ศิลปะแห่งการเผชิญหน้าความชั่ว Mad Max: Fury Road
12 มีนาคม 2562
ตอนแรกที่ได้ยินว่าผู้กำกับชาวออซซี่วัย 70 อย่าง จอร์จ มิลเลอร์ จะหยิบเอาหนังแอ็คชั่นสุดคัลต์คลาสสิคขึ้นหิ้งของเขาอย่าง Mad Max (1979) กลับมาทำใหม่ หลังจากที่แกห่างหายจากการทำหนังแอ็คชั่นไปถึง 30 ปี หันไปกำกับและโปรดิวซ์หนังดราม่าครอบครัว/คอเมดี้และแอนิเมชั่นใสๆ อย่าง Lorenzo's Oil (1992), Babe (1995) และ Happy Feet (2006) จนคิดว่าปู่แกหมดไฟและเลิกคิดทำหนังแอ็คชั่นไปเสียแล้ว เรายังอดสงสัยและปรามาสแกไม่ได้เลยว่า “จะไหวเร๊อ?” และพาลคิดไปว่าหนังเรื่องนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับการกินบุญเก่า และเอาของเก่ามาเล่าใหม่ คงจะไม่มีอะไรน่าสนใจและน่าจะแป๊กเหมือนหนังแอ็คชั่นรีบูตอีกหลาย ๆ เรื่องก่อนหน้า แต่หลังจากที่ได้ดูหนังตัวอย่างอันน่าตื่นตะลึงความคิดที่ว่าก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย จนกระทั่งได้ไปดูหนัง ไอ้คลั่งผจญทะเลทราย ฉบับรีบูธอย่าง Mad Max: Fury Road (2015) เข้าให้นั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าคิดผิดโดยสิ้นเชิง
ภาพจากหนัง Mad Max: Fury Road (2015)
เพราะนอกจากหนังจะรื้อฟื้นความดิบเถื่อน มัน เร้าใจ ลุ้นระทึก และความบ้าระห่ำสุดขีดคลั่งของหนังแอ็คชั่นแข่งรถไล่ล่าในสไตล์ Mad Max กลับมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนแทบทำให้หนังแอ็คชั่นในประเภทเดียวกันอย่าง Fast & Furious กลายเป็นหนังดิสนีย์ไปได้แล้ว
มิลเลอร์ยังสร้างหลักไมล์อันใหม่ให้กับหนังแอ็คชั่นในยุคนี้ด้วยงานสตันต์อันแปลกใหม่น่าทึ่ง แต่ก็สมจริงสมจังโดยไม่ต้องพึ่งพิงซีจีจนเกร่อ การแสดงอันเข้มข้นถึงบทบาทของเหล่านักแสดงนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาร์ลีซ เธียรอน ที่โดดเด่นจนแทบจะกลบรัศมีของพระเอกได้เลยทีเดียว
ตัวหนังเองก็ไม่ใช่หนังแอ็กชั่นที่มีเนื้อหาดาษ ๆ ดื่น ๆ เอามันแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่แฝงประเด็นที่ลึกซึ้ง วิพากษณ์วิจารณ์ความเป็นมนุษย์ สังคม ไปจนถึงการเมืองได้อย่างแหลมคมอีกด้วย อีกทั้งมันยังได้รับการยกย่องจากคนดูในกลุ่มเฟมินิสต์ว่าเป็นหนังเชิดชูสิทธิสตรีแห่งปีนี้เลยทีเดียว ทั้งที่มันเต็มไปด้วยรถแข่ง แอ็คชั่นล้างผลาญ ระเบิด เลือด ความตายและพลุ่งพล่านไปด้วยอะดรีนาลีนขนาดนั้น
ด้วยเรื่องราวของโลกในยุคอารยธรรมล่มสลาย มนุษย์โลกขาดแคลนและแย่งชิง อาหาร น้ำ และพลังงานที่เหลือน้อยลงทุกที แม็กซ์ ร็อกคาแทนสกี้ (ทอม ฮาร์ดี้) พระเอกของเราถูกคร่าตัวเข้าสู่อาณาจักรของ อิมมอร์ทัน โจ (ฮิวจ์ เคยส์ ไบรน์) ประมุขเผด็จการผู้ทรงอำนาจที่ครอบครองทรัพยากรที่เหลืออยู่แบบเบ็ดเสร็จและปกครองคนในอาณาจักรอย่างกดขี่เหลื่อมล้ำ โดยมีขุมกำลังเป็นเหล่านักรบหนุ่มกลายพันธุ์สุดคลั่งที่ถูกเรียกขานว่า กุมารสงคราม หรือ War Boys ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ ฟูริโอซา (ชาร์ลีซ เธียรอน) หนึ่งในแม่ทัพของอาณาจักรก่อการกบฏด้วยการลักลอบพาแม่พันธุ์สาวอันเป็นสมบัติล้ำค่าของโจขึ้นรถหนีออกมาเพื่อมุ่งไปหาโลกใหม่ที่ไร้การกดขี่ โดยมีพระเอกของเราจับพลัดจับผลูร่วมขบวนไปด้วย เมื่อนั้นการไล่ล่าอย่างบ้าคลั่งจึงเริ่มต้นขึ้น...
ที่ไม่อาจจะไม่กล่าวถึงได้เลย ก็คืองานด้านภาพอันน่าตื่นตะลึงและโปรดักชั่นดีไซน์อันตระการตาเปี่ยมจินตนาการ จนเรียกได้ว่าเป็นการเอาความเป็นศิลปะมาสอดใส่ในหนังแอ็คชั่นได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบ
ภาพจากหนัง Mad Max: Fury Road (2015) ในฉากต่อสู้กลางอากาศอันบ้าคลั่งของเหล่าวอร์บอยส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากแอ็กชั่นไล่ล่ากลางทะเลทราย ที่กองคาราวานสงครามของ อิมมอร์ทัน โจ กับเหล่ากุมารสงคราม (War boy) และพันธมิตรอันโฉดชั่ว ที่ไล่ตาม แม็กซ์, ฟูริโอซ่า และเหล่าสาวงามแม่พันธุ์ทั้งห้าของโจ ด้วยกองทัพรถสงครามและยุทธวิธีต่อสู้โจมตีกลางอากาศด้วยไม้ค้ำถ่ออันบ้าคลั่งโลดโผนของเหล่าวอร์บอยที่ดู ๆ ไปแล้วมันมีองค์ประกอบทางศิลปะที่พิมประพายคล้ายกับภาพวาดชื่อดังภาพหนึ่งอย่างเหลือเชื่อ ภาพวาดภาพนั้นมีชื่อว่า
The Temptation of Saint Anthony (1946)
The Temptation of Saint Anthony (1946) ซัลบาดอร์ ดาลี, สีน้ำมันบนผ้าใบ
อันเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปนอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) นั่นเอง
ในปี 1946 ดาลีเข้าร่วมการประกวดที่จัดโดยโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน โรเบิร์ต เลวิน ผู้ต้องการหาภาพวาดไปใช้ประกอบการถ่ายทำในหนังที่กำลังจะสร้างขึ้นอย่าง The Private Affairs of Bel Ami (1947) ซึ่งดัดแปลงจากบทประพันธ์ของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส กีเดอโมปาซอง อย่าง Bel Ami โดยภาพวาดที่ว่าต้องอยู่ในหัวข้อ The Temptation of Saint Anthony (การเผชิญหน้ากิเลสของนักบุญแอนโธนี) ศิลปินชาวยุโรปและอเมริกันเลื่องชื่อ 12 คนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันนี้ ซึ่งในจำนวนนั้นจิตรกรเซอร์เรียลลิสม์ที่โดดเด่นอย่าง มักซ์ แอร์นสท์ (Max Ernst) อยู่ด้วย ซึ่งมันเป็นการประกวดเพียงครั้งเดียวที่ดาลีเข้าร่วม ถึงแม้ว่าภาพของเขาจะไม่ถูกเลือกไปใช้ในหนัง (กรรมการเลือกภาพของ มักซ์ แอร์นสท์ ไปใช้ประกอบฉากหนังแทน) แต่ผลงานชิ้นนี้ของเขาก็ได้รับความสนใจจากมหาชนและมีชื่อเสียงโด่งดังจากการที่มันถูกแสดงในนิทรรศการทัวร์ร่วมกับภาพวาดที่เข้าร่วมประกวดภาพอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา
หลังจากประสบความสำเร็จกับการทำงานในหนังของ อัลเฟรด ฮิตซ์ค็อก ในหนัง Spellbound (1945) ดาลีรู้ดีว่าโปรดิวเซอร์หนังของฮอลลีวูดอยากได้ภาพวาดแบบไหนไปใช้ในหนัง (แต่น่าเสียดายที่คราวนี้ใช้ไม่ได้ผล)
The Temptation of Saint Anthony เป็นภาพวาดสีน้ำมันที่อยู่ใน “ยุคคลาสสิค” ของดาลี หรือที่เรียกในอีกชื่อว่า “Dali Renaissance” มันเป็นภาพวาดภาพแรกที่แสดงให้เห็นของถึงความสนใจในสื่อกลางระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ของเขา ภาพของทิวทัศน์คล้ายทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา บนท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆมืดครึ้มให้บรรยากาศราวกับฝันร้ายอันน่าสะพรึง โดยมีนักบวชชราเผชิญหน้ากับจินตภาพของกิเลสตัณหาที่ผุดออกมาจากท้องฟ้า ซึ่งดาลีเรียกว่าเป็น “อาการประสาทหลอนจากความหวาดระแวงต่อกิเลส” โดยมันถูกสะท้อนออกมาเป็นภาพอันเหนือจริงของฝูงสัตว์ประหลาดขนาดมหึมาที่เดินเรียงรายออกมาจากหมู่เมฆ นำขบวนด้วยม้าคลั่ง อันเป็นสัญลักษณ์แทนความมัวเมาในกาม ที่โจนทะยานออกมาหมายเหยียบขยี้ร่างของนักบวชชราให้แหลกราญใต้ฝ่าเท้า ตามติดมาด้วยเหล่าช้างรูปร่างพิสดารที่แบกวัตถุอันเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสตัณหาอยู่บนหลัง ตัวหนึ่งแบกจอกทองคำที่ผุดร่างสาวสะคราญเปลือยชดช้อยเย้ายวนราคะ อีกตัวแบกเสาแหลมรูปทรงคล้ายปิรามิด (ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมช้างแบกเสาโอเบลิกส์ของ จานโลเรนโซ แบร์นินี ที่จัตุรัสเปียซซาเดลลามีแนร์วา ในกรุงโรม) อีกตัวแบกชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมสไตล์อิตาเลียน บนหน้าต่างปรากฎร่างหญิงเปลือยเต้าเต่งเคร่งครัด บนหลังคามีตัวตลกเต้นรำอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์แทนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และตัวสุดท้่ายที่เดินมาแต่ไกลแบกหอคอยสูงล้ำเทียมเมฆ อันเป็นสัญลักษณ์แทนความทะยานอยาก พวกมันเขย่งเกงกอยบนขาเหยียดยาวราวกับแมงมุมที่สูงลิบจนดูเหมือนไร้น้ำหนัก
สัตว์ประหลาด (หรืออันที่จริงคือสัญลักษณ์ของกิเลสตัณหา) ทั้งหลายเหล่านี้ มีท่าทีข่มขวัญนักบุญชราที่ร่างกายเปลือยเปล่า (อันเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอไร้การปกป้อง) ในภาพ จนแทบจะเพลี่ยงพล้ำ แต่เขาก็หยัดกายยันมือซ้ายอยู่บนก้อนหินด้านหลัง มือขวาเหยียดชูไม้กางเขนซึ่งเป็นเครื่องมืออันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ขับไล่ภาพลักษณ์ของปิศาจอันเป็นสัญลักษณ์ของกิเลสอันชั่วร้ายที่อยู่เบื้องหน้า โดยมีหัวกะโหลกปริศนาที่น่าจะเป็นของนักสู้ผู้พ่ายแพ้ในโมงยามก่อนหน้ากองอยู่แทบเท้าของเขา ในหมู่เมฆไกลลิบปรากฏภาพปราสาทเอล เอสโกเรียล ของกษัตริย์เฟลิปเป้ที่ 2 อยู่เลือนราง ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่เป็นลางบอกเหตุแห่งชัยชนะเหนือกิเลสทางโลกย์ทั้งปวงของนักบุญท่านนี้
ดาลีเลือกที่จะวาดภาพวัตถุที่เขาคิดว่ามีจิตวิญญาณ และเปิดเผยพลังอำนาจที่ซ่อนเร้นของมันออกมา เขาเชื่อว่าวัตถุทุกอย่างมีพลังเหล่านี้และปรารถนาที่จะครอบครองมันเอาไว้ด้วยการวาดมันลงบนผืนผ้าใบ โดยสิ่งเหล่านี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากความหลงใหลที่เขามีต่อระเบิดปรมาณู ซึ่งเขารู้สึกว่ามันช่างมีมนต์ขลังและทรงพลัง ด้วยการใช้สไตล์การวาดแบบคลาสสิคอันสมจริง ผนวกกับภาพลักษณ์เหนือจริงอย่างการที่คน สัตว์ สิ่งของอยู่ในสภาวะล่องลอยหรือดูเบาหวิวราวกับไร้น้ำหนัก ดาลีมุ่งหมายที่จะใช้ทัศนธาตุเหล่านี้นำเขาเข้าใกล้กับจิตวิญญาณที่มีอยู่ในสสารทุกอย่าง หรือแม้แต่เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าก็เป็นได้
ปัจจุบันภาพนี้ถูกแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Musée Royaux des Beaux-Arts ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
เรื่องราวของ Temptation of Saint Anthony หรือ กิเลสของนักบุญแอนโธนี ถูกหยิบยกมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ศิลปะและวรรณกรรม มันเป็นหัวข้อที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมตะวันตก ภาพวาดเกียวกับเรื่องนี้ภาพแรกถูกทำขึ้นเป็นภาพฝาผนังแบบปูนเปียกของอิตาลีในศตวรรษที่ 10 ต่อมามันถูกทำเป็นแม่พิมพ์ไม้และภาพวาดในยุคศตวรรษ 1490 มันถูกนำไปถ่ายทอดเป็นภาพวาดของจิตรกรเฟลมมิชชั้นครูอย่าง เฮียโรนิมัส บอส (Hieronymus Bosch) อีกด้วย แต่เวอร์ชั่นที่เป็นที่รู้จักที่สุดกลับเป็นเวอร์ชั่นภาพวาดสีน้ำมันของดาลี ทั้ง ๆ ที่มันแพ้การประกวดและไม่ถูกคัดเลือกไปใช้ในหนังด้วยซ้ำไป
ภาพจากหนัง Mad Max: Fury Road (2015) ในฉากไล่ล่ากลางทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา ที่ทำให้นึกไปถึงภาพวาดทิวทัศน์สไตล์เซอร์เรียสลิสม์อันเวิ้งว้างของดาลีในภาพด้านล่าง
Perspective, 1936 - 1937 ซัลบาดอร์ ดาลี, สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพวาดที่สะท้อนสถานการณ์ของสเปนในช่วงสงครามกลางเมืองในปี 1936
Average Pagan Landscape, 1937 ซัลบาดอร์ ดาลี, สีน้ำมันบนผ้าใบ
ภาพจากหนัง Mad Max: Fury Road (2015)
Los Elefantes (The Elephants), 1948, ซัลบาดอร์ ดาลี, สีน้ำมันบนผ้าใบ
อนึ่ง ถ้าลองคิดดูดี ๆ ธีมในการไล่ล่าของเหล่าวายร้ายกับตัวเอกในหนัง Mad Max: Fury Road ก็บังเอิญไปพ้องกับธีมของภาพวาด The Temptation of Saint Anthony ที่ว่านี้เช่นกัน ดังจะเห็นจากการที่อิมมอร์ทัน โจ และกองทัพผู้ชั่วช้า ไล่ล่าตัวฟูริโอซ่าและเหล่าสาวงามหลากเผ่าพันธุ์ผู้บริสุทธิ์และไร้เดียงสาทั้งห้า (หมายถึงจิตใจน่ะนะ) ที่ดิ้นรนหนีเพื่ออิสรภาพและโลกใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งไม่ต่างอะไรกับองค์ประกอบในภาพวาดของดาลีที่มีภาพของสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายอันเป็นตัวแทนของกิเลสตัณหาที่ดาหน้าเข้าคุกคามนักบุญชราอ่อนแอและเปลือยเปล่าอันเป็นตัวแทนของความดีงาม ความบริสุทธิ์ และอิสรภาพจากบาปทั้งปวง
และมันทั้งคู่ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า การวิ่งหนีความชั่วร้ายไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา หากแต่เป็นการหันไปเผชิญหน้าและต่อสู้กับมันต่างหาก
แถมท้าย สเปรย์สีเงินนั้นท่านได้แต่ใดมา?
ขณะที่ตื่นตะลึงไปกับแอ็คชั่นสุดขีดคลั่งในหนัง Mad Max: Fury Road หลายคนอาจสงสัยกับพฤติกรรมของตัวละคร "กุมารสงคราม" หรือ War Boys ผู้บ้าระห่ำ ที่ชอบเอาสเปรย์สีเงินโครเมียมพ่นใส่ปากยามกระโจนสู่สมรภูมิ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่ก็ดูเจ๋งดี
บ้างก็อาจคิดว่าการพ่นสีเงินโครเมียมที่ส่องประกายเรืองรอง (แบบเดียวกับการพ่นเคลือบโครเมียมรถยนต์ให้แวววาว) อาจจะเป็นหนทางในที่ช่วยพวกเขาไปสู่ "วาลฮาลา" แดนสวรรค์แห่งเกียรติยศอันเป็นนิรันดร์ของเหล่านักรบผู้ยอมพลีชีพในสงคราม ที่หยิบยืมมาจากตำนานเทพปกรณัมนอร์ส ของชาวยุโรปเหนือ
ผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ movies.com ว่า เขาได้ไอเดียของการสร้างสัญลักษณ์ในการเข้าสู่สมรภูมิจากการดูสารคดีสงครามเรื่อง Frontline (1981) ของ เดวิด แบรดบิวรี
"ผมดูสารคดีเรื่องนี้และเห็นว่า ในช่วงสงคราม ทหารหนุ่มกัมพูชาจะมีจี้พระหยกห้อยคออยู่ และจะเอาพระอมใส่ปากไว้เวลาที่ออกไปรบ"
Frontline เป็นดีวีดีสารคดีที่บันทึกภาพสงครามกัมพูชาในวันที่กรุงพนมเปญแตก ซึ่งในสารคดีจะเห็นทหารอมจี้พระเล็กๆ ห้อยอยู่ในปากในขณะที่กำลังรบอยู่
สารคดีเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่มิลเลอร์ และตอบคำถามว่าทำไมเขาถึงให้วอร์บอยส์ในหนังพ่นสเปรย์สีเงินโครเมียมใส่ปาก เพราะมันคือพิธีกรรมก่อนที่พวกเขาจะออกรบ และเหมือนกับจี้พระของทหารกัมพูชา สีเงินโครเมียมจะช่วยให้พวกเขาไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่ายามสิ้นชีพ มันจะนำพวกเขาไปสู่วาลฮาลานั่นเอง
อีกอย่าง สเปรย์สีเงินโครเมียมน่าจะแทนสัญลักษณ์ของ รถยนต์ น้ำมัน และสารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าของโลกหลังอารยธรรมล่มสลายในหนังเรื่องนี้ และเป็นสัญลักษณ์ของอันตรายของการเสพติดสารระเหยและสารเคมี และอาการมึนเมาไร้สติราวกับเสพยาของเหล่าตัวละครวอร์บอยส์จนทำให้พวกเขาลืมตัวและกระโจนเข้าสู่สถานการณ์อันตรายอย่างไร้ความลังเล
ปอลอ สำหรับใครที่อยากเท่ระห่ำแบบ War Boys ในหนัง ก็อย่าเพ่อเอาสเปรย์กระป๋องพ่นสีรถจริงๆ ไปพ่นใส่ปาก เพราะแทนที่จะได้ไปวาลฮาลาก็อาจต้องโดนหามเข้าโรงบาลไปเสียก่อน แถมตอนนี้เข้าก็มีคนทำสเปรย์สีเงินโครเมียมที่ทำจากสีผสมอาหารให้ซื้อมาพ่นใส่ปากให้เท่ระห่ำกันแบบในหนังกันแล้วด้วย
สนใจก็ลองไปซื้อหากันเอาเองได้ที่ https://goo.gl/SaL0iC
ข้อมูล/ภาพ : หนังสือ Salvador Dali : 1904-1989 (2007) โดย Robert Descharnes / Gilles Neret / Salvador Dali สำนักพิมพ์ Taschen, Koln, Dali : the centenary retrospective (2004) โดย Dawn Ades / Salvador Dali สำนักพิมพ์ Thames & Hudson, ลอนดอน
เว็บไซต์ http://goo.gl/iBHYCp, http://goo.gl/7wi8MB, http://goo.gl/pyQMNw
เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
#WURKON #Art #movie #madmaxfuryroad #salvadordali #thetemptationofsaintanthony #silverspraypaint #warboy #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon