Blog

อันเนื่องมาจากฉากหนึ่งในหนัง ในวาระ 10 ปี หนังไซไฟคลาสสิกในดวงใจ Children of Men

อันเนื่องมาจากฉากหนึ่งในหนัง ในวาระ 10 ปี หนังไซไฟคลาสสิกในดวงใจ Children of Men

12 มีนาคม 2562

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นโอกาสครบรอบสิบปีของหนังไซไฟเรื่องหนึ่ง ที่ในปัจจุบันกลายเป็นหนังไซไฟคลาสสิคตลอดกาลใจดวงใจของคนรักหนังหลายคนไปแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับดีกรีรางวัลออสการ์อย่าง อัลฟองโซ กัวรอง (Alfonso Cuarón) เจ้าของผลงานชั้นเยี่ยมอย่าง Great Expectations (1998), Y tu mama tambien (2001), Harry Potter and The Prisoner of Azkaban (2004) และ Gravity (2013) ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ

และหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีสอีกชิ้นของเขาก็คือหนังไซไฟเรื่องที่เรากำลังจะพูดถึงนี่เอง หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า

Children of Men (2006)

Children of Men (2006)  Universal Pictures

ที่เล่าเรื่องราวของโลกอนาคตในปี 2027 ที่มวลมนุษยชาติตกอยู่ในวิกฤติแห่งความสิ้นหวัง เหตุเพราะมนุษย์ไม่สามารถตั้งครรภ์และมีลูกเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้อีกต่อไป เรื่องราวในหนังเริ่มต้นขึ้นด้วยการตายของชายคนหนึ่ง ซึ่งคงไม่สำคัญอะไรถ้าเขาไม่ได้บังเอิญเป็นมนุษย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก และเหตุการณ์นี้เองที่นำพาให้เกิดความสิ้นหวัง เศร้าโศก และก่อให้เกิดความวุ่นวายและเหตุร้ายขึ้นทั่วโลก และทำให้มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับจุดจบแห่งการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

ท่ามกลางความสิ้นหวังและความวุ่นวายนี้เอง ธีโอ (ไคลฟ์ โอเวน) ชายหนุ่มพนักงานรัฐชาวลอนดอนผู้ใช้ชีวิตอย่างซังกะตายได้พบกับ จูเลียน (จูเลียนน์ มัวร์) อดีตคนรักเก่าและหัวหน้ากลุ่มกบฏการเมือง ผู้ที่ชักนำให้เขาเข้าไปพัวพันเข้ากับความลับอย่างหนึ่ง ซึ่งความลับนี้เองที่จะกลายเป็นแสงสว่างแห่งความหวัง ท่ามกลางความมืดมนที่เป็นอยู่ และไปๆ มาๆ เขาก็ดันตกกระไดพลอยโจนกลายเป็นฮีโร่จำเป็น ที่จะช่วยกู้วิกฤติแห่งอนาคตของมวลมนุษยชาติ

ด้วยฝีมือการกำกับ การสร้าง  บวกกับการแสดงชั้นดีของเหล่านักแสดงนำมากฝีมือ ทำให้ Children of Men เป็นผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่นักดูหนังคุณภาพไม่อาจพลาดได้ และที่สำคัญนี่เป็นหนังแอ็คชั่นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระเอกใส่รองเท้าแตะ (หนีบ) เกือบครึ่งเรื่อง!

ถ้าใครเคยดูหนังแล้ว คงจะจำฉากที่ ธีโอ พระเอกของเราต้องเข้าไปพบกับญาติสนิทผู้เป็นบิ๊กในรัฐบาล อย่าง ไนเจล (แดนนี่ ฮุสตัน) ณ อาคารนิวาสถานของเขา หรือในอีกนัยหนึ่ง มันก็คือ ‘Ark of the Arts’ หรือ ‘กรุศิลปะ’ ที่ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุอันมีค่าทั้งหลายแหล่ของโลกเอาไว้ ท่ามกลางกลียุคอันวุ่นวายนั่นเอง ซึ่งในสถานที่นี้เองที่ ธีโอ (และคนดู) ได้มีโอกาสยลผลงานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินเอกของโลกสองคนมาปรากฏอยู่ในสถานที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ให้เห็นเป็นบุญตา

ภาพจากหนัง Children of Men (2006)  Universal Pictures

ผลงานศิลปะชิ้นเอกชิ้นแรก ปรากฏตัวขึ้นในก้าวแรกที่ธีโอย่างเหยียบเข้าไปภายในห้องโถงของอาคารแห่งนั้นก็คือ ผลงานประติมากรรมอันเลื่องชื่อที่สุดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคเรอเนสซองส์หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่มีชื่อว่า

เดวิด (David), 1501-1504

David ภาพโดย Jörg Bittner Unna จากเว็บไซต์ https://goo.gl/ZX8ofC

ผลงานของ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ประติมากร จิตรกร และ สถาปนิกชื่อดังชาวอิตาลี เติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ เขาได้รับการยอมรับให้เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกผู้หนึ่ง ไม่ใช่แต่ในยุคเรอเนสซองส์เท่านั้น หากแต่เป็นในทุกยุคสมัยนับแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบัน ผลงานของเขาไม่ได้มีเพียงแค่งานประติมากรรมเท่านั้น แต่ยังมีจิตรกรรม สถาปัตยกรรม งานออกแบบตกแต่งภายใน ฯลฯ และทุกชิ้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและยิ่งใหญ่คับฟ้าด้วยกันทั้งสิ้น

‘เดวิด’ ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1501-1504 เป็นประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนรูปเปลือยของวีรบุรุษและกษัตริย์ชาวยิวผู้ยิ่งใหญ่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล มีความสูงถึง 5.17 เมตร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสระและพลังแห่งชีวิตอันงดงาม และกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองฟลอเรนซ์จวบจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน เดวิด ยืนตระหง่านอยู่ที่ Galleria dell’Accademia เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วน ‘เดวิด’ ที่ขาหักจากการถูกทำลายจากฝูงจารชนที่ปรากฏอยู่ในหนัง เป็นของปลอมที่ทำขึ้นมาใหม่ (แหงดิ) แต่มันก็ยังคงแผ่มนต์ขลังของความสง่างามและสูงส่งอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

มีเกร็ดขำๆ เกี่ยวกับรูปแกะสลักชิ้นนี้ว่า ตอนที่ไมเคิลแองเจโลเพิ่งแกะสลักรูปเดวิดนี้เสร็จ มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการวิพากษ์วิจารณ์และติเตียนว่าจมูกของรูปปั้นใหญ่เกินไป ให้แก้เสีย ไมเคิลแองเจโลเลยตัดรำคาญด้วยการแอบกำเศษผงหินอ่อนปินขึ้นไปบนรูปแกะสลักแล้วทำท่าขยุกขยิกให้เศษหินอ่อนร่วงลงมา พระผู้ใหญ่เห็นดังนั้นก็เอ่ยด้วยความภาคภูมิใจว่า "เห็นไหมลูก! ดีขึ้นเยอะเลย พ่อบอกเจ้าแล้ว" แล้วก็จากไปแต่โดยดี (อ่านะ!)

มีผลงานของไมเคิลแองเจโลอีกชิ้นที่ถูกกล่าวถึงแต่ไม่ได้ปรากฏในหนัง เขาว่ามันถูกฝูงชนที่บ้าคลั่งทำลายทิ้งไป (ในหนังนะ) โดยที่ไนเจลไม่สามารถช่วยเอาไว้ได้ ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อว่า

ปิเอต้า (Pietà), 1498–99

Pietà ภาพโดย Juan M Romero จากเว็บไซต์ https://goo.gl/fCqNtZ

ประติมากรรมแกะสลักรูปพระแม่มารีตระกองกอดพระศพของพระเยซูที่เพิ่งลงจากกางเขน ซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมที่ถือกันว่างดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกไม่แพ้เดวิดเลยทีเดียว

เรื่องตลกร้ายก็คือ ในความเป็นจริงรูปแกะสลักปิเอต้าเคยถูกทุบทำลายจนเสียหายมาแล้ว โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 1972 ชายวิกลจริตคนหนึ่งถือค้อนเข้ามาทุบที่รูปแกะสลักพร้อมกับตะโกนร้องว่า "กูคือพระเยซู!" จนเสียหายหลายส่วน รวมทั้งส่วนใบหน้าและจมูกของพระแม่มารี เหตุการณ์นี้เป็นการขยี้หัวใจของชาวอิตาลีและคนรักงานศิลปะทั่วโลกกันเลยทีเดียว ปัจจุบันปิเอต้าได้รับการซ่อมแซมจนกลับไปอยู่ในสภาพปกติ และถูกแสดงอยู่ภายในตู้อครีลิกใสกันกระสุนใน St Peter's Basilica (1498–99) จวบจนปัจจุบัน

ภาพจากหนัง Children of Men (2006)  Universal Pictures

ผลงานศิลปะชิ้นเอกของโลกชิ้นที่สองปรากฏตัวขึ้นในฉากที่ธีโอนั่งคุยกับ ไนเจล ญาติของเขาในห้องอาหาร คือผลงานเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) อย่าง พาโบล  ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) ผลงานที่ปรากฏในห้องอาหารชิ้นนี้เป็นผลงานจิตรกรรมที่ทรงคุณค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาที่ทำขึ้นเพื่อต่อต้านสงคราม มันมีชื่อว่า

เกอร์นิกา (Guernica), 1937

Guernica ภาพจากเว็บไซต์ https://goo.gl/dmWb2r

โดยในปี 1937 รัฐบาลสเปนได้ว่าจ้างให้ปิกัสโซ่ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศสวาดภาพฝาผนังขนาดใหญ่สำหรับแสดงในศาลาสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะนานาชาติในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

ในช่วงที่เริ่มทำงาน เขาได้ข่าวโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ในสเปน ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี ทำให้เขาเกิดความโกรธแค้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเกอร์นิกาขึ้นมา ปิกัสโซ่ลงมือเขียนภาพขนาดใหญ่ถึง 3.89 x 7.76 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ มันเป็นภาพเขียนแบบคิวบิสซึ่มที่ใหญ่สุดที่เขาเคยทำมา เขาตั้งชื่อมันว่า Guernica และกล่าวถึงภาพภาพนี้ว่า

“สงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ ชีวิตในการเป็นศิลปินของผมตลอดมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานกับฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ อย่างนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมจะมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดและความตายได้อีก? ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ ซึ่งผมจะเรียกมันว่า เกอร์นิกา ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังชนชั้นเผด็จการและทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายอย่างที่มันเป็นอยู่”

เขาใช้เวลาวาดภาพนี้ถึง 35 วัน มันแล้วเสร็จในวันที่ 4 มิถุนายน 1937 มันเป็นภาพวาดแบบคิวบิสซึ่มที่แสดงภาพอันบิดเบี้ยวของหญิงสาวที่ร่ำไห้อุ้มศพลูกน้อยในอ้อมแขน เหนือศีรษะของเธอมีวัวยืนเบิ่งตาเบิกโพลง ภาพของซากศพทหารที่นอนตาย ภาพของม้าที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมาน ภาพของคนที่กรีดร้องอย่างน่าเวทนา ที่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง

ถึงแม้จะเป็นภาพในโทนขาวดำแบบเดียวกับภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่มันก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ ด้วยภาพวาดภาพนี้ ปิกัสโซ่ใช้เทคนิคของงานศิลปะสมัยใหม่ถ่ายทอดความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลังยิ่ง

เมื่อภาพนี้เสร็จ มันถูกนำออกแสดงในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส และด้วยความที่ปิกัสโซ่มีเจตนารมณ์ว่าตราบใดที่ประเทศสเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ และยังไม่คืนสู่ความเป็นเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาจะไม่ยอมให้ภาพนี้ถูกส่งกลับคืนไปที่นั่นเป็นอันขาด

ดังนั้น หลังจากถูกนำไปแสดงในหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ภาพนี้จึงถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MOMA) จนกระทั่งหลังจากที่นายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในที่สุดภาพเกอร์นิกาก็ถูกนำกลับสู่สเปนในปี 1981 และถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Reina Sofia ในกรุงมาดริด จวบจนปัจจุบัน และไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพเกอร์นิกา ก็มักจะถูกยกมาเป็นตัวอย่างของการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา

มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่ปิกัสโซ่อยู่ที่ปารีสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่นาซียาตราทัพเข้ามาศิลปินขบถหัวเอียงซ้ายอย่างเขาย่อมตกเป็นเป้าหมาย ในขณะที่เขาถูกสอบสวนตรวจค้นสตูดิโอ รอบแล้วรอบเล่าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเขายื่นภาพโปสการ์ดที่เป็นรูปของภาพวาดเกอร์นิกาให้เจ้าหน้าที่นาซี

หมอนั่นหยิบมาดูแล้วถามด้วยความเย้ยหยันว่า “ตกลงคุณเป็นคนทำมันขึ้นหรอกเหรอ?”

ปิกัสโซ่สวนกลับไปทันควันว่า “ไม่ คุณนั่นแหละที่เป็นคนทำ”

มีเกร็ดเล็กเล็กน้อยเกี่ยวกับภาพนี้ว่า ด้วยความที่ปิกัสโซ่เป็นศิลปินใหญ่ที่เจ้าชู้มากรักหลายใจมากจึงว่ากันว่าจริงๆ แล้วเขาได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการเขียนภาพนี้จากการทะเลาะตบตีกันของ บรรดาเมียๆ ของเขานั่นเอง (ฮา)

แถมท้าย เอ๊ะ อะไรแว๊บๆ : หมูสีชมพูตัวนั้นท่านได้แต่ใดมา

ภาพจากหนัง Children of Men (2006)  Universal Pictures

นอกจากผลงานศิลปะชิ้นเอกสองชิ้นของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่สองคนที่ปรากฏในหนังสองคนแล้ว ยังมีงานศิลปะอีกชิ้นที่โผล่แว๊บๆ ในหนัง แต่กลับเรียกความสนใจของคนดูหนังได้ไม่น้อย นั่นก็คือบอลลูนรูปหมูที่โผล่ขึ้นมาเหนืออาคารกรุศิลปะของไนเจล ซึ่งความจริงแล้วทั้งบอลลูนทั้งอาคารหลังนี้ เคยปรากฏตัวในฐานะปกอัลบั้มชิ้นหนึ่งของวงดนตรีโปรเกรสซีพร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษอย่าง พิงค์ ฟลอยด์ (Pink Floyd) นั่นเอง อัลบั้มชุดที่ว่านั้นมีชื่อว่า

Animals (1977)

ภาพปกอัลบั้ม Animals ของวงดนตรี Pink Floyd จาก www.pinkfloyd.com

ปกอัลบั้มออกแบบโดย สตอร์ม ธอร์เกอร์สัน (Storm Thorgerson) แห่งกลุ่มดีไซน์ Hipgnosis (อ่านว่า 'ฮิปโนซิส') ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบปกอัลบั้มให้กับนักดนตรีร็อกชื่อดังระดับตำนานหลายต่อหลายวง ไม่ว่าจะเป็น Pink Floyd, UFO, Bad Company, Led Zeppelin, AC/DC, Yes, The Alan Parsons Project และ Genesis ผลงานของพวกเขามักจะเป็นภาพถ่ายอันอลังการที่สร้างขึ้นด้วยการจัดฉากถ่ายขึ้นจริงๆ (ก็สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิกนี่นา!)

ดีไซน์และแนวคิดของปกอัลบั้มนี้มาจากไอเดียของ โรเจอร์ วอเตอร์ส ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการทำคอนเซ็ปต์อัลบั้มชุดนี้มาจากนวนิยาย Animals Farm (1945) ของนักเขียนอังกฤษ จอร์จ ออร์เวล ซึ่งตอนแรกธอร์เกอร์สันไม่พอใจ เพราะทางวงปฏิเสธไอเดียแรกของเขา แต่ไอเดียของหมูบินและผลงานที่เสร็จสมบูรณ์กับผลตอบรับที่ออกมาได้อย่างวิเศษจนธอร์เกอร์สันต้องยอมรับมันในที่สุด

หมูสีชมพู (ซึ่งเป็นตัวละครเอกในนวนิยาย Animals Farm) หรืออันที่จริง บอลลูนหมู ที่ชื่อเล่นว่า อัลจี้ (Algie) ตัวนี้ มีขนาด 20 x 30 ฟุต ซึ่งทางวงจ้างบริษัทผลิตบอลลูนและเรือเหาะของเยอรมันอย่าง Ballon Fabrik และศิลปินชาวออสเตรเลียน เจฟฟรีย์ ชอว์ ทำขึ้นมา บอลลูนยางอัดด้วยแก๊ซฮีเลียมตัวนี้ถูกทำขึ้นเพื่อให้มันลอยอยู่เหนืออาคาร Battersea Power Station ซึ่งเป็นอาคารผลิตพลังงานถ่านหินหลังเก่าของรัฐบาลอังกฤษ ที่วอเตอร์สเคยขับรถผ่านทุกวันและเกิดความประทับใจจนนำมันมาใช้เป็นฉากของปกอัลบั้มนี้ของวง (ซึ่งอาคารนี้ก็ถูกใช้เป็นฉากหลังในหนัง ซึ่งสมมุติให้เป็นอาคารกรุศิลปะของไนเจลนั่นเอง)

ในตอนแรกธอร์เกอร์สันเสนอแนะว่าไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพบอลลูนหมูในสถานที่จริงก็ได้ เพราะเขาสามารถเอามาตัดแปะทีหลังได้อยู่แล้ว แต่วอเตอร์สไม่ยอม เขายืนยันว่าทุกอย่างต้องถ่ายทำจริงๆ จากสถานที่จริง ธอร์เกอร์สันยอมรับในภายหลังว่าวอเตอร์สเป็นฝ่ายถูก คุณค่าความงาม คุณภาพทางอารมณ์ และความดีความงามของผลงานชิ้นนี้มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะมันถูกทำขึ้นจริงๆ ในสถานที่จริงและมันก็เป็นแนวคิดหลักในการทำงานร่วมกันระหว่าง Pink Floyd และ Hipgnosis อย่างต่อเนื่องยาวนานในเวลาต่อมา

เจ้าบอลลูนหมูอัลจี้ตัวนี้กลายเป็นสัญลักษณ์อันโด่งดังและถูกนำไปปรากฏตัวในสื่อต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง อาทิเช่นหนัง Children of Men (2006) ที่ปรากฏตัวขึ้นในหนังเหมือนกันกับบนปกอัลบั้มของพิงค์ ฟลอยด์เดี๊ยะๆ โดยว่ากันว่าผู้กำกับจำลองฉากนี้ขึ้นเพื่อเป็นการแสดงคารวะต่อ Pink Floyd นั่นเอง และก่อนหน้านั้นเจ้าหมูอัลจี้ตัวเดียวกันนี้ก็ได้ไปปรากฏตัวอยู่ในหนังการ์ตูนชุด The Simpsons ในตอน Homerpalooza และมันยังถูกนำไปใช้ในการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2012 ณ กรุงลอนดอนที่กำกับโดย แดนนี บอยล์ อีกด้วย

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #art #movie #childrenofmen #alfonsocuarón #arkofthearts #david #pietà #michelangelo #guernica #pablopicasso #pigballoon #algie #pinkfloyd #animals #stormthorgerson #hipgnosis #กรุศิลปะ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะในภาพยนตร์

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30