THE SKIN I LIVE IN งานศิลปะที่แฝงกายใต้ผิวแห่งภาพยนตร์
12 มีนาคม 2562
ในหนัง The Skin I Live In (2011) ผลงานของเจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน เปโดร อัลโมโดวาร์ ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย เและถึงพร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่อัลโมโดวาร์เป็นผู้ที่หลงไหลในงานศิลปะ บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นงานศิลปะชั้นดีโผล่มาในหนังของเขาอยู่เสมอๆ และการใส่งานศิลปะที่ว่าลงไปในหนังของเขานั้น นอกจะเป็นไปเพราะความชอบและรสนิยมส่วนตัวแล้ว หลายๆ ครั้ง มันยังทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยยะทั้งโจ่งแจ้งและซ่อนเร้น ซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบแน่น มิใช่สักแต่หยิบมาประดับฉากให้เต็มฉากเปล่าๆ ปลี้ๆ เท่านั้น
ถ้าใครเป็นแฟนหนังของอัลโมโดวาร์ คงจะพอทราบว่า ศิลปินคนโปรดในดวงใจของเจ้าป้านั้นคือเจ้าพ่อป็อปอาร์ตอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล ซึ่งงานศิลปะแนวป็อบของวอร์ฮอล ส่งอิทธิพลถึงสไตล์การถ่ายภาพ การใช้สีสันและการจัดองค์ประกอบในหนังของเขาอย่างชัดเจน (ทั้งยังรวมไปถึงการออกแบบใบปิดและโปสเตอร์หนังด้วย) ซึ่งรูปแบบงานศิลปะที่ให้ความรู้สึกขบขัน โฉ่งฉ่างจัดจ้านแบบป็อปอาร์ตก็ไปกันได้ดีและเข้ากั้นเข้ากันกับเรื่องราวและเนื้อหาในหนังของเขาอย่างยิ่ง
The Skin I Live In (2011)
แต่ The Skin I Live In ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายของนักเขียนชาวฝรั่งเศส เธียรี ฌองเก็ต ที่มีชื่อว่า Mygale (หรือในชื่ออังกฤษว่า Tarantula) ที่เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์พลาสติกหนุ่มใหญ่ที่หมกมุ่นกับการจองจำสาวงามปริศนาไว้ในคฤหาสน์ของเขา ซึ่งหญิงสาวผู้นี้นี่เองที่กุมความลับอันน่าตื่นตะลึงเอาไว้ (ไม่เล่าไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากสปอยล์) กลับได้รับอิทธิพลมาจากผลงานศิลปะของศิลปินอีกผู้หนึ่งอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจนยิ่ง ซึ่งศิลปินผู้นั้นก็คือ ‘หลุยส์ บรูชัวร์’ (Louise Bourgeois) ที่เราเคยเขียนถึงเธอไปในตอนที่ผ่านๆ มานั่นเอง อ่านได้ที่นี่ https://goo.gl/nJdSvE
Rejection, 2001
Arched Figure, 1999
Three Horizontals, 1998
Single III, 1996
COUPLE, 2004
Oedipus, 2003
แต่ผลงานของหลุยส์ บรูชัวร์ ที่เจ้าป้านำมาใช้ในเนื้อหาของหนังเรื่องล่าสุดเรื่องนี้ หาใช่เป็นผลงานชิ้นโด่งดังของเธออย่างประติมากรรมรูปแมงมุมยักษ์ Maman (1999) ที่เรา ๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันไม่ หากแต่เป็นประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ที่ทำขึ้นจากผ้า ซึ่งเป็นผลงานที่เธอทำขึ้นในช่วงปี 1960 โดยเธอจะนำผ้าจากสิ่งของหรือเสื้อผ้าของบุคคลอันเป็นที่รักของเธอมาทำเป็นประติมากรรมรูปร่างคล้ายมนุษย์ ที่เป็นเสมือนภาพจำลองของวัยเยาว์และอดีตที่เธอหวนหา
ผลงานประติมากรรมหุ่นผ้าของบรูชัวร์ที่ปรากฏในหนัง The Skin I Live In นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนยารักษาใจและเครื่องผ่อนคลายความตึงเครียดจากการถูกจองจำของหญิงสาวปริศนาในเรื่องแล้ว การที่เธอจำลองงานศิลปะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ (หลังจากที่เธอได้ดูมันจากหนังสือและโทรทัศน์ที่ผู้กักขังทิ้งไว้ให้ดูฆ่าเวลา) มันยังเป็นเสมือนการป่าวประท้วงอย่างเงียบงันต่อชะตากรรมอันอยุติธรรมที่เธอได้รับ
The Skin I Live In (2011)
นอกจากนั้นมันยังแฝงนัยยะซ่อนเร้นถึงเพศสภาวะและตัวตนที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนังที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปกายภายนอกอีกด้วย ชุดแนบเนื้อและหน้ากากที่หญิงสาวปริศนาคนที่ว่านั้นสวมใส่ (ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์สุดซ่าขาประจำของเจ้าป้า อย่าง ฌอง ปอล โกติเยร์) ท่วงท่าและลีลาในการขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวร่างกายและโพสท่า รวมถึงรอยต่อบนผิวหนังที่ถูกศัลยกรรมของเธอที่เราเห็นในหนังนั้น ก็ดูราวกับว่ามันถูกถอดแบบมาจากเหล่าประติมากรรมหุ่นผ้าของบรูชัวร์ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
นอกจากผลงานของบรูชัวร์แล้ว The Skin I Live In ยังเต็มไปด้วยผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมของศิลปินชั้นยอดมากหน้าหลายตาทั้งเก่าใหม่ ทั้งร่วมสมัยและล่วงสมัยให้เห็นจนละลานตา
The Skin I Live In (2011)
อาทิเช่น ภาพเขียนที่แขวนประดับอยู่ตรงโถงบันไดในคฤหาสน์ของคุณหมอศัลย์พลาสติกหนุ่มใหญ่ในหนังนั้นก็ไม่ใช่ภาพของศิลปินไก่กาที่ไหน หากแต่เป็นภาพเขียนของ ทิเชียน (Titian หรือ Tiziano Vecellio) จิตรกรเอกชาวอิตาเลียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุคเรอเนซองส์ในศตวรรษที่ 16 ผู้โดดเด่นในด้านสีสันและแสงเงาที่จัดจ้าน ผลงานของเขาส่งอิทธิพลไม่ใช่แค่ต่อจิตรกรในยุคเรอเนสซองส์รุ่นหลังๆ หากแต่ยังส่งไปถึงศิลปินตะวันตกยุคใหม่ด้วย เรื่องราวในผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะเกี่ยวข้องกับศาสนาและตำนานเทพปกรณัม ซึ่งทั้งสองภาพที่ปรากฏในหนังต่างก็เป็นภาพของเทพธิดาแห่งความงามอย่างวีนัสนั่นเอง
Venus of Urbino, 1538
Venus with Organist and Cupid, 1548
นอกจากภาพเขียนทั้งสองภาพจะเป็นสัญลักษณ์ของความงามและแรงกฤษณาอันเย้ายวนเกินต้านทานของหญิงสาวปริศนาในเรื่องแล้ว มันยังสะท้อนประเด็นของการเฝ้ามอง และ การถูกมอง และสัญลักษณ์ของผู้ชมและผู้แสดงในหนังได้อย่างแหลมคมอีกด้วย สังเกตดูท่านั่งโพสของหญิงสาวปริศนาในเรื่อง ที่ราวกับจะถูกถอดแบบมาจากภาพเขียนที่ว่ายังไงยังงั้นเลยทีเดียว
The Skin I Live In (2011)
Stonehenge (With Two Persons) Orange, 2005, จอห์น บัลเดสซารี่
ยังมีงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่แม้จะโผล่มาให้เห็นแวบ ๆ เพียงไม่กี่ฉาก แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความสำคัญ เพราะมันเป็นผลงานของศิลปินป็อปอาร์ตชาวอเมริกัน จอห์น บัลเดสซารี่ (John Baldessari) ที่นำภาพถ่ายบุคคลเก่า ๆ หรือภาพโฆษณามาดัดแปลงด้วยการวาดทับ ใส่ตัวหนังสือ ปิดหน้าด้วยจุดสี เพื่อยั่วล้อ บิดเบือน และสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพเหล่านั้น ซึ่งบังเอิญมีนัยยะที่ไปคล้องจองกับการการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตัวละครในหนังอย่างเหมาะเจาะ
The Skin I Live In (2011)
Dionysus found Ariadne on Naxos, 2008
นอกจากนั้นในห้องนอนของหมอหนุ่มใหญ่คนที่ว่า ยังประดับด้วยผลงานจิตรกรรมชิ้นเด่นของจิตรกรแนวโพสต์โมเดิร์นที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของสเปนอย่าง กิเยร์โม เปเรซ วิลัลตา (Guillermo Pérez Villalta) ที่มีชื่อว่า Dionysus found Ariadne on Naxos, 2008 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปรกณัมกรีก ในตอนที่ไดโอนิซุส เทพแห่งสุราเมรัยได้บังเอิญมาพานพบกับ แอดเรียดเน่ บุตรีของกษัตริย์แห่งครีตผู้มีหน้าที่อยู่โยงเฝ้าเขาวงกตที่กักขังอสูรร้ายผู้มีร่างกายเป็นคนแต่หัวเป็นวัว มิโนทอร์ ภาพเขียนแนวเซอร์เรียลลิสม์สีสันจัดจ้าน ประกอบกับองค์ประกอบอันประหลาดล้ำของตัวละครคู่รักไร้หน้าชิ้นนี้ โยงใยไปถึงกามารมย์อันพิสดารและการสูญเสียตัวตนของตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี
The Skin I Live In (2011)
ท้ายสุด กับผลงานของ ฆวน กัตติ (Juan Gatti) ศิลปินชาวอาร์เจนตินาคู่บุญของเจ้าป้า เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีจากผลงานภาพถ่าย กราฟิกดีไซน์ และงานจิตกรรมคอลลาจ และอาร์ตไดเร็คชั่นในหนังหลายต่อหลายเรื่องของอัลโมโดวาร์
Ciencias Naturales Anatomical, 1988
ผลงานที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีชื่อว่า Ciencias Naturales Anatomical, 1988 ซึ่งเป็นงานคอลลาจที่หลอมรวมภาพวาดกายวิภาคศึกษาของมนุษย์ เข้ากับภาพวาดการจำแนกประเภททางชีววิทยาของสัตว์และพืชพรรณนานาในธรรมชาติ จนกลายเป็นผลงานจิตรกรรมอันแปลกประหลาดล้ำและสวยงามอย่างพิสดาร ซึ่งถึงไม่บอกก็คงรู้ว่ามันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิชาชีพของตัวละครเอกเพศชายในเรื่องแค่ไหนอย่างไร โดยผลงานชุดนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการทำงานร่วมกับอัลโมโดวาร์
นอกจากจะถูกใช้ในฐานะงานศิลปะที่เป็นพร็อบประกอบฉากอย่างโดดเด่นเป็นสง่าในหนังแล้ว ภาพเขียนในชุดนี้ยังถูกใช้เป็นโปสเตอร์เวอร์ชั่นพิเศษของหนังเรื่องนี้อีกด้วย
จัดเต็มเสียขนาดนี้ แฟน ๆ คอศิลปะผู้รักหนังเห็นจะไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวงเป็นแน่แท้!
ข้อมูล/ภาพ : หนังสือ Louise Bourgeois The Fabric Works by Germano Celant เว็บไซต์ https://goo.gl/wQHIun ภาพจากหนัง The Skin I Live In (2011)
เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
#WURKON #art #movie #theskinilivein #pedroalmodovar #louisebourgeois #clothessculpture #ประติมากรรมผ้า #titian #vinus #johnbaldessari #GuillermoPérezVillalta #dionysusfoundariadneonnaxos #juangatti #cienciasnaturalesanatomical #ศิลปะร่วมสมัย #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะสู่ภาพยนตร์
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon