เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต แอนดี้ วอร์ฮอล
16 สิงหาคม 2559
"In the future , everyone will be world-famous for 15 minutes."
“ในอนาคต ทุกคนจะมีโอกาสมีชื่อเสียงในระดับโลกกันคนละ 15 นาที”
เป็นวลีที่นับวันยิ่งดูจะเป็นสัจธรรมของยุคสมัยนี้ไปทุกทีๆ ดูตัวอย่างง่ายๆ จากเหล่าดารา/นักร้องที่ต่างก็รีบแย่งกันเกิดมามากมายจนนับไม่ไหว แล้วก็ล้มหายตายจากกันไปอย่างรวดเร็วจนแทบจำชื่อไม่ได้ ยังไม่นับรวมถึงคนทั่วๆ ไป ในสังคมอีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้มีโอกาสเป็นคนเด่นคนดัง เป็นซัมบอดี้กันคนละชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็เงียบหายไปราวกับว่าเรื่องเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น
ซึ่งวลีข้างต้น เป็นคำทำนายเชิงเสียดสีที่ศิลปินคนหนึ่งกล่าวเอาไว้ในปี 1968 และศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวที่บ่งบอกถึงสภาวะดังกล่าวของสังคมได้เป็นอย่างดี
ศิลปะแนวนั้นมีชื่อว่า ป๊อปอาร์ต (Pop Art)*
แม้เขาจะไม่ใช่ศิลปินผู้ให้กำเนิดหรือคิดค้นศิลปะแนวนี้ แต่เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ศิลปะแนวนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโลกจวบจนถึงปัจจุบัน ตัวเขาเองก็ศิลปินป๊อปอาร์ตที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาศิลปินป๊อปด้วยกัน จนถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต” เลยทีเดียว ผลงานของเขาถูกพบเห็นได้แทบจะทุกหนแห่ง ถูกต่อยอด เลียนแบบ ทำซ้ำมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งในงานโฆษณา หนัง โทรทัศน์ หนังสือ นิตยสาร สินค้า ไปจนถึงเสื้อผ้า ของแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์ มันถูกพบเห็นได้แทบทุกหนแห่ง จนแทบจะเรียกว่าใครได้เห็นงานของเขาเป็นต้องร้องอ๋อ! ถึงแม้จะไม่รู้จักชื่อเจ้าของผลงานเลยก็ตามที ศิลปินคนนั้นมีชื่อว่า
Self-Portrait (1966) ภาพพิมพ์ซิลสกรีน และสีอะครีลิกบนผ้าใบ
แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol)
แอนดี้ หรือในชื่อเดิม แอนดรูว์ วาร์โฮล่า จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1928 ในเมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย เขาเป็นบุตรคนที่สามของครอบครัว พ่อแม่ของเขาอพยพจากสโลวะเกียตะวันออกมายังสหรัฐอเมริกา ช่วงวัยเด็กแอนดี้ป่วยเป็นโรคทางประสาทบางอย่าง ส่งผลให้สุขภาพของเขาอ่อนแอและมีผิวสีซีดไปตลอดชีวิต เขาผ่านชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่บนเตียงที่บ้านหรือไม่ก็โรงพยาบาล จึงทำให้เขาเป็นเด็กแปลกแยก เข้ากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ค่อยได้ และเป็นเด็กติดแม่อย่างมาก เขามักจะใช้เวลาหมดไปกับการวาดรูป ฟังวิทยุ และสะสมภาพดาราหนัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อตัวตนและผลงานของเขาในภายหลังอย่างมาก เขาเริ่มฉายแววศิลปินออกมาตอนที่เรียนพาณิชย์ศิลป์อยู่ที่ Carnegie Institute of Technology ในพิทส์เบิร์ก ว่ากันว่าตอนที่อาจารย์ตั้งโจทย์ให้นักเรียนวาดรูปสิ่งที่โปรดปรานที่สุด เขาวาดรูปแบงก์ดอลล่าร์ส่งไป (จริงใจมั่กๆ)
ในปี 1949 เขาย้ายไปอยู่นิวยอร์ก และทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบในนิตยสารชื่อดังหลายเล่มอย่าง Glamour, Vogue, Harper Bazaar และจับงานอีกหลายต่อหลายอย่าง เช่น งานโฆษณา งานออกแบบแผ่นพับและปกแผ่นเสียงให้กับค่ายเพลงต่างๆ เขาได้รับรางวัลทางการออกแบบหลายรางวัลซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงพอตัวอยู่บ้าง
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้นเอง ก็มีศิลปินอังกฤษกลุ่มหนึ่งมาจัดแสดงงานศิลปะในนิวยอร์ก ด้วยผลงานที่หยิบยกเอาเรื่องราวใกล้ตัว อย่างรูปการ์ตูน ใบปลิวโฆษณา โปสเตอร์ดารา ภาพถ่ายเก่าๆ มาทำเป็นงานศิลปะ (ซึ่งเขามารู้ทีหลังว่ามันเรียกว่า ป็อปอาร์ต) รวมถึงแรงบัลดาลใจจากงานของศิลปินหัวก้าวหน้าในดวงใจของเขาอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ ที่โดนใจวัยรุ่นหัวศิลป์อย่างแอนดี้อย่างแรงและผลักดันเขาตัดสินใจเปลี่ยนแนวจากนักวาดภาพประกอบ/คนทำงานออกแบบโฆษณามาสู่การเป็นคนทำงานศิลปะเสียเลย
เขาเริ่มต้นหาแนวทางศิลปะของตัวเองด้วยการหยิบเอาภาพการ์ตูนอย่าง ซูเปอร์แมน, แบทแมน, ดิ๊คเทรซี, ป็อบอาย และภาพการ์ตูนในหนังสือพิมพ์เก่าๆ มาเป็นแบบวาดภาพ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ไม่นานหลังจากนั้น เขาค้นพบเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนซึ่งมีกระบวนการทำงานแบบเดียวกับงานอุตสาหกรรม ที่ทำให้เขาสามารถผลิตผลงานได้คราวละมากๆ อีกทั้งยังช่วยลดทอนรูปทรงและรายละเอียดของภาพที่เขานำเสนอให้เหลือแต่ความเรียบง่ายและลักษณะที่คนจดจำได้ง่าย จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเขาในเวลาต่อมา เขาหันมาหยิบของรอบๆ ตัวที่คุ้นตาคนทั่วๆ ไป อย่าง กระป๋องซุป ขวดโคคาโคล่า กล่อง Brillo (แผ่นล้างจานคล้ายๆ สก็อตไบรต์) หรือแม้แต่สิ่งของที่คนทั่วไปไม่ค่อยจะคุ้นเคยอย่าง เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารนักโทษ (คงไม่มีใครอยากคุ้นเคยเท่าไหร่หรอกมั้ง!) มาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบหรือพิมพ์ลงบนรูปทรงสามมิติอย่างกล่อง เขามีงานแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก ที่ถึงแม้จะเรียกความสนใจจากผู้ชมได้พอสมควร และเปลี่ยนสถานภาพของเขาจากนักวาดภาพประกอบมาเป็นศิลปินเต็มตัวได้สำเร็จ แต่ก็ประสบความล้มเหลวด้านชื่อเสียงและรายได้อย่างสิ้นเชิง
“การทำเงินเป็นศิลปะ การทำงานเป็นศิลปะ และธุรกิจที่ดีเป็นงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมที่สุด”
Untiteld (1967) © The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc./ARS, NY and DACS, London 2014
Untitled from Marilyn Monroe 1967 © 2016 Andy Warhol Foundation for the Visual Arts / Artists Rights Society (ARS), New York
เมื่อหยิบเอาภาพถ่ายของเหล่าบรรดาเซเล็ปที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นอย่าง มาริลิน มอนโร, เอลวิส เพรสลีย์, อลิซาเบธ เทย์เลอร์, มิก แจ็กเกอร์, เจมส์ ดีน, แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาหลงใหลได้ปลื้ม มาถ่ายทอดด้วยสีสันฉูดฉาดบาดตาแบบเดียวกับงานโฆษณาและลีลาแบบคอลัมน์กอสซิบดาราในหนังสือพิมพ์ ผนวกกับเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ชื่อเสียงของ แอนดี้ วอร์ฮอล จึงเริ่มโดนใจคนจำนวนมากและกลายเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วทั้งวงการศิลปะในที่สุด ปัจจุบันภาพวาดเซเล็บของวอร์ฮอลเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นป๊อปไอคอนที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพเซ็กส์ซิมโบลอย่าง มาริลิน มอนโร ที่ใครๆ ก็ต้องเคยเห็นและรู้จัก
Flowers (1964 - 1970) ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนบนผ้าใบ
แต่ผลงานที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างท่วมท้นเป็นชุดแรก กลับเป็นภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนรูปดอกไม้จากมุมมองด้านบนอันเรียบง่ายแต่สีสันฉูดฉาดสดใส ที่แสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขาในแกลเลอรี Castelli ในปี 1964 ที่ดึงดูดความสนใจของคนดูได้อย่างมากมาย ผลก็คือมันขายได้หมดเกลี้ยงทุกภาพ
ซุปกระป๋องที่แพงที่สุดในโลก
Campbell’s Soup Cans (1962)
“ผมกินซุปกระป๋องของ Campbell เป็นอาหารกลางวันติดต่อกันทุกวันมาเกือบ 20 ปี”
แอนดี้ วอร์ฮอล
กล่าวถึงเหตุผลที่เขาสร้างผลงานชุดที่โด่งดังและเป็นที่จดจำมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาขึ้นมา นอกจากจะเป็นอาหารโปรดของเขาแล้ว ภาพกระป๋องซุปแคมเบลล์ที่ถูกวางเรียงรายกันอย่างสวยงามบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขาเคยเห็นเป็นประจำยังติดตาตรึงใจจนเขาต้องถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบและบังเอิญไปเตะตานักค้างานศิลปะและเจ้าของแกลเลอรีอย่าง เออร์วิง บลัม จนอดไม่ได้ต้องเอามาแสดงในแกลเลอรี Ferus ของเขาในลอสแองเจลิสเมื่อปี 1962 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไหร่นักจากผู้ชมงานและบรรดานักวิจารณ์ศิลปะ พวกเขาคงอยากดูภาพอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าที่จะมาดูรูปกระป๋องซุปธรรมดาๆ ที่เห็นอยู่ดาษดื่นทั่วไปกระมัง (มีตาหามีแววไม่นะเนี่ย!)
32 Campbell’s Soup Cans (1962)
ในจำนวนคนดูเหล่านั้น มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจซื้อภาพเขียนของวอร์ฮอลไปในราคาเพียงภาพละ 100 ดอลล่าร์ จนกระทั่งวันสุดท้ายของการแสดงงาน เออร์วิง บลัม เจ้าของแกเลอรี่ ก็ตัดสินใจซื้อภาพเขียนที่เหลือของวอร์ฮอลไว้เองทั้งหมดในราคาเหมาจ่าย เพียง 1,000 ดอลล่าร์ และเป็นการจ่ายแบบผ่อนส่งเดือนละ 100 เหรียญ โดยไม่รู้อาจล่วงหน้าเลยว่า อีกหลายปีต่อมาหลังจากที่ แอนดี้ วอร์ฮอล เสียชีวิตไปแล้ว ภาพเขียนชุดกระป๋องซุปที่ไม่มีใครต้องการเหล่านี้ จะกลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนที่ถูกหมายปองมากที่สุดจากนักค้างานศิลปะ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก และมีราคาประมูลสูงกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว!
หลายคนอาจคิดว่าบริษัทผลิตซุปกระป๋อง Campbell จ้างให้วอร์ฮอลวาดภาพกระป๋องซุปเหล่านี้ขึ้นมาหรือเปล่า? แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น คราวแรกที่วอร์ฮอลแสดงงานชุดนี้ ทางบริษัททีท่ารับรู้ แต่ก็ไม่ได้สนอกสนใจนัก จนเมื่อวอร์ฮอลเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังนั่นแหละ พวกเขาจึงได้หันมาสนใจสนับสนุนด้วยการส่งซุปมะเขือเทศกระป๋องที่เป็นต้นแบบของภาพเขียนให้วอลฮอล์ฟรีๆ ทั้งยังว่าจ้างให้เขาวาดภาพซุปกระป๋องในเวอร์ชั่นอื่นๆ รวมถึงร่วมกับ The New York Art Academy ก่อตั้งมูลนิธิ Andy Warhol Scholarship Fund ขึ้นมา ล่าสุดในปี 2013 พวกเขาออกซุปกระป๋องรุ่นพิเศษที่ทำฉลากเลียนแบบสไตล์และสีสันอันจัดจ้านในภาพวาดซุปกระป๋อง (เวอร์ชั่นหลังๆ) ของวอร์ฮอล มาวางขายในจำนวนจำกัด เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีที่วอร์ฮอลทำผลงานชุดนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก นอกจะเป็นผลงานชิ้นที่วอร์ฮอลโปรดปรานที่สุดแล้ว ยังเป็นผลงานที่เป็นสัญลักษณ์ หลักไมล์และก้าวย่างแรกของงานศิลปะ Pop Art ในอเมริกาอีกดัวย
โรงงานศิลปะและฉากสุดท้ายของเจ้าพ่อแห่งป๊อป
ปกอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico ที่ออกแบบโดย วอร์ฮอล
ปี 1963 แอนดี้ วอร์ฮอล และผู้ช่วยคนสำคัญของเขา เจอราร์ด มาลังก้า ได้ย้ายสตูดิโอไปตั้งที่โรงงานเก่าแห่งหนึ่งบนถนนสาย 47 ของนิวยอร์ค และเรียกว่า The Factory และร่วมกันผลิตผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานภาพเขียน ภาพพิมพ์ซิลสกรีน ประติมากรรม ผลงานของเขาส่งอิทธิผลต่อวงการศิลปะและศิลปินรุ่นหลังอย่างเหลือคณานับ
นอกจากนั้นวอร์ฮอลยังสร้างสรรค์ผลงานด้านอื่นอย่างหลากหลาย เขาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงดนตรี The Velvet Underground ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีรุ่นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน (ปกอัลบั้มแรกของ เดอะ เวลเว็ท อันเดอร์กราวน์ ชุดแรกที่เป็นรูปกล้วยหอมที่เขาออกแบบก็เป็นผลงานที่มีคนรู้จักมากที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของเขา) เขาคิดค้นการแสดงในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ‘Exploding Plastic Inevitable’ ที่ผนวกการแสดงดนตรี แสง สี เสียง ร่วมกับการฉายหนังของเขาบนเวที ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของการแสดงสดแบบมัลติมีเดียในเวลาต่อมา ในช่วงนี้เองที่เขาหันมาหลงไหลในศิลปะภาพยนตร์ และทำหนังออกมาหลายต่อหลายเรื่อง โดยมีเหล่าเพื่อนๆ ที่เขาอุปโลกน์ให้เป็น ‘ซุเปอร์สตาร์’ มาร่วมเล่นในหนังสุดพิลึกพิลั่นที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการถ่ายภาพเพื่อนๆ เหล่านั้นในอิริยาบถต่างๆ นอกจากนั้นเขายังเป็นป๋าดันให้กับคนทำหนังโนเนมอย่าง พอล มอร์ริสเซ่ ที่สร้างผลงานหนังประหลาดๆ ออกมา ซึ่งหนังเหล่านี้นี่เองที่ได้กลายเป็นต้นธารให้กับภาพยนตร์อันเดอร์กราวน์และภาพยนตร์ทดลองในปัจจุบัน เขายังทำนิตยสารที่บุกเบิกนิตยสารแนวไลฟ์สไตล์ยุคใหม่อย่าง Andy Warhol’s Interview (ซึ่งปัจจุบันยังคงตีพิมพ์ในชื่อ Interview) เขามีรายการทีวีเป็นของตัวเอง และสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ
ถึงวอร์ฮอลจะเป็นศิลปินชื่อเสียงโด่งดัง และใช้ชีวิตรายล้อมด้วยคนดัง (และอยากดัง) ที่เวียนว่ายวกวนอยู่กับชื่อเสียง แฟชั่น ปาร์ตี้ และยาเสพติด แต่ตัวตนที่แท้จริงของเขากลับเป็นคนโดดเดี่ยว เก็บตัว เขาอาศัยอยู่แม่ของเขาตลอดชีวิต และทำงานอย่างขยันขันแข็งตลอดเวลา
ด้วยความที่ แอนดี้ วอร์ฮอล เป็นคนขี้อาย เขาจึงเป็นศิลปินที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์หรือออกบรรยายต่อหน้าสาธารณชนเท่าไหร่ นักสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ที่ไปสัมภาษณ์เขาก็มักจะได้รับคำตอบจากเขา แบบถามคำตอบคำ เยสๆ โนๆ หรือแม้แต่เวลาที่เขาต้องไปบรรยายที่ไหน เขาก็มักจะเอาแต่ยืนอมพะนำ หน้าแดง ไม่พูดไม่จา ปล่อยให้เพื่อนๆ ที่มาด้วยพูดเสียเป็นส่วนใหญ่
แอนดี้ตัวปลอม (อัลเลน มิดเจตต์)
แอนดี้ตัวจริง
จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1967 เขาได้พบกับ อัลเลน มิดเจตต์ อดีตนักแสดงในหนังของ เบอร์นาโด เบอร์โตลุชชี และ ปิแอร์ เปาโล พาโซลินี แอนดี้และเพื่อนๆ จึงนึกสนุก จับตัวอีตา อัลเลน มิดเจตต์ คนนี้ ย้อมผมเป็นสีเงิน ทาหน้าซีดขาว ใส่แจ็กเก็ตหนัง เพื่อสวมรอยเป็นวอร์ฮอล และตกปากรับคำที่จะไปขึ้นเวทีบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกา โดยส่งอีตา แอนดี้ หน้าวอก ขึ้นไปบรรยายแทนแอนดี้ วอร์ฮอล ตัวจริงอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งทุกคนก็ให้การต้อนรับอย่างดี โดยไม่มีใครสงสัยเลยว่าอีตานี่คือแอนดี้ วอร์ฮอลตัวปลอม!
แต่ความจริงก็คือความจริง คนโกหกยังไง๊ก็ต้องถูกจับได้อยู่วันยังค่ำ ในระหว่างการบรรยายในมหาวิทยาลัยยูท่าห์และโอเรกอน ความลับดันเกิดแตกขึ้นมา เพราะมีผู้ชมบางคนเกิดความสงสัย (ในความคล่องเกินไป) และมารู้ความจริงในภายหลังจากการเปรียบเทียบด้วยรูปถ่าย จนนำไปสู่การเปิดโปง และขอค่าบรรยายคืนในที่สุด
“เอ่อ... ที่ผมทำแบบนั้นก็เพราะผมพูดไม่ค่อยเก่ง และไม่มีอะไรจะพูด แต่ผู้ชายคนที่ผมส่งไปแทน (อัลเลน มิดเจตต์) มีเรื่องที่อยากพูดเยอะแยะเลย ผมก็เลยส่งเขาไปพูด เขาเป็นคนแบบที่ทุกคนคาดหวังจะได้เจอ แล้วทุกคนก็ชอบฟังเขาพูดไม่ใช่เหรอ” เป็นคำสารภาพของวอร์ฮอลหลังจากที่ถูกจับโกหกได้ อ่านะ!
Self-Portrait 1986 © The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc./ARS, NY and DACS, London 2014
แล้วในปี 1968 ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อ แอนดี้ วอร์ฮอล ถูกบุกเข้ากระหน่ำยิงโดย วาเลอรี โซลานาส อดีตเพื่อนร่วมงานสาวสติไม่ดีจนเกือบตาย (ดูเรื่องราวและกรณีพิพาทระหว่างโซลานาสและวอร์ฮอลได้ในหนังเรื่อง I Shot Andy Warhol, 1995) แต่โชคยังเข้าข้างเขารอดชีวิตมาได้ จนในปี 1987 เขาก็เสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันด้วยอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เหลือทิ้งไว้แต่เพียงทรัพย์สมบัติมูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญ ผลงานศิลปะและงานสร้างสรรค์จำนวนนับไม่ถ้วน แรงบันดาลใจมากมายที่ส่งผ่านไปยังคนรุ่นหลัง จนกล่าวได้ว่าเขาเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในศิลปะแนวป๊อปรวมถึงในวงการศิลปะโลกเลยก็ว่าได้
ขอบคุณภาพจาก http://goo.gl/fI4xV4, http://goo.gl/K7JWVV, http://goo.gl/HmyXgn, http://goo.gl/r8dFsE, http://goo.gl/kPAbBJ, http://goo.gl/EXkDy0, https://goo.gl/xI7wbq, http://goo.gl/iFaYGk
*ป๊อปอาร์ต (Pop Art) หรือ 'ศิลปะประชานิยม' ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกจากการเรียกขานของนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ลอว์เรนซ์ อลาววีย์ เกิดขึ้นจากความเบื่อหน่ายการทำงานในแนวคิดแบบแอ๊บสแตร็คท์เอกซ์เพรสชั่นนิสต์ กลุ่มศิลปินในนิวยอร์กจึงประกาศแนว คิดแบบป๊อบอาร์ตขึ้นในปี 1955 โดยสนับสนุนการแสดงออกด้วยกรรมวิธีหลากหลายไม่จำกัดรูปแบบ อย่างการใช้ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ภาพตัดปะ ภาพการ์ตูน โดยมักจะนิยมใช้ภาพของบุคคลหรือสิ่งของที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากสังคมมาเป็นเรื่องราว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้มาจาก การทำงานในเชิงพานิชย์ของงานโฆษณา ที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการผลิตของระบบทุนนิยม และการผสมผสานระหว่างสีสันอันหลากหลายกับสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ข้อมูล : Andy Warhol A Documentary Film by Rics Burns PBS Home Video ห้องสมุด William Warren, แอนดี้ วอร์ฮอล โดย ทินกร หุตางกูร จาก นิตยสารสีสัน ปีที่1 ฉบับที่4 กุมภาพันธ์, หนังสือ มหัศจรรย์แห่งศิลปะ โดย พิษณุ ศุภ สุดสัปดาห์สำนักพิมพ์ 2549, บทความ Films From Andy Warhol’s Factory โดย อลงกรณ์ คล้ายสีแก้ว นิตยสาร Pulp ฉบับที่ 14-16 2004
#WURKON #art #popart #andywarhol #godfatherofpopart #15minutesfame #silkscreenprint #campbellsoup #factory #movie #ishotandywarhol #thevelvetunderground #andywarholsinterview #fakeartist #ป๊อปอาร์ต #เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต #แอนดี้วอร์ฮอล #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon