จิตรกรรมแห่งความเวิ้งว้างที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของโลกภาพยนตร์
26 กรกฏาคม 2559
บังเอิญว่าเดือนนี้เป็นเดือนเกิดของศิลปินคนสำคัญอีกคนในโลกศิลปะ เลยขอหยิบยกเรื่องราวของเขามาพูดถึงกันเสียหน่อย ศิลปินผู้นี้เป็นจิตรกรภาพเหมือนจริงชาวอเมริกันผู้มีผลงานอันโดดเด่นและทรงอิทธิพลในแนวทางแบบ Regionalism* และเป็นหนึ่งในศิลปินอเมริกันที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เขามีชื่อว่า
แอนดรูว์ ไวเอท (Andrew Wyeth)
Turkey Pond, 1944, สีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้
เกิดวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 ที่เมืองแชดด์ส ฟอร์ด มลรัฐเพนซิลเวเนีย เขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาลูกทั้งห้าคนของศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน เอ็น.ซี ไวเอท และภรรยา แคโรลีน ด้วยความที่วัยเด็กเขามีสุขภาพอ่อนแอจนไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ พ่อแม่จึงตัดสินใจจ้างครูมาสอนให้เขาเรียนที่บ้านแทน ถึงแม้ชีวิตวัยเด็กของเขาจะโดดเดี่ยวจากเพื่อนในวัยเดียวกัน หากแต่มันก็ถูกเติมเต็มด้วยสภาพแวดล้อมในบ้านของเขาที่เต็มไปด้วยศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม นิทาน รวมถึงบรรดาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอันสวยงามหลากหลายที่พ่อของเขาใช้เป็นพร็อพในการเขียนภาพ และด้วยความที่พ่อของเขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง บ้านของเขาจึงมีโอกาสได้ต้อนรับแขกที่มีชื่อเสียงอย่างนักเขียนนามอุโฆษอย่าง เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ หรือแม้แต่ดาราดังอย่าง แมรี ฟิกฟอร์ด ด้วยบรรยากาศและกิจกรรมที่เต็มไปความคิดสร้างสรรค์ในบ้าน ทำให้เด็ก ๆ ในบ้านไวเอทล้วนแล้วแต่กลายเป็นศิลปิน ตัวแอนดรูว์เองก็รักการวาดรูปตั้งแต่ยังเด็ก และสเก็ตซ์ภาพเป็นก่อนที่จะอ่านหนังสือได้เสียอีก เมื่อเป็นวัยรุ่นพ่อของเขาพาเขาเข้าสตูดิโอเพื่อฝึกงานเขียนภาพประกอบ และพ่อของเขานี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขารักการวาดภาพทิวทัศน์ชนบท รวมทั้งเซนส์ของความโรแมนติก รสนิยมและฝีไม้ลายมือทางศิลปะเขาก็ได้รับจากพ่อของเขาเช่นกัน ถึงแม้การวาดภาพประกอบจะไม่ใช่เส้นทางที่เขาใฝ่หา เขาก็ยังทำผลงานภาพประกอบหลายต่อหลายชิ้นออกมาโดยใช้ชื่อของพ่อของเขา
หลังจากหันหลังให้สตูดิโอของพ่อ เขาเปลี่ยนจาการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันมาใช้สีน้ำ ด้วยฝีแปรงที่เด็ดขาด ฉับไว ชุ่มฉ่ำและรุ่มรวยด้วยสีสัน ในปี 1937 พออายุได้ 20 ปี ไวเอทมีงานแสดงเดี่ยวภาพวาดสีน้ำครั้งแรกในแกลเลอรี่ Macbeth นิวยอร์ก ผลงานของเขาได้รับการสนใจอย่างล้นหลาม ภาพวาดทุกชิ้นขายหมดในเวลาแค่สองวัน และแล้วหนุ่มน้อยไวเอทก็กลายเป็นศิลปินดาวรุ่งนับตั้งแต่นั้น
หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการทำงาน ด้วยการเขียนที่ช้าลง ใส่ใจกับรายละเอียดและองค์ประกอบมากขึ้น และลดความสำคัญของการใช้สีลง เขาหันมาเขียนสีน้ำโดยใช้เทคนิคแบบ dry brush และต่อมาก็พัฒนาไปใช้สีฝุ่นเทมเพอรา (Egg Tempera - สีฝุ่นที่ใช้ไข่แดงเป็นส่วนผสมในการยึดเกาะสี) นอกจากนั้นเขายังศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะด้วยตัวเอง เขาลุ่มหลงงานศิลปะยุคเรอเนสซองส์และงานจิตรกรรมของอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ วินสโลว์ โฮเมอร์ (Winslow Homer)
Winter, 1946, สีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้
ผลงานของเขาเริ่มมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อพ่อของเขาและหลานอายุสามขวบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟชนในขณะขับรถข้ามทางรถไฟ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบถึงชีวิตและทัศนคติในการทำงานของเขาอย่างมาก ทิวทัศน์ในภาพของเขาเปลี่ยนเป็นแห้งแล้ง ไร้สีสันและเงียบเหงา บุคคลที่ปรากฏในภาพมักจะเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ลึกลับ ขมขื่น และสะเทือนอารมณ์ เขากล่าวในภายหลังว่าการตายของพ่อเขา “ผลักดัน” ให้เขาต้องเขียนภาพที่มีอารมณ์เศร้าสร้อยและเต็มไปด้วยความรู้สึกอันลึกซึ้งหนักหน่วง และมันก็กลายเป็นสไตล์ที่ติดตัวเขาตลอดมา
Siri, 1970 สีน้ำดรายบรัช
Braids (Helga Testorf), 1979 สีน้ำดรายบรัช
Evening at Kuerners, 1970 สีน้ำดรายบรัช
Wind From The Sea (detail), 1947 สีฝุ่นบนกระดานแข็ง
แอนดรูว์ ไวเอท เป็นจิตรกรที่ถูกจัดอยู่ในหมวด จิตรกรภาพเหมือนจริง (Realism) เช่นเดียวกับ วินสโลว์ โฮเมอร์ หากเขาเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Life ในปี 1965 ว่า ถึงแม้เขาจะถูกสอนมาให้เป็นจิตกรภาพเหมือน แต่เขากลับคิดว่าตัวเขาเป็นจิตกรแบบนามธรรม (Abstractionism) “ผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ในภาพวาดของผมหายใจในแบบที่ต่างออกไป มันมีแก่นแท้ที่แตกต่างกับภาพวาดเหมือนจริง และความรู้สึกอันท่วมท้นล้นหลั่งนั้นมันเป็นนามธรรมอย่างแน่นอน เมื่อคุณเริ่มต้นที่จะมองเข้าไปในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่ธรรมดาสามัญ และตระหนักถึงความหมายอันลึกซึ้งของมัน ถ้าคุณมีความรู้สึกเกี่ยวกับมัน ความรู้สึกนั้นมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด” ไวเอทโปรดปรานการเขียนภาพทิวทัศน์และผู้คนรอบข้างเขา ทั้งที่บ้านเกิดเขาใน แชดด์ส ฟอร์ด เพนซิลเวเนีย และในบ้านพักฤดูร้อนของเขาในคุชชิง มลรัฐเมน และยึดสไตล์การเขียนภาพในรูปแบบเฉพาะตัวนี้มากว่าห้าสิบปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากทิวทัศน์ สถานที่ และผู้คนหลากหลายรอบ ๆ ตัวเขา เขาพัฒนาความสัมพันธ์อันเหนือธรรมดาของตนกับผืนแผ่นดินและท้องทะเล และต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเข้าใจทางจิตวิญญาณของประวัติศาสตร์ของสถานที่และอารมณ์ความรู้สึกอันมิอาจเอ่ยออกมาเป็นคำพูดได้ ภาพวาดอันเศร้าสร้อยของไวเอทถูกยกย่องให้เป็นเครื่องมือสะท้อนความเหินห่างและแปลกแยกของยุคศตวรรษที่ 20 ได้อย่างลึกซึ้ง เขาได้รับการยกให้เทียบเคียงกับศิลปินอเมริกันระดับตำนานอย่าง เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์
Christina's World, 1948 สีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่, นิวยอร์ก
ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักของเขามีชื่อว่า Christina's World ภาพวาดแบบเหมือนจริงขนาดปานกลาง เขียนด้วยสีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้ เป็นภาพทิวทัศน์ของพื้นที่ราบชายฝั่งในเมน มันถ่ายทอดภาพของหญิงสาวผู้หนึ่งจากด้านหลังของเธอ เธอสวมชุดสีชมพู ทอดกายอยู่บนทุ่งหญ้าสีน้ำตาลทองโล่งกว้างสุดลูกหูลูกตา สายตาของเธอ (ที่เรามองไม่เห็น) ทอดไปยังบ้านหลังหนึ่งตรงริมขอบฟ้าที่ตั้งเคียงกับโรงนาอีกหลัง ถึงเธอจะเอนตัวไปข้างหน้าอย่างนุ่มนวล หากลำตัวด้านบนที่ถูกค้ำจุนด้วยแขนอันลีบเล็กทั้งสองข้างกลับดูตื่นตัวอย่างน่าประหลาด โครงร่างของเธอดูตึงเครียด แต่หยุดนิ่งจังงังจนเกือบเหมือนถูกแช่แข็ง ให้ความรู้สึกเหมือนเธอถูกตรึงอยู่บนพื้น อารมณ์ในภาพเหมือนจะแฝงไว้ด้วยความหวาดกลัว บ้านและโรงนาที่อยู่ไกลออกไปดูเก่าโบราณเป็นสีเทาจนดูหลอมรวมกลมกลืนไปกับทุ่งหญ้าแห้งและท้องฟ้าครึ้มเมฆข้างหลัง ฉากในภาพดูงดงามคุ้นตา หากแต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความลึกลับ หญิงสาวในภาพนี้เป็นใครกัน? เธอช่างดูอ่อนแอบอบบาง หากแต่ในขณะเดียวกันก็ดูทรหดอดทน เธอกำลังจ้องมอง หรือรอคอยอะไรกันแน่? และทำไมเธอถึงมานอนบนทุ่งหญ้าแห้งแล้งแห่งนี้?
อันที่จริงผู้หญิงในภาพนี้มีตัวตนอยู่จริง ๆ เธอมีชื่อว่า แอนนา คริสติน่า โอลเซ่น (Anna Christina Olson 1893-1968) เธออาศัยอยู่ในฟาร์มที่เมืองคุชชิง มลรัฐเมน ไวเอทพบกับเธอและน้องชายในปี 1939 เมื่อเธอมีอายุ 46 ปี จากการแนะนำของ เบ็ตซี เจมส์ (ซึ่งต่อมาเธอกลายเป็นภรรยาของเขา) ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับฟาร์มของครอบครัวโอลเซ่น พวกเขากลายเป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันในเวลาต่อมา ตัวคริสติน่านั้นเป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ (ไม่ได้รับการวินิฉัยโรคแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากโปลิโอ) ทำให้เธอพิการตั้งแต่เอวลงไปและเดินไม่ได้ ไวเอทได้แรงบันดาลใจในการเขียนภาพนี้จากการที่เขาเห็นเธอคลานข้ามทุ่งหญ้าไปมาโดยไม่ใช้รถเข็นจากหน้าต่างบ้านพักของเขาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แต่อันที่จริง นางแบบในภาพก็ไม่ใช่ตัวคริสติน่าซะทีเดียว หากแต่เป็นเบ็ตซี่ ภรรยาของเขาเองมาโพสเป็นแบบในส่วนของหัวและลำตัวให้ ส่วนชุดสีชมพู แขนขาที่ลีบเล็ก และท่าทางในการคลานนั้นเขาได้มาจากตัวคริสติน่านั่นเอง
ท่ามโทนสีกลางสีราบเรียบเงียบงันของหญ้าแห้งสีน้ำตาล สีชมพูบนชุดของคริสติน่าในภาพนั้นให้ความรู้สึกราวกับมันจะระเบิดออกมา ซึ่งไวเอทกล่าวในภายหลังว่า "หลังจากร่างภาพนางแบบขึ้นมา ผมใส่สีชมพูลงไปบนไหล่ของเธอ และมันเกือบเป่าผมกระเด็นข้ามห้องไปเลยทีเดียว"
ภาพวาดชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเพียงสามปีหลังจากการเสียชีวิตของพ่อของเขา มันจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการทำงานของเขา ด้วยสีสันทีเงียบงัน ทิวทัศน์ที่แห้งแล้ง และร่างกายของบุคคลที่แฝงความรู้สึกเศร้าโศก ซึ่งในภาพนี้มีคุณสมบัติเหล่านั้นครบถ้วน ราวกับว่ามันเป็นสื่อกลางที่นำพาเอาความรู้สึกโศกเศร้าภายในของเขาสำแดงออกมา
มันเป็นหนึ่งในภาพวาดที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของวงการศิลปะอเมริกัน และเป็นหนึ่งในภาพที่ถูกจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะอเมริกัน มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปอเมริกัน ถูกลอกเลียน ทำซ้ำ รวมถึงล้อเลียนไปทั่วโลกปัจจุบันมันถูกแสดงเป็นคอลเล็คชั่นถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) นิวยอร์ค
Off Shore, 1967 สีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้
ในช่วงปี 1950 และ 60 แอนดรูว์ ไวเอท ปรากฏตัวบ่อย ๆ ในนิตยสารชั้นนำอย่าง Time และ Life ในฐานะศิลปินยอดนิยมของอเมริกา ผลงานของเขาถูกสะสมโดยพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายต่อหลายแห่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ก (MoMA) พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (Metropolitan Museum of Art), พิพิธภัณฑ์วิทนีย์ (Whitney Museum) พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน (Smithsonian American Art Museum) ฯลฯ
On the Edge, 2001 สีฝุ่นเทมเพอราบนแผ่นไม้
ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2009 แอนดรูว์ ไวเอท เสียชีวิตอย่างสงบในยามหลับท่ามกลางแวดล้อมของครอบครัว ณ บ้านของเขาในแชดด์ส ฟอร์ด เพนซิลเวเนีย ด้วยวัย 91 ปี เป็นการปิดฉากชีวิตของศิลปินอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่และได้รับการจดจำที่สุดอีกคนหนึ่งของวงการศิลปะ เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานและแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นหลัง
ผลงานของเขาส่งอิทธิพลถึงศิลปินรุ่นหลังมากมาย รวมถึงให้แรงบันดาลใจแก่งานศิลปะในสายอื่นหลากแขนงรวมถึงภาพยนตร์ด้วย อาทิเช่น
The Ring (2002)
ภาพยนตร์ The Ring (2002) ฉบับอเมริกันของ กอร์ เวอร์บินสกี้ ที่ได้แรงบันดาลใจในงานสร้างภาพลักษณ์ของหนังจากภาพวาดของไวเอท โดย ทอม ดัฟฟิล์ด โปรดักชันดีไซเนอร์ของหนังกล่าวว่า สีเทา สีน้ำตาล และสีสันอันมืดครึ้ม ริ้วผ้าขาดวิ่นบนหน้าต่างที่ปลิวไปตามลม งานของไวเอท มีบรรยากาศอันหลอกหลอนที่เขานำไปเติมแต่งความลึกลับน่าพรั่นพรึงในหนังเรื่องนี้ได้
The Reflecting Skin (1990)
หนังสยองขวัญ The Reflecting Skin (1990) ของฟิลิปป์ ริดลีย์ ก็ได้แรงบันดาลใจทางศิลปะจากภาพวาดของไวเอท ในการสร้างภาพลักษณ์อันเหนือจริงของฤดูร้อนอันหลอนหลอกราวกับกับอยู่ในนิทานปรัมปรา ในชีวิตของเด็กชายคนหนึ่ง
The Village (2004)
หรือหนัง The Village (2004) ของ เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน เองก็ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพลักษณ์ของหมู่บ้านของชุมชนสันโดษที่ปลีกตัวออกจากความศิวิไลซ์ และถึงบรรยากาศอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและความเงียบเหงายะเยือกของป่าไม้มาจากภาพวาดของไวเอทนั่นเอง
Days of Heaven (1978)
รวมถึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับงานถ่ายภาพอันงดงามราวกับภาพวาดของหนัง Days of Heaven (1978) ของ เทอร์เรนซ์ มาลิก ที่สีสันบรรยากาศในหนังราวกับหลุดออกมาจากภาพถ่ายของไวเอทยังไงยังงั้น
Oblivion (2013)
และแม้แต่หนังไซไฟอย่าง Oblivion (2013) เองก็มีภาพวาด Christina's World ของไวเอทปรากฏในฐานะตัวแทนของสัญลักษณ์บางอย่างในหนัง อีกทั้งฉากโลกอนาคตหลังอารยธรรมล่มสลายอันเวิ้งว้าง การถ่ายภาพและโทนสีของหนังเองก็ดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจมาจากงานจิตรกรรมของ แอนดรูว์ ไวเอท มาอย่างไม่ผิดเพี้ยนเช่นเดียวกัน
Regionalism* เป็นกระแสความเคลื่อนไหวของศิลปะสมัยใหม่ที่เฟื่องฟูในช่วงยุค 1930 โดยศิลปินที่ย้ายจากเมืองหลวงไปสู่ชนบทและพัฒนาเทคนิคในการเขียนภาพเพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตในชนบทออกมา ในช่วงเศรษกิจเสื่อมโทรมในปี 1930 ศิลปะแนวนี้ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางจากการปลุกภาพของความรุ่งเรืองของอเมริกาขึ้นมาใหม่
ข้อมูล : หนังสือ Andrew Wyeth: Christina's World โดย Laura Hoptman, MoMA เว็บไซต์ http://goo.gl/J2ae08, http://goo.gl/tmrM7s, http://goo.gl/kP01M7, http://goo.gl/3lzes8, http://goo.gl/4o4AMq, http://goo.gl/xsVIXL, http://goo.gl/2yYiyl, http://goo.gl/XBXEQ3, https://goo.gl/Pwe4fV, https://goo.gl/xC1FLg
#WURKON #art #movie #andrewwyeth #christina'sworld #realism # #regionalism abstractionism #thering #thevillage #daysofheaven #oblivion #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon