Blog

ครบรอบ 37 ปี การเสียชีวิตของศิลปินดนตรีผู้ใฝ่หาสันติภาพ จอห์น เลนนอน

ครบรอบ 37 ปี การเสียชีวิตของศิลปินดนตรีผู้ใฝ่หาสันติภาพ จอห์น เลนนอน

12 มีนาคม 2562

วันนี้เมื่อ 37 ปีที่แล้ว เป็นวันที่คนรักดนตรีทั่วโลกต่างก็เศร้าโศกกับโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการดนตรี

เวลา 4 ทุ่ม 50 ของวันที่ 8 ธันวาคม 1980 ขณะที่จอห์น เลนนอน และ โยโกะ โอโนะ เดินทางกลับอพาร์ตเมนต์ของพวกเขาที่ดาโกต้า เหตุการณ์อันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อจอห์น เลนนอนถูก มาร์ค เดวิด แชปแมน ปรี่เข้ายิงปืนสี่นัดเข้าที่หลังตรงทางเข้าตึกอพาร์ตเมนต์ เขาถูกนำตัวไปยังห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลรูสต์เวลที่อยู่ไม่ไกล และอีกไม่นาน เวลา 5 ทุ่ม 7 นาที ในคืนนั้นเอง ก็มีการประกาศการเสียชีวิตของเขาอย่างเป็นทางการ จากน้ำมือของแฟนเพลงคนหนึ่งที่จอห์นเคยเซ็นชื่อบนแผ่นเสียงให้กับมือ

ภาพสุดท้ายของ จอห์น เลนนอน ขณะเซ็นแผ่นเสียงให้ มาร์ค เดวิด แชปแมน ถ่ายโดย Paul Goresh, December 8, 1980. Photo Copyright © 1980, 1981 Paul Goresh. All Rights Reserved. จาก https://goo.gl/p7Cao0

ปกแผ่นเสียง Double Fantasy ที่เลนนอน เซ็นให้แชปแมน ภาพจาก https://goo.gl/KSTv77

อันที่จริงในวันที่เกิดเหตุ เขาได้พบกับจอห์นก่อนหน้านั้นแล้ว เขาดักรอขอจับมือจอห์นและเอาอัลบั้ม Double Fantasy ให้จอห์นเซ็นให้ แชปแมนบอกว่า "ณ จุดนั้น ส่วนหนึ่งของใจผมเอาชนะตัวเองและอยากล้มเลิกและกลับไปที่โรงแรม แต่ผมทำไม่ได้ ผมรอจนเขากลับมา เพราะเขารู้ว่าเป็ดไปไหนมาในช่วงฤดูหนาว และผมต้องการต้องการที่จะรู้คำตอบนี้ให้ได้" (ซึ่งเป็นคำพูดที่อ้างอิงมาจากหนังสือ The Catcher in the Rye ที่ตัวละครเอกในเรื่องสงสัยว่า เป็ดที่อยู่ในเซ็นทรัลพาร์คหายไปไหนหมดในฤดูหนาว? ซึ่งมีคนตีความว่า "เป็ด" เป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสาของตัวละครเอกในเรื่องนั่นเอง) เมื่อจอห์นกลับมาถึงแชปแมนปรี่เข้าไปลั่นกระสุนใส่จอห์นไปห้านัด แต่โดนเข้าที่หลังของจอห์นสี่นัด หลังจากก่อคดีสะเทือนขวัญ เขายังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยนั่งอ่าน The Catcher in the Rye นิยายชื่อดังของ เจ. ดี. แซลินเจอร์ ไปด้วย จนกระทั่งตำรวจมาจับกุมตัว เขากล่าวย้ำซ้ำๆ ในภายหลังว่า นิยายเรื่องนี้คือแถลงการณ์ของเขา รปภ.ของอพาร์เมนต์ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยืนคุมเชิงแชปแมนอยู่ ถามเขาด้วยน้ำตานองหน้าว่า "คุณรู้ไหมว่าคุณทำอะไรลงไป?"

ทนายของแชปแมนพยายามผลักดันให้คดีของแชปแมนเป็นผลอันเกิดจากอาการป่วยทางจิต ซึ่งในความเป็นจริงก็มีประวัติว่าเขามีปัญหาทางจิตมีอาการหูแว่วจริงๆ แต่เมื่อใกล้วันพิจารณาคดี แชปแมนกลับปฏิเสธรูปคดีนี้และบอกกับทนายของเขาว่าเขาต้องการยอมรับความผิด และกล่าวว่าการกระทำครั้งนี้ของเขาเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนหน้านี้หนุ่มอเมริกันชาวเท็กซัสอย่างแชปแมนเคยเป็นแฟนตัวยงของ เดอะ บีทเทิลส์ เขาบูชาจอห์น เลนนอนเป็นฮีโร่ประจำใจ และยังหัดเล่นกีต้าร์เหมือนจอห์นด้วย แต่หลังจากที่เขากลายเป็นสานุศิษย์ของลัทธิเคร่งศาสนาคริสต์นิกายหนึ่ง จึงทำให้เขารู้สึกโกรธแค้นกับประโยคอื้อฉาวของจอห์นที่ว่า “เดอะบีทเทิลส์โด่งดังกว่าพระเยซู” (ซึ่งยังผลให้เกิดการประท้วงของผู้อนุรักษ์นิยมทางตอนใต้ของอเมริกา มีการเผา แบน และขว้างอัลบั้มของเดอะบีทเทิลส์ทิ้งกันเอิกเริก) รวมถึงการที่เขาได้ยินจอห์นพูดว่าเขาไม่เชื่อในพระเจ้า และไม่เชื่อในเดอะบีทเทิลส์ด้วย ซึ่งทำให้แชปแมนแค้นเคืองอย่างมากและบอกในภายหลังว่า “เขาคิดว่าเขาเป็นใครกันที่พูดแบบนี้กับพระเจ้าและเดอะบีทเทิลส์?”  สมาชิกในกลุ่มเคร่งศาสนาที่แชปแมนสังกัดอยู่ถึงกับเล่นมุกเกี่ยวกับเพลง  Imagine ของจอห์น เลนนอนว่า “อิแมจิน... ลองอิแมจินว่าถ้าจอห์น เลนนอนตายดูสิ”

แชปแมนยังกล่าวในภายหลังว่าเขายังได้แรงบันดาลใจในการก่อคดีฆาตกรรมนี้จากการอ่านหนังสือชีวประวัติของจอห์น เลนนอน ช่วงที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก John Lennon: One Day at a Time ที่เขียนโดยแอนโธนี ฟอว์เซ็ตต์ เขาโกรธที่เลนนอนเทศนาถึงความรักและสันติภาพในเพลง Imagine ในขณะเดียวกันกับที่ตัวเองยังคงมีเงินมหาศาล แชปแมนกล่าวว่า “เขาบอกให้เราจินตนาการถึงการไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ (imagine no possessions) แต่เขายังมีเงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ มีเรือยอชท์ มีฟาร์ม และบ้านพักตากอากาศ และหัวเราะเยาะใส่คนอย่างผมที่เชื่อคำโกหกคำโตนั้นและจ่ายเงินซื้อแผ่นเสียงเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเขา” แต่ในขณะเดียวกับเขาก็ลุ่มหลงในตัวจอห์น เลนนอนอย่างถอนตัวไม่ขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น แชปแมนยังหลงใหลในตัวละครเอกในนิยาย The Catcher in the Rye ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของความเยาว์วัย อ่อนไหว หดหู่ เป็นขบถต่อต้านสังคมและมีแนวโน้มหัวรุนแรง เขากล่าวว่าหนังสือเล่มนี้หล่อหลอมให้เขาเป็นเหมือน โฮลเดน คลอฟิลด์ ตัวเอกที่ต่อต้านความแสแสร้งจอมปลอม และกล่าวว่าถ้าได้อ่านนิยายเล่มนี้ก็จะรู้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจสังหารจอห์น เลนนอน เขาเขียนในหนังสือนิยายเล่มนี้ที่เขาอ่านหลังจากยิงจอห์น เลนนอนเอาไว้ว่า "ถึงโฮลเดน คลอฟิลด์, จากโฮลเดน คลอฟิลด์ นี่คือแถลงการณ์ของฉัน"

ซึ่งเหตุการณ์นี้นี่เองยิ่งสร้างความโด่งดังให้หนังสือเล่มนี้ที่ครั้งหนึ่งถูกแบนในอเมริกาด้วยข้อหาทำให้เยาวชนประพฤติตัวเหลวแหลก แต่ต่อมากลับกลายเป็นหนังสือนอกเวลาที่นักเรียนแทบทุกคนต้องอ่านและเป็นหนังสือโด่งดังในทุกยุคสมัย นอกจากแชปแมนแล้ว นิยาย The Catcher in the Rye ยังถูกใช้เป็นคำกล่าวอ้างของการประกอบอาชญกรรมทำนองนี้อีกหลายครั้ง เช่น โรเบิร์ต จอห์น บาร์โด ที่ยิง รีเบคกา เชฟเฟอร์ ดาราทีวีแและนักแสดงสาวชื่อดังเสียชีวิต รวมถึง จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ที่ลอบสังหารประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ด้วยปืน (แต่ไม่สำเร็จ) ต่างก็กล่าวอ้างถึงหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ยิ่งโด่งดังและอื้อฉาวยิ่งขึ้นไปอีก เดาว่าคนเขียนคงไม่ปลื้มไปด้วยหรอกนะอีแบบนี้!

ภาพถ่าย มาร์ค เดวิด แชปแมน หลังจากถูกจับกุมตัว และทำประวัติอาชญากร ภาพจาก https://goo.gl/pqC9eZ

แชปแมนถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ถึงตลอดชีวิต (หมายถึงเมื่อครบ 20 ปี สามารถยื่นคำร้องขออภัยโทษและให้ปล่อยตัวได้ แต่ปัจจุบันเขายังคงถูกคุมขังอยู่ โดยคำร้องของเขาถูกปฏิเสธไปแปดครั้งแล้ว)

Chapter 27 (2007)

จาเร็ด เลโต้ ในบท มาร์ค เดวิด แชปแมน

อนึ่ง เรื่องราวเกี่ยวกับ มาร์ค เดวิด แชปแมน ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ในชื่อ  Chapter 27 (2007) โดยผู้ที่รับบทแชปแมนก็คือพ่อหนุ่มโจ๊กเกอร์คนล่าสุดอย่าง จาเร็ด เลโต้  โดยเขาเพิ่มน้ำหนักตัวเองเพื่อสวมบทบาทในเรื่องนี้จนเราจำแทบไม่ได้เลยทีเดียว

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #music #johnlennon #passedaway #36thyear #8december1980 #markdavidchapman #doublefantasy #lastautograph #ครบรอบ36ปีการเสียชีวิตของจอห์นเลนนอน

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30