ศุภมาศ พะหุโล ภัณฑารักษ์สาวดาวรุ่งผู้อยู่บนพรมแดนของศิลปะและการออกแบบ
19 ธันวาคม 2559
แต่ก่อนแต่ไรมา เรารู้จักหญิงสาวคนนี้ในบทบาทวีเจ หรือพิธีกรของรายการดนตรีทางโทรทัศน์ชื่อดังในอดีตอย่าง แชนแนลวีไทยแลนด์ ด้วยบุคลิกที่ร่าเริงสดใส ที่คอยแนะนำมิวสิกวิดีโอเจ๋งๆ ของศิลปินทั้งไทยและเทศให้ได้ชมได้ฟังกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รวมถึงพาเราไปตระเวนค้นหาข่าวสารและเรื่องราวที่น่าสนใจตามสถานที่ต่างๆ เป็นเนือง รวมถึงร่วมแสดงในภาพยนตร์คอเมดี้ในรั้วมหาลัยศิลปะอย่าง กลิ่นสีและทีแปรง
หลังจากนั้นเธอก็หายหน้าหายตาไปจากวงการ โดยได้ข่าวคราวว่าเธอไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ และการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนอีกหลายปีต่อมา เราได้จึงพบเจอเธออีกครั้ง แต่ในคราวนี้ไม่ใช่ในฐานะวีเจหรือพิธีกรรายการดนตรีหรือนักแสดงที่ไหน หากแต่เป็นในฐานะภัณฑารักษ์ประจำศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center - TCDC) ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการอันโดดเด่นอย่าง "กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน”, "วิเวียน เวสต์วูด”, "อจีรัง คือ โอกาส", "ผี: ความกลัว...จัดการได้ ด้วยจินตนาการสร้างสรรค์" และอื่นๆ อีกมากมาย หรือแม้แต่นิทรรศการที่ผ่านมาไม่นานนี้อย่าง "ชนชราแห่งอนาคต: นิยาม โอกาส และความท้าทายใหม่" ที่นำเสนอเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจและวิชาชีพได้อย่างแปลกใหม่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
นอกจะทำงานเป็นภัณฑารักษ์ในวงการออกแบบ เธอยังมีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของบ้านเรา ด้วยการที่เธอและคู่รัก อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา ร่วมกันก่อตั้ง Bangkok CityCity Gallery แกลเลอรีศิลปะเชิงพาณิชย์ที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการเป็นแกลเลอรีโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ธุรกิจของกรุงเทพฯ อย่างสาธร อันหาได้ไม่ง่ายนักในเมืองหลวงแห่งนี้ และจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ที่คนทั่วๆ ไปไม่ต้องปีนกระได และทำความเข้าใจและเข้าถึงไม่ยากนักออกมาอย่างต่อเนื่อง
เราจึงถือโอกาสขอเข้าไปพูดคุยสอบถามเธอถึงความเป็นมาเป็นไปในวิชาชีพการงาน รวมถึงแนวความคิด ทัศนคติ และแรงบันดาลใจในการทำงานของภัณฑารักษ์สาวดาวรุ่งอย่าง ศุภมาศ พะหุโล หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า ลูกตาล ผู้นี้ เอามาเป็นของฝากให้ท่านผู้อ่านกัน ณ บัดนาว
WURKON:
แรกเลยต้องบอกว่าเราเป็นแฟนคลับคุณลูกตาลมาตั้งแต่สมัยที่ทำแชนแนลวีไทยแลนด์ (Channel V Thailand) เลยนะครับ
ศุภมาศ:
(หัวเราะ) ขอบคุณค่ะ เด็กรุ่นใหม่ไม่น่าจะทันแล้วนะคะ เพราะตอนที่เลิกทำแชนแนลวี ก็น่าจะประมาณปี 2002 ก็คือตอนที่ไปเรียนต่อปริญญาโท พอกลับมาก็ไม่ได้ทำงานในวงการอีก เหลือแค่งานอ่านสปอตอะไรแบบนี้
WURKON:
ตอนที่ทำแชนแนลวี ตอนนั้นเรียนอยู่ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วใช่ไหมครับ
ศุภมาศ:
ใช่ ตอนนั้นเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก่อนทำแชนแนลวี เราทำอยู่บริษัทนึงชื่อ สมายล์ทีวี เป็นแก๊งที่ทำแชนแนลวี แหละ แต่เป็นบริษัทของคนไทย อันนั้นทำตั้งประมาณกำลังจะขึ้น ม.4 เริ่มทำตอนประมาณอายุ 14 เป็นพิธีกร คือเมื่อก่อนมิวสิกแชนนอล เมืองไทยก็จะมีสมายล์ทีวี ซึ่งตอนหลังเขาจะไปรวมกับ ยูทีวี (และเปลี่ยนเป็น ยูบีซี และ ทรูวิชันส์ ในภายหลัง) ก่อนปี 97 ตอนที่กำลังจะเข้าปี 97 เขาก็ไปซื้อลิขสิทธิ์แชนแนลวี มา แล้วแก๊งที่ทำมิวสิกแชนนอลสมายล์ทีวี ที่เมืองไทยเขาก็โยกไปทำแชนแนลวี เราก็เลยไปกับเขาด้วย ช่วงก่อนหน้าที่จะทำแชนแนลวี ช่วงระหว่างเรียนมัธยมก็เป็นวีเจมาประมาณสองสามปีแล้ว
WURKON:
แล้วตอนนั้นเข้าไปทำได้ยังไงครับ
ศุภมาศ:
สมัยก่อนคนคงไม่เยอะมั้งคะ การที่จะเข้ามาทำงานพวกนี้มันก็คงเป็นไปตามสเต็ป เราเดินอยู่ มีคนเห็นเรา ชวนเราไปแคสติ้ง ถ่ายรูป แล้วพอดีพี่คนที่ทำแชนแนลวี เขาเคยทำแกรมมี่มาก่อน แล้วสมัยนั้นเราเล่นละครของเอ็กแซ็กท์ เขาก็เลยชวนเราไปทำ แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เคยไปฮ่องกงทีนึงแล้วสมัยนั้นมันมีแชนแนลวี ก็เห็นคนยืนในบลูสกรีน แล้วก็มีอะไรวื๊ดๆ น่ะ แล้วเขาก็ให้เราไปแคส มันก็ดูคล้ายๆ อย่างงั้น แต่ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย เขาให้สคริปต์มาอันนึง แล้วก็ให้พูดหน้ากล้อง เสร็จแล้วเขาก็บอกว่า มาทำไหม มีเงินเดือนให้ด้วย เราก็ตื่นเต้น ก็เลยเริ่มทำ แต่จริงๆ แล้วถ้าย้อนกลับไป ตอนเราเป็นวีเจเนี่ย ไม่ได้จำเป็นต้องรู้เรื่องเพลงมากขนาดนั้น เพราะในความคิดเรา ทุกอย่างมันถูกวางโปรแกรม มันวางสคริปต์มาหมดแล้ว ว่าเราต้องพูดถึงอะไร ใครขึ้นชาร์ตอะไรอย่างงี้ เพราะฉะนั้นพวกรายการแบบนั้นเราก็จะรู้สึกไม่ค่อยสนุกมาก พี่เขาก็เลยให้เราไปทำรายการที่มีมากกว่าการพูดถึงเพลง แบบออกไปคุยกับคน เราชอบตั้งคำถามโน่นนี่ เขาก็เลยหารายการที่อาจจะเหมาะกับเราให้
WURKON:
ตอนนั้นก็ทำไปด้วย เรียนไปด้วยจนเข้าไปเรียนที่คณะโบราณคดี ที่ศิลปากรเลยใช่ไหมครับ ตอนเรียนโบราณฯ นี่เลือกเอกอะไรเหรอครับ
ศุภมาศ:
ใช่ค่ะ เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ค่ะ
WURKON:
ทำไมถึงเลือกประวัติศาสตร์ศิลป์ล่ะครับ
ศุภมาศ:
คือจริงๆ ตอนมัธยมเราเรียนแผนวิทย์ แล้วก็ไปเอนทรานซ์เข้าทันตแพทย์ด้วย เพราะเมื่อก่อนเราก็ไม่รู้อะไร อาจารย์แนะแนวว่าถ้าคุณเรียนเลขเก่ง คุณเรียนวิทยาศาสตร์ได้ คุณควรจะไปเรียนแผนวิทย์ แต่ว่าเราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ เราชอบอะไร จนกระทั่งเราคุยกับพวกพี่ๆ ที่ทำงานด้วย เราก็พบว่าสิ่งนึงที่เราชอบจริงๆ คือสถาปัตยกรรม คือเวลาเราขับรถผ่านไปที่ไหน เราชอบมองว่าทำไมตึกแต่ละตึกมันหน้าตาไม่เหมือนกัน พอเราคุยกับพี่ๆ ว่าเออ นี่คือความชอบของเรา เขาก็บอกว่าทำไมไม่ลองเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ถ้าคุณเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะคุณจะสามารถบอกยุคสมัยของพวกนี้ได้ เราก็เลยไปหาว่าประวัติศาสตร์ศิลปะมันมีสอนที่คณะอะไร ปรากฏว่ามีโบราณคดี ก็เลยลองสอบดู อีกเหตุผลนึงมันมาจากการที่เราไม่ได้เรียนแผนศิลป์ แล้วตอนมัธยมมันจะมีประวัติศาสตร์ศิลปะแบบนึงด้วย แล้วเราทำคะแนนได้ห่วยมาก เพราะว่าเราไม่มีความรู้เรื่องนั้นเลย เราไม่เคยเรียน ก็เลยอ่านเยอะขึ้น พออ่านเยอะก็ชอบ บวกกับการที่มีคนบอกว่าถ้าเราเรียนวิชานี้เราจะสามารถนิยามยุคสมัยของตึกต่างๆ ได้ เราก็เลยไปเรียน
WURKON:
เริ่มต้นจากการแค่อยากรู้ว่าตึกแบบนี้มันเรียกว่าอะไรมีที่มายังไง?
ศุภมาศ:
ใช่ แล้วพอย้อนกลับไปดู จริงๆ เราคงชอบประวัติศาสตร์ทางด้านการออกแบบและศิลปะ เราคงมีความรู้สึกเราว่าสนใจเรื่องพวกนั้น
WURKON:
แล้วจากเด็กสายวิทย์ ไปเรียนสายศิลป์อย่างประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ที่บ้านไม่ตกใจแย่เหรอครับ
ศุภมาศ:
เขาไม่ชอบเลย ตอนแรก เขาบอกว่าเรียนไปทำอะไร? หนึ่งคือตอนนั้นก็มีงาน มีรายได้ค่อนข้างดี แล้วการไปเรียนอะไรพวกนี้ บ้านเราเป็นบ้านปกติน่ะ พ่อแม่ก็จะชอบพูดว่า ปีนบันไดฟัง บีนบันไดดู อะไรแบบนี้ คือมันเป็นคำโบราณที่เขาพูด เขาไม่ได้เรียนสูงอะไรมาก แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร คุณโตแล้ว คุณไปทำงานทำอะไรได้เองแล้ว คุณช่วยที่บ้านได้ด้วย ก็เป็นสิทธิของคุณเองในการตัดสินใจว่าคุณอยากจะเรียนอะไร
WURKON:
ดูเหมือนคุณลูกตาลจะรู้ตัวเร็วดีนะครับ ว่าตัวเองชอบอะไร บางคนเรียนจนจบมหาวิทยาลัยยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำอะไรจริงๆ แต่เรียนไปเพราะเรียนสายนี้มา คะแนนถึง ค่านิยมของสังคมหรือคนรอบข้างบอกให้เรียน
ศุภมาศ:
อาจเป็นเพราะเราไม่มีพี่น้อง เป็นลูกคนเดียว พอเราเริ่มทำงาน เราเลยมีโอกาสได้อยู่กับคนที่อายุมากกว่าเรา โตกว่าเรา แล้วส่วนใหญ่คนที่ทำมิวสิกแชนนอล ก็จะเป็นคนสายครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ คนทำโปรดักชันอะไรอย่างงี้ เราก็จะเห็นการทำงานพวกนี้มา ในขณะเดียวกันเราก็จะซึมซับวัฒนธรรมที่มันป๊อปสุดๆ เพราะเราต้องดูมิวสิกวิดีโอวันนึงไม่รู้เท่าไหร่ มันก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่เข้ามาหาเราตลอดในช่วงนั้น แล้วพอดูมิวสิกวิดีโอมันก็จะมีอะไรต่างๆ กัน เราก็ชอบเอามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเรียนมา
WURKON:
ซึ่งมันก็มีทั้งศิลปะและการออกแบบอะไรอยู่ในนั้นด้วย แล้วมิวสิกวิดีโอสมัยก่อนก็ทำเจ๋งกันมาก
ศุภมาศ:
โหย สมัยก่อนเขาแข่งขันกันสูงมาก และก็ลงทุนกันสูงมาก เพราะมันเป็นยุคที่เอ็มทีวีมันเพิ่งเกิดขึ้นมา ค่ายเพลงทุกอย่างมันเฟื่องฟู
WURKON:
แล้วพอเข้าไปเรียนที่คณะโบราณคดีแล้วเป็นยังไงบ้างครับ
ศุภมาศ:
ต้องยอมรับอย่างนึงว่าช่วงนั้นเรายังไม่ได้สนใจศิลปะไทยเลย เพราะเย็นๆ เราก็ไปทำงานกับอะไรที่มันเป็นตะวันตกมากๆ มันเป็นเรื่องปกตินั้น เหมือนเราสนใจสิ่งที่อยู่ภายนอกมากกว่า เราก็จะอินกับศิลปะตะวันตก ศิลปะไทยเอเชียเราก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ชอบมาก แล้วตอนนั้นก็ต้องแบ่งเวลาเรียนกับเวลาทำงาน ช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่ไปเรียน ช่วงเย็นรายการมันมีทุกวัน เป็นรายการสด แล้วก็ต้องมีรายการที่ออกไปถ่ายทำข้างนอกด้วย เพราะฉะนั้นสี่โมงเย็นเลิกเรียนก็มาทำงาน เสาร์อาทิตย์เราก็มีออกกองไปถ่ายรายการ ก็ทำอย่างงี้มาโดยตลอด ก็ได้เพื่อนช่วยติวให้ แต่ก็จะไม่ค่อยมีเวลาไปแฮงเอาท์กับเพื่อน และนิสัยก็อาจจะไม่ได้เป็นคนลักษณะนั้นด้วย ส่วนใหญ่ถ้ามีเวลาว่างก็จะเข้าห้องสมุด
WURKON:
พอจบจากที่โบราณคดีแล้วไปทำอะไรต่อครับ
ศุภมาศ:
ตอนนั้นเรียนสามปีครึ่งเราเก็บหน่วยกิตเกือบหมดแล้ว ขาดแค่หน่วยกิตเดียว ช่วงครึ่งปีสุดท้ายก็เลยเป็นช่วงที่ทำงานค่อนข้างหนัก และเราเริ่มรู้สึกว่างานที่เราทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่สุด เรามีเวลาเยอะขึ้นแล้วไง เราไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องเรีียน เราก็เที่ยวเล่น ใช้ชีวิต มันเหมือนหกเดือนนั้นเป็นหกเดือนที่เราไม่ได้มีความสุขมาก ก็รู้สึกอยากเรียนต่อ เราก็หาว่าถ้าจะเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะต่อปริญญาโทบ้านเรามันมีไหม ก็ไม่มี ก็เลยพยายามหาดูเราไปที่ไหนได้บ้าง ก็ตัดสินใจไปเรียนที่ออสเตรเลีย ไปเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่ก็เรียนเรื่องการจัดการศิลปะ เรื่อง Curatorial ด้วย มันเป็นเหมือนกับ CrossWorks ครึ่งๆ แล้วก็เรียนเกี่ยวกับแฟชั่น การทำโปรดักชั่น
WURKON:
พอเข้าไปเรียนแล้วเป็นยังไงบ้าง
ศุภมาศ:
ไปเรียนก็อ้วกแตกเลย (หัวเราะ) เพราะตอนสมัยเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่เมืองไทย มันยังเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะแบบที่เราเรียกว่าเป็นแบบเดิมละกัน ก็คือเรียนแบบ Timeline base ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรที่ไหน อะไรยังไง ว่าไป ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนเรื่องการวิจารณ์วิเคราะห์อะไรเลย
WURKON:
เป็นการท่องจำมากกว่า?
ศุภมาศ:
มันเป็นการอธิบายบริบทว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจริงๆ มันก็ดีแหละ แล้วชื่องานส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งคำเรียกงานหรือประเภทของศิลปะส่วนใหญ่มันเป็นชื่อที่แปลจากภาษาต่างประเทศ สมมติแปลจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ อังกฤษมาเป็นไทย มันเหมือนกับเราไม่มีคลังความรู้อะไรเลย มันเหมือนเราไม่สามารถแมตซ์ความรู้กับเขาได้เลย แล้วศิลปะที่เราเรียนมันเป็นศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ซึ่งความรู้ของเราตอนที่จบปริญญาตรีมันแค่ยุค 60s เอง เราไม่ได้เรียนหลังจากนั้นเลย พอเราไปเรียนของที่มันเป็น 80s, 90s แล้วไปเรียนทฤษฎีต่างๆ ที่มันไม่เคยอยู่ในหัวเรา มันเป็นอะไรที่หนักมาก เพราะ หนึ่ง ภาษา สอง เราต้องอ่านหนังสือเยอะมาก สาม เราไม่มีวิธีการวิเคราะห์งานในลักษณะนั้น ศิลปะของบ้านเรามันสวยงาม รื่นรมย์ อาจารย์เปิดเพลงฟังอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นส่วนที่ทำให้เรามีรสนิยมและความชื่นชมอะไรบางอย่าง แต่พอไปถึงที่โน่น โห เถียงกัน ทะเลาะกัน ต้องต่อสู้เรื่องความคิดกัน แต่ข้อได้เปรียบของเราคือ พอเขาเป็นฝั่งตะวันตก เขาก็จะมีมุมมองคนละแบบกับเราที่เป็นฝั่งตะวันออกมาก เพราะฉะนั้นพอเรามองคนละอย่าง เขาก็จะรู้สึกว่าบางทีสิ่งที่เราพูดออกไปมันเป็นสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้ ก็ทรมานมาก ช่วงนั้น แล้วต้องทำงานด้วย คือติดมั้ง ต้องทำงานตลอด (หัวเราะ) ก็ไปทำคาเฟ่ทำร้านอาหาร เพื่อจะหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วที่บ้านก็มีเรื่องด้วย คุณแม่ไม่สบาย ก็ค่อนข้างหนัก แต่ก็ดี มันก็เป็นอีกช่วงเวลานึงที่ทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือชีวิตจริงๆ ชีวิตที่ผ่านมามันเป็นชีวิตอีกแบบ (หัวเราะ)
WURKON:
แต่จริงๆ ก็ถือว่าคุณลูกตาลเป็นผู้ใหญ่เร็วนะครับ เพราะต้องทำงานตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้ว
ศุภมาศ:
ก็ใช่ แต่ว่างานที่เป็นลักษณะพิธีกรมันก็มีความรับผิดชอบประมาณนึง แต่พอไปทำงานที่เป็นลักษณะร้านอาหารหรือคาเฟ่เนี่ย มันเป็นการฝึกความรวดเร็ว การจัดระบบอะไรบางอย่างเยอะมาก แล้วก็ฝึกการเรียนรู้ที่จะคุยกับคนในรูปแบบต่างๆ เพราะมันเป็นงานบริการด้วยแหละมั้ง ซึ่งมันช่วยเรามาก มันช่วยเรื่องความอดทน เรื่องความเข้าใจในการให้บริการ ซึ่งเราว่ามันยังตกมาจนถึงทุกวันนี้ ที่เวลาทำงานเราก็ดึงประสบการณ์มาจากตอนนั้น
WURKON:
ในแง่นึงงาน Curatorial มันก็เป็นการให้บริการส่วนนึง เพราะหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์มันก็เป็นพื้นที่ที่ต้องรองรับผู้ชมด้วยเหมือนกัน
ศุภมาศ:
ใช่ คืองาน Curatorial มันก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย อย่าง ประสบการณ์ของผู้เข้าชมเนี่ย เราไม่ได้ทรีตว่าลูกค้าคือเจ้าชีวิต แต่ประสบการณ์ทุกอย่างที่เขาเข้ามาแล้วจะได้คือสิ่งที่เราควรจะมอบให้ ซึ่งบางคนก็จะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้ แต่เหมือนเราฝึกมาแล้ว เมื่อก่อนตอนทำที่คาเฟ่ ที่ร้านอาหาร เจ้านายเราเป็นอย่างงั้นด้วย เราก็คุยกับแขกทุกคน ทำงานจิปาถะโน่นนี่ จริงๆ เราก็รู้สึกว่าเราชอบด้วย
WURKON:
แล้วพอเรียนจบจากออสเตรเลียแล้วทำอะไรต่อครับ
ศุภมาศ:
เรียบจบเราก็กลับมาเลย ก็ส่งจดหมายสมัครงาน จำได้ว่าส่งไปที่หอศิลป์ตาดู อะเบาท์ สตูดิโอ / อะเบาท์ คาเฟ่ สมัครไปสองที่มั้ง รู้สึกอะเบาท์ คาเฟ่ ตอนนั้นเขาจะเป็นโชว์เกือบสุดท้ายแล้วมั้ง คือ HERE&NOW พี่เหมียว (เกล้ามาศ ยิปอินซอย) ก็เรียกเข้าไป เขาก็ให้เราไปเดินดูนิทรรศการ HERE&NOW ว่าเป็นยังไง เราก็บอกว่าตื่นเต้นมาก ในยุคสมัยนั้นมันก็ล้ำมาก เราก็เลยทำงานกับเขา ในโครงการ AARA (About Art Related Activities) ก่อนที่ อะเบาท์คาเฟ่จะหยุดไป แล้วเราก็ไปทำ TCDC
นิทรรศการ On Kawara: Consciousness. Medition. Watcher on the Hills, 2004, "Today Series (Date Painting)", About Studio / About Cafe
นิทรรศการ On Kawara: Consciousness. Medition. Watcher on the Hills, 2004, "On Million Years", About Studio / About Cafe
WURKON:
ตอนที่ดูแลโครงการ AARA นี่ดูแลเรื่องอะไรบ้างครับ
ศุภมาศ:
ตอนแรกประสานงาน เพราะช่วงที่เข้าไป นิทรรศการ HERE&NOW จบไปแล้ว ตอนที่เข้าไปมีงานของ ออน คาวารา (On Kawara) (นิทรรศการ On Kawara: Consciousness. Medition. Watcher on the Hills, 2004) เราก็ต้องเป็นคนประสานงาน
WURKON:
กับ ออน คาวารา เลยเหรอครับ งานแรกเจอศิลปินระดับโลกเลยนะเนี่ย โหดมากเลยนะ
ศุภมาศ:
ใช่ โหดมาก! แต่งานมัน Curate มาเรียบร้อยแล้วไงคะ มันก็เป็น Traveling Exhibition (นิทรรศการสัญจร) เราก็จะได้เรียนรู้ว่า Traveling Exhibition เป็นยังไง ตอนนั้นพี่เหมียวได้เป็นเจ้าภาพพื้นที่แสดงงานในประเทศไทยของ ออน คาวารา จาก New Museum เราก็ประสานงานแค่เรื่องว่า พื้นที่เราเป็นแบบนี้ คุณจะยอมให้งานของคุณมาจัดแสดงไหม ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องที่หนักมาก เพราะว่าเงื่อนไขในการแสดงงานของเขาเยอะมาก ก็ประสานงานตั้งแต่เอางานเข้ามา มีบิลอะไรของใครบ้าง ทำแม้กระทั่งออกแบบและคำนวณว่างานแต่ละชิ้นต้องตั้งห่างกันเท่าไหร่ ต้องคุยกับช่าง อะไรแบบนี้
WURKON:
ต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ
ศุภมาศ:
มันไม่มีคนน่ะ มีคนทำงานอยู่ไม่กี่คน จริงๆ ก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด ทำงานจับฉ่าย (หัวเราะ) แต่จริงๆ งาน Curatorial ต้องรู้ทุกส่วนอยู่แล้ว สำหรับเรา ตอนที่เราเรียนเนี่ย ช่วงที่เราเข้าไปฝึกงานตามที่่ต่างๆ เราต้องไปเรียนรู้ระบบป้าย ต้องไปคุยกับนักออกแบบนิทรรศการ เรื่องของการทำเนื้อหานิทรรศการมันเป็นแค่ส่วนนึง มันเหมือนเราทำตามระบบของงาน Curatorial แหละ แต่เป็นระบบที่เราทำกันเองเกือบทุกกระบวนการไปจนถึงเก็บงาน
WURKON:
มิน่า เมื่อกี้ตอนเข้ามาในหอศิลป์ เรายังเห็นคุณลูกตาลถือไม้กวาดกวาดหอศิลป์อยู่เลย (แซว)
ศุภมาศ:
(หัวเราะ) ใช่ ปัดกวาด เช็ดถู อะไรอย่างงี้ จริงๆ ตอนสมัยนั้นก็ทำ เราจะติดมาจากสมัยทำร้านอาหารน่ะ แม้กระทั้งพื้นก็ต้องปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาด (หัวเราะ)
WURKON:
ดูๆ ไป Curator(ภัณฑารักษ์) นี่เป็นเหมือนเจ้าที่ของสเปซเลยนะครับ
โครงการศิลปะ Bangkok, Bangkok, 2004, , La Capella, Barcelona, SPAIN
ศุภมาศ:
คือ Curator อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของสเปซก็ได้ แต่เขาต้องเข้าใจพื้นที่ การเป็น Curator คุณต้องรู้ทุกอย่าง แต่ในองค์กรที่ใหญ่ขึ้นก็อาจจะมีคนที่เข้ามาช่วยคุณในส่วนต่างๆ มากขึ้น แต่จริงๆ คุณต้องรับมือและรับผิดชอบกับทุกอย่าง ทุกคนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทำงาน หลังจากงานของ ออน คาวารา เราก็ได้ทำงานของ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ แล้วมันก็จะมีโปรเจ็กต์ Bangkok, Bangkok (2004) ที่พี่เหมียวกับพี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์) ทำด้วยกัน คือการเอางานไปแสดงที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน อันนั้นเราก็เป็นคนประสานงาน หาตั๋วเครื่องบิน ทริปนั้นเป็นทริปที่เหมือนมันก็สอนเราอีกแบบนึง ในการที่เราเอาศิลปินไปแสดงที่นั้น อยู่จนจบกระบวนการถึงเปิดนิทรรศการ กลับมา Curator ฝั่งนั้นส่งงานมาแสดงที่อะเบาท์ คาเฟ่ ช่วงนั้นก็จะเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นในวงการศิลปะบ้าง แต่จริงๆ ก็ถือว่าเป็นช่วงสั้น ทำสักประมาณหกถึงแปดเดือนเองน่ะค่ะ พอดีกับเราได้ข้อเสนอให้ไปทำงานที่ TCDC ด้วย มันก็จะมีเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ คือทำงานศิลปะมันก็ไม่มั่นคงเท่าไหร่ (หัวเราะ) เราก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อีกอย่างเรารู้สึกว่าตอนนั้นเราไม่ได้ฝึกอะไรเลย เพราะเวลามันสั้นมาก เรายังทำอะไรไม่เป็นเลย เราก็รู้สึกว่าการทำงานในลักษณะที่เป็นองค์กรมันน่าจะดี ตอนนั้นวางแผนว่าเราจะทำงานที่ TCDC สี่ปี เพื่อที่ว่าเราจะได้ไปเรียนรู้วิธีการที่จะทำงานในลักษณะที่เป็นระบบมาแล้วกลับมาทำงานเกี่ยวกับศิลปะต่อ ตอนนั้นเรามีเป้าหมายประมาณนั้น แต่ไปๆ มาๆ เราก็อยู่มาเกือบสิบปีแล้ว (หัวเราะ)
WURKON:
พอไปทำงานที่ TCDC นี่ คุณลูกตาลรู้สึกว่าการทำงานเกี่ยวกับวงการศิลปะ กับ วงการดีไซน์ นี่มันมีความแตกต่างกันมากไหมครับ
ศุภมาศ:
เราคิดว่างานที่เราดูเป็นนิทรรศการด้วยกันทั้งคู่ จนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ชอบมากกว่ากันคือะไรระหว่างการทำนิทรรศการศิลปะกับนิทรรศการดีไซน์ เราว่าตอนนี้มันสามารถถ่ายเทกันได้มาก เพราะบางทีการจัดงานดีไซน์มันอาจใช้วิธีของศิลปะบางอย่างเข้าไป ในขณะที่บางทีเราก็รู้สึกว่าการสร้างประสบการณ์แบบที่เราเคยทำในงานดีไซน์บางทีมันก็สามารถเอามาใช้กับงานศิลปะได้ เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันก็คาบเกี่ยวกันหมดแล้ว
WURKON:
แล้วในยุคแรกๆ ที่ไปทำ เราต้องปรับวิธีคิดอะไรไหม
นิทรรศการ กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน, 2005, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ศุภมาศ:
โห ตอนนั้นงงมากเลย เพราะวัตถุที่จัดแสดงของเขาคือสิ่งที่ทำขึ้นน่ะ มันคือการจ้างทำแหละ จริงๆ ก็คล้าย ๆ กันเลย เหมือนมีคอนเซ็ปต์มา แล้วเราต้องไปหา หรือไปสร้างของขึ้นมา แล้วเขาเรียกของทุกอย่างในนิทรรศการว่า props (อุปกรณ์ประกอบฉาก) เราก็เหมือนกับ “อะไรคือ props วะ?” (หัวเราะ) สำหรับเรามันคือ ศิลปะวัตถุบางอย่างที่เอาไปจัดแสดง แต่พอเราย้อนกลับมาดูตอนหลัง เราก็คิดว่าจริงๆ มันก็ไม่ต่าง อย่างตอนนิทรรศการแรกที่เราทำให้ TCDC ชื่อ “กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน” แล้วตอนนั้นต้องไปเอาบ้านไทยอีสานมาวางไว้ สำหรับเราจริงๆ เราคิดว่า มันก็เหมือนถ้ามีศิลปินคนนึงที่มีคอนเซ็ปต์ที่เอามันมา จริงๆ มันก็มีเรื่องเล่าของมันอยู่ แต่ตอนนั้นเขาก็บอกว่า คุณไปหามา แล้วสิ่งที่ทำมันง่ายมาก เขาก็เอาแคตตาล็อกมาเปิดดูว่ามีบ้านที่โน่นที่นี่ให้เลือก เราก็งงๆ นิดนึง (หัวเราะ) แต่มันก็เหมือนเป็นวิธีการเรียนรู้ว่า เออ มันสามารถจัดการแบบนี้ได้ด้วยเหมือนกัน
WURKON:
แต่วิธีการนำเสนอของนิทรรศการดีไซน์มันจะมีลักษณะของความประนีประนอมมากกว่านิทรรศการศิลปะไหม
ศุภมาศ:
เราคิดว่า ในส่วนของ TCDC เนื่องจากมันเป็นองค์กรของรัฐบาล มีเป้าหมายภารกิจชัดเจน เราค่อนข้างที่จะใช้คำว่า เหมือนกับจูงผู้ชมเข้าไปเลยด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอคืออะไร มันเหมือนกับการเรียนรู้ และนี่คือความคิดที่เราจะให้คุณ ในขณะที่นิทรรศการศิลปะเรารู้สึกว่ามันสามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้เข้ามาดู และคิดต่อเอง ซึ่งตอนหลังๆ ที่เราทำ TCDC เราก็เริ่มใช้วิธีของศิลปะเข้ามา เพราะเราคิดว่าคนดูไม่โง่ (หัวเราะ) หมายถึง บางงานเป็นการให้ความรู้ เพราะคุณจะบอกว่ามันมีชุดความรู้แบบนี้นะ แต่บางอันคุณจะสร้างให้เกิด ความตระหนักรู้บางอย่าง ถ้าเราใช้วิธีแรก มันเหมือนเราให้เขาท่องจำน่ะ
WURKON:
มันยัดเยียดเกินไป?
ศุภมาศ:
ใช่ ตอนหลังเราก็เลยใช้วิธีหลังมากขึ้น
WURKON:
มีตัวอย่างไหมครับ ว่านิทรรศการไหนที่ใช้วิธีการของศิลปะเข้ามาช่วย
นิทรรศการ ชนชราแห่งอนาคต: นิยาม โอกาส และความท้าทายใหม่, 2016, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ศุภมาศ:
จริงๆ ล่าสุดที่เราเพิ่งทำไปคือ "ชนชราแห่งอนาคต: นิยาม โอกาส และความท้าทายใหม่” เพิ่งทำไปตอนต้นปีนี้เอง เหมือนเราได้โจทย์มาว่า ทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้คนเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับ สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วเราอาจจะเอาโปรดักต์มาวางหรืออะไรก็ได้ แต่ตอนนั้นเรากลับมานั่งคิดดูว่า ทำยังไงที่จะให้คนเข้าใจว่ามันเป็นส่วนนึงของตัวเขาเอง เริ่มจากโจทย์แค่นั้นเลย เพราะพอมานั่งดูสถิติย้อนกลับไป ชนชราแห่งอนาคตก็คือพวกเราเองนี่แหละ (หัวเราะ) อย่างตอนนั้นเราได้ เข้ (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) มาช่วยทำวิดีโอให้ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้แนะแนวอะไรเขามาก คือมันมีสถิติ มีคาแรคเตอร์ประมาณนี้ เราก็เล่าให้เขาฟัง แล้วเราก็บอกว่า คุณไปพัฒนามา มันเป็นงานของคุณ ซึ่งตอนแรกก็กลัวมาก เพราะมันเป็นงานประเภทที่ไม่ค่อยได้ชี้นำคนเท่าไหร่ ซึ่ง TCDC ไม่ค่อยได้ทำงานในลักษณะนี้ ที่เป็นการเปิดพื้นที่โล่ง ใครเข้าไปตรงไหนก่อน ดูตรงไหนก่อนก็ได้
WURKON:
มันไม่มีการกำหนดทิศทางเดิน
ศุภมาศ:
ใช่ ทุกอย่างเป็นก้อนๆ หลวมๆ แต่ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี คนก็ชอบกัน เพราะมันอาจจะเปิดพื้นที่ให้เขาได้คิด ไม่งั้นมันจะกลายเป็นเส้นตรงมาก คือเดินเข้าไปเจออันนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก ซึ่งอันนั้นเป็นวิธีการของเราในช่วงต้น
WURKON:
ก็เลยเอาทั้งสองแบบมาผสมผสานกัน
ศุภมาศ:
ใช่ มันก็เป็นความชอบของเราด้วย แต่ต้องย้อนกลับไปสมัยแรกๆ ที่ทำนิทรรศการของ TCDC ช่วงปี 2005 - 2006 คนยังไม่ได้มีพฤติกรรมในการดูนิทรรศการน่ะ การใช้ Wow Effect (ปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้บริโภค) หรือการเล่าเรื่องบางอย่างแบบงานดีไซน์มันช่วย เพราะจริงๆ เราต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาดูเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นเราต้อง... มันก็ไม่ถึงกับเอาใจแฟนเพลงทุกคนน่ะ (หัวเราะ) แต่มันก็เหมือนเราก็ต้องพยายามปรับลดสิ่งที่เราคิดว่าเราอยากจะไปให้สุด เพื่อที่จะให้คนส่วนมากเข้าใจ
WURKON:
คือทำให้มีความป๊อปปูล่าร์มากกว่า
ศุภมาศ:
ใช่ เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือประชาชนทั่วไปน่ะค่ะ
นิทรรศการ อจีรัง คือ โอกาส, 2009, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
WURKON:
นิทรรศการ “อจีรัง คือ โอกาส” นี่คุณลูกตาลทำด้วยใช่ไหมครับ เคยดูมาตั้งเป็นสิบปีแล้วยังติดตาตรึงใจเราจนถึงทุกวันนี้เลย
ศุภมาศ:
ใช่ค่ะ ขอบคุณค่ะ
WURKON:
ตอนดูตู้กระจกที่ใส่อาหารแล้วทิ้งไว้ให้เน่านี่นึกถึงงานศิลปะของ เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) เลยนะครับ
ศุภมาศ:
จริงๆ ตู้เน่าๆ อันนั้น ไอเดียมันมาจากภาพวาดศตวรรษที่ 17 (จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age painting)) ที่วาดภาพอาหาร เรามาสายนั้นไง เราก็เลยบอกเขาว่าเราอยากได้ภาพ Still life (หุ่นนิ่ง) แบบยุคนั้นมาตั้ง แต่พอคุยกับดีไซเนอร์ เขาบอกว่าแค่เอาภาพมาตั้ง คนไม่เข้าใจหรอก เอาของจริงมาตั้งเลยดีกว่า เพราะตอนแรกเหมือนกับเราอยากได้แค่งานรีโปรดักชั่นภาพวาด หรือหาศิลปินช่างภาพมาถ่ายภาพ Still life แต่พอเขาผลักเราไปไกลว่านั้นว่าเอาของจริงมาตั้งให้เน่าเลยดีกว่า เราก็เลยมาทดลองกันดู ปรากฏว่ามันเวิร์ค เราก็ไปคุยกับอาจารย์ที่ ม. เกษตร เพื่อขอความรู้ในการควบคุมสภาพภายในตู้นั้น จริงๆ ตอนหลังมันก็มีวิดีโอ มีตัวเลขที่วิ่งบอกวันเวลาของตู้ด้วย
WURKON:
ที่ว่าควบคุมสภาพภายในตู้นี่คือควบคุมอะไรเหรอครับ
ศุภมาศ:
มันต้องผนึกปิดตู้ทั้งหมดสี่ด้านและบนล่างไม่ให้มีอะไรเล็ดรอดออกมาได้ เพราะที่นั่นมันเป็นห้างสรรพสินค้าไง ทั้งกลิ่น ทั้งอะไร มันแย่มาก ตอนเก็บคนต้องใส่ชุดป้องกันจริงจังน่ะ เราถึงต้องไปปรึกษาอาจารย์ ม. เกษตร ไง ว่าต้องทำยังไง แต่ปรากฏว่าในนิทรรศการก็มีคนมาศึกษาเรื่องเชื้อรา เพราะเขาบอกว่าในตู้นั้นมันมีราหลายสีมากที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สนุกดี เรารู้สึกว่านิทรรศการนี้เป็นสิ่งผลักมาจากการคุย เราชอบใช้เป็นกรณีศึกษาในการทำงานออกแบบนิทรรศการดีไซน์ กับการสร้างชิ้นงาน เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นการโยนไอเดียกันไปกันมาแล้วมันเกิดงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา แต่ตอนนั้นเราไม่ได้นึกถึง เดเมียน เฮิร์สต์เลยนะ มาอีกทางนึงเลย มาทางภาพวาด Dutch Golden Age มากกว่า
WURKON:
การได้ทำงานกับทั้งวงการดีไซน์และวงการศิลปะ คุณลูกตาลคิดว่าสองวงการนี้มีความเหมือนหรือความแตกต่างกันยังไงบ้างครับ
ศุภมาศ:
จริงๆ แล้วค่อนข้างพูดยาก เพราะว่า TCDC เองไม่ใช่ดีไซน์ล้วน TCDC เป็นองค์กรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เราตั้งใจที่จะพูดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เราเอามาให้ดู เราแค่จะบอกว่าอะไรมันเป็นโอกาสที่คุณจะเอามาใช้ในการทำมาหากินของคุณได้บ้าง แต่ว่าในช่วงแรกๆ ทำงานกับดีไซเนอร์มันก็จะเป็นอีกแบบนึง มันจะเป็นชุดความคิดคนละแบบ แล้วเราก็อาจจะไม่ได้ทำงานกับดีไซเนอร์เยอะขนาดนั้นด้วย เพราะงานส่วนที่เราทำนิทรรศการมันไม่ได้เป็นการทำงานกับดีไซน์มากขนาดนั้น ตรงนั้นจะเป็นอีกหน่วยงานนึงมากกว่า ของเราจะดูแลนิทรรศการและเนื้อหาของนิทรรศการ
WURKON:
ดีไซเนอร์ที่ต้องทำงานด้วยก็จะเป็น Exhibition Designer (นักออกแบบนิทรรศการ) ใช่ไหมครับ
ศุภมาศ:
ใช่ เราจะมาสาย Exhibition Designer, Production Designer (นักออกแบบงานสร้าง) พอตอนที่เราเอามันกลับมาใช้กับกับนิทรรศการศิลปะ เราว่ามันก็เวิร์คเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยมองศิลปะในแง่ที่มันเป็นโปรดักต์มาก หมายความว่า เวลาคนซื้องานศิลปะไปแล้วเราจะต้องทำทุกอย่างให้มันสะดวกสำหรับเขา นั่นเป็นส่วนที่เรารู้สึกว่าก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิดถึงเรื่องพวกนี้มาก
WURKON:
ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ ที่ต้องคำนึงถึงแพคเกจ การเก็บรักษา การขนส่ง
นิทรรศการ DREAM PROPERTY, 2016, มิติ เรืองกฤตยา, 15.10 - 27.11.2016 Bangkok CityCity Gallery
ศุภมาศ:
ใช่ มันเป็นการคิดให้จบตั้งแต่แรกเลย หรืออย่างงานของ มิติ (เรืองกฤตยา) (ที่จัดแสดงอยู่ในช่วงสัมภาษณ์) ก็เถียงกัน เขาเองก็อยากได้แค่เป็นกระดาษที่ถูกตรึงด้วยหมุด ส่วนเรา เราก็รู้สึกว่าในมุมของนักสะสม ที่เป็นคนปกติ ไม่ใช่สถาบันทางศิลปะ เนี่ย ถ้าวางงานในลักษณะนี้ เขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปแขวนในบ้านยังไง แล้วในงานก็ดูเหมือนว่าคนจะสามารถเอามือจับงานได้เลยด้วยซ้ำ ทำให้งานเหมือนจะเสียหายได้ตลอดเวลา อันนั้นเรามองในแง่โปรดักต์ ในแง่ของการเก็บรักษาแล้ว แต่พอมานั่งคุยกับเขา เขาบอกว่าการที่เขาจะแขวนงานแบบนี้มันมีความหมาย เพราะงานของเขาไม่ได้จบแค่ภาพถ่าย การที่มันจะหายไปได้ตลอดเวลามันเป็นแนวคิดของเขา เพราะอีกแป๊บนึงป่าที่เห็นในภาพมันก็จะกลายเป็นตึกขึ้นมาแล้ว พอเขาโยนแบบนี้มาเราก็ไม่สามารถใช้ตรรกะของการทำผลิตภัณฑ์ได้ไง เราก็โอเค งั้นก็จบ เราก็ค่อยไปจัดการตรงอื่นแทน อย่างเช่น ภาพนี้เป็น AP (Artist's proof งานพิมพ์ที่ศิลปินเป็นผู้ทำการพิมพ์หรือคัดเลือกด้วยตัวเอง) ซึ่งคนสามารถซื้อไปได้ หรือถ้าสมมติคุณจะใส่กรอบ เราก็ใช้วิธีการให้มันออกมาเหมือนงานที่แสดงในนิทรรศการได้ บางทีถ้าเราไม่ได้อยู่กับดีไซเนอร์เลย เราก็จะไม่คิดถึงกระบวนการอะไรพวกนี้
WURKON:
พูดง่ายๆ สิ่งที่เพิ่มเติมมาเหล่านี้ก็คือ “ความสะดวก” ใช่ไหมครับ
ศุภมาศ:
ใช่ คนซื้อของน่ะ บางทีเขาต้องการความสะดวก คือเนื่องจากนักสะสมที่เข้ามาที่นี่อาจจะไม่ใช้นักสะสมรายใหญ่ ที่สะสมผลงานประเภทยาก มหัศจรรย์ บางคนเขาเพิ่งเริ่มต้นในการสะสม แค่เราขอให้ไม่ใส่กรอบ บางทีเขาก็ไม่รู้จะไปติดยังไง ไปวางยังไงแล้ว
WURKON:
ศิลปินชื่อดังหลายคน อย่างเช่น คุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เขาก็ทำงานศิลปะจนจบทุกกระบวนการ และอำนวยความสะดวกให้คนที่ซื้องานเขามากๆ เลยนะ
ศุภมาศ:
โหย งานของแกแพ็คอย่างดีมาก! เราว่าศิลปินที่ทำงานมายาวนานเขาทำตรงนี้เก่งมาก แพคเกจจิ้งมันก็เป็นส่วนนึง แต่มันก็ยังมีไปถึงการดูแล การเก็บรักษาตัวงานด้วย
WURKON:
มันน่าสนใจตรงที่ พอเอาวิธีคิดของงานดีไซน์อย่างเรื่องการทำให้จบในทุกกระบวนการ ความสะดวกในการขนส่ง การเก็บรักษา การมองว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง มันทำให้งานศิลปะมันเข้าถึงง่าย ไม่ต้องปีนกระได และทำให้คนซื้อสะดวกใจที่จะซื้อไปสะสมด้วย
ศุภมาศ:
จริงๆ ศิลปินรุ่นก่อนๆ อย่าง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี นี่แกก็แพ็คงานเวิร์คมาก! การแพ็คงานด้วยท่อพีวีซีนี่เอามาจากแกเลย เพราะเมื่อก่อนเราก็ใส่งานในท่อกระดาษ ซึ่งจริงๆ มันไม่แข็งแรง พอใช้ท่อพีวีซีมันสะดวกในการขนส่งมาก เราก็ อ๋อ รุ่นใหญ่เขาทำกันอย่างงี้นี่เอง! (หัวเราะ)
WURKON:
พอมาทำ TCDC แล้วทำไมอยู่ๆ ถึงตัดสินใจเปิดแกลเลอรี่ของตัวเองล่ะครับ
ศุภมาศ:
อ๋อ จริงๆ ระหว่างทำ TCDC ก็ช่วยเพื่อนทำงานนิทรรศการศิลปะอะไรไปเรื่อยๆ แบบ ไปขอพื้นที่บาร์บ้าง ร้านอาหารติดตั้งงานบ้าง แล้วแต่ว่าใครให้ใช้พื้นที่ เราก็หงุดหงิด เพราะตอนงานวันเปิดมันก็โอเคอยู่ คนเข้าไปดูงานได้ คือตอนนั้นมันเป็นโปรเจ็กต์ทดลองของเราด้วย เราว่าคนทุกรุ่นพยายามมากในการนำเอาศิลปะเข้าไปอยู่กับพื้นที่ต่างๆ แต่เอาจริงๆ มันมีเงื่อนไขที่ไม่เวิร์คคือ หลังจากวันเปิดแล้ว ตอนคนจะดื่มกันในบาร์ตอนกลางคืนเขาก็ต้องปิดไฟให้เหลือแสงน้อยที่สุด หรือสมมติบางทีเราไปยืนดูงานข้ามหัว ข้ามโต๊ะคนกินอาหารมันก็ไม่เวิร์ค อะไรอย่างงี้ คือวันเปิดงานมันเป็นอะไรที่โอเคมาก ทุกคนมาดูงาน เรารู้สึกว่ามันโอเคมากกับศิลปิน แต่พอหลังจากนั้นมันไม่โอเค
WURKON:
เหมือนกับเวลาไปดูงานแล้วเราไปรุกล้ำพื้นที่ของคนกินอาหาร แล้วคนดูงานเองก็รู้สึกอิหลักอิเหลื่อในการดูงานด้วย
ศุภมาศ:
ใช่ เพราะเราก็เคยไปดูงานที่เป็นลักษณะอย่างนั้นน่ะ ซึ่งเราก็ดูได้นะ แต่เขานั่งกินอาหารกันบนโต๊ะ แล้วเหมือนกับเราไปยืนค้ำหัวอยู่น่ะ เราก็รู้สึกไม่ค่อยดี ก็เลยคิดว่าลองทำแกลเลอรี่ของตัวเองดีไหม ที่ที่เราสามารถจัดการได้ และงานศิลปะเป็นอันดับแรกที่เราจะนึกถึง
WURKON:
เราก็ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับพื้นที่ หรือรู้สึกอึดอัดกับการดูงานอีกต่อไป
ศุภมาศ:
แต่ว่าอันนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าเราก็ได้พื้นที่มาฟรี (หัวเราะ) แล้วบางทีเขาก็ช่วยเราในเรื่องของค่าใช้จ่ายบางอย่างด้วย เพราะเขาก็คิดอยู่แล้วว่า มีงานศิลปะไปแสดงมันก็เหมือนเป็นอีเวนต์ประชาสัมพันธ์ให้เขาน่ะ เขาก็มีส่วนได้ประโยชน์ไปด้วย แต่เรารู้สึกว่าทำอย่างงี้ต่อไปเรื่อยๆ มันเหนื่อยและปวดหัวน่ะ แต่ว่ามันก็เป็นการเรียนรู้ไปอีกแบบ เรื่องคน และเรื่องการจัดการพื้นที่และเงินที่จำกัดอะไรก็ว่าไป เพราะพอทำเองก็เหลือแต่เรากับศิลปิน เพื่อที่จะประหยัดเงินได้มากที่สุด เราก็เลยได้ลงมือเยอะ
นิทรรศการ CHAT ROOM, กฤษณ อิ่มเอมกมล, 17.08 - 11.09.2016, Bangkok CityCity Gallery
นิทรรศการ I WRITE YOU A LOT, นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์, 18.06 - 07.08.2016, Bangkok CityCity Gallery
WURKON:
แล้วพอมาเปิดเองนี่เป็นยังไง ยากไหมครับ
ศุภมาศ:
มันเหมือนกับเราค่อยๆ ฝันเติมๆ ไปเรื่อยๆ ตอนแรกมันก็ไม่ได้เป็นภาพจบแบบนี้ มันเริ่มจาก เราอยากมีพื้นที่ที่แสดงงานได้ แล้วมันจะมีพื้นที่เท่าไหร่ดี มันจะอยู่ตรงไหน เราก็ค่อยๆ พัฒนามา เพราะจริงๆ ก่อนที่มันจะสร้าง เราก็คุยกันมาเกือบสองสามปีในการคิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา แล้วมันก็ไม่ใช้พื้นที่ของเราคนเดียว เรามีหุ้นส่วนอีกคนนึง ซึ่งเราก็ต้องสร้างสมดุล เพราะคนเราไม่ได้ชอบอะไรเหมือนกันทุกอย่าง เราก็ต้องมาหาจุดตรงกลางว่ามันจะออกมาเป็นยังไง
WURKON:
Bangkok CityCity Gallery นี่ก็เป็นคอมเมอร์เชียลแกลเลอรี่ (หอศิลป์เชิงพาณิชย์) ที่อยู่ได้ด้วยการขายงานศิลปะใช่ไหมครับ
ศุภมาศ:
ใช่ค่ะ ตอนแรกเราทำแบบ Nonprofit (ไม่แสวงหาผลกำไร) จริงๆ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราไม่เคยมาสายการขายของอะไรเท่าไหร่เลย คือทำงานให้หน่วยงาน องค์กร ทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเกิดกำไรขึ้น จริงๆ ตอนแรกก็ทำ Nonprofit แหละ คุยกันมาประมาณ 6 เดือน ว่าจะทำแบบนี้นะ ขอทุนโน่นนี่ แล้วก็ไปคุยกับศิลปินหลายๆ คน คุยกับพี่ที่รู้จัก ซึ่ง ณ เวลานั้นทุกคนจะถามว่าคุณจะเป็น Non Profit หรือคุณจะเป็นคอมเมอร์เชี่ยล เราก็แบบ ทำไมมันต้องเลือกระหว่างการที่จะเป็นอันใดอันนึงด้วย แต่ว่าพอหลังจากเราคุยกับศิลปินมา เรารู้สึกว่าปัญหาอย่างนึงก็คือว่า ถ้ามันไม่ได้มีการขายงานเกิดขึ้นเนี่ย ศิลปินบางคนเขาไม่มีสตางค์ ไม่มีรายได้เข้ามา มันจะมีแค่การผลิตงานได้ มีนิทรรศการ...
WURKON:
มีแค่ทุนในการผลิตงาน?
ศุภมาศ:
ใช่ คือถ้าคุณโชคดี คุณก็อาจจะมีเงินเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่น้อยมาก ที่จะเหลือ แล้วเมื่อไม่ได้มีการขายหลังจากแสดง กลายเป็นงานก็ถูกเก็บเอาไว้ เราก็ เฮ้ย ทำยังไงดี ไม่งั้นอยู่ยาวไม่ได้แน่เลย รัฐบาลก็คงไม่ให้เงินสนับสนุน ก็เลย เอ้า! ถ้าอย่างงั้นเราขายงานด้วยดีกว่า พยายามหน่อย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น คือเราพูดเรื่อง longevity (ความยั่งยืน) มาตลอด ว่าทำยังไงให้มันอยู่ยาว แต่อย่างโปรเจ็กต์เนี้ยของเรา เรามองว่าสิบปีเนี่ย เหมือนมันก็ยาวแล้ว สำหรับเรา เราจะทำยังไงให้มันอยู่ไปได้ เพราะหลังจากนี้เราก็อาจจะทำอย่างอื่นหรืออะไรเราก็ไม่รู้น่ะ เราก็มองเป็นสามปี ห้าปี สิบปี
WURKON:
เพราะจริงๆ แกลเลอรี่เมืองไทยมันก็อายุสั้นเหมือนกันเนอะ
ศุภมาศ:
ใช่ แต่เราเข้าใจเลยนะ เพราะว่าตอนที่เราเริ่มทำเนี่ย ทุกคนจะบอกเลย อย่างพี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์) นี่บอกเลยว่า “แก เหนื่อยมากนะ คือมันจะเป็นอะไรที่โคตรเหนื่อยน่ะ” มันจะไม่เหมือนกับตอนที่ทำ TCDC ความเหนื่อยของเรามันจะจบเมื่อนิทรรศการมันเปิดเรียบร้อยแล้ว เราไม่ต้องมานั่งคิดว่าเราจะไปหาเงินมาจากไหน ใครจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเราในส่วนนี้ ซึ่งมันเป็นคนละอย่างกันเลย อย่างอันนี้เราก็รู้แหละว่า บางนิทรรศการมันก็อาจจะขายได้ดี ในขณะที่บางนิทรรศการมันก็อาจจะขายได้ไม่ดีเท่า ตรงนี้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ เพราะว่าเรายังไม่มีความเข้าใจเรื่องการขายงานที่แท้จริง ก็ให้เวลาตัวเองในการที่จะพัฒนาตรงนี้
WURKON:
แต่แกลเลอรี่นี้มันก็เปลกไปกว่าคอมเมอร์เชียลแกลเลอรี่แห่งอื่นๆ ที่แสดงงานเป็นชิ้นๆ เหมือนกับภาพวาด ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ซึ่งความเข้าใจต่อคนซื้อมันง่ายกว่า แต่ที่นี่มันจะเป็นอีกแบบนึง
ศุภมาศ:
ใช่ค่ะมันค่อนข้างเป็น Exhibition Base (ภาพรวมของนิทรรศการ) มากกว่าที่จะเป็น Art Work (ชิ้นงานโดดๆ)
WURKON:
ถ้าอย่างงั้นแล้วคุณขายยังไง
ศุภมาศ:
ตอนแรกต้องเริ่มตั้งแต่การทำให้คนเข้าใจก่อนว่าเราขายงาน (หัวเราะลั่น) ปัญหาตอนนี้ก็คือ อย่างแรก คนแยกไม่ออกระหว่างแกลเลอรี่กับพิพิธภัณฑ์ คนไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่เก็บค่าเข้า เราควรจะต้องเก็บค่าเข้าชมสิ แล้วอย่างที่สอง ของที่เราเห็นอยู่นี่มันซื้อได้ด้วยเหรอ? หรืออะไรอย่างงี้ คือพวกคนที่เขาสะสมงานอยู่แล้ว เขารู้วิธีการอยู่แล้วแหละ เพียงแต่ว่าการที่จะสร้างนักสะสมงานศิลปะกลุ่มใหม่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนนึงของการเปิดที่นี่ เราต้องทำให้เขาเข้าใจ ว่ามันเกิดการขายขึ้นนะ งานบางชิ้นมีลักษณะการขายเป็น edition (มีจำนวนพิมพ์) นะ บางทีมันต้องคุยเยอะมาก เพราะคนไม่รู้
WURKON:
สมมติว่า ถ้าเราเป็นนักสะสมงานหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร เดินเข้ามาในแกลเลอรี่นี้แล้วชี้นิ้วถามว่า นี่มันขายด้วยเหรอครับ? คุณจะตอบยังไง
ศุภมาศ:
จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราถูกสอนต่อๆ กันมา Soft sell (การขายแบบไม่ยัดเยียด) น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งจริงๆ ก็คือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับงานของศิลปินคนนั้นน่ะค่ะ คนที่ยังไม่เริ่มสะสมงานตอนแรก เขาจะมีปัญหาอย่างนึงคือ เขาจะไม่รู้ว่าเขาชอบงานแบบไหน และช่วงแรกๆ เขาจะค่อนข้างสะสมแบบสะเปะสะปะ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ อย่างสมมติคนนี้ดัง หรือเป็นการตัดสินใจชั่ววูบ หรือตัดสินใจเพราะราคา และมันก็จะมีอีกกลุ่มนึงซึ่งมองว่างานศิลปะที่ซื้อไปจะมีการเก็งกำไรต่อได้ในอนาคต ซึ่งพวกนั้นเราไม่ต้องห่วง เพราะเขาจะมีระบบของเขาอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามจะอธิบายว่ามันคาดการณ์อะไรไม่ได้ขนาดนั้นหรอก ของพวกนี้ แล้วถ้าสมมติว่าเขาเริ่มอิน หมายถึงเขาเริ่มชอบงานของศิลปินคนนี้ ส่วนใหญ่เขาก็จะถามแหละค่ะ ว่ามันขายไหม? สมมติยกตัวอย่างงานที่แสดงอยู่เนี่ย ขายเป็นชุดหรือเปล่า? หรือแยกเดี่ยว? ณ ช่วงเวลานั้นเราก็จะมีข้อมูลพวกนี้ให้เขาว่า ราคาเป็นอย่างนี้ๆ นะ บางคนก็แบบ เอาไปเลยได้ไหม (หัวเราะ) บางทีการที่มันเอาไปเลยไม่ได้เนี่ย มันก็เป็นปัญหาว่า เอ้า ฉันก็ซื้อแล้วนี่หว่า ทำไมจะเอาไปไม่ได้ อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ)
WURKON:
อย่างบางแกลเลอรี่เขาก็ขายไปเดี๋ยวนั้นเลยก็มีนะ เพราะเขาก็มีงานเก็บเป็นสต็อกอยู่ อยากได้ชิ้นนี้ เอาไปเลย เดี๋ยวเอาชิ้นอื่นมาแขวนใหม่
ศุภมาศ:
ใช่ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำลักษณะนั้น ของเราต้องจบนิทรรศการคนซื้อถึงค่อยได้งานไป ยกเว้นงานที่เป็นรีโปรดักชั่น ที่เราสามารถที่จะพิมพ์ขึ้นมาตามจำนวนได้ อันนั้นเราก็จัดการให้ได้ ซึ่งจริงๆ เอาไปได้เลย มันก็ดีกว่านะ เราเคยไปซื้องานที่เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน บางทีคนต่างชาติบางคนเข้ามา เขาก็อยากจะได้งานไปเลย ไม่ต้องรอการส่ง เขาขอถือไปเลยได้ไหม? อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับงาน เราเคยมีบางงานที่เรามีห้องด้านหลังที่มีงานเป็นสต็อกไว้อยู่ ซึ่งอันนั้นคุณเอากลับไปได้ แต่งานที่แสดงอยู่ในนิทรรศการคุณก็ต้องรอ จบนิทรรศการเราก็ค่อยจัดส่งให้ไป
WURKON:
มันก็คนละลักษณะกันด้วยใช่ไหม เพราะงานในแกลเลอรี่ของคุณลูกตาล ตัวงานทุกชิ้นมีความสำคัญต่อภาพรวมของนิทรรศการ ถ้างานชิ้นใดชิ้นนึงถูกถอดออกไปมันก็เสียคอนเซ็ปต์ แต่แกลเลอรี่ที่เป็นคอมเมอร์เชียลมากๆ มันก็เหมือนแขวนงานเป็นชิ้นๆ ให้คนมาซื้อกลับไปได้เลย
ศุภมาศ:
ใช่ ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าเราอยากทำคอมเมอร์เชียลแกลเลอรี่ด้วยแหละ งานมันก็เลยออกมาอีกแบบ คือคอมเมอร์เชียลแกลเลอรี่ปกติ ทุกเดือนคุณก็ต้องเปลี่ยนนิทรรศการแล้วแหละ เพราะเหมือนคุณจะได้มีสินค้าเยอะขึ้นให้ลูกค้ามาเลือกสรรได้ แต่อย่างของเรา เรารู้สึกว่า โห กว่าจะประกาศว่ามีนิทรรศการ คนกว่าจะรู้ คนกว่าจะมา บางทีมาจะดูนิทรรศการที่แล้ว ขนาดเราขยายเวลาประมาณแปดสัปดาห์ มาถึงก็จบไปแล้ว แล้วมันก็จะมีประเภทคนที่ไม่รู้ อย่างเช่น อ้าว แล้วห้องที่เคยจัดแสดงงานนี้อยู่ตรงไหนเหรอคะ? เราก็แบบ ก็ห้องนี้แหละค่ะ (หัวเราะ) เขาจะนึกว่างานที่เขาเห็นในนิทรรศการที่แล้วมันจะอยู่ที่เดิมเหมือนพิพิธภัณฑ์น่ะ แบบ งานที่เคยเห็นตรงนี้มันอยู่ไหนเหรอคะ? แต่เราก็จะไม่ได้ปล่อยเขาไปนะ แบบ อ๋อไม่มีหรอกค่ะ เราก็พยายามที่จะอธิบายให้เขาฟังว่า เราเป็นลักษณะนี้นะคะ ถ้าเราอยู่เองเราก็จะคุยให้เขาฟัง
WURKON:
นี่มันหัวใจของงานบริการเลยนะครับเนี่ย
ศุภมาศ:
(หัวเราะ) ใช่ หัวใจของงานบริการ ส่วนนึงก็ได้มาจากตอนทำ TCDC แล้วก็มาจากตอนทำคาเฟ่ด้วย
WURKON:
อย่างนั้นในฐานะที่เป็นคอมเมอร์เชียลแกลเลอรี่เนี่ย สมมติมีคนจะมาซื้องานย้อนหลัง หรืองานในนิทรรศการที่แสดงจบไปแล้วนี่คุณมีให้เขาไหม
ศุภมาศ:
มีค่ะ มีเป็นปกติ ณ ตอนนี้คุณก็สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ ปกติในนิทรรศการที่ผ่านๆ มา คนก็จะเขียนอีเมลมาอยู่แล้ว ว่าเขาสนใจงานชิ้นนี้นะ ช่วยส่งรูปมาให้ดูหน่อย สมมติว่าเขาอยากที่จะดูงานจริง เราก็จะเตรียมงานออกมาให้เขาดูได้ด้วย หรือเขาอาจจะสนใจงานของศิลปินคนนี้ในชุดก่อนหน้านี้ เราก็ต้องมีข้อมูลให้ ซึ่งในอนาคตเราคิดว่าเราจะทำทุกอย่างในรูปแบบออนไลน์ได้ดีขึ้น
WURKON:
ซึ่งจริงๆ มันก็ดีสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาดูงาน หรือมาไม่ทัน ก็ดูในเว็บไซต์แล้วซื้องานย้อนหลังได้
ศุภมาศ:
มันก็ดีในแง่ของการขายงานด้วย อีกอย่างมันก็ดีต่อการที่จะทำงานกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง เรามีงานประเภทไหน หรือศิลปินเอง พอทำงานด้วยกันเขาก็รู้สึกไว้ใจว่าให้เราดูแลดีกว่า สำหรับงานชุดนี้อะไรอย่างงี้ เราก็จะช่วยดูแลให้เขา
WURKON:
เหมือนเป็นเอเยนต์ให้เขาไปในตัว
ศุภมาศ:
ใช่ค่ะ
นิทรรศการ #NRCSSM, Beejoir, 16.12.2015 - 07.02.2016, Bangkok CityCity Gallery
นิทรรศการ PAINTING IN A ROOM FILLED WITH PEOPLE WITH FUNNY NAMES 3, กรกฤช อรุณานนท์ชัย, 03.04 - 05.06.2016, Bangkok CityCity Gallery
WURKON:
อย่างงาน กรกฤช (อรุณานนท์ชัย) ที่เคยแสดงที่นี่ไปนี่ขายอะไรเหรอครับ ขายตัวหนังเหรอ?
ศุภมาศ:
หนังจะเป็นของ Complimentary (อภินันทนาการ) แต่จริงๆ ขายภาพวาด อย่างประติมากรรมเนี่ย ขายทั้งชุด
WURKON:
ขายภาพวาดแถมหนัง?
ศุภมาศ:
ใช่ อารมณ์ประมาณนั้น อีกส่วนนึงก็อาจจะเป็นเพราะ คนไม่ได้รู้สึกว่าการซื้อหนังหรือวิดีโอ (อาร์ต) มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ อย่างของกรกฤช เนี่ย ถ้าสมมติว่าคุณจะจัดแสดงงานของเขา มันจะมีสัญญาข้อตกลงในการจัดแสดง เช่น งานภาพวาดจะไปพร้อมกับหุ่น (ประติมากรรม) แล้วก็จะมีหมอน และวิดีโอไปพร้อมๆ กัน มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คุณจะเอาหนังไปฉายหรือเอางานชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปแสดงโดดๆ ได้ กรกฤชจะมีตัวแทนของเขา ถ้าเป็นฝั่งอเมริกาก็จะเป็นแกลเลอรี่นึง อังกฤษก็มีแกลเลอรี่นึง ฝั่งไทยก็เป็นอีกแกลเลอรี่นึง มันขึ้นอยู่กับว่างานที่แสดงกับแกลเลอรี่ไหนเป็นตัวแทนให้
WURKON:
ดูๆ ไปมันก็คล้ายกับการทำธุรกิจในรูปแบบนึงนะครับ มีสัญญา มีลิขสิทธิ์อะไร อย่างงี้
ศุภมาศ:
ใช่ คือศิลปะยิ่งพอมาสายคอมเมอร์เชียล จริงๆ มันก็เหมือนกันหมดแหละ มันเป็นเรื่องของตลาด อันนั้นมันอาจจะเป็นส่วนนึงที่เราไม่คอยชอบมาก แต่จริงๆ มันมีความจำเป็นมาก เราต้องรู้
WURKON:
แต่ศิลปะร่วมสมัยเนี่ย คนจะเข้าใจยากนิดนึงว่ามันมีรูปแบบการซื้อขายยังไง
ศุภมาศ:
ใช่ เพราะถ้าไม่เป็นนักสะสมงานศิลปะจริงๆ ส่วนนึงเขาก็จะเอางานไปแต่งบ้านน่ะ แล้วพอบางทีเขาเข้ามา เราก็ลำบากใจมากเลย เพราะเราไม่ค่อยมีงานประเภทนั้นให้เขา บางคนเขาอยากจะมาสนับสนุนเราน่ะ อยากจะซื้ออะไรก็ได้สักอย่างนึง แต่พอมองไปรอบๆ แล้ว ในความเข้าใจของเขามันอาจจะไม่ใช่ความงามหรือสุนทรียะแบบที่เขามองหา บางทีมันก็ยาก แต่เราก็ไม่ได้พยายามจะประนีประนอมว่า งั้นเราต้องมีงานประเภทนี้ เพราะศิลปินที่เราเลือกมาก็เป็นศิลปินที่เราชอบงาน จริงๆ เกือบจะเป็นศิลปินที่เราสะสมงานเขาด้วยซ้ำ
WURKON:
ถ้าอย่างงั้นลักษณะงานศิลปะที่คุณลูกตาลชอบและจะเลือกมาแสดงที่นี่ต้องเป็นงานแบบไหนเหรอครับ
นิทรรศการ PROJECT SENSIBILITY, กรกฤช เจียรพินิจนันท์, 24.10 - 29.11.2015, Bangkok CityCity Gallery
ศุภมาศ:
งานที่เราเชื่อในตัวศิลปินคนนั้นๆ ว่าเขาจะเป็นเสียงของงานศิลปะร่วมสมัยในแบบที่เราเข้าใจ เพราะในตอนแรกที่จะนิยามตัวสเปซนี้เนี่ย... คือจริงๆ ตอนแรกเราจะไปทำหอศิลป์พีระศรี ด้วยซ้ำ เหมือนกับตอนนั้น อ. สุเมธ (ชุมสาย ณ อยุธยา) หาคนไปทำ เราก็เลยเข้าไปคุยกับคุณแดง (ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที) แล้วเขาย้อนกลับมาคำถามนึงว่า “ศิลปะร่วมสมัยของคุณคืออะไร?” แล้วมันติดอยู่ในหัวเรามาก แต่เราก็ไม่ได้ไปทำหรอก เพราะเราลองดูแล้ว งบประมาณที่มีอยู่กับการที่จะซ่อมแซมและดำเนินการให้มันอยู่ได้เนี่ย ในความสามารถที่เรามี เราทำไม่ได้ เพราะว่าแค่ซ่อมรากฐานมันก็เกินสิบล้านแล้วน่ะ แล้วพื้นที่มันใหญ่มากน่ะ ถ้าต้องดูแลทั้งหมดแล้วต้องบริหารจัดการเนี่ย เราลองหาเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจมาช่วยกันดู ก็ยังจัดการไม่ได้ เราก็เลยคิดว่า เออ ทำใหม่น่าจะง่ายกว่า แต่คำพูดของคุณแดงก็ยังติดหัวเราอยู่ว่า “คุณบอกผมหน่อยว่าศิลปะร่วมสมัยของคุณมันคืออะไร?”
WURKON:
แล้วคุณตอบเขาไปว่าอะไร?
ศุภมาศ:
ตอนนั้นยังไม่ตอบ ตอนนั้นย้อนกลับไปสักหกเจ็ดปีที่แล้ว เราก็บอกเขาว่า ขอทบทวนคำตอบก่อน แต่สรุปก็ไม่ได้กลับไปคุยกับเขานะ (หัวเราะ) แต่ก็กลับมานั่งคิดกับตัวเองว่าสำหรับเรามันคืออะไร? คือถ้าพูดในเชิงสื่อของการทำงานก่อนเนี่ย เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ถูกจำกัดแล้ว เพราะฉะนั้นการออกแบบพื้นที่นี้ มันก็เลยจะเป็นแบบประเภทที่... คือเราไม่ได้อยากได้ White Box นะ (ห้องแสดงงานที่เป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวโล่งๆ) แต่การทำ White Box สามารถทำให้เราลงทุนน้อยที่สุดในการจัดการมันได้ เราก็เลยคิดว่า ถ้าสมมติจะต้องอยู่สิบปี เราลงทุนทีเดียว เราจะลงทุนแบบไหนได้บ้างที่จะสามารถทำให้มันอยู่ได้ระยะยาว สามารถส่งเสริมให้มันเกิดงานในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาได้ ภาพถ่ายอาจจะสวยที่สุดในแสงธรรมชาติ เราจะทำยังไงให้มีแสงธรรมชาติเข้ามา หรือถ้าเราจะแสดงงานวิดีโอ เราจะปิดทั้งหมดไม่ให้มีแสงเข้ามาเลย เราจะทำยังไง อะไรอย่างงี้ ส่วนประเด็นที่ว่า เราจะเลือกงานแบบไหนมาแสดง เราคิดว่าศิลปินร่วมสมัยที่เราเลือกมาส่วนใหญ่ มักจะไม่ได้พยายามที่จะบอกว่าความคิดของฉันคือความคิดที่ดีที่สุด แต่มักจะนำเสนออะไรสักอย่างออกมาแล้วให้คนเข้ามาตีความและตั้งคำถามกับมันมากกว่า เหมือนเป็นการสร้างบทสนทนาขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่เราชอบ งานมันก็เลยจะไม่ได้เป็นลักษณะที่ไปทางใดทางหนึ่ง แล้วเราว่ามันก็อาจจะเหมาะกับสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราโตมา วิธีคิดของเราด้วยมั้ง ตอนที่เราคิดว่าทำไมเราถึงชอบศิลปะ เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้เราเข้าใจความแตกต่างมากขึ้นน่ะ นั่นเลยเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่ได้ดูงานศิลปะมา หรือไม่ได้ศึกษามา เราอาจจะใจแคบกว่านี้ก็ได้ นี่เป็นความคิดส่วนตัวนะ มันทำให้เรารู้ว่าคนมันมีเสียงหลายอย่าง มีทัศนคติหลายอย่าง มีทิศทางหลายอย่าง
WURKON:
สุดท้าย คนที่จะเข้ามาทำงานในสายงานแบบคุณลูกตาลต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างครับ
นิทรรศการ MELO HOUSE, วิศุทธิ์ พรนิมิตร, 26.08 - 11.10.2015, Bangkok CityCity Gallery
ศุภมาศ:
เราคิดว่างานประเภทนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเริ่มเข้าใจแล้วนะ สมัยตอนทำ TCDC หลังจากทำไปช่วงเวลานึง ก็มีเด็กที่เคยดูนิทรรศการตรงนั้นแล้วกลับมาหาเรา คือ (นิ่งคิด) งานพวกนี้มันเป็นงานที่นำเสนอเรื่องของความคิดอะไรบางอย่าง แล้วเราเชื่อว่ารูปแบบของการจัดนิทรรศการมันมีพลังบางอย่างที่ชักจูงหรือสร้างสรรค์อะไรได้ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าคอนเทนต์ที่คุณจะผลิต อาจจะผ่านการกลั่นกรองบางอย่างที่อาจจะดีต่อสังคม แล้วก็ไม่สูญเสียความเป็นตัวคุณด้วย นอกจากนั้น เราว่า บางทีการจัดการมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความสวยงามน่ะ คุณต้องดูเรื่องประสบการณ์ เรื่องความปลอดภัย เรื่องอะไรหลายๆ อย่าง สำหรับคนที่เดินเข้ามาด้วยเหมือนกัน มันไม่ได้เลยน่ะ มันเลยกลายเป็นเหมือนกับบางทีถ้าเราพยายามจะผลักเนื้อหาให้มันไปถึงจุดที่เราอยากได้ เราก็ต้องคิดถึงเรื่องพวกน้ีเป็นสาระสำคัญด้วย การออกแบบประสบการณ์มันไม่ใช่แค่ความหวือหวาหรือความรู้สึกสนุกหรือความชอบอย่างเดียว คุณต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย อย่างตอนเราทำนิทรรศการแรกของ วิศุทธิ์ (พรนิมิตร) ที่มีเขาวงกต พวกเราเครียดกันมาก คือสมมติมีเด็กเข้าไปแล้วติดอยู่ในนั้น ไม่ต้องเกิดอันตรายอะไรนะ แค่หาทางออกไม่ได้น่ะ! เราเลยบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ช่วยดูแลหน่อยนะคะ เราไม่ได้คิดว่าคุณจะไปทำอะไรฟังหรือเสียหายนะ แต่เรากลัวความตกใจ ว่าถ้าเด็กเข้าไปแล้วหาทางออกไม่ได้ขึ้นมามันจะเป็นยังไง เราไม่อยากสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้คนที่มาดูงานน่ะ
WURKON:
เพราะประสบการณ์มันมีหลายแบบ
ศุภมาศ:
ใช่ หรือแม้กระทั่งเรื่องของอัคคีภัย หรืออุบัติภัย ระบบการเปิดปิด การหนีภัย เราต้องคิดค่อนข้างละเอียดน่ะ ว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เราจะทำยังไง ตั้งแต่ตอนอยู่ TCDC สิ่งที่ถูกสอนคือเราต้องผลักทุกอย่างน่ะ ว่าถ้าเราไปชนผนังนี้แล้วมันจะไม่ล้มไปทับคนที่อยู่อีกฝั่งนึง ถ้าคุณจะให้คนเดินขึ้นที่สูง คุณต้องมีราวจับ เราต้องคิดเรื่องพวกนี้อย่างละเอียด อย่างคนสูงอายุบางทีถึงจะลงบันไดแค่ขั้นสองขั้น แต่ถ้าไม่มีราวจับให้เขามันก็อันตราย สำหรับเรา ความปลอดภัยน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ขอบคุณภาพจากคุณศุภมาศ พะหุโล, https://goo.gl/TDaCU4, http://www.aaa.org.hk/, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), BANGKOK CITYCITY GALLERY
ภาพถ่ายบุคคลโดย วรกร ฤทัยวาณิชกุล
ขอบคุณ BANGKOK CITYCITY GALLERY เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์
#WURKON #curatorial #ลูกตาล #สถาปัตยกรรม #ประวัติศาสตร์ศิลปะ #AARA #อะเบาท์สตูดิโอ #อะเบาท์คาเฟ่ #onkawara #bangkokbangkok #TCDC #นิทรรศการ #กันดารคือสินทรัพย์อีสาน #อจีรังคือโอกาส #ชนชราแห่งอนาคต #bangkokcitycitygallery #commercialgallery #softsell #experience #safety #แรงบันดาลใจจากศิลปะและงานออกแบบ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon