Blog

ศิลปะแห่งแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นแรงบันดาลใจให้การออกแบบงานสร้างหนังรางวัลออสการ์ The Shape of Water

ศิลปะแห่งแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นแรงบันดาลใจให้การออกแบบงานสร้างหนังรางวัลออสการ์ The Shape of Water

15 มีนาคม 2562

The Shape of Water (2017) หนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวเม็กซิกัน กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ที่เล่าเรื่องราวของ เอไลซ่า (แซลลี ฮอว์กินส์) พนักงานทำความสะอาดสาวไร้เสียง ที่ทำงานในศูนย์วิจัยของรัฐบาล และบังเอิญได้พานพบกับสิ่งมีชีวิตประหลาดครึ่งบกครึ่งน้ำ รูปร่างคล้ายมนุษย์ปลา ที่ถูกจับมาคุมขังและทำการทดลองอยู่ที่นั่น เธอแอบทำความรู้จักกับเขาและค่อยๆ สนิทสนมจนเกิดเป็นความรักในที่สุด

นอกจากเรื่องราวของความรักโรแมนติกอันสุดแสนจะพิสดาร ในรูปแบบของเทพนิยายอันมืดหม่นหดหู่ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งตราตรึงใจผู้ชม จนทำให้หนังคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ รวมถึงรางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ

นอกจากสามรางวัลที่กล่าวมาแล้ว The Shape of Water ยังคว้ารางวัลสำคัญอีกรางวัลจากเวทีออสการ์ คือ รางวัลออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม จากงานสร้างสรรค์ฉากอันงดงามเปี่ยมจินตนาการในหนัง จากฝีมือการออกแบบของ พอล ดี. ออสเทอร์เบอร์รี (Paul D. Austerberry) โปรดักชั่นดีไซเนอร์ชาวแคนาดา และ เชน เวียล (Shane Vieau) กับ เจฟฟรีย์ เอ. เมลวิน (Jeffrey A. Melvin)

ฉากที่โดดเด่นฉากหนึ่งในหนังคือฉากอาคารศูนย์วิจัยของรัฐบาล ที่เป็นอาคารคอนกรีตมหึมาแบบบรูทัลลิสต์ (Brutalist) (ก่อนที่ออสเทอร์เบอร์รีจะเข้าวงการภาพยนตร์ เขาเรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรม) ภายในอาคารถูกออกแบบให้เหมือนโลกใต้บาดาล ที่เต็มไปด้วยท่อเหล็กขึ้นสนิม และกระเบื้องสีครีมอมเขียวสเปียร์มินต์ บันไดสเต็ปเตี้ยของอ่างน้ำในห้องทดลองที่ใช้ขังมนุษย์ปลา ทำให้นึกไปถึงสถาปัตยกรรมของชาวสุเมเรียนในแถบดินแดนเมโสโปเตเมียที่เรียกว่า ซิกกูแรต (Ziggurat) ซึ่งมีลักษณะคล้ายพีระมิดแบบขั้นบันได แต่จะไม่ก่อสร้างสูงจนเป็นยอดแหลมเหมือนกับปิรามิดของชาวอียิปต์ ในขณะที่แผงท่อน้ำบนผนังด้านหลังสระ ทำเป็นลักษณะเหมือนรัศมีทรงกลมเหมือนกับวิหารสุริยะเทพของฮินดู

ฉากภายในอาคารศูนย์วิจัยของรัฐบาล อันโดดเด่นอลังการด้วยงานสถาปัตยกรรมสไตล์บรูทัลลิสต์

ฉากห้องควบคุมในศูนย์วิจัยของรัฐบาลในหนัง ที่ใช้โทนสีครีมอมเขียว

ฉากอ่างน้ำในห้องทดลองที่ใช้ขังมนุษย์ปลาในหนัง

อีกฉากที่โดดเด่นเป็นเอกที่สุดในหนัง ก็คือฉากอพาร์ตเมนต์ของ เอไลซ่า นางเอกของเรื่อง ที่ตั้งอยู่ชั้นบนเหนือโรงหนังเก่าแก่สุดหรูหรา การตกแต่งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าต่างโค้งในห้อง นั้นได้แรงบันดาลใจจากหนังคลาสสิคในปี 1948 อย่าง The Red Shoes ซึ่งเป็นหนังโปรดในดวงใจของ เดล โตโร และเขาเองก็เป็นคนเลือกโรงละคร Massey Hall Performing Arts เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากนี้ โดยดัดแปลงให้มันกลายเป็นโรงภาพยนตร์คลาสสิค เพื่อเป็นการแสดงการคารวะหนังในดวงใจเรื่องนี้ และแสดงถึงความหลงใหลของเขาต่อสองสิ่ง นั่นคือ “ภาพยนตร์” และ “รองเท้าสตรี” ผ่านตัวละครเอกอย่างเอไลซ่านั่นเอง

ฉากอพาร์ตเมนต์ของเอไลซ่า

ฉากโรงหนังเก่าอันหรูหราที่อยู่ใต้อพาร์ตเมนต์ของเอไลซ่า

ฉากอพาร์ตเมนต์ของเอไลซ่า ที่ถูกตกแต่งให้มีช่องว่างระหว่างพื้นไม้กระดาน เพื่อให้แสงจากโรงหนังด้านล่างเล็ดลอดขึ้นมาจนดูคล้ายกับระยับแดดที่สะท้อนบนผิวน้ำ

ฉากในหนัง The Red Shoes (1948)

ถึงแม้ในตอนแรก เดล โตโร ต้องการจะถ่ายทำหนังเรื่องนี้เป็นขาวดำ แต่เขาก็พิถีพิถันกับการเลือกเฟ้นสีและรายละเอียดของการตกแต่งฉากในหนังเป็นอย่างมาก ออสเทอร์เบอร์รี ผู้ออกแบบงานสร้าง กล่าวว่า

“ในวันแรกของการถ่ายทำ กีเยร์โมเอาตัวอย่างสีกล่องใหญ่ของ Benjamin Moore มา เพื่อให้เลือกใช้เป็นโทนสีของฉากและเครื่องแต่งกายของตัวละครในหนัง โดยเราต้องเลือกกันทีละสี เพราะเขาต้องการให้โทนสีเป็นตัวแทนของตัวละครแต่ละตัวโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็น สีของ เอไลซ่า นางเอกของเรื่อง, สีของ สตริกแลนด์ (ไมเคิล แชนนอน) ตัวร้ายของเรื่อง, สีของ ไจล์ส (ริชาร์ด เจนกินส์) จิตรกรสูงวัยเพื่อนบ้านของนางเอก ท้ายที่สุด เราเลือกสีมาจำนวน 100 สีจากทั้งหมด 3,500 สี

ฉากในห้องอพาร์ตเมนต์ของไจล์ส ที่ตกแต่งในสไตล์ย้อนยุค และใช้สีเหลืองมัสตาร์ด และสีน้ำตาลอมเขียว

ภายในอพาร์ตเมนต์ของ เอไลซ่า เดล โตโร ต้องการให้มีสีเขียวอมฟ้า, สีน้ำเงินเข้ม และสีน้ำเงินอมเขียว เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับน้ำ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพและโลกของเธอ ส่วนอพาร์ตเมนต์ของไจล์ส จะเป็นแบบย้อนยุคกว่าหน่อย และใช้สีเอิร์ธโทนที่ดูอบอุ่น อย่างสีเหลืองมัสตาร์ด สีน้ำตาลอมเขียว เช่นเดียวกับอพาร์ตเมนต์ของ เซลดา (ออกเตเวีย สเปนเซอร์) เราใช้โทนสีแดงกับคาแรกเตอร์ของเอไลซ่านิดหน่อย อย่างเช่น รองเท้าแดงที่เธอรักและหลงใหล และโทนสีของฉากในช่วงเวลาโรแมนติกในจินตนาการกับมนุษย์ปลา ที่เขาและเธอเริงลีลาศกันในโรงหนังต่อหน้าผู้ชมนั่นเอง”

ส่วนบนผนังของอพาร์ตเมนต์ ตกแต่งด้วยวอลเปเปอร์แบบแองโกล-เจแปนนิส (ที่เป็นส่วนผสมของศิลปะญี่ปุ่นผสมกับศิลปะวิกตอเรียนโกธิค) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวอลเปเปอร์ลายเกล็ดปลาที่เรียกว่าลาย อีสต์เลค (Eastlake) โดยโปรดักชั่นดีไซเนอร์ เชน เวียล เสาะหาวอลเปเปอร์เหล่านี้มาจากบริษัทเล็กๆ ในแคลิฟอร์เนียชื่อ Bradbury & Bradbury ที่ทำวอลเปเปอร์ด้วยเทคนิคซิลค์สกรีนด้วยมือแบบดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุคดีไซน์วิคตอเรียนเฟื่องฟู ซึ่งบริษัทนี้ออกแบบลวดลายของวอลเปเปอร์โดยดัดแปลงมาจากวอลเปเปอร์เก่าแก่ในยุค 1877 จากคอลเล็คชั่นของพิพิธภัณฑ์ดีไซน์ Cooper Hewitt ซึ่งดีไซน์แบบแองโกล-เจแปนนิสเป็นอะไรที่นิยมอย่างมากในยุคนั้น ซึ่งออสเทอร์เบอร์รีโปรดปรานมาก เพราะมันมีลวดลายเหมือนเกล็ดปลาในภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ (Woodblock printing) ของญี่ปุ่นนั่นเอง

วอลเปเปอร์ลายเกล็ดปลา อีสต์เลค (Eastlake) ของบริษัท Bradbury & Bradbury

ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปะแบบญี่ปุ่นยังแฝงเร้นเป็นรายละเอียดอันน่าทึ่งในฉากนี้อย่างแนบเนียน จนผู้ชมอาจสังเกตไม่เห็น โดยรายละเอียดที่ว่านี้ได้แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นเอกของศิลปินอุกิโยเอะระดับปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวญี่ปุ่นแห่งยุคเอโดะ อย่าง โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) นั่นเอง โดยออสเทอร์เบอร์รีกล่าวว่า

“เราต้องการให้ทุกอย่างในโลกของเธอถูกนิยามหรือถูกก่อร้างสร้างขึ้นโดย “น้ำ” อย่างตรงตามตัวอักษร อย่างเช่น เราเล่นกับช่องว่างระหว่างพื้นไม้กระดาน ให้แสงจากโรงหนังด้านล่างเล็ดลอดขึ้นมาจนดูคล้ายกับระยับแดดที่สะท้อนบนผิวน้ำ เราออกแบบให้หลังคาของอพาร์ตเมนต์รั่วจนน้ำไหลลงมาในรูปแบบที่แตกต่างกันแปดรูปแบบ และมีรอยคราบน้ำรอยใหญ่บนกำแพง กรอบหน้าต่างและวอลเปเปอร์เองก็ได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของเกล็ดปลาในภาพพิมพ์ญี่ปุ่น

ส่วนคราบน้ำบนกำแพง จริงๆ เราจะทำไปแบบมั่วๆ ก็ได้ แต่ผมต้องการทำอะไรที่มีความหมายมากกว่านั้น สำหรับผม ภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” (The Great Wave off Kanagawa, 1829–1833) ของโฮะคุไซ เป็นหนึ่งในภาพ “รูปร่างของน้ำ” (Shape of Water) ที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งที่ผมเคยเห็นมา มันเป็นภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้เลื่องชื่อของญี่ปุ่น ที่เป็นภาพของคลื่นยักษ์ในทะเล ในขั้นตอนแรก เราวางโครงร่างเป็นภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ว่ามันจะดูเป็นยังไง ตอนแรกผมก็กังวลอยู่เหมือนกัน เพราะมันดูตรงตัวเกินไป แต่กีเยร์โมเห็นแล้วก็ชอบมันนะ

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ (1829–1833), ผลงานชิ้นเอกของ โฮะคุไซ, ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี

ภาพ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ ของโฮะคุไซ ที่ถูกวาดลงบนกำแพงห้องอพาร์ตเมนต์ของเอไลซ่า และตกแต่งให้ภาพหลุดร่อน ใส่รอยเปื้อนให้ดูเก่าแก่คร่ำคร่า และล้างสีออกจนเลือนหายไปในกำแพง เหลือไว้แต่ร่องลอยเลือนรางจนแทบจะสังเกตไม่เห็น

หลังจากนั้นเราก็วาดภาพนี้ลงบนกำแพงห้องอพาร์ตเมนต์ของเอไลซ่า ด้วยปูนปลาสเตอร์รองพื้นสี เพื่อให้ดูมีมิติกว่าภาพแบนๆ โดยวางตำแหน่งให้ดูเหมือนคลื่นโหมกระหน่ำใส่ประตูทางเข้า แต่พอกีเยร์โมมาเห็น ก็บอกกับผมว่ามันดูเหมือนภาพวาดจนชัดเจนเกินไป เราเลยทำให้ภาพหลุดร่อน ใส่รอยเปื้อนให้ดูเก่าแก่คร่ำคร่า และล้างสีออกจนมันเลือนหายไปในกำแพง เหลือไว้แต่ร่องลอยเลือนรางจนแทบจะสังเกตไม่เห็น ดังที่ปรากฏในหนัง”

นอกจากการออกแบบงานสร้างที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพอุกิโยเอะของญี่ปุ่นแล้ว การออกแบบสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวละครเอกของเรื่องอย่าง มนุษย์ปลา ที่นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากสัตว์ประหลาดครึ่งบกครึ่งน้ำในหนังสยองขวัญคลาสสิคอย่าง Creature from the Black Lagoon (1954) แล้ว สีโทนเหลืองและดำบนตัวมนุษย์ปลาเองก็ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมากจากสีของเกล็ดของ “โค่ย” (Koi) หรือ ปลาคาร์พ ในภาพอุคิโยเอะของศิลปินญี่ปุ่นระดับปรมาจารย์อย่าง โฮะคุไซ หรือ คุนิซาดะ (Utagawa Kunisada) อีกด้วย

งานออกแบบและตกแต่งชุดและหน้ากากของมนุษย์ปลาในหนัง

Yakusha-e Carp (จับปลาคาร์พ) ผลงานของ อุตากาวะ คุนิซาดะ, ภาพพิมพ์ไม้สอดสี, ภาพจาก http://www.japanese-finearts.com/item/list2/A1-92-304/Toyokuni-III-(Kunisada)/Yakusha-e-Carp

แบบนี้สินะ ที่เขาเรียกว่า ศิลปะส่องทางให้แก่กัน จริงๆ อะไรจริง!

อ่านเกี่ยวกับโฮะคุไซได้ที่นี่ https://goo.gl/c3yNVH, https://goo.gl/PWfcLR

อ่านเกี่ยวกับอุกิโยเอะได้ที่นี่ https://goo.gl/4dgpBo

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://goo.gl/7o3YKK, https://goo.gl/YirCdP, https://goo.gl/HxmMmc

#WURKON #movie #theshapeofwater #guillermodeltoro #awards #oscars #winner #paulausterberry #productiondesign #productiondesigner #interiordesign #water #thegreatwaveoffkanagawa #hokusai #japanese #woodblock #ukiyoe #koi #inspiration #แรงบันดาลใจจากศิลปะ #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon


Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30