Blog

คุยกับ อเล็ก เฟส ศิลปินผู้หลอมรวมโลกของสตรีทอาร์ต กับงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์

คุยกับ อเล็ก เฟส ศิลปินผู้หลอมรวมโลกของสตรีทอาร์ต กับงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์

16 มีนาคม 2562

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีงานนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจงานหนึ่งจัดแสดงในบ้านเรา นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งสำคัญของศิลปินสตรีทอาร์ตระดับแนวหน้าของเมืองไทยและสากลอย่าง อเล็ก เฟส (Alex Face)

ถ้าพูดถึงชื่อนี้ คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการสตรีทอาร์ตอาจไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ แต่หลายคนอาจร้องอ๋อ ถ้าเราบอกว่าเขาเป็นเจ้าของผลงานศิลปะพ่นสีสเปรย์ตามท้องถนนในคาแรคเตอร์ของเด็กน้อยสามตา หน้าบึ้ง สวมชุดมาสคอตกระต่าย หรือ มาร์ดี (Mardi) ที่ปรากฏกายให้เห็นบนกำแพงหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงเมืองนอกเมืองนา ล่าสุด ปีที่ผ่านมาเขาได้ไปพ่นกราฟฟิตี้บนกำแพงอาคารพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ ที่ภูเก็ต จนเกิดเป็นดราม่าใหญ่โตในโซเชียลมีเดียและต้องลบทิ้งไปในที่สุด

อเล็ก เฟส หรือ พัชรพล แตงรื่น ศิลปินหนุ่มผู้ถือกำเนิดจากฉะเชิงเทรา เขาเข้าศึกษาในภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่แบ่งความสนใจและความหลงใหลให้กับศิลปะบนท้องถนนอย่างสตรีทอาร์ต (Street Art) และ กราฟฟิตี้ (Graffiti) ไปพร้อมๆ กัน เขาได้รับเชิญไปร่วมสร้างผลงานในงานเทศกาลศิลปะและนิทรรศการสตรีทอาร์ตในหลายประเทศทั่วโลก และมีผลงานแสดงเดี่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการครั้งล่าสุดของเขานี้มีชื่อว่า ALIVE ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (BANGKOK CITYCITY GALLERY) ไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2016 - 19 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา โดยในนิทรรศการนำเสนอผลงานศิลปะชุดใหม่กว่า 30 ชิ้นของเขา ที่ถูกถ่ายทอดในหลากหลายเทคนิคและการนำเสนอ ตั้งแต่งานจิตรกรรม ภาพลายเส้น งานประติมากรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงงานกราฟฟิตี้บนผนังด้านนอกของหอศิลป์ ผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้เป็นการหลอมรวมกันระหว่างผลงานสตรีทอาร์ตเข้ากับผลงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์ระดับมาสเตอร์พีซที่เขาหลงใหลได้อย่างกลมกล่อมและลงตัวเป็นอย่างยิ่ง

ถึงตอนนี้จะเป็นที่น่าเสียดายว่านิทรรศการของเขาจบไปแล้ว แต่ด้วยความที่เราบังเอิญได้พูดคุยสนทนากับศิลปินเจ้าของงานมาแบบเข้มข้นลงลึก (และยาวเหยียดตามฟอร์ม) เลยถือโอกาสเอาบทสนทนาและภาพจากผลงานในนิทรรศการของเขามาลงให้ดูชมและอ่านกันแบบเต็มอิ่มจุใจกันเลยก็แล้วกัน ขอเชิญติดตามกันได้ ณ บัดนาว

WURKON:

รู้มาว่าอเล็กเรียนศิลปะมาทางด้านจิตรกรรม ทำไมถึงหันมาสนใจสตรีทอาร์ตได้ล่ะ

อเล็ก เฟส:

พื้นเพผมก็เป็นเด็กชอบวาดรูปน่ะ ชอบขีดชอบเขียนตั้งแต่เด็ก ผมจำไม่ได้นะ แต่พ่อผมมาเล่าให้เพื่อนผมฟังว่าเด็กๆ ผมชอบเอาไม้มาลากวาดรูปบนพื้นดินน่ะ แต่ก่อนบ้านผมเป็นทุ่งนาไง ผมชอบไปขุดดินเหนียวในบ่อมาปั้นเล่นกับน้อง ชอบรูประบายสี แล้วก็วาดรูปมาตลอดน่ะ ช่วงประถมก็จะเป็นที่รู้จักในเรื่องของการวาดรูป ตอนอยู่โรงเรียนวัดแถวบ้าน เขาก็จะเรียนผมไปวาดรูปโชว์ เอ้า พัชรพลมาวาดรูปกวางให้เพื่อนดูหน่อย ผมก็เดินไปวาดให้ เสร็จแล้วก็เดินกลับ เขาคงเห็นว่าเราชอบวาดรูป โรงเรียนก็มีสอนศิลปะนะ ในวิชา สปช. แต่ไม่มีครูที่สอนศิลปะโดยตรง เด็กโรงเรียนวัดน่ะ ตอนประถมผมก็ไม่มีใครชี้ทาง ผมก็ไปของผมเองเลย เห็นเขาประกวดวาดรูป ผมก็อยากประกวดบ้าง แต่ไม่เคยส่งไปจริงๆ นะ ผมส่งไปรษณีย์ไม่เป็น แต่เห็นเขามีโปสเตอร์แปะ ผมก็วาดๆๆ บ้านของฉัน วาดในหลวง พระราชินี วาดตามปฏิทิน วาดหมดแหละ คิดว่าเหมือนมาก ตอนนั้นน่ะ (ยิ้ม) แล้วก็วาดดารา วาดการ์ตูน วาดสมุดเพื่อน วาดสมุดตัวเอง จนเข้ามัธยม ล่ะมั้ง ถึงได้มีครูศิลปะเข้ามาสอน ผมจำได้ว่ามันมีห้องศิลปะ แล้วมีรูปอยู่เต็มไปหมด โอ้โห สุดยอดเลยว่ะ! ผมเดินผ่านนี่เล็งตลอด อยากเข้าไปแต่ไม่กล้า มันเด็กไง พอเรียนคาบแรกก็เข้าไปเลย ดีใจมาก ครูก็ให้ทำการบ้านมาส่งรูปนึง อะไรก็ได้ แล้วก็วาดรูปทะเล ตั้งใจวาดเต็มที่น่ะ ไปหาปฏิทินหาอะไรที่ผมชอบมาเป็นแบบ แล้วก็วาดตาม ย่าผมก็มาคอยบอก ว่าทะเลไกลๆ มันต้องสีซีด ใกล้ๆ มันสีเข้มนะ มันมีแดดแล้วต้องมีเงาหรือเปล่า ผมก็ เออๆ ผมก็วาดไปส่งครู ครูก็เรียกผมไปคุยแหละว่าอยากมาวาดรูปให้ห้องศิลปะไหม ก็เลยได้เข้าไปเป็นตัวโรงเรียน ไปวาดรูปตั้งแต่ตอนนั้น แรกๆ ก็วาดเล่นๆ แหละ ไม่คิดหรอกว่าเขาจะพาไปประกวด ผมก็วาดเล่นๆ ทุกวันจนเขาให้ไปประกวด คราวนี้ก็เดินสายประกวดทั้งปี ตั้งแต่ ม.1 ม.2 ม.3 เข้าค่าย เหมือนเป็นเด็กกิจกรรมน่ะ แต่เป็นสายศิลปะ เวลาไปเข้าค่ายผมก็ต้องไปกับพวกเก่งเลข พวกตัวแทนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เก่งๆ เราก็จะรั่วสุด เพราะเราเป็นเด็กศิลป์ไง แล้วเวลาเรียนเขาก็จะเรียนผมไปซ้อม บางทีช่วงบ่ายผมไม่ต้องเรียนน่ะ “เอ้ย พัชรพล เดี๋ยวช่วงบ่ายนี้ไม่ต้องเรียนก็ได้นะ มาวาดรูป” ผมก็เดินออกจากห้องแล้วยิ้มให้เพื่อน แบบ เจอกัน กูไปวาดรูปละ มึงเรียนไปนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นถือเป็นช่วงฝึกเยอะเลย มีครูคอยติว ฝึกเรื่องคิดว่าจะต้องวาดอะไร แล้วก็ฝึกเรื่องเวลา ว่าต้องวาดให้ทันในสามชั่วโมง การประกวดมันให้สามชั่วโมง หัวข้ออะไรก็แล้วแต่ เก้าโมงถึงเที่ยง จบ แล้วก็มาตัดสินกันว่าใครจะได้รางวัล ผมก็ไปแข่งระดับเขต ระดับจังหวัด ผมอยู่ฉะเชิงเทราไง แล้วก็ไปแข่งระดับภาค ระยอง ชลบุรีอะไรอย่างงี้ ให้เข้ารอบเพื่อมาแข่งระดับประเทศ ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์อะไรอย่างงี้ แต่ผมก็ต้องซ้อมทุกวันน่ะ กินข้าวกลางวันเสร็จผมก็เข้าห้องศิลปะเลย ซ้อมหนึ่งชั่วโมงนั้น ช่วงบ่ายก็ไปเรียนตามปกติ หลังจากนั้นเลิกเรียนสามโมงครึ่ง ก็เข้าห้องศิลปะต่อเลย แล้วก็วาดจนหกโมง จับรถเมล์เที่ยวสุดท้ายกลับบ้าน เป็นอย่างงี้ตลอดเลย ซ้อมๆๆๆ ผมไม่มีเวลาไปเตะฟุตบอลน่ะ เราเป็นเด็ก เราก็อยากไปเล่นกับเพื่อนมั่ง อยากไปเตะฟุตบอล เตะตะกร้ออะไรแบบนี้ ครูมีงอนด้วย แบบบอกเรา ไอ้ตู่ ชื่อเล่นผมไง ถ้งมึงไม่อยากวาดก็ไม่ต้องวาดก็ได้นะ ไปเตะตะกร้อเลย (หัวเราะ) หลังๆ ผมก็เกรงใจครู แล้วผมก็รักครู เอ้า ไม่เตะตะกร้อก็ได้วะ! วาดรูปแม่งอย่างเดียว จนจบ ม.1 ม.2 ม.3 นี่ถือว่าฝึกวาดรูปโหดมาก จนรู้สึกว่า เรียนศิลปะดีกว่า แต่พ่อจะไม่ให้เรียน เขาเห็นผมชอบขีดเขียนแล้วการเรียนตก เขาเลยอยากให้ผมไปเรียน ม.ปลาย จบแล้วค่อยไปเรียนสถาปนิกไหม หรือไม่ก็ไปเป็นช่างเขียนแบบ ผมบอกผมไม่อยากทำแบบนั้น ผมอยากวาดรูป

WURKON:

เขาคงกลัวว่าเป็นศิลปินแล้วจะไส้แห้ง?

อเล็ก เฟส:

อย่างงั้นแหละ เขาก็แบบ แล้วจะทำอะไรกิน เขียนป้ายเหรอ? (หัวเราะ) อะไรก็ได้พ่อ ขอไปเรียนก่อนเหอะ พอพ่อจะไม่ให้เรียน ผมก็เอาข้อมูลไปนั่งคุยเลย ว่ามันเอ็นทรานซ์ได้เหมือนกัน สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนกัน จบแล้วได้ปริญญาเหมือนกัน เขาเห็นผมเอาข้อมูลอะไรไป เขาก็ เอ้าๆ จะไปก็ไป ก็เลยได้ไปเรียนศิลปะที่ อาชีวะฉะเชิงเทรา อะไรก็ได้ ขอให้มีศิลปะน่ะ ช่วงเรียนอาชีวะก็ฝึกต่อจาก ม.3 มันเหมือนเริ่มมาสนใจการวาดให้เป็นรูป เมื่อก่อนมันวาดแบบเด็กๆ วาดเอาไปประกวดน่ะ ผมเริ่มสนใจวาดหน้าคนให้มันเหมือนจริง ผมชอบไปดูที่เขาวาดกันตามห้าง เริ่มสนใจการวาดให้เป็นความจริง ช่วงนั้นก็เป็นการฝึกอยู่สามปี แล้วผมก็มีเพื่อนอยู่สองสามคนที่ชอบวาดรูป ปวช. นี่มันเป็นเด็กกะเลวกะราดเกือบหมดเลยนะ เด็กศิลป์มี 47 คน คือมันไม่รู้จะเรียนอะไร ก็มาเรียนไปอย่างงั้นแหละ จนตอนจบเหลือ 27 คน อาชีวะนี่เขามีให้เลือกเรียนหลายแขนง ผมก็เรียนวิจิตรศิลป์ เรียนวาดรูป เรียนปั้น ทำภาพพิมพ์ ช่วงนั้นก็ฝึกจนเข้ามหาวิทยาลัย มาสอบติดลาดกระบัง ก็ใกล้บ้าน ตอนเรียนลาดกระบังก็มาเรียนเรื่องแนวความคิด ก็มีเรียนเรื่องทักษะด้วย แต่ผมฝึกมาตอนเรียน ปวช. ค่อนข้างเยอะ เขียนสีน้ำสีน้ำมัน ผมนั่งเขียนทั้งวันน่ะ เหมือนพวกบ้าน่ะ บ้าเล่นเกม แต่เราบ้าวาดรูปน่ะ พวกบ้าเล่นเกม ก็จะบ้าเล่นทั้งวัน ส่วนผมกับเพื่อนสองสามคนที่คลั่งไคล้ อยากวาดรูป ไปดูหนังสือสีน้ำแล้วสวย อยากวาดให้ได้อย่างงี้ ผมก็ฝึกวาดกับเพื่อน พอมันมีเพื่อนแล้วมันสนุกไง เขาให้ส่งงานชิ้นเดียว ผมส่งเป็นสิบชิ้นน่ะ วาดตั้งแต่เช้ายันสองสามทุ่ม นั่งคุยกันไป เล่นกันไป วาดกันไป โดยที่เราไม่ตั้งใจว่ามันคือการฝึกน่ะ จนมาเรียมหาวิทยาลัยก็เลยมาเรียนเรื่องแนวความคิด ซึ่งตอนนั้นผมต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เรียนเรื่องแนวความคิดมาเท่าไหร่ ช่วงที่เรียนมหาลัยก็เริ่มมาดูงานศิลปิน ดูกระบวนความคิด พัฒนาการของศิลปินแต่ละคน เริ่มศึกษาความเป็นตัวของตัวเอง ขุดคอนเซ็ปต์ ขุดความสนใจของตัวเองขึ้นมา ผมก็เริ่มมาพ่นสีช่วงนี้แหละ

WURKON:

ทำเป็นงานเรียน?

อเล็ก เฟส:

ไม่ครับ ช่วงนั้นจะว่าไปก็เป็นช่วงค้นหาตัวเองสุดๆ สำหรับนักศึกษาศิลปะ เป็นช่วงสนุกกับการลองผิดลองถูก เป็นวัยรุ่นด้วยไง แต่การพ่นกราฟิตี้นี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเรียนเลย คือมีเพื่อนคนนึงที่เป็นตัวนำในการหาอะไรประหลาดๆ มันเอาหนังสือ Street Art ของฝรั่ง ที่มีงานของ แบร์รี แมคกี (Barry McGee) เดฟ คินซีย์ (Dave Kinsey) มา ผมดูแล้วก็ชอบเลย มันเจ๋งว่ะ สไตล์มันเรียบง่ายในความรู้สึกผม แบบเขาเอาสีมาปาดๆ แล้วก็ตัดเส้นเท่ๆ ซึ่งแบบนี้ทำในงานเรียนไม่ได้นะ เขาไม่ให้ผ่านหรอก เขาบอกว่ามันเป็นการ์ตูนน่ะ ผมเคยอยากทำพ่นไปส่งอาจารย์น่ะ แต่เขาว่ามันง่ายเกินไปน่ะ พอมองย้อนกลับไปมันก็จริงแหละ มึงเป็นนักศึกษามึงก็ต้องทำเยอะหน่อย ไม่ใช่มานั่งพ่นนิดนึงแล้วมาส่งอาจารย์ (หัวเราะ) ผมก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่งานเรียน แต่เป็นความชอบส่วนตัวมากกว่า ตอนเรียนผมก็เรียนภาพพิมพ์ด้วย ซึ่งมันก็ค่อนข้างจะคนละเรื่องเลย กระบวนการทำภาพพิมพ์มันมีขั้นตอน เทคนิค เยอะ ทำงานแต่ละชิ้นใช้เวลาเป็นเดือน แต่เวลาออกไปพ่นเนี่ย มันเสร็จเลยไง จำได้พอดูหนังสือเสร็จผมหาซื้อสีสองกระป๋อง สีแดงกับสีขาว พ่นบนซากรถโบราณแถวซอยหอพักผม พอพ่นแล้วมันสนุกมาก มันเหมือนเราได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่าง ตัดเส้นแป๊บเดียวเป็นงานละ มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่สวยหรอก แต่แม่งมันมากน่ะ ผมก็เลยทำต่อ ผมเริ่มพ่นตั้งแต่บ้านเช่าตัวเอง จนไปปากซอย ขยับไปในซอย แล้วช่วงนั้นกำลังเห่อเทคนิคใหม่ๆ เวลาเราดูงาน Street Art เมืองนอกมันก็มีโปสเตอร์ มีสเต็นซิล (ภาพฉลุ) มีเทคนิคต่างๆ ผมทำทุกเทคนิคน่ะ ผมทำจนเต็มลาดกระบังน่ะ จนเขาเกลียดขี้หน้าผมมากน่ะ เขาไม่ได้ชอบนะ (หัวเราะ) เขาเรียก “ไอ้หน้า” เพราะเมื่อก่อนผมพ่นหน้าตัวเอง ที่พ่นหน้าตัวเองก็เพราะเอาองค์ประกอบมาจากตอนที่เรียนภาพพิมพ์นั่นแหละ มาพ่น ตอนแรกพ่นชื่อตัวเองก่อน แล้ว พ่นไปพ่นมารู้สึกว่าผมอยากเล่นกับพื้นที่มากกว่า เพราะบางทีชื่อตัวเองมันเป็นการจำกัดรูปแบบมากเกินไป เวลาเราเล่นกับพื้นที่แล้วมันน่าเบื่อ ไม่มัน

WURKON:

ชื่อตัวเองนี่คือแท็ก (Tag) อ่ะนะ

อเล็ก เฟส:

ใช่ ชื่อ Alex นั่นแหละ มันเป็นฉายาของผมตอนเรียนอยู่แล้ว หลังจากนั้นผมก็เลยพ่นหน้าของผมลงบนกำแพง เพราะผมคิดว่ากราฟฟิตี้มันคือการประกาศตัวตน ใช่ไหม ฝรั่งมันบอกว่ากราฟฟิตี้มันคือการ Put Your Name Everywhere คือการ Vandal คือการทำลาย ผมก็เลยคิดว่าถ้างั้นผมประกาศตัวตนด้วยการเสนอหน้าดีกว่าไหม? เป็นกราฟฟิกลายเส้นง่ายๆ รูปหน้าผมครึ่งนึงโผล่มาบนกำแพง เพราะตอนนั้นผมใช้วิธีแอบพ่นบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้ขอใคร เดินกลางคืนก็พ่นกันไปเรื่อยกับเพื่อน มันก็เลยต้องเร็ว ต้องทำงานให้มันฉับไว และดูรู้เรื่องเลยว่าคือหน้า ให้คนเกิดคำถามว่า ทำไมต้องมีหน้าวะ? ผมพ่นแบบนี้อยู่ 7 ปี จนผมเบื่อเซ็งตัวเองน่ะ แต่ด้วยความที่อยากทำให้คนจำหน้านี้ให้ได้ เพราะกราฟฟิตี้มันคือการทำซ้ำน่ะ ก็คือหลักของงานโฆษณานั่นแหละ มันคือการทำซ้ำให้เกิดภาพชินตา ให้เกิดคำถาม ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ Alex Face มาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งมาจาก ฉายาของผมตั้งแต่สมัยเรียนว่า Alex และผมพ่นหน้า ผมก็เลยเติมคำว่า face หลังฉายาผมลงไป เพราะ Alex เฉยๆ มันก็ดูธรรมดาไปนิดนึง มันก็เลยเป็น Alex Face มาตั้งแต่ตอนนั้น

WURKON:

แล้วมาเปลี่ยนคาแรคเตอร์เมื่อไหร่

อเล็ก เฟส:

ผมพ่นจนเอียนน่ะ เลี่ยนตัวเอง เบื่อแล้ว ประกอบกับช่วงนั้นผมมีปัญหา เรื่องการพ่น คือผมไปพ่นบ้านของผู้มีอิทธิพลแถวนั้น เขาเป็นนายทหารน่ะ คือการลักลอบพ่นเนี่ย เวลามันมีผลกระทบที่ไม่ดีกลับมาหาเรา คนไม่โดนเนี่ยอาจจะไม่เข้าใจ ผมไปพ่นบ้านเขาโดยที่ไม่รู้ว่าเขาคือใคร ก็แค่อารมณ์คึกคะนอง เมา อาร์ต อะไรของเราน่ะ เจอแท๊งค์น้ำ โอ้ย แม่งต้องมีหน้า เติมตา เติมปาก กะว่าเขาต้องแฮปปี้ แต่โอ้โห! เขาโกรธฉิบหาย เขาตามหาตัวผมใหญ่ เขารู้ว่าคนทำคือ Alex Face แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาผมเป็นยังไง บางคนก็คิดว่าผมเป็นฝรั่ง แล้วผมลืมเรื่องนี้ไป แต่หลังจากนั้นผมดันไปพ่นแท็ก หน้าบ้านเขาที่เพิ่งทาสีเสร็จใหม่เอี่ยม ตอนสามโมงเย็น ตื่นเช้ามามีแท็กผมสีชมพูตรงมุม Alex Face ตอนนั้นหมาเห่าผม ผมก็เลยเอาสเปรย์ฉีดไล่หมา แล้วสเปรย์ไปโดนรั้วเขาเป็นรอยแบบแอปสแตรกนิดนึงน่ะ โอ้โห เขาโคตรโกรธ ผมก็เข้าใจแหละ ยังไม่พอ ผมยังไปพ่นกำแพงร้างที่นึง ไม่มีใครสนใจ แต่มันเสือกไปเป็นที่เขาอีกไง โอ้โห! ผมโชคดีที่ผมไม่เจอเขาน่ะ เขาตามมาแล้วไม่เจอผม แต่ไปเจอเพื่อนผมแทน เขาเลยด่าเพื่อนผมตั้งแต่บ่ายสองถึงห้าโมงเย็นน่ะ เขาบอกไว้ว่าอย่าให้เห็นอีกตัวมาเดินลาดกระบังอีก แม่งไม่มีอนาคตแน่ ผมก็เลยย้ายหอทันทีเลย เข้ามาอยู่ในเมืองมาอยู่รัชดาแทน

WURKON:

ตอนนั้นเรียนจบหรือยัง

อเล็ก เฟส:

จบแล้ว ผมพ่นตั้งแต่เรียนสี่ปี ตอนจบผมก็พ่นต่ออีกสามสี่ปี ประกอบกับที่ช่วงนั้นผมเบื่อและอยากหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ และอยากเปลี่ยนงาน และผมมีลูกพอดี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำคาแรคเตอร์เด็กสวมชุดกระต่ายขึ้นมา หลังจากนั้นผมก็เปลี่ยนวิธีการพ่นไป โดยไปขอติดต่อพ่นบนกำแพงที่เราคิดว่าเราจะทำงานด้วย โดยไม่ต้องไปทำหลบๆ ซ่อนๆ อีก และทำให้มันมีประเด็นขึ้น เพราะเราคิดว่าเราน่าจะเอาสิ่งที่เรียนมาเรื่องของแนวความคิด ซึ่งมันอาจจะออกมาโดยธรรมชาติด้วยซ้ำไป เหมือนพอเราเปลี่ยนวิธีการทำงาน มันเริ่มมีไอเดีย เริ่มมีคอนเซ็ปต์เข้ามา เริ่มมีตัวละครมาเล่าเรื่องได้อะไรได้ ผมก็เลยได้ทำงานในเทคนิคใหม่ๆ จากที่ตัดเส้นง่ายๆ ก็เริ่มเอาทักษะที่ฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ มาใช้ ทำสตรีทอาร์ตให้มันเป็นงานจิตรกรรมที่เราตั้งใจวาดจริงๆ ไปเลย สตรีทอาร์ตมันเป็นพื้นที่ที่คนเห็น เราได้เปรียบตรงที่เราได้พูด ได้สื่อสาร เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะสื่อสารผ่านงานศิลปะเนี่ยแหละ ทำให้มันเป็นพื้นที่ในการคุยในการสื่อสารกับคนเลยก็แล้วกัน คือช่วงที่เรียนเราก็เห็นวงการศิลปะในบ้านเรา เราเคยแสดงผลงานกับเพื่อนกับอาจารย์ เอาภาพพิมพ์มาแขวนแสดงกัน แล้วเราก็เห็นว่ามันไม่มีคนมาดู บางคนที่มาดูก็เป็น...

WURKON:

คนหน้าเดิมๆ

อเล็ก เฟส:

ใช่ คนที่เรียนศิลปะด้วยกัน เพื่อนกันนี่แหละ แม่งเห็นงานเราตั้งแต่ตอนทำแล้วน่ะ (หัวเราะ) นอกจากนั้นผมสังเกตว่ามันจะมีคนหรือสองคนเท่านั้นที่เป็นคนที่ไม่เกี่ยวแล้วเดินเข้ามางงๆ น่ะ ว่า อ๋อ มีนิทรรศการเหรอ แล้วก็มาดู แล้วก็ไป เขาไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่ามีนิทรรศการ เขาแค่บังเอิญเดินเข้ามา ผมอยากให้คนมาดูงานไม่ใช่แค่คนในวงการศิลปะเท่านั้นหรือเปล่าวะ เราจะทำงานศิลปะไปเพื่ออะไร ใช้เวลา ลงทุนสารพัด เพื่อมาแสดงแล้วไม่มีใครดู นับหัวได้เลย อย่างมากก็วันเปิดวันนึง ที่เหลือเงียบ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมก็เลยคิดว่าแสดงมันข้างถนนนี่แหละ เพราะฉะนั้นทุกที่ที่ผมไปพ่น ผมก็เลยคิดว่าเราทำงานเพื่อเป็น Free Art ด้วย เป็นการแอนตี้ป้ายอิงค์เจ็ต โฆษณา เป็นการแอนตี้ความเป็นกรุงเทพฯ ว่าถ้ากราฟฟิตี้มันผิด แล้วป้ายโฆษณาไม่ผิดเหรอวะ มันไม่เห็นสวยเลย ป้ายพรินต์แล้วเอาไปแปะมั่วๆ วันนึงมันเก่าแล้วก็กลายเป็นขยะแขวนอยู่ข้างบน ทัศนวิสัยแบบนี้มันสวยเหรอวะ? ผมเลยอยากจะแสดงความย้อนแย้งเหล่านี้ออกมา อย่างเวลาคนที่มาเห็นผมทำแล้วไม่เห็นด้วย ผมก็ถามว่า อ้าวพี่ พี่คิดว่าอย่างงี้ไม่สวย แล้วพี่ว่าป้ายอิงค์เจ็ตสวยหรือเปล่าล่ะ? พี่อยากได้อย่างไหนมากกว่ากัน ผมว่าอย่างนั้นมันไม่สวยกว่า อย่างงี้เรายังใช้มือคนทำ มันก็มีเรื่องที่จะไปคุยกับเขาด้วย มันเลยกลายเป็นว่าพอยิ่งพ่นมันยิ่งสนุกใหญ่เลย

WURKON:

เวลาพ่นนี่เอาทักษะตอนเรียนศิลปะมาใช้ด้วยไหม

อเล็ก เฟส:

ก็พวกทฤษฎีสี เพราะเทคนิคสเปรย์มันคนละฟิลลิ่งกับการวาดภาพเลย มันต้องควบคุมสเปรย์ให้ได้ แต่มันก็เป็นเทคนิคแหละ ทักษะเราก็มีอยู่แล้ว อย่างบางทีงานที่เป็นขนๆ เทคนิคมันอาจจะช่วยนำ ผมลองพ่นแล้วมันฟุ้งๆ ดี สนุกดี เลยลองพ่นขน ให้มันดูมีน้ำหนัก มีแสงเงา มีความนุ่ม เมื่อก่อนผมพ่นแข็งๆ ตัดเส้น ผมลองพ่นให้มันนุ่มๆ เพราะมันเป็นรูปเด็กด้วย

WURKON:

แล้วแบบนี้ทำให้ใช้เวลามากขึ้นไหน

อเล็ก เฟส:

สีสเปรย์อ่ะนะ โห เร็วครับ เทคนิคการพ่นสีสเปรย์มันเป็นอะไรที่เร็วเลยแหละ สำหรับคนที่ทำเป็นนะ สมมติว่าให้ผมใช้สีสเปรย์วาดรูป กับใช้สีน้ำ สีอครีลิก หรือสีน้ำมันวาดรูป ผมจบสีสเปรย์ได้เร็วกว่าหลายเท่าตัวมาก และมันจัดการกับพื้นที่ใหญ่ๆ ได้เร็วกว่าด้วย มันไม่ต้องมาผสมน้ำ ไม่จำเป็นต้องล้างพู่กัน บางคนถามว่าทำไมไม่ใช้แอร์บรัชล่ะ? ผมบอก ถ้าผมขึ้นไปพ่นบนที่สูงๆ แล้วจะต่อปั้มลมได้ยังไง (หัวเราะ) อะไรอย่างงี้น่ะ คิดง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก

WURKON:

สเปรย์มันสะดวก?

อเล็ก เฟส:

ใช่ แล้วอุปกรณ์พ่นสเปรย์เดี๋ยวนี้มันออกแบบมาเพื่อพ่นกราฟฟิตี้โดยเฉพาะเลย ผมทำงานชิ้นใหญ่ๆ บนผนังแกลเลอรีเนี่ย ผมห้าวันก็เสร็จ ถ้าคนอื่นมาดูเขาก็คงคิดว่าเกินห้าวันน่ะ แต่สเปรย์มันจบได้เร็ว ถ้าเราเข้าใจมันนะ แต่ถ้าไม่เข้าใจนะ มึงอยู่ไปเหอะ ไม่เสร็จหรอก (หัวเราะ) ผมพ่นมันเยอะมากจนเราเข้าใจมันไง เราควบคุมมันได้ รู้ขั้นตอน รู้โทนสี มันก็เลยเร็ว เพื่อนผมบางคนที่เรียนศิลปะด้วยกัน เห็นเราพ่นฟื้ดๆๆ เป็นรูป เฮ้ย แม่งง่ายว่ะ! มันขอเล่นบ้าง ผมวางสีให้มันเลย กูไปกินน้ำก่อน ให้แม่งเล่นเลย พอกลับมา เออ เชี่ยแม่งยากว่ะ! เออ ก็มึงไม่เคยหัดไง มันก็ยากดิ มึงไม่เข้าใจเทคนิค มึงไม่เข้าใจกล้ามเนื้อ มึงไม่เข้าใจน้ำหนักใกล้ไกล น้ำหนักตอนกด มันทุกอย่างน่ะ มันคือความชำนาญ มันคือความชินน่ะ เพื่อนผมที่ไม่เรียนศิลปะมันพ่นสีได้ เพราะมันชอบพ่น คนที่เรียนศิลปะมาพ่น พ่นไม่ได้ อะไรอย่างงี้ (หัวเราะ) ถ้างานกลางแจ้งผมก็เล่นสีสเปรย์นี่แหละ

WURKON:

ประเด็นนึงที่คนทั่วไปชอบถามคือ ถ้าเป็นสตรีทอาร์ตหรือกราฟฟิตตี้มันต้องแอบ ต้องลักลอบทำไหม ถึงจะเป็นสตรีทอาร์ตเป็นกราฟฟิตี้ที่แท้จริง

อเล็ก เฟส:

อย่างนั้นมันคือความสนุก มันคือวิธีการ คือมันมีปัจจัยให้ต้องออกไปทำอย่างงั้น เช่นเราอยากประท้วงอะไรสักอย่าง ผมว่าสตรีทมันต้องมีแง่มุมบางอย่างทำให้คนฉุกคิดหรือต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น แล้วถ้าเราจะประท้วงหรือแอนตี้อะไรสักอย่าง มันก็ต้องแอบทำน่ะ ยกตัวอย่างเช่นเราแอนตี้องค์กรอะไรสักแห่ง แล้วกำแพงนี้เป็นกำแพงที่เหมาะที่สุด ตรงคอนเซ็ปต์ที่เราจะเล่าได้ดีที่สุด มันต้องเป็นตรงนั้น และต่อให้เราขอเขาก็ไม่ให้แน่ๆ เพราะฉะเราก็ต้องแอบทำ ต่อให้ทำแล้วถูกลบทิ้ง เราก็จะทำอยู่ดี แล้วมันไม่นานไง สมมติเราผ่านไปตรงนั้นพอดี ทำปุ๊บๆ ปั๊บเสร็จแล้วก็ไปละ บางครั้งเอาง่ายๆ เลยนะ คือเคลียร์ง่ายกว่าขอ ผมเจอหลายทีละ บางทีขอแล้วเรื่องเยอะ อย่างงั้นอย่างงี้อย่างโง้น พ่นไปแล้ว เคลียร์ทีหลังดีกว่า แต่กำแพงนั้นมันก็ต้องเป็นกำแพงที่เราชอบด้วยนะ คือตอนหลังมีปัญหาก็คือ มีคนติดต่อมาบอกว่ามีกำแพงให้พ่น แต่กำแพงนั้นมันไม่สร้างแรงบันดาลใจ หรือไอเดียอะไรให้เรา มันไม่ทำให้เรามีความอยากที่จะพ่น สุดมันก็แล้วแต่สถานการณ์นั่นแหละ ว่า ณ ตอนนั้นเราต้องแอบทำไหม ถามว่าทุกวันนี้ผมแอบทำไม มันก็จะเป็นแอบซน แอบไปแปะสติ๊กเกอร์รูปงานผมอะไรมากกว่า แต่ไปพ่นเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ได้ทำแล้ว เพราะมันไม่มีเวลาด้วย เมื่อก่อนเวลามันเยอะไง เดี๋ยวนี้ทั้งลูกเอย งานเอย ร่างกายก็นอนดึกเหมือนเมื่อก่อนไม่ไหวแล้ว กลายเป็นว่าวิธีการพ่นของผมตอนนี้ก็เปลี่ยนไป คือทำงานหาเงินก็ส่วนนึงละ งานที่เราไปทำในเทศกาลกราฟฟิตี้ก็ส่วนนึง หรือพื้นที่ส่วนรวมที่ผมไปพ่นแล้วรู้สึกว่ามันแชร์อะไรได้ อีกอย่างนึงที่ผมคิดกันกับเพื่อนก็คือ อยากไปพ่นในพื้นที่ที่มันรกร้าง พื้นที่ที่มันซบเซา ที่พอเราไปพ่นแล้วทำให้มันครึกครื้นขึ้นมาอีกครั้ง อย่างล่าสุดเพื่อนผมไปทำที่คลองเจ็ด ซึ่งตรงนั้นเป็นตลอดร้อยปี มันมีเรื่องราวของชุมชน แต่ตอนหลังมันไม่มีใครไป เหมือนตลาดมันถูกลืมและกำลังจะตาย พอไปทำเสร็จปุ๊บคนก็กลับไปถ่ายรูป ไปเดินตลาดอีกครั้ง ชาวบ้านแถวนั้นก็แฮปปี้

WURKON:

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ อเล็กเองก็เพิ่งมีประเด็นที่ภูเก็ตด้วยเหมือนกัน

อเล็ก เฟส:

ใช่ แรกเลยคือตัวเมืองภูเก็ตก็ไม่ค่อยมีคนเดินเท่าไหร่ เขาไปริมชายหาดกันหมด เขาก็เลยอยากให้เราไปทำสตรีทอาร์ตให้คนมาถ่ายรูป

WURKON:

แล้วทำไมถึงมีเรื่องมีราวจนต้องลบทิ้งล่ะ

อเล็ก เฟส:

เขาก็คงเข้าใจผิดกัน ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันเท่าไหร่นะ ผมเฉยๆ ไม่ได้อะไร ผมเจอแรงเสียดทานแบบนี้มาเยอะแล้วไง พอมาเจออะไรแบบนี้ผมก็ชินไง ตอนเกือบโดนทหารกระทืบไม่เครียดกว่าเหรอ? ใช่ไหม (หัวเราะ) เมื่อก่อนผมต้องคุยกับตำรวจเอง ผมโดนเทศกิจจับ ผมโดนเด็กแว๊นซ์มาหาเรื่องตอนผมออกไปพ่นกลางคืน ผมไปพ่นกำแพงตอนเขาขายยาบ้าแล้วโดนเอามีดมาไล่ผมอะไรเงี่ย เรื่องนี้มันเล็กน้อย ผมไม่ได้ใส่ใจแม้แต่นิดเดียว! แต่ทุกคนแบบ โห เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องของเรื่องคือ ตอนผมไปพ่นแล้วมีคนไปถ่ายรูปตอนที่ผมกำลังร่างอยู่ มันยังไม่เสร็จ มันเป็นแค่ภาพร่างมั่วๆ แล้วเขาก็ไปโพสต์โซเชียลมีเดียว่า ผมเห็นภูเก็ตเป็นอะไร เขานึกว่าผมมือบอนมาพ่นเล่น ซึ่งเขาไม่รู้ว่ามันคือโปรเจ็กต์ของเมืองภูเก็ต พอเขาไปโพสต์เสร็จ คนก็เข้ามาด่ากันมันเลย ผมพ่นๆ อยู่น้องก็เอาโทรศัพท์มาให้ดูว่า พี่ โดนแล้วว่ะ! ผมก็ เฮ้ย โดนแล้วว่ะ! (หัวเราะ) ผมก็ขำ ดูซิจะทำยังไงกัน ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นข่าวใหญ่ขนาดนั้น พอตอนเย็น เทศกิจมา ก็ให้ทางผู้จัดงานเคลียร์ให้ ผมก็พ่นไป สักพัก ตำรวจมาอีก มาขอบัตรประชาชน ผมก็บอก ไม่มีพี่ ก็กวนตีนเขาไปอย่างงั้นแหละ เขาบอก ไม่มีได้ไง คนไทยหรือเปล่า? ผมบอก เอาไปเช่ารถแล้ววว! หลังจากนั้นก็มากันมากมาย พลเมืองดีก็มาถาม คุณขอใครหรือยัง โน่นนี่นั่น ผมก็บอกว่านี่เป็นงานที่ตัวเมืองภูเก็ตจัดเลยครับ ไม่ได้พ่นมั่ว ตอนหลังทีมงานเขาก็มาบอกว่า มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการแล้ว ผมก็ อ้าว! ผมยังพ่นไม่เสร็จเลย! พ่นค้างไว้ไม่เสร็จ ผมทำไม่ได้ มันต้องทำให้เสร็จ ผมถามว่าแล้วตอนนี้คนยกเลิกอยู่ไหน? เขาบอกว่าตอนนี้นายกเทศมนตรีดูหนังอยู่ ผมบอก ให้เขาดูหนังไปก่อนเลยพี่ ถ้าเขาจะมายกเลิก ให้เขามายกเลิกที่นี่ ไม่ใช่ที่โรงหนัง ผมก็ทำต่อ ไม่รู้ล่ะ ยกเลิกไม่ยกเลิกไม่รู้ ผมต้องทำให้เสร็จ แล้วคนก็มุงกันเต็มไปหมดน่ะ ไม่รู้มาจากไหนกัน ห้าทุ่มเที่ยงคืนแล้วน่ะ

WURKON:

กลายเป็นว่าโซเชียลมีเดียทำให่้คนลุกฮือกันไปใหญ่

อเล็ก เฟส:

ใช่ แล้วบางคนออกตัวแรงไง พอสุดท้ายเรื่องมันตีกลับ พอคนเห็นด้วยกับผม ก็เบรกกันไม่อยู่เลย คือพอดูเรื่องดูราว ดูความน่าจะเป็นอะไรทุกอย่างแล้ว ตึกนั้นมันมีกราฟฟิตี้มันก็โอเคเลย สุดท้ายผมก็บอกเขาเองแหละ ว่าผมจะลบเอง คือผมบอกเลย ว่าผมไม่ได้ทำให้กำแพงแตกหรือเสียหายแม้แต่นิดเดียว ผมแค่วาดรูปลงไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พอใจ ลบแม่งเลย! เขาบอก ลบไม่ได้ๆ อ้าว ทำไมล่ะพี่ มันมีเจ้าของแล้ว มันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว สรุปมีหน่วยงานสองฝ่ายตีกัน เข้าประชุมกันทั้งเมืองภูเก็ต สุดยอด! ตอนที่เขาประชุมกันสองวัน ผมก็ถือโอกาสไปเที่ยว พาลูกไปว่ายน่้ำ ปีนเขา ก็ถือว่าดีแหละ

WURKON:

แล้วตกลงจบยังไง

Still image: Alex Face PHUKET, 2016, 1 min video © Alex Face / BANGKOK CITYCITY GALLERY

อเล็ก เฟส:

ผมก็เสนอว่าผมจะลบ ผมเป็นคนทำ ลบได้ ไม่มีปัญหา แต่ก็มีคนออกมาว่าไม่ให้ลบ อีกคนก็จะให้ลบ ตีกันอีก ผมก็เลย เอ้า! ทิ้งไว้เดือนนึง แล้วผมก็บินกลับไปลบอีกรอบ ซึ่งผมคิดแล้วว่าผมจะลบให้เป็นแอนิเมชั่นแบบสต็อปโมชั่น อ่ะ ไหนๆ ก็ต้องลบแล้ว งั้นขอลบให้เป็นศิลปะอีกชิ้นนึงก็แล้วกันวะ ให้เขาเห็นวิธีการทำงานของเราว่าผมพยายามคิดนะ ผมไม่ได้มามั่วๆ นะ ผมลบผมยังกวนส้นตีนคุณเลย (หัวเราะ) ผมก็ลบให้มันเป็นรูปอ้วกแตก ฉี่แตกน่ะ ก็จะลบแบบนี้น่ะ แต่ผมลบ 12 ชั่วโมงน่ะ โอ้โห! เหมือนวิ่งมาราธอนน่ะ ทำตั้งแต่บ่ายสอง ถึงตีสอง คือมันต้องทำทีละนิดๆ ลบแล้ววิ่งออก ให้เพือนถ่ายรูป สองกำแพง ตอนหลังเพื่อนมาช่วย โหย ปวดขาไปหมด แต่มันมาก

WURKON:

แล้วมีใครมาดูไหม

อเล็ก เฟส:

โอ้โห! ผมไม่บอกใครเลยนะ ว่าจะไปลบวันไหน แต่มีนักข่าวไปสืบว่าผมจะลบวันไหน วันที่ลบผมผ่านไปตรงนั้น ผมมองไป โอ้โห! บอกกับเพื่อน กูไม่อยากเข้าไปเลยว่ะ คนมุงกันเต็มเหมือนปิดถนนเลยน่ะ รถจะวิ่งกันไม่ได้น่ะ ผมไม่อยากฝ่าฝูงชนเข้าไปเลย เพราะมันเป็นเรื่องของผม ทุกคนรอผมกัน มันไม่สนุกน่ะ แต่ผมก็ตั้งสติ เข้าไปถึง ผมก็ประกาศเลย ทุกคนครับ ผมจะยืนตรงนี้ ใครอยากถามอะไร มาทีเดียว ถามทีเดียวพร้อมกัน แล้วจบไปเลย ผมจะได้ทำงาน ไม่งั้นคนจะแย่งกันถามไง ก็รุมถามกันอยู่พักนึงน่ะ เสร็จแล้วผมก็เริ่มลบ ช่วงนั้นก็มีคนมาดูตลอด ผมว่ามันก็สนุกดี เป็นไฮไลท์ของชีวิตน่ะ มันดี ผมถึงบอกว่าผมไม่เครียดเลย เจอคนผมก็แจกสติ๊กเกอร์ คนนั้นคนนี้ คนภูเก็ตก็น่ารัก มาเทคแคร์ผมทุกอย่าง เห็นผมไปนั่งร้านอาหารแล้วร้อง โอ้ย อเล็กเป็นอะไรเหรอคะ? อ๋อพอดีเดินขึ้นลงเยอะ ปวดขานิดนึงครับ อ๋อ เหรอๆ แป๊บนึงนะ โหลๆๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้สิบเอ็ดโมงครึ่งคุณอเล็กเขาจะไปนวดนะ (หัวเราะ) เขาพาไปนวด พาไปกินข้าว มัน! โคตรสนุกเลย เดี๋ยวต้องกลับไปอีก

WURKON:

มาถึงนิทรรศการครั้งนี้ของคุณบ้าง ALIVE นี่มีที่มายังไง

อเล็ก เฟส:

ตอนแสดงงานปี 2012 ผมทำงานแบบนี้ไว้รูปนึง มันผุดขึ้นมาในวินาทีสุดท้ายก่อนที่ผมจะแสดงงาน ผมวาดรูปท้องฟ้า ก้อนเมฆเล่นๆ อยู่ มันทำให้ผมคิดถึงฟีลลิ่งของอิมเพรสชั่นนิสม์น่ะ ผมก็เลยขึ้นงานชิ้นใหม่เลย ผมคิดถึงภาพวาดบึงบัวที่มีสะพานของ ของโมเน่ต์ (Bridge over a Pond of Water Lilies, 1899) แล้วผมก็วาดเด็กสวมสวมชุดกระต่ายกำลังเดินข้ามสะพานอยู่ เหมือนผมหลุดเข้าไปในโลกของอิมเพรสชั่นนิสม์ ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยเห็นงานจริงของโมเน่ต์มาก่อนเลย ผมอยากเห็นงานจริงของเขามากเลย เพราะผมเคยก็อปปี้รูปโมเนต์เลี้ยงชีพสมัยเพิ่งจบใหม่ๆ เป็นออเดอร์ วาดอยู่พักนึง ผมก็สงสัยมาตลอดว่างานโมเนต์จริงๆ มันเป็นยังไง สีเป็นยังไง ทีแปรงของจริงมันเป็นยังไง พอดีช่วงที่ไปยุโรปนี่แหละ ผมไปเจอชิ้นแรกที่อังกฤษ เข้าพิพิธภัณฑ์ไปดู เหมือนเจอดาราคนโปรดน่ะ ดูอย่างเพลิน ยืนดูแต่โมเนต์ทั้งวัน จน รปภ. มาเล็งผมเลยน่ะ บอกให้ยืนห่างๆ หน่อย เพราะผมเข้าไปดูจนชิดรูปเลยน่ะ แล้วก็ไปดูอีกทีตอนไปญี่ปุ่น มันมีนิทรรศการหมุนเวียนมาแสดงพอดี โคตรโชคดี ได้ดูบึงบัว ได้ดูหลายชิ้นเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยไปดูที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมคิดว่าผมอยากจะไปก่อนทำนำทรรศการนี้ แต่ตัดสินใจไม่ไปดีกว่า เพราะถ้าไปแล้วก็อยากเที่ยวให้ทั่วไง ไหนๆ ก็ไปตั้งไกลแล้ว ก็เลยไม่ไป เอาเท่าที่รู้สึก เท่าที่ฟีลลิ่งเรามี ชิ้นนี้มันก็ต่อเนื่องมาจากทำชิ้นแรก บวกกับความที่เราเดินทางไปยุโรป เห็นเด็กมาพิพิธภัณฑ์มาดูงาน ผมก็รู้สึกว่า กว่าเราจะได้ไปดู เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์มา โคตรอยากดูงานพวกนี้แต่ไม่มีปัจจัยให้เราดูได้ ถ้าผมได้ดูตอนช่วงนั้นผมจะอินแตกมากกว่านี้อีก แบบ ตอนถ้านอนกูได้มานี่กูกรี๊ดไปละ กูคงหนักกว่านี้ ก็เลยอยากจะเอาความรู้สึกแบบนั้นเขามาอยู่ในนิทรรศการของผมไง แล้วผมดีใจมากเลยนะ ที่พอแสดงแล้วมีเด็กมาดูงานเยอะ เพราะเหมือนเด็กได้ดูงานศิลปะที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูงานในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เด็กๆ ถึงแม้มันจะเป็นของก็อปก็เถอะ แต่มันได้อารมณ์ไง ผมจำลองอารมณ์ของพิพิธภัณฑ์มา เอาอิมเพรสชั่นนิสม์มาเล่น แล้วทุกครั้งที่ผมดูอิมเพรสชั่นนิสม์ ผมรู้สึกว่ามันมีความคล้ายคึงกับสตรีทอาร์ต ทั้งๆ ที่รูปแบบมันคนละเรื่องเลยนะ แต่มันมีจุดร่วมของความทับซ้อนในยุคสมัยบางอย่างที่คล้ายกัน เช่นมันโดนต่อต้าน ไม่เป็นที่ยอมรับในยุคแรกๆ เหมือนกัน เพราะมันขบถออกมาจากวิถีดั้งเดิม มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะไม่เข้าใจในตอนแรก อิมเพรสชั่นนิสม์มันเป็นจุดเปลี่ยนของศิลปะ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ศิลปินไม่ทำงานรับใช้ศาสนา ไม่รับใช้สังคมชั้นสูงอีกต่อไป แต่ศิลปินหันมาทำงานรับใช้ตัวเอง รับใช้สังคม หันมาเขียนรูปคนทั่วไป แล้วมันก็ทำงานกลางแจ้งเหมือนกันด้วย ซึ่งตรงจุดนี้มีความคล้ายคลึงกับกราฟฟิตี้

WURKON:

กลายเป็นจุดร่วมกันไปเฉยเลย

อเล็ก เฟส:

ใช่ มันมีจุดร่วมเหมือนๆ กัน เมื่อก่อนผมอยากเป็นศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ไง ไปไหนผมเอาเฟรมไปสองอันประกอบกันไป มีขาหยั่ง อุปกรณ์พร้อม อย่างสองรูปในนิทรรศการเป็นรูปที่ผมวาดตั้งแต่สมัยเรียนน่ะ มันเป็นความคลั่งไคล้ วันไหนฟ้าสวยๆ เนี่ย กูต้องเก็บๆ วิ่งไปเอาเฟรมมาวาดรูปหน้าบ้าน นิทรรศการนี้ก็เหมือนเราก็เอาตัวตนที่เราชอบทั้งสองอย่างมารวมกัน

WURKON:

มาแสดงงานในหอศิลป์แบบนี้มันก็ไม่ใช่สตรีทอาร์ตหรือกราฟฟิตี้แล้วสิ

อเล็ก เฟส:

มันไม่ใช่กราฟฟิตี้ไม่ใช่สตรีทอาร์ตตั้งแต่ตอนที่มันเข้ามาอยู่ในแกลเลอรีแล้วล่ะ (หัวเราะ) มันคืองานชุดนึง คือนิทรรศการศิลปะอันนึงที่กำลังจะเล่าเรื่องอะไรบางอย่างให้คนเข้ามาดูกัน

WURKON:

แบบนี้คุณสูญเสียความเป็นตัวตนในฐานะศิลปินสตรีทอาร์ตไหม

อเล็ก เฟส:

มันก็คือการทำงานอีกรูปแบบนึงเท่านั้นเอง ผมคิดอย่างนั้นนะ เพราะผมก็ยังสนุกกับการออกไปพ่นสีอยู่ คือผมสนุกกับทุกอย่างที่ทำน่ะ มันไม่ใช่ว่าเราอยากออกไปพ่นข้างนอกอย่างเดียว เราสนุกกับการนั่งอยู่ที่บ้านเงียบๆ วาดรูปสบายๆ ผมยังปั้นดินเหนียว อารมณ์เหมือนตอนเป็นเด็กๆ เลย ผมคิดว่าผมโชคดีที่ผมได้ทำในสิ่งที่ผมชอบเหมือนตอนเด็กๆ เลย ทุกอย่างมันเอื้อกันหมดเลยน่ะ บางทีเราทำงานสเก็ตซ์สำหรับภาพวาดอยู่ เฮ้ย น่าพ่นว่ะ เราก็ไปพ่น หรือบางทีเราออกไปพ่นอยู่ เฮ้ย อันนี้น่าเอาไปวาดว่ะ มันเอื้อกันไปกันมามากกว่า เรื่องที่จะพูดมันเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านคาแรคเตอร์เดียวกัน มันก็เลยไม่ได้แบ่งแยกออกจากกันขนาดนั้น มันเป็นแค่สื่ออย่างนึงมากกว่า

WURKON:

ลืมถามเลย คาแรคเตอร์เด็กสามตาเนี่ย รู้ว่าได้จากลูกแหละนะ แต่ทำไมมันถึงมีรูปลักษณ์แบบที่เห็น

อเล็ก เฟส:

คาแรคเตอร์นี้มันดูเหมือนเป็นกระต่าย แต่ความจริงมันก็ไม่เชิงเป็นกระต่ายซะทีเดียว ผมอยากให้มันดูเป็นอารมณ์แบบ เด็กที่ไร้เดียงสา ดูเป็นเหยื่อ เพราะผมคิดว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่น่าจะเปรียบกับความเป็นเหยื่อได้ดี แล้วหูมันก็แสดงอารมณ์ หูตกมันเศร้า หูตั้งมันตื่นเต้นอะไรอย่างงี้ ผมได้ไอเดียมาจากตอนดูข่าวเด็กที่ถูกทำร้าย เด็กห้าเดือนถูกกระทืบ ถูกอะไร แล้วพอเรามีลูกด้วย ก็เลยคิดว่า มันทำได้ยังไงวะ ใจมันทำด้วยอะไร ผมเลยทำภาพเด็กที่ดูเสื้อขาด ขนหลุด โดนกระทำย่ำยี ผมก็เลยเอาคาแรคเตอร์นี้มาเล่าเรื่องเด็กที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อ หน้าตาก็จะดูกังวลหน่อย มันก็เลยมีตาที่สามเอาไว้คอยเฝ้าระวังภัย อีกอย่าง ตาที่สามมันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาสองตา เรื่องของจิตวิญญาณ ความเชื่อ ซึ่งมันพิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แต่มันมีอยู่

WURKON:

นิทรรศการครั้งนี้มันสื่อถึงแนวคิดอะไร

อเล็ก เฟส:

นิทรรศการนี้ผมเอาอิมเพรสชั่นนิสม์* มาผสมกับงานของผม เอาบึงบัวของโมเนต์มา ซึ่งมันแทนความรู้สึกเราตอนเด็กๆ ที่เราอยู่บ้านนอก กับบึงบัว กับคลอง แล้วผมก็อยากพูดถึงสังคมตอนนี้ ที่มันเป็นภาวะนิ่งๆ สถานการณ์การเมืองมันเรียบ นิ่ง แต่ไม่รู้ว่ามันมีอะไรอยู่ใต้น้ำหรือเปล่านะ ทุกอย่างดูเหมือนสวยงาม แต่เราพูดอะไรไม่ได้ เราแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้ เหมือนเราจมอยู่ในน้ำ น้ำมันท่วมปากเราอยู่ งานชุดนี้ก็จะมีภาพเด็กจมอยู่ในน้ำ น้ำท่วมปาก พูดอะไรไม่ได้ แล้วก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ถูกทำซ้ำด้วย อย่างผมก็อปปี้งานโมเนต์มา มันก็เหมือนกับประวัติศาสตร์มันก็วนเวียนซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา ผมไม่ได้พูดตรงๆ หรอก แต่เป็นการเปรียบเปรยมากกว่า หรือภาพที่เด็กที่อยู่กับบึงบัว อยู่กับน้ำ มันมีความอันตรายซ่อนอยู่ เด็กในภาพที่เห็นมันลงไปว่ายน้ำเล่นหรือกำลังจะจมน้ำกันแน่? ผมเลยตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า ALIVE (รอดชีวิต) มันเหมือนสุดท้ายแล้ว จะไปหวังพึ่งใครก็ไม่ได้หรอก เราต้องเอาตัวรอดกันเองในสถานการณ์แบบนี้ให้ได้นั่นแหละ

*อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในศตวรรษที่ 19 ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอชีวิตในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ และภาพวิถีชีวิตของคนทั่วๆ ไปผ่านการสังเกตอย่างตรงไปตรงมา และมักจะวาดภาพด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบๆ ด้วยความรวดเร็วเพื่อจับห้วงเวลาชั่วขณะที่อยู่ตรงหน้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วพริบตา โดยมีศิลปินเด่นๆ อย่าง เอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet), คามิลล์ ปิซาร์โร (Camille Pissarro), เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas), โฆล้ด โมเน่ต์ (Claude Monet) และ ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) เป็นอาทิ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

#WURKON #art #graffiti #streetart #ALIVE #exhibition #mardi #painting # impressionism #monet #BANGKOKCITYCITYGALLERY #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30