Blog

คุยกับศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้า ผู้สร้างบทสนทนากับสรรพสิ่งรอบตัว สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

คุยกับศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้า ผู้สร้างบทสนทนากับสรรพสิ่งรอบตัว สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

02 ตุลาคม 2563

ถ้าพูดถึงชื่อของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง มิตรรักแฟนศิลปะหลายคนคงรู้จักเขาในฐานะศิลปินร่วมสมัยชั้นแนวหน้าของไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล ผู้ทำงานศิลปะในหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, ศิลปะจัดวาง, สื่อผสม และศิลปะจากวัสดุสำเร็จรูป ผลงานของเขามีลักษณะเด่นในการหลอมรวมแนวความคิดและปรัชญาแบบตะวันตกเข้ากับมิติทางจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างกลมกลืน 

สมบูรณ์เคยเดินทางไปศึกษา, ใช้ชีวิต และทำงานอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เป็นเวลากว่า 30 ปี จนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เขามีงานแสดงเดี่ยวในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำมากมายหลายแห่งในยุโรป ในขณะเดีียวกันเขาก็กลับมาแสดงงานให้ผู้ชมชาวไทยได้ชมเป็นระยะ 

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรม, ภาพถ่าย, และประติมากรรมในนิทรรศการ “เดินทางไปกับลมหายใจ” ปี พ.ศ. 2532, และผลงานจิตรกรรมลายเส้นในนิทรรศการ “เวลาที่ไร้นาม” (The Nameless Time) ปี พ.ศ. 2536, หรือผลงานศิลปะจัดวางที่เขาเก็บหินจากแม่น้ำโขงมาแสดงในนิทรรศการ “The Mekong River” และผลงานที่เขาเอาเสาโบสถ์จากวัดในจังหวัดทางภาคเหนือมาทำเป็นศิลปะจัดวางในนิทรรศการ “เสียงพูดที่ไม่ได้ยิน” (The Unheard Voice) ในปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นเขาก็ลาจากประเทศเยอรมัน หวนกลับมาอาศัยและทำงานในเมืองไทย และแสดงนิทรรศการหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนิทรรศการ “So zu sehen” ในปี พ.ศ. 2550 และนิทรรศการ Raj Loesuang and The Boy Somboom Hormtientong ปี พ.ศ. พ.ศ. 2556

ในปี พ.ศ. 2560 สมบูรณ์ยังได้รับเชิญให้ไปแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในนิทรรศการ KRUNG THEP BANGKOK ที่ประกอบด้วยผลงานประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, งานวาดเส้น และสื่อวิดีโอทั้งภายในและด้านหน้าของพื้นที่แสดงงาน ที่มีความแปลกแหวกขนบ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูคุ้นเคยและเข้าถึงง่ายอย่างยิ่ง

ล่าสุดในปี พ.ศ. 2563 นี้ สมบูรณ์ก็กลับมาแสดงผลงานให้ชาวไทยชมกันอีกครั้ง กับนิทรรศการ “Die Schöne Heimat” หรือ “บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” อันที่จริงนิทรรศการนี้เปิดให้ชมกันตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นิทรรศการต้องพักการแสดงไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้ชมกันอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว 

นิทรรศการครั้งนี้รวบรวมงานหลากหลายรูปแบบจำนวนกว่า 70 ชิ้น ที่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ผลงานเหล่านี้สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำ และการทุ่มเทเอาใจใส่ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ผลงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ซึ่งการระลึกถึงความทรงจำนั้น ในแง่หนึ่งเปรียบดั่ง “บ้านของตนเอง” ที่เป็นที่พักผ่อนทางใจ เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่ชีวิต

นอกจากจะได้ไปเยี่ยมชมผลงานชิ้นเยี่ยมในนิทรรศในการครั้งนี้ของเขา เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเกี่ยวกับผลงานในนิทรรศการ และเรื่องราวความคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะของเขา มาร่วมรับฟังไปพร้อมๆ กัน

WURKON:

นิทรรศการ Die Schöne Heimat นี่มีที่มายังไงครับ

สมบูรณ์:

ที่มาของนิทรรศการนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน คือผมบังเอิญนึกถึงภาษาเยอรมันประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “Die Schöne Heimat” แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “บ้านที่งดงาม” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับเวลา ทั้งเวลาในความทรงจำ ที่คนเราสามารถจะมีได้ทุกคน อาจจะเป็นคนที่ไปอยู่ต่างถิ่น ต่างแดน หรือคนที่อยู่ในประเทศไทยในจังหวัดที่ห่างไกลก็ตาม ผมก็เลยอยากเอาประโยคนี้มาใช้เป็นชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ เพราะเป็นการแสดงผลงานย้อนหลังในช่วงที่ผมเคยทำตอนอยู่ต่างแดน รวมถึงผลงานที่ผมทำตอนอยู่ประเทศไทยด้วย

WURKON:

คำว่า “บ้าน” สำหรับคุณสมบูรณ์มีความหมายยังไง

สมบูรณ์:

คำว่า “บ้าน” คือความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิด หรือความเป็นส่วนตัวอะไรสักอย่าง ที่มีความหมายกับคนๆ นั้น หรือประสบการณ์ที่เขามีในวัยเด็กหรือในวัยไหนก็ตามแต่ ที่ทำให้ชีวิตเขามีการเปลี่ยนแปลง หรือรำลึกถึงในด้านใดก็ตาม

คำว่า “บ้าน” สำหรับผม คือสิ่งที่เป็นหน้าที่ของชีวิต และสิ่งที่ผมสนใจและทำมาตลอดชีวิต นั่นคือการสร้างงานศิลปะ เป็นการบันทึกทุกๆ ประสบการณ์ และเหตุการณ์อะไรก็ตาม ทั้งในยามทุกข์ ยามสุข หรือในยามไหนก็ตาม เราได้บันทึกสิ่งเหล่านี้ลงในตัวงานของเราในช่วงระยะเวลาต่างๆ

WURKON:

หมายความว่าบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่แห่งไหนก็ได้

สมบูรณ์:

มนุษย์แต่ละคนมีบ้านอยู่ในตัวเอง “บ้าน” ในที่นี้ไม่ใช่สถานที่หรือสิ่งของ หากแต่เป็นจิตวิญญานมากกว่า

WURKON:

ผลงานในนิทรรศการนี้ นอกจากจะมีงานจิตรกรรมที่หลายคนคุ้นเคยกันแล้ว ยังมีผลงานในรูปแบบอื่นที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งประติมากรรม สื่อผสม วัสดุเก็บตก (Found object) และข้าวของสำเร็จรูปต่างๆ ที่ผู้ชมบางคนอาจไม่คุ้นเคยว่าเป็นงานของคุณรวมอยู่ด้วย

สมบูรณ์:

ผมไปเยอรมันในฐานะประติมากรและศิลปินผู้ทำงานศิลปะจัดวาง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในนิทรรศการของผม จริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นแกนหลักในงานของผมด้วยซ้ำไป ข้าวของในงานของผมเหล่านี้ จะดูว่าเป็นของเก่า หรือเป็นของที่มีอดีตก็ได้ แต่สำหรับผม ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยช่างพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของอะไรก็ตาม ซึ่งผมเห็นลักษณะที่งดงาม จึงอยากจะถอดหน้าที่การใช้งานของเขาออก ให้เขามาทำหน้าที่ใหม่ ภายใต้ความคิดใหม่ เพื่อสร้างบทสนทนากับผลงานชิ้นอื่นๆ ของผม และกับผู้ชม

WURKON:

งานศิลปะที่ไม่มีชีวิตสามารถสร้างบทสนทนากันได้ด้วย?

สมบูรณ์:

ของทุกอย่างในโลก ถ้าเราสัมผัสได้ มันจะมีการสร้างบทสนทนาต่อกันตลอดเวลา เพียงแต่เราจะมีความเข้าใจมันไหม ผมเคยยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า “ถ้าเรามองหิน หินก็คือเรา เราก็คือหิน” บางคนฟังแล้วอาจจะงง แต่คำพูดนี้หมายถึง ถ้าเราจะทำงานกับสิ่งใดก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้ถ่องแท้ เมื่อนั้น เราก็จะเห็นตัวเราอยู่ในสิ่งเหล่านั้น อย่างเช่นถ้าเราทำงานกับเหล็ก เราก็ต้องรู้ว่าธรรมชาติของเหล็กเป็นอย่างไร เราจึงจะหาวิธีใส่จิตวิญญานของเราเข้าไปในเหล็กนั้นได้ เพื่อให้เขาแสดงเนื้อหาอย่างที่เราต้องการ ถ้าทำได้ ก็แปลว่าเราสร้างบทสนทนากับเขาได้สำเร็จ



WURKON:

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในนิทรรศการครั้งนี้ของคุณสมบูรณ์ก็คือ ในงานมีทั้งงานศิลปะนมธรรมและศิลปะรูปธรรมอยู่ในนิทรรศการเดียวกัน ของศิลปินคนเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นในนิทรรศการอื่นๆ 

สมบูรณ์:

รูปธรรม และ นามธรรม สองสิ่งนี้อยู่คู่กันเสมอ เพียงแต่มนุษย์ไปแยกมันออกจากกันเอง ถ้าเราอยากจะดูสิ่งที่มีรูปธรรมและนามธรรม เราไม่ต้องไปดูสิ่งที่มนุษย์ทำหรอก เราไปดูจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ อย่างดอกไม้ดอกหนึ่ง รูปธรรมก็คือรูปทรงของมัน แต่ความเป็นนามธรรมของมันก็คือ สีสัน ความงดงาม หรือแม้แต่กลิ่น ที่เราสัมผัสได้ชัดเจน ในธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่สิ่งที่มนุษย์ทำ บางทีสองสิ่งนี้ไม่อยู่ร่วมกัน เพราะเขาไม่เข้าใจคำว่านามธรรม งานที่ออกมาก็จะเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ การจะเข้าใจนามธรรมได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนคนนั้นต้องเรียนรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดกับตัวผู้สร้างก่อน ถึงจะถ่ายทอดลงไปในงานได้ ความจริงนามธรรมนั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง เพียงแต่เราไปคิดว่ามันซับซ้อนและไม่เข้าใจมันเอง

WURKON:

เหมือนที่บางคนมักพูดว่าดูงานศิลปะนามธรรมไม่รู้เรื่อง

สมบูรณ์:

เขาจะไปดูรู้เรื่องได้ยังไง ในเมื่องานเสนออย่างหนึ่ง แล้วเขาดันไปมองหาอีกอย่าง (หัวเราะ) ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปกติผมไม่เคยเขียนงานที่เป็นรูปธรรม แต่พอผมเอาตุ๊กตาหมีของลูกมาเขียนเล่นๆ ในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยชิน ลองเขียนเป็นหมีออกมา พอเราเขียนๆ ไป ก็มีอะไรที่น่าสนใจ เราก็เขียนไปเรื่อยๆ จนพบว่าในรูปหมีนี้มีภาวะนามธรรมอยู่ การเขียนรูปหมีสอนผมให้รู้ว่า จริงๆ งานทุกชิ้นที่ผมทำมามีหมีอยู่ในนั้นทุกชิ้นเลย เพียงแต่มันไม่แสดงออกมาเป็นรูปธรรมให้เราเห็น แต่พอวันหนึ่งเรามาแตะรูปธรรมที่เป็นหมี คุณจะเห็นเลยว่ามันมี “ความซื่อ” อยู่ ถ้าคุณมองเห็นความซื่อในงานของผม สิ่งนั้นก็คือ “หมี” นั่นแหละ เรื่องนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า จริงๆ แล้ว งานแต่ละชิ้นเรามีสิ่งนี้อยู่ เพียงแต่มันไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เราเห็นเท่านั้นเอง

WURKON:

สิ่งที่ว่านี้เรียกว่า “แก่น” ใช่ไหม

สมบูรณ์:

ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างมีแก่นที่ว่านี้อยู่ ตรงนี้สำคัญที่สุดที่คนต้องเรียนรู้ เพราะถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็ไปไหนได้ไม่ไกล ทั้งผู้ทำและผู้ชม 

WURKON:

ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นการรวมผลงานตั้งแต่ช่วงไหนบ้างครับ

สมบูรณ์:

น่าจะตั้งแต่ปี 1984 จนถึงปัจจุบัน เป็นการแสดงตัวอย่าง เพราะเราต้องการให้คนเห็นว่า ชีวิตคนทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องทำงานสกุลเดียวกันไปตลอด มันผิดธรรมชาติ เพราะความสนใจของคนมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง จะให้สนใจอะไรเหมือนเดิมตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้

WURKON:

ศิลปินไม่จำเป็นต้องมีลายเซ็นหรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้คนจดจำได้หรือครับ

สมบูรณ์:

ผมอยากจะพูดว่า การทำแบบนั้นเหมือนคุณยังไม่ได้ออกมาจากคุก เพราะการทำงานศิลปะคือการแสวงหาอิสรภาพ แต่คุณกลับไปขังตัวเอง เพราะกลัวว่าคนจะจำคุณไม่ได้ กลัวคนจะไม่รู้ว่าเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่ตรงไหน นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด...สำหรับผมนะ มันอาจจะถูกสำหรับพวกเขาก็ได้ แต่สำหรับผม ผมคิดว่าการที่เรานำเสนออะไรใหม่ๆ นั้นน่าสนใจกว่าสำหรับคนดู ประการสุดท้าย ผมไม่มีความห่วงใยเลยว่า ผมจะทำอะไรออกมาแล้วคนจะคิดว่าไม่ใช่เรา เพราะว่าพอมาถึงจุดหนึ่ง ที่เรามีโครงสร้างของทางความคิด ไม่ว่าเราจะทำอะไรออกมา สุดท้ายจะกลับมาสู่แก่นแท้ของตัวเราอยู่ดี คนที่เข้าใจจะรู้เอง ว่านี่เป็นงานของเรา สำหรับเรา เราสร้างงานศิลปะเพื่อแสวงหาอิสรภาพ คนที่ดูงานก็จะได้อิสรภาพเหมือนกับเรา แล้วเขาก็จะดูงานได้สนุกกว่าต้องดูอะไรที่มันซ้ำๆ เดิมๆ ว่าไหม?

WURKON:

อย่างเช่น ภาพวาดหมี ในนิทรรศการนี้ก็เป็นอะไรที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะเป็นงานของคุณสมบูรณ์

สมบูรณ์:

ใช่ พอคนดูเห็นเขาตั้งคำถาม ทีนี้พอเขารู้เบื้องหลังของงานชุดนี้ เขาก็จะเข้าใจเลยว่าสิ่งนี้เป็นประตูที่สำคัญมาก ที่ทำให้ผู้สร้างงานเข้าใจตัวเขาเองมากขึ้น เพราะว่าเขาไม่เคยคิด และไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อน แต่พอเขาทำงานชิ้นนี้ มันก็เปิดประตูให้เขาเห็น และยิ่งทำให้เขาเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนว่า ทุกๆ ผลงานที่เขาสร้างมาในแต่ละระยะเวลา ล้วนแล้วมีแต่ความซื่อ และจริงใจในสิ่งที่เขาเป็น

WURKON:

เมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็ไม่ต้องไปยึดติดว่าจะเป็นหรือไม่เป็น “นามธรรม” อีกต่อไป?

สมบูรณ์:

สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำความเข้าใจก็คือ อะไรคือ “นามธรรม” เพราะมีคนทำงานจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังไม่เข้าใจว่า “นามธรรม” คืออะไร คำนี้เป็นคำที่อาจจะเป็นเพียงแค่คำพูดผิวเผิน แต่จริงๆ แล้วมีความลุ่มลึกในเนื้อหา ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนที่นำไปปฏิบัติ

WURKON:

ผลงานเก่าและผลงานใหม่ของคุณเองที่นำมาแสดงอยู่ด้วยกันในนิทรรศการนี้เองก็มีความเหมือนและตรงกันข้ามกันอย่างน่าสนใจ อย่างภาพวาดลายเส้นที่ดูเหมือนภูมิทัศน์ที่เกิดจากเส้นขีดนับไม่ถ้วน ที่ดูแล้วเห็นถึงพลังสมาธิและความพากเพียรของผู้ทำ

สมบูรณ์:

งานชุดนั้นทำตั้งแต่ปี 1984 ตอนอายุยังสามสิบกว่าอยู่เลย งานนี้ทำยาก เพราะเวลาทำต้องวางตะแคง และเขียนด้วยปากกาคอแร้ง เขียนเป็นแถวๆ ขึ้นไป ไม่งั้นหมึกจะไหลหยดจนเปื้อน ตอนทำต้องมีสมาธิที่จะคุมเส้น คุมน้ำหนัก คุม Stroke ให้สัมพันธ์กัน ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่าภาพไม่มีรอยหยดหรือรอยเปื้อนเลยแม้แต่น้อย เรียกว่าต้องทำงานด้วยความเข้มงวดกับตัวเองสุดๆ

WURKON:

เปรียบเทียบกับงานลายเส้นและลายจุดในยุคหลัง ที่แสดงอีกห้องนี่เห็นถึงความแตกต่างได้ชัดเจน เพราะดูแล้วรู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย

สมบูรณ์:

ใช่ ทำงานคนละแบบเลย ความระมัดระวังต่างกันเยอะ งานชุดนี้ทำแบบสบายๆ  มีผิด มีพลาดได้ แต่งานชุดนั้นผิดไม่ได้เลย

WURKON:

เป็นเรื่องของวัยและประสบการณ์ไหม ว่าตอนหนุ่มๆ ก็มักจะทำงานที่ใช้พละกำลัง ความอดทน และความเข้มงวดสูง ในขณะที่พออายุมากขึ้นก็ทำงานด้วยความผ่อนคลาย

สมบูรณ์:

ก็อาจจะมีส่วน ประการแรกก็คือ งานในลักษณะนั้นผมไม่ได้ทำแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีความอดทนเหมือนอย่างสมัยก่อน ประการที่สอง ตอนนั้นเป็นช่วงวัยที่เรากำลังค้นหา ก็ทดลองไปเรื่อยๆ ไง พอเราผ่านการค้นคว้าด้วยวิธีการนี้ไปแล้ว เราก็จะไม่ย้อนกลับมาหามันอีก แล้วพอยิ่งสูงอายุเนี่ย จะเห็นเลยว่าจากเป็นแสนๆ ขีด บางทีเหลือขีดเดียว เพราะมุมมองที่เราฝึกฝนร่ำเรียนมาก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะเวลาที่คนเข้ามาดูงาน เขาจะไม่ได้เห็นว่ามีงานเยอะแยแต่เขียนเหมือนกันหมด ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่เขาจะได้เห็นความหลากหลายในเส้นทางการทำงานของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เขาได้อะไรกลับไปบ้าง

WURKON:

พออายุมากแล้วพละกำลังน้อยลง แต่ประสบการณ์มากขึ้น ทำให้ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องลงแรงมากไหม 

สมบูรณ์:

ประสบการณ์มากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งนะ เแต่จริงๆ แล้วผู้สร้างสรรค์ก็คือผู้สร้างสรรค์ เคยมีคนพูดว่า พอแก่ตัวไปจะทำงานดีขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เป็นคนหนุ่มสาวก็ทำงานที่ดีได้ไม่ต่างกับคนแก่ ถ้าเขาเข้าใจและสังเกตุประสบการณ์ของตัวเองตลอดเวลา และรู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากมัน เขาก็สามารถทำงานที่ดีได้ ถึงแม้เขาจะอายุยังไม่ถึง 20 หรือ 30 ด้วยซ้ำ นี่เป็นเรื่องของการฝึกฝน เป็นความพยายามที่จะสำรวจตรวจสอบตัวเองถึงสิ่งที่พบเห็นตลอดชั่วชีวิตการทำงาน ผลลัพธ์จะปรากฏอยู่ที่ตัวงาน ไม่ใช่คำพูด ผมบอกเลยว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าใครเป็นยังไง อย่าไปฟังเขาพูด ให้ไปดูงานที่เขาทำ อ่านหนังสือที่เขาเขียน หรือไปดูรูปที่เขาวาด ตรงนั้นคือความจริงที่ปรากฏให้เห็น อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนแต่ละคนมีความเชื่อไม่เหมือนกัน ก็แล้วแต่ว่าใครจะทำตามความเชื่อของตัวเอง สำหรับผมเนี่ย พออายุมากแล้ว สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ เราทำงานศิลปะเพื่ออิสรภาพ ตอนนี้ผมเป็นอิสระมาก 

WURKON:

จำเป็นไหมที่คนดูงานต้องเข้าใจหรือรู้สึกอย่างที่ศิลปินคิดหรือเข้าใจ

สมบูรณ์:

ไม่จำเป็น เขาควรจะเข้าใจในแบบที่เขาเข้าใจ แต่บางครั้งเขาก็เข้าใจแบบที่ศิลปินคิดหรือเข้าใจได้ ถ้าเขาศึกษามากพอ เขาก็จะเห็นสิ่งเหล่านั้น แต่มีอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่างานของผมบรรลุเป้าหมาย ก็คือ มีบางคนมาเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อดูงานของผมแล้ว เขารู้สึกมีความสุข รู้สึกสบายใจ ตรงนี้ผมฟังแล้วก็รู้สึกสบายใจมาก เพราะว่าเป้าหมายของเราก็ต้องการให้คนดูงานแล้วรู้สึกมีความสุข ความสบายใจ หรือแม้แต่คนบางคนที่สะสมงานของผมอยู่ในบ้านของเขาเป็นสิบกว่าปีแล้ว เขามาบอกผมว่า เขาไม่เคยเบื่องานของผมเลย เพราะไม่ว่าเมื่อไหร่ที่เขาไปทำงานแล้วเขากลับมาบ้าน พอเขามองไปที่ภาพของผม มันสร้างบทสนทนากับเขาโดยที่ผมไม่ต้องบังคับให้เขาไปดูงานเลย งานจะคุยกับเขาเอง โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเห็นตัวเราด้วยซ้ำ นี่คือหน้าที่ที่เรามอบหมายให้กับผลงานเหล่านั้น

WURKON:

หมายความว่าศิลปะสามารถสร้างความสุขให้กับคนได้

สมบูรณ์:

ใช่ ศิลปะสามารถสร้างความสุขให้กับคนได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ผมไปพักที่หัวหินมา 5 คืน ทุกๆ ครั้งที่ผมเดินออกไปชายทะเลตอนเช้าตรู่ ผมมีแต่คำว่าขอบคุณ เพราะว่าธรรมชาติให้ผมโดยที่เขาไม่ได้ต้องการอะไรจากเราเลย ผมรู้สึกว่าเราโชคดีมากที่ได้มาอยู่ต่อหน้าท้องทะเลที่เขาซึมซับรับความรู้สึกเรา หรือปรับเปลี่ยนความรู้สึกเรา นี่เป็นสิ่งที่โชคดีมากที่เราได้เจอบางสิ่งที่ให้เราอย่างเดียว โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทน ในฐานะมนุษย์ เราต้องทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าชีวิตมนุษย์นั้นสั้นเหลือเกิน แต่ธรรมชาติยืนยาวอยู่ต่อไป คนเราส่วนใหญ่อย่างมากอยู่แค่หกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบปี ก็จากไปแล้ว แต่ท้องทะเล เสียงคลื่น แม่น้ำ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกไม่รู้กี่ร้อยปี สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ เป็นวาระปรากฏที่เรามีโอกาสได้เห็นเขาสั้นมากๆ ถ้าเราได้เห็น ก็ถือเป็นโชคดีของเรา

WURKON:

การทำงานศิลปะเป็นการถ่ายทอดจิตวิญญานแห่งธรรมชาตินี้ออกมาไหม

สมบูรณ์:

การทำงานศิลปะคือการถ่ายทอดสิ่งที่เราพยายามเข้าใจความเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ และความเป็นธรรมชาติที่เข้ามาอยู่ในตัวเราเท่าที่เราจะรับรู้เขาได้ และเราก็บอกเล่าสิ่งนี้ผ่านความเป็นมนุษย์ของเรา พูดแบบนี้น่าจะชัดเจน

WURKON:

ถามนิดนึงครับ ในภาพวาดที่มีตัวหนังสืออยู่นี่เขียนว่าอะไรเหรอครับ

สมบูรณ์:

ประโยคในภาพนี้เขียนว่า “Jedes Wesen folgt seiner Natur” ผมได้มาจากหนังสือกวีของ ฮั่นซาน กวีจีนโบราณที่ถูกนำมาแปลเป็นภาษาเยอรมัน แปลเป็นไทยได้ว่า “จิตวิญญานของทุกชีวิตล้วนตามหาธรรมชาติของตนเอง”



WURKON:

ที่คุณสมบูรณ์บอกว่า คนทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องทำงานสกุลเดียวกันไปตลอด คุณเคยย้อนกลับไปทำงานในลักษณะเดิมบ้างอีกไหม

สมบูรณ์:

ก็มีบางทีเหมือนกัน แต่ถึงจะย้อนกลับไปทำงานในรูปแบบเดิม แต่เราก็ย้อนกลับไปทำด้วยความหมายใหม่ เหมือนเป็นการต่อยอดงานเดิมมากกว่า อันนี้น่าสนใจมากสำหรับตัวเราเอง เพราะเวลาเราย้อนไปทำเนี่ย เรามองคนละมุมไง พอมองคนละมุมปั๊บ งานก็ทำหน้าที่อีกแบบหนึ่งเลย อย่างงานบางชุด เมื่อก่อนอาจจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ภาพเขียนอย่างเดียว แต่ตอนนี้พอเราเอากลับมาทำใหม่ เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะจัดวาง 

WURKON:

ความหมายของงานก็เปลี่ยนไปด้วย?

สมบูรณ์:

ใช่ เปลี่ยนความหมายของเขาไปเลย พอเขาเปลี่ยนความหมายปั๊ป เราก็เลยเล็งเห็นความหมายอื่นๆ ไปด้วย ทำให้ตัวงานเกิดการต่อยอดตัวเอง และเติบโตขึ้นในเวลาที่เหมาะสม อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก 

WURKON:

เคยเห็นในสตูดิโอของคุณสมบูรณ์ที่ อ.เชียงคาน ว่ามีพื้นที่แสดงงานที่สวยงามลงตัวไม่ต่างอะไรกับหอศิลป์เลย คุณมีแผนที่จะเปิดเป็นหอศิลป์ให้คนทั่วไปเข้าชมไหมครับ

สมบูรณ์:

ปกติสตูดิโอของศิลปินที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม น่าจะเป็นตอนที่ศิลปินคนนั้นเสียชีวิตแล้วมากกว่านะ (หัวเราะ) จริงๆ เราทำหอศิลป์เพื่อให้ตัวเองชมมากกว่า เพราะที่บ้านเรา เราก็ให้ทางครอบครัวเขาดูแลไป แล้วงานแต่ละชิ้นของเราก็ใหญ่จนเต็มบ้านไปหมด เราก็เลยอยากสร้างตึกขึ้นมาอีกตึกหนึ่ง เพื่อจะติดตั้งงานที่เราทำ เราจะได้เข้าไปดูงานของเราในนั้นได้

WURKON:

เหมือนเป็นการทดลองจัดวางดูว่าจะแสดงงานเหล่านั้นยังไง?

สมบูรณ์:

ก็ด้วย เรียกว่าเป็นห้องค้นคว้าดีกว่า เป็นห้องที่ใช้สำหรับตรวจสอบงานของตัวเอง งานทุกชิ้นที่ทำเสร็จ ต้องเอามาตรวจสอบก่อน จนมั่นใจว่ามันโอเคแล้ว ถึงจะเอาไปเก็บ หรือเอาไปแสดงต่อได้ 

WURKON:

สงสัยอีกอย่างว่า พอสังเกตดูงานของคุณสมบูรณ์แล้ว ไม่เห็นมีลายเซ็นอยู่เลย ทำไมคุณไม่เซ็นชื่อบนผลงานล่ะครับ?

สมบูรณ์:

มีสิ อยู่หลังรูปไง ถ้าเป็นงานวาดเส้นเล็กๆ ก็จะมีลายเซ็นด้านหน้า แต่ถ้าเป็นงานเพ้นติ้งก็จะเซ็นด้านหลังรูป

WURKON:

ทำไมไม่เซ็นด้านหน้าล่ะครับ

สมบูรณ์:

คือผมมีความรู้สึกว่าลายเซ็นรบกวนงานน่ะ (หัวเราะ)

WURKON:

ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหนเหรอครับ?

สมบูรณ์:

เออ มันกวนงานไง เพราะถึงแม้คุณไปดูงานวาดเส้นของผม คุณก็จะเห็นว่าผมเซ็นเล็กมากๆ อันนี้ก็แล้วแต่นิสัยคนนะ สำหรับผม ผมรู้สึกงานมันสมบูรณ์แล้ว ไม่ควรต้องมีลายเซ็นเข้าไปอีก  แต่มีนักสะสมบางรายเขาก็ขอว่าให้ผมเซ็นชื่อด้านหน้าได้ไหม (หัวเราะ) ผมก็บอกว่า ผมเซ็นให้ได้ถ้าเขาอยากได้ แต่ผมก็อธิบายเหตุผลไปด้วย ว่ามันรบกวนงาน ในที่สุดเขาก็เข้าใจ และยอมให้เซ็นด้านหลังแทน

WURKON:

พอคุณพูดแบบนี้แล้ว รู้สึกเลยว่า พอไม่มีลายเซ็นแล้วงานของคุณดูลงตัวกว่าจริงๆ

สมบูรณ์:

มันดูสมบูรณ์เวลาไม่มีลายเซ็นไง แต่ลายเซ็นของศิลปินบางคนก็เข้ากับงานของเขานะ อันนี้ก็แล้วแต่จุดประสงค์ แต่จุดประสงค์ของผมคือ ผมไม่ต้องการให้มีลายเซ็นในงาน มันก็ไม่เคยมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว

WURKON:

มีงานชิ้นหนึ่งในนิทรรศการนี้ที่น่าสนใจมาก ภาพวาดพอร์ตเทรตรูปหน้าคุณสมบูรณ์ที่อยู่ห้องรับรอง ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าคุณวาดภาพพอร์ตเทรตด้วย

สมบูรณ์:

อันนั้นคืองานชุดมอเตอร์ไซค์ หน้าที่คุณเห็นเนี่ย คือผมบึ่งมอเตอร์ไซค์จากเชียงคานจนไปถึงพัทลุง จริงๆ ในภาพเนี่ยดูดีกว่าตัวจริงเยอะเลย (หัวเราะ) ถ้าคุณเห็นหน้าผมตอนนั้น คุณจะเห็นเลยว่ามีความเหนื่อยล้าและความโทรมอยู่บนใบหน้า เวลาที่เรามองบนกระจก ผมเพียงแค่ต้องการเขียนความรู้สึกตรงนั้นออกมา ภาพนี้ยังถูกเอาไปแขวนไว้เคียงข้างกับงานนามธรรมที่ผมผลิตในช่วงเวลานั้นด้วย ก็เป็นการค้นคว้าว่า ถ้าเราไปกับมอเตอร์ไซค์แล้วเราจะได้อะไรกลับมา

WURKON:

ขี่มอเตอร์ไซค์เสร็จแล้วกลับมาวาดหน้าตัวเองเลยเหรอครับ

สมบูรณ์:

เปล่า ผมบันทึกหน้าของเราไว้ด้วยการถ่ายรูปก่อน ระหว่างทางที่ขี่มอเตอร์ไซค์สองสามปีเนี่ย ผมบันทึกภาพตัวเองเอาไว้ด้วยกล้องตัวเล็กๆ คือช่วงนั้นผมไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร แต่เมื่อกลับมาบ้าน มีเวลาทบทวนดูว่าอะไรเป็นอะไร เราถึงค่อยๆ เกิดความคิดแต่ละรูปแบบขึ้นมาในภายหลัง เห็นไหมว่าภาพแต่ละก็มีที่มาของมัน 

WURKON:

ทำให้งานในนิทรรศการนี้มีความหลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว 

สมบูรณ์:

ใช่ แต่คุณจะเห็นว่าภาพนี้เขาไม่ได้อยู่ในห้องแสดงงาน แต่เข้าไปอยู่ในห้องรับรองพิเศษ เพราะถ้าอยู่ในห้องแสดงงานเขาจะโดดเด่นเกินไป แล้วภาพมันเล่าเรื่องราวคนละแบบ เราก็เลยเอาไปอยู่ในที่เฉพาะ สำหรับคนที่เข้าไปใช้ห้องนั้น

WURKON:

หลังจากนี้จะมีแผนจะทำนิทรรศการอีกไหมครับ

สมบูรณ์:

อีกสองปี อันนี้ต้องรอเจ้าภาพเขาตอบรับก่อน ก็น่าจะเป็นงานใหญ่ยิ่งกว่านี้อีกนะ

WURKON:

ที่เมืองไทยหรือเปล่าครับ

สมบูรณ์:

ที่เมืองไทยที่แหละ อย่างที่ผมแสดงที่นี่ ก็เพราะว่าเขาดูแลดี เป็นมืออาชีพ เพราะเราทำงานของตัวเองก็ทุ่มเทมากอยู่แล้ว ถ้าต้องไปแสดงในที่ที่การจัดการไม่ดี ไม่มีใครดูแล ก็จะเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ถึงพื้นที่แสดงงานจะดีก็ไม่มีประโยชน์ มันต้องมีการร่วมงานที่ดีด้วย อย่างในหอศิลป์นี้เขาดูแลทั้งการขนส่งงาน ข่าวสารให้เราทุกอย่าง ซึ่งดีมากๆ เลย 

WURKON:

ศิลปินก็แค่ทำงานของตัวเองไปอย่างเดียว

สมบูรณ์:

ศิลปินก็ร่วมวางแผนด้วยนั่นแหละ เพียงแต่เราต้องใช้คนที่มีความถนัดในหลายๆ ด้านมาทำงานร่วมกันกับเรา งานถึงจะเดินไปได้ด้วยดี

WURKON:

ไม่ต้องไปปวดหัวกับเรื่องอื่น

สมบูรณ์:

ใช่ เราเคยแสดงงานใหญ่ๆ กับภาครัฐมาไม่รู้กี่ครั้ง ลงทุนเยอะมาก และงานก็จัดดีมากด้วย แต่กลับประชาสัมพันธ์อ่อน คนไม่ค่อยรู้กัน เพราะเขาไม่มีความกระตือรือร้นที่จะประชาสัมพันธ์ แต่พอทำกับเอกชน เขามีความกระตือรือร้น เพราะว่าเขาก็ต้องได้ประโยชน์อย่างที่เขาควรจะได้ สำหรับผม ถือว่าเขาให้เกียรติมากที่เชิญผมเป็นศิลปินคนแรกที่มาแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่นี่ ก็แสดงว่าเราก็คงมีความหมายกับเขา เราก็น่าจะไม่ได้ทำให้พวกเขาผิดหวังนะ

WURKON:

เท่าที่เห็นคนที่มาดูก็ประทับใจกันทุกคนนะครับ

สมบูรณ์:

ก็ดีใจที่ได้ยินแบบนั้น เพราะเราตั้งใจให้งานทุกชิ้นมีสิ่งให้คนเห็นได้ถึงเส้นทางการทำงานของเรา เพียงว่าคนจะเข้าใจมันไหม ก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ง่ายนะ ที่จะแสดงให้เห็นว่าศิลปินคนหนึ่งเปลี่ยนจากการทำงานในรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบโดยที่ไม่มีการเตรียมตัว ไม่ใช่ว่าวันนี้เขียนแบบนี้ พรุ่งนี้เปลี่ยนไปเขียนอีกแบบ แต่ละกระบวนการต้องกินเวลาสี่ห้าปี หรือบางทีเป็นสิบปี

WURKON:

เป็นเวลาที่ยาวนานมาก

สมบูรณ์:

ใช่ มันทิ้งระยะเวลานานนะ กว่าที่เราจะเปลี่ยนจากการเขียนภาพแบบเข้มงวดและละเอียดมากกลายมาเป็นเขียนแบบผ่อนคลาย สบายๆ คนทำงานก็ต้องเรียนรู้เทคนิค เรียนรู้วิธีการ และการนำเสนอใหม่ๆ อย่างช่วงหลังเราไม่ค่อยได้เขียนสีน้ำมัน เพราะว่าสีน้ำมันแห้งช้า บางทีเราทำงานแบบสดๆ ไง ถ้าจะให้รออีกสามวันให้สีแห้งแล้วค่อยมาเขียนทับ เราก็จะลืมความเข้าใจและความรู้สึกขณะนั้นไปก่อนพอดี (หัวเราะ) ช่วงหลังๆ เราเลยเปลี่ยนมาเขียนเป็นสีอะครีลิค เพราะเราทำให้เขาแห้งเร็วได้ เราไม่อยากให้เทคนิคมาเป็นตัวบังคับเราในการทำงาน.

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพถ่ายบุคคลโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

ขอบคุณภาพถ่าย ข้อมูลนิทรรศการ และสถานที่จาก JWD Art Space 

#WURKON #art #artist #interview #talkwithmaster #somboonhormtientong #painter #sclupture #drawing #installation #foundobject #abstactart #creativity #แรงบันดาลใจจากศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่

สามารถติดตามข่าวสาร และสอบถามข้อมูล ได้ที่


Facebook: WURKON




Inbox Facebook : http://m.me/wurkon

Official Line : @wurkon หรือคลิก https://lin.ee/lXxX1gr

Tel : 02-005-3550, 097-157-8435, 097-161-8536

Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30