Blog

เยือนโลกศิลปะในพื้นที่ส่วนตัวของ โน้ส อุดม แต้พานิช

เยือนโลกศิลปะในพื้นที่ส่วนตัวของ โน้ส อุดม แต้พานิช

04 มีนาคม 2562

เมื่อเราพูดถึงการแสดงตลกเดี่ยวบนเวที หรือที่เรียกกันว่า เดี่ยวไมโครโฟน (Stand Up Comedian) ในบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชื่อของ โน้ส อุดม แต้พานิช ย่อมเป็นชื่อที่เรานึกถึงโดยอัตโนมัติ

ในบทบาทของนักเรียกเสียงหัวเราะและความบันเทิง อุดมไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรอีกต่อไป กับการเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟนมือวางอันดับหนึ่งเมืองไทย

แต่นอกจากการสร้างเสียงหัวเราะแล้ว อุดมยังมีงานอีกอย่างที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ นั่นก็คือการทำงานศิลปะนั่นเอง แล้วงานศิลปะที่ว่านี้เข้าก็ไม่ได้ทำเล่นๆ เป็นการฆ่าเวลา หากแต่ทำอย่างเข้มข้นจริงจังไม่แพ้ศิลปินอาชีพเลยทีเดียว พิสูจน์ได้จากงานศิลปะหลากชนิดหลายรูปแบบจำนวนมหาศาลที่อัดแน่นอยู่ในสตูดิโอขนาดใหญ่มหึมาของเขา ที่เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือนมา

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาฟังเรื่องราวความรักและความหลงใหลในการทำงานศิลปะของชายผู้มีชื่อว่า โน้ส อุดม แต้พานิช ผู้นี้ไปพร้อมๆ กันเถอะ





WURKON:

แรกเลย ทราบมาว่าเดิมทีคุณโน๊สเรียนศิลปะมาใช่ไหมครับ

อุดม:

ใช่ครับ เรียนเพาะช่างมา

WURKON:

ตอนที่เรียนเป็นยังไงบ้าง อินไหม

อุดม:

ไม่อินว่ะ เราไม่ค่อยสนุกกับการเรียนที่นั่น

WURKON:

ทำไมล่ะ

อุดม:

มันเรียนเหมือนๆ กันหมดน่ะ เราจำได้เลย วิชาวาดคาแรคเตอร์การ์ตูน อาจารย์เขาให้วาดตัวการ์ตูนแบบเดียวกันส่ง ทุกคนก็วาดมาเหมือนกันหมด เราก็คิดว่าเราจะวาดตัวการ์ตูนแบบเดียวกันไปทำไมวะ ในห้องมันมีคนวาดเต็มไปหมดอยู่แล้ว ทำไมอาจารย์ไม่ให้เราทุกคนกลับไปบ้าน ไปออกแบบคาแรคเตอร์การ์ตูนของตัวเองคนละหนึ่งตัวมาส่ง มาพัฒนาต่อแทน หรือวิชาวาดเส้นภาพเหมือนเนี่ย ผมตกตลอดเลย แล้วพวกที่ทักษะดีๆ วาดใบบัวมีน้ำหยดเนี๊ยบกริบ ก็จะได้เอบวกกันตลอด แล้วในห้องก็จะมีไม่กี่คนที่ทำได้แบบนี้ ส่วนใหญ่ที่เหลือก็เป็นเดนสังคมอยู่ในห้อง (หัวเราะ) ผมก็คิดว่า ทำไมเราต้องวาดเหมือนวะ คนที่วาดภาพเหมือนไม่ได้นี่ไม่มีที่ยืนหรือไง? ผมก็เลยคิดในใจว่า กูจะวาดแต่ภาพไม่เหมือน (หัวเราะ)

WURKON:

ในวงการศิลปะก็มีศิลปินบางคนที่ไม่วาดภาพเหมือนจริงเลย แต่งานก็โคตรได้อารมณ์ ศิลปินแบบนี้เขาไม่วาดภาพเหมือน เพราะเขาไม่เสียเวลาไปทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ

อุดม:

ใช่ๆๆๆ (หัวเราะ)

WURKON:

พอผิดหวังกับการเรียนแล้วทำยังไงต่อ

อุดม:

คือตอนนั้นเรารู้แค่ว่าตัวเองไม่ค่อยชอบรูปแบบของการศึกษาแบบนี้ หลังจากนั้นเราก็ไม่มีเงินเรียนแล้ว เราก็ออกทำงานหาเลี้ยงชีพ เป็นคนเขียนการ์ตูน ทำภาพประกอบพ็อกเก็ตบุ๊ค นิตยสาร ต้องเขียนภาพประกอบให้เข้ากับเรื่องสั้น, กวี สมัยนั้นหนังสือกวีมีเยอะ ต้องทำหลากหลายแบบ เหมือนคนรับจ้างแต่งเพลงให้ศิลปินทั่วไป เราต้องแต่งเพลงให้เข้ากับเขา ข้อดีก็คือมันทำให้เราได้ลองวัสดุและเทคนิคหลายๆ อย่าง

WURKON:

แล้วอยู่ดีๆ เปลี่ยนอาชีพมาทำเดี่ยวไมโครโฟนได้ยังไง

อุดม:

เราไม่รู้ว่าจะไปตรงนั้นเลยนะ ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะมาทำตรงนี้ เรียกว่าเป็นเหตุบังเอิญมากกว่า เพราะว่าตอนนั้นทำงานอยู่สำนักศิษย์สะดือ เขามีละครเวที ผมเลยก็ไปเล่นเป็นตัวประกอบ ก็พัฒนาจากตรงนั้นจนมาถึงตรงนี้

WURKON:

แล้วกลับมาทำศิลปะอีกตอนไหน

อุดม:

จริงๆ ก็ทำมาตลอดนะ คือจากวันนั้นถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยห่างจากศิลปะเลย มันอยู่คู่ชีวิตผมมาโดยตลอด แต่พอเริ่มหาเลี้ยงชีพจากการขายเสียงหัวเราะได้ ทีนี้ผมก็มีรายได้มากขึ้น ที่จะเอามาซื้อวัสดุอุปกรณ์ทำงานศิลปะมากขึ้น ก็เริ่มทำชิ้นใหญ่ขึ้น แล้วคุณก็น่าจะรู้ว่าสีสำหรับทำงานศิลปะเนี่ย แม่งแพงพอๆ กับเครื่องสำอางของผู้หญิงเลยนะ หลอดนึงเนี่ย บีบไปทีนี่ใจเต้นเลย ยิ่งภาพแอบสแตรกเนี่ย ปาดไปก้อนหนึ่งเนี่ย 80 บาทแล้วมึง นึกออกป่ะ แต่เวลาซื้อมันจะรู้สึกหน้ามืดเหมือนผู้หญิงเดินเข้าไปในห้างเวลามี Sale น่ะ เดินเข้าไปหยิบๆๆ รู้สึกตัวอีกทีตังค์หายไปไหนหมดวะ กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้พิงฝาบ้านเต็มไปหมด (หัวเราะ)

WURKON:

แล้วไม่คิดจะเอาไปขายบ้างเหรอ

อุดม:

ไม่เลย นี่ถ้าคุณเดินเข้าไปดูข้างใน จะเห็นมันกองอยู่ข้างบนเต็มไปหมด เป็นโกดังเก็บของเลย การขายงานเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดน่ะ พูดตรงๆ เวลาขายเสียงหัวเราะเนี่ย เรารู้ว่าเราเอาอยู่นะ แต่ว่าศิลปะเนี่ยเราไม่ถนัดน่ะ เราไม่รู้จะบอกราคาเขายังไง ผมว่าการขายงานมันก็เหมือนเราหาเนื้อคู่น่ะ ซึ่งในบ้านเราเนี่ย หายากมากๆ ผมคิดว่าประเทศไทยมันควรจะมีอาร์ตดีลเลอร์ (นายหน้าค้างานศิลปะ) เยอะกว่านี้ ตอนนี้ประเทศไทยมีอาร์สติสเยอะมากแล้ว แต่ไม่ค่อยมีอาร์ตดีลเลอร์เท่าไหร่

WURKON:

ครั้งนึงเคยได้ยินคนในวงการศิลปะปรามาสว่าคุณโน๊สเป็น “ตลกริเขียนรูป” แต่กลายเป็นว่าเอาจริงๆ คุณวาดรูปมาก่อนที่จะเป็นตลก ทำงานศิลปะมาก่อนที่จะมาทำเดี่ยวไมโครโฟนเสียอีก

อุดม:

ใช่ เราชอบมาตั้งแต่เด็กแล้วน่ะ ก็ตั้งแต่เรียนแถวบ้านบึง ข้ามไปเรียนอยู่ที่สุรินทร์ เข้ามาเรียนอาชีวะชลบุรี คือชีวิตไปอยู่ที่ไหน วิชาที่ทำได้ดี พอจะเอาตัวรอดได้คือวิชาวาดเขียน เพราะผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง เลขนี่ห่วยมาก ภาษาก็ไม่ดี ทักษะด้านอื่นไม่มีเลย มีพละเอาตัวรอดได้ แล้วก็วิชาอะไรที่ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมาก ศิลปะ น่าจะเป็นการเอาตัวรอดของผมน่ะ ผมชอบทางนี้ ผมก็ทำมาเรื่อยๆๆๆ

WURKON:

อย่างพวกอุปกรณ์ประกอบฉากหรือเวที เดี่ยวฯ คุณโน๊สก็เป็นคนออกแบบเองใช่ไหม

อุดม:

ใช่ๆๆ มันอยู่ในนั้นแหละ ผมไม่ได้แยกมันว่า อันนี้คืองานศิลปะ อันนี้ไม่ใช่ศิลปะ อันนี้คืองานเอนเตอร์เทนเมนต์ ในชีวิตผม มันเป็นเรื่องเดียวกัน

WURKON:

อย่างฉากของเดี่ยวฯ ดูๆ ไปมันก็คล้ายกับงานประติมากรรมหรือศิลปะจัดวางอยู่เหมือนกันนะ

อุดม:

ใช่ๆ คือ เราชอบไง ก็เอามันมาอยู่ด้วยกัน แล้วจริงๆ การแสดงบนเวที ก็เป็นศิลปะของผมอย่างหนึ่งน่ะ สำหรับผมศิลปะมันคือจังหวะการจัดวาง ตัวผมเองก็จัดวางหาคำพูดให้คุณขำน่ะ จัดวางตำแหน่งการยืน การเดิน แสง บรรยากาศ รวมถึงฉากข้างหลังด้วย มันก็เหมือนเป็นศิลปะแสดงสด (Performance art) อย่างนึง อันนี้ผมคิดในหัวนะ แต่ไม่เคยพูดกับใครหรอก

WURKON:

เวลาดูเดี่ยวไมโครโฟนของเมืองนอก ฉากเขาจะไม่ค่อยมีอะไรเลยนะ ว่างๆ แต่ของคุณโน้สนี่มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมดเลย

อุดม:

มันเริ่มจากเราชอบทำตั้งแต่แรกเลย ตั้งแต่ทำเดี่ยวฯ 1 ผมก็ไปเอากระป๋งกระป๋องอะไรมาห้อยหลังฉาก คือตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าเมืองนอกมันทำยังไง มันยังไม่มีโซเชียลมีเดียไง ภาษาอังกฤษเราก็ฟังไม่ออก แต่เราทำจากความชอบ ทำมาต่อเนื่อง มีลงทุนเยอะหน่อย ก็ตอนเดี่ยวฯ 3 เอารถยนต์มาวางเรียงๆๆๆ ตอนนั้นเราแค่นึกว่า ทำไมฉากมันต้องมีแต่จอ ตอนนั้นยังไม่มีแอลอีดีนะ เป็นโปรเจ็กเตอร์ฉายภาพ ความละเอียดไม่สูงด้วย แล้วก็มีไฟแว๊บๆๆ ดำๆ แดงๆ แค่เนี้ย ในฐานะที่เราทำงานศิลปะ เราก็คิดว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ เราก็เลยคิดว่าเราจะเอารถยนต์มาวางตึ๊กๆๆๆ ตอนนั้นใช้ชื่อ “อุดมการช่าง” ด้วย เราก็ว่ามันน่าจะลิงค์กัน เพราะบังเอิญเราผ่านสุสานรถแล้วปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่ามันน่าจะเป็นอย่างงี้ ก็คิดง่ายๆ ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร ก็ค่อยๆ ทำแบบนั้นเรื่อยมา

WURKON:

อะไรพวกนี้มีส่วนช่วยในเรื่องการแสดงไหม

อุดม:

ลูกน้องผมมักจะบอกว่า ไม่ช่วยหรอก ไม่เกี่ยวหรอกเฮีย (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันช่วยในความรู้สึกของผมมากกว่า กูอยากอยู่แบบนี้ อยากยืนอยู่ตรงนี้ อยากเล่าเรื่องแบบนี้ อยู่แถวๆ องค์ประกอบเหล่านี้

WURKON:

อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชอบ?

อุดม:

ใช่ๆๆๆ เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผมชอบ คือเวลาผมทำเดี่ยวฯ สิ่งที่คิดก่อนเรื่องอื่นๆ คือฉากนะ จริ๊ง!

WURKON:

ที่เขาว่ากันว่า คนเราพอมีเงินมากพอประมาณหนึ่งแล้วถึงหันมาเสพงานศิลปะ คุณโน้สว่าจริงไหม

อุดม:

ผมว่ามนุษย์เราต้องมีสิ่งที่บ้าอย่างน้อยคนละหนึ่งอย่าง พวกผู้ชายส่วนใหญ่ส่วนมาก ไม่บ้ารถ ก็บ้านาฬิกา บ้าพระเครื่อง บ้าไวน์ บ้าโน่น นี่ นั่น แต่มันก็จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งน่ะ ที่บ้าศิลปะ สำหรับผมให้คุณค่าศิลปะเหมือนไดอารี่อ่ะ วันนี้เรารู้สึกสุขสดชื่นเราก็วาดดอกไม้ แต่เดือนหน้าอาจจะไม่มีดอกไม้สักดอกก็ได้ เพราะถ้าเราเศร้า เราจะวาดดอกไม้ร่าเริงอยู่ มันก็ไม่ใช่ มันก็ขึ้นกับอารมณ์และประสบการณ์ในชีวิตที่เราเจอ

WURKON:

ทำงานศิลปะมาเยอะขนาดนี้ คิดว่าตัวเองมีทักษะ มีความเชี่ยวชาญชำนาญในสาขานี้หรือยัง

อุดม:

ไม่รู้เลย ไม่กล้าพูดเลย รู้แต่ว่าผมสนุกกับการได้ลองอะไรเรื่อยๆ น่ะ ผมให้คุณค่ากับจินตนาการ ไม่ค่อยได้สนเทคนิคอะไร คือรู้แต่ว่ามันมีภาพในหัว แล้วเรารู้สึกอย่างนี้ เราก็ คิดว่าน่าจะทำอย่างนี้ อย่างผมซื้อกระเป๋าใบนึงของป้าคนนึงที่เอามาขายเมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างนั้นผมก็กำลังทำเซรามิกส์ เผารากุอยู่ ผมเอากระเป๋าของป้ามาเสียบกับเซรามิกส์ เจาะรู ไอ้แบบนี้ผมก็ไม่รู้มันคืออะไร แต่ผมก็ทำมันออกมาน่ะนะ

WURKON:

พอได้มาเห็นสตูดิโอของคุณโน้สนี่ มันใหญ่มากๆ เลยนะ คุณตั้งใจทำให้ใหญ่ขนาดนี้เหรอ

อุดม:

ตั้งใจๆ คือผมทำงานเยอะมาก แล้วเมื่อก่อนผมเคยเช่าโกดังไว้เก็บงานสองโกดัง แต่พอวางไว้ชื้นๆ ปลวกมันก็มากิน จนต้องทิ้งงานไปชุดใหญ่มาก เราก็เลย เอาวะ ตั้งใจว่าเราหาเงินจากธุรกิจบันเทิงได้ เราก็จะเอามาลงกับตรงนี้ ส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นี่แหละ (หัวเราะ) มันเลิกทำไม่ได้แล้วไง ถ้าคนทำศิลปะด้วยกันน่าจะรู้ว่ามันอยู่ข้างใน ถ้าเราไม่ทำก็เหมือนมันอัดอั้นตันใจ

WURKON:

งานพวกนี้ทำเองทุกชิ้นเลยเหรอ มีใครช่วยทำบ้างไหม

อุดม:

มีๆ ผมมีลูกมือครับ ช่วยๆ กัน แม่บ้งแม่บ้าน ฝ่ายบัญชี ผมทำเดี่ยวปีนึง หยุดสองปี บางทีก็หยุดสามปี บางคนถามว่าเราทำอะไร ก็นี่ไง ทำพวกนี้นี่แหละ กับพนักงานที่เราจ้างประจำอยู่ เขาไม่มีงานไง ว่างๆ มึงมาช่วยเฮียทำ ตุ๊กตาบางตัวแม่ผมก็มานั่งระบายนะคุณ ผมไม่คิดว่ามันเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่อะไร มันเหมือนงานฝีมือ ผมทำเพลินๆ นั่งเล่น คุยกัน เอาขนมมากิน เหมือนอยู่โรงเรียนน่ะ

WURKON:

เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ได้เป็นอะไรที่สูงส่งเลิศเลอ

อุดม:

ใช่ มันเป็นชีิวิต ผมไม่ได้ให้คุณค่าอะไรอย่างนั้นเลย ไม่ได้ต้องการความถูกต้องสูงส่งอะไร

WURKON:

อย่างที่เมืองนอก “ขี้” ก็สามรถเป็นศิลปะได้

อุดม:

เออ ผมเคยได้ยินว่ามีศิลปินคนหนึ่ง กินอินทผาลัมอยู่กี่เดือนไม่รู้ แล้วขี้ออกมาเป็นสีม่วง แล้วก็เอาขี้มาหล่อเรซิ่นเอาไว้เป็นงานศิลปะ แล้วก็สวยนะ อะไรพวกนี้ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ว่าผมชอบความประหลาดใจตรงนี้

WURKON:

เห็นข้างๆ สตูดิโอมีเตาเผาเซรามิกส์อันใหญ่อยู่ด้วย คุณโน้สเผาเซรามิกซ์เองเลยเหรอ

อุดม:

ใช่ๆ อยู่นี่เลย (พาเดินออกไปดูเตา) ผมเนี่ยไม่ได้เรียนเซรามิกส์มา แต่พอรู้สึกว่าเราอยากจะทำ เราก็เรียนรู้จากการซื้อเตาแม่งเลย แล้วก็มาหัดทำ ทำไม่เป็น ก็ถามลูกน้อง เฮ้ย มีใครเคยเรียนเซรามิกส์บ้าง “ผมว่าผมคุ้นๆ นะเฮีย” อ้าว งั้นมึงมา ตรงไหนไม่รู้ก็เปิดกูเกิ้ลกัน เริ่มจากงานง่ายๆ ห่วยบ้าง ผิดพลาดบ้าง ความร้อนต่ำไป สูงไป เสียก็ทำใหม่ ค่อยๆ ทำกันไป

WURKON:

คือคนปกติที่เขาลองทำเซรามิกส์เนี่ย เขาไม่ได้ซื้อเตาใหญ่ขนาดโรงงานมาทำแบบคุณไง

อุดม:

(หัวเราะ) ผมเป็นคนวู่วามน่ะ ทำไปก่อนเลย คนอื่นเขาเผาได้ทีนึง 4 - 5 อัน ไม่เอาอ่ะ กูอยากทำแบบเยอะๆ เลย เผื่อพลาด ลองทำถ้วยเล็กๆ จนมาเป็นชามใหญ่ ลองเจาะรู ลองโน่นนี่ มั่วเอา ไม่มีแบบแผน ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป

WURKON:

เขาว่าศิลปินที่เก่งๆ บางคนจะมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว คุณโน้สเป็นไหม

อุดม:

เออ ก็จริงนะ สำหรับผมมันเป็นการเล่น เป็นการบำบัดตัวเองด้วยไง อย่างเวลาทำเดี่ยวเนี่ย มันเป็นอาชีพที่กดดันมากเลย ถ้าคนที่เคยทำจะรู้ดี เพราะเราขายเสียงหัวเราะเราไปเอาเงินเขามา เราก็ต้องทำให้เขาหัวเราะ แต่ละโจ๊ก แต่ละมุก ต้องทำให้ผู้ชมรอบละห้าพันกว่าคนพอใจ แล้วต้องเล่นทุกวัน ห้ามป่วย ถ้าป่วยก็ต้องทำยังไงให้ขึ้นไปเล่นได้ มันเป็นเรื่องกระบวนการจัดการที่เยอะมาก เป็นอะไรที่เราแบกเอาไว้หนักมาก พอหมดมันปุ๊ป มันเหมือนคุณจบการศึกษาน่ะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เอาจริงๆ ชีวิตของตลกมันจะมีอีกมุมนึงที่คุณไม่รู้ ชีวิตพวกคุณ เวลาออกจากบ้านคือการพักผ่อน แต่ชีวิตนักแสดงตลก ณ วินาทีที่คุณก้าวออกนอกประตูบ้านแล้วไปเจอคน มันคือการทำงาน เพราะว่าเขาหวังให้คุณตลกตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะอาหารเป็นพิษ แฟนคุณเพิ่งบอกเลิกไปเมื้อกี้นี้ คนเขาไม่มารับรู้ด้วยไง เพราะว่าภาพคุณคือมิกกี้เม้าส์ ไม่มีใครรู้หรอกว่าไอ้คนใส่มิกกี้เม้าส์ข้างในมันจะเหงื่อออก มันกำลังจะเป็นลมไหม? มันหิวหรือเปล่า? เขาไม่ต้องมารับรู้ไง ทีนี้ความกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละวันที่เราเจอมันอยู่ข้างใน ไม่รู้จะไปไหน เลยทำให้ถ้าข้างในผมไม่พร้อมจะไปให้บริการใคร ผมก็จะอยู่บ้าน แต่พวกคุณอยู่บ้านกันแป๊บนึงก็เบื่อแล้วใช่ไหม แต่ผมต้องอยู่บ้านนานๆ ไง ผมก็ต้องหาอะไรทำ ที่นี่มันก็เลยเหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่งของผม ผมก็อยู่แต่ในนี้นี่แหละ

WURKON:

เหมือนการทำงานศิลปะเป็นการบำบัดจิตอย่างหนึ่งไหม เวลามีบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ก็ใช้ศิลปะพูดแทน

อุดม:

เออๆ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก คำนี้แหละ ถ้าไม่ทำแบบนี้ เราก็อาจจะกลายเป็นคนป่วย อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า ผมว่าศิลปะเยียวยาผมนะ

WURKON:

แล้วมันช่วยได้จริงๆ เหรอ?

อุดม:

ช่วยได้จริงๆ เสาร์ อาทิตย์ ผมก็อยู่กับมัน ฟังเพลงไป ง๊องๆ แง๊งๆ ทำงานเพลินๆ ไป พองานที่ทำออกมาเสร็จแล้วมันก็แล้วใจน่ะ

WURKON:

แต่ส่วนใหญ่งานของคุณก็ค่อนข้างจะมีสีสันสดใส ไม่ค่อยมีชิ้นไหนที่ดูแล้วเศร้าเลยนี่

อุดม:

มีนะ อย่างชิ้นนึง อยู่วันนึงผมได้ยินข้างเดียวแล้วมีเสียงสะท้อน ไปหาหมอ หมอบอกว่าเกิดจากการที่กระดูกในหูเสื่อม พอเรารู้สึกเราก็ร่างเป็นภาพออกมา

WURKON:

ที่เห็นนี่คือทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเพ้นติ้ง ประติมากรรม สื่อผสม เซรามิกส์

อุดม:

ผมทำไปเรื่อยๆ มันไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เหมือนตอนที่เราเรียนมา ที่จะต้องทำเรื่องนี้เป็นซีรี่ส์เป็นอะไร พอเราไม่ได้อยู่ในระบบนั้น มันก็เหมือน ตื่นเช้ามาเราอยากกินอะไร เราก็เข้าครัวไปทำกิน บางวันทำยำ บางวันทำพะโล้, ทำก๋วยจั๊บ, ราดหน้า บางภาพผมวาดเสร็จแล้ว 7 - 8 เดือน อยู่ๆ ผมก็ไปวาดเพิ่มวาดทับ หรือบางทีก็ไปร้อยสร้อย เย็นๆ เปิดเตาเผาอะไรเล่น อารมณ์เหมือนแม่ครัวน่ะ ผัดๆ ยำๆ ตำๆ เพลิดเพลินอยู่กับมัน

WURKON:

ฟังดูเหมือนคนทำสวนปลูกต้นไม้โน่นนี่ไปเรื่อย

อุดม:

เออๆๆ แบบนี้ชัดกว่า ทำสวน ปลูกโน่น ปลูกนี่ เด็ดโน่น เด็ดนี่ เก็บหนอน ขุดดิน หว่านปุ๋ย อยู่ๆ ไอ้นี่ออกลูก ก็ปอกกินซะหน่อย ลุกไปทำกะปิมาจิ้ม มันเพลินๆ อยู่อย่างนี้ นี่แหละโลกของผมจริงๆ

WURKON:

สมมุติในอนาคตคุณไม่อยู่แล้ว งานพวกนี้จะเป็นยังไง ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้บ้างไหม

อุดม:

ไม่มีเลย ผมคิดว่าถ้าผมตายไป แม่ผมก็คงเอาไปขายในราคาไม้อัด อะไรที่เป็นทองเหลืองหรือเหล็กหล่อ ก็เอาไปชั่งกิโลน่ะ (หัวเราะ) เวลาแม่เดินเข้ามาเนี่ย มักจะบ่นว่า “มึงทำอะไรเนี่ย เงินทั้งน้านนๆ ทำไมมึงไม่ไปรับงานเป็นพิธีกร ทำรายการทำอะไร” (หัวเราะ)

WURKON:

ไม่คิดจะทำนิทรรศการแสดงศิลปะบ้างเหรอ

อุดม:

ไม่ถนัดเลย การไปแสดงงานเป็นภาคที่ผมไม่สนุก ผมสนุกกับการทำมากกว่า พอเริ่มต้องจัดการ มันเป็นอะไรที่ไม่สนุกแล้ว มันเริ่มปวดหัว ผมเขียนไว้ในไดอารีของผมเลยว่า อะไรที่ไม่สปาร์คจอย กูไม่เสียเวลาทำ ผมเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้อีกไม่นานแล้ว ขอทำอะไรที่มัน “สปาร์คจอย” ดีกว่า (หัวเราะ)

WURKON:

เวลาทำงานในลักษณะนามธรรมที่ไม่เหมือนจริงแบบนี้ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่มันเสร็จแล้ว

อุดม:

ผมว่าความยากของการทำงานแอบสแตรก ไม่ใช่การเริ่ม แต่คือการหยุด เมื่อไรมึงจะพอ นี่เป็นปัญหาเลย ผมว่าเป็นกันหมดทุกคน คือ “ไม่เสียเสือกไปซ่อม” อะไรไม่เสีย เสือกไปซ่อมเนี่ย โดนมามากละ เสร็จแล้วนะ เฮ้ย แต่มันน่าจะมีเส้นตรงนี้เส้นนึง ลองพ่นสเปรย์ แบบกล้าหาญ พ่นไปปุ๊บ ฉิบหายยย ทำไปทำม้ายยย! Undo ก็ไม่ได้ (หัวเราะ) ก็สนุกกับการเรียนรู้ แก้ปัญหาจากความผิดพลาดต่อไปเรื่อยๆ น่ะ แอบสแตรกมันสนุกตรงนี้แหละ

WURKON:

งานแต่ละชิ้นที่ทำนี่พี่โน้สสเก็ตซ์ก่อนไหม หรือทำออกมาเลย

อุดม:

สเก็ตซ์แต่เหมือนไม่ได้สเก็ตซ์ ไม่เคยมีสเก็ตซ์สำเร็จแล้วมาทำงานให้เหมือน มีแต่ทำแล้วพัฒนาเติบโตไป ตอนทำเราก็ไม่ได้คิดว่าเป้าหมายจะต้องเจออะไร เดินออกไปก่อน แล้วก็ไปหาเจอเอาข้างหน้า

WURKON:

ศิลปะเป็นเหมือนการเดินทาง?

อุดม:

ใช่ๆ แต่ไม่ได้เดินออกไปข้างนอกนะ แต่เดินเข้ามาในตัวเอง เวลาวาดไปบางทีรู้สึกว่า เออ มันน่าจะมีตัวนี้นะ เอาตัวนี้มาใส่ตรงนี้ดีกว่า เราเคยปล่อยนกฮูกไปตัวนึง เคยเล่าไปในเดี่ยว 12 ตอนวาดรูปเราก็แอบใส่นกฮูกไปตัวนึง

WURKON:

เลยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องวาดแต่รูปแอบสแตรก

อุดม:

ไม่ได้คิดเลย ทำไปก่อน ปล่อยให้มันเป็นไป หรือจะไม่เป็นก็ได้

WURKON:

เพราะว่างานแอบสแตรกบางทีมันก็มีความจงใจไม่เล่าเรื่อง แล้วการพยายามจะไม่เล่าเรื่องเนี่ย บางทีก็เป็นการจงใจฝืนเหมือนกันเนอะ

อุดม:

ใช่ งานของผมถ้ามีอะไรจะพูด ก็พูด ถ้าไม่มีอะไรจะพูด ก็ไม่ต้องพูด บางวันไปเจอเรื่องราวมา เจอน้องคนนั้นน่ารัก ไปดูหนังกัน มีเรื่องราวเต็มไปหมดเลย แต่บางวันเบื่อ อากาศร้อน ไม่อยากทำอะไรเลย มันก็มีแค่นี้เองนะ ในแต่ละวัน ถ้าไม่มีอะไรจะพูดก็ไม่เป็นไร ก็ทำเป็นเพลงบรรเลงไป ถ้ามีอะไรจะพูด ก็ใส่เนื้อร้องเข้าไป ถ้ามีเรื่องราวในใจเยอะ ก็แร็พเลย ประเทศกูไม่มี (หัวเราะ) อะไรทำนองนั้น

WURKON:

ทำงานเยอะขนาดนี้ ยังถือว่าคุณทำศิลปะเป็นงานอดิเรกอีกไหม

อุดม:

เราว่ามันเป็นงานประจำนะ เพราะเราทำมันเป็นประจำทุกวัน เพียงแต่ไม่ได้ตังค์จากมันเท่านั้นเอง (หัวเราะ) ส่วน เดี่ยวฯ คืองานอดิเรกที่ได้เงิน ซึ่งเราก็เอามาหล่อเลี้ยงงานประจำอีกทีนี่แหละ.


ภาพถ่ายโดย อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา

#WURKON #people #udomtaepanich #art #entertainment #standupcomidian #painter #abstractpainting #semiabstract #material #object #ceramics #mixedmedia #อุดมแต้พานิช #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON 

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon 

Follow Instagram : @wurkon

Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30