คุยกับศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่จับตา ในวงการศิลปะระดับโลก อริญชย์ รุ่งแจ้ง
14 มีนาคม 2562
ในตอนที่ผ่านๆ มา เราได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของศิลปินไทยร่วมสมัยผู้มีผลงานโดดเด่นในระดับโลกไปบ้างแล้ว ในตอนนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินไทยร่วมสมัย ผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงศิลปะระดับโลกอีกคนหนึ่ง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า อริญชย์ รุ่งแจ้ง (Arin Rungjang)
เขาเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่าง มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 55 ในปี 2013 ที่เมือง เวนิส ประเทศอิตาลี ผลงานที่มีชื่อว่า Golden Teardrop อันงดงามตระการตาจนน่าอัศจรรย์ของเขา ส่งให้ชื่อของอริญชย์ เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะร่วมสมัยระดับโลกได้อย่างงดงาม และทำให้เขาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศรางวัล Asia Pacific Breweries Foundation Signature Art Prize ที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ Singapore Art Museum อีกด้วย
ในปี 2015 ผลงานศิลปะ มงกุฎ (Mongkut) ที่เป็นกระบวนการจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง อันเป็นหนึ่งในเครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ.1861 ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย ก็ได้เข้าไปแสดงในนิทรรศการ Satellite program 8 ที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ Jeu de Paume และพิพิธภัณฑ์ CAPC musée d'art contemporain ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานของภัณฑารักษ์และศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตาจากทั่วโลก
และในปี 2017 เขายังเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดอีกแห่งอย่าง มหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ปี 2017 ที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี และกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผลงานศิลปะชุด 246247596248914102516... And then there were none (2017) และ And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.) (2016) ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยวิดีโอ ภาพวาด และประติมากรรมที่จำลองจากรูปปั้นนูนต่ำบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของทองเหลืองและไม้อย่างงดงามตระการตา ผลงานศิลปะที่หลอมรวมความทรงจำส่วนตัวของศิลปินเข้ากับประวัติศาสตร์การเมืองของไทย กรีก และเยอรมันเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน กลมกลืน และลุ่มลึกชุดนี้ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในศิลปินเอเชียที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Documenta ครั้งที่ล่าสุดนี้
ถึงแม้จะเป็นศิลปินไทยเลือดใหม่มาแรงที่ไปสร้างชื่อเสียงในวงการศิลปะระดับโลกเช่นนี้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เขากลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเราเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอเรื่องราวของศิลปินไทยบทสัมภาษณ์ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่จับตาในวงการศิลปะระดับโลกอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง หรือ “ใหม่” ผ่านบทสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟของเขากัน ณ บัดนี้เลย
And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.) (2016), กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
WURKON:
อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ใหม่ทำงานชุด And then there were none ขึ้นมา
อริญชย์:
เราได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 นั่นแหละ คือก่อนหน้านี้เราทำงานเกี่ยวกับความทรงจำส่วนตัว เรื่องที่พ่อเราถูกนีโอนาซีซ้อมที่เยอรมัน คือพ่อเราทำงานเดินเรือ เป็นคนต่างด้าว ต่างถิ่นที่เข้าไปทำงานในเยอรมันสมัยก่อน พอโดนซ้อมแล้วก็คลานกลับเรือคนเดียว สลบอยู่สองวันแล้วเรือต้องไปต่อที่ฝรั่งเศส เลยไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็กลับมาเมืองไทย แล้วก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน เราทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้มานานแล้ว มันอยู่ในงานหลายชิ้น เรื่องนี้มันก็เป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้น พอได้รับเชิญให้เข้าไปแสดงใน Documenta ก็เลยต้องหาบริบทที่ใช้ร่วมกับความทรงจำนี้ คือธีมหลักของเทศกาลในปีนี้คือ “Learning from Athens” ปีนี้จะเป็นปีที่มีงานแสดงสองที่ คือที่เมืองคาสเซล เยอรมนี และเมืองเอเธนส์ กรีซ ด้วย ทีนี้พอเขาส่งจดหมายเชิญปุ๊บ เขาก็ให้เรานั่งเครื่องบินไปดูสถานที่ ทั้งที่เอเธนส์ และคาสเซล ไปที่เอเธนส์ก่อน ตอนแรกก็ยังไม่มีไอเดียอะไร ก็ยังหาจุดเชื่อมของความสัมพันธ์ระหว่างบริบทของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่กับบริบทของสถานที่ที่เราจะไปทำงานด้วยไม่เจอ ก็ใช้ข้อมูลพวกงานเขียนที่พูดถึงการเมืองท้องถิ่นของกรีซกับประเทศไทยที่มันมีความคล้ายคลึงกัน คือมันเป็น Self-Colonization (อาณานิคมปกครองตนเอง) เหมือนๆ กัน พอไปถึงปุ๊บ เขาก็พาไปดูที่ต่างๆ แล้วก็พูดถึงความเป็นมาว่าทำไมถึงต้องจัดงานแสดงที่นี่ เขาก็พูดถึงความสัมพันธ์หลังยุคคลาสสิค ที่จักรวรรติออตโตมันยึดครองอาณาจักรกรีกทั้งหมดอยู่ 400 ปี พอหลังจากที่เป็นอิสรภาพจากจักรวรรติออตโตมัน สหภาพยุโรปก็ส่งเจ้าชายออตโต้ จากเยอรมัน เข้าไปปกครอง เจ้าชายออตโต้ก็ต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนภูมิสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นมุสลิมให้มันกลายกลับมาเป็นยุโรป เพราะมันเป็นหนึ่งในภาคียุโรปแล้ว เจ้าชายออตโต้ก็เลยไปจ้างสถาปนิกชาวเยอรมันมา ที่นี้ในเชิงสุนทรียะมันก็ประหลาด เพราะแต่เดิมศิลปะและสถาปัตยกรรมกรีกมันคือยุคคลาสสิค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมด แต่มันถูกตัดขาดไป 400 ปี เพราะฉะนั้นศิลปินในยุโรปที่มันพัฒนาหลังจากยุคคลาสสิคมันจะไม่มีความเป็นคลาสสิคแบบกรีก มามีอีกทีคือนีโอคลาสสิคเลย ซึ่งได้รับการริเริ่มโดยเจ้าชายออตโต้นี่แหละ ตอนนั้นเราต้องนึกสภาพว่าในยุโรปตอนนั้นไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นรัฐ ในยุโรปเป็นครอบครัวที่แต่งงานข้ามกันไปมาระหว่างรัฐ มันก็เหมือนอาณาจักรสยามที่ส่งเจ้าชายองค์นี้ไปปกครองรัฐที่อยู่ในอาณัติ ในช่วงปี 1824 - 1832 หลังจากนั้นเราก็ไปที่ Anti-dictatorial memorial (อนุสรณ์สถานต่อต้านเผด็จการ) ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาสถาบันโปลีเทคนิค ในเอเธนส์ ประเทศกรีก ในวันที่ 17 พฤษจิกายน ปี 1973 ก็มีคนมานำชม เราก็คุยกับเขา ก่อนจะกลับ ก็บอกลา เขาก็ถามเราว่ามาจากประเทศอะไร เราก็บอกว่า ประเทศไทย เขาก็เข้ามากอด แล้วบอกว่า เนี่ย รู้มั้ย ว่าประเทศไทยทำให้เราทำการปฏิวัติครั้งนี้ขึ้นมา เพราะเขาได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 1973 เขาก็พาไปดูหอจดหมายเหตุ ที่มีหนังสือพิมพ์กรีกที่เอาเหตุการณ์เดินขบวนสองเหตุการณ์จากไทยและกรีกมาเปรียบเทียบกัน แล้วพาดหัวข่าวว่า “Tomorrow we will become Thailand.” (วันพรุ่งนี้เราจะกลายเป็นแบบประเทศไทย) เราก็เลยเอามาเป็นชื่องาน มันเล่นกับธีมด้วยว่า เราก็เรียนรู้ (เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และการเมืองการปกครอง) จากกรีก และกรีกก็เรียนรู้จากไทยเช่นกัน ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาเยอะมาก ในทุกๆ ที่ทั่วโลก ของเราเป็นที่แรกๆ เลย และประสบความสำเร็จด้วย
WURKON:
ก่อนหน้านี้เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนไหม
อริญชย์:
ไม่รู้ รู้จากที่นั่นเลย ปกติเวลาเราพูดถึงการเมือง เราจะพูดถึงแต่การเมืองภายใน เราไม่ได้พูดว่ามันมีปัจจัยภายนอกเข้ามามีผลกระทบ แต่ถ้าดูจากเหตุการณ์นี้เราจะเห็นว่าปัจจัยภายนอกที่เข้ามาแทรกแทรงการเมืองของกรีกกับไทยมันคล้ายกัน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น มันมีอำนาจจากสองขั้ว คือฝั่งคอมมิวนิสต์ (โซเวียตรัสเซีย) กับฝั่งเสรีนิยม (สหรัฐอเมริกา)
WURKON:
แสดงว่าคนที่เข้ามาทักนี่น่าจะอายุมากแล้ว
อริญชย์:
ใช่ ในงานของเราก็จะมีความทรงจำของเขาด้วย เป็นวิดีโอสิบชิ้น แต่ละชิ้นมาจากความทรงจำของคนห้าคน ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องในเหตุการณ์ตอนนั้น แต่อันที่เอเธนส์ตอนที่แสดงในงาน Documenta เนี่ยยังไม่ครบ มีแค่สองคน ที่จะแสดงครบคือนิทรรศการที่จะแสดงที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม ชิ้นที่เอเธนส์ก็จะมีความทรงจำของ ป้าบุญช่วง เด่นดวง นักร้องหมอลำในยุคนั้น ซึ่งเธอเป็นหลานสะใภ้ของศิลปินแห่งชาติปี 2534 ชื่อลุง เคน ดาเหลา แล้วลุงเคนเนี่ย เป็นคนที่รัฐบาลให้ไปช่วยร้องเพลงกล่อมพวกคอมมิวนิสต์สมัยก่อนให้กลับสู่มาตุภูมิ แล้วก็มีลุงอเนก ซึ่งตอนนี้แกเป็นคนทำสวนอยู่พระราชวังไกลกังวล แต่ก่อนแกช่วยทหารอเมริกันทำฝนเหลือง แกบอกว่าสมัยก่อนแกไม่รู้ แกเข้าใจว่าฝนเหลืองเขาเอาไว้กำจัดวัชพืช แล้วก็มีลูกเสือชาวบ้าน แล้วก็ ป้าเหมือนฝัน ที่แต่งงานกับสมาชิคพรรคคอมมิวนิสต์ชาวไทยแล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองจีน แล้วก็คุณโดม สุขวงศ์ นายกสมาคม ที่พูดถึงตอนปฏิวัติแล้วเขาต้องเผาฟิล์มทิ้ง อันนี้เป็นคนไทยห้าคน คนกรีกก็จะมีคุณลุงที่เราไปเจอที่อนุสรณ์สถาน แล้วก็มีคุณป้าที่โดนรถถังชนเบียด ความทรงจำเหล่านี้มันเป็นเรื่องส่วนตัว งานของเรามันเป็นเรื่องของการสื่อสารระหว่างคนกับคน
WURKON:
ทำออกมาเป็นหนังสั้น?
อริญชย์:
มันก็ไม่เชิงหนังนะ คือถ้าจะให้มองมันเป็นวัตถุดิบทางศิลปะหน่อย เราเรียกว่า Moving Images (ภาพเคลื่อนไหว) คือถ้าเป็นภาพนิ่งเราก็ต้องอ่านบริบทของมัน แต่อันนี้มันมีทั้งภาพและเสียง มันก็คล้ายๆ สารคดีนั่นแหละ แต่มันเป็นสารคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ แล้วก็มีภาพวาดสีน้ำมัน ที่วาดจากภาพถ่ายของเหตุการณ์ 17 พฤษจิกายน ของกรีก กับ 14 ตุลาคม ของไทย
246247596248914102516... And then there were none (2017),เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี ชมวิดีโอของผลงานชิ้นนี้ได้ที่นี่ https://goo.gl/s9G7pK
WURKON:
แล้วงานที่คาสเซลล่ะ?
อริญชย์:
พอหลังจากไปเอเธนส์เขาก็ให้ไปที่เมืองคาสเซล เยอรมัน ซึ่งคาสเซล ในเยอรมันเราก็มีความทรงจำส่วนตัวของเราอยู่แล้ว เราก็ไปหาว่ามันมีจุดไหนที่เชื่อมโยงกับเราได้บ้าง เราเชื่อว่ามันต้องมี เพราะโลกมันมีการติดต่อกัน มันไม่มีทางที่เราจะไม่เชื่อมโยงกัน มันต้องมีสักจุดนึง แล้วเราก็ไปหาข้อมูลจนเจอสารคดีอันนึง ชื่อ ทำเนียบของฮิตเลอร์ ของช่อง History channel และในสารคดีนี้มันก็จะมีตอนที่บอกว่า คนที่มาเยี่ยมฮิตเลอร์คนสุดท้ายและลงรายชื่อไว้ห้าหกวันก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตาย ก็คือคนไทยชื่อ ประศาสน์ ชูถิ่น ก็เลยไปหาข้อมูลว่าเขาคือใคร ตอนแรกก็หาข้อมูลไม่เจอ แต่ก็ไปเจอนามสกุล ชูถิ่น ของภรรยาเขา และนามสกุลนี้ไปปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ “225 วันในคุกรัสเซีย” เป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพของ เนาว์ ชูถิ่น ก็เลยรู้ว่าสามีของ เนาว์ ชูถิ่น ก็คือ ประศาสน์ ชูถิ่น หรือ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการปฏิวัติสยามในปี 2475 ก็เลยเป็นที่มาของการทำงานชุดนี้ แล้วเราก็ไปค้นข้อมูลเพิ่มอีก แล้วพบว่า พระประศาสน์พิทยายุทธเป็นลูกเลี้ยงของพระองค์เจ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ เป็นคนที่พระองค์ชุบเลี้ยงแล้วส่งไปเรียนเยอรมัน ก็เลยมีเพื่อนเป็นพวกพรรคนาซี แล้วคนนี้นี่แหละที่เป็นคนที่คณะราษฎรสั่งให้ไปคุมตัวองค์เจ้าบริพัตรฯ ออกมาจากบ้าน มันก็จะมีเรื่องราวดราม่าในประวัติศาสตร์อะไรต่างๆ ซึ่งมันน่าสนใจ เพราะมันทั้งย้อนกลับมาที่การเมืองไทย และเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางการเมืองในยุคนั้น ซึ่งแนวคิดทางการเมืองบางอันมันก็ถูกลบออกไปจากประวัติศาสตร์ ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เช่นการที่ประเทศเราเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ (เยอรมนีและญี่ปุ่น) ประเทศเราก็ไม่ค่อยสอนประวัติศาสตร์ด้านนี้ให้กับประชาชน ซึ่งเยอรมันเองก็ลบเหมือนกัน อย่าง Hitler Bunker ก็ทำเป็นที่จอดรถ ทำเนียบของฮิตเลอร์ก็ถูกทำเป็นโรงแรม
WURKON:
เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลบไป
อริญชย์:
ใช่ หรืออย่างบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยอย่าง อ. ศิลป์ พีระศรี ถ้าเราไปค้นในประวัติศาสตร์ท่านก็เป็นข้าราชการที่มาจากอิตาลีในยุคเดียวกับรัฐบาลพรรคฟาสซิสต์ มันก็ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเรามีความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นชาตินิยมมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร เพียงแต่ว่าเราต้องอุดรอยโหว่ที่ถูกลบเลือนออก ในระบบการศึกษาหรือการให้การศึกษาคน เราอยากแสดงให้เห็นว่ามันเคยปรากฏขึ้น แล้วมันก็หายไป เพราะมันเป็นไอเดียที่มันไม่เวิร์ค เราไม่ได้บอกว่าไอเดียทุกอย่างมันควรที่จะต้องเก็บไว้ แต่มันก็ควรที่จะถูกบอกเล่า ว่าถ้าอันไหนมันไม่เวิร์ค เราก็ไม่ควรจะทำซ้ำ
WURKON:
บอกเล่าให้เป็นบทเรียน?
อริญชย์:
ใช่ เพราะฉะนั้นพวกหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มันก็จะอยู่ในงานของเรา ทั้งเรื่องของราชวงศ์ไทย เรื่องของชนชั้นล่างที่มีโอกาสทางการศึกษา และมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งมันเป็นเรื่องคลาสสิคของทุกสังคม มันก็เริ่มจากคนที่ไม่มีโอกาสนั่นแหละ
WURKON:
แล้วงานที่เป็นฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองนี่มันมีที่มายังไง
อริญชย์:
มันก็เริ่มจาก ประศาสน์ ชูถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ที่เป็นคนที่ร่วมปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไทยก็เป็นตัวแทนของคนเหล่านี้ และมันก็เกี่ยวกับ อ. ศิลป์ เพราะท่านเป็นคนออกแบบ และมันก็เกี่ยวกับความเป็นชาตินิยมในยุคนั้น
WURKON:
หมายถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันเป็นลักษณะของงานศิลปะที่มีความเป็นชาตินิยมอยู่
อริญชย์:
ใช่ มันก็เป็นการนำเสนอสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ว่าก่อนที่จะมีอนุสาวรีย์ มันก็มีความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราว จากเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ และเราก็ต้องพยายามหาวัตถุหรือสัญลักษณ์ ที่เป็นตัวแทนของเรื่องราวเพื่อที่จะแช่แข็งมันเอาไว้ ทีนี้ ตัววัตถุหรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของเรื่องราวที่เราต้องการแช่แข็งเอาไว้ มันก็จะถูกทำซ้ำบนฐานของบริบทเดิม แต่มันก็มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ความสัมพันธ์ของเวลามันไม่ตรงกันไง ก็จะมีคนที่บอกว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1939 จนถึงปัจจุบันเนี่ย ถึงจะถูกใช้เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย แต่ว่าใช้ในฐานะที่ไม่มีความหมาย เป็นสัญญะที่ว่างเปล่า ซึ่งอันนั้นก็ถูก เพราะเงื่อนไขที่มันถูกทำให้กลายเป็นสัญญะที่ว่างเปล่าก็คือเวลา เพราะตัวมันเอง มันไม่ได้เป็นตัวแทนของเวลาในปัจจุบัน หรือเวลาที่ก่อการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 แต่มันเป็นตัวแทน ณ เวลาของมันเอง คือ ปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ที่มันถูกสร้างขึ้นมา การที่เราจำลองมันขึ้นมาอีกครั้งนึง ก็เหมือนกับเป็นกระจกสองด้าน เพราะฉะนั้นเวลาคนดูงานเรา เขาจะหาความหมายไม่เจอเลยก็ได้ เพราะความหมายมันจะเกิดขึ้นจากความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นความหมายมันจะถูกแทนด้วยความเป็นร่วมสมัย ด้วยความที่มันเป็นศิลปะร่วมสมัยนั่นแหละ แล้วมันก็มีไอเดียของการทำจำนวนซ้ำ (edition) เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นตัวงานจริงก็จะไม่ได้เป็นเหมือนร่างเดียวที่มีวิญญาณหนึ่งดวงที่ฝังความทรงจำนั้นไว้ แต่พอมันมีกลไกของการทำซ้ำขึ้นมา ด้วยวิธีคิดทางศิลปะ เพราะฉะนั้นศักยภาพในการคิดถึงเนื้อหาของประวัติศาสตร์ มันสามารถถูกถ่ายโอนไปสู่คนรุ่นไหนๆ ก็ได้ คือเราเกิดมาพร้อมกับถูกสอนให้มีกระบวนการคิดว่า เรามีความทรงจำร่วมกับวัตถุทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น โดยไม่สามารถที่จะแยกตัวเราเองออกจากความทรงจำร่วมนั้นได้ แต่การหยิบเอาวัตถุทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยชั้นเชิงและเทคนิคทางศิลปะของเรา มันทำให้วัตถุเหล่านั้นถูกแยกออกมาจากความทรงจำร่วมและกลายเป็นวัตถุร่วมสมัยได้ และมันทำให้ตัวเราเองคิดได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเอาความทรงจำเราเข้าไปอยู่ในความทรงจำร่วม และสิ่งที่มันจะทำให้ความทรงจำร่วมสมัยมันสดใหม่อยู่ตลอดเวลา คือความทรงจำที่อยู่ในครอบครัว อันนั้นคือส่วนนึ่งที่สำคัญที่เราใส่เข้าไปในงานชุดนี้
WURKON:
ซึ่งก็คือความทรงจำในครอบครัวของใหม่เอง
อริญชย์:
ใช่ๆ งานเราก็เลยมีทั้งความเป็นส่วนตัวและสาธารณะนี่แหละ พอความทรงจำและวิธีการมันเลือนราง หน้าตามันก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เราทำคือโครงสร้างของความคิดในงาน ที่เป็นส่วนที่เราบอกว่า เราถูกสังคมบังคับให้เราเชื่อว่าเรามีความทรงจำร่วม คือไม่ใช่บังคับสิ แต่ตั้งแต่เกิดมา เราก็ต้องมีความทรงจำร่วมกับสังคมแล้ว และโครงสร้างทางความคิดแบบสมัยใหม่มันไม่เปิดโอกาสให้เราแยกตัวจากอำนาจของความทรงจำร่วมได้ อันนี้ป็นความคิดง่ายๆ เลยนะ มันเป็น Visual Element (ทัศนธาตุ) เราทำงานเป็น Visual Artist (ศิลปินทัศนศิลป์) เราก็จะไม่ไปพูดถึงความคิดแบบนักประวัติศาสตร์ แต่เป็นความคิดแบบ Visual Element คือพอเราเกิดมาเราเห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเราก็มีความทรงจำร่วมกับมัน เพราะฉะนั้นทำยังไงที่เราจะเห็นมัน แล้วเราจะมีโอกาสที่เราจะใช้ศักยภาพในการมองมันในแบบอื่นได้ มันก็ต้องทำตัวจำลองขึ้นมา ใช่ไหม
WURKON:
เพราะแบบนี้เลยเปลี่ยนวัสดุมันเป็นทองเหลืองแทนใช่ไหม
อริญชย์:
การเปลี่ยนวัสดุก็เป็นอีกอันนึงที่ทำให้งานศิลปะมันไม่ทื่อ คือเอาง่ายๆ งานเราคือการพยายามหา Poetic Element ถ้าใช้ภาษาไทยมันก็จะประมาณ "ทัศนธาตุของความเป็นกวี" แต่จริงๆ มันไม่ใช่กวีน่ะ มันคือความสละสลวย อย่างตอนทำวิดีโอ “ดุจดาว” ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานชุดนี้เนี่ย เราก็นึกถึงวิธีการในการประพันธ์เพลง อย่างในเพลงของบีโธเฟ่น ที่มันมีตัวโน๊ตที่เราไม่เข้าใจว่ามันมีความหมายว่าอะไร แต่พอมันถูกร้อยเรียงกัน มันทำให้เรารู้สึกถึงความงามได้ อันนี้คือ ทัศนธาตุของความเป็นกวี ในแบบที่เราพูดถึง ซึ่งมันอยู่ในงานศิลปะมาโดยตลอด เพราะศิลปะมันเป็นตัวแสดงแทนของความเป็นจริงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่ยุคหิน ตอนเราเริ่มเรียนศิลปะ เราวาดภาพดอกไม้ เพราะที่สุดแล้วดอกไม้ดอกนั้นมันก็จะร่วงโรยไป การวาดภาพก็คือการแช่แข็งมันไว้ ศิลปะมันมีหน้าที่แบบนั้นมาโดยตลอด มันไม่ได้เป็นความเป็นจริง มันก็จะมียุคนึงที่งานศิลปะมันใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก อย่าง ศิลปะคอนเซ็ปช่วล แต่เราต้องมองด้วยความเป็นเหตุเป็นผลนะ เพราะในยุคนั้นเนี่ย ความเป็นจริงแบบนั้นมันถูกชูขึ้นมา เพราะมันต้องการทำลายความเป็นจริงอื่น ซึ่งความเป็นจริงอื่นที่มีอำนาจอยู่ในยุคนั้น ก็คือความเป็นจริงแบบเจ้า แบบชนชั้นนำ ตรงข้ามกับความเป็นจริงที่ไม่มีอำนาจก็คือความเป็นจริงแบบชนชั้นสามัญ เพราะฉะนั้น จะทำยังไงที่ความเป็นจริงแบบชนชั้นสามัญจะถูกยกขึ้นมาให้มีความสำคัญ มันก็เลยเกิดการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น แต่ต่อสู้กันด้วยชั้นเชิงและวิธีการคิดแบบศิลปะ ตัวอย่างเช่น High Art (ศิลปะชั้นสูง) กับ Pop Art (ศิลปะประชานิยม) เป็นต้น
WURKON:
พอมันใกล้เคียงความเป็นจริง งานศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลเลยต้องละทิ้งความงานและสุนทรียะลงไปเหรอ
อริญชย์:
เราก็ไม่แน่ใจนะ ถ้ามองจากบริบทของสังคมไทยที่ผ่านมา มันไม่มีงานคอนเซ็ปช่วลอาร์ตใช่ไหม คือมันไม่มีคอนเซ็ปช่วลอาร์ตแบบเดียวกับของตะวันตก แต่ความเป็นคอนเซ็ปช่วลอาร์ตของตะวันตกมันก็มีสาเหตุของมัน ถ้าเรามองจากวิธีการคิดแบบคนเยอรมันเนี่ย ทำไมคนเยอรมันหลังสงครามโลกจะต้องละทิ้งความรู้สึก ใช้แต่ความคิด เพราะว่าเขาต้องรีบพัฒนาประเทศ ญี่ปุ่นก็ด้วย
WURKON:
เอาง่ายๆ คือไม่มีเวลา
อริญชย์:
ใช่ อันนั้นก็เป็นสาเหตุนึง อย่างเบาเฮาส์ทำไมถึงต้องเรียบง่าย เพราะเขาประหยัดวัตถุดิบด้วยเทคนิคการผลิตและวิธีการใช้ (ยาสุจิโร) โอสุ ทำไมถึงได้ถ่ายแบบ ทาทามิช็อต (Tatami Shot) เพราะสมัยนั้นเขาไม่มีขาตั้งกล้อง ไม่มีอุปกรณ์อะไรมากมาย แล้วเขาก็อยากที่จะใช้มุมมองที่เป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ ที่นั่งกับพื้น บริบทของสังคมมันก็เป็นเงื่อนไขในการสร้างงาน ทำให้เกิดสุนทรียะแบบนั้นออกมา อย่างของบ้านเรามันไม่เคยมี ถ้ามันจะมีมันก็มีแบบ ถ้าจะบอกว่า การทำลายอำนาจทางสัญญะของมงกุฏของ ร.4 เป็นความคิดแบบคอนเซ็ปช่วลก็ได้ การ Decentralize (กระจายอำนาจ) มัน Multiply (เพิ่มจำนวน) มัน
มงกุฎ (Mongkut) (2015), ฝรั่งเศส ชมวิดีโอของผลงานชิ้นนี้ได้ที่นี่ https://goo.gl/DEuMfP ชมคลิปสัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ได้ที่นี่ https://goo.gl/xij7F4
WURKON:
ตรงนี้มันน่าคิดเหมือนกันนะ ว่าตัวมงกุฏที่ใหม่จำลองมามันก็เป็นมงกุฏที่ถูกจำลองมาก่อนหน้านี้เหมือนกัน
อริญชย์:
ใช่ อย่างที่เราพูดเนี่ย มันก็แล้วแต่ยุคแต่สมัยมั้ง เด็กอายุน้อยกว่าเราสิบปีอาจจะมีวิธีการคิดอีกแบบนึง แต่อย่างเจนเนอเรชั่นเรา เรามองว่ามันเป็นส่วนที่เรามีความต้องการไง ความคิดสำคัญที่เราคิดอยู่เสมอคือ เราไปให้ถึง Passion ที่เราตั้งเป้าไว้ ถ้าเรารู้สึกได้ คนอื่นก็รู้สึกได้ นี่มันเป็นความเป็นส่วนตัวแล้วเนอะ วิธีการคิดหรือวิธีการสร้างสุนทรียะ อย่างของเรากับโต๊ะก็ไม่เหมือนกัน เราชอบที่จะใช้วิธีการของสุนทรียะในเชิงบทกวีแบบนี้
WURKON:
ซึ่งอันที่จริงก็เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งในงานศิลปะของใหม่เหมือนกันนะ ถ้าไม่มองในแง่ของคอนเซ็ปช่วล แต่มองในแง่ของสุนทรียะก็ได้ คนที่ดูงานของใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายหรือเข้าใจความคิดในงานศิลปะของใหม่ แต่สามารถเสพความรู้สึกในเชิงสุนทรียะจากงานของใหม่ได้
อริญชย์:
ใช่ มันก็มีทั้งสองพาร์ท มันก็มีทั้งพาร์ทที่มีชั้นเชิงทางสุนทรียะที่สลับซับซ้อน Sophisticated หน่อย แล้วมันก็มีเรื่องของความเป็นคอนเซ็ปช่วลเข้าไปอยู่ด้วย ทั้งสองอย่าง พอเราไปแสดงงานในต่างประเทศปุ๊บ มันทำให้เรารู้เลยว่า อันนี้เป็นข้อได้เปรียบของการที่เราอยู่ในสังคมแบบเอเชียด้วย เพราะว่าเวลาที่ประเทศตะวันตกเขาพูดถึงความทรงจำที่สืบทอดมาในครอบครัวเนี่ย เขาจะทำไม่ได้เท่าเรา อันนี้มันเป็นลักษณะพิเศษ คือมันไม่ได้เป็นเรื่องของศิลปะตะวันออก หรือศิลปะตะวันตก แต่มันเป็นเรื่องของวิธีการดำเนินชีวิตมากกว่า เราเข้าใจแบบนี้นะ ซึ่งเหมือนบางครั้งเราก็อาจจะมองว่างานศิลปะแบบอเมริกาใต้อาจจะคล้ายกับเรา อาจจะเป็นด้วยสภาพภูมิอากาศที่มันคล้ายกันหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่วิธีการทำงานแบบนี้มันทำให้เห็นความแตกต่าง อย่างที่เราบอกน่ะ ว่าถ้าเรารู้สึก คนอื่นก็รู้สึก คือเราไม่ได้เอาตัวเองไปตั้งต้นว่า งานแบบที่เราทำคืองานศิลปะประเภทไหนๆ แต่มันคือสิ่งที่เราชอบ งานที่เราทำแล้วเราเห็นว่ามันดี มันมีค่า แล้วเรารู้สึกกับมันมาก แต่ถ้ามันไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกไปด้วย ก็เฟลไป ก็แค่นั้นเอง (หัวเราะ)
WURKON:
แต่จุดเริ่มต้นในงานศิลปะของใหม่หลายชิ้นมันก็น่าสนใจนะ ที่มันเกิดจากความบังเอิญ ความไม่ตั้งใจ อย่างงาน Golden Teardrop มันก็มีเส้นทางของมัน มันไม่ใช่ว่า ใหม่ตั้งใจจะทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรกเอง แต่มันเป็นการเดินทางของความคิด
อริญชย์:
ใช่ เหมือนที่เราบอกใครสักคนไปว่า งานของเรามันไม่มี Pre-conceptual ไม่มีแนวความคิดเบื้องต้น ไม่มี Pre-perception ไม่มีการมองไว้ก่อน เพราะเราไม่ได้ตั้งใจที่จะไป Shape อะไร
WURKON:
มันเกิดจากสิ่งที่ใหม่ไปประสบพบเจอมาในชีวิต
อริญชย์:
ใช่ๆ
WURKON:
นี่ไง อย่างที่ใหม่พูดถึงทัศนธาตุของความเป็นกวี เราว่าวิธีการทำงานของใหม่ก็คล้ายกับกวีเหมือนกันนะ เหมือนสุนทรภู่เดินทางล่องเรือไปเจออะไรในรายทางจนเกิดแรงบันดาลใจก็เขียนเป็นนิราศขึ้นมา ลักษณะของการเกิดขึ้นของงานของใหม่มันก็เป็นอะไรที่เป็นเหมือนวูบความคิดที่เกิดจากการเดินทาง ไปพบเจออะไรต่างๆ แล้วก็เกิดเป็นความคิดในการสร้างงานศิลปะขึ้นมา
อริญชย์:
ใช่ ก็มีคนถามว่าถ้าเราไม่ได้ไปคาสเซลแล้วเราจะทำงานแบบนี้ไหม? เราก็บอกว่าเราก็ไม่ทำ อย่าง Golden Teardrop เนี่ย ก็เกิดขึ้นมาเพราะว่าเราบังเอิญไปทำงานกับคนเปอร์โตริกัน เราก็อ๋อ เปอร์โตริโกเนี่ย เป็นที่ที่โปรตุเกสใช้ผลิตน้ำตาลเป็นที่แรก เราก็หาว่าอะไรคือจุดเชื่อม ก็คือ น้ำตาลนั่นแหละ เพราะมันเริ่มจากแต่ก่อนน้ำตาลมีค่ามาก คิงมานูเอลก็เอาให้คอนแวนต์ในโปรตุเกสแค่หนึ่งกิโลเพื่อทำขนม แต่พอน้ำตาลถูกผลิตได้มากๆ เนี่ย ขนมนี้ก็กระจายไปทั่วโลก ไปถึงญี่ปุ่น แต่ก่อนหน้านั้นที่คอนแวนต์ต้องทำขนมก็เพราะใช้ไข่ขาวจำนวนมากไปลงแป้งเสื้อและหมวกของแม่ชี แล้วเหลือไข่แดงก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ก็เลยเอามาทำขนม แล้วมันก็มาถึงเมืองไทย เชื่อมกับฟาลคอน มารีเดอกีมา (ท้าวทองกีบม้า) จนกลายเป็นขนมทองหยอด แต่จุดเริ่มต้นก็คือ พอได้เรื่องนี้ปุ๊บ ก็ไปร้านขนมหวานชื่อ น้ำตาล ที่ควีนส์ นิวยอร์ก ก็ไปถามว่ามีใครทำทองหยอดเป็นบ้าง ที่เลือกทองหยอดก็เพราะเลือกจาก Artistic Appearance (รูปลักษณ์ทางศิลปะ) ของมันอย่างเดียวเลย เราก็รู้ว่ามีคนชื่อเจี๊ยบทำ เขามาจากชัยภูมิ มาคลอดลูกที่อเมริกา ทำทองหยอดเลี้ยงชีพ เราก็เลยไปหาเขา นั่นก็เป็นสาเหตุของงาน Golden Teardrop
Golden Teardrop (2013), เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ชมวีดีโอของผลงานชิ้นนี้ได้ที่ https://goo.gl/dXiCo5
WURKON:
ดูๆ ไปก็คล้ายกับประวัติศาสตร์ความทรงจำของสามัญชนเหมือนกันนะ
อริญชย์:
ก็ใช่ งานศิลปะมันก็เป็นอย่างงี้มาตลอด มันก็มีเรื่องของอภิสิทธิ์ชน ของชนชั้นสูง ใหญ่ๆ โตๆ ของมัน กับเรื่องของคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่ร่วมหรือแสดงออกสู่สาธารณะ อย่างที่บอกว่าความทรงจำของสามัญชนมันไม่มีอำนาจพอที่จะไปเทียบเคียงกับความทรงจำในประวัติศาสตร์ ทีนี้ในงานเรามันก็เลยมีความทรงจำทั้งสองอย่าง อย่างในงานล่าสุดก็คือความทรงจำของครอบครัวเราเอง
WURKON:
อย่างงานล่าสุดเนี่ย อยากถามเกี่ยวกับรายละเอียดทางเทคนิคหน่อย การไปจำลองประติมากรรมบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี่ใหม่ทำยังไงเหรอ ไปสแกนสามมิติแบบเดียวกับงานมงกุฏไหม
อริญชย์:
ใช่ ใช้เครื่องสแกนสามมิติ ตอนแรกจะทำด้วยวิธีโบราณ ซึ่งก็คือการเอาปูนไปแปะ แล้วดึงออกมาเป็นแม่พิมพ์ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นวิธีที่กรมศิลปากรทำ เป็นการทำแม่พิมพ์ปูน แต่ตอนนั้นเป็นช่วงในหลวง ร.9 เพิ่งเสด็จสวรรคต จะไปทำอะไรวุ่นวายมากตรงนั้นไม่ได้ ตอนที่ไปกรมศิลปากรเขาก็มีแม่พิมพ์ปูนอยู่ จริงๆ จะใช้อันนั้นทำก็ได้ แต่พอดีมันแตก ก็เลยใช้ไม่ได้ ก็เลยต้องไปสแกนด้วยเครื่องสแกนสามมิติ ซึ่งมันก็โอเค มันก็ได้บริบทของการสร้างงานด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ซึ่งมันก็เป็นข้อมูลตัวเลข เป็น Data Archive
WURKON:
กระบวนการเก็บข้อมูลในเชิงตัวเลขแบบนี้มันก็เชื่อมโยงไปถึงงาน มงกุฏ ด้วย
อริญชย์:
ใช่ๆ แล้วก็เอามายิงด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์สามมิติ ออกมาเป็นต้นแบบ แล้วก็ทำ negative เสร็จแล้วก็ทำ Positive แล้วก็เอาไปทำแม่พิมพ์
WURKON:
การเลือกใช้วัสดุทองเหลืองนี่มีความหมายอะไรแฝงเร้นไหม เพราะงาน Golden Teardrop ก็เป็นทองเหลืองเหมือนกัน
อริญชย์:
ไม่มีน่ะ มันก็เป็นไปตามวิถีเลย อย่าง Golden Teardrop โรงหล่อที่ทำก็เป็นโรงที่เขาทำพระเครื่อง เราจะไปขวนขวายใช้วัสดุเป็นสแตนเลสแบบงาน เจฟ คูนส์ (Jeff Koons) มันก็ไม่มีโรงงานในบ้านเราทำใช่ป่ะ ที่ง่ายที่สุดก็คือ บ้านเราใช้ทองเหลืองทำพระเครื่อง ทำพระพุทธรูปกันเยอะ ทำเหรียญทำอะไร แล้วมันก็เป็นวัตถุดิบที่ใช้กันโดยทั่วไปในวัฒนธรรมเรา
WURKON:
เพราะบางคนก็ตีความมันก็ตีความงานชิ้นนี้แบบ Exotic เป็นการขายความเป็นไทยแบบ Exotic อะไรแบบนี้
อริญชย์:
มันก็ตีความได้ แต่ว่ามันเป็นข้อเท็จจริงน่ะ คือถ้าเราเป็นศิลปินซามิ (Sámi) ที่มาจากชนเผ่าทางเหนือของนอร์เวย์ เราก็คงใช้วิธีการอีกแบบนึง ถ้าคนจะมองว่าเป็น Exotic มันก็เป็นวิจารณญาณของเขา จะถูกหรือผิด เราก็ไปบังคับไม่ได้ มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของเขาเองใช่ป่ะ (ช่างภาพที่นั่งฟังอยู่ด้วยหัวเราะลั่น) จริ๊ง ถ้าเราไปมองว่าคนแอฟริกันเป็น Exotic มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของเราเองเหมือนกัน
WURKON:
มันเป็นธรรมชาติของเรา
อริญชย์:
ใช่ มันก็แล้วแต่ อย่างเรามอง เราก็ไม่ได้มองว่ามัน Exotic เรามองเป็นเรื่องความงาม โดยส่วนใหญ่นะ อย่างคนไทยไปดูเขาก็จะมองว่ามันมีความงาม ความเมลืองมลังเหลืองอร่าม ไม่มีความตั้งใจใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะใช้ทองเหลืองให้มันมีความหมายอะไร เราก็ใช้วิถีของวัฒนธรรมของเรา มันเป็นข้อเท็จจริงน่ะ งานก็ไม่ได้พยายามใส่อะไรเข้าไป ก็แค่ใช้สิ่งที่มีอยู่ ที่มันอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อย่างงาน มงกุฏ คุณวราลักษณ์ ช่างทำที่เป็นเหลนๆ ร.4 เนี่ย เขาก็ใช้เทคนิคการทำหัวโขนแบบเดียวกับที่เขาทำในงานของเขาในปัจจุบัน เราก็ไม่พยายามที่จะไปตีทองแบบเทคนิคการทำมงกุฏแบบเก่า คือ เทคนิค การใช้วัสดุมันก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
WURKON:
ที่บอกไปก่อนหน้าว่าเป็นการทำให้วัตถุในประวัติศาสร์กลายเป็นสิ่งร่วมสมัยก็คือแบบนี้ใช่ไหม?
อริญชย์:
มันก็ใช่ มันก็เป็นไปตามยุคสมัยในปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแฝงเนื้อหาอะไรเข้าไปทั้งสิ้น คือถ้าเราพยายามทำความเข้าใจว่าความเป็นจริงมีอะไรบ้าง แล้วก็เห็นมันอย่างที่มันเป็น เราก็จะรู้ว่า ทุกสิ่งมันถูกสร้างขึ้น แล้วมันก็จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นความเป็นจริงชุดต่างๆ มันก็จะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ทำให้เรายืดหยุ่นและสนุกกับมันได้ ก็คือเรามองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ เพราะฉะนั้นการที่เราจะพยายามบอกว่า ประวัติศาสตร์มันคือ อย่างงั้นอย่างงี้แบบตายตัว มันไม่ได้ ถ้าเราหลุดจากเวลาไม่ได้ เราก็จะติดอยู่กับเวลานั้นๆ เราก็ไม่พยายามที่จะไปบิดเบือนเวลาหรือว่าอะไรก็แล้วแต่นะ อย่างตอนทำประติมากรรมที่จำลองจากฐานอนุสาวรีย์ประชาธิบไตยเนี่ย เราใช้เทคนิคตั้งแต่สมัยอยุธยาเลยนะ ก่อนอาจารย์ศิลป์เข้ามาอีก ก็เพราะเพื่อนที่ทำ ชื่อเล้ง เขาบอกว่านี่เป็นเทคนิคที่ดีที่สุด ถ้ามันยังมีอยู่เราก็ใช้ เราก็ไม่ได้อ้างถึงว่าเราจะย้อนกลับไปสมัยอยุธยาหรืออะไร
กระบวนการสร้างและรายละเอียดก่อนติดตั้งผลงาน 246247596248914102516... And then there were none (2017)
WURKON:
ถึงจะเป็นเทคนิคแบบโบราณ แต่มันก็ยังมีความเป็นร่วมสมัย เพราะมันยังมีการใช้งานกันอยู่
อริญชย์:
ใช่ อย่างตอนหล่อประติมากรรมเนี่ย เป็นช่วงที่ในหลวงเสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้นคนงานก็จะใส่เสื้อที่รำลึกถึงในหลวง ซึ่งถูกบันทึกอยู่ในงานวิดีโอด้วย อันนี้เราก็ไม่ได้ตั้งใจให้เขาใส่ เขาใส่ของเขาเอง มันสนุกตรงที่ เวลาเราทำงานแล้วเรามองถึง Poetic Element น่ะ มันก็จะเห็นว่าชีวิตมันมีทั้งเรื่องน่าขันแล้วก็เรื่องน่าพิศมัยด้วย แต่อันนี้ก็แล้วแต่ว่าคนดูจะมองเห็นหรือไม่เห็น ใช่มะ
WURKON:
เสน่ห์อีกอย่างที่พบในงานของใหม่คือองค์ประกอบในงานบางอย่างที่มันเกิดจากความบังเอิญ อย่างเช่นช่างทำมงกุฏที่บังเอิญเป็นเหลนหรือโหลนของ ร.4 เนี่ย ซึ่งมันก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของใหม่ตั้งแต่แรก
อริญชย์:
ใช่ ก็คือพอไปถึงที่ มันไม่มีทางที่เราจะหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ไปได้ อยู่ที่ว่าเราจะหามันเจอหรือเปล่า อย่างโรงหล่อเล้ง (ที่หล่องานฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทองเหลือง) เนี่ย ก็อยู่นครปฐม แล้วเราก็ไปพบว่ามันเป็นแคมป์พยาบาลของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วถ้าดูในวิดีโอก็จะมีฉากที่ถ่ายด้วยโดรน ก็จะเห็นซากของหนึ่งในรูปปั้นของอุทยานราชภักดิ์ (หัวเราะ) เพราะเขาเป็นคนทำไง ถึงบอกว่าเราไม่ได้ต้องการ แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราไปสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่น่ะ มันก็คือกระบวนการสร้างใหม่ ใช้กล้อง ใช้วิดีโอ ใช้ภาพถ่าย อย่างอีกอันนึงที่เรามองว่า คนเราไปติดกับความคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรง เพราะเราไปคุ้นกับประสบการณ์เทียม คือเราใช้ชีวิตครึ่งนึงในประสบการณ์จริง กับอีกครึ่งในประสบการณ์เทียม จากการที่เรารับรู้จากสื่อต่างๆ พวกนั้นเป็นเส้นตรง แต่ประสบการณ์ชีวิตที่เราใช้เนี่ย มันไม่ตรง คือบางทีเราก็จำได้ บางทีเราก็จำไม่ได้
WURKON:
ซึ่งเราต้องไปพบเจอเอง มันหาอ่านจากในหนังสือไม่ได้
อริญชย์:
ใช่ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างงั้นซะทีเดียว เพราะเวลาพอเราแก่เราก็นับเวลาถอยหลัง ตอนเป็นวัยรุ่นเราจะไม่รู้สึกถึงเวลาใช่ป่ะ แต่พอใกล้ตายแล้วเวลาจะเป็นเส้นตรงเชียว
WURKON:
พอไปแสดงที่ Documenta ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
อริญชย์:
ก็ดีนะ อย่างพอเปิดงานก็ถูกคัดเลือกให้เป็น 30 ชิ้นที่ต้องดูในหลายๆ สื่อ
WURKON:
เห็นว่าได้เป็นหนึ่งใน 8 ศิลปินเอเชียที่น่าจับตาด้วย (จากเว็บไซต์ https://goo.gl/eh1Ria)
อริญชย์:
ใช่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในตัวมันเอง สำหรับตัวงานน่ะนะ เราก็แฮปปี้ งานศิลปะในนิทรรศการมันก็เยอะอ่ะนะ แล้วมันก็ไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นงานไฮไลท์ตั้งแต่แรก มันจะมีพวกงานไฮไลท์ที่เป็นงานใหญ่ๆ ซึ่งก็ถือว่าเราดื้อรั้นต่อสู้ด้วยตัวเราเอง เพราะมันก็มีช่วงที่งบไม่พอหรืออะไรเราก็ไปหามาเอง
WURKON:
เทศกาลศิลปะ Documenta นี่เหมือนหรือต่างกับ Venice Biennale ยังไง
อริญชย์:
Documenta มันไม่ได้เป็นแบบเวนิส ที่รัฐบาลแต่ละประเทศนำเสอนผลงานของศิลปินไปแสดง มันเป็นมหกรรมศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองคาสเซล ที่เริ่มต้นโดย อาร์โนลด์ โบดด์ (Arnold Bode) ศิลปินและภัณฑารักษ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความคิดที่ต้องการจะพื้นฟูเมืองคาสเซลที่เสื่อมโทรมหลังสงคราม ขึ้นมาด้วยศิลปะวัฒนธรรมให้ได้ แล้วมันก็เป็นหนึ่งในมหกรรมศิลปะที่สำคัญที่สุดของโลก วิธีคิดมันจะต่างกัน Venice Biennale มันจะเป็นมหกรรมศิลปะที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจสูง แต่ Documenta มันจะมีความซีเรียสสูง คือศิลป๊ะ ศิลปะน่ะ เวนิสยังมีเรื่องวัฒนธรรม แฟชั่น มีนาโอมิ เคมป์เบล ไปเดิน แต่ Documenta นี่มันต้องเป็นคนที่สนใจศิลปะจริงๆ
WURKON:
ด้วยความที่เราติดตามดูงานใหม่มานาน เราก็เห็นว่าใหม่เป็นศิลปินที่พัฒนาการค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จากการจัดนิทรรศการศิลปะเอง ตามมาด้วยการไปเป็นศิลปินพำนักที่ต่างประเทศ แล้วก็ไปมหกรรมศิลปะ Venice Biennale และ Documenta ตามลำดับ
อริญชย์:
ก็เป็น Brick by Brick (ก่ออิฐทีละก้อน) น่ะ เราไม่ได้เป็นชนชั้นที่มีอำนาจในการพาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นด้วยทางลัด เราไม่มีตังเยอะๆ จ่ายน่ะ เราต้องดิ้นรน เราทำสองอย่าง ทั้งทำงานศิลปะ และทำงานหาเงินด้วย (ในช่วงแรกๆ ของอาชีพศิลปะ อริญชย์หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยการทำเสื้อยืดขายควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ) เลี้ยงแม่ เลี้ยงหลานด้วย หลายคนชอบบอกว่า ไม่มีเวลา แต่จริงๆ เวลาน่ะมี เราไม่ใช้กันไง สมองด้วย เวลาคนเขานับถือเรา เขานับถือกันที่ผลงาน เวลาคุณไปแสดงงานในที่ที่มีชื่อเสียง ที่คนเก่งๆ เขามาอยู่กันเยอะๆ เขาก็ดูกันที่ความสามารถ การทำงานศิลปะนอกจากจะต้องมี Passion แล้วยังต้องมีความอดทนด้วย ต้องรอจังหวะเวลาด้วย
Russamee Rungjang (2009) Ver แกลเลอรี, กรุงเทพฯ
Never Congregate Never Disregard (2007) หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
WURKON:
ไม่ใช่แค่ทำงานศิลปะ แต่ต้องอดทนทำต่อเนื่องได้นานพอโดยไม่เลิกไปเสียก่อน
อริญชย์:
ใช่ อย่างเราเนี่ย อันแรกเลย คือเราทำแล้วเรามีความสุข พอมีความสุข เราอยากจะทำมันมากๆ ถ้าไม่งั้นเราคงไม่เคี่ยวเข็ญตัวเอง หรือทำให้มันเหนื่อยทำไม มันต้องมี Passion ถ้ารู้ความต้องการตัวเอง แล้วทำให้ความต้องการตัวเองสำเร็จ
WURKON:
เดี๋ยวมันก็จะพาตัวเองไปยังที่ทางของมัน
อริญชย์:
ใช่ แต่ถ้ามันไปไม่ถึง ทำไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ต้องไปโทษใคร ไม่ต้องโทษตัวเองด้วย ก็มันไม่ได้จริงๆ น่ะ (หัวเราะกันลั่น)
WURKON:
อย่างใหม่เองมีวิธีการหาช่องทางในการทำให้ความต้องการของตัวเองสำเร็จยังไง
อริญชย์:
ไม่ เราไม่ได้หาช่องทางเลย สิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลาก็คือเราไม่ได้หาช่องทางในการไปที่ไหน แต่เป็นการหาเงินมาทำงาน แล้วสิ่งที่เป็นตัวพาเราไปยังที่ต่างๆ ก็คืองานเรา ช่องทางเดียวที่จะพาเราไปโน่นไปนี่ได้ ก็คืองานเรานั่นแหละ ก็มีเด็กมาถามเหมือนกัน ว่าจะไปเทศกาลศิลปะนี้ทำยังไง ต้องเขียนโพรโพสซอลยังไง เราก็บอกไม่รู้ ไม่เคยสมัคร เราแสดงงานของเรา คนที่มาเชิญไปแสดงก็เพราะเขาอยากรู้ว่างานของเราต่อยอดออกไปอีกมันจะเป็นยังไง อย่างทุนของ DAAD (Berlin Artists-in-Residence programme) มันก็เป็นจังหวะที่เราไปแสดงงานศิลปะที่ Documenta เขาก็มาเห็นงานเรา เราก็ได้ทุนไป มันก็เป็นโครงการศิลปินพำนักที่น่าจะดีที่สุดในโลกนะ เพราะคนที่เคยได้ไปมันก็มีตั้งแต่ เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst), ดักลาส กอร์ดอน (Douglas Gordon) จนมาถึงปัจจุบัน อิบราฮิม บาฮามา (Ibrahim Mahama), อามาร์ กันวา (Amar Kanwar) อะไรแบบนี้
WURKON:
สุดท้าย ใหม่มีอะไรจะแนะนำเด็กๆ นักศึกษา หรือศิลปินรุ่นใหม่ๆ บ้างไหม
อริญชย์:
ถ้าจะให้แนะนำเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา ลงในสื่อสาธารณะในเมืองไทย ก็คงบอกว่าให้ทำงานไปน่ะนะ อย่ามั่วแต่บ่น แล้วก็รู้ความต้องการของตัวเองให้ได้ ถ้ารู้แล้วมันจะสนุก แค่นี้แหละ.
ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล
ขอบคุณภาพผลงานศิลปะจากศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง
#WURKON #art #contemporaryart #arinrungjang #venicebiennale #documenta #อริญชย์รุ่งแจ้ง #installation #goldenteardrop #monkut #มงกุฏ #installation #paintings #videoart #history #private #public #collectivememory #poeticelement #ศิลปะจัดวาง #จิตรกรรม #วิดีโอ #ประติมากรรม #การปฏิวัติสยาม #คณะราษฎร #อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย #ทัศนธาตุของความเป็นกวี #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัย www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon