ENEMY แรงบันดาลใจจากนางแมงมุม
15 มีนาคม 2562
โปสเตอร์หนัง ENEMY (2013)
ENEMY (2013) ผลงานการกำกับของ เดนิส วีย์เนิฟ (Denis Villeneuve) ผู้กำกับชาวแคนาดา (Prisoners 2013, Sicario, 2015) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายในปี 2002 ของ โฮเซ่ ซารามาโก (José Saramago) ที่มีชื่อว่า The Double
ภาพจากหนัง ENEMY (2013)
หนังเล่าเรื่องราวของ อดัม เบล (เจค จิลเลนฮาล) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ผู้เงียบขรึมเซื่องซึม และใช้ชีวิตจำเจซ้ำซากไปวันๆ เช้าไปสอนบทเรียนเดิม ๆ ตกค่ำก็กลับมาจ่อมจมอยู่ที่ห้องพักที่ตกแต่งอย่างแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา ยังดีที่มีคู่รักสาว แมรี่ (เมลานี โลรอง) ที่คอยมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ แต่เธอก็มักจะจากไปทันทีหลังจากเสร็จกิจจากการร่วมรักกับเขา ชีวิตอันแห้งแล้งซ้ำซากจำเจดำเนินไปวังวนเดิมๆ จนกระทั่งเขาได้ดูหนังแผ่นเรื่องหนึ่งที่บังเอิญเช่ามา และพบว่าตัวประกอบในหนังหน้าตาเหมือนกับเขาราวกับถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเขาก็ไม่มีพี่น้องฝาแฝดที่ไหน (ซึ่งแม่ของเขาเองก็ยืนยันมั่นเหมาะว่าเธอมีลูกคนเดียว) เขาจึงเริ่มต้นออกตามหาความจริงจนได้พบว่าคนที่หน้าเหมือนเขานั้นมีชื่อว่า แดเนียล เซนต์ แคลร์ หรือในชื่อจริงว่า แอนโธนี่ แคลร์ นักแสดงต๊อกต๋อยที่ไม่มีใครจ้างงานมาหลายเดือนแล้ว เขา (อีกคน) ใช้ชีวิตอยู่กับ เฮเลน (ซาราห์ เกดอน) ภรรยาท้องแก่ เขา (อดัม) ตัดสินใจติดต่อเขา (แดเนียล) ทั้งคู่ตกลงจะนัดพบกันเพื่อให้หายความแคลงใจ โดยหารู้ไม่ว่าการพบกันในครั้งนั้นกลับทำให้ชีวิตอันราบเรียบของเขา (คนแรก) เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ และทำให้ชีวิตของเขา (ทั้งคู่) ดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิงและความแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นอันน่าหวาดหวั่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และนำไปสู่บทสรุปอันสุดแสนจะเหวอแดกที่สุดเท่าที่เคยดูหนังมา
ด้วยงานด้านภาพและการออกแบบงานสร้างที่ดูแห้งแล้งหยาบกระด้าง การกำกับการแสดงที่วางจังหวะอารมณ์ของตัวละครในหนังอย่างล้นเกินผิดที่ผิดทาง และการสอดแทรกภาพอันพิลึกพิลั่นเหนือจริงไม่ต่างกับความฝันเข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ทำให้หนังที่ดูเหมือนจะเป็นหนังดราม่าระทึกขวัญธรรมดาๆ เรื่องนี้กลายเป็นหนังที่ไม่ธรรมดาจนน่าจะเทียบชั้นหนังอาร์ตชวนเหวอเรื่องก่อนหน้าอย่าง Under the Skin หรือแม่แต่หนังอาร์ตที่ขึ้นทำเนียบหนังชวนเหวอแดกสุดคลาสสิคตลอดกาลอย่าง Lost Highway (1997) ได้ไม่ยาก
หนังดำเนินเรื่องราวไปด้วยความคลุมเคลือน่าสงสัย ทิ้งปริศนาคำบอกใบ้มากมาย และล่อลวงให้คนดูครุ่นคิดตามจนหัวหมุน ท้ายที่สุดจนแล้วจนรอดมันก็ไม่ได้เฉลยว่าความจริงเป็นยังไง พวกเขาเป็นฝาแฝดที่ถูกพรากจากกันมาตั้งแต่เกิด? หรือเป็นร่างแยกแบบที่เรียกกันว่า Doppelganger*? หรือแท้ที่จริงแล้วทั้งคู่เป็นเพียงบุคลิกซ้อนของคนป่วยทางจิตแบบบุคลิกภาพแตกแยก (Multiple Personality Disorder) กันแน่? ซึ่งแน่นอนว่าคนดูอย่างเราก็ได้แต่คาดเดากันไปเท่านั้น
ภาพจากหนัง ENEMY (2013)
อีกประการนึง หนังเรื่องนี้ดูเผินๆ เหมือนหนังที่เล่าเรื่องของผู้ชายที่ตามหาตัวตนอีกตัวหนึ่งของตัวเอง แต่จะว่าไปแล้วตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหนังเรื่องเรื่องนี้กลับเป็นตัวละครผู้หญิง ทั้งแม่ของอดัม (อิซาเบลลา รอสเซลลินี ที่ออกมาแค่เพียงแป๊บเดียวแต่บารมีล้นเหลือ) ผู้ดูเหมือนจะคอยควบคุมบงการชีวิตของเขาอยู่ห่าง ๆ, แมรี่ คู่รักของอดัมที่ดูจะมีสถานภาพเหนือกว่าในความสัมพันธ์ คิดจะมาก็มา ร่วมรักกันเสร็จสมอารมณ์หมายก็จากไปโดยไม่ใยดี หรือแม้แต่ภรรยาสาวท้องแก่ของแอนโธนี่อย่าง เฮเลน ที่คอยตามจับตาและคอยจับผิดทุกฝีก้าวจนเขารู้สึกอึดอัด หนังใช้ภาพอันเหนือจริงของสิ่งมีชีวิตที่หลายคนหวาดกลัวอย่าง แมงมุม มาแทนสัญลักษณ์ของการชักไยควบคุมบงการ ข่มขู่และกดดันของตัวละครหญิงเหล่านี้ (ซึ่งในตอนต้นของเรื่อง อดัมสอนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลัทธิเผด็จการซึ่งมีลักษณะที่ฟ้องกันอย่างมีนัยยะน่าสนใจ) ดูๆ ไปก็ให้หวาดเสียวว่าตัวละครชายในหนังเรื่องนี้จะถูกนางแมงมุมเหล่านั้นขยุ้มหัวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้! (แมงมุมหลายชนิดจะจับตัวผู้กินหลังจากผสมพันธุ์เสร็จ)
และภาพอันเหนือจริงของแมงมุมที่ว่านั้นผู้กำกับก็ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า Maman (1999) นั่นเอง
ประติมากรรม Maman ที่ Lake Zџrich ซูริก, สวิตเซอร์แลนด์
ประติมากรรมนี้เป็นผลงานของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส/อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยโลกผู้ล่วงลับอย่าง หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois) ประติมากรรมรูปแมงมุมขนาดยักษ์ที่ทำจากเหล็กและหินอ่อนชิ้นนี้เป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุด จนมีคนตั้งฉายาให้เธอว่า ‘มิสซิสแมงมุม’ เลยทีเดียว เธอมักจะถ่ายทอดผลงานของเธอออกมาในรูปทรงของสิ่งมีชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย) อันน่าขนลุก พิสดาร แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความงามอย่างน่าพิศวง
ประติมากรรม Maman ที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลเบา, สเปน
“ในเมื่อความกลัวอดีตเกี่ยวเนื่องกับความกลัวทางกายภาพ ความกลัวจึงปรากฏตัวให้เห็นผ่านร่างกาย สำหรับฉัน ประติมากรรมคือร่างกาย ร่างกายฉันคือประติมากรรม”
องค์ประกอบอันน่าสะพรึงกลัวในผลงานหลายๆ ชิ้นของเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมงมุม เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความรู้สึกหวาดกลัวในวัยเยาว์ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเธอและผู้หญิงหลายคน เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับพ่อบังเกิดเกล้าของเธอเอง ซึ่งเป็นเผด็จการและเจ้าชู้มากรักหลายใจ ว่ากันว่าเขาถึงกับมีความสัมพันธ์โจ่งแจ้งกับชู้รักต่อหน้าภรรยาและลูก ๆ เลยทีเดียว นอกจากนั้นเธอยังตั้งคำถามต่อเพศสภาวะ บทบาท และพื้นที่ของสตรีในทั้งโลกศิลปะและสังคมที่ถูกจำกัดจำเขี่ยอย่างคับแคบเสมอมา อีกนัยนึงมันก็แสดงออกถึงความปรารถนา ความเย้ายวน พลังและสัญลักษณ์ทางเพศ ของผู้หญิง ของเพศแม่ ซึ่งก็คือเพศผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งผลงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดอย่างแมงมุมตัวนี้ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของแม่ของเธอนั่นเอง (Maman ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า แม่)
ประติมากรรม Maman ที่ Bџrkliplatz, ซูริก, สวิตเซอร์แลนด์ ในภาพจะเห็นถุงใต้ท้องซึ่งมีไข่ที่ทำจากหินอ่อนอยู่ภายใน
“แมงมุมเป็นเหมือนบทกวีที่สรรเสริญแม่ของฉัน เธอเป็นเพื่อนที่ดี แม่เป็นผู้ถักทอสิ่งต่างๆ เหมือนกับแมงมุม ครอบครัวของเราทำธุรกิจฟื้นฟูสิ่งทอ แม่ของฉันต้องดูแลโรงงาน เธอฉลาดมาก เหมือนกับแมงมุมที่คอยกินยุง ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคและไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น แมงมุมจะคอยช่วยเหลือและปกป้องเรา เหมือนกับแม่ที่ปกป้องลูกไม่มีผิด”
ผลงานประติมากรรมขนาดยักษ์รูปแมงมุมขยุ้มหลังคาแข้งขายาวเหยียดตัวนี้ แพร่พันธุ์ไปยืนเขย่งเกงกอยให้เราเห็นอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองในโลก ทั้งปารีส โตเกียว สเปน หรือแม้แต่ในบ้านเราก็ยังเคยเข้ามาแสดงแล้วเป็นการชั่วคราวที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ภาพจากหนัง ENEMY (2013)
ในหนัง Enemy ตัวละครแม่ของอดัมตัวเอกในหนังก็เป็นศิลปิน หลังฉากแรกและฉากเดียวที่เธอปรากฏตัว ภาพแมงมุมยักษ์ที่เยื้องย่างเหนือมหานครในห้วงฝัน ซึ่งดูคล้ายคลึงกับ Maman ของบรูชัวร์ตัวนี้ก็ปรากฏขึ้นมาทันที แมงมุมที่ว่านี้เองที่แสดงให้เห็นถึงปมของความสัมพันธ์อันซับซ้อนของแม่ลูกคู่นี้ (ภาพในโปสเตอร์หนัง (ภาพแรก) ก็ดูเหมือนจะใช้ภาพแมงมุมของบรูชัวร์วางลงไปเลยด้วยซ้ำ)
ภาพจากหนัง ENEMY (2013)
ส่วนงานจิตรกรรมของแม่ของอดัมที่เห็นอยู่ในหนังก็มีลักษณะเป็นเส้นสายยุ่งเหยิงยังกับใยแมงมุมทารันทูล่ายังไงยังงั้น (ทารันทูล่าเป็นแมงมุมพันธุ์ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในหนัง)
วีย์เนิฟเผยในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งว่า “ผมต้องการสร้างแรงขับเคลื่อนทั้งในระดับของรูปธรรมและจิตใต้สำนึกที่จะสร้างผลกระทบให้กับคนดู และกระตุ้นให้พวกเขาต้องขบคิด ในฐานะคนทำหนังผมต้องการที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สองระดับนี้เข้าด้วยกัน
ผมครุ่นคิดเกี่ยวกับแมงมุมเป็นเวลาหลายเดือนและในที่สุดผมก็เอาไอเดียนี้มาใช้ในบทหนัง สำหรับผม มันเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบในการดัดแปลงความคิดบางอย่างในหนังสือออกมาด้วยบางสิ่งที่ไม่ถูกหยิบมาใช้จนเกร่อ เมื่อผมนึกถึงแมงมุม มันมีความรู้สึกเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ผมมองหาจากสัตว์ร้ายตัวนี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือสติปัญญา ผมอยากจะทำให้แมงมุมเป็นสัตว์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและสง่างาม ตัวอย่างที่ดีที่สุดในลักษณะนี้ที่ผมพบเจอก็คือประติมากรรม Maman ของ หลุยส์ บรูชัวร์ เราลองทำดีไซน์ออกมามากมาย แต่ท้ายที่สุดเราก็หวนกลับมาที่มันอยู่ดี แน่นอนว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมชิ้นนี้ของเธอนั่นเอง”
*Doppelganger: ความเชื่อที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่มีการพบเห็นบุคคลคนหนึ่งพร้อมกันในเวลาเดียวกันแต่ต่างสถานที่ ซึ่งปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในวรรณกรรมและภาพยนตร์แนวลึกลับต่างๆ และยังใช้เป็นคำเรียกถึงกรณีที่คนอีกคนที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันทุกประการไม่ผิดเพี้ยนมาปรากฏตัวขึ้น ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ไม่ใช่ฝาแฝด ไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน และการปรากฏตัวของร่างแยกนี้เป็นสัญญาณของเคราะห์ร้าย และเมื่อเราได้พบกับร่างแยกของตัวเองเมื่อไหร่ หายนะและความตายก็จะบังเกิดขึ้น
ข้อมูล/ภาพ: https://goo.gl/uo22hk, http://goo.gl/H6OnYM, http://goo.gl/m5892I, https://goo.gl/v74ZqU, http://goo.gl/XNrYuF
เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
#WURKON #art #movie #ENEMY #denisvilleneuve #thedouble #josesaramago #doppelganger #sculpture #maman #louisebourgeois #แมงมุม #ประติมากรรม #ศิลปะร่วมสมัย #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon