วิเคราะห์งานดีไซน์สไตล์มินิมอลในหนัง ฮาวทูทิ้ง
08 พฤษภาคม 2563
หลังจากหนังกลับมาฉายให้ชมกันอีกครั้งทาง Netflix ฮาวทูทิ้ง (2019) ไหนๆ ก็ไหนๆ เราก็ถือโอกาสขอเกาะกระแสไปด้วยเลยก็แล้วกัน
ด้วยความที่ได้ยินหลายคนบอกว่าออฟฟิศใหม่ของ "จีน" ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ที่ตกแต่งใน "สไตล์มินิมอล" ดูเหมือนมิวเซียมหรือแกลเลอรี ซึ่งในแง่นี้เราเห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว
จริงอยู่ พื้นที่ของออฟฟิศใหม่ของจีนในหนังนั้นดูเหมือนมิวเซียมหรือแกลเลอรีโมเดิร์นอาร์ต แต่เหมือนแค่ Space เปล่าๆ เท่านั้น ซึ่งจะว่าไป Space แบบ "White Cube" อันเรียบง่ายของมิวเซียมหรือแกลเลอรีโมเดิร์นอาร์ต นั้นก็ไม่ได้ถูกทำให้ขึ้นเพื่อความเท่ๆ ชิคๆ คูลๆ หากแต่มีฟังก์ชั่นในการเป็นฉากหลังอันเรียบง่าย ไม่ขโมยซีนงานศิลปะที่แสดงอยู่ภายใน และขับเน้นให้งานเหล่านั้นลอยเด่นขึ้นมาจากพื้นที่สีขาวเบื้องหลัง การแสดงงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่บางแห่งถึงกับไม่ใส่กรอบภาพวาด เพื่อไม่ให้รบกวนผลงานด้วยซ้ำไป
การสร้าง Space อันว่างเปล่าขาวโพลนโดยไม่ได้มีฟังก์ชั่นอื่นใดนอกจากความเก๋ไก๋แบบมินิมอล (ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรฟเฟอร์เรนซ์ในหนังสือและอินเตอร์เน็ต) จึงเป็นความกลวงเปล่าทางดีไซน์ประการหนึ่ง ซึ่งในแง่นี้อาจเป็นความจงใจของผู้กำกับ ที่ต้องการแสดงออกถึงลักษณะนิสัยและตัวตนของตัวละครนี้ก็เป็นได้
และอันที่จริง "สไตล์มินิมอล" แบบที่เห็นในบ้านของจีนในหนัง ฮาวทูทิ้ง นั้น ก็ไม่ได้เป็นงานดีไซน์แบบมินิมอลลิสม์แท้ๆ ด้วยซ้ำไป เพราะรากฐานของงานดีไซน์แบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) นั้น นอกจากจะโดดเด่นด้วยสุนทรียะแห่งความเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดอันยุ่งเหยิง รังเกียจการตกแต่งประดับประดา หัวใจสำคัญอีกประการของมันคือการเน้นประโยชน์ใช้สอย และที่สำคัญ ต้องมีความซื่อตรงต่อวัสดุ และแสดงออกถึงเนื้อแท้ของวัตถุอย่างที่มันเป็นจริงๆ การเอาวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหล็ก” มาทำสีขาวเพื่อให้ดูคลีนๆ แบบ "มินิมอล" ที่เห็นในหนังนั้นจึงเป็นอะไรที่ไม่ค่อยจะมินิมอลจริงๆ สักเท่าไหร่
ยกตัวอย่างเช่นงานออกแบบอาคารของ ลุดวิก มีส์ ฟานเดอร์โรห์ เจ้าของประโยคอมตะในดวงใจของชาวมินิมอลลิสต์อย่าง "less is more” ที่นอกจากจะเน้นความเรียบง่าย ลดทอนการตกแต่งประดับประดาอย่างสุดขั้วแล้ว ยังดึงเอาทุกองค์ประกอบและรายละเอียดของงานดีไซน์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในด้านสุนทรียะ และขับเน้นพื้นฐานของประโยชน์ใช้สอย รวมถึงแสดงออกถึงเนื้อแท้ของวัสดุไปพร้อมๆ กัน ในงานออกแบบอาคารบางหลังของมีส์ จึงมักจะมีการออกแบบให้องค์ประกอบเดียวสามารถใช้งานได้หลายฟังก์ชั่น เช่นออกแบบให้ส่วนหนึ่งของอาคารเป็นเครื่องทำความร้อนหรือเตาผิงกับห้องน้ำในพื้นที่เดียวกัน
แนวคิดทางดีไซน์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเองจากกระบอกไม้ไผ่ หรือหล่นมาเองจากฟากฟ้าสุราลัยเฉยๆ แต่อย่างใด หากแต่เกิดจากบริบทและปัจจัยแวดล้อมรายรอบ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่อิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรม อ่านเกี่ยวกับอิทธิพลทางศิลปะในงานสถาปัตยกรรมมินิมอลลิสต์ได้ที่นี่ https://bit.ly/2JMqBhf
กลับมาที่หนัง ฮาวทูทิ้ง โดยส่วนตัวเรากลับมองว่าบ้านของจีนตอนที่ยังไม่ได้รีโนเวทเป็นออฟฟิศ กลับดูมีเสน่ห์และมีชีวิตชีวามากกว่าด้วยซ้ำไป (ถ้าจัดให้รกน้อยลงนิดและตกแต่งอีกสักหน่อย) หรือแม้แต่การตกแต่งภายในของบ้านของ “เอ็ม” ตัวละครผู้เป็นแฟนเก่าของจีน ซึ่งเราได้ยินมาว่าได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านของนักออกแบบมินิมอลลิสต์ตัวพ่ออีกคนอย่าง ดีเทอร์ รามส์ (Dieter Rams) ที่ถึงจะมีความเรียบ นิ่ง น้อย แต่ก็ยังคงดูอบอุ่น มีชีวิตชีวา และขับเน้นการใช้งาน ไม่แห้งแล้งเย็นชาเหมือนกับออฟฟิศใหม่ของจีน ที่ดูๆ ไปแล้วไร้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับห้องเก็บอัฐิตอนท้ายเรื่อง
พื้นที่เช่นนี้ต่างหาก ที่ดูเป็นพื้นที่ที่ออกแบบให้สำหรับอยู่อาศัยและใช้งานจริงๆ โดยไม่ต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัว หรือใช้ชีวิตอยู่ภายในพื้นที่นั้นด้วยความเกร็งว่าตัวเองจะทำให้ห้องสะอาดเรียบเนี้ยบกริบเปื้อนเปรอะมลทินจนไม่รู้จะเอาตัวเองไปวางไว้ตรงไหนดี
เพราะถึงแม้มินิมอลจะดูชิคเท่เก๋คูล แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็อยากอยู่อาศัยในบ้านที่สามารถทำตัวสบายๆ และนั่งชันเข่ากินข้าวได้อย่างสบายใจ เหมือนในสำนวนของคุณ จูน เซคิโนะ มากกว่า ว่าไหมครับท่านผู้อ่าน.
ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ฮาวทูทิ้ง และคุณเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ Nawapol Thamrongrattanarit
#WURKON #howtoting #movie #architect #design #minimalist #modernism #ludwigmiesvanderrohe #productiondesign #style #ฮาวทูทิ้ง #concept #แรงบันดาลใจจากงานออกแบบ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon