คุยสบายๆ ในพื้นที่ส่วนตัว กับ โยชิโตโมะ นาระ
15 มีนาคม 2562
หลายๆ คนคงเคยผ่านตากับภาพวาดเด็กผู้หญิงตาโต แววตาเฉยชา ท่าทางก้าวร้าว แต่น่ารัก ยืนๆ เดินๆ นั่งๆ ในหลายอิริยาบถ หลากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือการ์ตูน, ทีวี, แม็กกาซีน, มิวสิกวิดีโอ หรือแม้กระทั่งบนเสื้อยืด กระเป๋า จานชาม บางคนอาจจะคลับคล้ายคลับคลาแต่ไม่รู้จักว่าเป็นผลงานของใคร แต่ถ้าใครเป็นคอศิลปะหรือคองานกราฟิกดีไซน์ก็คงจะรู้ดีว่า คนที่สร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ร้ายๆ กวนๆ แต่น่ารักเหล่านี้ก็คือ ศิลปินร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นและของโลกผู้มีชื่อว่า โยชิโตโมะ นาระ (Yoshitomo Nara)
ถ้าใครยังพอจำกันได้ นาระ เคยเดินทางมาแสดงนิทรรศการศิลปะในประเทศไทยในนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ศิลปะระยะสั้น ซอยสบาย ที่หอศิลป์คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2549 และนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย รอยยิ้มสยาม : ศิลปะ + ศรัทธา + การเมือง + ความรัก ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2551 และนำผลงานมาแสดงในนิทรรศการ ต้มยำปลาดิบ ในปีเดียวกันด้วย
ล่าสุด นาระ เป็นหนึ่งในศิลปินระดับโลกที่ถูกเชิญให้มาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Beyond Bliss หรือ สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต
ด้วยเหตุนี้ เราเลยขอหยิบยกเอาบทสัมภาษณ์ที่เราเคยมีโอกาสได้คุยกับเขาจากนิทรรศการที่ผ่านๆ มา มาลงให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนจะได้ชมผลงานชุดใหม่ที่เขาจะมาทำและมาแสดงในกรุงเทพฯ ในปลายปีนี้ เชิญติดตามกันได้ ณ บัดนาว
Sleepless Night (Standing) (1997) ภาพจาก https://publicdelivery.org/yoshitomo-nara/
ภาพจาก http://www.hintmag.com/post/yoshitomo-naras-bad-girls--april-09-2015-1952
ผลงานของนาระ ในนิทรรศการ ต้มยำปลาดิบ http://www.jimthompsonartcenter.org/archives/44-tomyam-pladib
Kitty ภาพจาก http://curiator.com/art/yoshitomo-nara/kitty
ภาณุ:
ตัวละครเด็กผู้หญิงที่เห็นในงานของนาระได้แบบมาจากไหน นาระเริ่มทำงานในรูปแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่
นาระ:
ตั้งแต่ผมเป็นเด็กประถม ประมาณ 5 ขวบ ตอนนั้นผมอยู่บ้านกับแมว เพราะว่าพ่อแม่ไปทำงานผมก็เลยต้องอยู่บ้านกับแมวตลอด ตอนนั้นผมก็จะนั่งวาดรูปอยู่คนเดียวแล้วก็ชอบจินตนาการเป็นเหมือนนิยายส่วนตัว คือผมกับแมวของผมเดินทางท่องเที่ยวไปรอบโลก เดินทางตั้งแต่ขั้วโลกเหนือ ผ่านอเมริกา แล้วไปขั้วโลกใต้ ซึ่งมันเป็นเหมือนเรื่องเล่าส่วนตัวของผม ผมคิดว่าต้นแบบใบหน้าของเด็กคนนี้คงมาจากเจ้าแมวเหมียวของผมนั่นแหละ แล้วผมก็พัฒนามาเป็นหน้าของเด็กคนนี้
ภาณุ:
แล้วเด็กผู้หญิงที่อยู่ในงานของนาระคนนี้มีชื่อไหม
นาระ:
ผมเป็นคนที่จะไม่ชอบกำหนดกะเกณฑ์ ไม่ชอบที่จะตั้งชื่ออะไร อย่างเด็กคนนี้ผมก็ไม่อยากตั้งชื่อให้เขาเลย ไม่เคยคิดที่จะตั้งชื่อเลย เพราะว่าพอตั้งชื่อปุ๊บ มันก็จะไปฟิกส์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ โดยลักษณะนิสัยส่วนตัวผมไม่ชอบ อย่างเช่นไม่ชอบที่จะแบ่งแยกว่าอันนี้เป็นไฟน์อาร์ต อันนี้เป็นการ์ตูน อันนี้เป็นภาพที่เขียนขึ้นมาอย่างตั้งใจ อันนี้ไม่ตั้งใจ ซึ่งผมไม่ชอบเลยที่จะไปจำกัดความของสิ่งต่างๆ ให้เป็นคำคำหนึ่ง เป็นชื่อ หรือเป็นอะไรก็ตาม เพราะพอไปให้คำจำกัดความปุ๊บ มันก็เหมือนกับว่าไปฟิคสิ่งนั้น ทำให้เวลาคิดมันจะคิดลำบากขึ้น ผมไม่แบ่งแยกกลุ่มผมจะคิดสบายกว่า โอเค คนเรามีชื่อก็จริง แต่ว่าสำหรับผมผมไม่เคยคิดเลยที่จะตั้งชื่อเด็กผู้หญิงคนนี้ว่าชื่ออะไร อย่าง (ประติมากรรม) เจ้าหมาตัวใหญ่ ผมก็ไม่ได้ตั้งชื่อให้มัน ก็มีแค่ชื่อ “Phuket Dog” เท่านั้นเอง ก็แล้วแต่ใครจะตั้งชื่ออะไรก็ตั้งไปเลยก็แล้วกัน แล้วแต่ใครจะตั้งแบบไหน
ภาณุ:
ดูเหมือนส่วนใหญ่งานของนาระมีแต่เด็กผู้หญิง ทำไมมีแต่เด็กผู้หญิง นาระไม่ชอบวาดเด็กผู้ชายเหรอ
นาระ:
ก่อนอื่นผมอยากจะตอบว่า ไม่เคยคิดว่าตัวเองเขียนรูปเด็กผู้หญิงเลย ผมไม่คิดว่าอันนี้เป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย แต่จริงๆ แล้วภาพที่เป็นรูปเด็กผู้ชายก็มีนะ ส่วนใหญ่ก็เขียนทุกอย่าง มันจะเป็นภาพรวมไม่แบ่งแยกมัน
ภาณุ:
ตัวละครในผลงานของนาระมักจะเป็นเด็กๆ เสมอ เวลานาระทำงานนาระคิดว่าตัวเองเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่
นาระ:
แล้วแต่ บางวันก็เหมือนเป็นเด็ก บางวันก็เป็นผู้ใหญ่ที่จำได้ว่าตอนเด็กๆ เป็นยังไง และพอจะมองโลกด้วยสายตา ความรู้สึกนึกคิดแบบตอนนั้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับผม การอยู่กับปัจจุบันก็สำคัญที่สุด เพราะผมไม่อยากยึดติดกับอดีต และก็ไม่กังวลหรือคาดหวังกับอนาคต
ภาณุ:
ช่วงหลังๆ มักจะเห็นนาระใช้บ้านไม้มาเป็นส่วนประกอบหลักในผลงาน มีความประทับใจอะไรกับมันหรือ
นาระ:
อย่างแรกเลยก็คือ เวลาที่ผมไปแสดงงานในแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่พื้นที่มันมักจะเป็นสี่เหลี่ยมสีขาวๆ ซึ่งมันน่าเบื่อสำหรับผม จะให้ผมไปสร้างพื้นที่หรือแกลเลอรี่ใหม่ขึ้นมาเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ผมเลยอยากสร้างอาณาเขตส่วนตัวเล็กๆ ของผมขึ้นมาในพื้นที่เหล่านั้น อย่างการนอนหลับ ถ้าคุณนอนหลับที่บ้านกับหลับที่โรงพยาบาล มันก็เป็นการนอนหลับเหมือนกัน แต่การนอนหลับที่บ้านคงน่าจะสบายกว่าใช่ไหม ภาพเวาดของผมก็เหมือนกัน ถ้ามันถูกแขวนอยู่ในแกลเลอรี่สี่เหลี่ยมๆ มันคงรู้สึกไม่ค่อยสบาย ผมก็เลยสร้างบ้านเล็กๆ ขึ้นมาให้ภาพวาดของผม (ยิ้ม) เพราะปกติผมเองก็วาดรูปที่บ้าน ก็เลยอยากให้มันถูกแขวนอยู่ในสถานที่แบบเดียวกันกับบ้านของผม
บ้านไม้ของนาระ ในนิทรรศการ รอยยิ้มสยาม : ศิลปะ + ศรัทธา + การเมือง + ความรัก
ภาณุ:
บ้านไม้พวกนี้ดูแล้วมีความรู้สึกคล้ายกับบ้านของคนไทยในชนบท หรือในชุมชนต่างๆ นาระเคยเห็นบ้านแบบนี้ที่เมืองไทยหรือเปล่า หรือมีแรงบันดาลใจมาจากไหน
นาระ:
บ้านไม้แบบนี้เป็นบ้านแบบที่ผมอยู่มาตั้งแต่เด็กๆ และแถบทางเหนือของญี่ปุ่นมันก็มีบ้านแบบนี้เยอะมาก ที่ญี่ปุ่น คนบ้านนอกเขาอยู่กันมันก็มีลักษณะอย่างนี้แหละ เหตุผลอีกอันนึงที่ผมทำบ้านมันออกมาลักษณะนี้ เพราะระยะเวลาในการสร้างมันค่อนข้างจะสั้น ระยะเวลาแสดงมันก็ไม่ยาว ถ้าเผื่อว่ามีเวลามากกว่านี้ อย่างสักสามเดือน ก็อาจจะทำออกมาให้เนี้ยบกว่านี้ อย่างผนังหลังคาก็อาจจะดูดีกว่านี้ เรียบร้อยกว่านี้ แต่ในระยะเวลาสั้นๆ แบบนี้ ก็เอาได้แค่เท่าที่เห็นนี้แหละ อาจจะดูโทรมเล็กน้อย แต่มันก็ได้แค่นี้แหละ แล้วก็ที่สร้างอย่างนี้ทุกๆ ที่ ก็จะเอาตัววัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ในที่นั้นๆ มาใช้ ถ้าไปที่เยอรมันก็ใช้ไม้ที่นั่นมา ถ้าไปที่โซลก็เอาวัสดุอะไรที่มีอยู่ในโซลมาใช้ ถ้ามาที่เมืองไทยผมก็จะมาหาไม้ที่เมืองไทยแล้วก็เอามาสร้าง ทุกๆ ที่ ส่วนใหญ่แล้วด้านในจะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ที่เมืองไทยจะมีพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ข้างใน
ภาณุ:
แล้วบ้านของนาระเป็นอย่างนั้นจริงๆ เหรอ
นาระ:
ถ้าข้างในบ้านนะ เหมือนมาก (หัวเราะ) เวลาผมเขียนรูปที่บ้าน มีโต๊ะ มีตู้ มีหนังสือ มีขยะอยู่ในบ้าน แต่ถ้าเวลาที่ผมเอามันไปแสดง ถ้าผมเอาแต่รูปอย่างเดียวไปแขวนบนผนังสีขาวๆ ในแกลเลอรี่ ผมไม่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อได้หมด เพราะใจความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ในรูป แต่มันคือบรรยากาศ และสิ่งต่างๆ รอบตัวเวลาที่ผมวาดรูป ผมอยากแสดงออกถึงสิ่งเหล่านั้นออกมาในงานของผม ไม่ใช่แค่บ้าน แต่รวมถึงสิ่งของต่างๆ แม้กระทั่งขยะก็ตาม
ภาณุ:
แสดงว่านาระเอาของรอบๆ ตัวเหล่านั้นมาด้วย?
นาระ:
บางส่วนก็เอามาด้วยจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อันที่จริง ผมเองก็ไม่ได้อยากจะทำให้เหมือนกันเป๊ะๆ หรอก เพราะถ้าหากคนอื่นได้ดูเปรียบเทียบกันก็อาจจะคิดว่าไม่เหมือน แต่ผมแค่อยากจำลองบรรยากาศของมันออกมาเท่านั้น แค่ทำให้ภาพวาดของผมรู้สึกเหมือนจะคล้ายๆ กับอยู่ที่บ้าน ผมก็สบายใจแล้ว (หัวเราะ)
ภาณุ:
แต่ว่ามันก็สวยดีนะครับ แบบไม่เนี้ยบก็ดูเป็นธรรมชาติ สวยไปอีกแบบ
นาระ:
(ยิ้มแล้วชูนิ้วโป้งให้) (หัวเราะ)
ภาณุ:
อย่างที่เมื่อกี้พูดเรื่องการนำวัสดุในท้องถิ่นของแต่ละที่มาใช้ อย่างที่เห็นในงานแสดงที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ เป็นไม้เก่า เพราะประหยัดหรือเปล่า
นาระ:
ที่เลือกวัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุที่เคยใช้มาแล้ว ก็เป็นความตั้งใจ วัสดุที่ใช้แล้วเนี่ย มันก็เหมือนกับว่า เราไม่ต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ แล้วก็ถ้าเกิดเราใช้วัสดุใหม่ๆ เนี่ย เราทำขึ้นมาแล้วมันก็จะเหมือนกับบ้านที่ใหม่เอี่ยมขึ้นมา เหมือนกับตึกใหม่ๆ ตึกใหญ่ๆ ที่เราเคยเข้าไป พอเดินเข้าไปเราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงถึงอนาคต มันเป็นอะไรที่ใหม่ แต่ความใหม่เนี่ยมันจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เก่าแล้ว วัสดุที่ใช้แล้วพอสร้างขึ้นมาเป็นบ้านเนี่ย มันมีความรู้สึกเหมือนกับบ้านที่เคยมีคนอยู่มาแล้ว มันเหมือนกับเราเดินเข้าไปในวัด หรือไปที่ไหนที่เก่าๆ ที่ทำให้เราหวนระลึกถึงอดีต ทำให้ตัวเราเองมีความรู้สึกว่ามันสงบ แล้วมันก็เข้ากับตัวเราเองที่ไม่ใช่คนที่คิดถึงอนาคต ไม่ใช่คนที่คิดการอะไรล่วงหน้า แต่ชอบที่จะหวนนึกถึงเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมามากกว่า ก็เลยหยิบตรงนั้นมาทำ พูดง่ายๆ ถ้าเปรียบเทียบกับเวลาเราเลือกใส่เสื้อผ้า ถ้าเสื้อผ้าใหม่ ที่แบบเรียบ รีดจนกลีบโง้งอะไรเนี่ย เวลาใส่เราจะมีความรู้สึกนึง แต่เสื้อผ้าที่เก่า แบบยืดๆ ย้อยๆ มันจะได้ความรู้สึกอีกแบบนึง มันก็คงเหมือนกัน
ภาณุ:
ในกระบวนการที่นาระทำ มันจะไปเหมือนกับกระแสการรีไซเคิ่ล การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ นาระคิดเรื่องการลดขยะ การรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกบ้างหรือเปล่า
นาระ:
จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังขนาดนั้น แต่นิสัยที่ตัวเองทำมาตลอดก็คือ เป็นคนที่ทิ้งของไม่ค่อยลง มีอะไรก็เก็บๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการะดาษที่ใช้แล้ว เสื้อผ้าหรืออะไรก็ตาม พอใช้แล้วก็จะเอากลับมาใช้อีก ไม่ยอมทิ้ง ซึ่งมันก็เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับรีไซเคิ่ลหรือรียูสซึ่งก็คือการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เราทำแบบนี้มาก่อนที่คำว่ารีไซเคิ่ลหรือรียูสมันจะมาฮิตกันอีก เป็นอะไรที่ทำมาตลอดอย่างในงานนี้ก็จะมีพวกซองจดหมายพวกอะไรที่เขียนแล้ว ก็เอามาแปะไว้ ซึ่งก็เป็นความคิดที่มีอยู่ตั้งแต่เดิมแล้ว
ภาณุ:
เวลาทำงาน นาระต้องการให้คนดูรู้สึกแบบเดียวกับนาระรึเปล่า
นาระ:
ไม่เคยคิดเลย เพราะถ้าผมคิดผมจะเครียดมาก จะพาลวาดรูปไม่ได้เอา (หัวเราะ) เวลาทำงานผมไม่เคยกดดันหรือเครียดเพราะคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอะไรเลย ผมก็แค่ทำมันออกมาเท่านั้น แต่ผมจะเครียดมากกับความรู้สึกที่ว่า คนอื่นจะคิดยังไงเมื่อได้ดูงานของผม ผมก็เลยเลิกคิดมันเสียเลย เหมือนเวลาที่ผมซื้อซีดี ผมไม่ได้ซื้อซีดีเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าผมฟังเพลงแบบไหน แต่ผมซื้อเพราะผมอยากฟัง อย่างผมใส่เสื้อยืดตัวนี้ ผมก็แค่คิดว่าอยากใส่เสื้อยืดตัวนี้ ก็ง่าย ไม่ต้องเครียดใช่ไหม แต่ถ้าวันนี้ผมมีนัดกับผู้หญิง ก็คงต้องเลือกว่าจะใส่อะไรดี ให้เธอชอบ ต้องเครียดเลยใช่ไหม แล้วถ้าผมเลิกกับคนนี้ แล้วไปชอบคนใหม่ล่ะ ผมไม่ต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อตัวอื่นให้เธอคนนั้นชอบอีกเหรอ ผมเลยใส่ตัวที่ผมชอบดีกว่า เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด
ภาณุ:
ครั้งที่นาระมาแสดงงานที่เมืองไทยในนิทรรศการซอยสบาย นาระเคยได้ร่วมงานกับเด็กๆ รู้สึกยังไง แตกต่างกับการทำงานของตัวเองไหม (นาระให้เด็กๆ ทำบ้านเล็กๆ มาแสดงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของเขา)
นาระ:
ก็สนุกดีนะ ชอบ (หัวเราะ) ผมไม่เคยทำงานกับเด็กๆ ที่ญี่ปุ่นเลยนะ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ปกติเวลาวาดรูป ผมทำงานคนเดียว ถ้ามีคนเยอะๆ อยู่ด้วย ผมวาดรูปไม่ได้ แต่การสร้างบ้านกับเด็กๆ แบบนั้น เป็นเหมือนกับการเล่นสนุก ผมก็เลยทำได้
ภาณุ:
ระหว่างการทำงานคนเดียวกับทำร่วมกับคนอื่นมันแตกต่างกันอย่างไร
นาระ:
ตอนทำงานคนเดียวมันจะมีความสนุกระหว่างการทำงาน บางทีมันสนุกนะ แต่ผมไม่รู้จะไปบอกกับใคร เพราะปกตินิสัยส่วนตัวผมจะเป็นคนระวังตัวอยู่แล้ว ผมจะเขียนลงไปในไดอารี่ ในไดอารีมันก็อ่านจะสนุกอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นเหมือนกับการคุยกับตัวเองแค่นั้นแหละ เราก็รู้อยู่แค่ตัวเราว่ามันสนุก ตอนสนุกมันก็ดีน่ะนะ ถึงสนุกอยู่คนเดียวมันก็โอเค แต่ตอนที่รู้สึกลำบากกับการทำงานนี่สิ แย่จังเลย ความรู้สึกเหล่านี้ถ้าทำงานร่วมกับคนอื่นมันได้แชร์ ดีจังเลยที่มันได้เอาความลำบากจากการทำงานไปแชร์กับคนอื่น ให้คนอื่นเขารู้สึกด้วยว่ามันลำบาก นี่เป็นข้อดีของการได้ทำงานร่วมกับคนอื่น เวลาทำงานมันจะมีความยากเย็นต่างๆ นานา ยิ่งลำบากมากเท่าไหร่แต่สุดท้ายงานสำเร็จลงด้วยดี ตอนนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกกับคนอื่น ผมไม่อยากบอกว่าขอโทษนะที่มาลำบากกับผม แต่ผมอยากจะบอกว่า เห็นมั้ยล่ะ สุดท้ายเราก็ทำได้ นี่แหละมันสนุกตรงนี้แหละ แม้มันจะลำบากยากเย็นมาเท่าไหร่ ช่วงเวลาที่สำเร็จนั่นแหละ มันสุดยอดจริงๆ
ภาณุ:
นิสัยแบบคนญี่ปุ่นที่เวลาทำงานก็ทำเต็มที่ สนุกก็สนุกเต็มที่ใช่ไหม
นาระ:
ใช่ แต่ในอีกมุมนึง เวลาที่ผมสนุกมากๆ ผมมักจะคิดเสมอว่าตอนนี้คนที่ไม่สนุกเป็นยังไง ทำอะไรอยู่ ผมเป็นคนที่มักจะมองโลกในด้านที่ตรงกันข้ามกัน ทั้งในด้านดี และด้านที่ไม่ดี ในด้านสวยงาม และน่าเกลียด ในด้านสุข และทุกข์ ฉะนั้น เวลาที่ผมสนุกหรือมีความสุขมากๆ ผมมักจะคิดบ่อยๆ ว่า ถ้าผมสนุกน้อยลง คนที่ทุกข์ เศร้า อาจจะมีความสุขหรือสนุกขึ้นมาบ้างก็ได้
ภาณุ:
แล้วงานของนาระพูดถึงด้านสุขหรือด้านทุกข์ของชีวิตล่ะ
นาระ:
ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นด้านไหน สุขมากไปก็ไม่ดี ทุกข์มากไปก็ไม่ดี ผมอยากอยู่ตรงกลางมากกว่า ทำด้านไหนก็ได้
ภาณุ:
Motto (คติประจำใจ) ของนาระคืออะไร
นาระ:
ผมมักจะคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมย้อนกลับไปเป็นตัวเองสมัยตอนเรียนไฮสคูล แล้วได้มาเจอกับตัวเองในตอนนี้ เขาจะคิดยังไงกับผม เขาคิดว่าผมเท่ไหม? (หัวเราะ) ผมอยากจะเป็นคนที่นาระในตอนอยู่ที่ไฮสคูลมาเจอแล้วคิดว่า ไอ้หมอนี่มันเท่ เจ๋ง ดีมาก สุดยอดมากๆ เลยว่ะ (หัวเราะ) ยกตัวอย่างเช่น ผมไม่ค่อยรับงานโฆษณาทางโทรทัศน์เท่าไหร่ แม้กระทั่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกามาทาบทามให้ผมไปทำโฆษณา ผมก็ไม่ทำให้ เพราะผมคิดว่า ถึงรับงานนี้แล้วอาจจะได้เงินเยอะก็จริง แต่ถ้าไอ้เจ้านาระตอนที่อยู่ไฮสคูลมันมารู้เข้า มันคงหัวเราะเยาะเย้ยผมแน่ๆ (หัวเราะ)ไม่เท่เลย (ติดเท่เหมือนกันนะเนี่ย) ถึงแม้ผมจะเคยรับงานออกแบบปกซีดีของวงดนตรีร็อกอเมริกันชื่อดังอย่าง R.E.M. มันก็ไม่ต่างกับที่ผมรับออกแบบปกซีดีของ โมโมโกะ โมชั่น(ศิลปินญี่ปุ่นที่ออกอัลบั้มในบ้านเรา) หรอก ผมชอบพวกเขาทั้งสองคน ผมก็เลยทำให้ (หัวเราะ)
ภาณุ:
ในปัจจุบันที่ผลงานของนาระไปปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในสินค้าต่างๆ ที่นาระทำเอง และที่ลอกเลียนแบบ นาระรู้สึกอย่างไรบ้าง
นาระ:
เมื่อก่อนที่ผมเคยขายภาพวาดของผม ผมรู้มาว่าคนที่ซื้องานของผมไปบางคนไม่ได้ซื้อเพราะอยากซื้อ แต่ซื้อเพราะเอาไปสะสมไว้เก็งกำไร พอมันได้ราคาก็เอาไปขายต่อ คนแบบนี้มีเยอะมาก พอผมได้ยินเรื่องนี้ ผมก็คิดว่าผมกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย รู้สึกไม่ค่อยดีเลย ตอนนี้ผมก็เลยไม่ขายงานเป็นชิ้นๆ แล้ว เหตุผลที่ผมทำงานเป็นบ้านแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะ ผมต้องการให้เวลาที่ใครจะมาซื้องาน ก็ต้องซื้อมันไปทั้งหมด ทั้งบ้าน ทั้งภาพวาดเอาไปด้วยเลย เพราะมันเป็นงานชิ้นเดียวกัน ต้องเอาไปติดตั้งอยู่ในที่เดียวกัน มันก็เป็นการกันคนที่จะซื้องานของผมเพื่อเอาไปเก็งกำไรได้ในระดับนึง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ผมกับเพื่อนๆ ออกแบบนั้น ทำขึ้นก็เพื่อให้คนที่ชอบผลงานของผม แต่ไม่มีโอกาสซื้องานในราคาที่แพงๆ สามารถมีผลงานของผมเก็บไว้ได้ ส่วนเรื่องที่คนก็อปปี้งานของผมไปทำในรูปแบบต่างๆ นั้น เขาอยากจะทำก็เรื่องของเขา
ภาณุ:
ผลงานของนาระในนิทรรศการ ยิ้มสยาม มีงานแอนิเมชั่นด้วย มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรเหรอ
นาระ:
จริงๆ แอนิเมชั่นเรื่องนี้ ในตอนแรกเลยค่ายหนังในอเมริกาต้องการจะทำหนังสารคดีเกี่ยวกับการค้าประเวณีเด็ก โดยถ่ายทำที่เมืองไทย และกัมพูชา แต่เนื้อหามันหนักมากๆ ผู้กำกับเลยต้องการใส่แอนิเมชั่นลงไปเพื่อเบรกให้หนังมันดูซอฟต์ลง งานของผมเลยถูกนำไปประกอบลงในหนัง ซึ่งหนังที่ผมนำมาแสดงก็เป็นพาร์ตของแอนิเมชั่นจากหนังเรื่องนี้ หนังสารคดีเรื่องนี้ชื่อว่า Playground (2009) ของผู้กำกับ ลิบบี้ สเปียร์ (Libby Spears) โดยมี จอร์จ คลูนี่ย์ เป็นผู้บรรยายในหนังด้วย ตอนรับทำงานนี้ ผมบอกว่า ผมรับทำงานนี้ แต่ผมไม่เอาเงินค่าจ้างนะ ฟังดูเท่มากเลยใช่ไหม แต่เขาตอบมาว่า ทุกคนก็ไม่เอาค่าจ้างกันหมดนั้นแหละ ผมอายมากเลย (หัวเราะ)
แอนิเมชั่นจากสารคดี Playground (2009) ส่วนหนึ่งของผลงานในบ้านไม้ของนาระ ในนิทรรศการ รอยยิ้มสยาม : ศิลปะ + ศรัทธา + การเมือง + ความรัก
ภาณุ:
นาระทำแอนิเมชั่นเองรึเปล่า
นาระ:
เปล่า ผมก็แค่วาดรูป แล้วก็บอกให้คนทำแบบนี้แบบนั้นไป (หัวเราะ)
ภาณุ:
ก่อนหน้านี้ผลงานของนาระเคยถูกทำเป็นแอนิเมชั่นมาก่อนหรือเปล่า
นาระ:
ไม่เคย แอนิเมชั่นที่คุณเห็นเป็นงานของผมนี่ไม่ใช่ผมทำเลยนะ แต่มีคนโน้นคนนี้ขอเอาไปทำ ผมก็ให้ทำได้
ภาณุ:
แล้วไม่อยากทำหนังแอนิเมชั่นของตัวเองบ้างเหรอ เพราะงานของนาระก็เป็นแอนิเมชั่นได้สบายๆ เลยนะ
นาระ:
ที่ทำไปนี่ก็ไม่ใช่ว่าผมอยากทำนะ เขาขอให้ทำ ผมเห็นว่ามันมีประเด็นที่ใกล้เคียงกับงานของผม ผมก็เลยโอเค ทำก็ได้ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ผมอยากวาดรูปของผมเฉยๆ มากกว่าน่ะ
ภาณุ:
นาระคิดว่าตัวเองเป็นจิตรกรหรือนักวาดการ์ตูน
นาระ:
ใครจะเรียกผมยังไงก็ได้ ผมไม่ว่า เพราะตัวผมเองรู้ตัวเองดีอยู่แล้ว ว่าผมเป็นอะไร
ภาณุ:
แล้วเป็นอะไรล่ะ?
นาระ:
เป็นนาระไง (หัวเราะ) ผมไม่อยากจำกัดตัวเองว่าเป็นอะไร ผมก็เลยไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นอะไร ผมไม่เคยคิดว่าอยากจะเป็นจิตรกร เป็นศิลปินหรืออะไรสักอย่างเลย ผมไม่เคยเอาพอร์ตโฟลิโอไปเสนอที่แกลเลอรี่ไหนเลยสักแห่ง ผมแค่ทำงานของผมก็มีคนมาหาผมเจอเอง (หัวเราะ)
ภาณุ:
นาระรู้สึกยังไงกับการที่ตัวเองเป็นคนดัง มีคนชอบผลงานของนาระมากมายทั่วโลก
นาระ:
ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองดังเลยนะ ไม่เคยคิดอยากจะแสดงงานด้วย ผมแค่อยากวาดรูปของผมไปเท่านั้น เวลาผมไปแสดงงานตามที่ต่างๆ ผมต้องออกไปยืนท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก ในที่ที่ผมไม่คุ้นเคยเลย ผมมักจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายเลย ตอนนี้ผมเลยทำสถานที่แสดงงานให้เป็นบ้าน ที่มีบรรยากาศแบบที่ผมคุ้นเคยไง
ภาณุ:
เวลาทำงานนาระฟังเพลงไหม
นาระ:
999.9 % (หัวเราะ)
ภาณุ:
ฟังเพลงอะไรบ้าง
นาระ:
ฟังหลายอย่าง บางทีก็ฟังเพลงที่ชอบฟังสมัยตอนเด็กๆ บางทีก็ฟังเพลงตามสมัยนิยม ฟังเยอะมาก แต่ที่ชอบที่สุดตอนนี้ก็ The Gojukaitenz เป็นวงร็อกจากโอซาก้า
ภาณุ:
ดูงานของนาระแล้วทำให้นึกถึงมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) นาระได้อ่านหรือได้อิทธิพลมาจากมังงะหรือเปล่า
นาระ:
ก็อ่านเหมือนกับคนทั่วไป แต่ถ้าดูวิธีการกระบวนการวาดรูปแล้ว ก็คงจะรู้ว่ามันไม่เหมือนกับมังงะ โดยส่วนตัวแล้ว อะไรก็ตาม การ์ตูนที่เคยอ่านตอนเด็กๆ หนังสือนิทาน หนังสือภาพที่อ่านตอนเด็กๆ หรืออะไรก็ตามที่เห็นตอนเด็กๆ จะไม่เคยลืม จะนึกถึงมันตลอด
ภาณุ:
เวลามาแสดงงานในเมืองไทย ได้ดูงานของศิลปินไทยบ้างหรือเปล่า
นาระ:
ก็เคยดูอยู่เหมือนกัน
ภาณุ:
มีศิลปินไทยคนไหนที่นาระชอบไหม
นาระ:
(คิดนาน) อังกฤษ (อัจฉริยโสภณ) ผมเป็นคนที่สนใจงานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด นวนิยาย หรืออะไรก็ตาม แต่ที่ผมชอบก็คือสิ่งที่ศิลปินทำงานออกมาแล้วมันมีความซื่อตรงของเขา งานที่ซื่อตรงต่อตัวคนทำ อย่างของอังกฤษ งานของเขาจะมีความซื่อตรงต่อตัวคนทำ มันก็คือจิตวิญญาณของคนทำ งานที่ผมชอบมันต้องเป็นงานที่เกิดมาจากตัวเจ้าของงาน จากตัวคนทำ อย่างงานของอังกฤษก็เป็นงานที่ผมรู้สึกชอบ
ภาณุ:
นาระคิดว่างานศิลปะให้ผลอะไรต่อคน ต่อโลก แล้วถ้ามันก่อให้เกิดผลร้าย อย่างยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือก่อให้เกิดอาชญากรรม ศิลปินควรจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองไหม
นาระ:
ถ้าคิดว่างานของเรามีอิทธิพลอย่างนั้นก็ควรจะหยุดตัวเอง ควรจะเซ็นเซอร์ตัวเองไว้ แต่เราคิดว่าขอบเขตของผู้ที่จะเข้ามาดูงานศิลปะแล้วได้รับอิทธิพลเหล่านั้นไปมันค่อนข้างจะจำกัด ก็คงจะอยู่ในวงที่แคบกว่า ถ้าจะมี ก็คงจะเป็นสื่ออื่นๆ อย่างทีวีหรืออะไรก็ตาม ซึ่งอาจจะมีอะไรที่แสดงถึงความรุนแรงอะไรต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คนมีโอกาสเห็นได้ง่ายกว่า ถึงเราไม่ตั้งใจดู แต่ก็เห็นแล้วก็รับไป ซึ่งตรงนั้นเนี่ย สื่อเหล่านั้นควรจะให้ความสำคัญ และระมัดระวังในการเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกไปมากกว่าที่วงการศิลปะเป็น.
ภาพถ่ายนาระโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร freeform No.1 และนิตยสาร FILMAX
เรื่อง : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ล่าม : เคียวโกะ คาทสึรากิ
ขอขอบคุณบ้านศิลปะรัชตะ สามเสนซอย 5 เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์และถ่ายภาพ
#WURKON #art #yoshitomonara #japanese #artist #child #children #drawing #cardboard #drawings #contemporaryart #artpiece #modernart #woodenhouse #playground #libbyspears #animation #แรงบันดาลใจจากศิลปะ
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon