Blog

คุยกับ ตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินนักวาดการ์ตูนแถวหน้าของเมืองไทย ผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับสากล

คุยกับ ตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินนักวาดการ์ตูนแถวหน้าของเมืองไทย ผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับสากล

14 มีนาคม 2562

วิศุทธิ์ พรนิมิตร หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “ตั้ม วิศุทธิ์” นักวาดการ์ตูนชาวไทย และนักสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่ปี 1998 จากผลงานการ์ตูนชุด hesheit ในนิตยสาร Katch และ Manga Katch และ a day ด้วยเส้นสายง่ายๆ ฉับไว ไปจนถึงดิบหยาบ และเนื้อหาที่แปลกไปจากการ์ตูนทั่วๆ ไป บางครั้งแฝงเอาไว้ด้วยปรัชญาและแง่คิดอันลึกซึ้งคมคายที่แสดงออกอย่างเรียบง่าย ทำให้ผลงานของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงทั้งในแง่ชื่นชมและไม่เข้าใจ

วิศุทธิ์มีผลงานมากมายไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายเส้น หนังสือการ์ตูนขนาดสั้นและยาว ฯลฯ ถึงแม้ผลงานของเขาจะไม่เป็นที่เข้าใจของนักอ่านและคอการ์ตูนบางกลุ่ม แต่ก็มีนักอ่านอีกหลายคนที่หลงใหลและคลั่งไคล้ผลงานของเขาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่น ผลงานการ์ตูนของเขากลายเป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้เขามีชื่อเสียงจนได้รับเลือกจากนิตยสาร Elle ของญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งใน 250 บุคคลที่น่าจับตามองของโลก และเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่น คาแรคเตอร์การ์ตูน “มะม่วงจัง” สาวน้อยหน้าตาน่ารักน่าชังที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นกลายเป็นตัวการ์ตูนที่โด่งดังในญี่ปุ่นและโลกโซเชียลอย่างมาก

นอกจากวาดการ์ตูนแล้ว วิศุทธิ์ยังทำแอนิเมชั่น และทำดนตรีประกอบด้วยตนเอง ปัจจุบันเขามีผลงานแอนิเมชั่นประกอบดนตรีถึง 93 ชิ้น ภายใต้ซีรีส์ 'short short story by Wisut Ponnimit' ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์รายเดือนมาตั้งแต่ปี 2009 กับ audio-technica ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนั้นเขายังเข้าร่วมงานแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการกลุ่มอย่าง นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะระยะสั้น ซอยสบายที่หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2006 หรือนิทรรศการ ต้มยำ ปลาดิบ ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในปี 2008 รวมถึงนิทรรศการเดี่ยวอย่าง นิทรรศการ MELO HOUSE ในปี 2015 ซึ่งวิศุทธิ์ทำนิทรรศการเป็นรูปแบบเขาวงกต ให้ผู้ชมเลือกเดินดูภาพตามเส้นทางที่จะนำไปสู่ 9 ทางออกที่แตกต่างกัน

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 เขาก็เพิ่งจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดที่มีชื่อว่า LR ขึ้นที่ หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ โดยในนิทรรศการครั้งนี้ วิศุทธิ์ยังคงนำเสนอผลงานโดยมอบทางเลือกซ้ายขวาในการมองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และเล่นกับประสบการณ์การรับรู้ของผู้ชมผ่านคาแรคเตอร์ที่เขาได้สร้างขึ้นตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

และตัวนิทรรศการ LR เอง ก็ได้เดินทางไปแสดงที่ ROPPONGI HILLS A/D GALLERY ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 7 - 30 กรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมาหมาดๆ นี้เอง

ด้วยความที่เราเป็นแฟนผลงานการ์ตูนและงานศิลปะของวิศุทธิ์มาอย่างยาวนาน และมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา รวมถึงได้พูดคุยกับเขาเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของนิทรรศการ รวมถึงเส้นทางในการทำงานการ์ตูนและงานศิลปะตลอดช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาของ ตั้ม วิศุทธิ์ ผู้นี้ เราจึงถือโอกาสเก็บเอามาเป็นของฝากให้ท่านผู้อ่านในครั้งนี้ มาร่วมกันฟังเรื่องราวของเขาไปพร้อมๆ กันเถอะ

นิทรรศการ LR, 6 พฤษภาคม - 25 มิถุนายน 2017, หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

WURKON:

ดูจากในนิทรรศการ LR ของตั้ม มันเกี่ยวกับเรื่องของทางเลือก สนใจอะไรเรื่องนี้เหรอ

วิศุทธิ์:

จริงๆ นิทรรศการนี้มันก็เกิดมาจากการที่ แต่ก่อนเราชอบเขียนการ์ตูน พอตอนที่ไปอยู่ญี่ปุ่นก็จะมีคนชวนให้ไปจัดนิทรรศการศิลปะ เราก็บอกว่าเราทำไม่เป็น เพราะปกติเขียนแต่การ์ตูน ไม่ได้ทำศิลปะอะไร แรกๆ ก็เคยคิดว่า ศิลปะมันต้องทำยังไงวะ? ก็เลยไปลองทำเพ้นต์ ก็เพ้นต์ไม่เก่งเลย พยายามเพ้นต์เหมือน (โยชิโตโมะ นาระ) ก็ทำไม่ได้ ก็ยังจะมีคนชวนอีก ก็เลยลองคิดอะไรที่ไม่ต้องเพ้นต์ซิ ตอนแรกก็คิดเป็นเขาวงกต เพราะเขาวงกตก็มีความเป็นการ์ตูน ง่ายๆ ก็คือเหมือนเอาการ์ตูนติดไว้บนกำแพง แล้วก็ให้คนเดินตามดูไปเป็นช่องๆ ทีนี้พอมันกว้างเราก็เลยคิดว่าให้มันเดินได้หลายทางก็แล้วกัน มันจะได้เต็มพื้นที่ ก็เป็นรูปแบบเขาวงกตไป มันก็เลยเกิดเป็นทางเลือกขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าเราสนใจทางเลือก จึงทำทางเลือกขึ้นมา มันเป็นแค่การถมที่ให้มันเต็มน่ะ

WURKON:

เป็นการแก้ปัญหา?

วิศุทธิ์:

เออ! (หัวเราะ) ทีนี้พอทำเขาวงกตไปเนี่ย เราก็ทำไปด้วยความไม่รู้หรอก ว่ามันจะต้องใช้สตางค์เท่าไหร่ เพราะมันต้องทำกำแพงขึ้นมา ก็สงสารคนจัดงานเหมือนกัน แต่เขาก็แฮปปี้นะ คนเข้าไปเที่ยวชมเยอะ หลังจากนั้นก็ยังจะมีคนที่ญี่ปุ่นชวนอีก ตอนนั้นปี 2009 เราก็เลยคิดว่า หลังจากเขาวงกต ลองทำอะไรที่มันไม่เปลืองดีไหม? เพราะว่าทำเขาวงกตมันเปลืองไม้ ก็เลยคิดเป็นวิดีโอ ให้เหมือนเขาวงกตนี่แหละ แต่ให้เลือกแค่ซ้ายขวาก็พอ เพราะ หนึ่ง คือ ทำกำแพงแค่อันเดียวจบ สอง คือ ใช้พื้นที่ของเขาไม่ต้องเยอะ เพราะที่แสดงงานที่ญี่ปุ่นมันแคบ ก็เลยกลายเป็นรูปแบบของ L R ขึ้นมาในปี 2009 พอมาแสดงงานที่นี่คราวที่แล้ว (นิทรรศการ MELO HOUSE ปี 2015 ที่แกลเลอรี BANGKOK CITYCITY) ก็ดูแฮปปี้ดี คราวนี้เขาก็เลยชวนอีก เราก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะคิดโน่นคิดนี่ ก็ลองคิดดู คิดไว้ตั้งห้าหกอย่าง ปรากฏว่าคิดไม่ออก คิดไม่ทัน ทำไม่ทัน สุดท้ายเราก็กลับมานึกถึงไอเดีย L R นี่แหละ เราก็ให้เขาทำกำแพงรอไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวเราค่อยส่งงานมาให้ใกล้ๆ วันเปิดเอา

นิทรรศการ MELO HOUSE (2015) หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

WURKON:

ให้เขาทำโครงสร้างการจัดวางของนิทรรศการเอาไว้ก่อน แล้วค่อยเอาการ์ตูนมาใส่งี้เหรอ

วิศุทธิ์:

เออ คือ กำแพงมันไม่เปลี่ยนไง แล้วเราก็เอาวิดีโอมาเติม แค่นั้นเอง

WURKON:

พอเป็นทางเลือกซ้ายกับขวานี่มันเหมือนกับ เกมทางเลือก เหมือนกันนะ

วิศุทธิ์:

เออ เป็นทางเลือก มันก็คล้ายๆ กับ ถ้าคุณเลือกอีกทาง คุณก็จะไม่เห็นอีกทางนึงนะ พูดตรงๆ เราก็คิดออกแค่นั้นแหละ แต่พอโดนถามไปเรื่อยๆ ว่าทำไมถึงคิดอย่างงี้ เราก็หาเหตุผลมาโม้ไปเรื่อยๆ อ่ะนะ (หัวเราะ) คือทำไปทำมา ด้วยสถานการณ์ ด้วยเวลา ด้วยทุน ด้วยอะไรต่างๆ มันมาบีบให้เราทำเป็นงาน L R นี้ขึ้นมา แต่พอเราตกลงใจแล้วว่าจะทำเป็นทางเลือก กรอบตรงนี้มันก็มาสั่งการเราว่า เราจะทำให้เป็นทางเลือกอย่างไร? เราจะเลือกอะไรดี? เช่น ตอนปี 2009 เราให้เลือกแค่ “คุณลุงกำท็อฟฟี่อยู่มือไหน?” ถ้าเลือกถูกมือ ก็จะได้กินท็อฟฟี่ จบ แต่พอปีนี้ 2017 เราก็ให้เลือกเป็นเหมือนเส้นทางของการตัดสินใจ แบบเส้นทางชีวิตอะไรแบบนี้ มันก็ออกมาเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติเรา

WURKON:

แต่มันก็ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ว่าทางเลือกไหนถูกหรือทางเลือกไหนผิด

วิศุทธิ์:

ใช่ ก็พยายามจะไม่บอกว่าทางเลือกอันนี้ถูก อันนี้ผิด เพราะเราเขียนการ์ตูนมาเยอะ และชอบมองหลายๆ มุม ทีนี้พอมองหลายๆ มุมมันก็เริ่มเห็นข้อดีของความไม่ดี ข้อไม่ดีของความดี ก็เลยไม่ค่อยตัดสินอะไรถูกผิดรุนแรงเท่าไหร่ อาจจะแค่บอกให้เห็นว่า มันเป็นอย่างงี้แล้วมันจะดี หรือไม่ดี บางอันก็ดีทั้งสองอัน บางอันไม่ดีทั้งสองอันเลยก็มี มันก็เป็นไปตามสิ่งที่เรานึกออก มันเป็นไปตามธรรมชาติของมันน่ะ แต่มันมีอีกประเด็น อันนี้คิดหลังจากที่ทำงานเสร็จแล้วนะ มันมีความรู้สึกนึงที่เกิดหลังจากทำงานนี้ คือพอเราดูงานตัวเองเสร็จแล้วกลับบ้าน เราก็เริ่มสังเกตว่ามันมีทางเลือกอยู่ตลอดเวลานี่หว่า อย่างเราดูงานตัวเราเอง แล้วออกมาเจอห้องน้ำชาย/หญิง เราก็แบบ อ๋อ นี่ไง L R พูดขำๆ น่ะ ว่าเออ ปกติกูจะเลือกห้องน้ำชาย แต่ถ้าเลือกห้องน้ำหญิงก็จะเป็นอีกเรื่องนึง คิดตลกๆ ไป หรือตอนเราขับรถกลับบ้านเราก็เริ่มคิดว่า วันนี้จะกินอะไรดี? ซึ่งก็คิดอยู่ทุกวัน แต่หลังจากดูนิทรรศการนี้ก็คิดว่า อ๋อ นี่เรากำลังเลือกอยู่นี่หว่า! เช่น จะไปกินเนื้อหรือจะไปกินผัก? แล้วเส้นทางที่เราเลือกแต่ละเส้นก็จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป หรือเวลาขับรถแล้วโดนปาดหน้า เราก็โกรธตามปกติ แต่พอนึกถึงนิทรรศการที่เราเพิ่งดูมา เราก็คิดว่า ก่อนเราจะโกรธนี่เรามีทางเลือกหรือเปล่า? เช่น เลือกซ้าย “โกรธ” เลือกขวา “ให้อภัย” ซึ่งแต่ละทางเลือกมันก็จะมีแต่ละเรื่องราว ซึ่งมันทำให้เรากลับมาคิดว่า ไอ้ความโกรธนี่ไม่ได้มีใครมาบังคับให้เรารู้สึก แต่เราเลือกมันเอง ก็เลยสังเกตถึงการเลือกอย่างจริงจัง เวลาใครมาถามจะได้ตอบได้ (หัวเราะ)

WURKON:

หลังจากที่เราเลือกมันก็มีผลลัพธ์จากการเลือกตามมา?

วิศุทธิ์:

ใช่ ซึ่งจะผิดจะถูก จะดีไม่ดี เราก็ไม่ได้ไปจดจ่ออยู่กับตรงนั้นหรอก แต่เราเริ่มสังเกตจุดก่อนที่เราจะเลือกมากกว่า ว่าก่อนที่มันจะเกิดอะไรขึ้น เรามีทางเลือกนะเนี่ย! ซึ่งเราไม่เคยสังเกตมาก่อนเลย เช่นตอนนี้เราจะใช้คำหยาบหรือสุภาพดี? หรือเราจะโทรไปหาแม่หรือยังไม่โทรก่อนดี? คือก่อนจะเกิดสถานการณ์อะไร มันมีจุดก่อนกำเนิดเหตุการณ์ซ่อนอยู่เต็มไปหมดเลย ซึ่งเรานั่นแหละ ที่เป็นคนเลือกว่าจะเอาตัวเองไปวางที่ไหน

WURKON:

ก็เลยจำลองขึ้นมาเป็นงานศิลปะสองทางเลือก ซ้าย/ขวา?

วิศุทธิ์:

คือถ้าพูดแบบซื่อๆ เลย ตอนทำ ไม่ได้คิดอะไรหรอก คิดแค่ให้เป็นเกม แต่พอดูงานตัวเองก็กลับไปคิดถึงเรื่องแบบนี้ เราชอบสังเกตน่ะ บางตอนทำก็ไม่รู้หรอกว่าทำออกมาทำไม มันคิดออกแค่นี้ พอดูมันเราถึงได้สังเกตมันอีกที

WURKON:

อันนี้คือคิดได้ตอนทำงานเสร็จแล้ว แล้วก่อนหน้านั้นตอนคิดงานคิดถึงอะไร

วิศุทธิ์:

ตอนคิดงานเหรอ โอ้ย ชอบเล่นเกม ชอบเล่นเกมกด อยากจะทำเกม แล้วเราก็ชอบเขียนการ์ตูน พอมาเจอที่กว้างๆ แล้วเราจะทำยังไงดี คิดแค่นี้ ก็ฉายใหญ่ๆ ก็แล้วกัน มันจะได้เต็มห้อง ก็คิดได้แค่นี้แหละ ก็พูดตรงๆ นะ (หัวเราะ)

WURKON:

หมายความว่าพอทำงานเสร็จ พอตั้มได้ดูงานของตัวเองแล้วถึงเกิดความคิดขึ้นมาได้

วิศุทธิ์:

ใช่ๆๆ เหมือนเราไปดูงานศิลปะคนอื่นแล้วตีความไปเรื่อยเปื่อย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นน่ะนะ

WURKON:

เหมือนเปลี่ยนสถานภาพตัวเองกลายเป็นคนไปดูงาน แล้วถูกกระตุ้นให้เกิดความคิดขึ้นมา

วิศุทธิ์:

ใช่ มันเป็นอย่างนั้นเลยแหละ ก็งานมันเสร็จแล้วนี่หว่า (หัวเราะ)

WURKON:

บางคนทำงานแบบ Inside Out คือ มีความคิดแล้วสร้างเป็นงานออกมา แต่ของตั้มนี่เหมือน Outside In ทำเสร็จแล้วค่อยมาคิดออกว่ามันมีแนวคิดอะไรอยู่ในนั้น

วิศุทธิ์:

คือ พื้นฐานเราไม่ใช่นักทำนิทรรศการศิลปะ พอเจอคำว่านิทรรศการขึ้นมาทีไร เราก็จะแบบ กูจะทำอะไรดีวะ? กูเขิน! มันใหญ่น่ะ! ปกติเราก็วาดเล็กๆ เอง แล้วก็เอาไปลงสิ่งพิมพ์ ที่ที่เหมาะสำหรับงานเรามันก็คือหนังสือน่ะ เพราะว่าเราก็คิดอะไรเป็นหน้าซ้ายขวา เปิดไปปุ๊บแล้วจะ “ผ่าง!” หน้าซ้าย ถ้าเป็นหน้าขวาแล้วจะไม่ “ผ่าง” เพราะมันเห็นไปแล้ว (หัวเราะ) แล้วเราก็วาดใหญ่ๆ ไม่เป็น แล้วเราก็ชอบคิดเรื่องราวให่้มันสนุกๆ ไม่ใช่จะทำอะไรเพื่อให้เราไปอยู่ในโลกศิลปะ ที่ โห! มันมีศิลปินกี่คนที่ดูลึกๆ เก๋าๆ ที่ทำอะไรใหญ่ๆ เท่ๆ มันเหวอน่ะ พูดตรงๆ ธรรมชาติของเราคือนักเขียนการ์ตูน ที่สื่อเรื่องราว แค่นั้นแหละ ทีนี้พอมาเจอโจทย์ให้ทำนิทรรศการ เราก็ดิ้นรนไปตามอัตภาพน่ะ ก็กูทำได้แค่นี้ ทำได้เล็กๆ แบบนี้ ก็ต้องหาเทคนิคอะไรมา เช่น ทำเป็นวิดีโอมาฉายให้มันใหญ่ หรืออย่างคราวที่แล้วก็ทำกำแพงเป็นเส้นทางเล็กๆ จะได้แขวนรูปเล็กๆ ได้ เพราะห้องมันใหญ่ ถ้าวาดรูปเล็กๆ เอาไปแขวน มันก็เขินน่ะ จะเป็น Inside Out หรือ Outside In ก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าเรียกว่าอะไร แต่เราเป็นคนที่ทำไปตามสภาพแวดล้อมและเวลามันบีบน่ะ ไม่ใช่เป็นคนที่ ฉันอยากอธิบายความรู้สึกนี้ ฉันจึงทำงานศิลปะออกมาด้วยเทคนิคนี้ เออ แต่บางทีก็เป็นเหมือนกันว่ะ (หัวเราะ)

WURKON:

แล้วเวลาวาดนี่คิดเนื้อเรื่อง หรือมีพล็อตมีเรื่องราวไหม

วิศุทธิ์:

มี เพราะว่าเรามีสิ่งที่อยากจะสื่อสาร คือ เวลาทำงานเราก็เรียนรู้ชีวิตก่อน ว่าชีวิตเราเรียนรู้เรื่องนี้มา เราอยากจะเขียนไว้ให้ตัวเราอ่านเอง หรือบางทีเราก็คิดว่า เขียนไว้เผื่อใครที่เจออะไรเหมือนเรามาอ่าน เขาจะได้มีมุมมองใหม่ๆ เขาจะได้ไม่ลำบาก เสียเวลาเหมือนเรา สมมติเราเคยทุกข์ใจกับเรื่องในชีวิตเรื่องนึงไป 6 เดือน กว่าจะเจอมุมมองที่ทำให้หายทุกข์ เราอุตส่าห์คิดได้ มันดีใจน่ะ เวลาเราคิดอะไรออก เราก็อยากจะวาดมันออกมาซะหน่อย

WURKON:

อยากบันทึกเอาไว้?

วิศุทธิ์:

เออ อยากบันทึกเอาไว้ อันนี้ก็อารมณ์นึง อีกอารมณ์นึงก็คือ เนี่ย ถ้าคุณจะมาเจอเรื่องเดียวกับผม แทนที่คุณจะต้องทุกข์ไป 6 เดือน ถ้าคุณมาอ่านเรื่องนี้ แล้วสามารถผ่านมันไปได้ในหนึ่งวัน เราก็จะดีใจ เวลาทำงานก็จะคิดอะไรแบบนี้ แล้วก็จะเขียนมันออกมา ซึ่งเวลาเขียนส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การ์ตูนรูปเล็กๆ ก็พอ ที่จะสื่อสารประเด็นต่างๆ ได้ แล้วมันก็ไม่เปลืองด้วย อันนี้สำคัญเลย เพราะว่า หนึ่ง เราเริ่มต้นการเขียนการ์ตูนลักษณะนี้ครั้งแรกตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แล้วเราฝีมือไม่ดี วาดรูปไม่เก่ง ก็โอเค เราก็ประหยัดความเก่ง วาดไม่ต้องเก่ง แต่สื่อสารได้ สองคือ ประหยัดเวลา คือ ไม่ต้องไปรบกวนเวลาเรียนมาก อยากจะบรรยายความรู้สึกอะไรก็วาดไปแป๊บๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปปั้นอะไรมันมาก เพราะจุดประสงค์คือแค่บันทึกเนื้อความเท่านั้นเอง สาม ประหยัดอุปกรณ์ คือ ก็แค่การสื่อสาร มีกระดาษกับปากกาก็พอแล้ว เพราะถ้าเราต้องไปใช้คอมพิวเตอร์ 3D เราอาจจะต้องจ้างคน เราก็ไม่มีตังค์ให้มัน ในตอนนั้น

WURKON:

สมัยก่อนคิดอย่างงี้?

วิศุทธิ์:

ตอนเขียนแรกๆ คิดอย่างงี้ ตอนนี้ก็ยังคิดอย่างงี้อยู่ ว่าเวลาทำงานเราไม่ควรจะเก่งมาก ไม่ควรจะเขียนอะไรให้มันดูแบบ มนุษย์ธรรมดาเขียนไม่ได้ ควรจะทำอะไรให้แบบ โอ้ย ใครๆ ก็น่าจะเขียนได้ หรือว่า ไม่ต้องใช้ทุนมาก เช่น ที่ผ่านมานะ เราจะไม่สร้าง มะม่วงจัง ที่ทำด้วยเพชร หรือทำด้วยวัสดุหรู ๆ หรือทำตัวใหญ่ๆ ให้มันดูอลังการจนคนอื่นทำไม่ได้ ก็วาดในกระดาษก็พอ ใครๆ ก็วาดได้ หรือคุณไม่ต้องมีตังค์คุณก็ทำได้ ชอบอะไรแบบนั้น

WURKON:

อุปกรณ์หาได้ง่ายๆ

วิศุทธิ์:

ใช่ เป็นกระดาษที่เก็บมาจากที่บ้าน กระดาษของพี่สาว เขาซื้อมาสีเหลืองๆ สวย สวย นี่หมายถึงมันเก่าน่ะ มันเลยสวย

WURKON:

เก่าจนเหลือง?

วิศุทธิ์:

เออ (หัวเราะ) เราก็ไปขโมยเขามาเขียน คือยุคนั้นที่เราวาดการ์ตูนแรกๆ มันเป็นยุคดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งมันจะเล่นด้วยเครื่องดนตรีแค่ไม่กี่ชิ้น ไลน์ประสานของดนตรีก็จะน้อยๆ ก็เป็นยุคที่ชอบคิดอะไรแบบนั้น ใครๆ ก็เล่นได้ อะไรอย่างงี้

WURKON:

แค่พอสื่อสารความคิดออกมา?

วิศุทธิ์:

เออๆๆ เราก็เกิดมาในยุคนั้น หมายถึง งานน่ะ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ คิดว่านะ

WURKON:

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอทำไปเรื่อยๆ ทักษะหรือความเชี่ยวชาญมันก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมาหรือเปล่า หลังๆ การ์ตูนของตั้มเองก็ไม่ค่อยมีขีดฆ่าแล้ว

วิศุทธิ์:

ทักษะมันเกิดขึ้นมาเอง หลังๆ ก็วาดไม่ค่อยผิด หรือมีตังค์ซื้อสี สีมันแพงนะเว้ย ปากกามาร์คเกอร์น่ะ (หัวเราะ) แต่ก่อนซื้อสักสิบสีก็ต้องคิดใช่มะ เดี๋ยวนี้ก็ซื้อไปเลย อยากจะใช้อะไรก็ใช้ เราก็ยอมรับน่ะ ไม่ใช่ว่า มีตังค์ซื้อแล้ว ก็ยังไม่ยอมซื้อ

WURKON:

ไม่ทำตัวดึงดัน ยึดติดกับสไตล์เดิม

วิศุทธิ์:

เออ ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ยังไม่ทำ 3D เหมือนเดิมนะ (หัวเราะ) คือมันต้องไปจ้างคนอื่นน่ะ มาร์คเกอร์มันทำด้วยมือตัวเองได้ เราก็ใจเย็นหน่อย ขยันหน่อย ก็เขียนได้

WURKON:

งานช่วงหลังๆ เลยจะดูประณีตขึ้น เนี้ยบขึ้น

วิศุทธิ์:

ก็ใจเย็นขึ้นๆ อันนี้ต้องยอมรับ คือ ทำไงได้ คนมันใจเย็นขึ้นน่ะ เราจะมาวาด (ทำมือเร็วๆ หวัดๆ) ให้เหมือนเดิม แม่งไม่เหมือนเดิมว่ะ! มันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ยอมรับว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว เราเลือกที่จะยอมรับมากกว่าจะไปรักษาการทำงานแบบเก่าๆ เอาไว้ หรืออย่างครั้งนี้ เขาก็ชวน แล้วเขาก็บอกว่าอยากทำอะไรก็ทำ เดี๋ยวเขาจัดให้ เขาจะช่วย เราก็เลยทำ ถ้าให้ทำเองก็ไม่ทำหรอก กำแพงใหญ่ๆ ทาสีเนี้ยบๆ (หัวเราะ) เขาช่วย เราก็ยอมรับในน้ำใจของเขา ก็เลยทำ มันก็ออกมาเป็นลักษณะนี้

WURKON:

แอนิเมชั่นในนิทรรศการ LR นี่ทำขึ้นมายังไงเหรอ?

นิทรรศการ LR, 6 พฤษภาคม - 25 มิถุนายน 2017, หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

วิศุทธิ์:

ก็วาดในกระดาษเล็กๆ แล้วก็เอาไปสแกน วาดทีละช่องเหมือนที่เขาทำแอนิเมชั่นทั่วไปนั่นแหละ

WURKON:

แอนิเมชั่นอันแรกๆ ที่ตั้มทำนี่คืออันที่ทำเป็นมิวสิกวิดีโอเพลง Happiness is… ให้ โมเดิร์นด็อก ใช่ป่ะ?

Happiness is..., Moderndog Official Music Video Director : วิศุทธิ์ พรนิมิตร (Wisut Ponnimit), Album : "Love Me Love My Life"

วิศุทธิ์:

ใช่ ก็ประมาณปี 2001 - 2002 มั้ง

WURKON:

อันนั้นก็วาดลงกระดาษเหมือนกัน?

วิศุทธิ์:

คือแรกสุดวาดแผ่นใหญ่ๆ คือไปดูวิดีโอยูทูปเห็นคนโบราณเขาวาดใหญ่ๆ ก็เลยต้องวาดใหญ่ๆ บ้าง แล้วก็ต้องวาดในแผ่นใส แล้วก็ไปซื้อแผ่นใสอะไรมาแบบ... แล้วก็แพงนะ แผ่นใสน่ะ

WURKON:

แผ่นเซลแอนิเมชั่น? (แผ่นฟิลม์ใสสำหรับวาดเพื่อทำหนังแอนิเมชั่น)

วิศุทธิ์:

ไม่ถึงกับแผ่นเซล เป็นแผ่นใสสำหรับเขียนแบบ ตอนนั้นเรียนตกแต่งภายใน ก็รู้จักแต่แผ่นเขียนแบบ แล้วก็ให้เพื่อนช่วย แต่พอสักพักก็เริ่มรำคาญ (หัวเราะ) เพื่อนอยู่พัฒนาการ เราอยู่ปิ่นเกล้า ก็ต้องไปบ้านมันทุกวัน ไปถึงมันบอก ขอดูบอลก่อน เราก็แบบ เราอุตส่าห์รีบมา (หัวเราะ) ก็ทำกับเพื่อนไปประมาณหกเจ็ดเรื่องมั้ง เป็น hesheit หลังจากนั้นก็เป็นจังหวะที่เราไปเรียนญี่ปุ่นพอดี ก็เลยเริ่มทำเองตอนนั้น ไปซื้อคอมมา ไหนมันทำยังไง ก็ลองเลียนแบบเพื่อนดู ก็ได้ง่ายๆ พอบรรยายได้ เดี๋ยวนี้ก็เลยทำเองได้ ตอนแรกก็ทำเป็นสไลด์ แต่ตอนนี้ไม่ต้องไปซื้อแผ่นใสแล้ว จริงๆ แค่กระดาษแผ่นเล็กๆ แค่นี้ก็พอ เอาไปสแกน ระบายสีแป๊บๆ ก็เสร็จ ถ้าแผ่นใหญ่ โห กว่าจะระบายเสร็จ ตายพอดี

WURKON:

แล้วไปญี่ปุ่นนี่ไปเรียนอะไร เรียนศิลปะเหรอ

วิศุทธิ์:

เรียนภาษา (หัวเราะ) เรียนศิลปะไม่ไหว ตกตลอด (หัวเราะ) กว่าเราจะเรียนศิลปากรจบ เราใช้เวลาห้าปีครึ่งนะ แล้วเราไปเรียนวาดสีน้ำแถวเอกมัย เชื่อป่ะ ด้วยความคิดที่ว่า อยากให้มีคนสอนลงสีน่ะ คือที่ศิลปากรนักศึกษาทุกคนเขาเก่งอยู่แล้วน่ะ คือเราเข้าไปที่ศิลปากร เราคิดว่า เดี๋ยวคงมีคนที่เก่งมากๆ มาสอนเทคนิคที่มันทำให้วาดเก่ง ปรากฏทุกคนทำเป็นหมดแล้ว แล้วอาจารย์ก็ไม่สอน เพราะรู้ว่าทุกคนทำเป็นหมดแล้ว พอไปถึงวันแรกน่ะ อาจารย์บอก “วาดอะไรก็ได้” โอ้โห! ก็หนุกเลยดิ วาดอะไรก็ได้ของเราก็คือไอ้แบบ วาดลายเส้นปื๊บๆๆ แต่อะไรก็ได้ของเพื่อนทุกคนมันมีแสงเงา เอาสี่เหลี่ยมมาอยู่กับวงกลม สามเหลี่ยม มาจัดวาง คนที่ทำแบบนี้เยอะเลย มีหลายคน เราก็ โอ้ย ทำเหมือนๆ กันอย่างงี้ อาจารย์ต้องไม่ชอบ ต้องแบบเรา ปี๊บๆๆ พอเราส่งไป เราได้ F น่ะ (หัวเราะ) แล้วคนที่วาดแสงเงาได้ A ได้ B เราก็เถียงอยู่นานน่ะ คิดอย่างงี้อยู่นาน ว่าทำไมทำเหมือนๆ กัน จนสุดท้ายก็ตก สุดท้ายก็ต้องทำเหมือนๆ คนอื่นถึงจะผ่าน ทีนี้มันก็เลยทำให้เราอยากไปเรียนสีน้ำมาก เพราะอยากให้มีคนสอน เขาก็สอนจริงๆ เขาก็สอนให้ไล่สีแบบนี้ เราก็ทำตาม ทำตามเสร็จ ทนไม่ได้ ขอจึ๊งนึงดิ๊ (หัวเราะ) ขอไม่เหมือนคนอื่นนิดนึง แบบไล่สีเสร็จแล้วตามอาจารย์ จึ๊งนึง เท่านั้นแหละ ไม่สวย อาจารย์ก็ไม่ชอบ แล้วเราก็เริ่มรู้ตัวว่าจริงๆ เราก็ไม่ค่อยชอบหรอก คือเราก็ดูแล้วมันไม่สวยหรอก ไอ้ที่เราจึ๊งไปนั่นน่ะ เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย! อย่าไปเรียนเลย ศิลปะ เราทำไม่ได้น่ะ พูดตรงๆ เราเรียนในคลาสซึ่งมีแต่แม่บ้าน หมอ คนวาดรูปไม่เป็น เราก็วาดห่วยกว่าเขาทั้งนั้นน่ะ อาจารย์สอนให้วาดท้องฟ้า ทะเล เรือใบ เราก็วาดไม่ได้ เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่อะไรแล้วล่ะ มันคือเรานี่แหละ ที่มันคงจะผิดจริงๆ (หัวเราะ) เราก็เลยมานั่งคิดว่าเราเอนจอยอะไรนะ ก็คือวาดการ์ตูน ก็เลยเต็มที่ไปเลย วาดการ์ตูนให้มันสนุกเต็มที่ไปเลยดูดิ๊ ปรากฎว่าคนอื่นก็สนุกไปกับเราจริงๆ ตอนนั้นก็เลยโอเค นั่นแหละ แล้วพอมาเจอไอ้พวก “จงทำนิทรรศการอะไรก็ได้” โอ้โห! เหมือนกันเลยยย ไม่เพ้นต์แล้ว (หัวเราะ) เราก็ทำเป็นการ์ตูนแหละ อาจจะไม่เหมือนงานศิลปะอื่นๆ อาจจะดูเป็นการ์ตูน ดูเด็กๆ ไม่สนใจละ เพราะเราทำได้แค่นี้

WURKON:

เออ ถ้าวาดรูปไม่เป็นแล้วสอบติดศิลปากรได้ยังไงอ่ะ

วิศุทธิ์:

เราเรียนสายสามัญมา สอบเข้าไปนี่เราได้อินทีเรีย (ออกแบบภายใน) 95 คะแนน ตอนสัมภาษณ์อาจารย์เขาบอกเลย คุณดรออิ้ง (วาดเส้น) ได้ 30 นะครับ แต่คุณได้อินทีเรีย 95 แล้วคุณก็ได้ภาษาอังกฤษ คุณถึงเข้ามาได้

WURKON:

อินทีเรียนี่เขาให้วาดอะไร

วิศุทธิ์:

วาดตีฟ (เปอร์สเป็คทีฟ - ภาพวาดทัศนียภาพ) เขาให้วาดสนามบิน เราก็เอาล่ะ ไปติวมา แถวบ้าน ไม่ได้ติวกับรุ่นพี่ศิลปากร ติวแถวเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ตอนติวเขาก็ให้เอาไม้บรรทัดตีจากจุดนี้ไปจุดนี้ เขียนแบบที่เขาสอนมา ปรากฏเจ๊ง แบบ สติแตกมาก ตอนเอ็นท์น่ะ เขียนสองชั่วโมงด้วยวิธีไม้บรรทัดตีแบบที่เขาสอนมา แล้วพบว่ามันไม่สวยเลย มันเจ๊งแน่ๆ เราลงสีอะไรไม่ทันแล้วแบบนี้ เราก็เลยลบหมดเลยเว้ย ที่ทำมาสองชั่วโมงน่ะ แล้ววาดใหม่ด้วยมือแบบที่วาด hesheit เลยน่ะ (หัวเราะ) คือมันไม่เป๊ะตามตีฟเท่าไหร่ แต่รวมๆ มันได้ แล้วก็ลงสีแบบที่เราทำเป็นน่ะ ก็ไม่รู้ เราโอเคซะงั้นน่ะ จริงๆ ปีก่อนหน้าจะติดก็เคยไปเอ็นท์คณะจิตรกรรมนะ อยากเรียนศิลปะ อะไรก็ได้ที่เป็นศิลปะ ปีแรกไปเอ็นท์ดนตรีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เพราะตอนมัธยมนั้นเล่นวงโยธวาทิต โอ้โห! อาจารย์ก็ส่ายหน้า ไม่ได้เรื่องเลย คือเข้าไปห้องสอบปุ๊บ มีโน้ตมาให้เล่มนึง แล้วก็มีอาจารย์นั่งอยู่ยี่สิบคน ให้เราเป่าแซคโซโฟนให้ฟัง เราก็แบบ เป่าอะไรไม่ออกเลยแม่แต่นิดเดียวน่ะ สมัยเรียนเราก็เป่าเพลงชาติ เพลงโรงเรียน เพลงมาร์ช เพลงปลุกใจ เพลงสรรเสริญพระบารมี แต่กลายเป็นว่าเขาเอาโน้ตเพลงคลาสสิคมาให้ เราก็เหอๆ เป่ามาปู๊ดนึง อาจารย์บอก กลับบ้านไปเลย (หัวเราะ) หลังจากห้องสอบกรรมการยี่สิบคนก็มีอีกห้องนึง เป็นห้องเล็ก มีอาจารย์ผู้หญิงคนเดียว เอาโน้ตมาให้ คราวนี้สั้นๆ บรรทัดเดียว แล้วไม่ให้เล่นเครื่องดนตรี ให้เราร้อง ปรากฏว่าเราร้องได้ เขาก็บอก เออ เธอนี่ถ้าไม่ทำเป็นเล่นก็พอทำได้ แต่จากคราวนั้น มันทำให้เราพอจะรู้แล้วว่าเราไม่เหมาะกับคณะนี้ คือเราขอเอนจอยดนตรีเฉยๆ ดีกว่า ปีต่อไปก็เลยไม่เอนท์ละ ไม่ยุ่งกับมันละ ดนตรีน่ะ อย่าไปทำเป็นอาชีพเลย เอนจอยกับมันอย่างเดียวก็พอ จิตรกรรมก็เอนท์แล้ว ไปถึงก็ โอ้โห! เก่งกันเหลือเกิน เห็นหมดน่ะ ใครวาดอะไร (หัวเราะ) ปีต่อมาก็เลิกไปเลยเหอะ จบๆ ก็ลองไปปรับเป็นมัณฑนศิลป์ เพื่อที่จะมีอะไรกึ่งๆ บ้าง มีออกแบบ มีอะไรบ้าง ไม่ใช่ไปวาดสู้กับเขา สู้ไม่ได้ สอบติดเข้าไปได้ก็โชคดีประมาณนึงมั้ง

WURKON:

แต่เรียนจบมาก็ไม่ได้ทำงานออกแบบภายในเลยใช่ไหม

วิศุทธิ์:

มันก็อยู่ในหัวนะ หมายถึงความคิด ความพยายาม หรือว่าบรรายากาศของมหาวิทยลัยที่แวดล้อมไปด้วยคนเก่งๆ มันก็ให้แรงบันดาลใจเราน่ะ เราเข้าไปปีหนึ่ง เพื่อนทุกคนรับจ็อบกันหมด เราก็ขอตังค์แม่ โห มันก็เกิดแรงบันดาลใจว่าเราควรจะหาตังค์ให้เหมือนเพื่อน ไม่งั้นเราอายเขา ทุกคนก็ติวน้อง เราก็ติวไม้ได้ ตัวเองยังเอาไม่รอดเลย งานติดบอร์ดประจานตลอดเวลา

WURKON:

บอร์ดประจาน?

วิศุทธิ์:

มันจะมีบอร์ดประจานของคนทำงานไม่ดี ติดอยู่ข้างบอร์ดคนที่ทำงานได้ A

WURKON:

โหดอ่ะ

วิศุทธิ์:

เออ โคตรโหด (หัวเราะ) แล้วคนที่ดูก็คือรุ่นน้องน่ะ จะไปสอนอะไรใครเขาล่ะ อาย พอเรียนจบ โดยใช้เวลาสายกว่าคนอื่น ก็เลยรีบมุ่งไปสู่อะไรที่ทำแล้วมันได้ตังค์น่ะ เพราะอายแม่ อายเพื่อน เขียนการ์ตูนแล้วได้ตังค์ก็ดีใจน่ะ

WURKON:

แต่งานการ์ตูนของตั้มก็ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบใช่ไหม

วิศุทธิ์:

ก็เรียบจบช้า ก็เลยดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น (หัวเราะ) คือได้ตีพิมพ์ตอนปีห้า โห! ตอนนั้นหายอายเพื่อนไปประมาณนึงเลยน่ะ เพราะหนังสือเล่มนั้นมันก็ดัง วัยรุ่นอ่าน ก็โอเค ดูเชิดหน้าชูตาไปได้ เอาไปโชว์แม่ได้ คือเราเรียนจบช้าเราก็เกรงใจเขาน่ะนะ

WURKON:

แล้วการ์ตูนมันสามารถเลี้ยงชีพตั้มได้ตอนไหน

วิศุทธิ์:

โหย ตอนนั้นก็ได้เลยน่ะ พี่บอยด์ โกสิยพงศ์ เขาก็ให้ตังค์เราอยู่ได้ตอนนั้นน่ะ ก็ไม่ต้องขอตังค์แม่กิน บ้านก็มีอยู่แล้วน่ะ ก็ไม่ได้ลำบากมาก เราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่ากินข้าว ตอนนั้นน่ะ เราก็ไม่ได้ซื้ออะไรเลย เพราะชีวิตช่วงนั้นเราก็ไม่มีความต้องการจะซื้ออะไรเลย แล้วก็มีเล่นดนตรีด้วย ก็ได้ตังค์มาเหมือนกัน ก็ไปตีกลองให้เพื่อนๆ คือเพื่อนๆ ออกเทปหลายวงเลย ออกกับค่าย Smallrooom ช่วงแรกๆ ค่าย Universal อะไรแบบนี้ เขาจ้างไปตีในคอนเสิร์ต ก็ได้ตังค์มาเหมือนกัน พอมาบวกกับงานการ์ตูนมันก็อยู่ได้

WURKON:

เห็นว่าตอนเรียนที่ญี่ปุ่นก็มีคนมาติดต่อให้ไปทำงานด้วยนี่

วิศุทธิ์:

ตอนอยู่ญี่ปุ่นก็เรียนภาษาเพื่อที่จะมีเวลาทำงานการ์ตูนด้วยแหละ คือถ้าเราเลือกที่จะไปเรียนอะไรแบบมหาวิทยาลัย มันก็ดูจริงจังไป มันก็ไม่รอดหรอก เรียนศิลปะก็เดี้ยงอีก รู้แล้ว ตั้งแต่ตอนไปเรียนวาดสีน้ำน่ะ รู้เลย ว่าอะไรก็ไม่รอดแน่ๆ ถ้าเป็นศิลปะน่ะ ก็เลยเรียนภาษาก็พอ เพราะพอจะรู้ตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเรียนภาษาได้ดี

WURKON:

ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นนี่ตั้งเป้าว่าจะเอามาใช้กับงานการ์ตูนหรือเปล่า

วิศุทธิ์:

ถ้าพูดตรงๆ คือแม่ไล่ให้ไปเรียนอะไรก็ได้ ให้ไปเมืองนอก อะไรก็ได้ คือแม่เราน่ะ เป็นคนต่างจังหวัด นั่งเรือไปโรงเรียนแปดชั่วโมงน่ะ แล้วก็มีพี่น้อง 11 คน

WURKON:

แต่ที่บ้านตั้มก็ทำโรงเรียนด้วยนี่ (โรงเรียนในกลุ่มพณิชยการจรัลสนิทวงศ์)

วิศุทธิ์:

ที่บ้านทำโรงเรียนเพราะแม่เป็นคนที่เรียนหนังสือจนได้เข้ากรุงเทพฯ ได้มีการมีงานโดดเด่นในครอบครัว 11 คน เขาจึงเห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือมาก เขาจึงไล่ให้เราไปเรียนหนังสือ (หัวเราะ) คือต้องให้ได้ดีกว่าเขาน่ะ คือการไปเรียนเมืองนอก เขาก็ให้พี่ชายพี่สาวเราไปเรียนอังกฤษ ส่วนเราไม่ยอมไป เพราะว่าเราอายไง เราอายที่จะต้องไปเรียนเมืองนอกทั้งๆ ที่เราเรียนจบช้า จะต้องมาขอตังค์แม่อีกเหรอ ขอเขียนการ์ตูนก่อน ดูซิว่าเรียนจบศิลปากรมันหาตังค์ได้ไหม มันก็ได้นะ เราก็เขียนการ์ตูนหาตังค์ได้ เราก็เริ่มมีความมั่นใจ พอผ่านไปห้าปี อายุจะสามสิบแล้ว แม่ยังไล่ให้ไปเรียนเมืองนอกอีก เราก็คิดว่า โห ไปเรียนตอนนี้ก็แก่แล้วมั้ง! แต่ถ้าเราไปเรียนภาษา ก็อาจจะพอดีๆ แป๊บๆ จบ จุดมุ่งหมายของการไปเรียนก็คือให้รู้ภาษาเลยล่ะ เอาง่ายๆ เลย ไม่ต้องเอาอะไรให้มันยาก ให้รู้ภาษาเลย ถ้าเราพูดได้จริงๆ มันคงจะดี แต่ต้องพูดได้จริงๆ นะ ไม่ใช่ไปทำเล่นๆ ก็พูดได้จริงๆ แล้วพอเราพูดได้ แล้วก็มีเพื่อน มีเวลาที่นั่น เราก็เริ่มเอางานเราไปเผยแพร่ (หัวเราะ) ไปแจกบ้าง พิมพ์บ้านเพื่อนที่เมืองไทยนี่แหละ พอญาติไปเยี่ยมที่ญี่ปุ่นทีก็ฝากเขาขนไปหน่อย 50 เล่ม

WURKON:

อันนี้คือทำเป็นภาษาญี่ปุ่นเลยเหรอ

แอนิเมชั่นที่ลงเป็นตอนในเว็บไซต์ของ Audio Technica ในธีมที่มีชื่อว่า "DARK". คุณเคยรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเพราะคุณมองไม่เห็นไหม?

"Changing life with only one minute, the word of money" ซีรีส์แอนิเมชั่นบทเว็บไซต์ FROGGY

แอนิเมชั่นที่ร่วมงานกับ อาโอบะ อิชิโกะ. The UFO came!

ซีรีส์แอนิเมชั่นของ FROGGY "Changing Your Life in Only 1 Minute, Famous Words of Money" ที่ได้แรงบันดาลใจจากประโยคในหนังสือของ ฟรังซัวร์ ซาแกน "Why is that man rich?"

วิศุทธิ์:

ภาษาญี่ปุ่นเลย ให้แฟนช่วยแปล แล้วก็เอาไปแจกร้านหนังสือ แจกร้านอะไรที่อาร์ตๆ แต่ไม่กล้าไปแจกร้านขายการ์ตูนนะ เพราะว่า อื้อหือ คนละโลกเลย การ์ตูนเขาโปรมาก hesheit เรายังเหมือนเด็กอ่อนหัดอยู่เลยน่ะ (หัวเราะ) จะไปแนวนั้นก็ไม่ได้ เขาไม่ใช่เล่นๆ เราก็เออ เอาช่องทางที่เราพอจะไปได้ดิ๊ เช่นร้านกาแฟ ในร้านกาแฟที่โน่นมีมุมขายของอะไรแบบงงๆ ไง เราก็คิดว่า ถ้าไอ้มุมงงๆ นี่เราพอไปได้ (หัวเราะ) เราก็บอก อ่ะ พี่เอาไปอ่านก่อนเล่มนึง ถ้าพี่ชอบ พี่เอาไปวางขายไหม ร้านกาแฟแถวบ้านน่ะ เขาก็ชอบด้วย เขาบอก โอเค เอามาขายสามเล่ม เราก็ โอเค สามเล่ม วางไปเดือนนึง หมดสามเล่ม (หัวเราะ) เราก็ เอ้า เอาไปอีกสามเล่มละกัน ก็ทำอย่างงี้ไม่ใช่ร้านเดียว สามสี่ร้าน แล้วคนที่ซื้อสามเล่มก็ไม่จบแค่นั้น เขาก็เอาไปบอกเพื่อน คือคนที่ซื้อของแปลกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนแปลกๆ เช่น คนทำศิลปะ ทำนิตยสาร ทำเสื้อผ้า คนพวกนี้จะชอบการ์ตูนเรา แล้วพอเขาชอบ เขาก็จะเอาไปให้เพื่อน ซึ่งเป็นนักดนตรี เป็นคนแปลกๆ น่ะ แล้วกลายเป็นว่าคนพวกนี้ช่วยให้งานเรากระจายไปในพื้นที่คนแปลกๆ น่ะ มันก็จะเริ่มมาแบบ มาจัดนิทรรศการไหม? งานเราก็เริ่มแพร่หลายไปสู่นิทรรศการ แกลเลอรี แล้วก็มีโชว์เป็นดนตรีก็มี คือตอนแรกเราก็ทำแอนิเมชั่นฉายก่อน พอฉายไปสักพัก แทนที่จะฉายอย่างเดียว เราก็เอาตัวเองไปเล่นดนตรีหน้าจอด้วย ก็เลยได้ไปโชว์ตามงานดนตรีแปลกๆ งานดนตรีเพี้ยนๆ ซึ่งมีเยอะที่ญี่ปุ่น ก็ไปได้สองทางละ สายนิทรรศการ กับสายงานดนตรี ทำอย่างงี้ไปประมาณปีสองปีครึ่ง ก็มีนิตยสารมังหงะ (การ์ตูน/นิยายภาพญี่ปุ่น) มาติดต่อให้ไปวาด คราวนี้ได้ไปมังหงะจริงๆ เล่มหนาๆ น่ะ การ์ตู๊นการ์ตูน เปิดมามีแต่การ์ตูนรวมเล่มของนักวาดหลายๆ คน เราเป็นหน้าใหม่น่ะ แต่ก็เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่นะ เป็นสำนักพิมพ์โชกั๊กคังที่พิมพ์โดราเอม่อนน่ะ ก็คิดว่าโอเคละ ได้ไปมังหงะละ แต่ทำไปทำมา คนที่เป็นคอการ์ตูนจริงๆ ไม่ชอบงานเรา คือเขามีงานสิบปีของนิตยสารมังหงะที่เราไปลง เขาให้นักเขียนการ์ตูนมานั่งเรียงกันยี่สิบคน ในพื้นที่ใหญ่ๆ ประมาณฟิวเจอร์ปาร์กน่ะ ให้คนมาขอลายเซ็นต์ นักเขียนการ์ตูนคนอื่นมีคนต่อแถวสามสิบห้าสิบคน ของเราแทนไม่มีเลยน่ะ มาคนสองคน อารมณ์นี้น่ะ เราก็พอจะรู้แล้วน่ะ คือนักอ่านการ์ตู๊นการ์ตูน จะเป็นคนอีกประเภทนึง วันนั้นเราก็เฟลมาก ก็ปลงแล้วล่ะ แต่พอวันรุ่งขึ้นเรามีอีเวนต์อีกที่นึงในเมือง เป็นร้านแบบอาร์ตช็อป ร้านหนังสือที่ไม่มีการ์ตูนน่ะ เราก็เอางานเกี่ยวกับมะม่วง ภาพประกอบอะไรพวกนี้ไปโชว์ ปรากฏคนมาแบบ ห้าสิบคน แล้วก็เป็นคนอีกประเภทนึงเลย เป็นคนทำงานแบบครีเอทีฟ หลังๆ เริ่มไปไกล มีรปภ. มีหมอด้วย แต่ไม่ใช่คนที่อ่านการ์ตูนมังหงะน่ะ แต่เขาก็อ่านงานเรา เราก็เลยเริ่มสังเกตว่า อ๋อ! เราไม่ต้องไปฝืนเป็นมังหงะหรอก เราก็เป็นธรรมชาติไปอย่างงี้นี่แหละ มันก็เลยไปได้ดี เราก็ทำตามสิ่งแวดล้อมมาตลอด มันบอกเราว่าเราควรจะไปไหน

WURKON:

คาแรคเตอร์ มะม่วง นี่มีที่มาจากไหนเหรอ?

มะม่วง คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนยอดนิยมของวิศุทธิ์

วิศุทธิ์:

คือตอนเราวาด hesheit ที่คิดแต่เรื่องตัวเอง ว่าเราคิดอะไร เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็เขียนไปจนพอใจแล้ว ชอบ hesheit เขียนไปห้าปี ก็เริ่มคิดว่า ไหนลองทำอย่างอื่นบ้างดิ๊ ก็เลยคิดการ์ตูนชื่อ Everybodyeverything คือนอกเหนือจากตัวเรา มีคนประเภทไหนบ้าง? เราก็ลองจินตนาการดูบ้าง เอาคนจริงมาลองวาดดูบ้าง คนที่เราไม่สนใจเขาเลย คนที่เขาไม่สนใจเราเลย ก็ลองวาดดูหลายๆ แบบ เจ็ดแปดตัว ซึ่งก็จะมี มะม่วง อยู่ในนั้นด้วย ก็แค่นั้นน่ะ แต่บังเอิญมะม่วง เนี่ย ใครๆ มาเห็นก็จะทักว่าน่ารัก เอาอันนี้มาทำเสื้อไหม? เอาไปลงนิตยสารไหม? เราก็เหมือนเดิม เราก็ฟอลโลว์สิ่งแวดล้อม ใครให้ทำอะไรก็ทำ ก็กลายเป็นว่า มะม่วงก็เลยโดนเอาไปใช้เยอะ

WURKON:

นอกจากเรื่องของสิ่งอื่นๆ รอบตัวใน Everybodyeverything แล้ว ตั้มก็ยังวาดการ์ตูนแนวไซไฟ/แฟนตาซี/ปรัชญาอย่าง ควันใต้หมวก ด้วย

วิศุทธิ์:

ก็นิสัยเราอย่างที่เราบอก คือเราชอบมองหลายๆ มุม สมมติเราเป็นทุกข์ใช่ป่ะ ถ้าเรามองว่าเราเป็นทุกข์ เราก็จะทุกข์ไปเรื่อยๆ เราเลยลองหาวิธีมองมันในมุมอื่นบ้างดิ๊ ว่าเออ มองในมุมอื่นมันก็ไม่ทุกข์แล้วเว๊ย นี่คือต้นกำเนิดแรกๆ ของการเปลี่ยมมุมมอง ทีนี้เวลาจะทำให้เห็นอะไรในมุมมองใหม่ๆ มันก็ต้องเปลี่ยนให้มันชัดๆ หน่อย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากตรงนี้ไปตรงนั้น เราก็เปลี่ยนให้มันไปโน่นเลย เช่นมองจากนอกโลก, มองจากคนละยุค มันก็เลยมีอะไรที่ไซไฟ แฟนตาซีบ้างบางที หรือให้ตัวละครมันตายไปเลย จะให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่มันคืออะไร?

WURKON:

เป็นนักวาดการ์ตูนนี่ชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เมื่อไหร่

วิศุทธิ์:

ก็ตั้งแต่เด็กๆ อ่านถึงมหาวิทยาลัย

WURKON:

ชอบงานของนักวาดการ์ตูนคนไหนบ้าง

วิศุทธิ์:

ถ้าตอนเด็กๆ จริงๆ ก็ชอบ โดราเอม่อน, คินนิคุแมน, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ, ซิตี้ฮันเตอร์, ดราก้อนบอล อ่านหมดน่ะ พอตอนมหาวิทยาลัยก็ชอบ อาดาจิ มิตสึรึ กับ เท็ตซึกะ โอซามุ ซึ่งทำให้เราเริ่มเขียนการ์ตูน

WURKON:

จะว่าไปงานของตั้มก็มีลักษณะที่คล้ายกับงานของ เท็ตซึกะ โอซามุ ที่เป็นเรื่องของสิ่งรอบๆ ตัว เรื่องของชีวิต พูดถึงการมองชีวิตหลายมุมมอง และแฝงด้วยเรื่องราวของปรัชญาด้วย

วิศุทธิ์:

ใช่ ก็มีคนบอกเยอะเหมือนกัน

WURKON:

แล้ว อาดาจิ มิตสึรึ ล่ะ

วิศุทธิ์:

คือตอนเด็กๆ จะมีแต่การ์ตูนที่อ่านแล้วรู้สึกสนุก โหด สะใจ แต่ อาดาจิ มันมาจี้ต่อมอื่นของเราที่ไม่ใช่ต่อมซาดิสต์น่ะ (หัวเราะ) มันเป็นต่อมที่ทำให้เราเป็นคนใจดีขึ้นน่ะ คือสมมติคนอื่นบอกว่า ต้องชนะ ได้ที่หนึ่ง เย้ จบ อวสาน อาดาจินี่ ไม่ชนะก็ได้ หรือเวลาที่แพ้หรือไปเจออะไรไม่ดีมา ก็จะมีอีกมุมมองนึงให้มองเสมอ นี่คืออาดาจิ

WURKON:

พระเอกไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดเสมอไป

วิศุทธิ์:

เออ พระเอกก็ไม่ค่อยหล่อ

WURKON:

คือจะมีคนที่หล่อและเก่งกว่าเสมอ

วิศุทธิ์:

เออ ใช่ๆ (หัวเราะ) แล้วก็จะมีเรื่องที่จบแบบ ไม่ได้เป็นแฟนกับนางเอกซะงั้นน่ะ! เศร้าจังเลย แต่มีแสงแดดส่องลงมาในช่องสุดท้าย มันสื่อถึงความที่ผู้หญิงคนนี้กำลังจะไปเจออนาคตใหม่ๆ มีชีวิตใหม่ๆ อะไรแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกอีกแบบ มันไม่ใช่สะใจน่ะ มันเป็นความสุขอีกแบบ ซึ่งมันแปลกมากเลย การ์ตูนของเขา มันทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเลย บอกตรงๆ

WURKON:

จากการอ่านการ์ตูน?

วิศุทธิ์:

เออ ในตอนนั้นน่ะ มากกว่าการไปทำอย่างอื่น

WURKON:

มากกว่าการเรียน

วิศุทธิ์:

เออ (หัวเราะ) มันทำให้เราคิดอีกแบบเลย เราก็เลยเริ่มเป็นคนที่มองมุมอื่นๆ ตอนอ่านการ์ตูนของเขาแหละ อาดาจินี่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ส่วนโอซามุก็เป็นเรื่องของการ์ตูนเลย เขาจะเขียนการ์ตูนแบบ อ้าว มีจบแบบนี้ด้วยเหรอ อยู่ดีๆ มีจบซะงั้นน่ะ ก็เป็นเทคนิค หรือการวาดที่มีความเคลื่อนไหว มีความอาร์ตๆ อะไรของเขา เขาจะมีวิธีสื่อสารที่เราติดมา หลังจากนั้นก็ไม่ได้อ่านอะไรอีกเลยเพราะมันไม่สนุกเท่าสองคนนี้อีกแล้ว เป็นเพราะเราด้วยแหละ หลังๆ เราอ่านเราก็...

WURKON:

ไม่อิน?

วิศุทธิ์:

ใช่ ด้วยความที่เราโตขึ้น เราก็จะเริ่มมองแล้วว่า คนนี้มันเขียนเรื่องนี้เพราะว่ามันคิดอย่างงี้แน่เลย หรือมันออกแบบตัวการ์ตูนออกมาอย่างงี้เดี๋ยวมันต้องทำตัวตุ๊กตาออกมาขายแน่ๆ คิดแต่อย่างงี้ แต่เราคิดว่ามันคงคิดอย่างงี้กันจริงๆ นะ นักวาดการ์ตูนยุคใหม่ๆ ที่เลยยุคของผู้สร้างมาแล้ว อย่างโอซามุเขาเป็นผู้สร้างใช่ป่ะ เขาก็จะเขียนด้วยความฝัน ความหวังอะไรของเขา จนสร้างตลาดการ์ตูนขนาดใหญ่มหึมาขึ้นมา แต่คนรุ่นหลังๆ มันจะรู้สูตรแล้วน่ะ ว่าเขียนอย่างงี้ขายได้ เขียนอย่างงี้จะขายคนประเภทนี้ได้ เขียนอย่างงี้สิ จะได้ทำตุ๊กตาได้ มันดูออก พออ่านการ์ตูนแล้วเห็นอะไรแบบนั้นเราก็เลยไม่ได้อ่านแล้ว

WURKON:

แล้วตอนนี้ตั้มยังเขียนการ์ตูนลงที่ไหนอยู่ไหม

วิศุทธิ์:

ก็เขียนลง a day ทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น อยากเขียนนะ แต่บังเอิญสิ่งแวดล้อมพาไปให้ทำอย่างอื่นมากกว่าการ์ตูน (หัวเราะ)

WURKON:

แต่อย่างอื่นที่ไปทำก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของการ์ตูนอยู่ดีนี่

วิศุทธิ์:

ใช่ ซึ่งคือการเล่าเรื่องราวจากชีวิตของเรา

WURKON:

จำได้ว่านิทรรศการศิลปะครั้งแรกๆ ที่ตั้มทำที่เมืองไทยคือนิทรรศการ (พิพิธภัณฑ์ศิลปะระยะสั้น) ซอยสบาย, 2006 (หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

วิศุทธิ์:

ใช่ ตอนนั้นเขาให้เราวาดรูปคนที่มางานเฉยๆ ไม่ได้เอางานเรามาแสดง วาดบนผนังหอศิลป์

WURKON:

ตอนนั้นคิดว่าตัวเองกำลังทำงานศิลปะอยู่ไหม

วิศุทธิ์ วาดภาพสดๆ ในเทศกาลศิลปะ Saitama Triennale ประเทศญี่ปุ่น

วิศุทธิ์:

ไม่ (หัวเราะ) คิดว่าเราทำอะไรได้ เท่านั้นเอง ถ้าให้คิดว่าเราไปทำงานศิลปะ เราคิดไม่ออก สมมติคนอื่นเอารูปอะไรเท่ๆ เอารูปปั้นสามมิติอะไรไปวาง เราก็แบบ โห ทำไม่เป็นหรอก คิดออกมาแบบนั้นเราคิดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็แค่วาดรูปคน มันเคยทำแล้วไง ก็ทำสิ่งที่ทำได้เฉยๆ น่ะ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะดีไหม เราทำได้แค่นี้ แล้วเขาก็ให้เราทำ ก็ต้องทำน่ะ แล้วก็ทำด้วยความดีใจด้วย ที่เขาให้โอกาสเรา โห! ก็ได้ทำนิทรรศการในศิลปากร ในคณะจิตรกรรม ก็ดีใจน่ะ ตอนเรียนก็ติดบอร์ดประจานอย่างเดียว (หัวเราะลั่น) จริ๊ง! ติดบ่อยด้วย (หัวเราะ)

WURKON:

งานที่เอามาแสดงในนิทรรศการ LR ที่ใส่กรอบเนี่ย ตั้มมองว่ามันเป็นงานจิตรกรรมหรือมองว่ามันเป็นการ์ตูน

วิศุทธิ์:

เป็นการตูนช่องแหละ มันไม่ใช่งานจิตรกรรมหรอก มันเป็นสีมาร์กเกอร์น่ะ ไม่รู้ดิ ไอ้ตัวนี้มันเกิดมาจากการที่เราเรียนรู้ชีวิต เราก็บันทึกเหมือนเดิม แต่แทนที่จะบันทึกเป็นการ์ตูน เป็นสตอรี่ เราก็เอาสั้นๆ ก็พอมั้ง ตอนนั้นมันมีพวกอินสตาแกรม มันก็แชร์ได้เลย โชว์คนได้น่ะ เราก็วาดแค่แป๊บๆ โชว์ไป ไม่เปลืองเวลา งานมันก็ไม่ได้เขียนยากอะไร เขียนเสร็จถ่ายรูปลงอวดคน ปรากฏ อ้าว คนก็ชอบ คนชอบก็ลงอีกแล้วกัน ตามธรรมชาติน่ะ คนชอบก็ดีใจน่ะ พูดตรงๆ ก็ทำอีก ทำอีกก็ชอบอีก เออ ก็เริ่มมีคนมาตาม เริ่มมีงานให้ทำ ก็เลยยังทำอยู่ หรือพอมีคนให้มาจัดนิทรรศการหน่อยซิ เราทำไม่ทัน เราก็เลยเอาอันนี้ที่วาดอวดคนมาแสดงละกัน ก็วาดไม่นาน ช่องเดียว ไม่ต้องทำอะไรมากมาย ก็พอจะเอามาให้เขาขายเพื่อหล่อเลี้ยงแกลเลอรีอะไรได้บ้าง (หัวเราะ) เพราะวิดีโอมันก็ขายไม่ได้ไง

ภาพวาดในนิทรรศการ LR 6 พฤษภาคม - 25 มิถุนายน 2017 หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

WURKON:

อย่างกรอบรูปที่มองได้สองด้านพร้อมๆ กันเนี่ย อันนี้คิดมาจากอะไรเหรอ

วิศุทธิ์:

ก็คิดมาจากเนื้อหาของงานแหละ ว่าอยากให้มองสองมุม ก็เลยทำเป็นกรอบสองมุม

WURKON:

ดูๆ ไปมันก็คล้ายกับงานประติมากรรมเหมือนกันนะ กรอบรูปแบบนี้ เหมือนเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากงานสองมิติเป็นงานสามมิติ คิดอย่างงั้นไหม

วิศุทธิ์:

จะคิดยังไงเราก็ไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้ามาบอกใบ้เราอย่างงี้ เดี๋ยวก็จะได้คิดต่อ ขโมยไอเดียเลย (หัวเราะ) อาจจะเป็นรุ่นแรกๆ ของไอเดียต่อไป ก็วาดแบบเดิมมานานก็เบื่อแล้วน่ะ ก็ลองทำแบบอื่นดู

WURKON:

แล้วไปสั่งเขาทำยังไง วาดแบบให้ช่างทำ

วิศุทธิ์:

วาดแบบให้เขา แล้วเขาก็ไปทำอีกแบบนึง (หัวเราะ) ตามที่เขาทำได้ ตอนแรกเราวาดแบบให้สามเหลี่ยมเสมอผนัง เหมือนเฟอร์นิเจอร์น่ะ แต่พอดีคนที่เราไปสั่งเป็นคนทำกรอบรูป ไม้ที่เขามีก็ไม่ใช่ไม้เฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นไม้กรอบรูป มันก็เลยเหมือนกับเอากรอบรูปมาโมดิฟายต่อกัน ทำออกมาแล้วก็โอเคหมดน่ะ

WURKON:

พอพูดถึงการ์ตูนเนี่ย แม้กระทั่งในปัจจุบัน ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมองว่าการ์ตูน หรือเกมเป็นเรื่องที่ไร้สาระและไม่มีประโยชน์กับเยาวชนอยู่ ตั้มคิดว่าไง

วิศุทธิ์:

มันก็เป็นยุคน่ะ อย่างยุคที่คนอยู่มาด้วยเกษตรกรรม อยู่กับการค้าขายอาหารการกิน เขามาเจอการ์ตูน ก็ต้องบอกว่ามันไม่เวิร์กดิ มันกินไม่ได้ พูดง่ายๆ เลย คนในยุคนั้นมันก็ต้องพูดแบบนั้นตามธรรมชาติ สมมติเราอยู่ในยุคที่เกิดมาแล้วมีการ์ตูน แต่เราไปเจอเด็กสมัยนี้ที่วันๆ มันโพสต์แต่ youtube เงี้ย เราก็คงจะบ่นเด็กว่าวันๆ ทำแต่อะไรให้มันได้ like เยอะเนี่ยนะ ไร้สาระว่ะ แต่วันนึงมันก็ได้ตังค์ขึ้นมา เราก็จ๋อยน่ะ เหมือนกันแหละ ก็คงมีหลายมุมมองกันไป ว่ามีผู้ใหญ่แบบไหนบ้างน่ะ การตูนญี่ปุ่นมันขึ้นสุดแล้วลงมันก็มี

WURKON:

แล้วการ์ตูนสำหรับตั้มคืออะไร

วิศุทธิ์:

คือสิ่งที่เราทำได้ สิ่งที่เราทำได้ดี และเราก็โชคดีที่มีโอกาส มีคนอ่าน และสนับสนุนมัน แต่สำหรับคนอื่นเราก็ไม่รู้หรอก เราไม่สามารถไปบอกเขาได้หรอกว่า คุณวาดการ์ตูนสิครับ เพราะว่ามันหาตังค์ได้ เพราะผมเองก็หาตังค์ได้จากมัน มันบอกไม่ได้น่ะ แล้วเราก็ไม่มีความสามารถขนาดไปสร้างอุตสาหกรรมการ์ตูนได้ ก็ทำได้แค่วาดงานตัวเองน่ะ

WURKON:

แต่ตั้มเองก็เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เยอะเหมือนกันนี่ หลังจากยุคของตั้มก็มีเด็กๆ ทำงานการ์ตูนออกมากันมากมาย

วิศุทธิ์:

ก็นั่นน่ะสิ ก็ไม่รู้ว่ามันได้ตังหรือเปล่า ก็เป็นห่วงอยู่ เราก็ไม่กล้าไปบอกว่า ทำตามเราแล้วมันจะรอด (หัวเราะ) เกิดมันหลงทางไปก็ซวยเลย ประเทศเรามันไม่ใช่อะไรแบบนั้นน่ะ ประเทศเรามันเป็นประเทศกินข้าวอร่อย มันไม่ได้มีตลาดการ์ตูนใหญ่ๆ ทำเพลงมันยังมีตลาดนะ

WURKON:

นี่ขนาดตั้มทำมายี่สิบปีแล้วยังไม่เห็นว่ามันมีทางไปได้เลยเหรอ การเป็นนักวาดการ์ตูนอาชีพในประเทศนี้เนี่ย

วิศุทธิ์:

ก็ตัวเรายังเอาไม่รอดเลยมั้ง ถ้าเอาแค่การ์ตูนน่ะ การตูนเล่มน่ะ เราก็ต้องมีชีวิตตามสิ่งแวดล้อมของเราน่ะ นี่พูดถึงตัวเราเองนะ สิ่งแวดล้อมเรามันกลายเป็นอินเตอร์เน็ตไปหมดแล้ว สิ่งแวดล้อมเรามันคือประเทศไทยอย่างเงี้ย ก็ต้องทำตามสิ่งแวดล้อมไป มันก็ปั้นเราให้กลายเป็นรูปแบบนี้ เขียนการ์ตูนบ้าง ทำสินค้าบ้าง ทำอาร์ตบ้าง เราก็ตามสิ่งแวดล้อมไปแค่นั้นเอง

WURKON:

แล้วจะมีวันไหนที่เลิกทำการ์ตูนหรือเปล่า

วิศุทธิ์:

การ์ตูนคงทำอยู่แล้วล่ะ มันเขียนเล่นๆ มาตั้งแต่แรกแล้วไง คือเราใช้ทุนและเวลาน้อยที่สุด ใช้ฝีมือน้อยที่สุด เราเซ็ตไว้แล้วน่ะ เพราะฉะนั้นเราไม่มีงานเราก็วาดได้ วาดเพื่อเอนจอยตัวเองน่ะ พอเขียนแป๊บๆ เสร็จ ก็ไปทำงานอื่น ขายเค้กขายอะไรก็ว่าไป (หัวเราะ) ถ้าคนยังดูมันอยู่ก็ทำต่อไป

WURKON:

อยากฝากอะไรถึงคนดูนิทรรศการของตั้มบ้าง

วิศุทธิ์:

ถ้ามาดูแกลเลอรีเขาก็ดีใจน่ะ เรามาทีไรเขาก็อวดว่าคนมาเยอะ พอเขาดีใจเราก็มีกำลังใจทำต่อใช่ป่ะ แล้วถ้าสมมติว่าเมืองไทยมีแกลเลอรีที่อยู่ได้นานๆ แล้วหาตังค์ได้ มันก็คงดีต่อคนยุคต่อๆ ไป ที่อยากจะทำนิทรรศการ อยากมีอาชีพทำงานศิลปะ มันก็ดีสำหรับคนยุคต่อๆ ไป ถ้าที่นี่มันประสบความสำเร็จ ก็ฝากให้มาสนับสนุนเขาหน่อย งานอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นงานเราก็ได้ พอบ้านเมืองเรามันมีมุมมองแบบอื่นๆ บ้าง เช่น มุมมองของศิลปะ มันก็จะเป็นสังคมที่มีหลายมุมมองขึ้น มีความสวยงามหลายแบบขึ้น เป็นสังคมมีทางเลือกมากขึ้น และเป็นสังคมที่เศร้าน้อยลง เราว่าน่าจะเป็นอย่างงงั้น (หัวเราะ)

ขอบคุณภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY, www.wisutponnimit.com

ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

ขอบคุณ BANGKOK CITYCITY GALLERY เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์

#WURKON #art #cartoonist #wisutponnimit #tumwisut #ตั้มวิศุทธิ์ #LR #twochoice #game #installation #exhibition #bangkokcitycitygallery #การ์ตูน #แอนิเมชั่น #อินทีเรีย #มัณฑนศิลป์ #hesheit #everybodyeverything #การ์ตูน #osamutezuka #adachimitsuru #ควันใต้หมวก #การ์ตูน #ดนตรี #ศิลปะ #แรงบันดาลใจจากการ์ตูน #แรงบันดาลใจจากศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30