Blog

เยือนสตูดิโอศิลปะ และพูดคุยสบายๆ กับ ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ผู้บุกเบิกงานศิลปะไทยประเพณีแบบร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

เยือนสตูดิโอศิลปะ และพูดคุยสบายๆ กับ ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ผู้บุกเบิกงานศิลปะไทยประเพณีแบบร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

19 สิงหาคม 2562

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินคนสำคัญที่สุดผู้หนึ่งในวงการศิลปะไทย เขาเป็นศิลปินชาวไทยผู้สร้างชื่อเสียงจากการผลงานสร้างสรรค์และพัฒนางานศิลปะไทยแบบประเพณีให้มีความก้าวหน้าร่วมสมัยและมีความเป็นสากล จนกลายเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เขาคิดค้นและแสวงหาแนวทางในการผลักดันขอบเขตของงานศิลปะไทยแบบประเพณีให้ขยับขยายก้าวไกลออกไปอย่างไม่รู้จบ โดยมีรากเหง้าแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาแห่งศาสนาพุทธ ผนวกกับสถานการณ์รอบตัว เหตุบ้านการเมือง หรือแม้แต่สถานการณ์รอบโลก ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า ปัญญา วิจินธนสาร

ปัญญาจบการศึกษาศิลปบัณฑิต ภาควิชาศิลปไทย จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับประกาศนียบัตรศิลปภาพพิมพ์จากสถาบัน Slade School of Fine Arts University College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เขาได้รับรางวัลทางศิลปะต่างๆ มากมาย ทั้งรางวัลที่ 1 งานนิทรรศการศิลปกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 4 โดยธนาคารกรุงเทพ, รางวัลที่ 2 งานนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 26 เป็นอาทิ

ในปี พ.ศ. 2528 เขาร่วมกับศิลปินไทยร่วมสถาบันอย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เดินทางไปร่วมรังสรรค์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วัดพุทธปทีป ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมีทีมศิลปินไทยอีกหลายคนตามไปร่วมสมทบจนแล้วเสร็จในปี 2530 และสร้างชื่อเสียงให้ผลงานศิลปะไทยแบบประเพณีร่วมสมัย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ปัญญายังเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ร่วมถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการวาดภาพจิตรกรรมไทยประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ในปี พ.ศ. 2538 เขาได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2557

ล่าสุด ปัญญาเป็นหนึ่งในตัวแทนศิลปินไทยไปร่วมแสดงผลงานในศาลาไทย (Thailand Pavilion) เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ในปี 2562 (58th Venice Biennale 2019) อีกด้วย

ในครั้งนี้เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสตูดิโอทำงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ในย่านศาลายา และได้พูดคุยสัพเพเหระกับเขาเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของเขาที่ผ่านมา มาร่วมกันรับฟังไปพร้อมๆ กันเถอะ




WURKON:
ตอนนี้อาจารย์ยังสอนที่ภาคศิลปะไทย คณะจิตรกรรมฯ ศิลปากรอยู่ไหมครับ

ปัญญา:
ตอนนี้ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย (ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยศิลปากร) เลยไม่ได้สอนแล้ว แต่ผมก็แนะนำทางคณะนะ ว่าน่าจะสร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นมาเลย หลักสูตรอาร์ตเทคโนโลยี ที่ทำงานศิลปะด้วยสื่อสมัยใหม่หมด ซึ่งไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเรียนการสอนเยอะ อีกอย่างก็คือ การเรียนการสอนแบบ Academic ทำงานจิตรกรรม ประติมากรรมแบบโบราณ เขียนรูปแบบ Old Master (ศิลปินชั้นครูยุคโบราณ) ให้ได้ เอาศิลปินเก่งๆ จากต่างประเทศมาสอน การเขียนรูปแบบโบราณเนี่ย ถ้าเรารู้เทคนิควิธีการ ว่าลงสีไหนก่อน ใช้พู่กันอะไร ขึ้นรูปแบบไหน ถ้าเราได้เรียน เราทำได้หมด

WURKON:
อย่างงานจิตรกรรมไทยประเพณีของศิลปินชั้นครูยุคโบราณก็น่าจะมีสอนนะครับ เพราะเวลาเห็นจิตรกรรมฝาผนังเก่าๆ บางวัดที่ถูกซ่อมแซมแบบผิดๆ แล้วเสียดายมาก

ปัญญา:
ใช่ เพราะเขาไม่ได้เอาคนเก่งๆ ไปซ่อมไง เวลาซ่อม ถ้าจะเขียนเติมลงไป ต้องเอาคนที่มือถึง ๆ อย่างที่คุณเห็นเนี่ย ถ้าไปดูละเอียดจริงๆ นี่ไม่ได้เลย ดูรู้เลยว่าเขียนซ่อมไม่ดี

WURKON:
อาจารย์เป็นศิลปินจิตรกรรมไทยประเพณีร่วมสมัยคนแรกๆ ที่เอาวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างการ์ตูนมาผสมเข้าไปผลงาน สมัยเด็กๆ อาจารย์อ่านการ์ตูนอะไรบ้างไหมครับ

ปัญญา:
สมัยก่อนก็จะชอบงานการ์ตูนที่ ราช เลอสรวง เขียน ตอนผมยังเด็กมีหนังสือชื่อ “เด็กก้าวหน้า” กับ “ชัยพฤกษ์” หนังการ์ตูนส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือการ์ตูนของ ราช เลอสรวง หรือ จุก เบี้ยวสกุล ที่เขียน เจ้าชายผมทอง ผมก็ชอบ คนวาดการ์ตูนบ้านเราไม่ค่อยได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ถ้าจะให้ศิลปินแห่งชาติไม่รู้จะไปอยู่สาขาไหน วรรณกรรม เขาก็บอกว่าไม่ใช่ ผมว่าน่าจะอยู่ในหมวดทัศนศิลป์ แต่บ้านเรายังไม่เปิดกว้างพอ

WURKON:
อย่างที่ญี่ปุ่นเขายกย่องให้การ์ตูนเป็นศิลปะประจำชาติเลย

ปัญญา:
ใช่ หรืออย่างงานวาดภาพประกอบเนี่ย เขาก็ไม่ให้อยู่ในหมวดวรรณกรรมหรือทัศนศิลป์ ของศิลปินแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ศิลปินหลายคนทำงานได้ถึงมากๆ

WURKON:
ตอนเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร อาจารย์ปัญญาเป็นนักศึกษาภาควิชาศิลปะไทยรุ่นแรกๆ เลยใช่ไหมครับ

ปัญญา:
รุ่นที่สอง เฉลิมชัยเป็นรุ่นแรก ส่วนผมเป็นรุ่นที่สอง

WURKON:
ทำไมถึงเลือกเรียนภาควิชาศิลปะไทยเหรอครับ

ปัญญา:
ตอนนั้นที่ผมเลือกเรียนศิลปะไทยก็เพราะอยากเรียนกับอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เพราะตอนนั้นท่านเป็นคณบดี จะไม่ค่อยได้สอน แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนตั้งภาควิชานี้ขึ้นมา ก็เลยลงมาสอนเอง เราอยากเรียนกับอาจารย์ เพราะท่านมีความรู้เยอะ ก็เลยเลือกเรียนศิลปะไทย เพราะว่าจะได้เรียนกับท่านโดยตรง

WURKON:
อาจารย์เป็นคนทำงานคนแรกๆ ที่เอากลิ่นอายของงานตะวันตกมาผสมกับภาพวาดแบบไทยประเพณี

ปัญญา:
ใช่ เพราะเมื่อก่อน เขาจะเน้นให้เราทำงานแบบไทยประเพณีมากๆ

WURKON:
แล้วอาจารย์ทำอะไรแหวกแนวแบบนี้ เขาไม่ว่าอะไรเหรอคับ

ปัญญา:
ไม่นะ เพราะตอนทำงาน เราใช้เทคนิคดั้งเดิมแบบไทยประเพณี เทคนิคทุกอย่างเป็นแบบไทย ความคิดในงานของเราก็มาจากความเป็นไทยประเพณี เพียงแต่เรามาสร้างรูปแบบขึ้นใหม่เท่านั้นเอง

WURKON:
หมายถึงรูปแบบการนำเสนอใช่ไหมครับ

ปัญญา:
ใช่ ตอนทำงานใหม่ๆ เราก็ใช้รูปแบบของงานแบบไทยประเพณี แต่พอทำๆ ไป รูปแบบนี้มันพูดแทนความคิดเราไม่ได้ เราก็เลยต้องสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่

WURKON:
เป็นงานจิตรกรรมไทยที่ดูไซไฟเหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์เลย

ปัญญา:
ใช่ รายละเอียดยังเป็นแบบไทยอยู่ แต่โครงสร้างของเรื่องราวทั้งหมดในภาพวาด มันเป็นร่วมสมัย เราพูดถึงความเป็นปัจจุบันแล้วไง ไม่ได้พูดถึงประวัติพระพุทธเจ้า ไม่ได้พูดถึงสังคมไทยในอดีต

WURKON:
รายละเอียดในงานของอาจารย์ที่บอกว่าเป็นแบบไทยนี่คืออะไรเหรอครับ

ปัญญา:
ก็ใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม คือสีฝุ่นบนกระดาษ แล้วงานสีฝุ่นเนี่ย ผ่านไปหลายปีกลับมาดูอีกที สีก็ยังเหมือนเดิมเป๊ะเลย ไม่มีซีด สีน้ำมันบางทียังมีซีด เพราะสมัยนั้น Pigment (สารสี) ของสีฝุ่นดีมากแล้วเวลาเราผสมกาวเนื้อสีจะแน่น แล้วเราเขียนบนกระดาษสาผนึกบนผ้าใบ เวลาเขียน สีพวกนี้จะซึมไปในเนื้อกระดาษ ทำให้สีอยู่คงทนไม่เปลี่ยนเลย อย่างสีน้ำมันเนี่ย ถ้าเราใช้ตัวผสมสีที่ไม่มีคุณภาพ พอเวลาผ่านไประยะหนึ่งสีก็จะเปลี่ยน ยุคนั้นสมัยที่เราเรียนศิลปะไทยใหม่ๆ อาจารย์เขายังไม่รู้ศิลปะไทยจะเป็นอะไร เขาก็เลยให้เจาะจงให้เราใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมก่อน

WURKON:
แล้วใครสอนเทคนิคแบบโบราณพวกนี้ให้เหรอครับ

ปัญญา:
ไม่มี เราก็ค้นคว้าเอาเอง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแนวทางการเรียนการสอน ก็เลยต้องหากันเอาเอง อย่างพื้นเฟรมวาดรูปเนี่ย เราใช้ผ้าดิบเอามาลงพื้นด้วยดินสอพองผสมกาว เป็นเทคนิคโบราณแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็นตามวัด พื้นจะเรียบเนียนกว่าผืนผ้าใบธรรมดา เพราะเวลาเขียนภาพศิลปะไทยแบบโบราณ เราตัดเส้นกันละเอียด เลยต้องทำพื้นให้เรียบเนียน ผ้าใบมันหยาบ เขียนละเอียดไม่ได้ อย่างกาวที่ใช้ผสมดินสอพอง เราก็ซื้อเม็ดมะขามเอามาคั่ว แล้วต้ม แล้วก็เอามากรอง เป็นกาวผสมดินสอพอง ทำพื้นเฟรม



กาวเม็ดมะขามผสมดินสอพองสำหรับเตรียมพื้นเฟรมวาดภาพจิตรกรรมไทย

ตอนนี้ภาควิชาศิลปะไทยที่คณะจิตรกรรม ม. ศิลปากร ก็กลับมารื้อฟื้นเทคนิคนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะถ้าไม่มีใครทำ เทคนิคเก่าๆ เหล่านี้ก็จะหายไป แล้วเทคนิคโบราณจริงๆ อย่างสีฝุ่นเนี่ย มันวาดได้ละเอียดมาก วาดได้ง่ายกว่าสีอะครีลิคด้วยซ้ำ ตอนนี้ภาควิชาศิลปะไทย กำลังริเริ่มที่จะทำสีขึ้นมาเอง เอาวัตดุดิบ แร่ธาตุ อัญมณี หรือเทอร์คอยซ์มาบดให้เป็นสี เรากำลังจะรื้อฟื้นเทคนิคโบราณกลับมาใช้อีกครั้ง เรากำลังหาทุนให้ภาควิชาศิลปะไทยทำโครงการนี้อยู่

WURKON:
คือผลิตสีขึ้นมาใช้เองเลย

ปัญญา:
ใช่ ทำตัว Pigment ขึ้นมาเอง เหมือนศิลปินญี่ปุ่นแบบประเพณีในปัจจุบันขาก็ทำสีกันเองนะ อย่างพวกภาพพิมพ์ Woodcut (ภาพพิมพ์แกะไม้) ก็ยังทำสีแบบโบราณใช้กัน แล้วสีพวกนี้ถ้าเก็บดีๆ มันก็อยู่ได้นานมาก ถึงแม้จะเป็นงานกระดาษ Collector (นักสะสม) ของไทยหลายคน ไม่ชอบงานกระดาษกัน เพราะกลัวว่าจะดูแลยาก แต่งานกระดาษ ถ้าดูแลให้ดีก็มีอายุหลายร้อยปีนะ

WURKON:
อย่างงานของ วิลเลียม เบลค ที่เป็นเป็นงานกระดาษ สีสันอะไรก็ยังดูดีอยู่มาก

ปัญญา:
ใช่ ถ้าเขายอมรับงานกระดาษกัน เราว่างานภาพพิมพ์ก็จะบูมมากกว่านี้

WURKON:
อย่างงานภาพพิมพ์โลหะของโกยา (Francisco Goya) ก็เป็นงานที่ดีมากๆ

ปัญญา:
ใช่ ตอนเราเรียนอยู่อังกฤษ เราชอบงานภาพพิมพ์ของโกยามาก แล้วก็ภาพพิมพ์ของเรมบรันดท์ (Rembrandt) และ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer) งานภาพพิมพ์เนี่ย มันแปลกอย่างหนึ่งนะ เทคนิคมันค่อนข้างเยอะ ต้องมีวิธีการคิด การวางแผน บางอย่างงานจิตรกรรมทำไม่ได้ แต่เทคนิคภาพพิมพ์ช่วยได้เยอะ เราว่ามันตื่นเต้นมาก สนุก

WURKON:
นอกจากงานศิลปะไทยและภาพพิมพ์แล้ว ได้ยินว่าอาจารย์เป็นศิลปินอยู่ในกลุ่มไวท์ (White Group) (กลุ่มศิลปินในช่วงทศวรรษที่ 2520 ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอผลงานจิตรกรรมโดยเทคนิคสีน้ำ) อาจารย์ทำงานสีน้ำด้วยเหรอครับ

ปัญญา:
ใช่ ก็อยู่ด้วยกันตั้งแต่ปีแรกๆ ในสมัยนั้น แล้วเราก็ไปเรียนอังกฤษ ก็ทำงานสีน้ำที่นั่น กลับมาถึงได้กลับมาแสดงงานด้วยกัน งานสีน้ำที่เราทำก็ไม่ได้เขียนแบบชุ่มๆ เหมือนที่เขาเขียนกันสดๆ อะไรนะ เราก็ค่อยๆ แตะ ค่อยๆ เขียนทับซ้อนไปเรื่อยๆ ก็จะทำชิ้นเล็กหน่อย เพราะช่วงที่เราไปวาดภาพอยู่ที่วัดพุทธปทีป เราไม่ค่อยมีเวลาเยอะมาก ชิ้นก็เลยไม่ใหญ่ สีน้ำก็จะสะดวกกว่าสีน้ำมันหน่อย เพราะเรานั่งทำงานในที่แคบๆ ได้

WURKON:
ที่อาจารย์ไปวาดภาพที่วัดพุทธปทีป นี่มีที่มายังไงเหรอครับ



ปัญญา:
ตอนแรกผมกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (และ ปาง ชินะสาย) อาสาไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังให้วัดพุทธปทีป โดยไม่คิดค่าจ้าง มูลนิธิวัดพระพุทธศาสนา ณ กรุงลอนดอน ก็ให้ทุนเป็นค่าตั๋วเครื่องบินให้เราไป และค่าสีให้นิดหน่อย เราก็ไปอยู่ที่วัด กินข้าววัด ตอนไปอยู่ที่โน่นเราก็หาเงินมาซื้อสีซื้ออุปกรณ์ด้วย ทำงานหาเงินสารพัดทุกอย่าง ตอนวาดภาพในวัดเราก็เปิดให้คนเข้ามาดู คนเขาก็มาหยอดตู้ เราทำเป็นโครงการให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร คนที่เขาเข้ามาดูเขาก็มาบริจาคกัน แล้วเราก็จัดงาน Thai Night ปีละครั้ง กับคนไทยที่โน่น หาเงิน จัดงานเลี้ยง จัดปาร์ตี้ตามโรงแรม พวกศิลปินสมัยนั้นเป็นทุกอย่าง เป็นทั้งนักดนตรี เป็นนักร้อง หางเครื่อง เป็นหมด (หัวเราะ) ไปรับจ้างเขียนรูปติดร้านอาหารก็มี ซ่อมแซมบ้านคนยังมีเลย ตอนแรกผมไปกันสามคน แล้วตอนหลังก็มีลูกศิษย์ตามไปทำด้วย พอดีตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Slade School of Fine Art อยู่ด้วย

WURKON:
ได้ยินว่าตอนไปเรียนที่โน่นอาจารย์เรียนภาพพิมพ์เหรอครับ

ปัญญา:
ใช่ เรียนภาพพิมพ์ ที่ผมเลือกเรียนภาพพิมพ์ก็เพราะว่าเราไม่เคยเรียน แล้วในยุคเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผมคิดว่าไปเรียนภาพพิมพ์แล้วกลับมาจะมาทำงานพิมพ์ เพราะคิดว่าในอนาคต ภาพพิมพ์น่าจะเป็นที่นิยม เพราะผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในคอนโด น่าจะแขวนรูปเล็กๆ ในบ้าน

WURKON:
ตอนอยู่ที่นั่นได้เรียนอะไรบ้างครับ

ปัญญา:
ก็เรียนทุกอย่าง เพราะเราไม่มีพื้นเลย แต่ว่าไปเรียนที่อังกฤษนี่ดีอย่าง คือเขามีศิลปินที่เป็นเทคนิเชียน ให้เราสเก็ตซ์งาน แล้วเขาจะให้คำแนะนำ ว่าเราควรทำเทคนิคไหน มีผู้ช่วย ทำให้เราสามารถทำงานได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน ตอนเรียนศิลปากรเราต้องเรียนพื้นฐานทุกอย่าง

WURKON:
แล้วอาจารย์เอาเวลาไหนไปเขียนรูปที่วัดพุทธปทีปเหรอครับ

ปัญญา:
ตอนนั้นเราก็กะว่าจะไปเรียนกลางวัน เขียนรูปที่วัดตอนกลางคืน แต่ตอนนั้นไปใหม่ๆ เราก็คิดว่าจะทิ้งเฉลิมชัยอยู่คนเดียวได้ยังไง ก็เลยคิดว่า เดี๋ยวเขียนรูปที่วัดเสร็จ เราค่อยกลับไปเรียนต่อ แต่พอเขียนวัดเสร็จ กลับมาทำงานเมืองไทยต่อ ทำงานแสดงที่ต่างๆ ก็เลยไม่ได้กลับไปเรียนต่อจนจบ ก็ได้รับเป็นประกาศนียบัตรมาแทน

พอเขียนรูปที่วัดวัดพุทธปทีปเสร็จกลับมา เราตั้งใจจะทำให้งานภาพพิมพ์ให้กลายเป็นงานที่เป็นที่นิยมในแวดวงศิลปะให้ได้ เพราะคิดว่าคนที่อยู่คอนโดก็ต้องอยากได้รูปศิลปะไปแขวนอยู่แล้ว แล้วพวกงานภาพพิมพ์ก็ราคาไม่แพง คนซื้อได้ง่าย แต่ก็ทำได้ไม่กี่ชิ้นนะ ตอนที่กลับมา เพราะพอเราไม่มีสตูดิโอภาพพิมพ์ ก็ทำงานไม่สะดวก ตอนนี้ก็สู้เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะว่างานเขาไปไกลกว่าเราเยอะ

WURKON:
แต่สมัยก่อนอาจารย์ก็เป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะไทยแบบประเพณีให้ก้าวหน้าและมีความเป็นร่วมสมัยมากขึ้น

ปัญญา:
เพราะเราเป็นคนทำแบบนี้เป็นรุ่นแรกไง เราก็แค่ทำก่อน ก็เลยได้เปรียบคนอื่นเท่านั้นเอง

WURKON:
อย่างการที่อาจารย์ไปร่วมเขียนภาพจิตรกรรมไทยในหนังสือพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก นี่มีที่มายังไงเหรอครับ





ปัญญา:
ในหลวงรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ท่านทรงโปรดทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก แต่ท่านอยากให้ภาพจิตรกรรมในหนังสือพระมหาชนกเป็นงานแบบสมัยใหม่ด้วย ไม่ใช่ภาพวาดแบบโบราณอย่างเดียว เพราะท่านทรงตรัสว่า มหาชนกไม่ใช่เรื่องโบราณ แต่เป็นเรื่องที่ยืนยาวมาเป็นหมื่นๆ ปี ครอบคลุมไปถึงอนาคต เนื้อหาในมหาชนกจึงไม่ใช่เรื่องในอดีต

แล้วพอดีท่านได้ทรงทอดพระเนตรเห็นงานที่พวกเราเขียนวัดพุทธปทีป ท่านก็เลยทรงตรัสถามว่าใครเป็นคนวาด ท่านตรัสว่าท่านทรงโปรดผลงานที่วัดพุทธประทีป ที่พวกเราเอาเรื่องสมัยใหม่เข้าไปอยู่ในงานจิตรกรรมไทยประเพณี ตอนแรกก็เสนอศิลปิน 8 คน ที่เคยไปวาดภาพที่วัดพุทธปทีปไปให้ท่านทรงเลือก ท่านก็ทรงตรัสว่า ให้ทำด้วยกันทั้งหมด 8 คน เลย พวกเราก็เลยมานั่งเลือกกันว่าใครจะเขียนตอนไหน

ผมก็ได้เขียนเรื่องพระมหาชนก ตอนสงครามกลางเมือง เราก็ใส่เรื่องสมัยใหม่ลงไป เอารถถัง เทคโนโลยีสมองกล เอาภาพวาด Guernica (1937) ของปิกัสโซที่ที่เป็นเรื่องสงครามกลางเมือง ใส่ลงไปด้วย ท่านก็ไม่ทรงว่าอะไร ท่านทรงโปรดที่เราเอาเรื่องสมัยใหม่ใส่เข้าไปด้วย

ช่วงนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงประทับรักษาพระอาการประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พวกเราก็จะเอางานทั้งหมดไปให้ท่านทรงทอดพระเนตรทุกขั้นตอนที่นั่น ท่านก็ทรงตรวจละเอียดมากๆ ทรงทุ่มเทกับหนังสือเล่มนี้มาก





อ้อ มีรูปนึง ผมเขียนลงในเฟรมยาว แต่พอลองเอาไปวางในหนังสือแล้วไม่ลงตัว ผมเลยต้องเขียนใหม่ โดยแบ่งเป็นสองรูป แต่ก็เอามาต่อกันได้ (อาจารย์เดินเข้าไปหยิบรูปออกมาตั้งให้ดู) รูปเดิมนี้เลยเลยเขียนค้างไว้ตั้งแต่ตอนนั้น เคยคิดว่าจะมานั่งเขียนให้เสร็จ แต่ยังไม่มีเวลา พอดี สมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ทรงทอดพระเนตรเห็นรูปเดิม ท่านก็ทรงตรัสว่า เก็บเอาไว้อย่างนี้แหละ ไม่ต้องเขียนให้เสร็จ ก็เลยปล่อยเอาไว้แบบนี้ (ยิ้ม)

WURKON:
สมัยก่อนจำได้ว่ามีงานชุดนึงอาจารย์ใช้เทคนิคนึงที่สวยมาก คือเทคนิคที่อาจารย์เอาเตารีดนาบบนกระดาษจนกลายเป็นลวดลายแปลกๆ ขึ้นมา มันคืออะไรเหรอครับ


Our Universe (1991), เตารีด, สีอะครีลิคบนกระดาษ ภาพจาก http://rama9art.org/panya/index.html 

ปัญญา:
อันนี้คือกระดาษที่เขาใช้เล่นคีโน (Keno - เกมชนิดหนึ่งที่ใช้การสุ่มจับหมายเลข คล้ายๆ กับลอตเตอรี) ในคาสิโนที่ออสเตรเลีย ผมเคยเข้าไปเล่นสนุกๆ ไม่ได้ชอบอะไร แล้วเห็นเขาทิ้งกระดาษที่เล่นคีโนไว้เกลื่อน ผมรู้สึกเสียดาย เลยเก็บเอามาทำงาน แรกๆ ผมเอามาเพนต์ด้านหลัง เพราะกระดาษเนียนมาก แต่กระดาษมันบาง พอโดนสีก็พอง โค้งงอ ผมเลยเอาเตารีดรีดให้เรียบ ด้วยความที่กระดาษเขาเคลือบคาร์บอนเอาไว้ พอโดนความร้อนสูงก็เกิดเป็นคราบคาร์บอนขึ้นมา สวยงามมาก (เปิดหนังสือให้ดูงาน) สังเกตดูจะเห็นเป็นรอยเตารีด หลังๆ ผมเริ่มควบคุมการรีดให้เป็นรูปทรงได้ ด้วยความที่มันเป็นแผ่นเล็ก ผมก็เอามาต่อกัน จัดวางให้เป็นงานชิ้นใหญ่

WURKON:
แล้วตอนนี้หากระดาษแบบนี้มาทำงานได้อีกไหมครับ

ปัญญา:
หายาก ไม่มีแล้ว ก็ใช้เท่าที่เก็บมา ปกติเราคิดว่าวัสดุเหลือใช้จะหาง่าย ราคาถูก แต่ที่หายากและแพงก็มี อย่างพวกอะไหล่รถที่เอามาทำงานนี่ก็ไม่ได้ถูกๆ นะ

WURKON:
อย่างงานชิ้นนี้ที่เอาไปแสดงที่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2018 ที่จังหวัดกระบี่ใช่ไหมครับ

ปัญญา:
ใช่ งานนี้เราเอาฝากระโปรงรถโฟล์กเต่ากับกันชนมาทำให้เป็นเหมือนแมลงมุม ทำเอาไว้ 8 ตัว หายากเหมือนกันนะ อย่างงานชิ้นนี้ (ชี้ไปที่งานสื่อผสมที่ทำขึ้นจากตู้ยาโบราณ) ข้างบนก็เป็นบังโคลนแก้มรถโฟล์คเต่าเก่า เราเอามาต่อกันเป็นกลีบดอกไม้













WURKON:
ทำไมช่วงหลังอาจารย์ถึงหันมาทำงานกับวัสดุเหรอครับ

ปัญญา:
จริงๆ แล้วผมชอบทำงานกับวัสดุมากกว่านะ สมัยตอนเรียนศิลปะไทย ผมทำงานสองแนว แนวนึงคือวาดภาพจิตรกรรมไทย ส่วนอีกแนวทำเป็นวัสดุ อาจารย์ที่สอนก็แนะนำว่าให้ผมเลือกทำงานจิตรกรรม เพราะมันไปได้ไกลกว่า แต่จริงๆ ผมสนใจงานที่เป็นวัสดุ เพราะตัววัสดุทำให้เราคิดอะไรได้มากขึ้น แต่งานจิตรกรรมเราก็ยังทำเป็นหลักไปได้เรื่อยๆ นะ

WURKON:
อาจารย์ไปหาวัสดุพวกนี้มาจากไหนเหรอครับ

ปัญญา:
ก็พวกร้านของเก่า เชียงกงทั้งหลาย อย่างประตูอันนี้ซื้อมาจากร้านของเก่า ยังไม่ได้ทำเลย (ชี้ไปที่ประตูเก่าอันใหญ่ที่อยู่ในสตูดิโอ) จะเอามาทำกับเพ้นติ้ง

WURKON:
เวลาทำงานกับวัสดุพวกนี้ อาจารย์คิดงานก่อนแล้วค่อยไปหาวัสดุ หรือเห็นวัสดุแล้วค่อยคิดงาน

ปัญญา:
เราต้องเห็นวัสดุก่อน เราถึงจะคิดงานได้ อย่างพวกอะไหล่รถยนต์เนี่ย เราเห็นเวลาแยกชิ้นส่วนออกมา มันสวยมาก เราไม่ใช่คนที่ขับรถเก่งอะไรนะ แต่เราชอบดูรถ ชอบดีไซน์ของรถ เราว่ามันเหมือนงานศิลปะ มันลงตัวมากนะ เวลาเขาออกแบบรถ ตัดแต่ละเซคชั่น เส้นแต่ละเส้นจะมาเชื่อม โค้งแต่ละโค้งจะมารับกันยังไง มันเป็นการทำงานศิลปะชั้นสูงมาก (คุณบัญชา ผู้ช่วยอาจารย์ปัญญาเสริมว่า อาจารย์เคยมี Maserati Sakato ปี 70s แต่ขายไปแล้ว เพราะในยุคนั้นมีข่าวว่าประเทศไทยจะเลิกขายน้ำมันเบนซิน 95 อาจารย์ก็เลยขายไปให้นักสะสมท่านหนึ่ง)

Maserati มันเร็วมาก เราเอาไม่ค่อยอยู่ แล้วเป็นรถพวงมาลัยซ้ายด้วย เราไม่ได้ขับประจำ เพราะไม่ชำนาญ เครื่องมันแรงเกินไป พวกนักขับรถซิ่งจะชอบ ตอนหลังก็เลยขายไป แต่ก็ยังเสียดายอยู่เลยนะ เราทำออกมาจนสมบูรณ์ เราไม่ใช่นักขับรถ แต่เราชอบดีไซน์ของมัน เวลาเห็นพวกอะไหล่รถถูกถอดมาแต่ละชิ้น เราว่ามันสวยมาก หลังๆ เราก็เลยเอามาคิด เอามาทำเป็นงานศิลปะ เพราะเสียเงินกับรถเยอะ เลยต้องเอามาทำประโยชน์บ้าง (หัวเราะ)



ถ่ายภาพโดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ
ขอบคุณ 137 Pillars Suites & Residences Bangkok เอื้อเฟื้อการเดินทาง

#WURKON #art #panyawijinthanasan #nationalartist #thaiart #thaitraditionalart #contemporaryart #thaimuralpaintings #buddhapadipa #temple #wimbledon #london #วัดพุทธปทีป #พระมหาชนก #venicebiennale #thailandbiennale #object #mixmedia #oldcar #spareparts #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัย www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON  
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30