Blog

สุนทรียะแห่งการผสมผสาน อลังการแห่งงานสร้างในหนังอีโรติก The Handmaiden

สุนทรียะแห่งการผสมผสาน อลังการแห่งงานสร้างในหนังอีโรติก The Handmaiden

15 มีนาคม 2562

The Handmaiden

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับการล้างแค้นและการไถ่บาปดังเช่นในไตรภาคแห่งการล้างแค้นอย่าง  Sympathy for Mr. Vengeance (2002), Oldboy (2003), Lady Vengeance (2005) แล้ว สิ่งที่ผู้กำกับเรืองนามชาวเกาหลีอย่าง พักชานอุก ลุ่มหลงและมักถ่ายทอดในหนังของเขาก็คือประเด็นเกี่ยวกับความหมกมุ่นในกามารมณ์และตัณหาของมนุษย์ ดังเช่นในผลงานอย่าง Thirst (2009) และ Stoker (2013)

ล่าสุดเขากลับมาเล่นกับประเด็นนี้อีกครั้งใน The Handmaiden (2016) หนังอีโรติกทริลเลอร์เชิงจิตวิทยาที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง Fingersmith ของนักเขียนชาวเวลส์ ซาราห์ วอเตอร์ส โดยเปลี่ยนฉากหลังในยุควิคตอเรียนในหนังสือให้กลายเป็นประเทศเกาหลีในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น

หนังเล่าเรื่องราวในปี 1930 ของประเทศเกาหลีในยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซุกฮี (คิมแทรี) หญิงสาวชาวบ้านท่าทางไร้เดียงสาถูกส่งตัวเข้าไปทำงานเป็นสาวใช้ให้ ฮิเดโกะ คุณหนูสูงศักดิ์ ผู้เก็บตัวในคฤหาสหรูหราโดยมี โคซุกิ (โจจินวุง) ลุงที่คอยควบคุมบงการชีวิตของเธอตลอดเวลา แต่แท้ที่จริงแล้ว ภายใต้ความไร้เดียงสาของสาวใช้ เธอคือโจรล้วงกระเป๋าที่ถูกฟูจิวาระ (ฮาจองอู) เคานท์กำมะลอส่งมาเป็นนางนกต่อเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เขาได้แต่งงานกับฮิเดโกะเพื่อฮุบสมบัติ แต่ความใกล้ชิดของสองสาวเกิดเป็นความผูกพันและความสัมพันธ์อันลึกซึ้งจนนำไปสู่การทรยศหักหลัง หลอกลวง และความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอันสุดจะคาดเดา

“ผมไม่แน่ใจว่าความหมกมุ่นในกามารมณ์จะเป็นธีมที่สำคัญกว่าความตายและการล้างแค้น ซึ่งผมมักจะสำรวจในหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ของผม แต่ผมสนใจในการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ และมันก็มีหนังไม่กี่เรื่องที่สำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมานัก”  พักชานอุก ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นอเทวนิยม (ผู้ที่ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า) ซึ่งเติบโตในครอบครัวคริสต์นิกายคาทอลิกในเกาหลี กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าความสนใจในการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับบาป ความรู้สึกผิด และความลุ่มหลง จะมาจากการที่เขาถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวคาทอลิก และยังกล่าวว่าศาสนาคริสต์คาทอลิกในเกาหลีมีความแตกต่างอย่างมากจากศาสนาคริสต์คาทอลิกแบบดั้งเดิมในประเทศอย่างอิตาลีและสเปน ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในเกาหลีไม่ค่อยเน้นที่เนื้อหาของบาปและความรู้สึกผิดนัก มันค่อนข้างก้าวหน้าและเปิดกว้าง และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเกาหลี ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมในการปลูกฝังการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศเกาหลีอีกด้วย”

เขาเชื่อว่าความหลงใหลในประเด็นเกี่ยวกับความรู้สึกผิดบาปของเขามาจากประสบการณ์ในอดีตสมัยที่ยังหนุ่ม “ผมเติบโตในยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์เกาหลีความเคลี่อนไหวของนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย ผมเห็นเพื่อนของผมหลายคนถูกทางการจับกุมตัว หลายคนถูกทรมาน อื่น ๆ ถูกบังคับให้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพก่อนที่อายุจะถึงเป็นการลงโทษ ผมเห็นพวกเขาต่อสู้กับเผด็จการ และทุกข์ทรมานกับมัน ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ และผมรู้สึกผิด คนหลายคนในรุ่นผมก็แบ่งปันความรู้สึกเช่นนี้ออกมาเช่นกัน และผมแปรเปลี่ยนความรู้สึกนี้ลงสู่หนังของผม

“ใน The Handmaiden ผมต้องการที่จะสำรวจประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรภาพและการต่อต้านลัทธิอาณานิคมของเกาหลี แต่ผมจะไม่ทำแบบเดียวกับหนังเกาหลีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ตัวละครชาวญี่ปุ่นเป็นวายร้ายโดยอัตโนมัติ ตัวละครของผมไม่ได้เป็นคนดีหรือเลวเพียงเพราะแค่เป็นคนเกาหลีหรือญี่ปุ่น เรื่องราวในหนังของผมมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจเจกชนที่อาศัยอยู่นยุคสมัยที่ว่า แต่ผมก็ไม่พยายามจะตัดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ออกจากเรื่องหรือให้มันมามีอิทธิพลกับเรื่องราวจนเกินไป ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงถึงจิตวิญญาณของความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาและยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชนชั้น ประเด็นเกี่ยวกับสตรีเพศ และความป่วยไข้ทางจิตใจที่เป็นกำแพงกักขังคนเอาไว้ไม่ต่างจากคุก”

พักชานอุก ผู้เชี่ยวชาญในการตีแผ่ความโสมมในจิตใจมนุษย์ และนำเสนอด้านมืดของความรุนแรงและความแค้น กล่าวถึงหนังเรื่องล่าสุดของเขา

ถึงแม้จะสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความรักต้องห้ามของยุคสมัยในประวัติศาสตร์เกาหลีที่เป็นฉากหลังในหนัง แต่ความสนใจหลักของผู้กำกับคือการสำรวจความปรารถนาทางเพศของมนุษย์มากกว่า

“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุขในกามารมณ์และเรื่องเพศมากกว่าจะเป็นความรู้สึกผิดบาป มันเป็นการปลดปล่อยตัวละครจากความรู้สึกผิดบาปเกี่ยวกับเรื่องเพศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศของคนรักเพศเดียวกัน หรือหญิงรักหญิงนั่นเอง) ถึงแม้ว่าผมจะทำหนังที่สำรวจประเด็นที่เฉพาะเจาะจงไปที่เรื่องของคนรักเพศเดียวกัน แต่มันก็ไม่ใช่ความตั้งใจของผมที่จะทำหนังเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่ต่อสู้เพื่อเอาชนะการแบ่งแยกหรือการเลือกปฏิบัติอะไรทำนองนั้น ผมเพียงแต่ต้องการนำเสนอชีวิตของคนในยุคใต้ลัทธิอาณานิคมมากกว่า ผมต้องการที่จะสร้างหนังที่แสดงถึงความรัก (ของคนรักเพศเดียวกัน) ในฐานะที่เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ เป็นเรื่องราวปกติสามัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคนเราเท่านั้นเอง”

แม้ฉากอีโรติกหญิงรักหญิงในหนังจะทำออกมาได้อย่างสมจริง สวยงามจนน่าตื่นตะลึง และเร้าอารมณ์อย่างยิ่งยวดแล้ว แต่ฉากที่เร้าอารมณ์ที่สุดในหนังกลับเป็นฉากที่คุณหนูฮิเดโกะนั่งอ่านวรรณกรรมเชิงสังวาสให้เหล่าผู้ชายทั้งหนุ่มแก่นั่งฟังในห้องสมุด เรื่องราวอีโรติกในหนังสือ ลีลาและจังหวะจะโคนในการอ่านออกเสียงของเธอกระตุ้นเร้าเหล่าเพศผู้ที่นั่งฟังอยู่ให้ตื่นเต้นจนแทบหัวใจวายตายกลางห้องสมุดโดยที่เธอไม่จำเป็นต้องเปลื่องอาภรณ์สักชิ้นเลยด้วยซ้ำไป มันแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมและการอ่านนั้นทรงพลานุภาพมากมายแค่ไหน

ด้วยความโดดเด่นเช่นนี้นี่เองที่ทำให้หนังได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดหลัก และชิงรางวัลปาล์มทองคำ เข้าชิงรางวัล Queer Palm ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 2016 นอกจากนั้นการกำกับศิลป์และงานสร้างของหนังที่ผสมผสานสไตล์งานออกแบบย้อนยุคของยุโรปและญี่ปุ่นแบบประเพณีได้อย่างอลังการตระการตา ซึ่งทั้งหมดเป็นฝีมือของโปรดักชั่นดีไซเนอร์คู่บุญของพักชานอุกอย่าง ลี ซังฮี ก็คว้ารางวัล The Vulcan Award of the Technical Artist (รางวัลพิเศษด้านงานสร้างยอดเยี่ยม) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีนี้มาครองด้วย

“คฤหาสน์แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ  แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็ไม่สามารถหาบ้านที่ผสมผสานสไตล์การออกของแบบตะวันตกและแบบญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกันแบบนี้ได้อีก มันสะท้อนความหลงใหลใน(วัฒนธรรม)ญี่ปุ่นและอังกฤษของเจ้าบ้าน” เป็นถ้อยคำที่ตัวละครหัวหน้าแม่บ้านกล่าวถึงคฤหาสน์ที่เป็นฉากหลักอันสำคัญในหนังเรื่องนี้

ซึ่งลักษณะของตัวคฤหาสน์ในหนังเรื่องนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) หรือ สถาปัตยกรรมอาณานิคม ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศมหาอำนาจเข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ แล้วสร้างอาคารที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของประเทศแม่ตัวเองขึ้นในดินแดนอาณานิคมเหล่านั้น แต่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นถิ่น ด้วยการผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของประเทศอาณานิคมเหล่านั้นเข้าไปด้วย (แต่ในหนังแปลกตรงที่เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอีกทีนึง) ซึ่งมันก็สอดคล้องกับเรื่องราวและยุคสมัยในหนังได้เป็นอย่างดี

เมื่อตัวละครเข้าไปในปีกของอาคารแบบญี่ปุ่น พวกเขาต้องถอดรองเท้าออก และเมื่อพวกเขาเดินเข้าไปในปีกของอาคารแบบตะวันตก พวกเขาก็ค่อยสวมรองเท้ากลับเข้าไปใหม่ (ฉากที่ตัวละครคุณหนูฮิเดโกะกับสาวใช้ซุกฮี ถอดรองเท้าเดินเข้าไปในห้องญี่ปุ่นแล้วนั่งคุกเข่าค่อยๆ เลื่อนเปิดประตูบานเลื่อนแบบญี่ปุ่น ลุกเดินแล้วนั่งลงคุกเข่าลงเปิดประตูบานเลื่อนบานถัดไปอย่างนั้นทีละบานทีละบานจนหมดทุกบาน ทั้งๆ ที่กำลังรีบหลบหนีกันอยู่นั้น มันเป็นอะไรที่โคตรพีคระดับสิบกระโหลกจริงๆ)

บุคลิกภาพของตัวคฤหาสน์และการตกแต่งภายในเป็นองค์ประกอบทางทัศนธาตุที่สำคัญอย่างมากในหนัง ห้องของคุณหนูฮิเดโกะอยู่ในอาคารปีกตะวันตก ดังนั้นเธอจึงนอนบนเตียงและใช้ชีวิตแบบสุภาพสตรีตะวันตก ในทางตรงกันข้าม ห้องของซุกฮีสาวใช้หลังประตูในห้องถัดไปนั้นอยู่ในอาคารปีกญี่ปุ่น ที่นอนของสาวใช้ซุกฮีจึงอยู่ในโอชิเระ หรือตู้เก็บของประตูบานเลื่อนของญี่ปุ่น ที่ปกติใช้เก็บฟูกและเครื่องนอน (ตลกดีที่เราดูฉากนี้แล้วอดนึกไปถึงการ์ตูนโดราเอมอนไม่ได้)

ฉากที่สำคัญที่สุดอีกฉากที่แสดงออกถึงความโดดเด่นของงานโปรดักชั่นดีไซน์ในหนัง The Handmaiden ก็คือฉากห้องสมุดใหญ่ของเจ้าบ้านอย่างโคซูกิ ที่การตกแต่งภายนอกเป็นงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบประเพณี ส่วนการตกแต่งภายในเป็นสไตล์แบบตะวันตก แต่ภายในห้องสมุดยังมีพื้นที่แบบญี่ปุ่นที่ตกแต่งด้วยเสื่อทาทามิ และประตูบานเลื่อนที่ประดับด้วยภาพเขียนแบบประเพณีของญี่ปุ่น พื้นที่โถงกลางที่ตกแต่งคล้ายกับสวนเซ็นญี่ปุ่น มีพื้นโรยหินกรวดสีขาววาดลวดลายวงกระเพื่อมน้ำ ประดับด้วยก้อนหิน บอนไซ และบ่อน้ำ (ซึ่งตลกดีอีกเหมือนกันที่คนรักและคลั่งไคล้หนังสือมากจนเข้าขั้นโรคจิตอย่างโคซูกิดันมีบ่อน้ำอยู่ในห้องสมุด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความชื้นที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของหนังสือได้ สุดท้ายหนังสือก็ฉิบหายเพราะบ่อน้ำนี่จริงๆ ด้วย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเพราะความชื้นอะไรหรอกนะ!)

ส่วนพื้นที่ที่ฮิเดโกะนั่งอ่านหนังสือเป็นยกพื้นไม้คล้ายกับเวทีอุปรากรของญี่ปุ่นเล็กๆ สวนเซ็นญี่ปุ่นนั้นเป็นการจำลองภาพของโลกในแบบย่อส่วน โดยเป็นภาพแทนของภูเขาและแม่น้ำ ทะเลสาบและป่า ดังนั้น การวางอากัปกิริยาท่าทางและการเคลื่อนไหวร่างกายของเจ้าบ้านอย่างโคซูกิ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ต่างกับการสร้างพื้นที่ของโลกใหม่ขึ้นมาภายในอาณาจักรส่วนตัวของเขานั่นเอง

ฉากคฤหาสน์ในหนังอันใหญโตโอฬาร แต่มีตัวละครหลักอยู่ไม่กี่คนในพื้นที่ว่างอันกว้างใหญ่ไพศาล ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายซีนในหนังที่คนดูอย่างเรามองเห็นเหตุการณ์จากมุมมองของซุกฮี (ในพาร์ตที่ 1) และเปลี่ยนมาเป็นมุมมองของฮิเดโกะ (ในพาร์ตที่ 2) ตลอดทั้งเรื่องมันเป็นเกมของการชำเลืองมอง ที่ตัวละครคนหนึ่งมองตัวละครบางคน เพิกเฉยตัวละครบางคน หรือสงสัยว่ามีใครกำลังแอบมองอยู่ ซึ่งแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ บางครั้งก็ถูกถ่ายทอดอย่างยอดเยี่ยมด้วยภาพโคลสอัพ และบางครั้งก็ใช้การเคลื่อนกล้องอย่างเปี่ยมพลังแทน

สิ่งที่โดดเด่นแตะตาคนรักงานดีไซน์อย่างเราอีกประการในหนังเรื่องนี้ก็คือ เก้าอี้ที่เป็นเวทีพลอดรักของสองสาวในฉากสุดท้ายของหนัง ซึ่งเป็นเก้าอี้คลาสสิคตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์เก้าอี้ดีไซน์ตะวันตก เก้าอี้ตัวนั้นมีชื่อว่า

Victorian Double-End Sofa (1860)

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ https://goo.gl/cp0eZU

เก้าอี้สไตล์วิคตอเรียน* ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานออกแบบสไตล์โรโคโค่ของฝรั่งเศส กับเส้นโค้งเว้าอันสง่างามของตัวเก้าอี้ และลวดลายสลักเสลาสวยงามบนขาโค้งงอนแบบขาสิงห์ ตัวที่นั่งโค้งคดเคี้ยวแบบหลังงู และที่โดดเด่นที่สุดก็คือพนักพิงโค้งสูงสองจังหวะแบบหลังอูฐ ที่ฝังดุมลึกลายพร้อย มันจึงมีอีกชื่อเรียกว่า CAMEL BACK VICTORIAN SOFA โครงสร้างและขาเก้าอี้ทำจากจากไม้มะฮอกกานี เบาะนวมเสริมสปริงหนา นุ่มหุ้มผ้าเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่เติมอารมณ์แห่งความหรูหราแห่งยุควิคตอเรียนให้กับสถานที่ที่มันอาศัยอยู่

*วิคตอเรียนสไตล์ (1837-1901)

เป็นสไตล์การออกแบบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร มีความเป็นมหาอำนาจสูงสุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียทรงครองราชย์อยู่ ยุควิคตอเรียนเป็นยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านอุตสาหกรรม โดยมีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น ไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ รถจักรไอน้ำ รถยนต์ เครื่องบิน กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพยนตร์ ฯลฯ และความเจริญทางด้านวัฒนธรรม ด้วยความที่ีเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดและมีอาณานิคมมากที่สุดในยุคนั้น มรดกทางเทคโนโลยี การเมือง ภาษา และวัฒนธรรมของอังกฤษจึงเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างไกลในยุคนี้นี่เอง งานศิลปะและงานออกแบบเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย การออกแบบสไตล์วิคตอเรียนจะมีลักษณะอันเด่นตรงความหรูหราสง่างาม ซึ่งเป็นการผสมผสานสไตล์การออกแบบจากหลายๆ ยุคเข้าด้วยกัน ทั้งกอธิก นีโอคลาสสิก และที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดก็คือการได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบสไตล์โรโคโค่นั่นเอง

"โรโคโค่” (Rococo) (1700-1790) เป็นศิลปะและสไตล์การออกแบบอันหรูหราที่เกิดขึ้นในราชสำนักของฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะแบบบาโร้ก ที่มีรายละเอียดอันงดงาม หรูหราฟู่ฟ่า ไปจนฟุ้งเฟ้อ (อันที่จริงโรโคโค่ก็คือบาโร้กนั่นแหละ เพียงแต่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเท่านั้น) ร่ำลือกันว่าศิลปะโรโคโค่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของสตรีที่เป็นผู้นำสูงสุดในยุคนั้น ความงามของโรโคโค่จึงเป็นความงามที่อ่อนหวานคล้ายอิสตรี หากแต่ในท้ายที่สุด งานศิลปะและงานออกแบบสไตล์โรโคโค่ก็ต้องจบสิ้นลงพร้อมๆ กับความหรูหราฟู่ฟ่าฟุ้งเฟ้อของราชสำนักฝรั่งเศส เมื่อเกิดการปฏิวัติใหญ่โดยประชาชนในปี 1789–1799

อนึ่ง ต้องขออภัยที่ไม่อาจลงภาพเก้าอี้ในหนังได้ด้วยความที่มันออกจะร้อนแรงและล่อแหลมเกินไป คงต้องให้ไปหาดูกันเอาเองก็แล้วกันนะครับท่านผู้อ่าน!

ข้อมูลจาก  http://goo.gl/xbH5bV, http://goo.gl/WyO3ky, http://goo.gl/xbH5bV, http://goo.gl/NFwmbM ขอบคุณภาพในหนัง The Handmaiden จาก M PICTURES

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #art #movie #thehandmaiden #erotic #productiondesign #architecture #colonialstyle #japanesetraditional #งานออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30