เจาะลึกเบื้องหลังแนวคิดในการทำงานของสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมระดับแนวหน้าของเมืองไทย Spaceshift Studio
12 มีนาคม 2562
ในหลายตอนที่ผ่านมาเราได้เขียนถึงผลงานสถาปัตยกรรมหลากหลายแห่งในบ้านเรา ซึ่งความโดดเด่นเป็นสง่าของอาคารเหล่านั้นนอกจากจะมาจากการดีไซน์ของสถาปนิกแล้ว ภาพถ่ายที่จับเอาบุคลิกลักษณะ และจุดเด่นของอาคารเหล่านั้นมาถ่ายทอดก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งเบื้องหลังภาพถ่ายอันงดงามจับใจของอาคารเหล่านั้น หลายแห่งเป็นผลงานของสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นระดับแนวหน้าของเมืองไทย ที่มีชื่อว่า Spaceshift Studio นั่นเอง
Spaceshift Studio เป็นสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ ที่ถ่ายภาพทางสถาปัตยกรรม ศิลปะ และดีไซน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่สำหรับนิตยสารและบริษัทสถาปนิก และวงการโฆษณามากว่าทศวรรษ สตูดิโอก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดย ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และ อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ สองคู่หูคู่รักที่มีพื้นเพในหลากหลายความรู้และสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ถ่ายภาพ พวกเขาผ่านงานหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ไปจนถึงเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์และสไตลิสต์ นั่นเป็นเหตุผลที่งานภาพถ่ายของสตูดิโอ Spaceshift มีเอกลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่เป็นภาพถ่ายของอาคารหรือวัตถุทางดีไซน์ทั่วๆ ไป หากแต่เป็นการตีแผ่ความคิดสร้างสรรค์และจินตภาพของผู้สร้างผลงานเหล่านั้นออกมาเป็นภาพถ่ายอันเปี่ยมอารมณ์และความรู้สึกนั่นเอง
ผลงานของพวกเขามักจะไปปรากฏอยู่ตามสื่อเกี่ยวกับงานออกแบบและสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น art4d, Wallpaper, HABITUS, Dwell, Abitare และ The Architectural Review รวมถึงในสื่อออนไลน์อย่าง archdaily, dezeen, designboom เป็นต้น
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้อย่างคุณภิรักษ์ หรือคุณเด๋ย ถึงที่มาที่ไปและเบื้องลึกเบื้องหลังของแนวคิดในการทำงานหลังเลนส์ของสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมระดับแนวหน้าของเมืองไทยแห่งนี้ มาร่วมกันรับฟังว่าการทำงานของเขาจะตอบโจทย์วิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ของเราได้อย่างไรไปพร้อมๆ กันเถอะ
WURKON:
ทราบมาว่าคุณภิรักษ์เรียนมาทางสถาปัตยกรรม ทำไมถึงเลือกมาทำงานด้านถ่ายภาพล่ะครับ
ภิรักษ์:
ก็โดนถามมาบ่อยแหละนะ ว่าจบสถาปัตย์ก็ต้องไปเป็นสถาปนิกสิ มาถ่ายภาพทำไม พอดีไอ้ตอนช่วงเราจบมามันปี 2542 ฟองสบู่แตก สถาปนิกไม่มีงานหรอก ตอนนั้นก็ไปสมัครไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมที่ Walt Disney World ที่ฟลอริด้า อเมริกา เราก็เบื่อเรื่องสถาปัตย์ด้วยแหละ เจอมาห้าหกปี ขอเจออย่างอื่นบ้าง พอดีเขามาเปิดรับสมัคร เราก็เลยไปสอบสัมภาษณ์ ก็ได้ไปทำงานปีนึง เราชอบถ่ายรูป ก็เอากล้องไปด้วย ไปถ่ายพวกงานสถาปัตยกรรมที่เราไปดูที่นั่น แต่จริงๆ ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นช่วงปี 97 - 98 ได้ทุนไปฝึกงานในบริษัทสถาปนิกที่เนเธอร์แลนด์ ทำงานเก็บตังได้ก้อนนึงก็ขอเขาลางานประมาณเดือนกว่าๆ ไปท่องเที่ยว ก็แบกเป้ไปทั่วเลย สปง สเปน อะไร เพราะตอนนั้นในขณะที่เมืองไทยมันมีวิฤติเศรษฐกิจ แต่โซนยุโรปพวกงานสถาปัตยกรรมมันสร้างเสร็จกันเยอะมาก ซูเปอร์สตาร์ในวงการสถาปัตยกรรมมันเบ่งบานเกิดขึ้นมากันเต็มไปหมดเลย เร็ม โคลฮาส (Rem Kollhass), คริสเตียง เดอ พอร์ทแซมพาร์ค (Christian de Portzamparc), เบอร์นาร์ด ชูมิ (Bernard Tschumi) หลายๆ งานที่เราอยากดู รวมถึงงานเก่าๆ ของ เลอคอร์บูซิเยร์, มีส์ ฟาน เดอร์ โรห์ เราก็ตั้งเป้าว่า กำสตางค์ที่ทำงานได้ แบกเป้ไปดูงานสถาปัตยกรรม ก็ทำให้สะสมภาพได้เยอะมากเหมือนกัน ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร สมัยนั้นการถ่ายภาพเยอะ ๆ มันไม่เหมือนสมัยนี้ สมัยนี้ถ่ายเสร็จปุ๊บเอามาลงคอม ตอนนั้นเป็นฟิล์ม ถ่ายไปเป็นร้อยม้วนเลยมั้ง กลับมาเรียนต่ออีกปี ทำธีสิสก็ยังไม่มีสตางค์ล้างน่ะ ทิ้งไว้พักนึงเลย พอล้างมาก็เอามาให้อาจารย์ดู ให้เพื่อนดู ก็มีการเล่าเรื่อง มีการถ่ายทอดประสบการณ์ มันก็สนุกดี ก็เลยติดนิสัย ไปไหนก็ถ่ายรูปมา แล้วก็มาเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง
WURKON:
เน้นถ่ายงานสถาปัตยกรรมเลย?
ภิรักษ์:
ใช่ ถ่ายตึก ตอนปี 94 - 95 มันมีหนังสือ art4d ออกมาแล้ว ช่วงนั้นผมก็อยู่ปีสองปีสามมั้ง ก็มีพี่สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้ก่อตั้ง SKYLINE STUDIO เขาเป็นไอด้อลเรา เขาเป็นรุ่นพี่ที่เตรียมอุดมฯ แล้วก็ไปเรียนต่อสถาปัตย์ จุฬา มาเจออีกทีงานเขาก็มาโผล่ที่หน้าปก art4d สมัยที่เราเรียนเราก็จะเข้าห้องสมุด ห้องวารสารบ่อย จะใช้เวลากับการดูหนังสือดูแมกกาซีนเยอะกว่าชาวบ้านเขา ก็จะมีก๊วนเพื่อนสามสี่คนดูด้วยกัน ใครเจองานไหนใหม่ๆ ก่อนก็จะเอามาอวดกัน แบบ เฮ๊ย งานนี้เจ๋งโว้ย! แล้วก็จะเอามาเสวนา ถกเถียงกันว่างานนี้มันน่าสนใจยังไง งานนั้นมันเป็นยังไง แต่ทีนี้ไอ้ภาษาภาพของตึกในหนังสือพวกนั้นมันดูเนี๊ยบ ดูคลีน มันมีวินัยในการจัดองค์ประกอบภาพของมันน่ะ เราก็ เฮ๊ย มันถ่ายยังไงวะ! บ้านเราสมัยนั้นแทบไม่มีหนังสือสถาปัตย์เลย ก็มีงานของ SKYLINE STUDIO เนี่ยโผล่มา เราก็ชอบ แบบ เอ๊ะ คนไทยถ่ายแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เราก็เลยพยายามจะลอกมุม ลอกคาแรคเตอร์ให้ถ่ายให้ได้เหมือนเขา แต่ถ่ายยังไงก็ไม่เหมือน เพราะเรากล้องฟิล์ม 135 เขากล้อง 4 x 5 กล้อง 6 x 6 ยังไงก็ไม่เหมือนหรอก ย้อนกลับมาที่ตอนกลับจากอเมริกาปั๊บ ก็มาเป็นสถาปนิกอยู่ปีนึงที่บริษัทเล็กๆ แถวสุขุมวิท ทำไปมันก็ไม่ใช่น่ะ เราไม่รู้สึกสนุกกับมัน อาจจะหลายๆ อย่างด้วย โจทย์มันก็ไม่ใช่ เมื่อก่อนเคยมีคนถามว่าทำไมมาถ่ายรูป ทำไมไม่เป็นสถาปนิก เราก็ตอบไปว่า ความอดทนเราต่ำมั้ง แต่คิดไปคิดมา เราก็อึดใช้ได้นี่หว่า คือมันเป็นเรื่องที่เรามีโอกาสค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ตอนเรียนปี 4 ปี 5 เราก็เริ่มเขียนหนังสือให้คณะ แล้วที่ art4d เขาก็เห็นว่าเราเขียนหนังสือได้ เขาก็มีตึกตึกนึงที่พี่สมคิดไปถ่ายที่เนเธอร์แลนด์ เป็นห้องสมุดที่ TU DELFT แล้วไม่มีคนเขียนเรื่อง เพราะไม่มีใครเคยไป พอดีเราเคยไปดูตึกนั้นมาแล้ว และเห็นเราเขียนหนังสือได้ ก็เลยให้เราเขียน จุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำสื่อทำนิตยสารมันก็มาจากตรงนั้น ก็คือเริ่มจากการเป็นนักเขียนก่อน แล้วเมื่อปี 2001 เราก็ออกจากบริษัทสถาปนิก ก็ถูกชวนไปอยู่ในกองบรรณาธิการวารสารอาษา และ art4d ก็ทำมาตั้งแต่ปี 2001 ถึงปี 2012 แต่ช่วงแรกๆจะเขียนอย่างเดียว
WURKON:
ยังไม่ได้ถ่ายรูป?
ภิรักษ์:
ไม่ เพราะตอนนั้นพี่สมคิดถ่าย แล้วเราเขียน ก็มีอยู่ช่วงนึงพี่สมคิดงานเยอะมาก แกถ่ายในส่วนที่เป็นข่าวอัพเดทไม่ทัน พอดีเราก็มีกล้องเล็กของเรา ก็เลยบอกว่า เดี๋ยวผมไปถ่ายให้ ตอนนั้นเราก็มีพอร์ตโฟลิโอรูปถ่ายทั้งจาก อเมริกาและยุโรป ทางบ.ก. เขาก็เห็นว่าพอใช้ได้ ก็ให้ลองดู พี่สมคิดก็เลยรู้ว่าเราถ่ายรูปได้ พอปี 2005, 2006 พี่สมคิดออกไปทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง แกก็มาบอกเราว่า เดี๋ยวสอนการใช้พวกกล้องใหญ่กล้องกลางอะไรพวกนี้ ให้ เรากับอรัญรัตน์ก็ไปฝึกด้วยกัน Spaceshift Studio ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น แต่สมัยนั้นการเริ่มต้นสตูดิโอมันไม่ได้เริ่มที่งบประมาณที่มันพอรับได้เหมือนสมัยนี้ สมัยนั้นต้องยืมตังค์แม่ซื้อกล้อง 4 x 5 กล้อง 6 x 6 รวมๆเกือบล้านน่ะ เอามาตั้งสตูดิโอ เราก็ฝึกมือไป ถ่ายโน่นนี่ รับงานข้างนอก แต่เรารับมากไม่ได้ เพราะทำงานประจำด้วย ก็คุยกับอรัญรัตน์ว่า เอาไงดี ลงทุนไปตั้งเยอะ ถ่ายให้แค่ art4d คงไม่พอน่ะ ตอนนั้นคืออยู่กองบรรณาธิการดูแลงานเขียน และเป็นบรรณาธิการภาพในนาม Spaceshift Studio กับอรัญรัตน์ ก็ทำอยู่ประมาณหกเจ็ดปี ประมาณปี 2012 ก็ลาออกจาก art4d มาทำ Spaceshift Studio เต็มตัว รับถ่ายงานให้สถาปนิก เจ้าของโครงการ และสื่อต่างๆทั้งออนไลน์ และสิ่งพิมพ์ ทุกวันนี้ลูกค้าประมาณ 60% เป็นบริษัทสถาปนิก นอกนั้นก็มีเวลาว่างถ่ายงานส่วนตัวบ้าง แล้วก็สอนหนังสือ ใครเชิญไปสอน ไปบรรยายก็ไป ส่วนนิทรรศการแสดงภาพถ่ายก็มีช่วงหลังๆนี่แหละ มีคนให้ทุนให้ที่ก็ไปแสดง ประมาณนี้แหละ
ภาพนี้เป็นตอนที่ไปถ่ายคอนโดให้ลูกค้า ผมทำโปสเตอร์นี้ตอนไปเลคเชอร์ที่มาเลเซีย หัวข้อการบรรยายก็ประมาณว่าอธิบายเบื้องหลังการทำงานของคนที่ทำงานถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม จำได้ว่า มีทั้งคนชอบไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบส่วนใหญ่จะเป็นคนกลัวความสูงและเป็นห่วงเราน่ะ
การถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมมันก็คือการถ่ายของที่ใหญ่มากซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง เราต้องการอุปกรณ์ที่เหมาะสมอย่างเช่นกล้องที่แก้มุมทัศนียภาพได้ และต้องใช้ความอดทนในการหาทำเลที่ตั้งดีๆและช่วงเวลาที่เหมาะสม
ตั้งใจถ่ายรูปนี้ตอนที่โครงการ MAHANAKORN เปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้ว จุดที่เจ้าของงานเปิดให้นักข่าวไปถ่ายภาพมุมสวยๆคือชั้นที่ 47 ของอาคารข้างเคียง เราไปช้า คนเยอะมาก เบียดเข้าไปไม่ได้ ก็เลยถอยห่างออกมาไกลๆ แล้วเก็บช่างภาพที่เค้าเบียดอยู่ข้างหน้านั้นเข้ามาในเฟรมด้วยเลย ตัวอาคารดูเป็นซุปเปอร์สตาร์มากๆ
ภาพตัวอย่างงานที่เราถ่ายให้กับสถาปนิก ซึ่งเป็นเนื้องานหลักในอาชีพของเรา ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำโปรไฟล์ออฟฟิศ บ้างก็นำไปใช้ลงสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ บางออฟฟิศก็ให้เราถ่ายต่อเนื่องมาเป็นสิบปีเพื่อเก็บเป็น archive หรือฐานข้อมูลเก็บไว้ในออฟฟิศ
ภาพแฟลตดินแดงจากมุมสูง จำได้ว่าใช้มือถือถ่ายแล้วเอามาโปรเซสต่อในโปรแกรม เป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับresidential area ที่อยู่คู่กรุงเทพมานาน
ภาพนี้ถ่ายที่โถงบันไดของ Institute du Monde Arabe ในกรุงปารีส เป็นงานออกแบบยุคแรกๆของสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ Jean Nouvel การซ้อนทับกันของแสง และเงาในช่วงเวลานั้น มันทำให้เกิดมุมกล้องที่ดูแปลกตากว่าที่เคย เป็นการซ้อนทับกันระหว่างอาคารกับผู้ใช้อาคาร
WURKON:
การเป็นสถาปนิกมาก่อนนี่ทำให้การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมง่ายกว่าไหมครับ
ภิรักษ์:
โดยส่วนตัวง่ายกว่า เราพูดแบบนี้ได้เพราะเรามีพื้นเพมาทางด้านสถาปัตยกรรมมาใช่ไหม เห็นพวกน้องๆ ที่มาขอฝึกงาน มาจากคณะที่สอนถ่ายภาพ ไม่ว่าจะมาจากสถาบันไหนก็ตาม อย่างแรกเลยคือเขาไม่เข้าใจว่าวิธีคิดเราเป็นยังไง เราก็ต้องมาอธิบาย ต้องให้เขาดูรูปแล้วอธิบายว่า ในเฟรมภาพ เราอภิเชษฐ์อะไร เรามองสเปซสวยยังไง ตึกนี้มีดีอะไร เดินเข้าไปหาอาคารอาคารนึงแล้วเราต้องคิดอะไรก่อน ส่วนใหญ่ที่เราเจอ ก็จะเป็นว่า เอาองค์ประกอบก่อน แต่จริงๆแล้ว เราต้องขอใช้เวลาเดินดูรอบๆ ถึงจะเจอว่าตึกนี้มีดีตรงไหน อย่าง รูปทรงอาคารตั้งอยู่กลางแจ้ง เจอแสงเงา ช่วงเช้า ช่วงเที่ยง ช่วงเย็น มันก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้วน่ะ ที่เหลือก็เดินเข้าไปในอาคาร อย่างหอศิลป์ที่เรานั่งคุยกันอยู่เนี่ย เดินเข้ามาเจอโถงตรงนี้ รู้สึกโล่ง โอ่โถง รู้สึกว่ามันต้อนรับเรา มีการเชื่อมโยงทางสายตา มองไปเห็นชั้นโน้นชั้นนี้ มีพื้นที่แกลเลอรี ตรงนั้นเป็นห้องประชุม ตรงนี้เป็นคาเฟ่ เวลาเราถ่ายภาพเราก็ต้องนำเสนอให้ได้ว่ามันมีเรื่องราวตรงนี้อยู่ อีกอย่างก็คือการเรียบเรียงภาพให้เป็นซีรีส์ ตอนแรกที่เราวางนิยามของสตูดิโอไว้ก็คือเป็น Photo and Essay Studio คือเป็น "ภาพที่เล่าเรื่อง" มันติดนิสัยมาจากตอนทำบทความในนิตยสาร คือสมมติว่าคุณมีหน้ากระดาษหนึ่งหน้าแล้วคุณต้องใช้ภาพ ภาพเดียว หรือใช้สองภาพสามภาพก็แล้วแต่ คุณจะเลือกรูปรูปไหนมาบ้าง คุณจะเล่าเรื่องด้วยอะไร หรือคุณมีหน้ากระดาษสิบหน้า แล้วคุณมีโอกาสใช้ภาพสิบภาพ คุณจะเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อเล่า เรื่องอาคารหนึ่งอาคารให้ครบได้ยังไง เพราะฉะนั้น ภาพที่เราถ่ายทุกวันนี้มันก็เลยจะเป็นซีรีส์ เช่น ตื่นเช้ามา ไปถึงตึกที่เคยมาสำรวจแล้ว ตอนเช้าเราก็ถ่ายตึกภายนอก แสงเช้าสวยๆนุ่มๆ พอแสงเริ่มทะแยงสูง สักประมาณ 10 โมง 11 โมง เข้าไปถ่ายภายในอาคาร พักเที่ยงกินข้าว บ่ายสองไปถ่ายภายในต่อเพราะแสงมันยังแรงอยู่ สี่ห้าโมงค่อยออกมา เพราะแสงตะวันตกเริ่มเฉียงแล้ว มันก็จะเป็นซีรีส์ มีวิธีคิด อะไรที่มันเชื่อมโยงกับธรรมชาติ แสงเงา อะไรที่มันเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้ใช้ อย่างเช่น ตอนเช้า มนุษย์ออฟฟิศเดินเข้าตึก ก็จะมีรูปตึกกำลัง กลืนคนเข้าไป ตอนเที่ยงก็คายออกมา คนไปกินข้าวกัน ตอนเย็นก็มีในส่วนงานออกแบบไลท์ติ้ง ถ้าตึกมีกระจก เราก็ต้องเดาว่ามันน่าจะต้องมีงานออกแบบไลท์ติ้งด้วย ตอนช่วงค่ำๆ โพล้เพล้มันจะมีวินาทีทอง ก่อนพระอาทิตย์ตก สักห้านาที แสงข้างนอกข้างในเท่ากัน เราต้องหามุมถ่ายไลท์ติ้งด้วยนะ แต่ถ้าเกิดสถาปนิกไม่ได้ออกแบบไลท์ติ้ง กลายเป็นไฟฟลูโอเรสเซนต์อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด มันไม่ใช่ ก็ไม่ต้องถ่าย กลับบ้าน กินข้าวเร็วขึ้น ก็ว่ากันไป มันมีการลำดับเรื่องราวของวิธีคิดพวกนี้ อย่างคนที่เรียนศิลปะ เรียนถ่ายภาพมา เขาก็จะคิดประมาณ One shot Knockout น่ะ ไปถึงที่ปุ๊บ ต้องถ่ายให้ได้เลย ที่เหลือค่อยว่ากัน ไม่ได้วางโครงเรื่อง เรียบเรียงกระบวนการทำงาน แต่ทั้งหมดที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้เรียนสถาปัตย์จะถ่ายหรือทำงานแบบนี้ไม่ได้นะ แต่ละคนก็มีวิธีทำความเข้าใจ และฝึกฝนฝีมือกันไป ช่างภาพดังๆอย่าง อิวาน บานน์ (Iwan Baan) ก็ไม่เคยเรียนสถาปัตย์ เขามีวิธีคิดของเขา
WURKON:
โดยธรรมชาติของสถาปนิกเองก็ทำงานเป็นกระบวนการ และทำงานกับพื้นที่และคนอยู่แล้วด้วย
ภิรักษ์:
ใช่ อย่างบางที ด้วยความที่เรากับอรัญรัตน์เป็นสถาปนิกด้วยน่ะ การใช้เวลาหนึ่งวันในการเก็บภาพอาคาร บางที พวกปรากฏการณ์ทั้งหลาย เรื่องแสง เรื่องเงา เรื่องคน-พื้นที่ เราได้เห็นมากกว่าสถาปนิกผู้ออกแบบ บางช็อตที่เรา ถ่ายได้ อาจเป็นช็อตที่สถาปนิกไม่เคยเห็น ไม่รู้ว่าตึกที่เขาทำมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน หรือกับบริบทอะไรขนาดนั้น ก็มี
WURKON:
เพราะเขาออกแบบเสร็จแล้ว
ภิรักษ์:
ใช่ แล้วเวลาสถาปนิกมาอยู่เขาก็ไม่ได้มานั่งมองตึกที่เขาทำ นั่งมองแบบจ้องตั้งแต่เช้าจรดเย็นแบบเราเลยเนี่ย แต่จริงๆผู้รับเหมากับช่างอาจจะเห็นมากกว่าด้วยน่ะ ส่วนเราก็เข้าไปในขั้นตอนสุดท้าย ก็จะเห็นภาพที่สมบูรณ์แล้ว ใช้งานแล้ว บางทีเราก็ยืนดูแล้วก็คิดต่อว่ามันเวิร์คอย่างที่สถาปนิกคาดหวังไว้ตอนออกแบบมั้ยนะ ก็มีการสนทนาแบบสถาปนิกเกิดขึ้น เราก็พอให้คอมเมนต์ได้ กลุ่มลูกค้าที่สนิทนกัน เป็นเพื่อนมั่ง พี่มั่ง น้องมั่ง ถ่ายเสร็จปุ๊บ ก็เอารูปมาดูแล้วเล่าให้เขาฟังว่า เราเห็นอะไรในงานนี้บ้าง ตึกพี่ตรงนั้นก็สวยนะ มีแสงแทงเข้ามาเวลาใช้งาน นี่สวยเลย ตึกนี้เพดานต่ำ ร้อนนะ ลูกค้าบ่นพี่ด้วย ไปเสือกกับเขาอีก (หัวเราะ)
WURKON:
เหมือนเป็นนักชิมเลยนะครับ
ภิรักษ์:
ใช่ๆๆ ข้อได้เปรียบอีกอย่างก็คือพื้นเพเราเป็นวิชาชีพเดียวกับคนที่เขาจ้างเรา เราก็คุยกับเขารู้เรื่อง
WURKON:
แล้วเขาเชื่อเราไหม
ภิรักษ์:
มีทั้งเชื่อทั้งไม่เชื่อแหละ (หัวเราะ) จริงๆ ตอนแรกก่อนที่จะมาทำสตูดิโอ เราคิดว่าเราไม่ได้อยากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนไปตลอด เราก็คุยกับแฟนว่าจะทำอะไรดี แฟนก็บอกว่าที่เราทำอยู่มันก็ดีอยู่แล้วนะ เพราะเราได้เดินทาง ได้เห็นอะไรเยอะแยะ ได้เห็นโลก ช่วงนั้นมันก็มีงานเข้ามาเยอะมาก จนมันไปกินเวลาทำงานของออฟฟิศ ก็เริ่มมีคอมเมนต์จากเจ้านายว่างานเขียนในนิตยสารมันพร่องละ เราก็รู้สึกไม่ดีละ ออกดีกว่า ให้พวกรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำดีกว่า ก็มาตกลงกันกับแฟนว่า จะทำยังไง ไม่มีเงินเดือนจะอยู่ได้มั้ยวะ ไอ้ช่วงที่ออกมาก็เหวอๆ นิดหน่อย ตอนนั้นมีงานถ่ายค้างอยู่สองงานมั้ง พอลาออกมาได้ประมาณสามสี่วัน มีงานไหลเข้ามาอีกประมาณเกือบสิบงานมั้ง คืออยู่ได้ไปอีกสามเดือน เราก็เลยโล่ง เราก็เริ่มรวบรวมงานที่เราเคยถ่ายเอามาทำเป็นพอร์ตฯ ก็จะมีพวกลูกค้าทั้งในบ้านเรา และเมืองนอกซื้อรูปไป เพื่อตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ แล้วก็จ้างนักเขียนเขียนประกอบ เราไม่เขียนแล้ว เขียนไม่ออก อย่างนิตยสารต่างประเทศ แบบ Habitus หรือ Dwell ก็มีมาซื้อภาพไปใช้ เพราะเริ่มสนใจงานออกแบบในบ้านเรานะ นานๆ ทีจะมีพวกนิตยสาร บิ๊กเนมเข้ามา อย่าง The Architectural Review บ้าง Abitare ก็เคยมาที ญี่ปุ่นก็มีหลายเล่มชื่ออะไรไม่รู้อ่านไม่ออก ส่วนใหญ่ก็จะเป็น request มาจากสถาปนิกที่ต้องการเอารูปไปลง ก็ทำแบบนี้มาหลายปี ถือว่าโชคดี ที่เราก็ได้ทำอะไรที่ชอบ ได้เดินทางด้วย เลี้ยงชีพได้ เราก็อยู่อย่างงี้มาเรื่อย ปีนี้ก็เป็นปีที่สิบพอดี
WURKON:
ตอนนี้ถ่ายภาพอย่างเดียวเลยเหรอครับ ไม่มีงานเขียนเลยเหรอ
ภิรักษ์:
โอ่ย ตั้งแต่ออกมาจากนิตยสารนี่แทบจะไม่อยากเขียนเลยน่ะ มันก็มีนะ พวกพี่ๆ ผู้ใหญ่ๆ ให้ช่วยเขียนให้น่ะ แต่เอสี่หน้าเดียวกว่าจะเขียนเสร็จเกือบจะเดือนนึง เกรงใจเขา ชิ้นล่าสุดน่าจะประมาณสองเดือนที่แล้วมั้ง ก็เลยบอกอรัญรัตน์ว่า งานเขียนไม่เอาแล้ว ไม่รับแล้ว ถ้าจะเขียนก็เขียนเรื่องของตัวเอง เขียนเล่าเรื่องสะเปะสะปะ นานๆ จะมีแรงขับเคลื่อนสักที อย่างเวลาไปเจองานใครแล้วถูกใจ เราก็จะวิเคราะห์ตะบักตะบวยอะไรไม่รู้ ขยันเขียนกว่างานจริงอีก ลงรูปสองรูปในเฟซบุ้คแต่เขียนบทความจนน้องที่เคยทำด้วยกันบอก โอ้โห พี่ ตอนทำงานไม่เห็นขยันขนาดนี้เลย! (หัวเราะ) บางทีเราเจอแล้วเราชอบจริงๆ เราอภิเชษฐ์จริงๆ เรานั่งเขียนแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว ตอนทำงานประจำมันต้องเขียนน่ะ ไม่ใช่อยากเขียน คือมันอิ่มตัวมากน่ะ จนเรารู้สึกว่า พอหันมาเล่าเรื่องด้วยภาพแล้วเรารู้สึกผ่อนคลายมากกว่า ประมาณนี้แหละ
WURKON:
ที่คุณภิรักษ์พูดถึงการ "เล่าเรื่องด้วยภาพ” ที่มันต่างกับการทำงานถ่ายภาพแบบทั่วๆ ไปที่เป็นแบบ One shot Knockout เนี่ย ลูกค้าเข้าใจการทำงานในลักษณะนี้ไหมครับ
ภิรักษ์:
เขาโอเคนะ เพราะว่าเวลาเราถ่ายภาพไปเซ็ตนึง ประมาณ 30 รูป เราจะเล่าได้เป็นฉากๆ จริงๆ ก่อนที่จะทำงานนั้นเราก็ตกลังกับเขาไว้แล้ว ว่าคุณต้องการภาพส่วนไหนบ้าง สมมติเขาบอกว่าต้องการภาพภายนอก โถงทางเข้า ลอบบี้ บาร์ ห้องพัก อะไรแบบนี้ พวกนั้นช่างภาพทุกคนถ่ายได้หมดแหละ เราก็เอากล้องไปจ่อที่จุดนั้นๆ แต่อย่างมุมที่มันแสดงให้เห็นว่ามีการเชื่อมพื้นที่ห้องแต่ละห้อง หรือ transitional space หรือ จุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ ไม่ว่ามันจะเชื่อมต่อด้วยพฤติกรรมคน ในการสัญจร การเข้าถึง หรือการมองการเชื่อมโยงทางสายตา อยู่ข้างล่างมองไปเห็นชั้นบน อยู่ชั้นบนมองไปเห็นชั้นล่าง แล้วมันก็กระตุ้นให้คนเดินเข้าไป อย่างถ้าไปถ่ายโรงแรม มีล็อบบี้ บาร์ ห้องอาหาร ห้องพัก ถ้าเป็นเรา เราก็จะเพิ่มไปให้ เช่น จากลอบบี้ มีมุมที่เชื่อมไปร้านอาหาร เป็นมุมกว้าง เก็บสองส่วนนี้ด้วยกัน โถงลิฟต์ ไม่มีใครเขาถ่ายกันหรอก แต่เราถ่าย เพื่อที่จะเอาไว้เชื่อมว่าจากจุดนี้คุณขึ้นลิฟต์ไปเจอทางเดิน มันก็เล่าเรื่องต่อเนื่องกันได้ เพราะฉะนั้น ถ้าวิธีการที่เรานำเสนออาคารโครงการนึงแล้ว เรามีแต่ภาพพื้นที่ก้อนนี้ ก้อนนี้ ก้อนนี้ บางทีคนดูเขาก็ไม่เข้าใจน่ะ ว่าตึกนี้มันมีอะไรดีหรือเจ๋งยังไง แต่ถ้าเราเล่าเรื่องได้ว่า ตึกนี้นะ มองข้างนอกน่ะสวย แต่ถ้าเข้าไปข้างในมองไส้ใน มันมีคุณภาพของการใช้พื้นที่ มีการเรียบเรียงพื้นที่ที่ดีนะ มันก็จะเป็นการเพิ่มคุณค่าของอาคาร และเพิ่มความชัดเจนของเรื่องราว
WURKON:
มันก็ทำให้สถาปนิกได้เล่าเรื่องถึงกระบวนการคิดฟังก์ชั่นของอาคารไปในตัวด้วย
ภิรักษ์:
ใช่ บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองคิดแทนสถาปนิกแล้วไปเล่าให้คนอื่นเขาฟังเหมือนกัน แต่ 90% พอเราย้อนกลับไปถามว่า เฮ้ย คิดอย่างงี้หรือเปล่า? เราคิดว่านายคิดอย่างงี้ เขาก็บอกว่า ใช่ อันนี้ใช่ ยกตัวอย่าง แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ เราไปถ่ายร้านให้เพื่อน มันกำลังทำเฟอร์นิเจอร์ ดูจากสเกล ดูจากคาแรคเตอร์ เราก็พอมองออกว่ากลุ่มเป้าหมาย ของเฟอร์นิเจอร์ตัวนี้คือทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่คอนโดมีพื้นที่ใช้สอย รู้ว่ามันจะถูกใช้งานแบบไหน หรือถูกออกแบบมาเพื่อใคร พอเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เวลาถ่ายจริงๆก็ง่ายแล้ว มีแนวทางการทำงานชัดเจนขึ้น
ภาพถ่ายห้องพักในโรงแรม Les Cols ที่เมือง Olot ประเทศสเปน ออกแบบโดยทีมสถาปนิก RCR เป็นโรงแรมที่สร้างด้วยการนำแผ่นกระจกสีเขียวหลายพันแผ่นมาเรียงกั้นเป็นพื้นที่ห้องพัก บนพื้นที่ตั้งที่เคยเป็นภูเขาไฟ เรารู้สึกประทับใจกับการออกแบบและสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ของงานนี้
ภาพมุมสูงของงานออกแบบบ้านโดย DUCTSTORE ใช้เวลาในการขอขึ้นดาดฟ้าอาคารข้างๆอยู่พักใหญ่ พอขึ้นไปดูก็คาดเดาว่าช่วงเวลาที่แสงกำลังพอดี ไม่มืดเกินไป บ้านรอบๆคงยังไม่เปิดไฟ ตัวงานที่เราถ่ายก็เลยเด่น ส่วนแนวเส้นไฟของรถที่ติดในซอยนั่นเป็นของแถม
เราไปสนามบินสุวรรณภูมิบ่อยมาก แต่ไม่เคยมีวันไหนที่จะได้เห็นแสงในช่วงเวลานี้ ก็เลยเอามือถือไปวางไว้กับพื้น กลายเป็นภาพสะท้อนที่ดูแปลกตาสำหรับเรา
โครงการ Tea Café ของไร่ชาฉุยฟงที่จังหวัดเชียงราย เป็นงานที่เราถ่ายให้ IDIN Architects สถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นภาพชุดใหญ่ที่เราต้องถ่ายทอดให้เห็นความสัม
ตอนที่ไปถ่ายคอนโดงานหนึ่ง เราต้องขึ้นไปถ่ายสวนบนดาดฟ้าด้วย เดินหาที่ตั้งกล้อง แล้วหันไปเจอ Façade อาคารของคอนโดเก่าที่อยู่ข้างๆกัน สักวันหนึ่งถ้าคอนโดยังไม่หยุดสร้าง กรุงเทพคงจะแออัดคล้ายๆฮ่องกง
WURKON:
สนใจตรงที่คุณภิรักษ์บอกว่า ก่อนที่จะเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม ได้ไปเห็นภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของเมืองนอกแล้วภาษาภาพของตึกในหนังสือพวกนั้นมันดูเนี๊ยบ ดูคลีน มันมีวินัยในการจัดองค์ประกอบภาพมากกว่าภาพถ่ายของบ้านเรา คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างกัน
ภิรักษ์:
จริงๆ แล้วอาคารที่เป็น Modern Architecture ในช่วงสัก 50 - 60 ปีที่ผ่านมาก็แล้วกัน ประเทศไทยได้อิทธิพลจากตะวันตก ตั้งแต่ยุคโมเดิร์น จนถึงยุคที่มันเส้นสายคลีนๆ สมัยนี้ อิทธิพลที่ได้มาเนี่ย นอกจากเรื่องแนวคิด มันก็มีเรื่องเทคโนโลยีอาคาร เราไปเมืองนอก เราก็เห็นว่าตึกเขาคลีนมากนะ สเปซสวย พื้นที่ใช้สอยก็ทำมาให้ผู้คนของเขาใช้ได้อย่างเต็มที่ คือตรงนั้นเขากลั่นออกมาแล้ว มันมีมานานแล้ว เวลาเราอยู่ที่นี่เรามองไปรอบๆ สิ่งที่เราดึงออกมาบางครั้งมันได้แค่ภาพที่คล้ายๆ แต่มันไม่ใช่แก่น ยกตัวอย่างเช่น การเรียบเรียงพื้นที่ใช้สอย การออกแบบให้ตัวอาคารสัมพันธ์กับ Orientation หรือสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ human scale อย่างเราไปปักกิ่งเนี่ย พวกตึกมันไม่ human scale เลยนะ มันจะใหญ่มากๆ จนเรานึกถึงพวกตึกในยุครัสเซียเรืองอำนาจเลย ผมว่ามันมีอะไรตกหล่นตามรายทางจากตะวันตกก่อนที่จะมาถึงตะวันออก เราเก็บเขามาไม่หมดน่ะ ยกตัวอย่างแค่ภาพลักษณ์ภายนอก งานเชิงช่างเนี่ย ของตะวันตกเขาคุมคุณภาพให้ได้ 100% มาบ้านเราอาจจะเหลือสัก 60 - 70% หรือการมีพื้นที่สีเขียวในตึก เราเห็นเขาทำเราก็เอามั่ง เอากระถางต้นไม้ไปตั้งตรงระเบียง สามวันก็ตาย แดดมันร้อนฉิบหายน่ะ แต่ของเขามีระบบของสวนทั้งสวนอยู่ที่ระเบียง มีการเชื่อมโยงกับผนังกระจกเพื่อที่จะทำให้ตัวอาคารมันมีความเป็น Green Building เขามีเหตุมีผลน่ะ แต่ของเราบางทีไปเอาแค่ภาพลักษณ์มาเพื่อให้มันได้ลุค แต่ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ที่เราตระเวนดูอาคารในบ้านเรา เราว่ามันน่าจะดีขึ้นในอนาคตอันไม่ไกล เนื่องจากมันมีพวกสถาปนิกรุ่นใหม่ที่เคยไปฝึกงานหรือว่าทำงานอยู่บริษัทต่างชาติ ได้คลุกคลีอยู่ตรงนั้น บางคนคลุกคลีอยู่เป็นสิบปีน่ะ แล้วเขาก็เอาองค์ความรู้ตรงโน้นกลับมาบ้านเรา แล้วก็เอามาคลี่คลายให้มันเหมาะกับบ้านเราได้ ในขณะที่อีกฝ่ายนึงก็ยังอินกับงาน Vernacular หรืองานพื้นถิ่นที่มีตั้งแต่ยุคปู่ย่าตาทวดเขาคิดเอาไว้ แล้วก็เอามาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยของเรา อย่างพวกรีสอร์ต หรือบ้านที่มีหลังคาจั่ว แต่หลังคาจั่วที่ว่าก็อาจจะมีรูปทรงที่หวือหวาหรือคลีนมากขึ้น ซึ่งก็แก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีที่มันทันสมัยขึ้น หลังจากนี้อีกห้าปีคิดว่างานสถาปัตยกรรมบ้านเราน่าสนใจ ในแง่ที่มันเริ่มที่จะมีคุณภาพทัดเทียมงานต่างชาติที่เราเคยอภิเชษฐ์มันเมื่อห้าปีสิบปีที่แล้ว
WURKON:
อย่างในปัจจุบันนี้บ้านเราเริ่มมีผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นน่าจับตามากขึ้นไหม
ภิรักษ์:
มีๆๆๆ เริ่มมีแล้ว ไม่ต้องเอ่ยชื่อมั้ง เดี๋ยวจะหาว่าโฆษณา (หัวเราะ) ล่าสุดอย่างเมื่อวานไปที่คลองเตย ถ่ายอาคารสำนักงานใหม่ของ FYI (FYI CENTER) ส่วนตัวเราว่างานก่อสร้างมันค่อนข้างมีคุณภาพดีมาก เราลองเสิร์ชเข้าไปดูว่ากระบวนการทำงานของเจ้าของโครงการเขาคิดยังไง คือเขาทำงานไม่เหมือนคนรุ่นก่อนๆ ที่เอาผู้รับเหมามาแล้วก็ให้ผู้รับเหมาออกแบบแทนสถาปนิก แต่เขาเอาทุกคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่สถาปนิก, ผู้รับเหมา, Lighting Designer, Interior Designer แล้วก็มีพวก Facility Management, Construction Management, Project Management ทุกคนต้องเข้ามาประชุมพร้อมๆ กัน วางแผนให้ชัดเจนว่าโปรเจ็กต์นี้มันจะทำยังไง เสร็จเร็วมาก เร็วจนน่าตกใจน่ะ แล้วก็ออกมาดีด้วย หรืออย่างพวกบ้านสเกลใหญ่ๆ ของคนมีสตางค์ทั่วๆ ไป น่ะ เขามีสตางค์จ้างสถาปนิก จ้างผู้รับเหมาระดับที่สร้างพวกรถไฟฟ้า ไปทำบ้านน่ะ นั่นไม่ต้องห่วงหรอก แต่พวกบ้านขนาดกลางขนาดเล็กของคนทั่วๆ ไป เราก็จะได้เจอสถาปนิกรุ่นใหม่ที่เขาเริ่มเอาระบบการวางแผน ระบบการก่อสร้างที่มีคุณภาพ ที่มันเป็นขั้นเป็นตอนเข้ามาใช้ กลุ่มสถาปนิกวัยรุ่น เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันห้าคนสิบคนรวมตัวกันตั้งออฟฟิศ หลายคนมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทำงานอย่างที่เขาเคยทำ คิดอย่างที่เคยคิด แล้วก็สรรหาซัพพลายเออร์ ก็คือ ช่าง ผู้รับเหมา เจ้าของเทคโนโลยี หรือเจ้าของวัสดุ เอามาทำงานร่วมกัน แบบนี้น่าสนใจ มันไม่ใช่ทุกอย่างโยนไปที่ผู้รับเหมาเจ้าเดียวทำหมดเลย มีระบบระเบียบ มีวิธีคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เพราะฉะนั้นงานมันก็ออกมาดีแน่นอน
WURKON:
เวลาทำงานนี่เลือกไหมครับ จะรับหรือไม่รับงานแบบไหน
ภิรักษ์:
เลือกรับงานคนที่พูดจาดีๆ (หัวเราะ) พูดเข้าหูก็รับ เออ ไงดีล่ะ... อ๋อ ส่วนใหญ่ก็รับจากคนที่เคยเห็นงานเราแล้ว แล้วคุยกันแล้วเขาเข้าใจว่าทำงานยังไง ส่วนใหญ่ตอนนี้ 50% เป็นลูกค้าที่ถ่ายให้เขามาเกือบสิบปีแล้ว ไม่รู้เพราะเขาขี้เกียจไปหาคนใหม่หรือยังไงก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) ลูกค้าที่เหลืออีก 25% ก็เป็นลูกค้าใหม่ที่ติดต่อเข้ามา ก็ทำงานกับเขามาห้าปีแล้ว ที่เหลืออีก 25% ก็ใช้กันครั้งสองครั้งแล้วก็ไป ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ เราว่าเราเลือกคนที่คุยกันรู้เรื่องมากกว่า ไม่ใช่ว่าเขามาอวยเราว่าเราถ่ายสวย มันไม่มีประโยชน์น่ะ คือต้องคุย ต้องถามว่าคุณจะให้เราถ่ายไปทำอะไร เรากับบี (อรัญรัตน์) จะได้ช่วยคนที่มาจ้างเราคิดว่าจะถ่ายแบบไหนเพื่อเอาไปทำอะไร มันก็มีตั้งแต่ ไม่มีอะไร อยากถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกก่อนที่ตึกมันจะเยินไป ถ่ายเพื่อเอาไปทำพอร์ตโฟลิโอ เอาไปทำโปรไฟล์ออฟฟิศ เอาไปส่งเว็บ Archdaily เว็บ Designboom เอาไปส่งนิตยสาร บางคนก็เอาไปขึ้นบิลบอร์ด ลงโฆษณานิตยสาร ลงโบร์ชัวร์ ทำเว็บไซต์ เราต้องถามก่อนน่ะ ว่าเอารูปไปทำอะไร ถ้าให้ตอบคำถามของคุณก็คือ ต้องคุยกันก่อนน่ะ คุยกันรู้เรื่องก็เอา ถ้าออกแนวคุยแล้วเรารู้สึกอึดอัด มองเราเป็นกุลี พูดจาไม่ดี บางทีเราก็วางหูไปเลย (หัวเราะ) สนุกดี ทำมาสิบกว่าปีก็เจอเยอะ บางทีก็เห็นพวกรุ่นน้องมาบ่นว่าเจอเบี้ยวเคสสองเคสมันก็ท้อน่ะ อาร์ติสต์ไง
WURKON:
แล้วเจอบ้างไหม?
ภิรักษ์:
เบี้ยวเหรอ? ถ่ายมา 12 ปี เจอไปงานเดียว
WURKON:
โห แปลว่าทวงเก่งใช่ไหม?
ภิรักษ์:
(หัวเราะ) เราก็ใช้เหตุใช้ผลของเราน่ะนะ เราก็มีเหตุมีผลของเรา หลายๆ คนที่เขาเข้ามาอาจจะด้วยความเกรงใจ ว่าเขาก็รู้ว่าทำงานด้านนี้มานานแล้วน่ะ
WURKON:
แต่เอาจริงๆ เห็นงานคุณภิรักษ์ในเว็บไซต์เมืองนอกมากกว่าในเมืองไทยอีกนะ
ภิรักษ์:
อ๋อ ใช่ เพราะเว็บไซต์ตัวเองไม่มีเวลาทำเลย ตั้งแต่ dezeen, designboom ถ้าเยอะๆ หน่อยก็จะมี divisare ของอิตาลีกับ archdaily
WURKON:
เว็บพวกนี้ไปลงได้ยังไงครับ
ภิรักษ์:
พวกนี้เป็นสถาปนิกเขาส่งงานตัวเองไปเพื่อที่จะเผยแพร่ เว็บพวกนี้เหมือนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางสถาปัตยกรรมที่ใหญ่มาก ถ้าเราถูกเผยแพร่ตรงนั้นมันก็จะกระจายไปทั่วโลกน่ะ ถึงขนาดรุ่นพี่บางคน อยู่ดีๆ มีคนเชิญไปรับรางวัลด้วยการคัดเลือกผลงานจากอินเตอร์เน็ตเฉยเลย
WURKON:
โดยไม่รู้ตัว?
ภิรักษ์:
ใช่ โดยไม่รู้ตัว กลายเป็นระดับโลกเฉยเลย แล้วก็มีรุ่นน้องคนนึงถูกเชิญไปดีเฟนต์งานที่อิตาลีแข่งกับสถาปนิกระดับเทพๆ โลกมันใบเล็กลงอ่ะเนอะ ถ้าเราย้อนไปสิบปีก่อนหน้านี้ มันมีแต่ว่าเราอยากเห็นงานฝรั่ง แต่ทุกวันนี้ฝรั่ง ตะวันตกหันมามองงานทางฝั่งเอเชีย ด้วยศักยภาพหลายๆ อย่าง ด้วยความที่วงการสถาปัตยกรรมบ้านเรายังไม่อิ่มตัวกับเรื่องพวกนี้ แรงขับของสถาปนิกมันก็เลยสูงไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่เป็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย มาแรงมาก เวียตนาม มาเลย์ เริ่มถูกมองเยอะขึ้น อย่างบ้านเราก็เริ่มมีรุ่นใหม่ๆ มาแรงหลายคน ล่าสุดสถาปนิกไทยได้รางวัลจากนิตยสาร The Architectural Review มาสองรางวัล รางวัลชนะเลิศกับรองชนะเลิศ เขาก็หันมามองเมืองไทยกันมากขึ้น อันนี้สังเกตได้จากบริษัทสถาปนิกในบ้านเรามีพวกนักศึกษาสถาปัตย์จากฝั่งยุโรปมาขอฝึกงานกันเยอะขึ้น สมัยก่อนไม่มีหรอก สมัยนี้มีอีเมล มีอินเตอร์เน็ต โลกมันใบเล็กลง อย่างบริษัท CASE ของพี่ป่อง ปฐมา (หรุ่นรักวิทย์) มีเด็กฝรั่งเศสมาฝึกงานเจ็ดคน ซึ่งมาจากการที่พี่เขาไปรับรางวัลที่ปารีส ฝรั่งเศส
WURKON:
อย่างบริษัท CASE เขาก็ค่อนข้างโดดเด่นในระดับโลกในด้านของงานสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนอยู่แล้วด้วย
ภิรักษ์:
ใช่ๆ อย่าง CASE ก็เป็นชนิดของงานสถาปัตยกรรมอีกประเภทนึง คือในรายละเอียด ถ้าเรามองในวงการสถาปัตยกรรมมันก็มีแยกย่อยของมันไป มีสถาปัตยกรรมภายนอก สถาปัตยกรรมภายใน มีภูมิสถาปัตยกรรม มี Lighting Design อันหลังผมมองเห็นวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคที่ Lighting Design เป็นส่วนเกินของทุกโครงการ จนบัดนี้ Lighting Design เป็นสิ่งที่ทุกโครงการต้องมี แล้วก๊วนสาว Lighting Designer บ้านเราที่จบมาจากทั้งฝั่งอเมริกาและฝั่งอังกฤษเมื่อสิบที่แล้ว ทุกวันนี้เบ่งบานเติบโตเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นนักออกแบบแสงชั้นยอดกันหลายคนเลย เป็นคนในเจนเนอเรชั่นพวกเรานี่แหละ พวกนี้คือไปเรียนปริญญาโทในสาขา Lighting Design โดยเฉพาะ คือเราเห็นการให้ค่า การให้ความสำคัญกับวิชาชีพที่เป็นผู้เชี่ยวชาญแบบเฉพาะเจาะจงแบบนี้ในบ้านเรามันเริ่มมีมากขึ้น
WURKON:
คุณสมบัติพิเศษที่ช่างภาพสถาปัตยกรรมต้องมีคืออะไร
ภิรักษ์:
โดนถามบ่อยเหมือนกัน ความถึกมั้ง เออ! ถ่ายตึกถ่ายสถาปัตยกรรมเนี่ย คุณภาพชีวิต คุณภาพสุขภาพนี่ห่วยมากเลยนะ ตื่นเช้ามาตั้งกล้องเช้า กว่าจะได้กินข้าวเช้าสิบโมง ตอนเย็นเริ่มถ่าย Lighting ทุ่มนึง สองทุ่มเสร็จ กินข้าวสามทุ่ม นอน ตื่นมาอ้วนละ (หัวเราะ) แย่มาก นอนไม่ตรงเวลา กินไม่ตรงเวลา เวลาไปตั้งกล้องก็มีอัตราเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงมาก มันคือการถ่ายของใหญ่กลางแจ้งน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรับมือกับฟ้าฝน บางทีกลับบ้านก็ไข้กินกันทั้งคู่ บางทีไปยืนกลางท้องนาทำไมก็ไม่รู้ กะอีแค่เพื่อรอเมฆก้อนนี้มันไป เราจะได้ถ่ายตอนที่แสงสาดเข้ามาเห็นเงาต้นไม้ ถ้าตอบจริงจังก็คือ ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ งานสถาปัตยกรรมมันคือของใหญ่นะ เราต้องเข้าใจของชิ้นนั้นว่าเราจะถ่ายอะไรของมัน ถามว่ามันคล้ายๆ กับการถ่ายทิวทัศน์ถ่ายอะไรไหม ก็ไม่นะ เคยถ่ายทิวทัศน์ เคยถ่ายป่าเขาลำเนาไพร ทะเลทรายอะไรพวกนี้ ไอ้พวกนั้นเราใช้อารมณ์กับมันมากๆ เราอินตัวเองไปกับมันเลย แล้วเราก็บันทึกภาพที่เรารู้สึกประทับใจ แต่งานสถาปัตยกรรมน่ะ มันเป็นสิ่งก่อสร้างของคนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่าตึกนี้มันมีความสัมพันธ์กับบริบทรอบๆ สภาพแวดล้อมรอบๆ ผู้คนรอบๆ ยังไง คือสถาปนิกมันคิดเยอะน่ะ เขาต้องหาเหตุผลมารองรับในสิ่งที่ตัวเองทำให้ได้ อย่างที่เรารู้ว่ามันเป็นการผสมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ เพราะฉะนั้นจะทำสวยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็จะมีใจคิดค้านว่า ต้องใช้งานได้ด้วยสิ
WURKON:
เพราะมันขึ้นกับชีวิตคนด้วย
ภิรักษ์:
ใช่ ถึงบอกว่าสถาปนิกต้องมีองค์ความรู้หลากหลายในการทำงานน่ะ
เราถ่ายอาคาร NOW 26 งานนี้ออกแบบโดยทีมสถาปนิก Architectkiddd เป็นอาคารเก่าในสยามสแควร์ที่เพิ่งปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสถานีโทรทัศน์ เราต้องออกไปเตรียมตั้งกล้องตั้งแต่ตีห้าเพื่อให้ได้ภาพตอนที่ไม่มีรถมาจอดด้านหน้าอาคารตอนหกโมงเช้า
ภาพถ่ายงานรีโนเวทห้องแถวให้เป็นบ้านใหม่ชื่อ SIRI HOUSE โดย IDIN Architects เป็นอีกงานที่ใช้ความแตกต่างของสภาพอาคารโดยรอบกับสภาพแสงในช่วงเวลาเฉพาะ เพื่อบันทึกภาพให้ตัวอาคารใหม่ดูมีชีวิตชีวา
ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปเป็นช่างภาพอาสาให้กับโครงการห้องเรียนพอดีพอดีที่จังหวัดเชียงราย เป็นการเก็บภาพโรงเรียนที่เสียหายจากแรงแผ่นดินไหว ซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างให้ใหม่โดยทีมสถาปนิกอาสาสมัคร 9 ทีม เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้ขึ้นไปเก็บภาพงานสถาปัตยกรรมใหม่ที่นั่น ภาพชุดนี้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Venice Biennale ปี 2016
เมื่อช่วงกลางปี เราจัดงานนิทรรศการ PRESENT [ปัจจุบัน-ของขวัญ-นำเสนอ] ในงานสถาปนิก 2016 ที่เมืองทองธานี เป็นการแสดงงานร่วมกับนักถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ศิลปิน สถาปนิก อีก 17 คน เพื่อร่วมกันเล่าเรื่องความเคลื่อนไหวของงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน (เครดิตภาพโดย เกตน์สิรี วงศ์วาร)
ภาพถ่ายโครงการศูนย์การเรียนรู้ฉะเชิงเทรา (KNOWLEDGE CENTER OF CHACHOENGSAO หรือ KCC) ออกแบบโดยทีมสถาปนิก RESEARCH STUDIO PANIN เรามีความประทับใจส่วนตัวกับโครงการนี้เพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเราที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มันไม่ใช่แค่เรื่องรูปทรงอาคารหรืออะไรที่ดูทันสมัย แต่มันเป็นโครงการที่มีคุณูปการกับเด็กและเยาวชนในจังหวัดในแง่ของการศึกษาหาความรู้ และผู้สูงอายุในแง่ของการศึกษาภาคต่อเนื่อง
WURKON:
คุณภิรักษ์เป็นสถาปนิกที่อยู่คาบเกี่ยวกับยุคสมัยของการถ่ายภาพแบบอนาล็อค (ฟิล์ม) กับดิจิตอล ระหว่างสองแบบนี้มันมีความแตกต่างกันยังไง
ภิรักษ์:
เรื่องเงิน! (หัวเราะลั่น) กล้องเราชุดนึงเป็นล้าน แล้วจู่ๆ ต้องมาเปลี่ยนเป็นดิจิตอล แล้วกล้องฟิล์มเราจะเอาไปทำอะไรวะ เอาไปหนุนขาตั้งกล้องเหรอ (หัวเราะ)
WURKON:
แล้วยังใช้อยู่ไหมครับ กล้องฟิล์มเนี่ย
ภิรักษ์:
ใช้ ในโปรเจ็กต์พิเศษ เพราะฟิล์มเรายังเหลืออยู่ คือฟิล์มเรามันเป็นฟิลม์ 4 x 5 จริงๆ หมดอายุแล้วนะ แต่เราแช่ไว้ในตู้เย็นอีก 200 แผ่น ที่เอาไว้ถ่ายโปรเจ็กต์ส่วนตัวในระยะเวลาอีก 2 ปี เพราะฉะนั้นภายใน 2 ปีต้องคิดโปรเจ็กต์ถ่าย 4 x 5 ให้ทันให้ได้
WURKON:
ที่ใช้ฟิล์มนี่เพราะต้องใช้ หรือใช้เพราะมันมีเสน่ห์กว่า
ภิรักษ์:
ที่เล่าให้ฟังคือต้องใช้ แต่จริงๆ ก็หาซื้อใหม่ได้แหละ เพราะมันยังมีผลิตอยู่ แต่ถ้ามันมีอะไรให้ถ่ายอย่างนึง แล้วมีเหตุผลที่จะต้องใช้ฟิล์มชุดนี้ มันก็ต้องเป็นเรื่องที่เราสนใจมากๆ และเราให้ค่ากับมัน เพราะคุณสมบัติของฟิล์มมันพิเศษกว่าดิจิตอล ทุกวันนี้ดิจิตอล 100 ล้านพิกเซล ถ้าจะเอาความละเอียดเม็ดต่อเม็ดมันก็ยังสู้ฟิล์ม 4 x 5 ฟิล์ม 8 x 10 ไม่ได้หรอก เพราะสมัยนั้นเยอรมันเขาพัฒนาระบบฟิล์มมาจนถึงจุดพีคสุดๆ แล้ว ล่าสุด วิเวียน เวสต์วูด กับ ซีนอน เท็กเซรา (Zenon Texeira) เขาเอากล้องโพลารอยด์ 20 x 24 นิ้ว มาถ่ายแฟชั่น โอ้โห คุณภาพออกมาแบบ... เห็นแล้วน้ำตาจะไหลน่ะ รูปละ 1,000 เหรียญน่ะ กดชัตเตอร์ตครั้งนึงเสีย1,000 เหรียญ ส่วนไอ้ที่อยู่ในตู้เย็นบ้านเรา รูปละ 500 บาท ของเราถือว่าเราโชคดีตรงที่ว่า ตอนเราอยู่ในโหมดฟิล์ม ทุกอย่างมันเป็นกลไกที่เราต้องบังคับด้วยทักษะเฉพาะ แล้วต้องมีสติด้วย เพราะการมองวิวไฟน์เดอร์มันต้องมีทักษะพิเศษในการมองภาพกลับหัวและปรับจูนอะไรได้ แล้วการถ่ายภาพสายเรามันจะมีอุปกรณ์พิเศษ พวกเลนส์ shift ซึ่งตอนนี้มันมีสำหรับกล้อง DSLR ยุคนี้แล้ว ยุคตอนนั้นที่เราใช้ฟิล์มมันเป็นกล้องกลไก Sinar F2 เขาเรียกกล้องวิว มีปรับแกน X Y Z ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ตัวตึกมันตั้งตรง ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเอากล้องธรรมดา หรือกล้องมือถือไปถ่ายตึกสูงๆ เราก็จะต้องงัดมุมกล้อง ยอดตึกมันก็จะเป็นปิรามิด มันก็จะไม่เป็นตึกจริง เพราะตึกจริงมันจะตั้งตรง เทคโนโลยีของกล้องตัวนี้มันถูกออกแบบมาเพื่อปรับให้ทัศนียภาพมันถูกต้อง หลักการในการอ่านภาพตรงนี้พอเราเอามาใช้กับกล้อง DSLR หรือกล้องดิจิตอลในปัจจุบัน มันก็เลยทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ต่อให้เราไม่มีเลนส์ Tilt–shift มีแค่เลนส์ Wide เลนส์มุมกว้างตัวนึง อาจจะสัก 10 มม. ก็ได้ เราถ่ายปุ๊บ แล้วเราเอามาครอป มาตั้งศูนย์ให้ตรง เราจับเส้นของตัวอาคารให้ได้ แล้วเอามาแก้ในโปรแกรมโฟโต้ช็อปหรืออะไรก็ได้ อันนั้นคือประโยชน์ของทักษะที่เราเคยมีมา แต่ด้วยความซื่อสัตย์กับตัวเอง กับคุณสมบัติความคมของเลนส์ Tilt–shift เราก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับกล้อง DSLR ได้ แต่คุณภาพถามว่ามันเท่ากับกล้องฟิล์มไหม? มันก็ไม่เท่าหรอก แต่ก็ต้องแลกกันน่ะ ระหว่างคุณภาพกับปริมาณและเวลา ถ้าดูจากรูปของเราจะเห็นว่าระเบียบหรือกฎในการจัดภาพมันจะมี เราต้องถ่ายยังไงก็ได้ให้ตัวตึกมันดูเหมือนกับว่ามันตั้งอยู่จริง ไม่ล้ม ไม่เบี้ยว กล้องมันเป๊ะมาก มันมีกริดระดับมิลลิเมตร จนเราจับได้ว่าตึกบางหลังมันเบี้ยว ช่างทำผนังไม่ตรงน่ะ ถ้าเกิดถ่ายออกมาแล้วมันล้ม มันเบี้ยว มันเฉียงเนี่ย เราจะอ้างอิงอะไรไม่ได้เลยในอนาคต
WURKON:
มันเป็นการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างนึง?
ภิรักษ์:
ใช่ ตอนทำสักสองสามปีแรก เคยไปถ่ายโรงงานของบริษัทญี่ปุ่น Takenaka เขาจ้างเราถ่ายรูปเดียว หมื่นนึงเลย กดชัตเตอร์ครั้งเดียวเลยนะ แล้วมุมที่ต้องการคือมุมที่ Drone สมัยนี้มันถ่ายได้ง่ายมาก ขึ้นที่สูง แล้วก็ถ่ายลงมาเพื่อที่จะเห็นโครงสร้างของหลังคา ซึ่งมันก็แปลก เพราะโรงงานเนี่ย ในหมู่สถาปนิกจะเฉยๆ มาก มันเป็นอุตสาหรรมมากๆ ไม่รู้จะถ่ายไปทำไม ซึ่งบริษัทนี้เขาจ้างเราด้วยค่าจ้างที่สูง และจ้างเราทำหนังสือเล่มด้วยนะ เหมือนหนังสือวิทยานิพนธ์น่ะ เป็นปกดำเดินดิ้นเงินดิ้นทอง เราถามว่าทำไมต้องลงทุนขนาดนี้ เขาบอกว่ามันเป็นรูปแบบการเก็บ Archive ของออฟฟิศเขา เขาจะไม่ให้มันสร้างเสร็จแล้วพังไปเฉยๆ คือพอตึกสร้างเสร็จ เราไปถ่ายรูป เสร็จแล้วมีคนเข้าไปใช้งาน ตึกนั้นมันก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ถ้าอีกสัก 20 ปีผ่านไป แล้วเขาต้องการดูสิ่งอ้างอิงว่าตึกนี้มันเคยเป็นยังไง เขาจะเอาภาพชุดนี้มาดูได้ อันนี้มันเป็นคุณูปการของวิธีคิดแบบบ้านเขา มันไม่ใช่มุขปาฐะแบบบ้านเรา มันมีการบันทึกเป็นพงศาวดารชัดเจน จริงๆ นี่ก็กะไว้ว่า ถ้า iPhone 7 ราคาถูกลง เราจะทำบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมด้วยมือถือ (หัวเราะ) ตั้งแต่มีแอพฯ Snapseed มี VSCO เนี่ย ชีวิตสนุกสนานขึ้นมาก (หัวเราะ) คือนอกจากรับจ้างถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมแล้ว เรากับแฟนจะตระเวนท่องเที่ยว ถ่ายภาพ อย่างรายละเอียดของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เราสนใจมันไม่ใช่งานแบบอุตสาหกรรมที่เราเห็นอยู่ทั่วไป มันแทบจะเป็นงานศิลปะแล้วน่ะ บางทีมันก็เลยจะมีโมเมนต์ที่เราครีเอทภาพให้มันเป็นแนวภาพศิลปะ หรือการใช้เทคนิคบางอย่าง เช่นเวลาถ่ายงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมามันมักจะดูเบา ถ้าเทียบกับบริบทโดยรอบ ที่มีความเก่าความอะไร เราก็เลยเปิดไฟในเวลาที่ชาวบ้านชาวช่องเขาปิดไฟกันหมด ตึกนี้ก็จะเด่นแน่นอน หรือการเล่นกับสปีดชัตเตอร์ที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่ อย่างเวลาเราไปเลคเชอร์ เราจะยกตัวอย่างรูปนึงว่า กว่าจะได้มุมนี้ต้องใช้เวลาสามเดือน เพราะลูกค้าต้องการเห็นมุมจากฐานถึงยอดอาคาร แต่ติดปัญหาตรงที่มันมีทางรถไฟฟ้ามาบัง ที่ใช้เวลานานก็คือเราต้องทำเรื่องขออนุญาตขึ้นตึกองค์กรลูกเสือไทย วันที่ไปถ่ายก็ต้องรอฝนให้หยุด มันก็เป็นปัญหาหน้างาน เวลาสถาปนิกออกแบบที่โต๊ะของเขา มันก็มีบางอย่างที่เขาไม่เห็น อย่างตึก Now 26 ที่สยาม สถาปนิกเขาก็เพิ่งมาเห็นเงาของโครงสร้างประติมากรรมที่เขาทำเป็นผิวนอกของตึก เขาก็บอกว่า ตอนเขาทำมาเขาไม่ได้คาดหวังว่าเห็นเอฟเฟกต์แบบนี้นะ เราก็บอกว่า อ๋อ ตอนเที่ยงไปดูสิ สวยเลย นี่คือสิ่งที่เราไปเจอ งานอีกชิ้นที่ชอบคือ อาคารโรงเรียนต้านแผ่นดินไหวที่เชียงราย คืออยู่ในวงการสถาปัตย์มาเป็นสิบปี เพิ่งจะเคยเห็นสถาปนิกร่วมใจกันทำงานเพื่อสังคมก็คราวนี้ ซึ่งโครงการนี้เขาเอาไปจัดแสดงที่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ด้วย ซึ่งภาพเราก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น
WURKON:
สุดท้ายครับ คุณภิรักษ์อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะเข้ามาทำงานในวิชาชีพการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมบ้างครับ
ภิรักษ์:
จริงๆ อยากกระตุ้นเร้าให้สถาปนิกถ่ายรูปเองได้ เพราะจริงๆ แล้วในงานสถาปัตยกรรมงานนึง คนที่จะเข้าใจได้ดีที่สุดคือสถาปนิก ถ้าเกิดสถาปนิกถ่ายรูปได้ดี รู้หลักการ เขาจะเป็นคนที่บันทึกภาพสถาปัตยกรรมได้ดีที่สุด อาจจะดีกว่าเราด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้มันเป็นลักษณะที่ว่า เรามีทักษะตรงนี้มาเซอร์วิสเขา ส่วนเขาก็ทำหน้าที่ออกแบบของเขาไปอย่างเดียว
WURKON:
อ้าว ถ้าเกิดเขาถ่ายเองได้ เขาก็ไม่มาจ้างคุณสิครับ
ภิรักษ์:
ไม่เป็นไร ไม่ถือ (หัวเราะ) เราก็ไปปลูกผัก ทำนา สอนหนังสือ อะไรก็ได้ ก็บอกทุกคนอย่างงี้นะ อย่างสตูดิโอเราไม่รับเด็กฝึกงาน เพราะไม่มีเวลาดูแล แต่ใครอยากจะมาตามดูรอยเส้นทางเราแล้วขอมาพูดคุยกันเนี่ย รับ ที่ผ่านมาช่วงห้าหกปีก็มีพวกรุ่นน้องๆ หลายๆ คน เซ็ตอัพสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา ด้วยความที่อย่างแรก ชอบการถ่ายภาพ อย่างที่สอง ชอบงานสถาปัตยกรรม สองอย่างที่มาบวกกันมันก็จบแล้วน่ะ ถ้าจะให้ฝากข้อคิดอะไรก็ ชอบยังไงก็ทำอย่างงั้นไปเถอะ ไม่ต้องคิดอะไรมาก (หัวเราะ)
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Spaceshift Studio
ขอบคุณ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เอื้อเฟื้อสถานที่
ภาพถ่ายบุคคลโดย วรกร ฤทัยวาณิชกุล
#WURKON #architecture #photography #spaceshiftstudio #art #design#magazines #architectfirms #advertising #pirakanurakyawachon#aranyaratprathomrat #multidisciplinary #creativity #imaginary #photoessay #divisare #archdaily #dezeen #designboom #modernarchitecture #venicebiennale #ภาพถ่ายสถาปัตยกรรม #แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรม
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon / Twitter : @wurkon / Follow Instagram : @wurkon