Blog

หนังตลกร้ายเปี่ยมสไตล์สุดพิลึกพิลั่น A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence และงานศิลปะที่อยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจของมัน

หนังตลกร้ายเปี่ยมสไตล์สุดพิลึกพิลั่น A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence และงานศิลปะที่อยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจของมัน

02 สิงหาคม 2559

ถ้าใครเป็นแฟนผลงานผู้กำกับ รอย แอนเดอร์สัน (Roy Andersson) ผู้กำกับรุ่นลายครามวัย 72 ชาวสวีดิชผู้นี้ ก็คงจะคุ้นเคยกันดีกับสไตล์อันจัดจ้านไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เรียกได้ว่าถ้าใครได้ดูหนังของเขาแล้ว ถ้าไม่รักก็คงเกลียดไปเลย หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนานถึงแปดปี ในปี 2014 เขากลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีกับผลงานที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อเป็นภาคสุดท้ายของไตรภาค “Being A Human Being” (การดำรงอยู่อย่างมนุษย์) ต่อจากผลงานสองชิ้นก่อนหน้าของเขาอย่าง Songs From The Second Floor (2000) และ You, The Living (2007) มันเข้าฉายในสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 71 และได้รับรางวัลสูงสุดของเทศกาลอย่างสิงโตทองคำไปในที่สุด

หนังเรื่องนี้มีชื่อยาวเหยียดว่า A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence (2014)

ภาพจากหนัง A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence (2014).

มันถ่ายทอดเรื่องราวตลกร้ายหน้าตายสไตล์สแกนดิเนเวียนฮิวเมอร์แบบแอนเดอร์สัน ด้วยฉากสั้น ๆ หลายตอนที่ร้อยเรียงกันอย่างหลวม ๆ ที่ฉายภาพหลากชีวิตของเหล่าตัวละครสีหน้าซีดขาวราวซากศพ พวกเขาปฏิบัติกิจวัตรธรรมดาทั่ว ๆ ไป หากแต่แฝงเอาไว้ด้วยความเพี้ยนพิกล อาทิเช่น ชายร่างท้วมยืนดูนกสตัฟฟ์ในตู้กระจกในพิพิธภัณฑ์, ชายอ้วนหัวล้านพยายามเปิดขวดไวน์แต่ไม่สำเร็จ (เพราะอะไรไปดูเอาเอง), สองพี่น้องวัยชรานั่งรอดูใจมารดาที่ใกล้จะสิ้นลมในโรงพยาบาลก่อนจะเกิดเหตุการโกลาหล, ชายหนุ่มเรียนเต้นรำท่ามกลางเหล่าหญิงสาวและครูสอนคลั่งเซ็กส์, ชายวัยกลางคนนั่งรอตัดผมกับช่างกำมะลอ สองเซลล์แมนตระเวนขายของเล่นกิ๊กก๊อกที่ไม่มีใครต้องการ, สาวเสิร์ฟร้องเพลงในบาร์, เด็กหญิงเป่าฟองสบู่บนระเบียง, คู่รักหนุ่มสาวนอนพลอดรักกันบนผืนทรายชายขอบเมือง ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องราวประหลาดพิลึกพิลั่นที่ถ่ายทอดด้วยท่าทีเรียบเฉยราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา อาทิเช่น กษัตริย์สวีเดนกับกองทหารจากศตวรรษที่ 18 ที่ควบม้าย่างสามขุมเข้ามาในคาเฟ่โมเดิร์นแล้วสั่งน้ำแร่ดื่มระหว่างเดินทางไปรบ, เจ้าหน้าที่หญิงที่กำลังคุยโทรศัพท์ในระหว่างทรมานลิงเหยื่อทดลองด้วยการช็อตสมองด้วยกระแสไฟฟ้า หรือทหารอังกฤษที่ผลักบรรดาทาสแอฟริกันเดินเรียงรายเข้าไปในลูกกลิ้งกลวงเผาไฟขนาดยักษ์ติดลำโพงที่ส่งสำเนียงให้ชนชั้นสูงได้เสพสดับเสียงแห่งความทรมานของคนที่ถูกย่างสดอยู่ในนั้น

ทุกช็อตในหนังเรื่องนี้ถูกถ่ายทำออกมาอย่างงดงามหมดจด พิถีพิถันจนออกจะเกินเลยไปด้วยซ้ำ ด้วยลักษณะการถ่ายทำที่จับภาพลองเทคนิ่งนาน ถ่ายภาพแบบชัดลึกที่โฟกัสทั้งฉากหน้าที่อยู่ใกล้และฉากหลังที่อยู่ไกลให้มีความคมชัดเท่ากันทั้งภาพ ผนวกกับการจัดองค์ประกอบที่มีจังหวะสมดุลลงตัวจนแทบจะหยิบเอามันไปใส่กรอบแขวนผนังแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะได้เลย ราวกับเป็นงานจิตรกรรมชั้นดีที่แอนเดอร์สันจับมาวางลงบนผืนผ้าใบในห้องมืดเลยก็ปาน

Hunters in the Snow (1565), ปีเตอร์ บรูเกล, สีน้ำมันบนผ้าใบ.

ซึ่งอันที่จริงแอนเดอร์สันก็ได้แรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้มาจากงานจิตรกรรมหรือภาพวาดจริง ๆ นั่นแหละ เริ่มตั้งแต่ชื่อหนัง “A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด Hunters in the Snow (1565) ของ ปีเตอร์ บรูเกล (หรือ เบรอเคิล) (ผู้พ่อ) (Pieter Bruegel the Elder) จิตรกรคนสำคัญแห่งยุคเฟลมมิชเรอเนสซองส์ในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพทิวทัศน์บนเนินเขาที่มีหิมะปกคลุม มองลงไปเห็นเมืองเฟลมมิชเล็ก ๆ มีชาวบ้านเล่นสเก็ตบนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งในหุบเขา ด้านหน้าของภาพเป็นนายพรานสามคนและสุนัขของพวกเขากำลังกลับจากการล่าสัตว์ กิ่งก้านโกร๋นของต้นไม้เหนือหัวพวกเขามีนกสามตัวเกาะอยู่ มันเฝ้าสังเกตลงมาอย่างสงสัยว่ามนุษย์ข้างล่างกำลังทำอะไรอยู่ บรูเกลเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพทิวทัศน์ที่มีชาวไร่ชาวนาอาศัยอยู่ บ่อยครั้งที่เขาเติมแต่งทิวทัศน์เหล่านั้นด้วยภาพของนก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสังคมและการดำรงอยู่ของมนุษย์ผ่านพวกมัน ผลงานของเขาใช้การกระทบกระเทียบเสียดสีเพื่อแสดงการเปรียบเปรยถึงความฉลาดและขลาดเขลาของมนุษย์ ความขัดแย้งอันแสนเศร้าของการมีชีวิต เหล่านกที่ปรากฏอยู่ในภาพวาด Hunters in the Snow ของเขาเหมือนจะกล่าวกับเราว่า “มนุษย์พวกนั้นกำลังทำอะไรกันอยู่ข้างล่าง ทำไมพวกเขาถึงได้ยุ่งวุ่นวายกันนักหนา?”

บรูเกล มักจะวาดภาพวิถีชีวิตกลางแจ้งของชาวบ้านทั่ว ๆ ไปในหมู่บ้าน และมักจะมีนกเกาะอยู่บนต้นไม้ เฝ้ามองว่าคนเหล่านั้นกำลังทำอะไรกันอยู่ บางทีมันอาจจะกำลังสงสัยเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ปกตินกเหล่านั้นมักจะเป็นอีกา แต่แอนเดอร์สันเปลี่ยนมันให้เป็นนกพิราบแทน

“A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence จับภาพมุมกว้างของสภาวะความเป็นมนุษย์ ที่ซึ่งนกไม่ได้เพียงแค่สะท้อนความมีตัวตนอยู่ของมนุษย์เท่านั้น หากแต่ครุ่นคิดถึงมันอย่างลึกซึ้งด้วย นกพิราบเหล่านั้นต่างประหลาดใจที่มนุษย์มองไม่เห็นหายนะที่กำลังจะมาถึง ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีความสามารถที่จะหยุดยั้งมันได้ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงเค้าลางของหายนะ และเสนอความเป็นไปได้ที่จะหยุดยั้งมัน” แอนเดอร์สันกล่าวถึงที่มาของชื่อหนังของเขา

นอกจากชื่อเรื่องและแนวคิดหลักที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของบรูเกลแล้ว สไตล์การถ่ายภาพในลักษณะชัดลึก กระจ่างแจ้ง แหลมคม การจัดวางองค์ประกอบที่มีจังหวะจะโคนโดดเด่น ฉากและงานสร้างที่งดงามอย่างพิลึกพิลั่นนั้นยังได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะอีกแนวทางหนึ่ง แนวทางนั้นเรียกว่า Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity* นั่นเอง

“ในหนังสองเรื่องก่อนของผม ผมเริ่มเข้าไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า “ภาวะนามธรรม” ผมลองเสี่ยงที่จะละทิ้งแนวทางเสมือนจริงและธรรมชาตินิยม และก้าวย่างเข้าไปในพรมแดนของสุนทรียะแบบนามธรรม ซึ่งในหนังเรื่องล่าสุดของผม ผมเดินหน้าต่อไปในเส้นทางนี้ และลงลึกยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกัน ผมกลับทำให้ภาพในหนังชัดเจนและสว่างไสวยิ่งขึ้น ซึ่งความทะเยอทะยานเช่นนี้สะท้อนไปถึงความเคลื่อนไหวของศิลปะที่เริ่มต้นในเยอรมนีช่วงปี 1920 อย่าง Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity ซึ่งถ่ายทอดภาพของผู้คนที่เน้นความชัดเจน กระจ่างแจ้ง และแจ่มชัดอย่างมหาศาลจนทำให้ความจริงถูกลบเลือนลงไป ศิลปินในกระแสนี้ผสมผสานความจริงเข้ากับจินตนาการและถ่ายทอดมันในลักษณะที่เน้นความเป็นจริงอย่างล้นเกิน (Super-Realism) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ผมต้องการนำเสนอในหนังของผม ที่ภาพในแต่ละฉากจะผุดขึ้นมาอย่างกระจ่างชัดสะอาดตาราวกับมันไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง หากแต่เป็นความทรงจำและความฝัน” แอนเดอร์สัน กล่าวถึงต้นตอแห่งแรงบันดาลใจในการทำหนังของเขา และสองศิลปินในกลุ่ม New Objectivity ที่ส่งแรงบันดาลใจให้แก่แอนเดอร์สันในการทำหนังเรื่องนี้อย่างมากก็คือ ออโต ดิกซ์ (Otto Dix) และ จอร์จ กรอสซ์ (George Grosz) นั่นเอง

“ครั้งสุดท้ายที่ผมรู้สึกผูกพันกับภาพวาดคือตอนที่ผมดูงานของ ออโต ดิกซ์ ผลงานของเขาช่างวิเศษสุดสำหรับผม รวมถึง จอร์จ กรอสซ์ ด้วย 

Portrait of the Journalist Sylvia von Harden, 1926, ออตโต ดิกซ์, สื่อผสมบนแผ่นไม้ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ จอร์จ ปอมปิดู.

The Seven Cardinal Sins, 1933, ออตโต ดิกซ์, สื่อผสมบนไม้, พิพิธภัณฑ์ศิลปะในคาร์ลส์รูเออ เยอรมนี.

กลางซ้าย: The Gray Day, 1921, จอร์จ กรอสซ์, สีน้ำมันบนผ้าใบ, หอศิลป์แห่งชาติใหม่ เบอร์ลิน.

Portrait of the Writer Max Herrmann-Neisse, 1925, จอร์จ กรอสซ์, สีน้ำมันบนผ้าใบ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Staatliche Kunsthalle, เยอรมนี.

ทั้งสองเป็นจิตรกรในยุคไวมาร์ของเยอรมัน พวกเขาอยู่ในช่วงสงครามโลกและเห็นความเลวร้ายของสงคราม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาสร้างผลงานศิลปะที่พูดถึงความงามในความอัปลักษณ์ขึ้นมา สไตล์ศิลปะของพวกเขาก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม New Objectivity นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่การจิกกัดเสียดสีสังคมแต่เพียงเท่านั้น หากแต่พวกเขาสำรวจความเป็นมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการทำมันให้ลึกและไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ผมจะไปได้เช่นเดียวกัน” 

มีเรื่องเล่าว่า สองพี่น้องวาร์ชอว์สกี้ (The Matrix) ไปเยี่ยมเยียนแอนเดอร์สันในระหว่างการถ่ายทำ A Pigeon เพราะพวกเขารักหนังเรื่อง You, The Living ของแอนเดอร์สัน และเขาพบว่ามันมีความคล้ายคลึงกันระหว่างงานของแอนเดอร์สันกับงานจิตรกรรมของเยอรมันในยุค 30 และมอบของขวัญซึ่งเป็นหนังสือศิลปะของออโต ดิกซ์ และ จอร์จ กรอสซ์ ให้กับแอนเดอร์สันอีกด้วย อะไรมันจะรู้ใจขนาด!

“โดยส่วนใหญ่ผมจะได้แรงบันดาลใจในการทำงานมาจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นผมยังได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด ภาพถ่าย หรือแม้กระทั่งหนัง แต่ภาพวาดถือเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจเป็นอันดับหนึ่งของผม ตอนเป็นหนุ่มผมอยากเป็นจิตรกร แน่นอน ผมอยากเป็นอีกหลายอย่าง อยากเป็นนักดนตรี อยากเป็นนักประพันธ์ ซึ่งมันดีกับการทำหนัง เพราะเราสามารถเอาองค์ประกอบเหล่านั้นมารวมเข้าไว้ด้วยกันได้ และผมดีใจที่พบว่ามันคืออาชีพของผม สำหรับผมสิ่งที่น่าหลงใหลเกี่ยวกับภาพวาดก็คือ คนสามารถใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ดูมัน แต่ในขณะเดียวกันมันมีหนังน้อยเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกแบบเดียวกันนั้นได้”

ได้รู้ต้นตอแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ของคุณปู่แอนเดอร์สันแล้ว ก็คงไม่รู้สึกแปลกใจว่าทำไมหนัง A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence ของเขาถึงได้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะและสุนทรียะอันลึกซึ้งปนพิลึกพิลั่นด้วยประการฉะนี้นี่เอง

*New Objectivity หรือ สัจนิยมใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ก่อตัวขึ้นในเยอรมนีในช่วงปี 1920 มันเป็นแนวทางที่กลับมาเน้นความเหมือนจริง ชัดเจน เรียบกริบและคมชัด ซึ่งสวนทางกับกระแสศิลปะสมัยใหม่ที่แพร่หลายในยุคนั้นที่เน้นความพร่าเลือนและการแสดงออกของฝีแปรงหรือร่องรอยบนผืนผ้าใบ ศิลปิน New Objectivity นำเสนอภาพและเรื่องในธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ของผู้คน และวัตถุสิ่งของ แต่ในบางครั้งจะขับเน้นให้มีความชัดเจนจนล้นเกิน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นนามธรรมที่อยู่ภายในสิ่งเหล่านั้น ศิลปินในกลุ่มนี้เชื่อว่า ถ้าหากวาดภาพรูปธรรมภายนอกออกมาได้อย่างชัดเจนเฉียบคม ความเป็นนามธรรมที่อยู่ภายในก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นในที่สุด ศิลปินที่มีบทบาทอย่างสูงในกลุ่มนี้คือ ออโต ดิกซ์, จอร์จ กรอสซ์, คริสเตียน แชด และ มักซ์ เบ็กมันน์ เป็นต้น (แต่ในบางตำราก็ถือว่าออโต ดิกซ์ และ จอร์จ กรอสซ์ หาใช่ศิลปินในกลุ่ม New Objectivity ไม่ หากแต่อยู่ในกลุ่ม แวริสม์ (Verism) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะอีกสายหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มากกว่า ชื่อของแวริสม์ มีความหมายแบบเดียวกับสัจนิยม (Realism) โดยรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า verus ที่แปลว่า “ความจริง” ความเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวนี้ถูกมองว่าเป็นปีกซ้าย (ทางการเมือง) ของกลุ่ม New Objectivity และมีลักษณะในการทำงานคล้ายคลึงกัน แต่มุ่งไปที่ประเด็นทางการเมืองมากกว่า ศิลปินแวริสม์เลือกที่จะทำงานใกล้ชิดกับชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง พวกเขามักนำเสนอภาพความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมของคนในเมืองใหญ่ ความหายนะทางสังคมด้วยภาพของทหารผ่านศึกพิการ บุคคลทุพพลภาพ โสเภณี ปิศาจสุรา และคนจรหมอนหมิ่น แต่ก็มีบางครั้งที่วาดภาพความเสื่อมโทรมของชนชั้นสูง ทั้งหมดถูกถ่ายทอดในรูปแบบเหมือนจริงอย่างจะแจ้งไร้การผ่อนปรน ไปจนถึงอัปลักษณ์น่าชัง และขับเน้นความเป็นจริงจนล้นเกินเพื่อเสียดสีถากถางและวิพากษ์วิจารณ์สังคมนั่นเอง)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก: หนังสือ Dix (2010), Eva Karcher สำนักพิมพ์ Taschen เว็บไซต์: http://goo.gl/W2BZk5, http://goo.gl/rk7Y99, http://goo.gl/GeP2IX, http://goo.gl/kWsYUe, http://goo.gl/Mi5ITB, http://goo.gl/X3oJfs

#WURKON #art #movie #royandersson #apigeonsatonabranchreflectingonexistence #huntersinthesnow #pieterbruegel #newobjectivity #สัจนิยมใหม่ #verism #ottodix #georgegrosz #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon

Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30