Blog

สุนทรียะแห่งเพลงประกอบในหนังหว่องกาไว

สุนทรียะแห่งเพลงประกอบในหนังหว่องกาไว

12 มีนาคม 2562

ตอนที่แล้วพูดถึงสุนทรียะในองค์ประกอบทางด้านดีไซน์ในหนังของหว่องกาไวไปแล้ว องค์ประกอบอันโดดเด่นอีกประการในหนังของหว่องที่จะไม่หยิบยกมากล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ ดนตรีหรือเพลงประกอบในหนังของเขานั่นเอง ซึ่งหว่องเป็นคนทำหนังที่ใช้ประโยชน์ของเพลงประกอบได้อยู่มือที่สุดคนหนึ่ง  โดยเขามักจะผสมผสานทั้งเพลงจีนและเพลงสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อมลงตัวและสอดรับกับเนื้อหาเป็นอย่างยิ่ง เพลงและดนตรีประกอบในหนังหลายต่อหลายเรื่องของเขาจึงเป็นที่จดจำของคนดูไม่แพ้เรื่องราวและสไตล์อันจัดจ้านในหนังเลย เรามาย้อนรำลึกถึงเพลงประกอบในหนังเหล่านั้นกันเถอะ


Days of Being Wild (1990) วันที่หัวใจรักกล้าตัดขอบฟ้า

(ป.ล. แม้การตั้งชื่อไทยให้หนังหว่องกาไวของผู้จัดจำหน่ายบ้านเราจะดูไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาเท่าไหร่และชวนให้เข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ แต่ภาษามันก็สละสลวยสวยเก๋และชวนยิ้มดี เลยขอใส่ชื่อไทยกำกับในทุกเรื่องที่หาได้ก็แล้วกัน)

เรื่องราวของ ยกไจ๋ เพลย์บอยหนุ่มรูปงามผู้มีวิธีจีบผู้หญิงเท่ๆ ที่ทำเอาสาวเคลิบเคลิ้มหลงใหลและยอมทอดกายทอดใจตกเป็นของเขาได้ไม่ยาก

“วันที่ 16 เมษา 1960 หนึ่งนาทีก่อนบ่ายสามคุณอยู่กับผม เพราะคุณ ผมจะจำนาทีนี้ไว้ จากนี้ไปเราเป็นเพื่อนกันแล้วหนึ่งนาที ความจริงข้อนี้คุณปฏิเสธไม่ได้หรอก...”

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับเปลี่ยนเป็นเหินห่าง เฉยชา และในที่สุดก็ทอดทิ้งพวกเธออย่างเลือดเย็น

“โลกนี้มีนกอยู่ชนิดหนึ่งไม่มีขา มันได้แต่บินและบิน เหนื่อยก็นอนในสายลม ในชีวิตจะลงดินเพียงครั้งเดียว นั่นคือวันตายของมัน”

ประโยคที่เขามักจะเอ่ยขึ้นบ่อยๆ นี้แสดงให้เห็นถึงตัวตนและความรู้สึกลึกๆ ของเขา ผู้ชายที่ถูกแม่แท้ๆ ทอดทิ้งตั้งแต่แรกเกิดและถูกเลี้ยงดูมาโดยอดีตโสเภณีที่เปิดเผยความจริงเรื่องนี้ให้เขาได้รับรู้ เขาจึงใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ โดยไม่แยแสใส่ใจใยดีใคร ไม่รักใคร และตั้งหน้าตั้งตาทำร้ายคนที่รักเขาและคนรอบข้างอย่างไม่สะท้กสะท้านราวกับจะทวงแค้นคืนก็ปาน

นอกจากบรรยากาศอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความสัมพันธ์อันเจ็บปวดรวดร้าวที่ความรักและกาลเวลาไม่อาจเยียวยา การถ่ายภาพอันงดงามจับจิตจนแทบจะหยิบมาวางเป็นภาพนิ่งได้ทุกซีน (ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างหว่องกับผู้กำกับภาพคู่บุญคนหนึ่งของเขาอย่าง คริสโตเฟอร์ ดอยล์) การแสดงที่นิ่ง น้อย แต่ลึกซึ้งถึงอารมณ์ที่ไม่ค่อยพบเห็นในหนังฮ่องกงของนักแสดงชั้นนำอย่าง เลสลี่ จาง, จางมั่นอวี้, หลิวเจียหลิง, หลิวเต๋อหัว, จางเซียโหย่ว และนักแสดงรุ่นลายครามอย่าง พานตี้หัว

ที่สำคัญ หนังเรื่องนี้ยังมีองค์ประกอบอีกประการที่ทำให้มันประทับอยู่ในความทรงจำของนักดูหนังอย่างไม่รู้ลืม

นั่นคือการปรากฏตัวของชายหนุ่มปริศนาผู้หนึ่งในชั่วขณะหนึ่งตอนท้ายของหนัง โดยไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปหรือแม้แต่ชื่อของเขาเลยแม้แต่น้อย เขาปรากฏตัวขึ้นและจากไปโดยไม่มีคำอธิบาย ชายหนุ่มที่ดูเหมือนจะเป็นนักพนันผู้นี้อาศัยอยู่ในห้องเพดานเตี้ยคับแคบอุดอู้และเก่าโทรม แต่กลับมีรูปลักษณ์เนี้ยบกริบ และพิถีพิถันกับการแต่งตัว อันเป็นความขัดแย้งที่มีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด การปรากฏตัวของเขาทำเอาคนดูหนังหลายคนงุนงงสงสัยกันเป็นอย่างยิ่งว่าเขาเป็นใคร? ออกมาทำไม? และเกี่ยวอะไรกับหนังเรื่องนี้กันแน่?

แต่สำหรับแฟนหนังของหว่องอย่างเรา มันเป็นฉากจบของหนังที่ตราตรึงที่สุดเท่าที่เคยดูมา หลังจากดูฉากนี้จบลง ทัศนคติในการดูหนังของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มันทำให้เราเริ่มดูหนังโดยที่ไม่จำเป็นต้องหาบทสรุปให้กับมันอีกต่อไป นับเป็นครั้งแรกที่เราดูหนังจบแล้วกลับรู้สึกว่าหนังมันยังไม่จบ เพราะถึงเรื่องราวของคนคนหนึ่งจบลง มันก็จะมีเรื่องราวของคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ ที่ชอบที่สุดคือฉากนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องราวก่อนหน้าในเรื่องเลย มันทำให้นึกไปถึงชีวิตของเรา ที่บางทีจู่ๆ บางสิ่งบางอย่างเข้ามาโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยและจากไปโดยไม่มีเหตุมีผลได้เช่นเดียวกัน ผมว่าหนังมันก็เหมือนภาพวาด บางทีภาพที่วาดยังไม่เสร็จมันมีเสน่ห์และเปิดพื้นที่ให้เราได้ใช้จินตนาการมากกว่าภาพที่วาดจนเสร็จสมบูรณ์แล้วเหมือนกัน

นักดูหนังและนักวิจารณ์บางคนอาจคาดเดาไปว่าฉากนี้เป็นอารัมภบทของหนังอีกเรื่องในอีกหลายปีให้หลังของหว่องอย่าง In the Mood for Love และคิดว่ามันเป็นภาคต่อของหนังเรื่องนี้ (เพราะตัวละครในหนังทั้งสองเรื่องซึ่งรับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย และ จางมั่นอวี้ ก็มีชื่อว่า โจวมู่หวัน และ โซวไหล่เจิน เหมือนๆ กันอีกด้วย) แต่ตัวหว่องกาไวเองก็ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น ที่ชื่อเหมือนกันก็เป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับฉากนี้ว่า อันที่จริงหว่องตั้งใจจะใส่เรื่องราวของตัวละครตัวนี้ลงในหนังแยกออกมาอีกเรื่องต่างหากและมีการถ่ายทำไปบ้างแล้ว แต่สุดท้ายงบหมด เลยถ่ายไม่จบ  แต่ด้วยความที่สัญญาของหนังที่มีชื่อของเหลียงเฉาเหว่ยอยู่ด้วยตั้งแต่ตอนแรก ประกอบกับความที่เขาชอบฉากที่ถ่ายเอาไว้ฉากนี้มาก จึงเกิดความเสียดาย แต่ไม่รู้จะเอาไปใส่ตรงไหนของหนังดี ตอนแรกเขาคิดจะเอาไปใส่ในหนังตัวอย่างด้วยซ้ำไป แต่มือตัดต่อของหนังอย่าง แพทริก แทม (ถันเจียหมิง) ผู้กำกับชื่อดังที่เป็นเพื่อนสนิทและครูของหว่องแนะนำว่าให้ใส่ลงไปในตอนท้ายของหนังมันดื้อๆ เลยนั่นแหละ แล้วก็หาเพลงประกอบมาใส่ซะ ผลก็คือมันกลายเป็นฉากที่ขัดแย้งแต่ลงตัวอย่างน่าทึ่ง และมันก็เป็นฉากจบที่กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปในที่สุด

นอกจากรายละเอียดข้างต้นที่กล่าวมา เพลงประกอบในหนังก็เป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นอีกประการในหนังเรื่องนี้ ที่ใช้เพลงย้อนยุคที่ไพเราะจับใจและเข้ากับหนังได้เป็นอย่างดี ทั้งเพลงธีมของหนังอย่าง Always In My Heart กับเสียงกีตาร์ที่พลิ้วไหวสไตล์ละตินของคู่ดูโอจากบราซิล Los Indois Tabajaras  https://www.youtube.com/watch?v=UiT47BHVJZk

และเพลงบรรเลงแนวละตินที่ให้บรรยากาศโดดเดี่ยวเดียวดายแต่ละมุนละไมจับใจของคอมโพเซอร์ชาวสเปน/อเมริกัน ซาเวียร์ คูกัต (Xavier Cugat) อย่าง Perfidia, El Cumbanchero, Maria Elena) อันเป็นเสมือนลายเซ็นที่ชัดเจนในหนังหว่องกาไวทุกเรื่องในกาลต่อมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงที่อยู่ในฉากการปรากฏตัวของหนุ่มปริศนาตอนท้ายเรื่องอย่าง Jungle Drums ของ ซาเวียร์ คูกัต ที่ลึกซึ้งดื่มด่ำและหลอมรวมเข้ากับบรรยากาศในฉากตอนนี้ได้เป็นอย่างดี https://www.youtube.com/watch?v=zdjXoZB-Oc4


Ashes of Time (1994) มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ

มังกรหยกฉบับกระทำความหว่อง ที่ตัดฉากบู๊อันเร้าใจในนิยายออกจนเกือบหมด เหลือแต่เรื่องราวความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและความร้าวรานในความรักอันไม่สมหวังของเหล่าจอมยุทธผู้ว้าเหว่ทั้งหลาย เติมแต่งอารมณ์อันรันทดแกมรัญจวนด้วยเสียงเชลโล่ที่โซโล่อันลึกซึ้งตรึงใจของ โย โย่ หม่า  https://goo.gl/NBqeeR


Chungking Express (1994) ผู้หญิงผมทอง ฟัดหัวใจให้โลกตะลึง

เรื่องราวของนายตำรวจหนุ่มอกหักรักคุด ผู้เพียรเสาะหาสัปปะรดกระป๋องที่มีวันหมดอายุเป็นวันเกิดตัวเอง   และชอบออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งให้เหงื่อออกจนหมดตัว ร่างกายจะได้ไม่เหลือน้ำเอาไว้เป็นน้ำตา (เก๋ซะ!) เขาได้พบผู้หญิงสาวผมทองผู้ลึกลับ ที่เข้ามาในชีวิตของเขา และในเวลาอันแสนสั้น ที่บรรเลงไปด้วยเพลงอันคึกคักแต่แฝงเอาไว้ด้วยความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาอย่าง Things in Life ของ Dennis Brown https://www.youtube.com/watch?v=aiIjlk4U93E

และเรื่องราวของนายตำรวจหนุ่มแฟนทิ้ง ที่อาลัยอาวรณ์กับความรักที่ลาจากจนไม่ใส่ใจใยดีกับสิ่งของและผู้คนรอบตัว จนมาพานพบกับสาวผมสั้นผู้ร่าเริง ที่ทำงานในร้านอาหาร ผู้แอบหลงรักเขาและแอบเข้ามาจัดการเปลี่ยนแปลงข้าวของในห้องของเขาลับๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัว ที่คลอเคียงไปด้วยเพลงประกอบอันโดดเด่นที่ติดหูมาจนถึงทุกวันนี้อย่าง California Dreamin ของวงโฟล์กร็อกประสานเสียงสัญชาติอเมริกัน The Mamas & the Papas http://www.youtube.com/watch?v=IAH-0GKvIrM

และเพลง Dreamlover ที่คัฟเวอร์มาจากเพลง Dreams ของ The Cranberries ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ขับร้องโดยนักแสดงสาวสุดเท่ที่รับบทหญิงสาวผมสั้นในเรื่องอย่าง หวังเฟย (Faye Wong) นั่นเอง ซึ่งต่างก็เป็นเพลงที่สดใสเข้ากับบุคลิกของตัวละครของเธอในหนังได้เป็นอย่างดี http://www.youtube.com/watch?v=K7yez4lXjBI


Fallen Angels (1995) นักฆ่าตาชั้นเดียว

เรื่องราวในซอกมุมโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในฮ่องกง ของมือสังหารหนุ่มผู้สันโดษ และผู้จัดการสาวของมือสังหารที่แอบตกหลุมรักเขา กับหนุ่มใบ้จอมเพี้ยนที่ชอบงัดแงะร้านรวงของชาวบ้านมาสวมรอยเปิดร้านทำมาหากินในยามค่ำคืนที่ตกหลุมรักผู้จัดการสาวอีกที กับเพลงประกอบที่มืดมนหม่นเศร้าล่องลอยหลอนลึกเข้ากับบรรยากาศของหนังได้อย่างกลมกลืน https://www.youtube.com/watch?v=L72XngJftpA&index=4&list=PL540nWhD207kCBMF9LB-8ZynoyWCl9RQY


Happy Together (1997) โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา

คู่รักชายรักชายจากฮ่องง ที่เดินทางไปยังอาร์เจนติน่าเพื่อเยียวยาความสัมพันธ์อันร้าวราน โดยตั้งความหวังว่าทั้งคู่จะไปเยือนน้ำตกอีกัวซูด้วยกัน แต่ความหวังนั้นก็อาจไม่มีวันได้เป็นจริง กับเพลงประกอบอันกำสรด โหยไห้อย่าง Cucurrucucu Paloma ของ โธมัส เมนเดส และเพลงบรรเลงอันดื่มด่ำตราตรึงอย่าง Final (Tango Apasionado) ของ Astor Piazzolla โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง Happy Together ของ Danny Chung ที่คึกคักสดใสแต่แฝงความหม่นเศร้าเอาไว้ภายใน https://www.youtube.com/watch?v=7v2rzgQgyfc


In the Mood for Love (2000) ห้วงรักอารมณ์เสน่หา

เรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่ง ที่พบว่าคู่สมรสของตนต่างนอกใจ คนสองคนที่เจ็บปวดจากบาดแผลความรัก ก็ได้พานพบและต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แม้ความรักนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม ความสัมพันธ์อันแสนรันทดแต่งดงามนี้ถูกแต่งแต้มด้วยบทเพลงอันสุดแสนรวดร้าวและหวามไหวอย่าง The End (Quizas, quizas, quizas) ของ Nat King Cole ที่สะท้อนความสัมพันธ์รักซ้อนที่ไม่อาจลงเอยกันได้ในหนัง https://www.youtube.com/watch?v=2NMmgKPiAhw


2046 (2004)

เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นภาคต่อของ Days of Being Wild และ In the Mood for Love กับเรื่องของนักเขียนหนุ่มผู้ไม่เคยจริงจังกับความรัก เพราะเขายังไม่เคยลืมความรักครั้งเก่า และเรื่องในนวนิยายไซไฟที่เขาแต่งขึ้นมา ที่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนรถไฟที่วิ่งสู่อนาคต กับความรักของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักบริกรสาวผู้เป็นหุ่นยนต์ไซบอร์กบนรถใฟสายนั้น กับดนตรีและเพลงประกอบที่ผสมผสานสุ้มเสียงแห่งอดีตและอนาคตได้อย่างกลมกล่อมลงตัว https://www.youtube.com/watch?v=SgGNiX9y4nI&list=PLfG-I0C1jCQMc3aYId4mERHPHwUNT-IYJ


The Grandmaster (2013) ยอดปรมาจารย์ “ยิปมัน”

เรื่องราวของปรมาจารย์ยิปมัน และเหล่าจอมยุทธในโลกอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ในฐานะที่เป็นหนังย้อนยุค มันมีเพลงประกอบที่เข้ากับยุคสมัยอย่างอุปรากรจีนประเพณีแบบดั้งเดิม ซึ่งอยู่ในฉากที่ตัวละครภรรยาของยิปมันชอบเข้าไปฟังอุปรากรจีนในโรงน้ำชา (ก็หอนางโลม หรือซ่องนั่นแหละ) เหตุที่ต้องเข้าไปเล่นกันในสถานที่แบบนั้นก็เพราะในสมัยนั้นเป็นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ศิลปะการละครรวมถึงดนตรีที่เป็นเครื่องหมายของราชวงศ์และศักดินาถือเป็นสิ่งต้องห้าม จึงต้องแอบเล่นกันหลบๆ ซ่อนๆ นั่นเอง

หรือเพลงโอเปร่าในฉากที่ยิปมันเผชิญหน้ากับกงเอ๋อเป็นครั้งแรกอย่าง Stabat Mater ที่แต่งโดย สเตฟาโน เลนทีนี่ (Stefano Lentini) คอมโพเซอร์ชาวอิตาเลียน และขับร้องโดยนักร้องโซปราโน แซนดร้า เพสตราน่า (Sandra Pastrana) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทสวดโบราณ ที่บรรยายความเศร้าโศกเสียใจของพระแม่มาเรียผู้สูญเสียพระเยซูคริสต์ในการตรึงกางเขน ก็เข้ากันกับบรรยากาศอันขรึมขลัง และสะท้อนถึงฉากการต่อสู้ที่แฝงไว้ด้วยความโรแมนติกและความสิเน่หาปนโหยไห้ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี https://www.youtube.com/watch?v=r8MteYpMsow

หรือช่วงเวลาที่ยิปมันอพยพถึงฮ่องกงและเปิดสำนักกังฟูของตัวเองขึ้นมา กับเพลงประกอบที่หยิบยืมและดัดแปลงมาจากดนตรีประกอบอันหนึ่งในหนัง Once upon a Time in America (1984) ที่แต่งโดย เอนนิโอ มอร์ริโคเน (Ennio Morricone) ก็สะท้อนถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของชีวิตที่แฝงเอาไว้ด้วยความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง https://www.youtube.com/watch?v=-2_PeMS3uAQ

ด้วยความที่ หว่องกาไว เริ่มต้นจากการเป็นคนทำหนังทุนต่ำ เขาจึงไม่ค่อยมีงบไปซื้อลิขสิทธิเพลงมาประกอบหนังมากมายเท่าไหร่นัก หว่องจึงมักใช้เพลงเดิมๆ หรือเพลงของศิลปินคนเดียวกัน เปิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนังของเขาหลายต่อหลายรอบ จนในที่สุดมันก็กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกประการหนึ่งในหนังของเขาในที่สุด

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และทำให้ข้อจำกัดกลายเป็นข้อได้เปรียบไปได้อย่างหมดจดงดงามอย่างแท้จริงอะไรจริงนะเนี่ย! นับถือ นับถือ

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #music #OST #movie #wongkarwai #daysofbeingwild #chungkingexpress #fallenangels #happytogether #inthemoodforlove #2046 #thegrandmaster #แรงบันดาลใจจากดนตรี #แรงบันดาลใจจากยนตร์

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30