสุกลับจากนิวยอร์คมาอยู่เมืองไทยแล้วทำอะไรต่อครับ

วสุ:

ความฝันของผมจริงๆ คือ อยากเปิดออฟฟิศในเมืองไทย อันนี้คือความฝันตั้งแต่แรกเลย เพราะฉะนั้นพอกลับมาก็รีบทำเลย แล้วตอนที่ไปกลับไปทำงานสั้นๆที่นิวยอร์คอีกครั้งนึง ผมดรอปการเป็นอาจารย์พิเศษที่ ABAC พอกลับมาก็เลยไปสอนต่อ ในระหว่างนั้นผมก็เริ่มได้งานต่อเนื่อง จากลูกค้าคนเดิมนี่แหละ (คุณกาจบดินทร์ สุดลาภา) ทำรีโนเวตรีสอร์ทของเขาที่หาดปึกเตียน (จังหวัดเพชรบุรี) และก็ต่อเติมบ้านของพี่ชายเขา แล้วต่อจากนั้นมาก็เริ่มได้งานเรื่อยๆ จนกระทั่งเราทำฟรีแลนซ์ไม่ไหวละ งานเริ่มเยอะ 4 งานต่อปีก็ถือว่าเยอะแล้วนะ ตอนนั้นสอนเด็ก ABAC รุ่นแรกเพิ่งจบ ก็เลยดึงพวกเขามาทำงาน ก็ทำที่โรงรถของคุณตานี่แหละ

WURKON:

เปิดเป็นออฟฟิศเลยใช่ไหมครับ

วสุ:

ใช่ครับ ในโรงรถเลย บ้านหลังนั้นคือบ้านที่ผมโตมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันพอรีโนเวตแล้วเป็นบ้านพี่ชายกับแม่ เพราะคุณพ่อเสียแล้ว ตอนยุคนั้นปี 2001 ผมก็ทำงานอยู่ที่นี่แหละ เอาโรงรถคุณตามาทำ พื้นที่ประมาณสัก 40 ตารางเมตรมั้ง ก็ทำอยู่กัน 4 คน

WURKON:

ฟังดูแล้วนึกถึง สตีฟ จ๊อปส์ ตอนเริ่มทำธุรกิจเลยนะครับ

วสุ:

(หัวเราะ) ใช่มะ! ตลกมากเลย ผมไปอ่านประวัติ คนที่ทำ Start up ก็อย่างนี้แหละ อย่าไปลงทุนอะไรเยอะ ผมก็ทำเล็กๆ ก่อน เอาบ้านเป็นออฟฟิศก่อนเลย เพราะว่าผมมีความเชื่ออย่างนึงนะ คือผมคงถูกพ่อแม่สอนมาเยอะว่าเวลาจะทำอะไรอย่าเพิ่งทำใหญ่ๆ ให้ทำเล็กๆ ก่อน แล้วพ่อแม่ผมก็เหมือนกันเมื่อก่อนก็ทำคลีนิค ทุกวันนี้เป็นโรงพยาบาล แล้วจากโรงพยาบาล 30 เตียง ก็เป็น 100 เตียง คือค่อยๆ ขยับตามอัตราการเติบโตที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปฝืนมัน เราก็ทำกันมาเรื่อยๆ โปรเจ็คก็เข้ามาเรื่อยๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินที่ว่างๆ ของที่บ้านอยู่แล้ว ตอนนั้นพี่น้องเริ่มโตขึ้น เขาก็เริ่มแบ่งที่กัน ผมก็ขอที่ตรงนี้ ด้วยความที่ผมมองว่ามันอยู่ใกล้ปากซอย ตอนนั้น BTS ยังไม่มีนะ แต่มันเดินไปหน้าปากซอยได้ ใกล้มาก ผมก็เลยขอที่ตรงนี้ทำบ้านและทำออฟฟิศด้วยเลย เพราะผมคงไม่เอาเงินไปทำออฟฟิศที่อื่น แบบไปเช่านี่ผมไม่เอาเลย เพราะผมรู้สึกว่ามันเสี่ยงมาก เราทำเป็นบ้านและออฟฟิศ ทำงานในบ้านเหมือนเดิมแหละ ดีที่สุด

WURKON:

สร้างขึ้นมาจากที่เปล่าๆ เลย?

วสุ:

ใช่ครับ เมื่อก่อนตรงนี้เป็นสนามเตะฟุตบอลโกล์รูหนู เล่นกับที่บ้าน กับพี่น้อง พอทำบ้านตรงนี้ขึ้นมาก็เลยทำเป็นออฟฟิศด้วย เพราะเราวางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรก

Transverse/ Convergence House (VaSLab Office) เดิมทีเริ่มออกแบบให้เป็นบ้านและสตูดิโอดีไซน์ในปี 2003 ก่อสร้างเสร็จปลายปี 2005 ในปี 2015 ถึงปัจจุบันเป็นสตูดิโอออกแบบเต็มตัวของ VaSLab

WURKON:

อันนี้เป็นลักษณะพิเศษที่เราเห็นจากออฟฟิศนี้ อย่างออฟฟิศสถาปัตย์อื่นๆ ในบ้านเรา มักจะเป็นการเช่าพื้นที่ หรืออาจจะรีโนเวตตึกเก่าเอา แต่ออฟฟิศของคุณเป็นการสร้างอาคารออฟฟิศขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมของคุณเอง บนพื้นที่ของคุณเองเลย

วสุ:

ใช่! อันนี้เป็นการทดลองจากตัวผม 100% เลย คือผมคิดแบบออฟฟิศนี้ ตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่นิวยอร์คเลยนะ คือฝันเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ตอนที่ผมรู้ข่าวจากคุณพ่อคุณแม่ว่าเขาจะแบ่งที่กัน ผมเลยคิดตั้งแต่ตอนนั้นเลย คิดมาประมาณเกือบปี ผมก็มาถ่ายรูป ดูแบบแปลนของที่ ว่ามันจะอยู่ตรงไหนยังไง ประกอบกับความคิดที่ผมคิดว่างานนี้มันต้องมีคอนเซ็ปต์อะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังนะ มันไม่ใช่สร้างขึ้นมาเป็นตึกเฉยๆ นะ ก็เลยไปอ่านวรรณกรรม Divine Comedy ของ ดังเต อาลีเกียรี (Dante Alighieri) เรื่องของโลกสามภพ คืออาจารย์คนนึงที่ Pratt เขาสอนผมเรื่อง ดังเต ผมเลยรู้จัก และผมก็รู้สึกว่ากวีคนนี้เจ๋งนะ คล้ายๆ ไตรภูมิพระร่วง แต่เป็นภาคตะวันตก และผมก็เป็นคริสเตียนด้วย ผมเลยรู้สึกอินมากเพราะดังเตเขายืนพื้นฐานจากไบเบิ้ลพอสมควร แล้วสุดท้ายผมไปค้นเว็บไซต์อันหนึ่งมันมีเรื่องการตีความหมายของงานดังเต ให้เป็นอาคาร โดยกุยเซปเป เทอร์รานี (Giuseppe Terragni) เขามีหนังสือชื่อ Danteum ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบพิพิธภัณฑ์สำหรับดังเต แต่ไม่ได้สร้างขึ้นมาจริงๆ ผมก็ไปซื้อมา โห! มันถอดวรรณกรรมมาเป็นโครงสร้างได้เว้ย เราก็เอาบ้าง (หัวเราะ) แต่ทำแบบวิธีผมเองแล้วก็ไปอ่านเจออีกคนนึง เป็นอาจารย์น่าจะสอนอยู่ที่ Cornell ชื่อ โธมัส เบอร์กิน (Thomas G. Bergin) เขาตีความหมายว่าโครงสร้างของ Danteum มันเป็นยังไง จนกระทั่งผมไปเจอย่อหน้าสั้นๆ อันนึงเขียนว่า “มันเป็นเหมือนเส้นทางเดินสามเส้นที่ขมวดกันอยู่” แปลความหมายว่าเป็น การเดินทางของชีวิต ว่า ที่ดังเตผจญกับโลกสามภพเนี่ย จริงๆ แล้วมันเหมือนกับตัวเรานี่แหละ ที่เดินอยู่ในโลก ด้วยทางเดินสามเส้นเหมือนกัน ซึ่งผมตีความหมายของเส้นทางเดิมสามเส้นเอาเองว่ามันคือ หนึ่ง Truth หรือ Revelation คือการเปิดเผย คือความจริงของชีวิต อันที่สองคือ Tranformation การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่คุณเจออะไรแย่ๆ หรือดีๆ มา อันที่สามคือเส้นทางเดินที่ดีที่สุด คือ เส้นทางเดินแห่งสันติสุข คือ Tranquility นี่คือสิ่งที่ผมตีความออกมา

WURKON:

ออฟฟิศนี้เสร็จประมาณปีไหนครับ

วสุ:

ปลายปี 2005 เริ่มสร้างประมาณปี 2003

WURKON:

มันเลยกลายเป็นออฟฟิศที่มีลักษณะเฉพาะของตัวคุณเอง

วสุ:

ใช่ๆ เพราะว่าความมุ่งมั่นของผมมันชัดเจนมาก ว่าผมยอมสละความเป็นส่วนตัวของตัวเอง เอาออฟฟิศเข้ามาในบ้านเลย แล้วตอนที่เปิด ตรงนี้ผมก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือ กึ่งๆ โฮมออฟฟิศ น่ะ คือแบ่งหน้าหลังไปเลย

WURKON:

อย่างบางคนเขาไม่อยากเอาที่ทำงานมาอยู่ในบ้าน เพราะว่ามันจะแยกงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้

วสุ:

ถูกต้องครับ

WURKON:

แล้วคุณไม่คิดจะแยกเหรอ?

วสุ:

ผมไม่คิดเลย ผมอาจจะชินตอนที่อยู่ที่นิวยอร์กไง ผมอยู่ในห้องเล็กๆ ตอนสมัยอยู่กับอา ห้องนอนเล็กๆ มีโต๊ะเขียนแบบอยู่ในนั้นเสร็จสรรพเลย แล้วพอมาอยู่เอง ตอนเรียนที่ Columbia ก็อยู่ห้องเล็กๆ ก็ทำงานในห้องอีก ก็มีโต๊ะเขียนแบบ มีเตียง มีห้องนั่งเล่น

WURKON:

ตอนทำออฟฟิศที่แรกก็ทำในโรงรถอะไรแบบนี้?

วสุ:

ใช่ (หัวเราะ) มันก็เลยชินไง มันเหมือนไลฟ์สไตล์ที่ผมคุ้นเคย แล้วพ่อแม่ผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ตอนอยู่ชุมพร ทำโรงพยาบาล ก็มีบ้านอยู่ข้างบน ตอนกลับบ้านทุกปิดเทอม ผมจะเห็นชีวิตอย่างนี้ มันเลยไม่รู้สึกแปลก

WURKON:

ก็เลยกลายเป็นว่า งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้แยกออกจากกัน

วสุ:

ใช่ครับ แล้วผมก็รู้สึกว่าได้อิทธิพลจากพ่อแม่เยอะ เพราะว่าเขาก็อุทิศตัวให้งานมาก ทำงานเยอะ จนกระทั่งเราผลักดันตัวเองด้วยงาน ทุกอย่างเลย ทำงานเกือบเจ็ดวันนะ สมัยก่อนเนี่ย บ้างานมาก

WURKON:

เวลาทำงานนี่รู้สึกว่าตัวเองทำงานอยู่ไหม หรือว่าไม่รู้สึกว่าทำงานอยู่

วสุ:

อาจจะรู้สึกว่าทำงานตอนที่คุยกับลูกค้ามากกว่า แต่ตอนอยู่กับตัวเอง ตอนคิดงานนี่ไม่ใช่ เราจะรู้สึกว่าไปเรื่อยๆ

WURKON:

เพลิดเพลิน?

วสุ:

ใช่ แต่พอทำงานจริงเนี่ย มันเป็นงานมากขึ้นเพราะว่าเราเจอคนอื่นเยอะขึ้น ต้องเจอเรื่องการเขียนสัญญา เรื่องเบิกเงิน อะไรพวกนี้

WURKON:

ต้องสื่อสารกับคนอื่น?

วสุ:

ใช่ ต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้น คืออย่างที่ผมบอกว่าตอนที่เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรเนี่ย ผมเลือกระหว่าง จิตรกรรมฯ หรือ สถาปัตยกรรม เนี่ย จริงๆ มันใกล้กันมากเลยนะ แต่ว่า จิตรกรรมฯ เนี่ย พ่อผมทักนิดนึงตอนก่อนเอนท์ คือเขาก็มองว่า จะไปเขียนโปสเตอร์หนังเหรอ? นึกออกป่ะ? ผมอยากเข้ามากนะตอนนั้น แต่ผมก็ไม่ได้วาดรูปสวยมากไง ผมวาดแบบไอเดีย พอผู้ใหญ่ทักแบบนั้นปุ๊บ ผมก็โอเค เลือกสถาปัตย์ก็ได้ คือ ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมากไง ได้เรียนแนวนี้ก็พอ

WURKON:

พอเลือกแล้วใช่เลยใช่ไหม

วสุ:

ใช่ครับ อย่างที่ผมบอก ตอนศิลปากรปีหนึ่งนี่ผมยังไม่รู้ไง ก็ทำเบสิคดีไซน์ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แต่ว่าปีสองนั่นแหละ ใช่ละ เรามี Passion และผลักดันตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตามที่ผมเล่านั่นแหละ เราก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ

WURKON:

มีอีกอย่างที่เรามองว่าคุณวสุแตกต่างจากสถาปนิกคนอื่นๆ คืองานของคุณจะมีแนวคิดทางศิลปะแฝงอยู่ในงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะสมัยใหม่ หรือแม้แต่ศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลอาร์ต คุณได้แนวคิดแบบนี้มาจากไหนหรือครับ

วสุ:

ผมว่าจาก Deconstruction นะ จุดเริ่มต้นเลย จริงๆ ผมชอบดูงานศิลปะอยู่แล้ว ผมชอบดูงานพวกปิกัสโซ พวก Dada คืองานพวกนี้ผมได้มาตอนอยู่ Pratt กับที่ Columbia เพราะว่า ตอนอ่านหนังสือมันจะมีพ่วงมาไง อย่าง Deconstruction นี่มาจาก ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ที่เป็นนักปรัชญา แล้วเขาพูดถึงคนนั้นคนนี้ เราก็ไปอ่านตาม พวก ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก (หัวเราะ) ก็อ๋อ เขาคิดแบบนี้เหรอ อะไรพวกนี้ แต่ว่าสุดท้ายผมคิดว่า ฌาคส์ แดร์ริดา เขาก็เจ๋งนะ ทำไมต้อง Deconstruction? ก็คือ เหมือนกับเป็นการล้มกระดานความเป็นประเพณีนิยม

WURKON:

รื้อความคิดเก่าๆ

วสุ:

ถูกต้องครับ อย่างเขายกตัวอย่างการเขียนหนังสือ ที่มันต้องมีบทนำ คำนำ เนื้อความ แล้วก็สรุป แต่นี่เขารื้อใหม่หมดเลย มันก็เหมือนกับโครงสร้างของสถาปัตยกรรม คุณไม่จำเป็นต้องทำ Form follows function แล้ว อะไรประมาณนั้น เราก็เลย เออ มันเมคเซนส์ๆ และก็ทำไปเรื่อยๆ หรืออย่าง Dada กับ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) เขาก็พลิกเลย เอาโถฉี่มาตั้ง เอาล้อจักรยานมาต่อกับม้านั่ง กลายเป็นประติมากรรม ผมคิดว่ามองลึกๆ แล้วคนทั่วไปจะไม่กล้าทำ ก็จะถูกต่อต้าน เพราะว่าเมื่อก่อน ศิลปะต้องเป็นของชั้นสูง หมายความว่า คุณทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ Everyday life object (สิ่งของในชีวิตประจำวัน) มันไม่ใช่ศิลปะ แต่เขาทำได้ และผมรู้สึกว่ามันต่อต้านความเชื่อบางอย่าง

WURKON:

เป็นการปฏิวัติ?

วสุ:

ใช่ครับ และผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ แล้วงานของ มาร์เซล ดูชองป์ เขาก็เจ๋งด้วย ยกตัวอย่างที่ผมชอบชิ้นนึง คือ Nude Descending a Staircase, No. 2 (1912) ที่เป็นสี่มิติ อันนั้นมันจุดประกายผมมาก มันเหมือนกับคนที่วาดมิติเรื่องเวลาได้โดยเหมือนเอากล้องถ่ายรูปที่ตั้งสปีดชัตเตอร์ช้าๆ มาถ่ายภาพคนเดินเอาไว้ แต่ดูชองป์เขาวาดออกมา

WURKON:

คือเขาสร้างกระบวนการคิดขึ้นมาใหม่

วสุ:

ใช่ แล้วมันก็ไปคล้ายกับปิกัสโซยุค Cubism ที่มันเห็นมิติของหน้าคนทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลังในระนาบเดียวกัน เรื่องของการทับซ้อนของมิติในรูป

WURKON:

ลักษณะการดูงานของคุณวสุจะไม่เหมือนกับคนที่จะอภิเชษฐ์กับสุนทรียะเพียงอย่างเดียว แต่จะดูลึกไปถึงวิธีคิด ซึ่งคนที่ไม่ศึกษาทฤษฎีทางศิลปะก็จะไม่รู้ตรงนี้

วสุ:

ใช่ครับ ผมสนใจตรงนี้ ก็เลยศึกษาค้นคว้าตรงนี้ ถามว่ามันผิดหรือถูกไหม? มันไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่ว่ามันเป็นการทดลองส่วนตัวมากกว่า ว่าสถาปัตยกรรมสามารถทำตามความเชื่อและแนวคิดพวกนี้ได้หรือเปล่า เพราะว่าสถาปัตยกรรมจริงๆ มันไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ใช่ไหมครับ แต่มันFreeze (แช่แข็ง) เวลาได้เหมือนกัน ถ้าสังเกตงานออกแบบออฟฟิศนี้มันจะมีอะไรที่ชนๆ กันเยอะ กระจก คอนกรีตหลบกันบ้าง บางอันทางลาดก็หายเข้าไปข้างใน อะไรแบบนี้ คือผมก็พยายามศึกษาว่ามันมีมิติบางอย่างที่เราสามารถที่จะนำเสนอสถาปัตยกรรม ที่มันมีพื้นเพทางความคิดจากความเชื่อแบบของเราได้

WURKON:

เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบคอนเซ็ปช่วล?

วสุ:

ใช่ มันเหมือนที่ผมเล่าให้ฟังว่า คอนเซ็ปต์ของออฟฟิศที่ผมคิดถึงเป็นเส้นสามเส้นที่มันมาขมวดกันเนี่ย จริงๆ เราจะมองมันได้ชัดที่สุดคือจากอากาศ บนหลังคา มันจะเป็นเส้นสามเส้นที่ตวัดไปมาอยู่ หรือดูทางเดินนี่ก็เห็นนะ คือมันจะรู้ว่าเวลาเดินขึ้นไปมันเหมือนเป็นเส้นทางที่ออกแบบมาขมวดกันอยู่ แต่มันอาจจะไม่เห็นแบบ 100% เพราะว่าสถาปัตยกรรมก็คือสถาปัตยกรรม มันไม่สามารถแสดงลักษณะแบบเดียวกับที่ศิลปะเป็นได้

WURKON:

แต่จริงๆ งานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกนี่ไปไกลมากเลยนะครับ อย่างของ แฟรงก์ เกห์รี, ซาฮา ฮาดิด นี่เขาก็ไปสุดทาง หรือว่ายุคของ แฟรงก์ ลอย ไรท์ (Frank Lloyd Wright) เขาก็ไปสุดทางของเขา

วสุ:

Frank Lloyd Wright เนี่ย มีบ้านหลังหนึ่งที่เขาออกแบบ ชื่อ Hollyhock House ที่เขาเอาดอกไม้มาแปลงเป็นตัวลายประดับกระเบื้องนูนต่ำหรือแพทเทิร์นบนผนัง ผมได้ไปดูมาด้วย เจ๋งมากเลย แต่ถามว่า ถ้าเราไม่ได้ไปอ่านแนวคิดของเขา เราก็จะไม่เข้าใจว่าคิดอะไรอยู่

WURKON:

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดเชิงลึกที่สถาปนิกไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ แต่พอมันมีแล้วมันทำให้งานมีความหนักแน่น มีอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกได้ แม้เราอาจจะไม่รู้ เหมือนมีเหตุผลในการออกแบบ

วสุ:

ใช่ครับ มันมีที่มาที่ไป คือผมไม่ใช่คนที่เชื่อ Minimalism แต่งานผมก็มินิมอลนะ หมายถึงว่าผมก็ไม่ได้ใส่รายละเอียดอะไรเยอะแยะมากมาย แต่เป็นมินิมอล แบบที่มีความเป็นประติมากรรมนิดหน่อย แบบเชิงทดลอง เพราะผมชอบประติมากรรม เวลาผมดูงาน ผมชอบอะไรซับซ้อนหน่อย ถ้าให้เลือกระหว่างสี่เหลี่ยมขึ้นมาเป็นแท่งตรงๆ กับอะไรที่บิดๆ ผมจะชอบแบบบิดๆ มากกว่า

WURKON:

คือมันจะเป็นงานหลังจากยุคที่คนเบื่องานแบบโมเดิร์นนิสม์ แล้ว จะกลายเป็นออร์แกนิก โมเดิร์นนิสม์ (Organic Modernism) หรือว่า Deconstruction

วสุ:

ใช่ครับ สถาปนิกอีกคนที่ผมชอบเป็นมาสเตอร์คนหนึ่งในยุค 1920 คือ เลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) ผมว่าคนนี้แตกต่าง อย่างมีส์ (Ludwig Mies van der Rohe) เนี่ยงานเขาสวย แต่ เลอ คอร์บูซิเยร์ เนี่ย ผมว่าเขาเด่นเรื่องการปฏิวัติแนวคิดทรงสถาปัตยกรรม และเขาก็บุกเบิกหลายอย่าง อย่างเช่น 5 Points of Architecture จะมีพวกเสาลอย ผังพื้นอิสระ (Free Plan) มีทางลาด มีรูปด้านอิสระ (Free Facade) มีหน้าต่างที่เป็น Strip window (หน้าต่างทรงยาว) มี Roof Terrace (ระเบียงบนหลังคา)

WURKON:

เป็นงานสถาปัตยกรรมมีลักษณะที่เหมือนงานประติมากรรม

วสุ:

ใช่ครับใช่ เขา เป็นคนแรกที่ผมคิดว่ามีความเป็นแบบฉบับที่สุด เพราะเขาเอาเรื่องการผลิตแบบอุตสาหกรรมมาจากการศึกษาพวกรถยนต์ รถไฟ เรือ

WURKON:

อย่างงานโบสถ์ที่มีหลังคาเหมือนปีกแมลงก็ดังมาก

วสุ:

ใช่ Notre Dame du Haut ใน รองชอมป์ (Ronchamp) อันนั้นสุดๆ

WURKON:

ยุคนั้นก็มีวัสดุอย่างคอนกรีตเสริมแรงที่ทำให้สามารถสร้างสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกๆ ได้

วสุ:

ใช่ครับเขาเป็นคนแรกเลย อีกคนที่ผมทึ่งกับเขา คือ เกาดี้ (Antoni Gaudí) อันนี้นี่สุดยอดจริงๆ (เสียงตื่นเต้น) คือเห็นในหนังสือก็อย่างนะ แต่ไปดูของจริงแล้วแบบ โห คิดได้ไงเนี่ย! คือมันเป็นหลักของ วิศวกรรมบวกกับสุนทรียะของสถาปัตยกรรม ผมไม่ได้ชอบงานเขาแวบแรกที่เห็นนะ แต่พอไปเห็นแล้วทึ่งมากคนนี้ สุดยอด

WURKON:

พูดถึงแนวคิดกันบ้าง พอคุณทำงานในลักษณะที่เป็นการทดลอง เวลาคุยกับลูกค้า คุณมีวิธีการยังไงที่ให้เขายอมรับการทดลองของคุณ

วสุ:

ผมบอกได้เลยว่า คนที่วิ่งมาหาเราโดยไม่ต้องเสนองานน่ะ เป็นคนที่เชื่อในงานเราอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดเยอะ เขาจะพูดว่าเอาตามที่คุณวสุเห็น อย่างบ้าน Bunker House ที่ลพบุรี คนนี้เป็นลูกค้าแรกๆ หลังจากออฟฟิศหลังนี้เสร็จ ด้วยความที่ Bunker House อยู่ที่ลพบุรี และเป็นจังหวัดที่มีพลเมืองจากครอบครัวทหารส่วนมาก และเขามีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ต้องการมองเห็นความเป็นไปข้างนอกได้ ก็บังเอิญอีก ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมา ชื่อ Bunker Archaeology โดย พอล วิริลลิโอ (Paul Virilio) เป็นหนังสือที่ศึกษาหลุมหลบภัยสมัยนอร์มังดี มันบังเอิญสุดๆ เลย แล้วผมก็ไปดูเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มันมี ความเป็นสถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสต์ (Brutalist) อยู่ เป็นเขื่อนดิน แต่ทรงสวย ผมก็เสนออันนี้ ผมบอกเขาว่าผมอยากเอาเซ็คชั่นและความน่าสนใจของหลุมหลบภัยมาใช้กับบ้านหลังนี้ ลูกค้าก็โอเค

Bunker House บ้านที่ออกแบบโดยได้เซ็คชั่นและความน่าสนใจของหลุมหลบภัยมาใช้ ภาพถ่ายโดย Spaceshift Studio

WURKON:

หลุมหลบภัยเลยเหรอครับ

วสุ:

อาจจะฟังดูแปลกเหมือนกันเนอะ (หัวเราะ) แต่ว่าผมศึกษาเป็นแนวคิดไง คือเซ็คชั่นหลุมหลบภัยเนี่ย มันจะมีหน้าต่างๆ เล็ก เพื่อจะมองออกไปข้างนอกเหมือนกับป้อมปราการ แต่คนข้างนอกจะมองไม่เห็นข้างใน และมันจะจู่โจมยาก ซึ่งมันก็เป็นที่มาของบ้านหลังนี้ ว่าคุณอยู่ข้างในบ้านนี้ คุณจะปลอดภัยสุดๆ แต่คุณจะมองเห็นความเป็นไปข้างนอกรอบบ้านเลยนะ เพราะด้านข้างเป็นผนังทึบแต่ผมทำเป็นช่องเจาะเล็กๆ หมดเลย ซึ่งคนข้างในมองออกไปได้ แต่คนข้างนอกจะมองเข้ามาไม่เห็น และก็มีรูปทรงเหมือนบังเกอร์ชั้นครึ่งอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

WURKON:

ลูกค้าที่จะมาจ้างคุณออกแบบก็ต้องเป็นลูกค้าที่เข้าใจแนวคิดของคุณด้วย

วสุ:

ใช่ เรียกว่า ชอบงานแบบนี้ ดีกว่า ผมเชื่อว่าลูกค้าของผมในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่ มาเพราะต้องการงานแบบนี้ ผมพยายามจะเบี่ยงเบนเขาไปทางอื่นนะ แต่เขาก็กลับมาทางนี้หมดเลย เอาเป็นคอนกรีต เอารูปทรงแบบไดนามิคหน่อยๆ เหลี่ยมๆ มุมๆ จะชอบอย่างนี้หมดเลย ลูกค้าคนนี้เขาขับรถมาจากลพบุรี เขาบอกว่าเขาติดตามผมมาสักพักแล้ว และเขาอยากจะให้ผมออกแบบบ้านให้

WURKON:

เคยคุยกับคุณจูน เซคิโนะ เขาพูดคำหนึ่งน่าสนใจมาก เขาบอกว่า คนที่มาจ้างสถาปนิกออกแบบบ้านคือคนที่มีความกล้า เพราะว่าเขาจ่ายเงินซื้อสิ่งที่เกิดจากอากาศเลย มันไม่ได้มีโครงการ ไม่ได้มีบ้านตัวอย่างให้เราดูก่อน มันเป็นอะไรที่ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันเลย

วสุ:

ใช่ๆ จริง แล้วสมัยนั้นตอนที่ผมเริ่มออฟฟิศเนี่ย คนที่ชื่นชอบสถาปนิกก็ไม่ค่อยมีเยอะนะ เพราะเขาจะมองว่าต้องจ่ายค่าออกแบบแพงจัง สมมติว่าเป็นหลักแสน มันก็แพงไปแล้วนะ สำหรับเขา

WURKON:

จ่ายแพงไปทำไม ทั้งๆ ที่ซื้อบ้านจัดสรรสำเร็จรูปโดยไม่ต้องเสียค่าออกแบบก็ได้

วสุ:

ใช่ ถูกต้อง ให้ผู้รับเหมาสร้างก็ได้ บางคนไม่ได้มองว่า บ้านจำเป็นต้องเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองขนาดนั้น แต่คนที่มาหาสถาปนิก อย่างที่จูนพูด หรือที่ผมเจอเนี่ย เขาต้องการความชัดเจนของตัวเองและมองเห็นว่า บ้านสามารถเป็นอะไรที่เขาอยากให้มันเป็นได้ อยากมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เป็นบ้านที่มีความพิเศษไม่เหมือนบ้านทั่วไป อะไรประมาณนี้

Equilibrium House บ้านที่ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเจ้าของบ้าน ดร. ศาสตรา สุดสวาสดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภาพถ่ายโดย Spaceshift Studio

WURKON:

อย่างที่คุณวสุเปรียบเทียบการทำงานของ VaSLab ว่าเป็นเหมือนการทดลอง แต่เมื่อเป็นการทดลองมันย่อมมีความเสี่ยง เวลาทำงานคุณรับมือกับความเสี่ยงยังไง เพราะว่ามันก็เป็นงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องอยู่อาศัยภายในด้วย

วสุ:

ใช่ครับ ต้องเรียนรู้หลายอย่างครับ ตั้งแต่ตอนทำงานหลังแรกเนี่ย จริงๆ ผมก็มีข้อผิดพลาดนะ อย่างหลังนี้ (ออฟฟิศ VaSLab) ผมจำได้เลย ด้วยความที่เราประสบการณ์ยังไม่ได้เยอะมาก ออกแบบเองหลังแรกปุ๊บ ลืมฝังท่อเดรนน้ำในผนัง ต้องเอาไปใส่อยู่ข้างนอกแทน ก็เลยต้องโชว์เป็นท่อเหล็กเปลือยๆ ก็แก้ปัญหาแล้วเรียนรู้ไป คือพอทำงานแบบนี้ บางครั้งเราสนใจแต่รูปทรง หรือสเปซภายนอกที่เราอยากจะนำเสนอออกมา แต่บางอย่างที่มันเป็นเรื่องงานระบบอาคารเรากลับลืม ตอนนี้ทุกอย่างมันเลยต้องคิดพร้อมกัน คือเราจะไม่สนใจไม่ได้ พอทำอีกหลังเราได้ประสบการณ์จากหลังเดิมมา ผมก็เลยโชว์เป็นท่อเหล็กข้างในเลย คือจริงๆ มันฝังในผนังได้ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่เจ๋งน่ะ (หัวเราะ)

WURKON:

เอาประสบการณ์จากงานเก่ามาปรับใช้กับงานใหม่?

วสุ:

ใช่ครับ ก็ทำกันไปเรื่อยๆ ในเรื่องของความเสี่ยง จริงๆ มันมีอีกเรื่องหนึ่ง คือกระบวนการในการทำงานกับวิศวกร คือทำแบบโครงสร้างของงานผมมันจะทำยาก แล้ววิศวกรหลายคนก็จะมีคอมเมนต์ว่าทำไมต้องทำยากด้วย

WURKON:

แล้วคุณตอบเขาว่ายังไง

วสุ:

(หัวเราะ) ผมก็ตอบเขาไปว่า ก็ผมต้องการทำบ้านในแบบของผมเองแบบไม่เหมือนใคร มันก็ต้องยากสิ พวกคุณก็ดูสิว่ามันปกติที่ไหมล่ะ? ยกตัวอย่างเมื่อก่อนบ้านปกติจะมีคาน 4 ขนาด ที่นี่มีประมาณ 20 กว่าขนาด แล้วบังเอิญว่าผมไปได้วิศวกรที่เป็นเพื่อนผมตอนที่เรียนเตรียมอุดมฯ มาด้วยกัน (คุณกนต์พจน์ จิตติจรุงลาภ) เป็นคนเดียวที่ยังทำงานด้านดีไซน์โครงสร้างอยู่ ผมก็เลยดึงเขามาช่วย ก็ได้ทำงานที่ยากร่วมกันหลายหลังอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาไม่ค่อยมีเวลาแล้ว พอทำงานยากผ่านไปแล้วเนี่ย ประสบการณ์ในการทำงานยากมากหรือน้อยกว่านี้มันก็เริ่มง่าย ผมก็จะบอกผู้รับเหมาและวิศวกรทุกคนที่ทำงานกับผมว่า คุณทำงานกับผมยากๆ แบบนี้ ต่อไปพอทำงานของคนอื่นคุณก็สบายแล้ว

WURKON:

ถือเป็นประสบการณ์?

วสุ:

ใช่ครับ มันเหมือนกับคุณเจอโจทย์ยากๆ ถ้าคุณไม่ลองแล้วคุณจะรู้ได้ยังไง ว่าคุณทำได้หรือทำไม่ได้ ใช่ไหมครับ

WURKON:

ในการทำงานคุณวสุเอาดีไซน์นำ หรือ ฟังก์ชั่นนำ

วสุ:

ทั้งสองอย่าง สำหรับผม ณ ตอนนี้ นะ เพราะถ้าเราไม่สามารถเติมเต็มฟังก์ชั่นการใช้งานให้ลูกค้าได้ งานมันก็ไม่ผ่าน มันต้องเอาฟังก์ชั่นให้แน่นก่อน แล้วที่เหลือค่อยตามมา มันต้องคิดพร้อมกันประมาณหนึ่งน่ะครับ แต่ว่าด้วยความที่เรามีคอนเซ็ปต์ด้วย ฟังก์ชั่นและรูปทรง มันอาจจะมาจากแนวความคิดบางอย่าง ทั้งฟังก์ชั่นและดีไซน์มันต้องหลอมรวมกันได้

WURKON:

เวลาที่คุณวสุทำงานนี่คิดจาก inside out หรือ outside in

วสุ:

ส่วนมากจะ outside in นะ เพราะเวลาคิดงานผมจะคิดจากไดอะแกรม (แผนภาพ) ก่อน แล้วพอมี ไซต์ (พื้นที่) แล้วผมถึงวางโซน (ขอบเขต) ซึ่งจะคิดจาก inside out ด้วย เพราะว่าผมต้องการให้ภาพลักษณ์ภายนอกมันออกมาดี คือถ้าข้างนอกไม่สวย ข้างในมันก็คงไม่ดีใช่ไหม (หัวเราะ) ผมจะหลงใหลกับรูปทรงก่อน แล้วค่อยมาศึกษาข้างในทีหลัง แต่จริงๆ แล้วสเปซกับฟอร์มมันมาพร้อมกัน คืออย่างที่ผมบอกว่าเวลาทำเส้นเอียงบนผนัง หรือเส้นเอียงบนอาคารเนี่ย ถ้ามันไม่มาจากบันได ก็ทางลาด หรือบางอัน ทำผนังเอียงหลบแสง บางอันก็เปิดให้แสงเข้า ประมาณนี้ มันจะเป็นเรื่องตรรกะมากขึ้น เป็นเรื่องของการใช้งาน เรื่องการอยู่อาศัยมากขึ้น

WURKON:

งานที่โดดเด่นของ VasLab นี่ออกจะเป็นงานที่หวือหวามากเหมือนกันนะครับ

วสุ:

จริง ๆ งานหวือหวาของผมจะมีอาคารออฟฟิศนี้ แล้วก็ Bunker House, Honda Big Wing และ Lit Bangkok พวกนี้ก็จะเป็นแนวที่เราค่อนข้างจะได้รับคำชมเยอะนะครับ Honda Big Wing เนี่ย เป็นงานที่ผมภูมิใจมาก เพราะว่าเป็นการประกวดแบบจาก 5 บริษัท คือเป็นการเชิญไปอย่างเดียว แล้วทาง A.P.Honda เจ้าของโชว์รูมรถมอเตอร์ไซค์ Honda เมืองไทยเนี่ย เขาสอบถามไปหาทางสมาคมสถาปนิกสยาม ทางสมาคมโดย อาจารย์พรชัย บุญสม ก็ส่งชื่อ VaSLab ไปด้วย เพราะว่าโจทย์ของ Honda Big Wing มันมีเรื่องความเท่, ความ Musculine (ความเป็นชาย), ความดิบ, ความคูล, ความ Talk of the town ความเป็น Sculpture มันเข้าทางเราพอดีเลย (หัวเราะ) เขาให้เวลาหนึ่งเดือนทำแบบ แต่ทางฮอนด้าจ่ายเงินให้นะครับ สำหรับค่าทำแบบประกวด ปี 2007 ผมก็ทำสิ ไม่ทำได้ไง เราก็ใส่สุดเลยนะ ตอนแรกคุยกันในทีมก็แบบ เราจะเพลย์เซฟดีไหม? ผมบอกว่าไม่ต้องเพลย์เซฟ ถ้าเราจะทำงานอย่างนี้เราต้องใส่เต็ม Win or Lose น่ะ ถ้าคุณทำกลางๆ ไปแล้วชนะ มันใช่งานคุณ 100% หรือเปล่าล่ะ? ผมก็เลยใส่เต็มเลย แต่คิดแบบอยู่นานนะ คิดอยู่ประมาณเกือบ 3 อาทิตย์ มาทำ Presentation ตอนอาทิตย์สุดท้ายที่เหลือ

Honda Big Wing โชว์รูมรถมอเตอร์ไซค์ Honda ที่ได้แรงบันดาลใจจากโมเมนต์ของการแซงทางโค้ง ภาพถ่ายโดย Spaceshift Studio

WURKON:

หมายถึงคอนเซ็ปต์งานใช่ไหมครับ

วสุ:

ใช่ครับคอนเซ็ปต์มันคือ การแซงทางโค้ง มันคือ Winning Moment ผมพยายามเอา Attitude of Winning (ทัศนคติแห่งชัยชนะ) ของฮอนด้า ซึ่งเขามีตรงนี้อยู่มาใช้ไง คือในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ มันก็มีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ทุกปีใช่ไหมครับ แต่ผมมองว่า ถ้าคุณมีทัศนคติดียังไงคุณก็อยู่ในอันดับท็อปไง ก็เอาเรื่องนี้มาใช้ แล้วก็เอาเรื่องโมเมนต์ของการแซงทางโค้งมา ทีนี้การนำเสนอในแบบมันจะกลายเป็นรูปบูมเมอแรงสองอันตวัดกัน เหมือน Winning Moment แล้วมันตรงกับไซต์ (พื้นที่ก่อสร้างอาคาร) มาก เพราะไซต์มันเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วมันก็เข้าโค้งพอดีเลย คือมันเป็นเรื่องที่ผมว่า Meant to be น่ะ คือ มันจำเป็นต้องเป็นแบบนี้แหละ แล้วก็เลยได้ ชนะ

WURKON:

ก็เลยต้องคิดนาน

วสุ:

โห คิดนานมาก คิดนานสุดๆ เลย เพราะว่ามันยากนะคิดประกวดแบบ เพราะถ้าคุณไม่มีคอนเซ็ปต์มันไม่มั่นใจไง แต่พอมันได้ปุ๊บมันก็ใสปิ๊งมากเลย ปรากฏว่าชนะ เพราะว่าญี่ปุ่นเขาชอบ พอดีมีคณะกรรมการไทยกับญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นเนี่ยผมว่าชอบแนวความคิด คนไทยชอบความสวยงาม แล้วพอผมไปดูแบบทีหลังนะ โห แบบคนอื่นสวยนะ คือเรื่องโปรดักชั่นก็สวยกว่าผมเยอะเลย ผมมาทำงานอาทิตย์สุดท้าย ก็เลยทำโปรดักชั่นเป็นแค่ภาพ Perspective คร่าวๆ มันก็เห็นแค่ไอเดีย แต่คอนเซ็ปต์มันแน่นไง แต่นั่นแหละ ผมมาดูของคนอื่นก็คิดว่าโชคดีที่เราชนะ และโชคดีที่เราได้คณะกรรมการที่เข้าใจเรื่องนี้ คือไม่ใช่ทุกคนที่มองแบบนั้นไง คนที่ชื่นชมศิลปะ คนที่ชื่นชมแนวความคิด มันก็ไม่ได้มีเยอะน่ะ ผมก็เลยคิดว่าเราโชคดีมาก แล้วหลังจากงานนี้มานี่ โอ้โห!

WURKON:

เป็นงานแจ้งเกิดเลยใช่ไหมครับ

วสุ:

ใช่ครับ เพราะเป็นงานสาธารณะงานแรก เป็นโชว์รูม แล้วคนเห็นเยอะไง

WURKON:

เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ถือว่าแปลกมากนะครับ ในบ้านเรา

วสุ:

ครับ แปลกมาก ก็พวกสถาปนิกฝรั่งทุกคนที่เดินทางมาเมืองไทย เขาก็จะถามกันทุกคนว่า เอ๊ย! มีตึกแบบนี้ในเมืองไทยด้วยเหรอ? เราก็ค่อนข้างแฮปปี้

WURKON:

ออกแบบให้ฮอนด้าเนี่ย คุณวสุต้องคุมการก่อสร้างเองด้วยหรือเปล่า หรือเขาดูเองหมด

วสุ:

คุมครับ ก็ต้องไปดูไซต์ด้วย เพราะว่าแบบมันยาก ต้องทำโมเดลไปให้เขาดูเลย ให้เขาดูว่ามันจบยังไง เอาไปให้เขาดูหลายรอบเลย

WURKON:

แล้วทีมงานก่อสร้างนี่หามาจากไหนเหรอครับ

วสุ:

เขาก็ประมูลมา เป็นคนที่ทำงานโชว์รูม ทำพวกอาคารที่ไม่ได้หวือหวามาก แต่เป็นมหาชน คือทีมงานเขาพร้อม แต่เขาก็บ่นผมเลยนะว่า โห แบบยากมากเลย! แต่ปรากฏว่าพอทำเสร็จก็แฮปปี้กัน และเขาก็มาคุยกับผมว่า สนุกนะทำงานกับทาง VaSLab ได้เรียนรู้อะไรเยอะ พอได้งานที่สองก็สบายละ ได้อีกโชว์รูมหนึ่ง คือ ทำ Benz NK คือ โชว์รูมเบนซ์ตรงถนนกาญจนาภิเษก อันนี้ไม่ยากมาก เพราะเป็นโชว์รูมรูปทรงยาวๆ แล้วก็ได้ทีมก่อสร้างเจ้าเดิมทำ ก็แฮปปี้กัน

WURKON:

ไอเดียในการทำงานที่คุณวสุเล่าให้ฟังมันดูเป็น Abstract หรือเป็นนามธรรมมาก คุณมีวิธีการแปลงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมยังไง

วสุ:

ก็สเก็ตซ์เอานะ ส่วนมาก คือ มันมีอยู่สองวิธี อย่างที่ผมบอกว่า Honda Big Wing เนี่ยมันก็เป็นนามธรรมมาก Attitude of Winning ใครจะไปคิดว่ามันจะเป็นเรื่องการแซงทางโค้ง (หัวเราะ) มันบังเอิญน่ะเพราะว่าผมค้นคว้าข้อมูลเยอะ ผมก็ไปดูรูปเครื่องบินรุ่น Super Blackbird Aircraft (1980) เป็นเครื่องบินรุ่นที่ฮอนด้าเอาเครื่องจักรยนต์มาใช้ แล้วผมก็ไปคลิกอยู่ภาพนึง คือภาพมอเตอร์ไซค์วิ่งเบี่ยง ผมก็มานั่งคิด เฮ้ย มันแซงกันตรงไหนหว่า อ่อ มันแซงทางโค้ง! อะไรอย่างนี้ มันก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเยอะ แล้วพอแซงทางโค้งเสร็จ คุณจะทำยังไงให้รถที่แซงทางโค้งมาเป็นรูปธรรมของอาคาร มันก็คือการตวัด คือต้องทำเยอะ ต้องศึกษาเยอะ ต้องสเก็ตซ์เยอะครับ แล้วสเก็ตหลายรอบนี่ไม่ใช่ว่าครั้งแรกมันจะผ่าน เพราะว่ามันต้องใช่จริงๆ ถึงจะได้ อย่างเส้นทางเดินสามเส้นของออฟฟิศนี้ก็มาจากการสเก็ตซ์หมดเลย ต้องขมวดยังไง คือมันไม่มีผิดไม่มีถูกไงครับ ออฟฟิศผมเนี้ยมันค่อนข้างเป็นส่วนตัวมากกว่า แต่อย่าง Honda Big Wing นี่ทุกคนต้องเห็น เพราะฉะนั้นมันจะมีระดับของความเข้าใจที่ต่างกัน อย่างออฟฟิศนี้เห็นแล้วค่อยไปตีความ ไปอ่าน หรือเราเล่าให้ฟังได้ แต่ Honda Big Wing ต้องเห็นแล้วเข้าใจทันที

WURKON:

พอกรรมการเขาเห็นแล้วเขาก็รู้สึกได้ว่าเป็นไอเดียที่เขาต้องการ?

วสุ:

ใช่ครับ เพราะว่างานออกแบบ ถ้าคอนเซ็ปต์มันไม่ตรงกับตัวอาคารเนี่ย ผมว่าถ้าคนเขาไม่เก็ต เขาก็ไม่ซื้อไง แต่มิสเตอร์เซ็นจิโร่ คณะกรรมการของฮอนด้าเขาซื้อ เพราะเขาเห็น เพราะผมก็พรีเซ้นต์ไง เราก็ต้องแสดงให้เขาเห็น มันก็มีไดอะแกรมหมดเลย ว่าจากนี่ มาเป็นนี่ๆ สุดท้ายมันเป็นรูปตวัดเป็นบูมเมอแรงเป็นรูปแปลนของไซต์ Honda Big Wing แล้วไปอยู่กับโลโก้ Honda อีก ซึ่งมันก็เป็นรูปปีกเหมือนกันไง มันก็เลยโอเคหมดเลย มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน กับงานอื่น อย่าง Bunker House นี่ อย่างที่ผมบอกว่า ด้วยความที่ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเราเป็นทุนเดิม แต่อย่างโปรเจ็คซ์ใหม่ๆ ก็คล้ายๆ กันผมไปได้งานที่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นของกลุ่ม IFEC กลุ่มพลังงานทดแทนที่ทำทุ่งกังหันลม ยาวประมาณหลายร้อยเมตร ผมไปทำอาคารอันหนึ่ง ลูกค้าเขาคงรู้แนวเราอยู่แล้ว เขาก็บอกเลย ว่าเมื่อก่อนอำเภอนี้ ก่อนที่เขาจะเรียกว่าปากพนัง เดิมเรียกว่า อำเภอเบี้ยซัด เพราะคนใช้เบี้ยแทนเงินในการจับจ่ายกันในชุมชนนี้ คุณไปเอารูปทรงหอยเบี้ยมาศึกษา (หัวเราะ) ก็เลยไม่ยาก ผมก็คิดว่าเอารูปทรงหอยเบี้ยมาใช้เลยมันง่ายไป ผมก็เอามาตัดเซ็คชั่นดู แล้วก็แบ่งเป็นสามฝา ซึ่งมันก็เป็นรูปเหมือนกังหันลมด้วย อีกอย่างคือเวลาเราเห็นอาคาร ทางเข้ามันจะคล้ายๆ เป็นรูปหอยเบี้ยอยู่ในน้ำแล้วโผล่ขึ้นมาครึ่งหนึ่ง ก็จินตนาการเยอะ และก็ต้องสเก็ตซ์เยอะด้วย

Casa de La Flora บ้านพักตากอากาศที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของพฤกษชาติ ภาพถ่ายโดย Wison Tungthunya อ่านรายละเอียดได้ที่ https://goo.gl/Pmirvb

LiT Bangkok ที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบ facade ของอาคารมาจากผ้าคลุมหน้าของเจ้าสาว ภาพถ่ายโดย Spaceshift Studio อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/5xkxqA

Kenkoon Ex อาคารของบริษัท Kenkoon ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของประเทศไทย ที่นำเอาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ของ Kenkoon มาใช้ในการออกแบบ facade ของอาคาร ภาพถ่ายโดย Spaceshift Studio

WURKON:

ตอนนี้การทำงานยังขับเคลื่อนด้วย Passion เหมือนเดิมไหม

วสุ:

แน่นอนครับ ต้องมีอยู่เสมอ แต่ผมกลับชอบอะไรที่ง่ายขึ้น ในตอนนี้นะ คือผมไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อนมากเกินไปเพราะฉะนั้นอะไรที่ตัดทอนให้มันเรียบง่ายได้ ผมก็จะทำ แต่ตอนนี้ งานที่ปากพนัง ที่เป็นรูปหอย ที่ผมพูดถึงนี่ยังไม่ได้สร้างทีนะ ออกแบบตั้งแต่ปี 2016 มันจะเป็นรูปทรงโค้งขึ้นมา ไม่ใช่ภาษาแบบเดียวกับงานเก่าๆ ของผม ไดนามิค (ความเคลื่อนไหว) มันจะน้อยลง แต่มันก็ยังมีกลิ่นอายของเราอยู่ ทุกคนที่มาดูก็ยังรู้ว่างานเรา

WURKON:

แบบนี้เวลาทำงานคุณยังต้องมีลายเซ็นของตัวเองไหม เพราะสถาปัตยกรรมก็เป็นงานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างศิลปะและพาณิชย์ ที่ต้องทำงานที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่

วสุ:

ผมพยายามจะบอกว่าไม่มี แต่ความจริงแล้วมันมีนะครับ (หัวเราะ) เพราะว่าหลายคนที่มาหาเรานี่ส่วนมากก็จะอ้างอิงถึงงานเก่าๆ ของเรา ว่านี่ VaSLab ทำ ตอนนี้ผมได้งานของ CPN (Central Pattana) รีโนเวตเซ็นทรัลพระรามสาม ก็ได้มาจากงานเก่าๆ หมดเลย คือเขามองว่าเราเหมาะกับงานนี้ ก็รีโนเวต facade (ส่วนหน้า) ของอาคารหมดเลย คือสิ่งที่ผมได้ทำในหลายๆ โปรเจ็กต์มันเป็นเพราะว่าเรามีตัวตนบางอย่างที่เหมาะกับงานของเขา

WURKON:

ที่เขาเลือกคุณ ไม่ใช่เพราะคุณเป็นเหมือนสถาปนิกทั่วไป แต่เลือกเพราะคุณเป็นอย่างที่คุณเป็น

วสุ:

ใช่ เขาคงเห็นบางอย่างว่าเรามีศักยภาพที่จะทำให้เขาได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ปฏิเสธที่จะทำงานในแนวทางเก่า คือบางทีลูกค้ามาก็อยากจะเอาแบบเดียวกับงานที่ผมเคยทำมาก่อน คือผมก็รู็สึกว่าอยากทำอะไรใหม่ๆ มันอาจจะมีความเชื่อเดียวกัน มีความคิดที่มันคล้ายๆ กัน แต่งานที่สำเร็จออกมามันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะว่าสถานที่ก็คนละที่กัน แล้วโจทย์ก็ไม่เหมือนกัน การทำโชว์รูมกับห้างอาจจะคล้ายๆ กัน แต่บ้านนี่คนละอย่างเลยนะ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ

WURKON:

สำหรับคุณวสุ การทดลองมันมีจุดจบไหม

วสุ:

ไม่น่ามีนะ ผมว่า เพราะว่ามันก็เหมือนกับคนที่พยายามหาความรู้ใส่ตัวเอง คือเราต้องอ่านทุกวัน เราก็ต้องรู้ว่าโลกมันไปยังไง ในตอนนี้ จริงๆ ผมชื่นชมคนที่ไม่มีสไตล์นะ จริงๆ เขามีสไตล์แหละ แต่ลายเซ็นมันอยู่ลึก อย่าง Herzog & de Meuron เป็นบริษัทสถาปนิกชาวสวิส งานทุกงานของเขาเนี่ยรูปแบบในการนำเสนอต่างกันมาก แต่ทุกคนดูแล้วจะรู้ว่าเป็นงานเขา แปลกมากเลย

WURKON:

คนที่ทำสนามกีฬารังนก (Beijing National Stadium) ใช่ไหมครับ

วสุ:

ใช่ครับ แล้วก็อีกคนหนึ่งผมชอบ คือ อาแมนดา ลีวิตต์ (Amanda Levete) ที่ทำ Central Embassy เราได้ทำงานกับเขาใน 72 Courtyard เพราะเขาเป็นคนทำคอนเซ็ปต์ดีไซน์ แล้วเรามาพัฒนาต่อจากเขา น่าสนใจมากเลย อย่าง Central Embassy ที่หุ้ม Facade ของอาคารด้วยอลูมิเนียมเนี่ย เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลังคาที่สะท้อนระยิบระยับของวัดหรือบ้านไทยนะ ที่เป็นหลังคากระเบื้องดินเผาน่ะ แล้วเขามาตีความด้วยภาษาใหม่ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Reinterpret ผมชอบงานคล้ายๆ แบบนี้ คือเราสามารถทำงานที่มีความเป็นไทยได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิมๆ

WURKON:

เป็นไทยโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีลายกระหนก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์?

วสุ:

ถูกต้องครับ! อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมสอนเด็กมาตั้งนานนะ เรื่องนี้ ตอนนี้คนเริ่มยอมรับกันแล้ว เมื่อก่อนนี้ผมจำได้ตอนเรียน พอเป็นสถาปัตยกรรมไทยก็ใส่มงกุฏๆ กัน คือผมว่ามันเป็นแค่การประดับตกแต่งไง มันไม่ลึกน่ะ แต่จริงๆ ที่ลึกกว่า คุณต้องศึกษาเยอะน่ะ อย่างเรื่องไต้ถุน เรื่องฝาปะกน ทำไมมันถึงมีรูปแบบอย่างนั้น มันลึกกว่า แต่เมื่อก่อนคนยังไม่ค่อยเข้าใจ มักจะบอกว่า เฮ้ย! คุณทำงานโมเดิร์น คุณไม่สนใจความเป็นไทย ไม่ใช่! อย่าง Honda Big Wing นี่ก็มีไต้ถุนนะ แล้วลมมันไหลผ่านได้ แล้วสิ่งที่ได้ก็คือ ประหยัดพลังงานแอร์ เพราะว่าความชื้นมันขึ้นจากดินใช่ไหม พอเรายกใต้ถุนขึ้นมาปุ๊บ ข้างบนมันจะคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า แล้วข้างล่างที่เป็นสนามขับขี่ทดลองกับคาเฟ่เนี่ย พื้นที่กลางแจ้งนี่ลมพัดผ่านเข้ามาได้หมดเลย แต่คนไม่เห็น เพราะคนไปติดกับรูปทรง เขาบอก โอ๊ย! งานอินเตอร์ (หัวเราะ)

WURKON:

ติดกับภาพลักษณ์เก่าๆ

วสุ:

ใช่ ๆ แต่นี่ผมก็แฮปปี้นะ ที่พอมีสถาปนิกต่างประเทศมาตีความงานคนไทยเนี่ย สำคัญมาก มันจะเห็นอีกมิตินึง อย่าง อาแมนดา ลีวิตต์ มาทำให้ Central Embassy ใช่ไหมครับ เขาก็จะตีความความเป็นไทยออกมาในรูปแบบใหม่ แล้วคนก็เข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

WURKON:

อยากฝากอะไรถึงสถาปนิกรุ่นน้องหรือคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาทำงานในสายนี้บ้างครับ

วสุ:

ผมว่าสำคัญที่สุดคือ Passion ครับ คือต้องผลักดันตัวเองด้วย Passion ด้วยความหลงใหล ที่ผมเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก คือถ้าผมไม่มีตรงนี้ งานเราจะออกมาโดยที่ หนึ่ง ไม่มีความมั่นใจ สอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง คือผมเชื่อเสมอมา ว่าชีวิตคนเราตื่นขึ้นมา 24 ชั่วโมง เราอยู่กับงานมากที่สุด นอกนั้นนอน หรืออะไรก็แล้วแต่ใช่ไหม อ้อ ตอนนี้ก็มีเลี้ยงลูกด้วย (หัวเราะ) แต่งานนี่เราอยู่กับมัน 8 ชั่วโมง มัน 1 ใน 3 เลยนะ ถ้าทำงานไม่มี Passion ผมว่ามันก็คงไม่แฮปปี้ เพราะว่าถ้าเราแฮปปี้กับงานที่เป็น 1 ใน 3 ทุกอย่างมันก็สบายแล้ว ถูกไหมครับ (หัวเราะ) ผมเลยผลักดันตัวเองด้วยสิ่งนี้มาตลอด ว่าเราต้องทำในสิ่งที่เรารัก โอเค บางคนอาจจะเลือกไม่ได้ บางคนต้องเลิกวิชาชีพนี้ไปทั้งๆ ที่เป็นคนเก่งมาก แต่ทนทำไม่ไหว เพราะเงินไม่พอใช้ ผมก็เลยมานั่งทำความเข้าใจว่า เราคนบางคนเลือกไม่ได้ และเราโชคดีมากกับสิ่งที่เราทำอยู่ ถึงแม้ว่าเราไม่อาจไปเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานในด้านอื่นๆ ด้านธุรกิจการลงทุนที่เขาร่ำรวยมหาศาล คือเราไม่ต้องไปเปรียบเทียบเรื่องเงินทองหรอก เพราะเปรียบเทียบยังไงคุณก็สู้เขาไม่ได้อยู่ดี (หัวเราะ) แต่เราอยู่ได้ด้วย Passion ของเราเองนี่แหละ

WURKON:

พอพูดแบบนี้แล้ว คุณวสุเชื่อเรื่องเรื่องชะตาชีวิตไหม

วสุ:

ผมเชื่อเรื่องศรัทธามากกว่า เรื่องชะตาชีวิตก็เชื่อในบางเรื่อง อย่างเรื่องงาน เรื่อง Honda Big Wing มัน Meant to be มันเหมือนถูกกำหนดให้เป็น แต่ว่ามันก็เป็นทางเลือกของเราด้วย อย่างการที่ผมเลือกที่จะเสี่ยงในการทำงาน ผมว่าเรามีทางเลือกของการดำเนินชีวิต แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราไปถูกทางเลือก มันก็คือความศรัทธาที่เราคิดว่ามันถูกกำหนดไว้แล้วมากกว่า แต่ผมไม่เชื่อเรื่องที่บอกว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว โดยที่เราเลือกอะไรไม่ได้ เราเลือกได้ เป็นศรัทธาที่เราเลือกได้ แต่ก็ต้องยอมรับกับผลลัพธ์ของเส้นทางที่เราเลือกด้วย (ยิ้ม).

 

ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมโดย Spaceshift Studio และ Wison Tungthunya

ขอบคุณภาพจาก VaSLab

#WURKON #architecture #VaSLabArchitecture #วสุวิรัชศิลป์ #คณะสถาปัตยกรรม #มหาวิทยาลัยศิลปากร #pratt #institute #raimundabraham #columbia #existentialism #collision #sixzoneprison #deviatedhouse #transverse #convergencehouse #picasso #duchamp #conceptual #art #sculpture #bunkerhouse #hondabigwing #winningmoment #attitudofwinning #litbangkok #kenkoonex #แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรม

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon


Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30