Blog

งานดีไซน์ในหนังไซไฟอมตะนิรันด์กาล 2001: A Space Odyssey ของผู้กำกับชั้นครูผู้ล่วงลับ สแตนลีย์ คูบริก

งานดีไซน์ในหนังไซไฟอมตะนิรันด์กาล 2001: A Space Odyssey ของผู้กำกับชั้นครูผู้ล่วงลับ สแตนลีย์ คูบริก

13 มีนาคม 2562

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดของคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ผู้ล่วงลับอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) เราจะขอรำลึกถึงเขาในสไตล์ของเรา ด้วยการหยิบยกเอางานโปรดักชั้นดีไซน์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เก้าอี้) ที่อยู่ในหนัง ที่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่สุดของเขามากล่าวถึงกัน โดยในทศวรรษที่ 60s คูบริกได้สร้างหนังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์อันล้ำยุคสมัยที่สุดออกมาเรื่องหนึ่ง มันเป็นผลงานที่เปลี่ยนโฉมหน้าของหนังไซไฟไปตลอดกาลและยังคงความอมตะจวบจนทุกวันนี้  หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า

2001: A Space Odyssey (1968)

ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้น The Sentinel (1948) ของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นครูอย่าง อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke)

(ภาพเปิดบนสุด) อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก และ สแตนลีย์ คูบริก ในฉากภายในยาน Discovery ของ 2001: A Space Odyssey

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในยุคบรรพกาล ในสมัยที่มนุษย์ยังคงเป็นลิง หนึ่งในนั้นได้เผชิญหน้ากับศิลาสีดำลึกลับที่มอบสติปัญญาและวิวัฒนาการให้กับพวกมัน

กระโดดข้ามเวลาไปยังอนาคตในปี 2001 ตามท้องเรื่อง (ซึ่งถือกันว่าเป็นการจัมพ์คัตข้ามเวลาที่ยาวไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์) กับภารกิจของนักบินอวกาศสามคนและคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์นาม HAL ที่ออกเดินทางไปสำรวจแท่งศิลาแบบเดียวกัน ณ ดาวพฤหัสอันไกลโพ้น และต้องเผชิญหน้ากับความลี้ลับและลึกซึ้งสุดหยั่งของห้วงจักรวาล

นอกจากจะโดดเด่นด้วยเนื้อหาลุ่มลึกแฝงปรัชญา ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์น่าจดจำอย่าง HAL 9000 ยังเป็นตัวละคร (ที่ไม่ใช่มนุษย์) เพียงตัวเดียวที่ได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 50 วายร้ายที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาลโดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน หรือ AFI ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครคอมพิวเตอร์วายร้ายใน WALL-E (2008) อีกด้วย

อีกสิ่งที่จะละเว้นไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การออกแบบ (อลังการ) งานสร้างล้ำยุคตระการตาในหนัง (ก็ลองคิดดูเอาเองแล้วกันว่า ในสมัยนั้นที่ยังไม่มีเทคโนโลยีซีจีให้ใช้แล้วยังทำออกมาได้ขนาดนี้) ซึ่งทั้งนี้ ทีมผู้สร้างต้องอาศัยภาพวาดฉากหลัง และโมเดลขนาดยักษ์เพื่อใช้ในการถ่ายทำฉากในอนาคต รวมถึงฉากทางเดินเวียนหนีศูนย์อันโด่งดัง ที่นักบินอวกาศสามารถเดินบนทางเดินวงกลมได้ 360 องศารอบทิศ ภายในยาน Discovery ในหนัง (ซึ่ง คริสโตเฟอร์ โนแลน ได้แรงบันดาลใจในการถ่ายทำฉากทางเดินไร้แรงโน้มถ่วงในหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Inception (2010) มาจากเทคนิคของหนังเรื่องนี้นี่เอง)

โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ NASA วิศวกรจากบริษัทอากาศยาน และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท IBM มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบฉากยานอวกาศและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายในยาน และออกแบบงานสร้างโดย แฮร์รี่ แลงก์จ (Harry Lange), เออร์เนสต์ อาร์เชอร์ (Ernest Archer) และ แอนโธนี่ มาสเตอร์ส (Anthony Masters) ที่ร่วมมือร่วมใจกันถ่ายทอดจินตนาการอันกว้างไกลของคูบริกออกมาเป็นรูปธรรมให้เราได้เห็นกัน

สแตนลีย์ คูบริก กำลังกำกับนักแสดงของเขา ในฉากภายในยาน Discovery ในหนัง 2001: A SPACE ODYSSEY

ฉาก ‘ทางเดินเวียนหนีศูนย์’ อันลือลั่นในหนัง 2001: A SPACE ODYSSEY และเบื้องหลังการถ่ายทำที่มีการสร้างฉากหมุนได้ขนาดยักษ์ขึ้นมาจริงๆ

นอกจากงานตกแต่งภายในฉากยานอวกาศในหนังจะสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในดีไซน์ในยุค 60s หรือที่เรียกกันว่า มิด-เซ็นจูรีโมเดิร์น* ได้เป็นอย่างดีแล้ว หนังเรื่องนี้ยังใช้ประโยชน์จากงานออกแบบตกแต่งภายในเหล่านั้นแสดงออกถึงวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตของคูบริกอย่างเต็มที่ มากกว่าจะเป็นแค่ฉากธรรมดาๆ

ส่วนหนึ่งต้องยกประโยชน์ให้ผู้กำกับอย่างคูบริกที่พิถีพิถันและมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการผลิต (ว่ากันว่า เขาเลือกแม้กระทั่งเนื้อผ้าสำหรับตัดเย็บชุดให้นักแสดงเอง) เราจึงได้เห็นอุปกรณ์ตกแต่งฉากที่เป็นงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ระดับไอคอนของยุคสมัยนั้น อาทิเช่น

โต๊ะประชาสัมพันธ์สุดฮิป Action Office desk (1968) หนึ่งในผลงานดีไซน์จากซีรีส์ Action Office ของโมเดิร์นนิสต์ดีไซเนอร์ จอร์จ เนลสัน (George Nelson) ที่เป็นผู้ดีไซน์ต้นแบบของงานออฟฟิศดีไซน์ทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน รวมถึงคิวบิเคิลออฟฟิศ (หรือออฟฟิศคอก) ที่คนทำงานออฟฟิศอย่างเราๆ ท่านๆ ใช้นั่งทำงานกันนั่นแหละ

Action Office desk (1968)

หรือเก้าอี้ Model 042 Lounge Chair (1963) สุดเก๋ในห้องประชุม เก้าอี้รูปทรงพิสดาร คล้ายอ่างอาบน้ำผ่าซีกตัวนี้ โครงสร้างเก้าอี้ทำจากเหล็กชุบโครเมียม เส้นสายของพนักเก้าอี้ถูกดีไซน์ให้ไหลเลื่อนกลายเท้าแขนไปในตัว ผลงานการออกแบบของดีไซน์เนอร์ชาวออสเตรเลียนอย่าง จอฟฟรีย์ ฮาร์คอร์ท (Geoffrey Harcourt) เจ้าพ่อแห่งงานดีไซน์สไตล์ออแกนิกโมเดิร์นอีกคนแห่งทศวรรษที่ 60

Model 042 Lounge Chair (1963)

แต่ชิ้นที่โดดเด่นเป็นสง่า จี๊ดจ๊าดล่อตาล่อใจเป็นที่สุด เห็นจะเป็นชิ้นไหนไปไม่ได้นอกจากเก้าอี้ Djinn Chair (1965) สีแดงแปร๊ดที่ตั้งอยู่ในโถงทางเดินของสถานีอวกาศนั่นเอง เก้าอี้ตัวนี้เป็นผลงานการออกแบบของ โอลิวิเยร์ มอร์ก (Olivier Mourgue) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ด้วยเก้าอี้ที่สไตล์ Organic Form (รูปทรงชีวภาพ) อันโค้งมน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานดีไซน์แบบ มิด-เซ็นจูรี่โมเดิร์น สไตล์โดดเด่นเฉพาะตัวของเขา เก้าอี้ตัวสีแดงสดแปร๋นตัวนี้ มอร์ก ออกแบบเป็นพิเศษให้กับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ ด้วยรูปลักษณ์ที่ให้กลิ่นอายของยุคอวกาศอันไกลโพ้น ทำให้มันกลายเป็นมากกว่าแค่อุปกรณ์ประกอบฉาก หากแต่เป็นตัวบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยในหนัง และเป็นไอคอนทางดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงทุกวันนี้

Djinn Chair (1965)

หรือแม้แต่อุปกรณ์ประกอบฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเครื่องมือเครื่องใช้ของนักบินอวกาศในหนังก็ยังเป็นงานดีไซน์ระดับคลาสสิค อาทิเช่น ช้อนส้อมหน้าตาสุดโมเดิร์นที่เห็นในฉากนี้ก็ไม่ใช่ช้อนส้อมธรรมดา หากแต่เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิก/ดีไซเนอร์ชั้นครูชาวเดนมาร์กผู้เป็นตำนานของวงการออกแบบโลก อย่าง อาร์น จาค็อบเซ่น (Arne Jacobsen) ที่มีชื่อว่า AJ Flatware (1957) แถมอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่นักบินอวกาศนั่งดูตอนกินอาหารนี่ก็หน้าตาดูคล้ายอุปกรณ์ในยุคปัจจุบันอย่างแทปเล็ตพีซีหรือ iPad อยู่ไม่หยอกเหมือนกัน ดีไม่ดีมันอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้!

AJ Flatware (1957)

ซึ่งผลงานดีไซน์ทั้งหลายเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นอนาคตยุคอวกาศได้เป็นอย่างดี (แม้ตอนนี้พวกมันจะกลายเป็นดีไซน์ย้อนยุคไปแล้วก็ตามทีเถอะ)

มีข้อน่าเสียดายเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้อยู่สองประการว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชมอย่างสูงในด้านการออกแบบงานสร้าง และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและกำกับศิลป์ยอดเยี่ยมในปี 1969 หากแต่มันก็ชวดทั้งสองรางวัลนี้ไปอย่างน่าเสียดาย โดยได้รางวัลสเปเชียลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมมาแทนเป็นการปลอบใจ

สิ่งที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งก็คือ หลังจากที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสิ้นลงและออกฉาย คูบริกก็ได้ทำลายอุปกรณ์ประกอบฉากและบรรดาเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายทั้งปวงที่ใช้ในหนังจนสิ้นซากตามประสาผู้กำกับอารมณ์อาร์ต (ตัวพ่อ) เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนหัวใสเอาไปทำกำรี้กำไรต่อในภายหลังนั่นเอง ยังผลให้เกิดความเสียดายในหมู่ผู้สะสมคอลเล็กชั่นจากหนังและคอดีไซน์ทั้งหลายมาจวบจนทุกวันนี้

*อ่านเกี่ยวกับ มิด-เซ็นจูรีโมเดิร์น (Mid-century Modern) หรือ ออร์แกนิคโมเดิร์นนิสม์ (Organic Modernism) ได้ที่นี่ https://goo.gl/zeyzwc

ข้อมูล : หนังสือ ‘DESIGNS ON FILM’ โดย Cathy Whitlock และ The American Directors Guild สำนักพิมพ์ itbooks 2010, หนังสือ The Stanley Kubrick Archives โดย Alison Castle สำนักพิมพ์ TASCHEN, เว็บไซต์ https://goo.gl/1dCsi5, https://goo.gl/EUndkE, https://goo.gl/kVya7x, https://goo.gl/Sif37s, https://goo.gl/1hp9HT, https://goo.gl/QFVQGc, https://goo.gl/uD95hM, https://goo.gl/rD7XTT, https://goo.gl/Wj4zK4, https://goo.gl/p2TYg2, https://goo.gl/r6ZCCp, https://goo.gl/8Hhoup

#WURKON #design #movie #stanleykubrick #2001 #aspaceodyssey #inspiration #actionofficedesk #model042loungechair #djinnchair #แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์ #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่  www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30