Lucid Dream ในฝันฉันรู้ตัวว่าฝัน
12 มีนาคม 2562
ในช่วงที่ผ่านๆ มา มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นทั้งในบ้านเราและในโลกรอบตัวไม่เว้นแต่ละวัน บางเรื่องพิลึกพิลั่นจนไม่อยากจะเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าเรากำลังฝันทั้งๆ ที่กำลังลืมตาตื่นอยู่หรือเปล่าหว่า? อาทิเช่นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด เป็นต้น (ไหนๆ ก็ไหน ขอเกาะกระแสกับเขาบ้างอะไรบ้างอ่ะนะ!) ว่าแล้วในตอนนี้เราก็เลยขอพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับความฝันเลยก็แล้วกัน แต่ความที่จะพูดถึงนี้ออกจะแปลกไปจากความฝันแบบปกติหน่อย เพราะมันเป็นความฝันที่เรารู้ตัวว่าฝัน หรือที่เรียกกันว่า ฝันลูซิด (Lucid Dream) นั่นเอง
ก่อนที่จะพูดเรื่องฝันลูซิด ขอเกริ่นถึงทฤษฎีความฝันโดยทั่วๆ ไปก่อนก็แล้วกัน
เดิมที ตั้งแต่โบราณกาลมา ความฝันของคนเรา มักถูกมองในแง่เรื่องเหนือธรรมชาติ บ้างก็มองว่าเป็นนิมิต เป็นการดลบันดาลใจจากเทพยดาหรือภูตผีปิศาจ จนกระทั่งมีการมาถึงของวิทยาศาสตร์ ที่วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ความฝันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เช่นกัน
การวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับความฝันขึ้นมาอยู่ในจุดพีคและตื่นตัวที่สุดในยุคของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว ฟรอยด์เชื่อว่าความฝันคือการแสดงออกของจิตใต้สำนึก พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนๆ หนึ่ง มีความอยากหรือความต้องการที่จะทำอะไร แล้วความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่อาจทำสิ่งนั้นได้ในชีวิตจริง ความต้องการนั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก และถูกปลดปล่อยออกมาโดยการฝัน แต่ฟรอยด์ ยังโยงต่อไปอีกว่า โดยแท้จริงแล้ว ความฝันมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกกับแรงขับทางเพศ ดังนั้น ความฝัน จึงเป็นการชดเชยความต้องการทางเพศดีๆ นี่เอง
แต่ทฤษฎีนี้ก็ถูกนักจิตวิเคราะห์รุ่นหลังมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด อาทิ คาร์ล ยุง (Carl Jung) ลูกศิษย์ของฟรอยด์เอง ที่คิดในหลักการเดียวกับฟรอยด์ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่ความฝันก็เป็นการเติมเต็มความปรารถนาบางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตจริง เพื่อสร้างความสมดุลทางจิตใจ หรือ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) ลูกศิษย์อีกคนของฟรอยด์ ที่มองว่าความฝัน เป็นความต่อเนื่องของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนตอนตื่นที่กลายไปเป็นความฝันต่อตอนนอนหลับมากกว่า หรือจะเป็นทฤษฎีความฝันในยุคหลังๆ ที่มองการทำงานของความฝัน ในแง่สรีรวิทยามากกว่าจะเป็นจิตใต้สำนึกว่า น่าเป็นผลจากการทำงานของสมองในการดึงเอาความทรงจำตกค้างกลับมาถ่ายทอดใหม่ ทีนี้มาถึงความฝันในลักษณะที่เรากำลังจะพูดถึงกันบ้าง
ฝันลูซิด หรือ Lucid Dream คืออะไร?
ถ้าจะให้ความหมายง่ายๆ ของความฝันลักษณะนี้ก็คือ “ความฝันที่ผู้ฝันรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่” คนที่กำลังฝันแบบลูซิด นอกจากจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในความฝันแล้ว ยังสามารถมีส่วนร่วม จัดการ สร้างสรรค์ และเนรมิตสภาพแวดล้อมและเรื่องราวในความฝันที่ว่านั้นได้อีกด้วย ความฝันแบบ Lucid Dream จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมจริงหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการรับรู้ของคนที่ฝันอยู่นั้นๆ
อนึ่ง คำว่า Lucid Dream บัญญัติโดยจิตแพทย์และนักเขียนชาวดัชต์ ฟเรดเดอริค แวน เอเดน (Frederik van Eeden 1860–1932) คำว่า Lucid มีความหมายว่า สว่าง, กระจ่าง, ชัดเจน Lucid Dream ก็น่าจะแปลว่า ความฝันที่กระจ่างแจ้ง ชัดเจน (ว่ากำลังฝันอยู่)
ความฝันแบบ Lucid Dream ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง (ตามหลักการของฟรอยด์) Lucid Dream มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายตกอยู่ในสภาวะหลับลึกที่สุด (R.E.M. - Rapid Eyes Movement จริงๆ ความฝันแบบปกติก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้เหมือนกัน) และมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายของความฝัน บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพ Lucid Dream ที่จริงอาจอยู่ในสภาวะหลายชั้นของการฝัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าฝันซ้อนฝัน (มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยฝันร้ายมากๆ แต่รู้สึกตัวได้ว่ามันเป็นความฝัน เลยบังคับให้ตัวเองตื่น แต่ดันกลับตื่นมาอยู่ในฝันอีกอันหนึ่ง แล้วก็ตกใจตื่นขึ้นมาอีกที เป็นความรู้สึกที่หลอนเอามากๆ เหมือนวิญญาณหลุดออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างยังไงยังงั้น) ผู้ฝันอาจจะรู้ว่า เรื่องราว เหตุการณ์ ผู้คน และสิ่งที่เขาหรือเธอกำลังประสบพบเจออยู่นั้น มันไม่ใช่ความเป็นจริง หากแต่เป็นความฝัน และในขั้นสูงสุดของ Lucid Dream ผู้ฝันอาจสามารถที่จะควบคุมหรือแม้แต่เนรมิตความฝันนั้นให้เป็นดั่งที่ใจต้องการได้
ปัจจุบัน Lucid Dream ได้ถูกวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจริงจัง โดยริเริ่มจากที่นักจิตวิทยาอเมริกัน สตีเฟน ลาเบิร์ก (Stephen LaBerge) ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Lucid Dream อย่างลึกซึ้งยาวนาน จนในที่สุดก็ก่อตั้งสถาบัน The Lucidity Institute เพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคนิคที่จะช่วยบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตโดยความฝันหรือที่เรียกกันว่า ‘ฝันบำบัด’ (Lucid Dream Therapy) ในเวลาต่อมา
เทคนิคในการฝึกฝันลูซิดของลาเบิร์กคือ ทำใจให้ปลอดโปร่ง สบาย บอกตัวเองว่าอยากฝันถึงเรื่องอะไร และจดจำไว้จนกระทั่งหลับไป คนที่มีปัญหาก็ตั้งจิตท่องถึงวิธีแก้ไขปัญหาหรือคนช่วย เมื่อพบวิธีทางแก้ไขปัญหาหรือคนช่วยในความฝันนั้น ก็ให้รีบสอบถามและจดจำวิธีแก้ปัญหานั้นไว้ ซึ่งก็จะได้วิธีแก้ปัญหาตามที่ต้องการ การฝึกฝันลูซิดเช่นนี้เป็นการช่วยผ่อนคลายความคับข้องใจ ความกดดัน และความขัดแย้งในชีวิต ลดความเครียด รักษาอาการนอนไม่หลับ เดินละเมอ วิตกจริตฯลฯ แถมยังช่วยให้สนุกสนานผ่อนคลายอีกด้วย
และมันก็ยังส่งแรงบันดาลใจต่องานสร้างสรรค์และศิลปะหลายแขนง โดยเฉพะาอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ ที่หยิบเอา Lucid Dream ไปใช้เป็นแรงบันดาลใจและเนื้อหาในภาพยนตร์อย่างมากมาย อาทิเช่น
Vanilla Sky (2001)
Vanilla Sky (2001) หนังไซไฟทริลเลอร์จิตวิทยาพล็อตเก๋ไก๋ ของ คาเมรอน โครว์
Open Your Eyes (1997)
และหนังเวอร์ชั่นต้นฉบับของสเปนอย่าง Open Your Eyes (1997) ของ อเลฆานโดร อาเมนาบาร์
Waking Life (2001)
Waking Life (2001) หนังแอนิเมชั่นโมชั่นแคปเจอร์ดราม่ากึ่งสารคดีสุดแนว ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์
Paprika (2006)
Paprika (2006) หนังแอนิเมชั่นไซไฟทริลเลอร์จินตนาการบรรเจิดเลิศล้ำของ ซาโตชิ คง
ที่เล่นกับกายภาพอันบิดเบี้ยวพิสดารของความฝันได้อย่างสนุกมือ
Eternal Sunshine of The Spotless Mind (2004)
Eternal Sunshine of The Spotless Mind (2004) หนังโรแมนติกคอเมดี้ดราม่าแฟนตาซีไซไฟที่เป็นหนึ่งในหนังเซอร์ในดวงใจของนักดูหนังหลายๆ คน
The Science of Sleep (2006)
และ The Science of Sleep (2006) หนังคอเมดี้ดราม่าแฟนตาซีไซไฟสุดเพี้ยนหลุดโลกที่เล่นกับจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ของความฝันได้อย่างเมามัน โดยทั้งสองเรื่องนี้เป็นผลงานของ มิเชล กอนดรี้ ผู้กำกับขวัญใจเด็กแนวทั้งหลาย
What Dreams May Come (1998)
What Dreams May Come (1998) หนังดราม่าแฟนตาซีที่หยิบเอาภาพในจิตนาการและความฝันของเหล่าศิลปินมาถ่ายทอดโลกหลังความตายได้อย่างงดงามจนน่ามหัศจรรย์และน่าพรั่นพรึงจนสยดสยองเป็นอย่างยิ่ง
The Good Night (2007)
The Good Night (2007) หนังคอเมดี้ดราม่าแฟนตาซีของผกก.ชาวอังกฤษ
The Matrix (1999)
The Matrix (1999) หนังแอ็คชั่นไซไฟไซเบอร์พังก์ระดับตำนานของ แลร์รี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ลานา) และแอนดี้ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ลิลลี) วาร์ชอว์สกี้ ที่นำเอาแนวคิดของลูซิดดรีมมาแปลงเป็นไอเดียของการเดินทางของจิตในโลกเสมือนในไซเบอร์สเปซได้อย่างหวือหวาเปี่ยมสไตล์และแปลกใหม่เร้าใจเป็นที่ยิ่ง
Inception (2010)
และแน่นอน หนังไซไฟ หนังแอ็กชั่น/ไซไฟ/ทริลเลอร์/จิตวิทยาฟอร์มยักษ์สุดล้ำของคริสโตเฟอร์ โนแลน อย่าง Inception (2010) ที่นำเอาทฤษฎีความฝันแบบลูซิดดรีมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างสรรค์จินตภาพอันน่าตื่นตะลึงและความซับซ้อนลุ่มลึกของความฝันและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก ลุ้นระทึกและสนุกสนานน่าติดตาม จนส่งผลให้หนังเรื่องนี้ฮิตอย่างถล่มทลายมโหฬาร และกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลกเลยทีเดียว
แถมท้าย ฝึกฝันแบบ Lucid Dream คุณเองก็ทำได้ ไม่ยากอย่างที่คิด
ความฝันแบบ Lucid Dream จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมจริงหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการรับรู้ของคนที่ฝันอยู่นั้นๆ และการเป็นนักฝันแบบลูซิด (Lucid Dreamers) ก็ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ต้องเกิดมาร้อยปีถึงจะมีสักคน แต่เป็นความสามารถที่ใครๆ ก็ฝึกฝนกันได้ และเราบังเอิญเจอข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคในการฝึกฝันลูซิดแบบง่ายๆ เลยเอามาแบ่งปันให้อ่านกัน
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแน่วแน่เสมอ ก่อนที่จะนอน ว่าอยากจะฝันเรื่องอะไร กำหนดเป้าหมายว่าคุณอยากฝันเรื่องอะไรก่อนนอน เมื่อคุณเข้านอนและเข้าสู่ฝันลูซิด คุณจะรู้ตัวว่าคุณกำลังอยากจะทำอะไร
- ถ้าคุณต้องการที่จะฝันถึงบางสิ่งหรือบางคนโดยเฉพาะเจาะจง ก่อนที่จะนอนหลับ ให้คิดถึงคนๆ นั้น หรือสิ่งๆ นั้น โฟกัสไปที่ความรู้สึก สัมผัส รูปร่าง หน้าตา ลักษณะพิเศษ รูป รส กลิ่น เสียง ของสิ่งของหรือคนๆ นั้น สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยให้จิตของคุณเพ่งสมาธิไปที่คนหรือสิ่งของนั้นๆ และมีโอกาสที่ความฝันของคุณจะสะท้อนภาพเหล่านั้นออกมา
- บางคนอาจจิบเครื่องดื่มคาเฟอีนต่ำ(อาทิ ชา) นิดหน่อยก่อนที่จะหลับ เพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกรับรู้ของสมองในตอนนอนหลับ ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกตัวในความฝันได้ดีขึ้น แต่สำหรับบางคน มันก็อาจจะเป็นตัวขัดขวางและรบกวนการหลับได้ อย่าดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มจำนวนมากๆ อย่างน้อยหนึ่งชม. ก่อนนอน สิ่งสุดท้ายที่คุณคงอยากให้เกิดตอนที่คุณกำลังเข้าโหมดฝันแบบลูซิดได้แล้ว ก็คือการตื่นขึ้นมาลุกไปฉี่ จริงไหม?
- เรียนรู้เวลาที่จะเกิด Lucid Dream โดยหมั่นนอนให้เป็นเวลา (ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่เกิด Lucid Dream จะเป็นช่วงหลับฝัน (REM - Rapid Eyes Movement) ซึ่งเกิดหลังจากช่วงเวลาหลับลึก ประมาณตีสามถึงตีห้า หรือสองสามชั่วโมงก่อนที่จะตื่น นั่นหมายความว่าคุณต้องมีเวลานอนเพียงพอที่จะเกิดช่วงหลับลึกและหลับฝัน คุณถึงจะเกิด Lucid Dreamได้ (ก็ถ้าไม่ฝันแล้วเราจะรู้ตัวว่าฝันได้ยังไงล่ะ จริงไหมครับ?)
- จากการวิจัย ความฝันครั้งหนึ่งมักจะมีช่วงระยะเวลา 60 นาที ถ้าคุณอยากฝึกให้ตัวเองให้รู้สึกตัวว่ากำลังฝันอยู่ คุณอาจช่วยโดยการตั้งนาฬิกาปลุกหลังจากระยะเวลาที่ว่า (ซึ่งน่าจะเป็นเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง หกโมง และเจ็ดโมงครึ่ง) และเมื่อคุณตื่นขึ้นมาแล้วให้พยายามระลึกถึงความฝันนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อนึกได้มากที่สุดแล้ว กลับไปนอนต่อโดยจินตนาการว่าคุณกำลังฝันต่อจากที่คุณตื่น แต่ให้เฝ้าบอกตัวเองว่า “ฉันจะรู้ตัวว่าฉันกำลังฝันอยู่” จนกระทั่งมันซึมซับเข้าไปในความคิดคุณ แล้วเข้านอน อย่าเพิ่งท้อ ถ้าทำไม่สำเร็จ ยิ่งคุณพยายามเท่าไหร่ มันยิ่งยากขึ้นเท่านั้น ทำจนเป็นความเคยชิน เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นเอง
- หมั่นสำรวจความเป็นจริงในความฝัน เช็คความเป็นจริงอย่างน้อยสามครั้ง หากมีสิ่งผิดปกติธรรมดาบางอย่างเกิดขึ้นกับคุณ สิ่งเหล่านั้นอาจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณกำลังฝันอยู่ หมั่นเช็คความเป็นจริงในขณะที่คุณกำลังตื่นอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นตัวแยกแยะความจริงกับความฝันของคุณ ด้วยการฝึกฝนแบบนี้อย่างเพียงพอ คุณจะรู้สึกตัวได้โดยอัตโนมัติเวลาที่คุณกำลังฝันอยู่
- สังเกตลักษณะของสิ่งที่อยู่ในความฝัน ซึ่งโดยมากจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติไปจากความเป็นจริง อาทิ ดูนาฬิกา โดยเฉพาะนาฬิกาดิจิตอล ว่ามันเดินอย่างปกติเที่ยงตรงไหม?, อ่านตัวหนังสือที่เห็น แล้วสังเกตดูว่าพอหันกลับมาอ่านอีกครั้งมันเปลี่ยนไปไหม?, ลองเปิดปิดสวิตซ์ไฟดู, มองไปในกระจกเงา (ในความฝัน ภาพสะท้อนของเรามักจะเบลอกว่าความเป็นจริง) แต่ให้ระวัง เพราะภาพในกระจกของคุณอาจบิดเบี้ยวและนำพาฝันที่ว่าให้กลายเป็นฝันร้ายได้, อุดจมูกแล้วลองหายใจดู ถ้าหายใจออกแสดงว่าฝันอยู่, มองดูมือของตัวเอง (เวลาฝัน เรามักจะมองเห็นมือเรามีนิ้วน้อย หรือมากไปกว่าปกติ), ลองกระโดดดู ในฝัน เรามักจะกระโดดได้สูงมากๆ ลอยตัวได้นานผิดปกติ หรือไม่ก็บินได้เลย, ลองดัดตัว บิดตัว หรือทำท่าผิดธรรมชาติดู ในความฝัน ร่างกายของเรามักจะยืดหยุ่นได้มากกว่าความเป็นจริง, ลองพิงกำแพงดู ในความฝัน เรามักจะทะลุกำแพงได้, ลองหมุนตัวในความฝันดู ถ้าคุณฝันอยู่ คุณจะพบว่า เมื่อคุณหยุดหมุน สถานที่จะเปลี่ยนไปจากก่อนที่จะหมุน, การลองหยิก หรือทำให้ตัวเองเจ็บในฝัน อันนี้ผู้เขียนเคยลองดูแล้วพบว่าเรามีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หนาว เพียงแต่ความรู้สึกจะไม่เข้มข้นเท่ากับความเป็นจริง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมารู้สึกแน่ๆ, การบินในความฝันก็น่าสนุกดีเหมือนกัน คุณอาจเริ่มต้นด้วยการกระโดดให้สูงขึ้นๆ หรือก้าวให้ยาวขึ้นในขณะที่กำลังเดินอยู่ในความฝัน คุณอาจลองเดินบนกำแพง หรือเพดานดู, ประสบการณ์การบินในฝันเป็นครั้งแรกอาจดูน่ากลัว ถ้าคุณยังไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังฝันอยู่ หลังจากนั้นแล้วหลายๆ คนที่เคยมีประสบการณ์การบินในฝันมักจะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติและน่าประทับใจเอามากๆ
- เมื่อคุณเริ่มรู้จักรูปแบบของความฝันของคุณแล้ว คุณจะสังเกตเห็น สัญญาณของความฝัน หรือสิ่งที่มักจะปรากฏซ้ำๆ ในความฝันของคุณ และเมื่อคุณจับสังเกตสิ่งเหล่านั้นได้ คุณจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่ และเมื่อนั้น คุณก็อาจจะเริ่มที่จะกำหนดความฝันของคุณได้
- ถ้าคุณพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เหลือเชื่อ และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง อาทิเช่นสามารถหายใจตอนอยู่ใต้น้ำ (หรือมีแฟนเป็นดาราฮอลลีวูด เป็นต้น :-P) สิ่งเหล่านี้มักจะเป็นสัญญาณเตือนคุณ ว่าความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณคือความฝัน แต่ถ้าคุณถามคนอื่นๆ ในความฝันของคุณว่า “นี่ฉันกำลังฝันอยู่ใช่ไหม?” คนเหล่านั้นมักจะตอบว่า “เอ็งฝันซะเมื่อไหร่กัน บ้าป่าววว?” การหมั่นตรวจเช็คความเป็นจริงจะช่วยคุณได้มาก ถ้าคุณรู้สึกว่าบางสิ่งบางที่อย่างเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความฝันซ้อนความฝันให้คิดกับตัวเองว่า “สิ่งนี้เกิดขึ้นได้แค่ในฝัน มันต้องเป็นความฝันแน่ๆ”
- การตื่นขึ้นมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ (โดยไม่ได้ใช้นาฬิกาปลุก) จะช่วยให้จดจำฝันได้ดีขึ้น หลังจากตื่น ให้ตั้งสติ เพ่งโฟกัสไปที่วัตถุแรกที่คุณเห็นเมื่อลืมตา อาจเป็นลูกบิดประตู หลอดไฟ หัวตะปูบนผนัง ฯลฯ วัตถุนั้นจะเป็นตัวช่วยรวบรวมรายละเอียดและความทรงจำเกี่ยวกับความฝันที่กระจัดกระจายไม่ชัดเจนเอาไว้ด้วยกันและทำให้จดจำความฝันที่ผ่านมาได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นคุณให้ตื่นตัวรับวันใหม่ และช่วยรวมรวมความรู้สึก รายละเอียด และรวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับความฝันที่กระจัดกระจายให้ชัดเจนขึ้นมาได้
- อย่ากังวลกับเรื่องราวในความฝัน พยายามระลึกอยู่เสมอว่ามันเป็นแค่ความฝัน ไม่มีอะไรหรือใครที่จะทำร้ายคุณได้จริงๆ ในฝัน ยิ่งถ้าคุณกังวลว่าคนในความฝันจะทำร้ายคุณเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งจะมีโอกาสที่จะเข้ามาทำร้ายคุณในความฝันได้มากเท่านั้น
- ถ้าคุณไม่สามารถจดจำความฝันของคุณได้ ให้ตั้งสติ ทำใจให้สบาย และระลึกถึงที่ความรู้สึกที่คุณได้รับจากความฝันนั้น อย่าพยายามฝืน การพยายามฝืนจดจำความฝันอย่างขัดขืนมีแต่จะทำให้เราลืมมัน เพราะมันจะทำให้จิตของเราคิดถึงแต่เรื่องอื่นที่ไม่ใช่ความฝัน
- หมั่นจดบันทึกความฝัน จดบันทึกสิ่งที่คุณจำได้หลังจากตื่นนอน ทำให้เป็นกิจวัตร นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการฝึกฝันแบบลูซิด ลองวางบันทึกไว้ใกล้ๆ ที่ๆ คุณนอนหลับ และจดบันทึกสิ่งที่คุณฝันทันทีที่คุณตื่น หรือใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงที่หาได้ง่ายๆ เพื่อบันทึกสิ่งที่คุณจดจำได้จากความฝัน สิ่งนี้จะช่วยคุณในการจดจำองค์ประกอบของความฝันและแยกแยะมันกับความเป็นจริง และช่วยย้ำเตือนสมองของคุณให้เกิดความเคยชินและจดจำความฝันของคุณได้ (ก่อนจะนอนครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตั้งใจเอาไว้ว่าจะจดบันทึกความฝันของตัวเองตอนตื่น จนกระทั่งหลับไปและฝันอย่างเมามันมาก เมื่อตื่นขึ้นมาก็รีบจดความฝันทั้งหมดนั้นลงในสมุดบันทึกที่วางอยู่ข้างเตียงโดยด่วน สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ที่เรากำลังจดบันทึกความฝันของตัวเองอยู่นั้น มันดันเป็นความฝันไปด้วยน่ะสิ! ป้าดดดดด!) การจดบันทึกความฝัน (Dream Journal) นอกจากจะมีส่วนช่วยในการแยกแยะความเป็นจริงกับความฝันและเข้าสู้สภาวะฝันลูซิดได้ง่ายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการฝึกจินตนาการ ความคิด และที่สำคัญ 'ความฝัน' ยังเป็นวัตถุดิบอันล้ำค่าสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ อาทิ ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี ดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ ฯลฯ
มีศิลปินและนักเขียนหลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการหยิบเอาแรงบันดาลใจจากความฝันทำสร้างเป็นผลงาน อาทิ ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ นักเขียนอย่าง แมรี่ เชลลี่ (ผู้ประพันธ์นิยาย แฟรงเกนสไตน์) หรือแม้แต่นักเขียนร่วมสมัยผู้โด่งดังอย่าง สตีเฟ่น คิง หรือ เจ เค โรว์ลิ่ง ก็ได้แรงบันดาลใจในการเขียนงานวรรณกรรมชิ้นเอกของตนจากความฝันกันถ้วนหน้าเลยก็ว่าได้
ข้อมูลจาก https://goo.gl/hS0ENZ
เขียนโดย ภาณุ บุญพิพิัฒนาพงศ์
#WURKON #art #movie #luciddream #frederikvaneeden #stephenlaberge #thelucidityinstitute #luciddreamtherapy #VanillaSky #OpenYourEyes #WakingLife #Paprika #EternalSunshineofTheSpotlessMind #TheScienceofSleep #WhatDreamsMayCome #TheGoodNight #TheMatrix #Inception #ฝันลูซิด #ฝันที่รู้ตัวว่าฝัน #แรงบันดาลใจจากความฝัน #แรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon