สนทนากับนักออกแบบระดับแนวหน้าของไทยผู้ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างศิลปะและกราฟิกไซน์ : สันติ ลอรัชวี
16 มีนาคม 2562
ถ้าพูดถึงชื่อ สันติ ลอรัชวี คนรักงานกราฟิกดีไซน์คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะนักออกแบบกราฟิกชั้นแนวหน้าของไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง แพรคทิเคิล สตูดิโอ (Practical Design Studio) สตูดิโอออกแบบชั้นนำของประเทศไทย เจ้าของผลงานออกแบบปกหนังสือของสำนักพิมพ์ openbooks มากมายหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นในชุด Wisdom Series อันประณีตงดงาม ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และปกหนังสือ มูซาชิ อันเรียบง่ายเฉียบคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานการออกแบบปกหนังสือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มาน เฮสเซ ฉบับภาษาไทย ที่ออกแบบและผลิตอย่างประณีต พิถีพิถัน และงดงามราวกับเป็นงานศิลปะ และพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพียงแค่ 1,000 เล่ม โดยเปิดให้เข้าไปจับจองทางออนไลน์ ก็สร้างปรากฏการณ์ด้วยการที่หนังสือถูกจองจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาแค่ 12 ชั่วโมง
นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ออกแบบนิทรรศการศิลปะและการออกแบบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ Show Me Thai ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) โตเกียว, นิทรรศการ The Mekong Art and Culture Project (2006) และ Talk About Love หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG), เขายังเป็นผู้ปรับปรุงสัญลักษณ์และอัตลักษณ์องค์กรให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG)
เขายังเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรมทางดีไซน์อย่าง “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย” (I am a Thai Graphic Designer™) (2009) และ Somewhere Thai (2010) ที่สร้างความคึกคักให้กับวงการดีไซน์ของไทยที่สุดในรอบหลายปี
เขาได้รับรางวัล Designer of the Year สาขาการออกแบบกราฟิกจากนิตยสาร Wallpaper* และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นนักออกแบบกราฟฟิกชาวไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน Graphic Trial โครงการประจำปีที่สำรวจความก้าวหน้าด้านกราฟิกดีไซน์และการแสดงออกเกี่ยวกับศิลปะการพิมพ์ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Printing Museum ที่โตเกียว ในปี 2018
ปัจจุบันนอกจากจะเป็นนักออกแบบแล้ว เขายังเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, เป็นผู้บรรยายพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ และเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับนิตยสารหลากหลายหัว
ด้วยความที่เราเป็นแฟนผลงานของเขามาเนิ่นนาน เราจึงถือโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนเขาถึงสตูดิโอ แพรคทิเคิล ในตึกหน้าตาย้อนยุคแต่เก๋ไก๋ย่านซอยทองหล่อ เพื่อพูดคุยกับเขาถึงต้นตอของแนวคิด แรงบันดาลใจ และกระบวนในการทำงานออกแบบของเขา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาฟังเรื่องราวจากเขากันเถอะ
WURKON:
แรกเลย คุณสันติหันมาสนใจงานด้านกราฟิกดีไซน์ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
สันติ:
ก็ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา ผมเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จริงๆ ตอนนั้นก็เริ่มรู้จักคำว่า กราฟิกดีไซน์ หลังจากปีสอง ไม่ได้มีอะไรมาก อาจเพราะแค่เราต้องเลือก เพราะเมื่อก่อนงานกราฟิกมันอยู่ภายใต้อิทธิพลของงานโฆษณา งานกราฟิกที่มันค่อนข้างชัดเจนไม่ได้มีอยู่ในหัวนักศึกษาเท่าไรหรอก มันก็ถูกเรียกว่า พาณิชย์ศิลป์ ใช่ไหม เราก็รู้จักมันผ่านงานโฆษณา แต่พอยุคที่ผมเข้าไปเรียน จริงๆ ในบ้านเราก็เริ่มมีบริษัท สามหน่อ มี แปลน กราฟิค เริ่มมีแมกกาซีนเข้ามา มีหนังสือบ้างในห้องสมุด คำว่า กราฟิกดีไซน์ ที่มีความเฉพาะตัว ที่ไม่ได้อยู่ในซอกหลืบของงานโฆษณา เริ่มเข้ามาสู่การรับรู้ของนักเรียน ก็คำถามตอนเรียนไม่มีอะไรซับซ้อน นอกจากว่า จะทำงานโฆษณา หรือทำงานกราฟิก แล้วเรารับรู้ผ่านอะไร? ก็รับรู้ผ่านจริตตอนทำงานส่งอาจารย์นั่นแหละ ผมก็รับรู้มันผ่านงานง โลโก้, Corporate Identity, โปสเตอร์ ที่เป็นเชิง Corporate หน่อย รับรู้ผ่านงานโฆษณา ในวิชา Advertising ทำ Campaign Ads โน่น นี่ นั่น เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งก็ถ่ายรูป ทำสาย Production ทำงานวิดีโอ ตอนนั้นมิวสิควีดีโอกำลังบูม อาร์เอส แกรมมี่ เพื่อนก็จะแบ่งเป็นประมาณ 3-4 กลุ่มที่ระเบิดตัวเองออกไปทำงานสายต่างๆ จุดตัดอีกอันหนึ่งก็เป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ Macintosh ที่เข้ามาตอนปีที่ผมกำลังจะจบ ผมเป็นคนหนึ่งที่โหวตไม่เรียน ไม่อยากเรียน (หัวเราะ) ทำมือยังไม่รอดเลย จะให้หัดใช้เครื่องมือใหม่อีก (หัวเราะ)
WURKON:
ไม่อยากเรียนคอมพิวเตอร์?
สันติ:
เขามีให้โหวตกันไง ว่าต้องเรียนไหม? เพราะว่ามันเป็นวิชาเลือก เพราะมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาซื้อเครื่องเข้ามาในยุคต้นๆ แล้วก็สุดท้ายเพื่อนในห้องก็โหวตว่าจะเรียน เครื่องมันก็ไม่พอใช้น่ะ โชคดีว่า เราตัดสินใจคุยกับที่บ้าน ตอนนั้นก็รับจ็อบอะไรด้วย ขอซื้อคอมพิวเตอร์ แพงมาก
WURKON:
คอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องเป็นแสนเลยใช่ไหมครับ ตอนนั้น
สันติ:
ใช่ๆ ตอนนั้นผมซื้อเครื่อง Macintosh IIVX ไปแสนกว่าบาท ซึ่งเกรงใจที่บ้านมาก แต่ว่าก็ทำให้เราไม่หลุดวงโคจรเนอะ
WURKON:
เป็นยุคที่เริ่มเปลี่ยนจากงานทำมือเป็นคอมพิวเตอร์?
สันติ:
ใช่ มันเป็นช่วงที่ผมจบพอดี เป็นแบบจุดเปลี่ยนผ่านใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้เลย ผมจบไปต้องทำอาร์ตเวิร์กด้วยมืออยู่แหละ แต่ว่าในออฟฟิศก็มีคอมพิวเตอร์แล้ว กับเครื่องพรินต์เลเชอร์ แทนที่เราต้องไปร้านทำโบรไมด์ (Bromide) เหมือนเมื่อก่อน เพื่อไปทำคอมพิวต์ เราก็สามารทำคอมพิวต์เองได้ เพราะเครื่องพรินต์ Laser Jet A 600 DPI มันเริ่มมา ที่ออฟฟิศมีตัวหนึ่ง ตัวหนึ่งก็หกเจ็ดหมื่นนะ ขนาด A4 เนี่ย เราก็ทำเหมือนคอมพิวต์นั่นแหละ เราก็พรินต์มันออกมาแล้วก็มาตัด ติดๆๆๆ
WURKON:
ก็ยังทำมืออยู่ดี?
สันติ:
ใช่ คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน รุ่นผมไม่ต้องไปบริษัททำโบรไมด์ละ ตอนเรียนยังต้องไปอยู่ แต่พอจบออกมา โอ้โห! เครื่องพรินต์เลเซอร์นี่มันปลดล็อกชีวิตเราเลย โคตรเวิร์ค แต่ว่าไม่ได้ทำเสร็จในคอมพิวเตอร์เลยนะ ก็ต้องพรินต์ออกมาตัดแปะอยู่ดี แต่ก็ดีกว่านะ ไม่ต้องไปรอเลือกฟ้อนต์ที่บริษัทคอมพิวต์ ยุคนั้นถือว่าเร็วมากก ใช้โปรแกรม Adobe Illustrator จัดตัวหนังสือโค้งได้เนี่ย เฮกันเลย รอดละ! ไม่งั้น ถ้าคุณทำตัวหนังสือโค้ง คุณก็ต้องมาวัดองศา คุณต้องตัดตัวหนังสือแล้วเอาเบสไลน์มาวางๆๆ อ้าวผิด ลอกใหม่ ทำไปเป็นวันน่ะ กว่าจะได้ตัวหนังสือเฮดไลน์ที่มันโค้ง หรือทำโลโก้แล้วตัวหนังสือโค้งล้อมโลโก้เนี่ย โอ้โห ต้องนั่งคำนวณความกว้างของตัวหนังสือ ช่องไฟ แล้วก็มานั่งติดๆๆๆ แต่ Illustrator มันทำได้ในหนึ่งนาทีน่ะ คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมมันก็คงอารมณ์นี้มั้ง
WURKON:
เหมือนเป็นวิวัฒนาการ
สันติ:
ช่วงยุค 90 มันถึงเกิดอาการ ตื่นคอมพิวเตอร์ น่ะครับ มันก็มี เดวิด คาร์สัน (David Carson) มีอะไร เกิดขึ้นมา ดีไซน์เนอร์ยุคนั้นมันปลดล็อค มันก็เลยเกิดงาน Grunge (Typography) ขึ้นมา กูไม่สนใจเหตุผลแล้ว กูทำได้ กูอึดอัด กูใส่มันเข้าไป ผมก็เลือกเดินสายงานกราฟิกนั่นแหละครับ เพราะไม่ชอบงานโฆษณา มันยากไป สำหรับเรา เพราะมันต้องอธิบายเยอะ ต้องพูดโน้มน้าวเยอะกว่า
WURKON:
กับลูกค้า?
สันติ:
กับอาจารย์นั่นแหละ มันดูเหมือนต้องมีไอเดียแหลมคม ซึ่งผมว่ามันเหนื่อยเกินไป ถ้าชีวิตเราจะต้องมานั่งคิดอะไรว้าวๆ ทุกวัน
WURKON:
เรียนโฆษณาในยุคนั้นจบไปก็ไปเป็นครีเอทีพใช่ไหม
สันติ:
ใช่ ในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นครีเอทีฟ ก็ทำหนังโฆษณา คือทำงานมันเหมือนจะต้องมีประโยคเด็ดอะไรบางอย่างตลอดเวลา ก็จะรู้สึกไม่ชอบ แต่เรียนได้เกรดเอนะ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางที่เราจะชอบมัน ผมชอบงานที่จับต้องได้จริงๆ มากกว่า แล้วตอนนั้นเริ่มรับนิตยสารอ่านกัน พอดีผมได้อ่าน Manifesto ของ เคน การ์แลนด์ (Ken Garland) ปี 1964 ตอนปีสี่ ทำธีสีส เพราะทำธีสิสเป็นหนังสือพิมพ์ออกแบบ ก็เลยต้องนั่งแปลพวกแมกกาซีนเมืองนอก แปลบทสัมภาษณ์ดีไซน์เนอร์อะไรอย่างนี้ ตอนนั้นยังเด็ก ๆ ยังไม่รู้อะไรมาก ก็รู้สึกว่า Manifesto ฉบับนี้มันโคตรเท่ คือมันเป็นเอกสารฉบับหนึ่งที่ ดีไซน์เนอร์ในยุคปี 64 เซ็นชื่อกัน First Things First manifesto ของ Ken Garland บอกว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะไม่ใช้ทักษะของตัวเองขายสินค้า ขายอะไรที่ก่อให้เกิดระบบบริโภคนิยมจนเกินพอดี, กราฟิกดีไซน์มีเจตจำนงหรือมีศักยภาพที่จะทำอะไรอีกหลายเรื่องที่มีประโยชน์มากกว่านั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จะไม่ใช้ทักษะตัวเองตอบสนองสิ่งเหล่านั้น แต่จะใช้ตอบสนองในด้านอื่นที่มีประโยชน์มากกว่านั้น หรือว่าสิ่งที่มันทำให้โลก ไม่ว่าโลกใหญ่หรือโลกเล็ก ให้มันดีขึ้น โอ้โห! โคตรเท่เลย ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไร แค่คิดว่ามันเท่ ก็รู้สึกว่า เออ อยากเป็นอย่างนั้นเหมือนกันโว้ย ก็เป็นจุดเล็กๆ ไม่มีอะไรมาก แต่แน่นอนว่ามันก็ขัดแย้งกับงานโฆษณาเต็มๆ ก็เลยทำให้ผมมาสายกราฟิกนี่แหละ แล้วพอดีอาจารย์กฤษดา วงศ์อารยะ อาจารย์ที่ปรึกษาเขาชวนไปทำงานด้วย ก็ได้ไปทำงานในตำแหน่งกราฟิกดีไซน์เนอร์ ช่วงที่ผมเรียนปีสี่ ทำธีสีส ท่านก็เปิดสตูดิโอกราฟิกพอดี ตอนนั้นเป็น In-house ของบริษัท อรุณชัยเสร คอนซัลติ้ง ที่บริหารงานตึกช้าง ที่รัชโยธิน ตอนนั้นก็ไปอยู่ในทีมของเขา สตูดิโอชื่อ Vivid Design ทำงานสื่อสารของตึกช้างเป็นหลัก ก็ค่อนข้างโชคดี เพราะตอนที่เข้าไปนี่ตัวอาคารกำลังเพิ่งขึ้น แล้วมันเป็นอาคารขนาดใหญ่ ทุกวิชาการออกแบบมันจะอยู่ในนั้นหมด โฆษณาก็ต้องทำแหละ เพราะต้องขายห้อง ขายอะไรด้วย แต่ก็ได้ทำ Corporate Identity, Signage ด้วย ผมทำอยู่ประมาณปีครึ่ง แล้วก็ออกมาเริ่มทำสตูดิโอของตัวเองครั้งแรก
WURKON:
ตอนนั้นสตูดิโอชื่ออะไรเหรอครับ
สันติ:
ตอนนั้นชื่อ FLYDAY พอดีเพื่อนกับพี่ชายของเขาเปิดบริษัทตกแต่งภายใน แล้วเขาอยากจะเปิดแผนกกราฟิก เขาถามเราตั้งแต่เราเรียนจบ เราก็บอกว่าเราอยากทำงานนั้นก่อน แต่พอผมทำงานกับอาจารย์ ด้วยความห่าม ด้วยความเป็นวัยรุ่น เราก็คิดว่า เราน่าจะต่อรองอะไรบางอย่างได้ดีกว่านั้นนะ เวลาลูกค้าแก้งานมา เราก็คิดแบบเด็กๆ น่ะ โน่น นี่ นั่น ก็เลยคิดว่าจะลองมาทำเองดู พอมาทำถึงเข้าใจ ว่ามันได้แค่นี่แหละ (หัวเราะ)
WURKON:
ว่ามันต่อรองอะไรไม่ได้มาก
สันติ:
ใช่ ขนาดอาจารย์เขาจบเมืองนอกมา เขาเป็นทั้งอาจารย์ มีประสบการณ์ เราจบมาแค่ปีสองปี ท่านยังต้องประนีประนอมในหลายเรื่องเลย ซึ้งเลย พูดไปก็ไม่มีใครฟัง ถูกแก้งาน กลางวันก็วิ่งหางาน กลางคืนก็นั่งทำงาน ชีวิตค่อนข้างไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่ว่าตอนนั้นมันเด็กน่ะนะ มันก็สนุกน่ะ ทำกับเพื่อน แต่ก็ทำจนได้รางวัลบ้าง ได้ทำงานบางอย่างที่อยากทำบ้าง เช่นพวกปกซีดี ปกอัลบั้มเพลง ตอนนั้นได้ทำงานกับ BMG Thailand
WURKON:
ทำปกให้วงอะไรบ้างครับ
สันติ:
มีวงวาสนา ออดี้ วง Pause ในยุคแรกๆ ที่เคยเข้าไปรับงานใน Bakery Music เป็นแผ่นรวมหลายวงที่ยังไม่ได้ออกเป็นอัลบั้ม ผมก็ทำอยู่ประมาณ 4-5 ปก แล้วก็ช่วงนั้นเป็นช่วงแฮนด์บิลหนังกำลังมา เวลาหนังออกเรื่องนึงก็จะมีพวกการ์ดเชิญพิเศษ แล้วพอเราออกมาทำเอง ช่วงนั้น ผมศึกษางานสิ่งพิมพ์เยอะ ซึ่งก็ดี มันเหมือนเราได้เรียนอีกรอบหนึ่ง เรียนการทำงานจริง ซึ่งผมโชคดีเพราะว่า ช่วงที่ผมออกมาทำเอง เพื่อนคนนึงที่ทำงานอยู่ในโรงพิมพ์ ก็อยากจะออกมาทำเอง ระหว่างตอนส่งฝิ่น (งานพิเศษ) กัน ก็จะเจอกันตามปั้มน้ำมันหน้าโรงพิมพ์บ้าง ผมก็ส่งงานพิมพ์ให้เรื่อยๆ จนเพื่อนคนนี้บอกผมว่า จะมีงานส่งมาเรื่อยๆ รึเปล่า ผมจะออกมาเปิดเอง ผมก็บอก ก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า แต่ถ้ามีจะส่งให้แน่นอน ตอนหลังเขาเปิดโรงพิมพ์เอง ผมก็จะเหมือนศึกษาเรียนรู้ไปกับเขา เขามักก็จะบอกช่างพิมพ์ว่า เฮ้ย! ดูให้พี่เขาไปเลย เขาจะแก้อะไรก็แก้ ลองอะไรก็ลอง ทำให้ผมก็มีครบหมด คนพิมพ์งานแล้วก็แท่นพิมพ์ ได้ลองอะไรเยอะมาก บางทีพิมพ์ๆ ไป แล้วไม่ชอบ ก็ลองใหม่ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ผมทำงานสิ่งพิมพ์เยอะ เรียกได้ว่ามากกว่าดีไซเนอร์อีกหลายคน เพราะว่าเราได้ไปทดลองอยู่ในโรงพิมพ์
WURKON:
ไปทดลองกับโปรดักชั่นการพิมพ์
สันติ:
ใช่ๆ แล้วทุกๆ โปรเจ็กต์ก็พยายามจะสำรวจเทคนิคใหม่ๆ ล้มเหลวบ้าง พลาดบ้าง คือบางทีทำ Pop-up เปิดขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้าง ลูกค้าด่าบ้าง ก็ตามประสา แต่ว่าก็พยายามสร้างอะไรบางอย่าง พิมพ์ตั๋วหนังให้เรืองแสงในที่มืด ไปสั่งสีพิเศษมา หนังเรื่อง Scream (1996) พอทุกคนถือบัตรเข้าโรงหนังแล้วมันจะมีหน้ากากผีเรืองแสงลอยขึ้นมาอยู่ในโรง ก็ลองเล่นอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรเยอะ หลังจากนั้นทีมเราก็แยกย้าย เพราะว่ามันเพิ่งเริ่มต้นชีวิตน่ะ หลายคนก็ไปเรียนต่อ บางคนก็อยากไปทำโน่นทำนี่ สุดท้ายก็วงแตก ก็แบ่งงานกันไปบางส่วน ผมก็รับงานบางส่วนมา อยู่บ้านเป็นฟรีแลนซ์ ตอนนั้นขายวิญญานไปเรียบร้อยแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าอยู่บ้านก็สบายน่ะ แล้วลูกค้าเก่าเราก็รู้มือ ผมก็นั่งทำงานให้ลูกค้าไม่นาน เอางานตอนเย็นก็ทำตอนเช้า เอางานตอนเช้าก็ทำตอนกลางคืน เวลาที่เหลือก็เล่นเกม ผมติด Playstation อยู่บ้านเล่นเกมทั้งวัน ช่วงนั้นอ้วนเลย เงินดี (หัวเราะ)
WURKON:
ก่อนฟองสบู่แตก?
สันติ:
ใช่ ก่อนฟองสบู่แตก ตอนฟองสบู่แตกผมก็โดนเบี้ยวไปหลายงานเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ผมหยุดวงจรนี้ก่อนฟองสบู่แตก ด้วยเหตุผลที่ผมเล่นเกมมากจนร่างกายมันอ่อนแอ ล้มในห้องน้ำ หัวฟาดพื้น
WURKON:
โห! ตอนนั้นอายุเท่าไรครับเนี่ย
สันติ:
ตอนนั้น 25- 26 ประมาณนี้ ช่วงเบญจเพศแล้วมั้ง ก็อยู่ โรงพยาบาลจำได้ว่า 11 วัน ไม่มีอะไรทำ ก็อ่านหนังสือ ก็เป็นช่วงอ่านหนังสือเยอะมาก แต่โดยพื้นฐานเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าติดเล่นเกม พอไม่ได้เล่นเกมก็อ่านโน่น อ่านนี่ แล้วก็จริงๆ มองกลับไปตอนนั้น ก็ยอมแพ้แล้วล่ะ กับการเป็นนักออกแบบ มันยากไป คือพูดไปก็ไม่มีใครฟัง พยายามอะไรไปก็ดูล้มเหลว เรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญ มันจะมีอีกเรื่องหนึ่งสำคัญกว่าเสมอ สิ่งที่เคยปรามาสคนอื่นไว้ ก็โดนเองหมดทุกอย่าง ที่บ่นเขาว่า ทำไมเป็นแบบนี้วะ ก็เข้าตัวเองหมดทุกอย่าง อาชีพก็เหนื่อย รายได้ก็ไม่ได้ดีนัก หมายถึงว่า ทำเหนื่อยไปกว่านี้ มันก็ไม่ได้เงินดีไปกว่านี้ ทำเท่านี้ จับทางลูกค้าให้ได้ ก็ไม่เหนื่อย กำไรมันก็เยอะ
WURKON:
ไม่รู้จะพยายามไปทำไม?
สันติ:
เออ เราอาจจะเป็นคนที่มีเซนส์ในการจับทางลูกค้าอยู่ประมาณหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเกิดเราจะตามใจเขา มันก็ไม่ยาก แต่ถ้าเราพยายามจะผลักดันสิ่งที่เราคิด เราทำไม่ค่อยสำเร็จ จริงๆ ก็เหมือนยอมแพ้แล้วน่ะ ก็คิดเสียว่าแค่อาชีพอ่ะ แค่ทำมาหากิน ผมเข้าใจเลยว่าที่เราเล่นเกม เพราะเราเป็น Loser ด้วยมั้ง อันนี้ย้อนกลับไปมองตัวเองน่ะ
WURKON:
ฆ่าเวลาไปวันวัน?
สันติ:
เล่นเกมแล้วเราชนะไง (หัวเราะ) แต่นอกเกมแม่งแพ้ การไม่สบายมันก็ดีเหมือนกัน เพราะเราได้นั่งอ่านหนังสือ นั่งถามตัวเอง มึงจะเอายังไงเนี่ย? งานก็ไม่ได้ทำ จะเอายังไง ก็เลยมองย้อนกลับไปตอนเรียนจบ ทางคณะฯ เคยเสนอทุนให้เป็นอาจารย์ไปเรียนต่อ ตอนนั้นเราก็ไม่อยากได้ ไม่อยากเรียน ก็นึกถึง แต่ก็แค่นึกถึงในหัว ว่าตอนนั้นเราไม่ได้เลือก แล้วออกมาจากโรงพยาบาลช่วงนั้น รุ่นน้องรับปริญญาพอดี ผมก็ไปงานรับปริญญารุ่นน้อง ก็เจอรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่ากำลังจะกลับไปสมัครเป็นอาจารย์ที่คณะ ผมก็บอก เฮ้ย จริงเหรอพี่ ผมไปด้วยได้ป่ะ? ก็เลยนัดกันไป แล้วก็เริ่มเป็นอาจารย์ ตอนนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนเลย ผมเข้าไปเป็นอาจารย์ปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก พอเป็นอาจารย์แล้วฟองสบู่แตก เข้าไปก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ความรู้ก็ไม่มี มีแต่ปม ที่คิดว่าตัวเองรู้น้อย ตอนนั้นก็รู้น้อยจริงๆ พอเข้าไป อาจารย์ที่สอนเราก็อยู่ในนั้นตอนนั้น เข้าไปเราก็หวังว่าจะรู้เยอะกว่านี้ จะได้ไปเรียน ตอนนั้นผมยึดติดกับการไปเรียนมาก คิดว่าตัวเองจะได้ไปเรียนต่อ แค่ก็มีบางคนบอกเราว่า เขารับมึง เขาต้องการให้มึงไปดูแลกิจการนักศึกษา เพราะมึงเป็นศิษย์เก่า โห มันเจ็บนะ (หัวเราะ) แต่การได้สอนวิชาออกแบบสองมิติ (2D) ทำให้ได้รู้จักอาจารย์ต้อย นพไชย (อังควัฒนะพงษ์) ที่เป็นหัวหน้าวิชา 2D ในขณะนั้นเป็นครั้งแรก
WURKON:
ที่เป็นศิลปินน่ะเหรอครับ
สันติ:
ใช่ๆ ตอนที่เข้าไป ผมมีโอกาสได้อยู่กับคนกลุ่มนี้ นั่นคือโชคดี แกเป็นหัวหน้ารายวิชา 2D ซึ่งเป็นวิชาตัวแรกที่เด็กปีหนึ่งเรียน ผมก็สอนด้วย ก่อนเปิดเทอม อาจารย์ต้อยเขาก็ให้หนังสือผมมาเล่มนึง ชื่อ Art Fundamental หนามาก ผมมีเวลาเดือนหนึ่ง ผมก็แปลแทบทุกตัวอักษรในหนังสือที่ถ่ายเอกสารมา เพราะเราไม่รู้ศัพท์เลยไง ผมก็สอนวิชา 2D ด้วยการพยายามเข้าใจทฤษฎีหนังสือที่อาจารย์ต้อยให้ ผมสอนวิชาที่นั่นสองสามปี จริงๆ แล้วผมอาจจะเป็นไม่กี่คนที่สอนวิชานี้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจบ อาจจะด้วยความที่ผมไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปสอน ในขณะที่อาจารย์ท่านอื่นอาจจะรู้อยู่แล้ว ตอนนั้นผมรับงานไปด้วย เวลาผมทำงานพรีเซนต์งานลูกค้า ผมพูดจาอธิบายงานเปลี่ยนไปเลย รู้ตัวเลย นั้นคือสิ่งที่พบหลังจากสอนวิชา 2D มา ภาษาของเราเริ่มอธิบายงานเป็น constructive ทางดีไซน์ พูดง่ายๆ คือเริ่มพูดจาภาษาคน(ออกแบบ)ขึ้นมาหน่อย ว่าเราทำอันนี้ไปเพราะอะไร มันเริ่มได้ผล ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องไปเรียนต่อ ระหว่างนั้นยังสนุกอยู่ ได้พูดคุยกินเบียร์อะไรกับอาจารย์ที่สอนที่นั่น อย่างอาจารย์น้ำอ้อย (ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ) อาจารย์สรรเสริญ (มิลินทสูต), อาจารย์ต้อย, อาจารย์มณเฑียร (บุญมา) ก็ยังเคยเจอ ผมยังเคยพาลูกแกไปซื้อเกมที่สะพานเหล็กเลย, อาจารย์ต้น จักรพันธ์ (วิลาสินีกุล) อาจารย์นิพันธ์ (โอฬารนิเวศน์) และอีกหลายท่าน ก๊วนเดียวกันหมด ก็คลุกคลีเล่นฟุตบอลและกินเบียร์มาด้วยกัน ผมเรียนรู้จากอาจารย์น้ำอ้อยเยอะ แย่งกันไปส่งแกที่บ้านเพื่อที่จะได้พูดคุยกับแก พอแกพูดถึงหนังสือเล่มใหม่ๆ เราก็รีบกลับไปอ่าน พรุ่งนี้มาคุยกันใหม่ ทำกันเป็นสามสี่ปีทุกวัน เพราะเราไปกินเบียร์กันเกือบทุกเย็น ตอนนั้นฟิตมาก
WURKON:
ที่พูดมานี่เป็นศิลปิน/อาจารย์ที่สอนทัศนศิลป์ทั้งนั้นเลยนะครับ
สันติ:
ใช่ บางส่วนของผมก็โตมากับก๊วนนี้ ก็คุยกัน แทบทุกวัน เรื่องเพลง เรื่องหนัง เรื่องหนังสือ วิธีการคิด วิธีการสอน งานดีไซน์ คุยสนุก แล้วอาจารย์น้ำอ้อยเนี่ยคุยเยอะสุด แกให้แรงบันดาลใจผมหลายเรื่อง มีวันหนึ่งผมขึ้นไปหาแกที่สตูดิโอของแกในคณะ ผมเห็นแกวาดรูปอยู่ ผมก็ถาม มีงานแสดงเหรออาจารย์? แกบอกว่าเปล่า แล้วมีคนซื้อเหรอ? แกก็บอกว่าเปล่า ผมก็ถามแกว่า แล้วอาจารย์วาดรูปทำไม? แกก็หันมาตอบว่า ก็ผมเป็นศิลปิน เป็นจิตรกร ก็ต้องวาดรูปสิ ผมก็ เออ ผมไม่ได้คิดตรงนี้เลยเนอะ ทำไมว่างๆ ผมไม่ออกแบบวะ ทำไมผมต้องรอให้มีคนมาจ้างถึงจะทำงานออกแบบ เรื่องมันโคตรง่าย ทำไมดีไซน์เนอร์มันถึงถูกสอนมาแบบนี้นะ ต้องมีงานก่อนถึงทำ แล้วจะเก่งไหมวะ? ถ้าเปรียบ เป็นนักฟุตบอล ก็เหมือนได้แต่รอเตะอย่างเดียว ไม่ซ้อมเลย จริงๆ การได้คุยกับอาจารย์หลายท่านก็ทำให้เรากลับมาคิดถึงตัวเองเรื่อยๆ อยู่เหมือนกัน ในระหว่างนั้นเรื่องหลักๆ คือเรื่องการไปเรียนต่อ แต่สุดท้ายผมไม่ได้ไปเรียนนะ เพราะเป็นคนดื้อ ไม่ค่อยได้ทำตามกติกามหาวิทยาลัยเท่าไร อย่างการเข้างาน เพราะผมทำงานข้างนอกเยอะ บางทีผมก็เอางานนักศึกษาที่สอนไปเสนอนิตยสาร เพื่อให้งานเขาได้ลงตีพิมพ์ การเข้างานตรงเวลาเพื่อที่จะไปนั่งเฉยๆ ผมทำไม่เป็น บางทีเขาก็บอกให้เขียนอธิบาย เขียนใบลาทุกวัน ผมก็ไม่ทำดีกว่า ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ผมก็ได้ ผมเอาเวลาไปหาจ็อบข้างนอกทำดีกว่า ซึ่งตอนนั้นเราก็ห่ามเกินไป ซึ่งไม่ชอบตัวเองช่วงนั้นเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมก็อยู่มาแบบนั้นเป็น 4 - 5 ปี โดยเงินเดือนไม่ค่อยขึ้นน่ะ เพราะคะแนนทางจริยธรรมเราจะห่วยแตกมาก (หัวเราะ) แต่เพื่อนๆ อาจารย์ด้วยกันที่ไม่ใช่ผู้บริหาร เขาก็จะรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ซึ่งทำให้สุดท้าย เราก็ไม่ได้เรียนต่อ พอรู้ตัวว่าไม่ได้เรียนต่อ เราก็ใช้ประโยชน์จากกความเป็นอาจารย์ เชิญวิทยากรที่เราสนใจมาบรรยายที่มหาวิทยาลัย ช่วงนั้นผมก็เริ่มถามคนที่เรารู้ว่ากลับมาจากเรียนต่อต่างประเทศ ว่าตอนเรียน เขาเรียนอะไรกันบ้าง มีหนังสือเล่มไหนที่เขาบังคับให้อ่านบ้าง ผมก็จะไล่ตามอ่าน ก็มีหลายสำนัก ทั้งออสเตรเลีย, อเมริกา มีอะไรมาเราก็อ่าน อ่านๆๆ ตอนนั้นผมหยุดทำงานสองสามปี พอเราอ่านถึงจุดหนึ่ง มันก็คิดอ่านอะไรได้เยอะ หลังจากนั้นก็ลาออกจากการเป็นอาจารย์ แต่ว่าเขาก็ยังให้สอนอยู่ช่วงนึง เป็นอาจารย์พิเศษ คือเขาก็ไม่ได้ตัดผมออกเลย เพราะว่าตอนนั้นเราทำอะไรไปได้เยอะแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มมาทำกิจกรรมทางอาชีพออกแบบ เราเริ่มรู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิตการทำงาน เราก็ชวนเพื่อนและลูกศิษย์ที่เราคิดว่ามีความต้องการที่ไม่แตกต่างกันมาร่วมงาน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของสตูดิโอ Practical นี่แหละ
Thai Naris Poster
UNIQLO PRACTICAL Collection
BACC stationary
WURKON:
Practical Design Studio นี่เปิดขึ้นมาตั้งแต่ปีไหนเหรอครับ
สันติ:
ปี 2004 มีเบล กนกนุช ศิลปวิศวกุล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีตามมาร่วมงานอีกหลายคน เราจะอธิบายให้ฟังว่าเราคิดอะไร ความยากลำบากคืออะไร? แล้วจุดสุดท้ายมันจะพาไปตรงไหน ทีมงานชุดปัจจุบันก็เป็นชุดที่อยู่กันมาตั้งแต่แรก ซึ่งเขาก็มีวิถีของเขาเองแล้ว
WURKON:
ตอนที่ทำสตูดิโอ Practical เรายึดตามอุดมการณ์ที่บอกว่าเราจะไม่ทำงานออกแบบขายสินค้าบริโภคนิยมได้ไหม
สันติ:
ทำครับ ผมมองว่าแถลงการณ์ First Things First เป็นหมุดปักในเชิงความคิดแบบเส้นขอบฟ้า ผมไม่ได้คิดว่าผมไร้เดียงสาขนาดที่ผมต้องไปทำแบบที่ เคน การ์แลนด์ พูด แล้วก็รู้ด้วยว่ามันไม่มีทางทำสำเร็จ ถ้าทำอย่างนั้นมันก็จะเพ้อเปล่าๆ แต่ผมคิดว่าผมก็ละสายตาไปจากเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ระหว่างทางเดิน เราก็พักสายตามองเส้นขอบฟ้าด้วยความคิดที่ว่าเราจะเข้าใกล้มันได้อย่างไร ผมไม่มีคุณสมบัติจะเซ็นแถลงการณ์ของเขานะ เพราะผมทำไม่ได้ นักออกแบบในโลกที่หนึ่งเขาอาจจะทำได้ เขาอาจจะอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องรับงานออกแบบอาหารหมา, ยาสีฟัน หรือสินค้า อื่นๆ
WURKON:
งานพาณิชยศิลป์?
สันติ:
ใช่ งานพาณิชยศิลป์ที่อาจจะไม่ให้ประโยชน์อะไรกับสังคม จริงๆ Manifesto นี้ถูกเซ็นใหม่อีกครั้งในปี 2000 หัวเรี่ยวหัวแรงก็คือ ริค พอยนอร์ (Rick Poynor) กับ โจนาธาน บาร์นบรูค (Jonathan Barnbrook) ซึ่ง โจนาธาน บาร์นบรูค เขาอาจจะหัวรุนแรงมากๆ เพราะเขาเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกใช่ไหม เขาก็จะเลือกลูกค้าได้ ใครจ้างเขา เขาก็เช็คประวัติก่อน เช่นการผลิตสินค้านั้นมีการกดขี่แรงงานไหม? แต่มันก็กลายเป็นภาพลักษณ์เกินไปเหมือนกันหรือเปล่า? สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่งานออกแบบเพื่อชีวิตหรอก แต่เขาก็คงจะต้องมีจุดยืนอะไรบางอย่าง คือในโลกที่หนึ่ง ผมคิดว่าเขาก็ทำได้ ต้องมีความเป็นเบอร์ต้นๆ ในโลกที่หนึ่งด้วยนะ ไม่ใช่ความเป็นโลกที่หนึ่งอย่างเดียว เพราะว่าการเป็นดีไซเนอร์ ในโลกที่หนึ่งเนี่ย ก็ไม่ได้แปลว่าจะรอด
WURKON:
ก็ไม่ได้แปลว่าจะเลือกลูกค้าได้ทุกคน
สันติ:
ใช่ ผมเจอเพื่อนในญี่ปุ่นหรือว่าในยุโรปเนี่ย ก็มีอาการคล้ายกันแหละเพราะฉะนั้นที่เราเห็นเนี่ย เขาคือเบอร์ต้นๆ ในโลกที่หนึ่ง ซึ่งเราเอาเยี่ยงได้แต่เราเอาอย่างไม่ได้ (หัวเราะ) ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีจะกินเอา ผมยังบอกลูกศิษย์เสมอว่า คุณต้องเอาตัวรอดให้ได้ เพราะถ้าคุณเอาตัวรอดไม่ได้ อุดมการณ์คุณนี่แทบจะจัดการอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น บางทีคุณต้องแบ่ง ผมเคยพยายามเอาเรื่องที่ผมต้องการใส่ลงไปในงานของลูกค้า สุดท้ายก็ไม่มีใครได้อะไรเลย ลูกค้าก็ไม่ได้สิ่งที่เขาอยากได้ งานก็ไม่ไปข้างหน้า จะขายของ ก็ขายไม่ได้ งานที่เราอยากให้มันเป็นอย่างที่ตั้งใจ มันก็ไม่โอเค กลายเป็นครึ่งผีครึ่งคน ล้มเหลวกันหมด เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากจะทำอะไร คุณก็ต้องแยกออกมาให้ได้ก่อน จนกว่าวันนึงคุณจะถึงจุดที่คุณสามารถเอามันไปผสมกันได้ แต่ผมว่ามันก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่นประสบการณ์ ชื่อเสียง สถานะที่จะทำให้คนเชื่อใจคุณ เราอยู่บนโลกที่เป็นสังคม ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงานเพียงอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น Practical ก็มียุคสมัยของมัน ไม่ต่างกับน้องๆ ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมตอนนี้ คือมีงานก็ทำ งานน้อยก็ทำ เราทำแบบนั้นมาเริ่มต้น เพียงแต่เราอาจจะพยายามที่จะพัฒนาสิ่งที่เราทำไปด้วย อีกด้านนึงที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราก้าวหน้าเร็ว ก็คือการทำงานภาคสังคมการออกแบบไปด้วย เช่น พอเราเกิดความคิดอะไรบางอย่าง เราก็มาทำงานในส่วนกิจกรรมของสังคมการออกแบบ มันก็จะทำให้เราเรียนรู้กลับไปกลับมา จุดที่ Practical ทำคือ เราไม่ได้หยุดตัวเองอยู่ในออฟฟิศแล้วทำแต่งาน แต่ว่าเรามีกิจกรรมหรือแคมเปญบางอย่างร่วมกับเพื่อนในวิชาชีพนี้ด้วย
WURKON:
อย่างเช่นอะไรบ้างครับ
สันติ:
ในยุคที่ผมเป็นอาจารย์ ก็จะมีกลุ่มชื่อ ABCD หรือ Alternate Bangkok of Design คุณอนุทินเป็นคนตั้งชื่อ ก็จะเป็นกลุ่มนักออกแบบรุ่นๆ ผม มี อนุทิน (วงศ์สรรคกร) คัดสรรดีมาก, วรุฒม์ (ปันยารชุน) WAWO STUDIO, มีเฮียหลง เศรษฐพงศ์ โพวาทอง, พี่อาร์ต สุรัติ โตมรศักดิ์ Try 2 benice และพี่ต้อม Blind ชัชวาล ขนขจี ผมให้นิยามว่า ในประเทศของเรามันไม่ค่อยมีงานท้าทายให้ทำ ไม่ค่อยมีโจทย์ที่ดีให้เราทำเท่าไร เพราะฉะนั้น เราก็ทดลองสร้างมันขึ้นมาเอง เหมือนหาหินลับมีด เพื่อให้มีดเราไม่ทื่อเกินไป มันก็จะเกิดเป็นกิจกรรมบางอย่างขึ้นมา บางทีเราก็ขอสปอนเซอร์จากบริษัทกระดาษ เพื่อเอามาทำปฏิทินที่ไม่ต้องดูวันที่ได้ไหม บางทีเราก็ทำงานในเชิงคอนเซ็ปชวล เพื่อเป็นการสำรวจไอเดียด้านดีไซน์กัน การทำสัมมนา การทำงานประชุมบางอย่าง ก็ทำๆ กัน ผมว่ามันก็เป็นจุดเริ่มต้นของผมและเพื่อนที่ต่อมาก็ได้แยกย้ายกันสร้างกิจกรรมออกไป อย่าง Practical งานสำคัญที่ทำ ก็คือแคมเปญ "ฉันเป็นนักออกแบบกราฟฟิกไทย" (I am a Thai Graphic Designer) ในปี 2009 ซึ่งจริงๆ มันเป็นกิจกรรมในออฟฟิศที่ทำกันสนุกๆ เอาไปโพสต์ลงเฟสบุค แล้วจู่ๆ มันก็ขยายตัวเองออกไป
โปสเตอร์นิทรรศการ ฉันเป็นนักออกแบบกราฟฟิกไทย I am a Thai Graphic Designer
WURKON:
กลายเป็นกลุ่มใหญ่
สันติ:
ใช่ ท้ายที่สุดก็มีกราฟิกดีไซเนอร์ 1,146 คนที่ร่วมแคมเปญ บริษัทเบียร์ อาซาฮี มาเห็นเขาก็ถามว่าต้องการการสนับสนุนอะไรไหม? ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดทำอะไร แค่อยากได้เงินมาทำเว็บไซต์เท่านั้นเอง เขาก็บอกว่า ไปคิดมาดีกว่า เราก็เลยคุยกันว่า ถ้ามันเป็นนิทรรศการ เป็นอีเวนต์ได้ก็คงดี สุดท้าย ปีนั้นมันเป็นปีที่ดินฟ้าอากาศพร้อมด้วย คือทุกคนก็ร่วมมือกันทำไปหาใครใครก็สนับสนุน ไปที่ Siam Discovery เขาก็ให้พื้นที่เลย และเขาก็ช่วยหาสปอนเซอร์ต่อ ได้ Sumsung ได้ Apple เป็นสปอนเซอร์อุปกรณ์ในการจัดงาน ได้นิตยสารทั้ง Wallpaper, A Day, Happening, Art4D และอีกหลายหัวมาช่วย ไม่ใช่แค่ทำข่าวโฆษณา แต่ทำสกู๊ปเอางานไปลงหมุนเวียน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการกราฟฟิกซบเซาลงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ก็พอดีงานนี้ก็มากระตุ้นให้คึกคักขึ้นมาใหม่ ทุกคนได้มาเจอกัน ได้พูดคุยกันเยอะมาก มันทำให้เรารู้สึกเลยว่าการทำกิจกรรมแบบนี้มันได้อะไรเยอะมาก แรกๆ ผมโดนแซวว่าหน่อมแน้มมาก ที่คุณจะชวนคนมาบอกว่า คุณเป็นใคร? คุณทำอาชีพอะไร? มันจะพูดไปทำไม? แต่เราคิดว่ามันเบสิคพอท่จี ะย้ำเตือนการมีอยู่ของอาชีพนี้กับสังคม และมันก็มีคนร่วมมือกับเราเยอะ ทุกวันนี้เวลาไปต่างจังหวัด ผมยังเจอพวกนักออกแบบหลายคนบอกว่า เขาเอาหนังสือเล่มนี้ให้ผู้ปกครองเขาดูว่าเขาจะเรียนกราฟฟิกดีไซน์ บางทีผู้ปกครองก็ถามว่า จะเรียนไปทำอะไร? เขาก็บอกว่า เนี่ยมีคนที่ทำอาชีพนี้เยอะขนาดนี้ในประเทศนี้นะ คือบางคนเขาบอกว่าที่ผู้ปกครองยอมให้เรียน เป็นเพราะกิจกรรมของเรา เราก็ โอ้โห! นี่เราคิดไม่ออกว่ามันจะส่งผลอะไรขนาดนั้น แต่เราก็ดีใจ แล้วก็มีกำลังใจที่จะทำอะไรต่อ ซึ่งบางอย่างมันดูเหมือนไร้สาระนะ เป็นไอเดียบนโต๊ะกาแฟอะไรแบบนี้
WURKON:
เราไม่รู้ว่ามันจะส่งผลอะไรกับคนอื่นบ้างไหม
สันติ:
ใช่ เราก็แค่ทำมันไป เราไม่ได้คิดว่ามันส่งผลได้มากขนาดนี้ กับการชูป้ายเรียกร้องความมีตัวตนของคนในอาชีพนี้ แต่เราว่าส่วนที่เป็นภาคขยายมันน่าสนใจ อาจารย์ ประชา สุวีรานนท์ เขาก็เคยเขียนบทความถึงกิจกรรมนี้ ซึ่งสำหรับผม พี่ประชาก็เป็นเหมือนไม้บรรทัดอันหนึ่งที่ผมพยายามวัดสิ่งที่ตัวทำเหมือนกันว่ามันโอเคไหม อีกปีหนึ่งเราทำ Somewhere Thai ก็คือการสำรวจอัตลักษณ์ในงานกราฟฟิก เป็นงานอภิปรายทางดีไซน์ มีดีไซเนอร์ 50 คนมาพูด พอส่งหนังสือให้แก แกโทรมาให้คำวิจารณ์ให้ความคิดเห็นเรา เราก็จะคอยรับฟัง
นั่นก็คือจุดที่ Practical ทำควบคู่กันไปกับงานหลัก ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรามีมุมมองทางวิชาชีพไปด้วย ตอนนี้มันเป็นลักษณะชุมชนแล้วครับหมายความว่าแต่ละคน ก็ดูแลแต่ละโปรเจ็กต์แบบอิสระของตัวเองภายใต้แบรนด์ ทั้งในแง่การเงินอะไรต่างๆ มันก็อิสระจากกันหมด Practical เป็นเหมือน โคเวอร์กิ้งสเปซ โดยเราใช้ตัวต้นทุนร่วมกัน เช่น แบรนด์, พื้นที่,ซอฟต์แวร์, การซื้อลิขสิทธ์ฟ้อนต์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เเป็นต้นทุนการทำธุรกิจ
โปสเตอร์นิทรรศการ PAPER MATTER : กระดาษเป็นเรื่อง
นิทรรศการ Resort: An Exhibition for Landscape of Rest
นิทรรศการ REWIND TO THE NEXT
นิทรรศการ Yes, I am Not
WURKON:
ตอนนี้มีผู้ร่วมทีมกี่คนครับ
สันติ:
ตอนนี้มี 6-7 คน นอกเหนือจากโครงการที่ทำร่วมกันในนาม Practicalแล้ว แต่ทุกคนก็ไปดำเนินการในนามตัวเองได้ เบล (กนกนุช ศิลปวิศวกุล) ก็มีทำงานอีกด้านในนาม DECEMBELL, ยังมี Means Studio ภายใต้การดำเนินการของ หมู (ณัฐพล โรจนรัตนางกูร) และ เติร์ก (จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์), นัดดาว (ญัฐพงศ์ ดาววิจิตร) ก็เป็นศิลปินและรับงานวาดภาพประกอบ ทุกคนเขาก็จะโฟกัสเรื่องที่ตัวเองถนัดหรือต้องการจะก้าวเดินไป
WURKON:
ลักษณะเด่นของสตูดิโอ Practical นี่คือการออกแบบสิ่งพิมพ์ที่มีความล้ำหลุดออกไปจากกรอบและขนบของงานออกแบบหนังสือบ้านเรามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือ สิทธารถะ ฉบับพิเศษ ที่ปกติบ้านเราไม่ค่อยมีหนังสือในลักษณะนี้เท่าไหร่นัก
หนังสือ สิทธารถะ ฉบับพิเศษ, สำนักพิมพ์ openbooks
สันติ:
จริงๆ ปัญหาของนักออกแบบบ้านเราคือ ขาดโจทย์ที่ดี พอโจทย์ที่ดีมีไม่มากนัก มันก็ต้องชงเอง เพราะฉะนั้นดีไซเนอร์ก็เลยต้องกลายเป็นนักแสวงหาโอกาสในการสร้างโจทย์ด้วย
WURKON:
หมายถึงหนังสือเล่มนี้เป็นการสร้างโจทย์ขึ้นมาเองของ Practical
สันติ:
ใช่ จริงๆ มันเริ่มมาจากผมกับพี่โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) เป็นงานที่มาจากมิตรภาพ เราพบปะกันนานๆ ครั้ง แล้วเมื่อก่อนปกติแกไม่ค่อยรับโทรศัพท์ บางปีผมก็ไม่สามารถติดต่อแกได้ แล้วมีอยู่วันหนึ่งผมไปรับรางวัลนักออกแบบแห่งปีของ Wallpaper แล้วปรากฏว่าแกไปด้วย ก็เลยแลกไลน์กัน ตอนหลังเล่นไลน์ เราก็เริ่มคุยกันบ่อยขึ้น ส่งสติ๊กเกอร์โดราเอมอนกันไปมา (หัวเราะ) จนวันนึงก็ตัดสินใจนัดกินข้าวกัน เพราะว่าผมจะเอาหนังสือให้แกพอดี พี่โญเขาก็มีหนังสือออกใหม่ ก็นัดเจอ แลกหนังสือกัน
WURKON:
ตอนนั้นยังไม่ได้ทำงานออกแบบหนังสือให้ OPEN ใช่ไหมครับ
สันติ:
ยังไม่ได้ทำ คือมันหายกันไป เพิ่งได้กลับมาเจอกัน แล้วก็กินข้าวกัน แล้วก็แค่คุยกันว่า วันนึงเราจะอยากทำอะไรด้วยกันสักทีนะ เพราะว่าเราก็คุยกันถูกคอ อายุก็ไล่เลี่ยกันด้วย หน้าตาก็คล้ายๆ กัน เหมือนพี่น้องแยกจากกันไปกันแล้วมาเจอกันอีกครั้ง (หัวเราะ) คือคุยเรื่องอะไรก็รู้สึกว่าไม่ต้องคอยระวัง เหมือนที่แกชอบเรียกว่า “เต๋าเท่ากัน” อะไรแบบนี้
ก็เลยคุยกันว่า มาทำอะไรด้วยกันสักงานหนึ่งก็ดีเหมือนกัน เขาก็ถามผมว่า ถ้าให้ทำหนังสือสักเล่มนึงผมอยากทำอะไร? ผมก็บอกว่า อยากทำหนังสือบางเล่มที่เคยอ่านแล้วชอบ แล้วมันมีผลกับตัวเรา บังเอิญผมก็พูดชื่อหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา (สิทธารถะ) เพราะว่าเป็นหนังสือที่ผมอ่านเยอะ อ่านหลายรอบในชีวิต เขาบอก เขาก็ชอบ ก็เออ น่าสนใจ ตั้งเอาไว้ก่อน ว่าเป็นเล่มนี้ ก็คุยกันว่าชอบสำนวนแปลของใคร มีอาจารย์ สีมน กับ อาจารย์สดใส อาจารย์สดใสแปลจากภาษาอังกฤษ อาจารย์สีมนแปลจากภาษาเยอรมัน ผมบอก ผมไม่ได้ชอบสำนวนใครมากกว่ากันหรอก แต่ผมโตมากับสำนวนแปลของอาจารย์สดใส เราก็รู้สึกผูกพันกับเวอร์ชั่นของอาจารย์สดใส เพราะอาจารย์สดใสแกแปลของ เฮอร์มันน์ เฮสเส หลายเล่มด้วย ก็พูดขึ้นมาวันนั้นลอยๆ ว่าลิขสิทธิ์อยู่กับใครหว่า พี่โญเขาก็บอกว่า งั้นเป็นหน้าที่ผม ไปเช็คดูก่อนว่ามีความเป็นไปได้ไหม ตอนนั้นก็เงียบไปครึ่งปี ผมกับ Practical ก็จัดงานนิทรรศการ REWIND TO NEXT ที่ The Jam Factory เป็นงานแสดงเดี่ยวของ Practical แล้วแกก็มาที่งาน แล้วบอก รู้หรือเปล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในครึ่งปีที่ผ่านนี่ พี่ภิญโญเล่าว่า อาจารย์สดใสไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธ์งานแปลตัวเอง เพราะว่ามันเกิดคดีพิพาทขึ้นมาในเรื่องลิขสิทธิ์ อาจารย์สดใสแปลเรื่องนี้ก่อนที่จะมีกฎหมายลิขสิทธิ์การแปล สุดท้ายก็มีการฟ้องร้องกัน อาจารย์สดใสรู้สึกว่าฉันไม่อยากจะวุ่นกับคดีความ แกก็เลยขายสิทธิให้กับคุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล แห่งสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ ไปสู้คดีต่อ สู้กันยาวนานมาก แล้วก็ชนะคดี ด้วยความที่ฝั่งคนแปลแปลตอนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่ออก ถือว่าแปลไปด้วยความสุจริต สุดท้ายก็ได้สิทธินั้นมาครอบครอง แต่ว่าไม่ได้เป็นของอาจารย์สดใส เพราะอาจารย์สดใสได้ขายสิทธิให้คุณประสิทธิ์ไปแล้ว แล้วอยู่ ดีๆ อาจารย์สดใสขึ้นก็มากรุงเทพฯ ซึ่งอาจารย์ พจนา จันทรสันติ ก็มาบอกพี่โญว่าอาจารย์สดใสมากรุงเทพฯ พี่ภิญโญก็ได้ไปพบ และยังได้ไปพบกับคุณประสิทธิ์จนได้รับสิทธิในการตีพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม ในหกเดือนนั้น ความต้องการของเราเกิดขึ้นโดยที่ทุกอย่างมารวมกันหมด เหมือนแม่น้ำที่มารวมกันสายเดียว
WURKON:
โดยที่คุณสันติไม่รู้เรื่องเลย
สันติ:
ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมก็นั่งรอการชงว่าเสร็จเมื่อไร อยากออกแบบแล้ว พอถึงงานแสดงของผม แกก็มาบอกว่า เรื่องเสร็จหมดแล้วนะ แกบอกมันเป็นมหากาพย์มาก แล้วสุดท้ายก็คุยกับคุณประสิทธิ์ที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ เขาอนุญาตให้พิมพ์โดยมอบค่าลิขสิทธิ์กลับคืนให้อาจารย์สดใส สุดท้ายก็ได้ทำ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องพิมพ์ในจำนวน 1,000 เล่ม แค่รอบเดียว นี่คือเหตุผลที่ต้องทำแค่นั้น
เราก็ตกลงกันว่า รูปแบบก็ปล่อยให้มันเป็นแบบที่มันควรจะเป็น หมายความว่าตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไป เช่น มันจะขายได้ไหม? มันจะแพงไหม? เพราะว่าสิ่งนึงที่เราทำเพราะเราอยากเห็นเล่มนี้เกิดขึ้นในแบบที่มันควรจะเป็น ผมกับพี่โยก็เปิดใจพร้อมๆ กันว่า ผมไม่เอาค่าออกแบบ พี่โญก็ไม่เอาค่าจัดพิมพ์ เพื่อที่จะปลดล็อคก่อนว่า มันทำได้ไหม? แล้วถ้าหนังสือจะแพง มันก็แพงที่ตัวหนังสือนั่นแหละ
WURKON:
แพงที่โปรดักชั่น?
สันติ:
ใช่ แล้วก็ค่อยมาดูว่าคนจะซื้อไหม มันก็เหมือนการทดลองของเรา ว่าตลาดหนังสือมันแย่จริงๆ คนไม่อ่านหนังสืออีกต่อไปอย่างที่เราคิดไว้จริงๆ หรือเปล่า? แต่โปรเจ็คต์นี้มันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเราไม่ถอยออกมากันสักนิดนึง แล้วถอยนี่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำงานน้อยลง เราก็ใส่กันเต็มที่เหมือนเดิม เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นงานที่เราหวังผลงาน นี่ก็เป็นเหมือนผมบอกว่า บางทีเราต้องตั้งโจทย์อะไรบางอย่าง จากนั้นเราก็พยายามประคองไม่ให้โจทย์เราล่ม ผมก็เจรจากับโรงพิมพ์ เจรจากับบริษัทกระดาษ โดยพูดถึงความคิดของหนังสือตัวนี้ด้วยว่า มันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมันต้องการการพิมพ์ที่ดี แล้วผมก็ไม่อยากลดต้นทุนการพิมพ์ ด้วยการลดคุณภาพของกระดาษ บริษัทกระดาษก็ทำราคาพิเศษให้ โดยที่เราก็ใช้กระดาษ Takeo ซึ่งเป็นกระดาษคุณภาพดีของญี่ปุ่นที่เราอยากใช้ พิมพ์ด้วยสีที่เราอยากพิมพ์ ก็ได้ Plus Press มาช่วยดูแล เป็นโรงพิม์ที่ผมใช้งานมาตั้งแต่ตอนที่เป็นวัยรุ่นแล้ว แต่ทีมงานที่มาช่วยงาน เราก็มีค่าจ้างให้เขาด้วย ก็ดีครับ มันก็เหมือนอย่างที่พี่โญว่า “เต๋าเท่ากัน” มันก็อาจจะจริง เพราะมันก็ส่งกันอยู่ตลอด ถ้าพี่โยไม่มั่นใจ ผมก็คงไปไม่สุดเหมือนกัน ผมกับทีมงานอาจจะเป็นคงลงแรงกำลังในการทำ แต่คนที่ออกค่าพิมพ์ก็คือพี่โญ แล้วแกก็ให้ความมั่นใจในระดับที่ เอาเลย ทำเต็มที่เลย ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ได้มีมากคนนักที่หนุนหลังเรา และก็เชื่อในดีไซน์ของเราว่ามันจะไปได้ ในขณะเดียวกันแกก็คุยเรื่องวิธีการไปด้วย จากการจองทางออนไลน์ เพื่อที่จะลดการไปฝากขาย ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก ก็กลายเป็นว่า มันเป็นงานแรกที่เรานั่งคุยกัน เหมือนเป็นระบบ Design Thinking ว่าเราจะปล่อยหนังสือออกไปยังไงตั้งแต่ต้นทาง จนจบทาง ซึ่งมันก็เป็นโมเดลที่ OPEN ใช้กันอยู่จนทุกวันนี้
WURKON:
คือทำหนังสือโดยที่ไม่ได้ไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า?
สันติ:
ใช่ คือเราก็วาง Consequence ไว้ แม้กระทั่งการบริหาร การสั่งกระดาษ การลดต้นทุน ด้วยตัวสำนักพิมพ์เอง ผมคิดว่าตอนนี้ OPEN มีระบบที่วางแผนทุกอย่างไว้เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสามารถทำหนังสือตามที่ตัวเองต้องการได้ มันก็เกิดจากโมเดลการทดลองตัวนี้ด้วย
WURKON:
หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้น?
สันติ:
ใช่ ก็ถอดบทเรียนกันตอนคุย คนถามว่าจะทำอะไรแบบนี้ออกมาอีกไหม? เราบอก ไม่ได้คิดจะทำอะไรอีก แต่เราควรจะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรมากกว่า แต่ถ้าเราทำรูปแบบนี้ซ้ำอีก มันอาจจะล้มเหลวก็ได้ แต่ถ้าเรารู้ว่ามันสำเร็จด้วยกลไกการจัดการอะไรบ้างเนี่ย เราอาจจะดำเนินตัวธุรกิจหนังสือต่อได้ ก็เป็นประเด็นที่มาของเล่มนี้มากกว่า
WURKON:
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกจองหมดหมดภายใน 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ประกาศขายทางออนไลน์
สันติ:
ใช่ๆ ตอนแรกกำลังคิดว่าหนังสือเหลือจะต้องเอาไปขายที่บูธจะทำยังไง เราก็ยังคุยกันเล่นๆ ว่าผมเอาสองร้อยนะพี่ เอาไปแจกปีใหม่ พี่โญบอก งั้นผมเอาไปขายที่บูธสองร้อย หมดไปแล้วสี่ร้อย อะไรอย่างนี้ รอดละ อยู่ดีๆ ก็จองหมดเกลี้ยงเลย ก็ตลกดี ตอนนี้ไนเว็บเขาเอาไปวางขายเกือบสองพันบาทแล้วนะ เล่มนึง คนก็มาถามนะ ว่าทำไมไม่พิมพ์อีก อาจจะเพราะเขาก็ไม่ค่อยอ่านที่เราอธิบายว่า พิมพ์เพิ่มไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)
WURKON:
พูดถึงด้านการออกแบบหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นอะไรที่อลังการงานสร้างเหมือนกันนะครับ ดูเล่นใหญ่มาก กลายเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งไปเลย
สันติ:
ถามว่าเล่นใหญ่ไหม ก็ใหญ่ แต่ว่าถ้าถามถึงงานดีไซน์ที่ทำอยู่ มันก็เป็นอะไรที่ทั่วไป เพียงแต่ว่าพอเป็นปกหนังสือ เรามักจะจำกัดขอบเขตโปรดักชั่นใช่ไหม? เราก็เลยรู้สึกว่ามันใหญ่โตไป แต่จริงๆ ภาพปกภาพนั้นมันคงไม่มีตัวเลือกที่จะเล็กไปกว่านั้นได้ เพราะว่าด้วยรายละเอียดของกระดาษ มันก็ต้องใหญ่ พอใหญ่ปุ๊ป มันก็ต้องเข้าสตูดิโอ ตัวชิ้นงานภาพถ่ายตัวต้นฉบับของหน้าปกหนังสือ ก็ถูกเอาไปแสดงนิทรรศการ (สิทธารถะ: The Paper River คลื่นใจในธารกระดาษ) และถูกเอาไปขายในงาน Hotel Art Fair ซึ่งมันก็เป็นรายได้กลับมาเกือบทั้งหมด
WURKON:
เป็นกระบวนการที่ต่อยอดเป็นงานอื่นไปได้ด้วย
สันติ:
ใช่ อย่างพอหนังสือเล่มนี้ขายหมด เราก็จัดนิทรรศการที่ Broccoli Revolution ก็เชิญอาจารย์สดใสมา แล้วก็แสดงผลงานประติกรรมกระดาษในฐานะงานศิลปะ มากกว่าเป็นฉากสร้างเพื่อถ่ายภาพ และภาพถ่ายบางชิ้นที่ช่างภาพเขาตีความไว้กับตัวประติมากรรมกระดาษ ที่ไม่ได้ถูกใช้ในเล่ม ซึ่งก็
ยังคุยกับพี่โญว่า ยังไงเราก็ต้องจัดงานให้ศิลปิน เพราะเราไม่ได้คิดแค่ว่า เราต้องการจะหาภาพมาทำเป็นปกหนังสือเท่านั้น แต่เราให้เขาทำงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วเราขอยืมงานของเขามาใช้เป็นปกหนังสือ ซึ่งเขาก็ทำงานแบบไม่เอาผลกำไร เอาแค่ต้นทุน เราก็อยากจะตอบแทนเขา โดยใช้จังหวะนี้คุยกับพื้นที่แสดงงานเพื่อให้จัดงานนิทรรศการขึ้นมาได้
WURKON:
ซึ่งงานออกแบบบ้านเราจะขาดอะไรแบบนี้ ที่ทำงานทำงานศิลปะ เพื่อจะมาเป็นปกหนังสือ เราออกแบบปกอย่างเดียว แล้วก็จบ
สันติ:
เราเองก็ต้องคิดเรื่องการนำผลงานศิลปะหรือกระบวนการทำงานกลับมาใช้มากขึ้นเพื่อที่จะทำให้เรามีเพดานในการทำงาน โอเค ถ้ามันเป็นแค่ปก มันก็คงต้องใช้งบเท่านั้นน่ะ แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นแค่ปก เราก็อาจจมีเหตุผลในการจ่ายงบสูงขึ้นมาได้อีก มันก็เลยมีอีกหลายๆ เล่มของ OPEN ที่สุดท้ายมันกลายเป็นผลงานศิลปะ และก็มันก็ทำให้ผู้ที่สร้างปกสามารถเอาความสำเร็จของหนังสือไปขายผลงานศิลปะต่อ เดิมทีถ้าคุณทำงานชิ้นนี้แล้วขาย คนอาจจะไม่สนใจ แต่ถ้ามันถูกทำเป็นปก แล้วกลับมาขายเป็นชิ้นงานเนี่ย ตัวหนังสือมันอาจจะมาสนับสนุนให้คนสนใจตัวชิ้นงานมากขึ้น ผมว่ามันก็ส่งเสริมกันไปมาน่ะนะ
WURKON:
น้อยคนนะ ที่จะให้คุณค่ากับงานเชิงกราฟฟิก โดยเฉพาะปกหนังสืออย่างนี้ เพราะจริงๆ มูลค่าในการทำปกหนังสือมันก็จ่ายกันน้อยมากจริงๆ นะ
สันติ:
ผมว่าส่วนหนึ่ง ทางสำนักพิมพ์ต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนก่อน ว่าจะเอาตัวรอดยังไงในธุรกิจหนังสือแล้วค่อยเซ็ตหลักการ เพราะว่าอย่าง OPEN เนี่ย เป็นสำนักพิมพ์ที่จ่ายค่าออแบบปกตามยอดขาย
WURKON:
เป็นเหมือน Loyalty Fee?
สันติ:
พอมีการพิมพ์เพิ่ม สำนักพิมพ์ก็จะจ่ายค่าออกแบบให้ผมเพิ่มอีก
WURKON:
ซึ่งเป็นระบบที่ต่างประเทศทำกัน?
สันติ:
ใช่ เขาจะมีสัญญากันชัดเจนอยู่แล้วล่ะ แต่ว่าระบบนี้จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าคุณขายได้แค่ครั้งเดียวใช่ไหม? คุณต้องมีเป้าว่าหนังสือคุณจะต้องพิมพ์ซ้ำได้ เช่นกำหนดกันไว้ 3,000 เล่ม เมื่อขายหมดก็ต้องพิมพ์ใหม่ นั่นแปลว่าคุณใช้สิทธิในดีไซน์นั้นอีกครั้งหนึ่ง ต้นทุนก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งเหมือนกัน นั้นก็แปลว่าคุณก็ควรจะจ่ายให้ผู้ออกแบบอีกครั้ง นั้นคือสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าพี่โญพยายามจะทำให้เป็นมาตรฐานเป็นธรรมเนียมในวงการหนังสือ ซึ่งรวมถึงงานในด้านอื่นอย่างการแปลด้วย
WURKON:
มีคำพูดที่ว่า อย่าตัดสินหนังสือจากปก ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์ คุณสันติเห็นด้วยกับประโยคนี้ไหมครับ
สันติ:
มันก็แล้วแต่นะ ผมก็ซื้อหนังสือจากปกนะ ตอนผมไปไต้หวันเจอหนังสือภาษาจีน ซึ่งอ่านไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็ซื้อนะ เพราะมันสวย (หัวเราะ) ก็คงเป็นเรื่องของกาลเทศะมากกว่า ถ้าคุณหวังเนื้อหาข้างใน แน่นอน คุณก็ดูจากปกไม่ได้ แต่ว่าถ้าคุณหวังที่ปก คุณซื้อไปเลย (หัวเราะลั่น) ก็คุณเห็นแล้วชอบน่ะ คุณมองเป็น object หยิบขึ้นมาคุณก็ชื่นใจแล้ว ถูกไหม แล้วคุณจะดูอะไรอีกล่ะ
WURKON:
ปกก็มีความเป็นเอกเทศของมัน
สันติ:
มันก็เป็นเอกเทศ แต่ว่าถ้าจะให้ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ปกทำหน้าที่ของมันได้ อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวัง ผมว่ามันก็ย่อมดีที่สุด
WURKON:
ส่งเสริมกันไปในตัว
สันติ:
ใช่
WURKON:
ไม่ใช่หนังสือดี ปกไม่สวย คนเลยไม่หยิบ
สันติ:
หรือหนังสือดี แต่ปกทำให้เราเข้าใจผิดว่ามันไม่ดี มันก็มีใช่ไหม หรือเรารู้ว่าหนังสือดี แต่ปกไม่ไหว เราก็ไม่ไหว (หัวเราะ) ก็ไม่ซื้อเหมือนกัน บางทีช่วงนี้ผมก็นั่งอ่านหนังสือในร้านหนังสือ อ่านจนจบเลย
WURKON:
แสดงว่าปกไม่สวย?
สันติ:
ไม่ไหว ซื้อไม่ลงน่ะ (หัวเราะ) อย่างหนังสือบางเล่ม เป็นประวัติผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังระดับโลก เนื้อหาน่าสนใจมาก แต่ดูปกแล้ว ผมไม่เอาเข้าชั้นหนังสือผมแน่นอน (หัวเราะ) แต่ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าตอนที่แบรนด์เหล่านั้นก่อตั้งมามันมีเรื่องราวอะไรบ้าง ผมก็ซื้อกาแฟมาดื่ม แล้วก็นั่งอ่านหนังสือจนหมดเล่ม แล้วก็แยกย้าย (หัวเราะ) ผมว่ามันก็อยู่ที่การให้น้ำหนักของแต่ละคนน่ะ จริงๆ ประโยคนี้เป็นคำพูดที่เอาไว้เริ่มต้นบทสนทนามากกว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไร จะตัดสินก็ได้ ไม่ตัดสินก็ได้ ไม่ว่ากัน บางทีเราก็ไม่ตัดสิน บางทีเราก็ตัดสิน
WURKON:
ดูจากเพื่อนฝูง คนใกล้ชิดที่คุณสันติคลุกคลี ก็เป็นคนในแวดวงทัศนศิลป์ (Visual art) ทั้งนั้นเลย งานทัศนศิลป์ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดและการทำงานของคุณบ้างไหม
สันติ:
จริงๆ ผมจำอะไรไม่ค่อยได้จากงานหรอก ดูไม่ค่อยเข้าใจด้วย บางงานบอกบางท่านว่า ผมดูไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ดูแล้วไม่อิน ผมคงมีกรอบทางสุนทรียศาสตร์ส่วนตัว จริงๆ อาจจะคับแคบด้วยซ้ำ แต่ว่าเราเรียนรู้ได้ แต่บางเรื่องผมไม่ได้ Appreciate (ปลาบปลื้ม) สิ่งที่ Appreciate กับศิลปินทัศนศิลป์ จริงๆแล้ว ก็คือทัศนคติและมุมมอง หรือความคิดที่เขามีต่อสิ่งต่างๆ บางทีเขาทำงานชิ้นหนึ่ง เราก็ไม่ได้อินกับงานของเขาหรอกนะ แต่ว่าเราอินกับทัศนคติที่เขามีต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรับไหลมาเป็นงานของเขา ส่วนใหญ่ผมจะจำเรื่องพวกนั้นมากกว่า พอมาถามว่า งานชิ้นนี้ของใคร เราจำไม่ได้แล้วน่ะ
WURKON:
เหมือนก่อนหน้าที่จะสัมภาษณ์ เราได้คุยกับคุณเติร์ก (จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์) ว่าตอนไปดูนิทรรศการ (Targets) ของศิลปินเยอรมัน แฮร์ลินเดอ เคิร์ลเบล (Herlind Koelbel) ที่สถาบันเกอเธ่ แล้วคุณไม่ประทับใจผลงานเท่ากับตอนไปฟังบรรยายของเธอ
สันติ:
คือผมได้ไปดูงานนี้ที่เบอร์ลินมาก่อนแล้ว มันแสดงเป็นภาพถ่าย C Print ในแกลลอรี่ขนาดใหญ่ วิธีการติดตั้ง การออกแบบจังหวะการเดินดูงาน วิธีการเล่าเรื่องมันต่างกัน ที่เกอเธ่เขาแสดงงานเป็นพรินต์ Ink Jet ซึ่งเป็นการเอามาแขวนต้อนรับศิลปินที่มามากกว่า เพราะฉะนั้นการที่เราไปยืนดู Ink Jet ที่แขวนอยู่ในตึก ผมว่าไปดูในเว็บดีกว่า (หัวเราะ) อย่างน้อยมันก็ไม่แตกใช่ไหม และแน่นอนว่าพอได้ฟังเธอบรรยาย เล่าถึงที่มาของความคิด มันย่อมประทับใจกว่าเป็นธรรมดา คือตอนได้ดูงานเธอที่เบอร์ลินออกมาเนี่ย เรียกได้ว่าผมขนลุกตัวสั่นประมาณนึงเลย เพราะเธอเล่าถึงเรื่องการสร้างเป้าซ้อมยิง ซึ่งมนุษย์เนี่ยเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่มีการฝึกฝนในการฆ่าพวกเดียวกันเอง แล้วมันน่าสะพรึงตรงการใส่ตัวตนของเป้าเหล่านั้น อย่างเป้าซ้อมอเมริกัน บางทีเป็นรูปคนมุสลิม คือมันมีการบ่งชี้ว่าศัตรูคือใคร ในแง่ของการสร้างวาทกรรมทางความคิดของทหาร มันน่ากลัวมากๆ โดยเฉพาะถ้าเราถูกฝึกทุกวันว่านี่คือศัตรูๆๆ มันไม่ใช่การแยกแยะว่านี่คือคนร้ายแล้วนะ แต่มันกำลังทำเครื่องหมาย “เท่ากับ” อะไรบางอย่าง เป็นการเชื่อมโยงเข้าหากัน
WURKON:
ว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำลาย
สันติ:
ใช่ เป้าของแต่ละชาติ ก็เป็นรูปเป้าหมายที่แตกต่างกันไป
WURKON:
นี่นับเป็นการใช้ Graphic Identity เป็นการใช้กราฟฟิกในเชิงจิตวิทยาเลยนะครับ
สันติ:
ใช่ๆ มันก็คือการสร้างภาพแทน ถ้าจะถามว่ามันลงไปถึงความเป็น Symbolic ด้วยไหม ใช่ มันคือ Symbolic อีกแบบ ท้ายสุดในระดับจิตใต้สำนึกมันก็คือการใช้ภาพแทนเข้ามา เพื่อที่จะทำให้คุณไม่ลังเลเวลาเห็น คุณจะยิงใส่ก่อนเลยโดยสัญชาตญาณ ซึ่งของแต่ละประเทศเขาก็ไปสำรวจความเป็นภาพแทนที่แตกต่างกัน ว่าศัตรูคือสิ่งนี้ๆ เขาเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายได้ดีมาก
WURKON:
เหมือนใครบางคนบอกว่างานกราฟฟิกไม่ค่อยมีบทบาทอะไรกับสังคม แต่ฟังดูแล้วจริงๆ มันโคตรจะมีเลย
สันติ:
แม่งสะกดจิตเลยเนี่ย แต่จริงๆ งานดีไซน์ที่มันเวิร์คมาก มันจะมาเงียบๆ ไม่ค่อยโดดเด่นเพราะว่าเวลามันได้ผล มันก็จะได้ผลไปเรียบร้อย โดยที่คนไม่รู้ตัว เหมือนเวลาเขาพูดถึงเรื่อง “รู”, “ช่อง” ตาม Object อย่างเวลาเราเปิดประตูรถ มันจะมีช่องที่มันช้อนขึ้นมานิดนึง การดีไซน์รายละเอียดแบบนี้มันเป็นการดีไซน์เพื่อบ่งบอกการใช้งานโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องคิด มันเนียนในระดับนั้น เวลาเราดีไซน์รถคันหนึ่ง ก็ไม่มีใครพูดถึงรูพวกนี้หรอก เขาก็จะพูดถึงฟอร์มโดยรวม ว่ารถสวย ไม่สวย
WURKON:
มันเป็นรายละเอียดที่ปลีกย่อยจนถูกมองข้าม
สันติ:
ใช่ เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ที่จริงๆ แล้วมันทำงานหนักอยู่เบื้องหลังโดยที่คนไม่สังเกต แต่ถ้าไม่มีเมื่อไร คนจะโวยวายขึ้นมาทันที
WURKON:
มีปัญหาขึ้นมาทันที
สันติ:
ใช่ๆ Signage ที่ดี จะไม่มีใครพูดถึงมัน ถ้ามีมัน เราก็จะใช้ชีวิตได้ปกติ
WURKON:
เหมือนล่องหน แต่มีอยู่
สันติ:
ใช่ เราจะไปห้องน้ำเราก็ไปได้ จะไปไหน ก็ไปถูก แต่พอมันทำผิดที่ผิดทางขึ้นมาหน่อยเนี่ย โดนเลยทันที แม่งดีไซน์โคตรห่วยเลยว่ะ
WURKON:
ทำดีเสมอตัวเลยนะเนี่ย
สันติ:
มันก็อาจจะเป็นคุณภาพหนึ่งของดีไซน์ที่ดีก็ได้นะ การสร้างพฤติกรรมการใช้งานอย่างเป็นธรรมชาติให้เกิดได้ในมนุษย์เนี่ย มันเป็นคุณภาพของการดีไซน์เลย
WURKON:
เหมือนที่บางคนบอกว่า งานดีไซน์ที่ดีไม่ควรกรีดร้องหรือตะโกนเสียงดังใช่ไหม
สันติ:
ผมว่ามันก็เป็นในบางบริบท เพราะว่างานดีไซน์ที่ดี บางทีมันก็ต้องการส่งเสียงดัง ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มันก็เหมือนคำคมน่ะ ผมก็ชอบคำคมนะ เพราะว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่คนจะได้คุยกัน ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรคุย
WURKON:
เคยคุยกับ สเตฟาน แซกมายสเตอร์ (Stefan Sagmeister) ในช่วงที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ถามเขาว่างานออกแบบหลายชิ้นของเขาผลิตด้วยพลาสติก มันไม่เป็นการสร้างขยะและไม่ใส่ใจสิ่งต่อแวดล้อมไปหน่อยเหรอ เขาตอบว่า ถ้าคุณใส่ใจสิ่งแวดล้อม คุณก็อย่าทำงานดีไซน์ห่วยๆ ออกมาให้เป็นขยะสิ คุณเห็นด้วยกับเขาไหม
สันติ:
หากเราดูวัฎจักรของโลกใบนี้ มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด สมมุติในยุคน้ำแข็ง เราเคยมีแพลงตอนในมหาสมุทรเยอะมากจนมันทำลายชั้นบรรยากาศ มนุษย์เราในปัจจุบันก็เป็นเหมือนแพลงตอนนั่นแหละ เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ตัวโลกเองไม่มีปัญหาหรอก เพราะมันเยียวยาตัวเองได้ มนุษย์เราต่างหาก ที่มีปัญหา สมมุติในอีก 100 ปี โลกมันเปลี่ยนจนกระทั่งมนุษย์อยู่ไม่ได้ มันก็คงต้องเป็นแบบที่มันต้องเป็น ซึ่งในตอนนั้นผมก็คงตายไปแล้ว ผมคิดว่า ไม่ว่าจะจอมปลวกหรือตึก ไม้หรือพลาสติก มันก็มาจากธรรมชาติทั้งนั้น นกใช้น้ำลายแปรสภาพให้เป็นรังนกขึ้นมา มนุษย์เราก็ใช้กรวด หิน ดิน ทราย มาเล่นแร่แปรธาตุให้กลายเป็นซีเมนต์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำต่างก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น มันอยู่ที่การจัดการมากกว่า เช่นเรื่องของขยะพลาสติก ผมว่ามนุษย์เราต้องคิดว่าจะจัดการกับมันยังไงมากกว่าที่จะไม่ใช้มันเลย พวกแก้วพลาสติกผมก็ล้างเก็บไว้ใช้นะ ผมไม่ได้รังเกียจที่จะทำ กระบวนการที่เราจัดการกับสิ่งเหล่านี้ สำคัญมากกว่าคำพูดที่ว่า เราจะไม่ทำอะไรกับมัน ขณะที่แซกมายสเตอร์บอกว่า ถ้าไม่อยากสร้างขยะ ก็อย่าทำงานดีไซน์ห่วยๆ ออกมา ผมว่าก็น่าสนใจนะ ถ้าไม่ทำงานดีไซน์ห่วยๆ มันก็จะลดทอนการใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ไปได้ ใช่ไหมครับ
นี่ผมก็เพิ่งกลับมาจากไต้หวัน และอีกหลายที่ ผมรู้สึกว่า ตอนนี้คุณค่าของดีไซน์ก็จะถูกเรียกหามากขึ้น มันจะกลับไปสู่ยุคโมเดิร์นมากขึ้นด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่เราทำมันสร้างอะไรบางอย่างให้มันโอเคขึ้นไหม มันอาจจะหมดยุคแสวงหารูปแบบทางวาทกรรม เพราะมันเยอะแยะไปหมดแล้ว คุณฉลาด คุณเล่นกับประเด็นนั้นประเด็นนี้ สุดท้ายแล้วมันมีคำถามเบสิคว่า ที่คุณทำอยู่น่ะ มันโอเคไหม? (หัวเราะ) โลกมันก็ถามกันแบบนี้เยอะขึ้นตามลำดับ อย่างผมเพิ่งร่วมตัดสินงานประกวดรายการนึงมา เป็นรางวัล Bronze ในหมวด Visual Communication เป็นรายการที่นักศึกษาชนกับมืออาชีพกันเลย มีหนังสือเล่มหนึ่งของ ดีไซเนอร์ฮ่องกง สวยมาก โปรดักชั่นดี ไอเดียดี ร่วมสมัย อีกชิ้นหนึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงพิพิธภัณฑ์งานจิตรกรรมของจีนโบราณในจีนแผ่นดินใหญ่ อันนี้เนี๊ยบมาก สมบูรณ์แบบมาก ในจริตผม ผมชอบเล่มนี้มาก เพราะว่ามันวิจิตรมาก คือรูปเล่มหนังสือ วิธีออกแบบ เหมือนเราแทบจะเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ได้น่ะ และอีกชิ้นนึงเป็นของนักศึกษาไต้หวัน ทำเรื่องสัตว์ป่าสูญพันธ์ุ เป็นโปสเตอร์ ด้วยความที่น่าจะเป็นนักศึกษา การสื่อสารมันจึงยังไม่เคลียร์ ไม่อิมแพ็ค แต่เนื้อหาค้นคว้ามาดีมาก สามชิ้นนี้ได้คะแนนเท่ากัน แล้วก็กรรมการแต่ละคนก็เสนอกันคนละชิ้น จนกระทั่งตกลงกันไม่ได้ ผมก็เลยเสนอว่า งั้นลืมผลงานกันไปเลยดีไหม แล้วเราหยิบสิ่งที่หนังสือทั้งสามเล่มนำเสนอออกมา ก็สรุปได้ว่า งานชิ้นแรกแสดงถึงความร่วมสมัย มีสไตล์มาก จังหวะอะไรก็ดี ใครเห็นก็รักเลย งานชิ้นที่สองแสดงความปราณีต สมบูรณ์ ลงตัว แล้วก็สื่อสารได้ดี เล่มสุดท้ายเป็นตัวแทนของ Purpose (เป้าหมาย) ผมถามว่า ถ้าเราลืมรูปแบบไปเลยนะ แล้วต้องเลือกยืนอยู่บนฐานเดียว พวกคุณจะเลือกอะไร กรรมการก็ตอบตรงกันทั้งหมดเลยว่าเลือก Purpose งานนักศึกษาก็เลยชนะไป เราก็ปรับวิธีคิดกันใหม่ ว่าถ้าคะแนนเท่ากันก็ไม่ต้องดูคุณภาพแล้ว เราดูสิ่งที่อยู่ข้างหลังมัน ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว Purpose ก็เป็นหัวใจสำคัญของดีไซน์ เพราะว่ากิจกรรมที่ไม่มี Purpose ไม่ใช่ดีไซน์ สำหรับผมนะ คุณจะดีไซน์อะไรบางอย่างแล้วเรียกมันว่าดีไซน์ แปลว่าคุณต้องมี Purpose
WURKON:
Purpose กับ Function นี่เหมือนกันไหม
สันติ:
ฟังก์ชั่นมันก็เป็นสิ่งที่ตามมา ถ้าคุณตอบ Purpose แปลว่าสิ่งนั้นมี Function แต่ว่าถ้าคุณไม่ตอบ Purpose สิ่งนั้นก็ไม่มี Function ต่อให้ Function นั้นมันทำอย่างอื่นได้ แต่มันก็ไม่ตอบ Purpose ยกตัวอย่างเช่น คุณออกแบบกรรไกร แต่คุณเอาไปทำให้มันลบกระดาษแทน แต่ Function ลบกระดาษได้ มันก็ไม่ใช่ Purpose ของกรรไกรใช่ไหม (หัวเราะ)
WURKON:
แต่สมาร์ทโฟนก็เป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งที่ Purpose ผสมปนเปไปหมดเลยนะครับ ทั้งถ่ายรูป เล่นอินเตอร์เน็ต จดบันทึก เราใช้โทรศัทพ์มือถือคุยโทรศัพท์น้อยกว่าทำอย่างอื่นแล้วด้วยซ้ำ
สันติ:
ใช่ นั่นก็แปลว่า เขาให้ Purpose เราเพิ่มขึ้นมาไง เพราะฉะนั้น กิจกรรมที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวหรืออะไร มันก็เป็นดีไซน์ เพราะว่ามันมีเป้าหมาย แต่ถ้าคุณทำอะไรโดยไม่มีเป้าหมาย ต่อให้มันดูคล้ายกระบวนการออกแบบ แต่มันก็ไม่ใช่การออกแบบ สำหรับผมนะครับ คือผมถูกถามคำถามนี้มาเป็น 10 ปี ว่าดีไซน์ของเราคืออะไร เราก็ตอบหล่อๆ หนีมาเรื่อยๆ (หัวเราะ) เพราะว่าคิดว่าบางทีก็ไม่ควรตอบ บางทีก็ไม่กล้าตอบ บางทีก็ไม่แน่ใจ ผมก็เพิ่งมาตัดสินใจตอบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ ว่ามันคือเรื่องนี้ (เป้าหมาย) ถามว่าทำไมต้องตอบ ก็เพราะไม่อย่างนั้นผมก็จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้เลย ที่ผมตอบแบบนี้ สำหรับบางคนมันอาจจะผิดก็ได้ บางคนอาจจะมองอะไรได้กว้างกว่าผม แต่ผมคิดว่าดีไซน์เนอร์คนหนึ่งจะต้องตอบให้ได้ว่านิยามตนเองคืออะไร อาจารย์ พอล แรนด์ (Paul Rand) ก็ถามมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เราแม่งตอบไม่ได้น่ะ อาจเพราะตอนนั้นไม่กล้า ไม่แน่ใจ เรายังไม่มีประสบการณ์พอที่จะตอบว่า สุดท้ายแล้ว สาระสำคัญของกิจกรรมการดีไซน์ของมนุษย์ตัวนี้คืออะไร แต่ช่วงเวลานี้ผมเชื่อแบบนี้ ผมก็เลยให้ความสำคัญกับมันเยอะในช่วงหลัง
WURKON:
หมายถึงเป้าหมายในการออกแบบ?
สันติ:
ใช่ เป้าหมายในการออกแบบ เป้าหมายของกิจกรรมนั้นๆ ของเรื่องนั้นๆ รวมถึงของตัวเองด้วย ว่า เป้าหมายที่เราวุ่นวายกับเรื่องนี้มันคืออะไรวะ (หัวเราะ) มันทำให้เราคิดถึงเรื่องนี้เยอะ และผมคิดว่าผมก็พยายามเดินต่อด้วยนิยามนี้
WURKON:
ถ้าอย่างนั้น เป้าหมายในการเป็นนักออกแบบกราฟิกของคุณสันติคืออะไร
สันติ:
ผมไม่ได้มีเป้าหมายของการเป็นนักออกแบบ คือผมมีเป้าหมายของตัวเองในการใช้ชีวิต แต่ผมไม่มีเป้าหมายของการเป็นนักออกแบบว่าต้องเป็นอย่างไร แค่รู้ว่าเป้าหมายของผมคือ ผมต้องมีความสุข ผมต้องใช้ชีวิตและทำงานออกแบบไปได้เรื่อยๆ จะอยู่ในรูปแบบไหนผมก็ไม่รู้ ผมเองเพิ่งปลดล็อคตัวเองออกจากบริษัทตัวเอง (หัวเราะ) ตอนนี้ก็รับงานน้อยมาก แค่ 1-2 โปรเจ็กต์ต่อปี หมายถึงงานที่ทกับลูกค้านะ นอกจากนั้นก็ไปสอนหนังสือ จัดบรรยาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองทำอาชีพอะไร แต่ผมชอบกิจกรรมนี้ ผมชอบการออกแบบ แล้วก็ผมเคยรับปากไว้กับหลายๆ คนว่าผมจะทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมเคยคุยกับกราฟิกดีไซเนอร์ระดับมาสเตอร์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ว่าทำไมเขายังทำงานออกแบบจนอายุ 70 - 80 ได้ เขาก็สอนผมว่า คุณต้องหาคุณค่าในอาชีพคุณ คุณถึงจะทำต่อได้ ผมก็บอกว่าผมจะพยายามทำต่อไป ผมรับปากเขาไว้ แล้วผมก็บอกลูกศิษย์ผมว่า ผมจะพยายามทำงานออกแบบต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่านักออกแบบบ้านเรามีน้อยที่จะทำงานต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ ผมคุยกับเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนว่าเราจะเป็นรุ่นที่ทำงานออกแบบไปจนตายได้หรือเปล่า? ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะระยะเวลามันยาวนานมาก สิ่งหนึ่งที่ผมต้องรู้ก็คือ ผมต้องออกแบบชีวิตตัวเองให้ได้ ต้องดำเนินตัวเองให้ไปต่อได้ เพราะฉะนั้น ผมต้องยังมีความสุขที่จะทำมันอยู่ ส่วนการที่ผมจะบริหารมันยังไง ผมจะรับมือเรื่องเหล่านี้ยังไง นี่คือเรื่องทีอยู่บนหน้าตักผม ที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ว่า ผมจะใช้ชีวิตปกติและทำงานงานออกแบบต่อไปได้สบายๆ ได้ยังไง มันเป็นบรรยากาศที่ผมกำลังแสวงหา จะบอกว่าเป็นเป้าหมายก็ได้น่ะ แต่เรารู้แล้วว่า ทุกวันนี้ทักษะที่อยู่ในอาชีพนี้มา มันทำให้เราบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้โคตรดีเลย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อนฝูง ผมว่ามันเป็นทักษะที่ดีมาก
WURKON:
แล้วความรักล่ะครับ เราออกแบบได้ไหม
สันติ:
คำถามนี้เคยโดนถามแล้ว คือเราออกแบบได้นะ แต่สำเร็จหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง เพราะมันเป็นการออกแบบที่มี Stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน) ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว เพราะฉะนั้น ด้วยเจตจำนง เราออกแบบได้ และควรจะตั้งเป้าด้วย ว่าเราจะออกแบบมัน พอล แรนด์ เคยบอกเอาไว้ว่า การออกแบบคือความสัมพันธ์ (Design is relationship) เมื่อคุณเข้าใจว่าความสัมพันธ์ทั้งหมดประกอบไปด้วยอะไร อยู่ด้วยปัจจัยอะไร คุณก็อาจจะเห็นทางที่จะทำให้มันเป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ตอนที่มีคนถามคำถามนี้กับผมเมื่อหลายปีก่อน ผมตอบไปว่า เออ นั่นสิ ไม่รู้เหมือนกันแฮะ แต่ ณ วันนี้ผมตอบได้ประมาณนึงว่า เฮ้ย มันควรออกแบบว่ะ แต่ไม่รับประกันความสำเร็จนะ เพราะคุณอาจจะเป็นคนคิดแผน วางกลยุทธ หาวิธีการแก้ปัญหา แต่มันก็เหมือนกับคุณทำสินค้าบางอย่างแล้วโยนไปในตลาด มันมี Stakeholder ว่ะ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น เต็มที่ คุณก็ทำได้แค่ศึกษา Audience (กลุ่มเป้าหมาย) หรือ User (ผู้ใช้งาน) แต่ท้ายที่สุด คุณก็ควบคุมมันไม่ได้อยู่ดีแหละ แต่คุณทำให้ดีที่สุดได้ แล้วคุณควรจะทำด้วยนะ. (หัวเราะ)
ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล
ขอบคุณภาพผลงานจาก คุณสันติ ลอรัชวี
#WURKON #people #design #graphicdesign #fineart #graphcidesigner #santilawrachawee #สันติลอรัชวี #purpose #designcollective #practicalstudio #experimental #designisrelationship #printing #book #coverdesign #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon