คุยแบบคลุกวงในกับ ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพแฟชั่นเชิงศิลปะ, สังคม และสิ่งแวดล้อม ผู้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนด้วยภาพถ่าย
16 มีนาคม 2562
ในวงการถ่ายภาพของประเทศไทย มีช่างภาพมากมายหลายคนที่ทำงานหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายแฟชั่น ภาพถ่ายสารคดี หรือแม้แต่ภาพถ่ายศิลปะ และในจำนวนนั้น มีช่างภาพผู้หนึ่งที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้วยผลงานภาพถ่ายที่ผสมผสานแนวทางภาพถ่ายอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผสมผสานงานภาพถ่ายแฟชั่นอันเปี่ยมสีสันเข้ากับภาพถ่ายศิลปะในแนวคอนเซ็ปชวลอันลุ่มลึก ที่นำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองได้อย่างแหลมคม รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง
จากอดีตมัณฑนากรผู้เรียนจบทางด้านการออกแบบตกแต่งภายในและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ผันตัวเองมาทำงานภาพถ่าย เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพถ่ายแฟชั่นเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีฉากหลังเป็นซากวาฬบรูด้าเกยตื้นขนาด 20 เมตร อย่าง The Last FareWhale จนเป็นที่จับตาและกล่าวขานทั้งในและต่างประเทศ
หรือภาพถ่ายแฟชั่นที่ถ่ายทำขึ้นในชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนโบราณอายุกว่า 200 ปีที่ถูกไล่รื้อ อย่าง SKYfALL: น้ำตามหากาฬ
และผลงานภาพถ่ายแฟชั่นที่แสดงเป็นนิทรรศการจัดวางเฉพาะพื้นที่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่สะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญในการบริจาคอวัยวะอย่าง The Anatomy 101
หรือผลงานภาพถ่ายแฟชั่นเชิงปฏบัติการที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างความมั่นใจในกลุ่มผู้สูงอายุ และลดช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ ในโปรเจคเรียลลิตี้สำหรับผู้สูงอายุครั้งแรกของเมืองไทยอย่างรายการ THE SENIOR ปฎิบัติการรุ่นใหญ่ขอเฟี้ยว (NEV3R MIND THE BOTOX) https://goo.gl/rPUmyr
และล่าสุด กับผลงานภาพถ่ายแฟชั่นแนวคอนเซ็ปช่วล ที่นำเอาแรงบันดาลใจจากงานศิลปะและเครื่องแต่งกายในยุคโรมัน, บาโร้ก และ เรอเนสซองส์ มาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของแม่และเด็กในเรือนจำ อย่าง The Bedtime Stories : Babies Behind Bars Project
นับเป็นโอกาสอันดี ที่ในคราวนี้เราได้พบปะกับเขาเพื่อพูดคุยสอบถามถึงตัวตน ความคิด และแรงบันดาลใจในการทำงานช่างภาพแฟชั่นเชิงศิลปะ, สังคมและสิ่งแวดล้อมชาวไทย ผู้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนด้วยภาพถ่ายอย่าง ทอม ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ผู้นี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาทำความรู้จักกับเขาไปพร้อมๆ กันเถอะ
WURKON:
แรกเร่ิมเลย คุณทอมเริ่มถ่ายภาพได้ยังไง
ทอม:
จริงๆ แต่ก่อนเป็นคนไม่ได้ชอบถ่ายภาพ แต่เรารู้สึกว่า หนึ่ง เราเป็นคนความจำสั้น สอง มันจะมีช่วงหนึ่งที่เราเดินทางโดยเครื่องบินเล็กเยอะ แล้วเราเป็นโรคกลัวเครื่องบิน แล้วเราก็พยายามหาอะไรบางอย่างที่ทำให้เราหายกลัวหรือลดความกลัว อ่านหนังสือบนเครื่องบินก็แล้ว เราเล่นเกมส์ก็แล้ว เราสวดมนต์ไหว้พระ เราหากิจกรรมต่างๆ ทำมากมาย แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่ช่วยเราได้มากจริงๆ คือการถ่ายภาพ แรกเลย เราเริ่มจากการถ่ายภาพทางอากาศ ก็ถ่ายเมฆ ถ่ายพื้นดิน และเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเดินทางนานมาก 4 เดือน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม, พื้นผิวโลก, ธรรมชาติต่างๆ เรารู้สึกว่ารามองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น หลังจากนั้น เราก็เริ่มศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง ก็ไปซื้อหนังสือมาอ่าน
WURKON:
เคยเรียนทางด้านถ่ายภาพมาก่อนไหม
ทอม:
ไม่เคยเรียนถ่ายภาพ ก็แค่ถ่ายเล่นตามประสา มีกล้องคอมแพคอันหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ได้โฟกัสว่ามันต้องออกมาสวย หรือว่ามันต้องแบบมีองค์ประกอบที่ดี มีสีที่โอเค เราก็ถ่ายเล่นเฉยๆ แล้วอย่างที่บอกว่าเราเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ เหมือนมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วเราจำไม่ได้ เราก็คิดว่าภาพถ่ายเป็นตัวหนึ่งที่สามารถเชื่อมอดีตกับปัจจุบัน และก็โยงไปถึงอนาคตของเราได้ ตอนเด็กๆ เราเป็นคนที่มีภาพถ่ายกับครอบครัวน้อยมาก ก็เลยคิดว่า เฮ้ย! เราอยากจะถ่ายภาพ แต่ตอนนั้นเราไม่อยากถ่ายภาพคน เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ชอบทำงานกับคน เราชอบทำงานกับสัตว์ ชอบทำงานกับธรรมชาติมากกว่า แล้วพอเริ่มอ่านหนังสือในร้านเกือบทุกเล่มแล้ว เรารู้สึกว่า มันยังไม่มีอะไรที่ตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากจะทำ ก็คือเรื่องของภาพถ่ายที่พูดถึงประเด็นของสังคม, ศาสนา, วัฒนธรรม และธรรมชาติ ก็เลยเริ่มหันมาถ่ายคน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เรายังไม่ได้ถ่าย แล้วเรารู้สึกว่าถ้าคุณอยากจะก้าวข้ามความอยากจะมีความสามารถมากกว่าคนอื่น ก็ต้องก้าวข้ามความกลัว ก้าวข้ามจุดอ่อนของตัวเองไปให้ได้ พอเริ่มถ่ายคนแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันไม่ได้แย่ว่ะ จริงๆ เราชอบว่ะ ก็เลยเริ่มถ่ายภาพแฟชั่น เริ่มถ่ายภาพบุคคล เริ่มถ่ายภาพพอร์ตเทรต
จนกระทั่งหลังจากนั้น เราก็เริ่มมาทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ โครงการแรกที่ทำคือเรื่องของ การนำการบินรวมกับการถ่ายภาพ ด้วยการเป็นอาสาสมัครถ่ายภาพทางอากาศเพื่อสำรวจจำนวนประชากรพยูนให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่จังหวัดตรัง ซึ่งปีนี้เราทำมาเป็นปีที่ 11 แล้ว โดยเราระบุจำนวนประชากรของพยูนจากเครื่องบิน ตอนนั้นเลิกกลัวเครื่องบินแล้วไง คราวนี้เปิดประตูเครื่องบินห้อยโหนถ่ายภาพได้แล้ว (หัวเราะ) พอมาทำเรื่องของงานอนุรักษ์ แล้วพอเราได้ผลการวิจัยและการสำรวจที่เอามาทำเป็นหลักฐานหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ ก็เลยรู้สึกว่าความสามารถของเรามันน่าจะไปทำอย่างอื่นได้อีก ก็เลยเริ่มทำเรื่องการสำรวจวาฬทางอากาศ เสร็จแล้วพอเริ่มทำพยูน ทำวาฬ มันก็ลิงค์ไปถึงเรื่องของสัตว์ป่าอย่างชะนี คือเราไปช่วยโครงการที่น้ำตกบางแป ที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยการดัดแปลงเครื่องบิน แล้วก็ขนชะนีที่ได้รับการเยียวยาแล้ว เพราะชะนีบ้านเราถูกเอามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันจะถูกซ้อม ถูกตัดมือ ถูกดึงเขี้ยว โดนทารุณต่างๆ นาๆ ที่ศูนย์เนี่ย เขาก็เยียวยาจนมันโอเค แล้วก็จับใส่เครื่องบินเอาไปปล่อยในป่าที่เชียงใหม่ ซึ่งก็มีศูนย์รองรับ
WURKON:
ก่อนหน้านี้คุณทอมเรียนอะไรมาครับ
ทอม:
ก่อนหน้านี้ผมจบมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แล้วก็ว่างไปปีนึง ไปอยู่อเมริกา เพราะว่าสอบเทียบได้ แล้วก็รอเพื่อน กลัวไม่ได้เรียนกับเพื่อน (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็กลับมาเรียนบริหารธุรกิจที่ ABAC อ้อ จริงๆ มันมีเหตุการณ์นึงที่ทำให้เราสนใจศิลปะ คือตอนเด็กๆ เราโดนอาจารย์ด่าว่าห่วย ทำงานผิดแบบแผน คือเราวาดวงล้อสามสี ผิดจากแบบนิดเดียวนี่ กลายเป็นคนห่วยเลยเหรอวะ ก็เลยกลัวศิลปะมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็พอมาเรียน ABAC ก็ยังไม่ได้กลับมาชอบศิลปะ ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นสายธุรกิจอยู่ คือที่บ้านก็จะผลักดันเราเรื่องธุรกิจพอสมควร ก็ถามที่บ้านว่า อยากให้เรียนอะไร เขาก็บอกว่า แล้วแต่ลูกเลย มีความสุขอะไรก็เรียนอันน้น คือที่บ้านก็ขี้เกียจคิดให้ไง (หัวเราะ) เรารู้แหละ ว่าที่บ้านอยากให้เรียนด้านธุรกิจ เราก็เลยเรียนด้านธุรกิจ แต่เรียนมาเรากลับรู้สึกว่าเราอยากทำอย่างอื่นว่ะ เราก็เลยเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ทำของส่งออกเมืองนอก เป็นของดีไซน์เบาๆ เป็นเสื้อผ้าเกี่ยวกับสปา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสปา เพราะช่วงนั้นเป็นยุคที่สปาเมืองไทยบูม
ก็ขนกระเป๋าไปออกแฟร์ที่นิวยอร์คเองคนเดียว จองบูธอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เด็กมากตอนนั้น อายุ 22 เอง เพื่อนทุกคนก็บอก มึงจะบ้าเหรอ! แต่เราก็ไป ไปแล้วเรารู้สึกว่า เฮ๊ย! โลกเราแม่งใหญ่กว่าประเทศไทยเยอะเว้ย! คือโอกาสในการทำงานแม่งเยอะมาก พอกลับมาเมืองไทยก็ไม่ค่อยเรียน มัวแต่ทำธุรกิจ จนกระทั่งเพื่อนจบหมดแล้ว เรายังเรียนไม่จบ ก็เลยย้ายจากบริหารธุรกิจไปเรียน Art Eng (ศิลปศาสตร์ ภาษาอังกฤษ) เพราะว่าง่าย จบเร็ว กว่าจะจบก็ 5 ปีครึ่ง แล้วช่วงที่จบมาก็ยังทำธุรกิจตัวนี้อยู่ และก็รู้สึกว่าจริงๆ ตัวเองชอบดีไซน์ ชอบศิลปะ ชอบการประดิษฐ์ แต่เราไม่ชอบการทำการตลาด ไม่ชอบการหลอกล่อคนให้มาซื้อของ ก็คิดว่าทำยังไงดีวะ ก็เลยขายธุรกิจทิ้ง แล้วก็ขอเงินแม่ไปเรียนต่อ ตอนแรกก็จะไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก ก็ดูที่สถาบัน NYIP (New York Institute of Photography) แต่ดูไปดูมา รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา อีกอย่าง ทางบ้านก็ไม่อยากให้ไปเรียนไกลๆ ก็เลยไปเรียนที่สถาบัน Accademia Italiana Thailand ของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (พระธรรมมงคลญาณ) ที่วัดธรรมมงคล ที่ตอนนี้เป็นสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ตอนนั้นเราก็ยังวาดรูปไม่ได้ วาดรูปไม่เป็นเลย แค่วาดวงกลมยังวาดไม่ตรงเลย ตอนเข้าไปเรียนก็บอกว่า ผมวาดรูปไม่ได้นะ แต่ผมทำพรีเซนเทชั่นได้ดี ก็เนียนๆ ไปได้ (หัวเราะ)
พอไปเรียนแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เราชอบดีไซน์ ชอบศิลปะจริงๆ ว่ะ! แต่ก็ยังไม่ได้มายุ่งในกระบวนการทำงานด้านศิลปะอย่างจริงจังนะ ตอนนั้นยังอยู่แค่โลกของดีไซน์ ว่าเอาอะไรมาประกอบกับอะไรแล้วได้อะไร ขายยังไง ตรรกะมันคืออะไร พอจบจาก Accademia Italiana ก็มาทำอินทีเรีย ดีไซน์ อยู่ 2 ปี จนกระทั่งมาเจอแฟน แล้วก็ออกจากงาน เลิกทำงาน มาเป็นแม่บ้าน ชีวิตตอนนั้นคือแบบ ดีมาก วันๆ เป็นคุณนาย เดินไปเดินมา แต่เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่กูวะ ฉันเป็นคนแอคทีฟ ฉันเป็นคนทำงาน อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เล่ามาตอนแรก
WURKON:
แล้วงานที่ทำกับโครงการอนุรักษ์ต่างๆ นี่ คุณทอมเข้าไปทำได้ไงครับ
ทอม:
จริงๆ แล้วก็มีเพื่อนชวน แล้วก็เหมือนเราเสนอตัวเข้าไปด้วย ว่า เฮ้ย! อยากทำ เราทำได้ เรามีเวลาให้เท่านี้ ขอไปทำด้วย
WURKON:
ตอนนั้นถ่ายภาพเป็นอาชีพแล้วหรือยัง
ทอม:
ยัง ถ่ายเป็นงานอดิเรก ยังคิดว่าฝีมือไม่ถึงที่จะไปเรียกเงินใครได้ (หัวเราะ) พอเราทำสามโครงการนี้แล้วเรารู้สึกว่า คนไทยยังไม่ค่อยให้การสนใจในเรื่องของการอนุรักษ์ แคมเปญการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของงานอนุรักษ์ หรือเรื่องของประเด็นสังคมต่างๆ มันค่อนข้างจะล้าหลัง คือมันจะมีแค่ตัวเลข มีแค่อะไรที่น่าสงสาร อะไรที่น่ากลัว จะวนๆ อยู่แค่นี้จริงๆ เรารู้สึกว่ามันจะต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เราสามารถสื่อสารกับคนได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกแบบ โดยใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อ แต่ภาพถ่ายของเรามันจะต้องสื่อสารกับทุกคนได้ ก็เลยมานั่งคิดว่าอะไรที่มีอยู่ในตัวทุกคนวะ? ท้ายที่สุดมาจบที่แฟชั่น เพราะเราคิดว่าทุกคนมีแฟชั่นอยู่ในตัว ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวดี แต่งตัวเลว อะไรที่คุณเลือกมาใส่ คุณคิดแล้วก่อนยูออกจากบ้าน นั่นแหละคือแฟชั่น มันเป็นสไตล์ของคุณ ก็เลยคิดว่า ถ้าเราทำภาพถ่ายที่มันเกี่ยวกับการอนุรักษ์โดยใช้แฟชั่นเป็นสื่อ มันน่าจะเจ๋งดีนะ
WURKON:
แล้วเคยถ่ายภาพแฟชั่นมาก่อนไหม
ทอม:
ทำบ้าง แต่ว่ายังไม่ได้ทำเต็มตัว เหมือนเริ่มศึกษา พอคราวนี้ก็เลยเริ่มคิดว่าจะทำยังไงถึงจะรวมกระบวนการภาพถ่ายแฟชั่นเข้ากับปัญหาสังคมต่างๆ ได้ แล้วตอนนั้นมันก็มีเรื่องของ Shut Down เราก็เลยเอาเรื่องของการเมืองบวกกับแฟชั่น แล้วมันก็กลายมาเป็นภาพเซ็ตนึง ที่เราไม่ได้คิดว่ามันดีขนาดนั้นนะ แต่คิดว่ามันเป็นแนวของเราตอนนั้น แต่เอาไปเสนอใครทุกคนก็แบบส่ายหน้า ยี้ใส่ บอกว่านี่มันคืองานอะไร ทำไมหยาบขนาดนี้ แล้วทำไมเราพูดถึงประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึงกันในงานแฟชั่น เราบอกว่า เฮ้ย! คุณดูความเป็นไปของทั้งโลกสิ หลายๆ ประเทศเขาทำกันแล้วนะ ฝั่งอเมริกา, ฝั่งยุโรป, ฝั่งอังกฤษเขาก็ทำตั้งนานแล้ว แต่คนไทยไม่มีใครทำ เพราะว่าเรากลัว เรากลัวอะไร เรากลัวเราเสียตัวตนในบริบทของสังคมเหรอ? ผมไม่ได้ห่วงเลย ว่าตัวตนของเราจะออกมาเป็นยังไง หรือคนจะมองเรายังไง เราแค่คิดว่าทำงานใดแล้ว ขอให้มันออกมาดีที่สุดตามที่เราตั้งใจไว้แค่นั้นพอ
Shut Down
งาน Shut Down ที่ออกมาตอนนั้น ไม่มีใครสนใจ ไม่มีสิ่งพิมพ์ไหนสนใจเลย ก็เลยคิดว่าวงการแฟชั่น มันก็เหมือนเป็นปีระมิดเนอะ มันมีฐานข้างล่าง ขึ้นไปจนถึงยอดปีระมิดที่เป็นพวกผู้บริหารอยู่ข้างบน แล้วถ้าเราไปถึงข้างบนไม่ได้ เราก็ต้องเริ่มจากการตีฐานล่างก่อน เพราะฉะนั้น สื่อที่ทรงพลังที่สุดในตอนนั้นที่เราคิดว่าเราสามารถเข้าถึงได้คืออะไร? ก็คือ Pantip ก็เลยลุย Pantip เลย ก็บอกทีมงานทุกคนว่า เฮ้ย! จะเอางานชิ้นนี้ไปลง Pantip นะทุกคนโอเคหรือเปล่า? ทุกคนก็บอกว่าจะดีเหรอพี่? พี่รู้ไหมว่า Pantip คืออะไร? เราก็ไม่ค่อยรู้หรอก แต่เรารู้ว่ามันน่าจะสร้างกระแส สร้างแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างได้ ทุกคนก็บอกว่า โอเคไม่มีปัญหา แต่พี่จะต้องรับแรงปะทะตรงนี้ให้ได้นะ ที่ทุกคนจะต้องด่าพี่กลับมา เราบอก เราไม่ได้ห่วงอยู่แล้ว ก็เอาไปลง แล้วมันก็เกิดการเกิดบทสนทนาต่างๆ มากมาย เกิดคำถามว่า ทำไมต้องทำงานเซ็ตนี้ ทำไมทำออกมาแบบนี้ คุณอยู่ฝ่ายไหน คุณเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ซึ่งเราไปอ่านแล้วเราก็สนุกดี จริงๆ นะ เราไม่ได้ซีเรียสเลยว่าคนจะคิดกับเรายังไง แต่เราคิดว่าเราซีเรียสว่าคนจะรู้สึกกับงานชิ้นนั้นยังไง
WURKON:
แล้วภาพถ่ายแฟชั่นกับซากวาฬนี่มีที่มายังไง
ทอม:
พอผ่านงาน Shut Down ก็มาถึงงานวาฬ เพราะว่าอย่างที่เล่าว่าคนไทยไม่ค่อยสนใจประเด็นพวกนี้ พอดีช่วงนั้นอยู่ภูเก็ต แล้วก็มีข่าวจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่า มีวาฬบรูด้าตัวหนึ่งมาลอยอืดอยู่กลางทะเล ตรงหน้าปากแม่น้ำแถวๆ อ่าวไทย เราได้เห็นภาพแล้วเราก็ โอ้โห มันคงดีนะ ถ้าเอานางแบบลงเรือไปถ่ายกับซากวาฬ มันน่าจะสร้างความตระหนักรู้อะไรบางอย่างได้ ก็คุยกับลูกน้องทุกคน ลูกน้องบอกว่า พี่จะบ้าเหรอ! ใครเขาไปถ่ายนู้ด ถ่ายแฟชั่นกับซากวาฬ เราก็บอกว่า แล้วทำไมมันถ่ายไม่ได้วะ? ทำไมเราไม่ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ทำไมเราจะต้องไปตามกระแส ว่าช่างภาพคนนั้นทำแบบนี้ ช่างภาพคนนี้ทำแบบนั้น ช่างภาพคนนั้นทำงานอะไรสำเร็จ เราถึงจะต้องไปทำตามเขา ทำไมเราไม่สร้างหนทางของเราขึ้นมา ก็เลยนั่งเครื่องบินกลับจากภูเก็ตมากรุงเทพ แล้วก็รวมทีมภายใน 12 ชั่วโมงไปที่สมุทรปราการ แล้วตอนนั้นที่ไปถึง พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นป่าชายเลน ต้องเดินเข้าไปประมาณ 2 กิโล แล้วคุณคิดดูว่า ป่าชายเลนที่มีแต่โคลน มีแต่ซากขยะ เดินกว่าจะไปถึงซากวาฬเนี่ย มันกินแรงของเราค่อนข้างมากๆ ไปถึงตอนเย็น เช้าวันรุ่งขึ้นเราต้องถ่าย เแล้วเราก็เข้าไปคุยกับทางทีมกรมทรัพฯ ว่ามันจะโอเคไหม ถ้าผมจะทำงานเซ็ตนี้? ทุกคนก็ไม่เข้าใจว่าเราจะทำอะไร เขาก็บอก จะทำก็ทำ แต่ไม่เกี่ยวกับทางกรมทรัพฯ นะ เราก็บอก ได้ครับ แล้วเราก็ไปคุยกับคนในพื้นที่ เพราะว่าสิ่งสำคัญในการทำงานของเราคือ คนในชุมชนจะต้องโอเค คนที่เราทำงานด้วยจะต้องโอเค ถ้าเราไม่มีสองสิ่งนี้สนับสนุน เราจะไม่ทำ แล้วก็พอเราได้สองสิ่งนี้สนับสนุนแล้ว วันรุ่งขึ้นเราก็เข้าไปในพื้นที่ ปรากฏว่า เช้าวันรุ่งขึ้น นักข่าวมาเป็นสิบสำนักเลย ทั้งๆ ที่เราคิดว่าเขาไม่มาแล้วเพราะว่าเขามาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เราก็ อ้าว ฉิบหายแล้ว จะทำงานยังไงเนี่ย! เราก็เลยรีบเข้าไปตรงจุที่ซากวาฬอยู่ แล้วก็รีบถ่ายภาพ
The Last FareWhale
เราพยายามนำเสนอภาพเซ็ตนี้ในเรื่องของ หนึ่ง การอนุรักษ์ สอง ในเรื่องของบุคคลที่ปิดทองหลังพระ ซึ่งก็คือทีมสัตวแพทย์สัตว์ทะเลหายาก เพราะว่าจริงๆ ทีมสัตวแพทย์ในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลน้อยมาก ตอนนี้มี 4 คนที่ดูแลทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แล้วเราก็ไม่คิดว่างานนี้มันจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตขนาดนี้ เพราะว่างานเซ็ตนี้จริงๆ จะส่งไปแสดงที่นิวยอร์ก แล้ววันนั้นมีสำนักข่าวเจ้าหนึ่ง เขาถ่ายรูปตอนที่เราทำงาน แล้วก็เอาไปใส่คำบรรยายว่า ช่างภาพเพี้ยนสุดกู่ เอานางแบบมาถ่ายภาพกับซากวาฬ โอ้โห! ชาวเน็ตก็แบบให้ความเห็นกันอย่างสนุกสนาน ตอนนั้นเราห่วงอย่างเดียวคือมันจะกระทบกับกรมทรัพฯ ว่าเขาจะโดนอะไรหรือเปล่า? เขาบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะมันก็ถือเป็นการสร้างกระแส และสร้างความตระหนักรู้ให้คนได้รู้ว่าในอ่าวไทยมีวาฬนะ เราก็โอเค ถ้าเขาคิดได้อย่างนี้ ผมก็โอเคนะ เพราะว่าจริงๆ มันก็เป็นจุดประสงค์ของเราตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่าเราต้องการให้ความรู้กับคนไทย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์หรอก แค่เรื่องที่ว่า ในอ่าวไทยมีวาฬ ทุกวันนี้คนยังไม่ค่อยรู้เลย งานนั้นก็ผ่านมาได้ แล้วที่สำคัญ เบื้องหลังการถ่ายภาพเซ็ตนั้น ถูกสำนักข่าวเกือบทุกสำนัก ตีข่าวขึ้นมา แต่เราก็พยายามอยู่เฉยๆ เพราะเราคิดว่าการทำงานของเรามันผ่านกระบวนการคิดที่ค่อนข้างจะซับซ้อน และถูกตกผลึกมาแล้ว เราไม่จำเป็นจะต้องไปแก้ข่าว หรือว่าไปแก้ตัว หรือต้องไปพูดอะไรเยอะ ท้ายที่สุดแล้ว งานที่ออกมา มันคืองานโดยตัวของมันเอง แล้วผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ใช่ว่าเรารู้สึกยังไง แต่คนดูรู้สึกกับงานเราแบบไหนมากกว่า ถ้าเขามีปัญหา มีคำถาม เขาควรจะต้องค้นคว้าเพิ่มหรือเปล่า? ในงานของผมทุกงานจะมีคำบรรยายหรือคำอธิบายเขียนไว้ค่อนข้างจะละเอียดอยู่แล้ว ว่าเราทำเพราะอะไร มีประเด็นอะไรบ้าง ถึงคราวนั้นจะกลายมาเป็น Talk of the town แต่เราก็ทิ้งมันไป แล้วก็พัฒนางานอื่นๆ ต่อ
WURKON:
แล้วสรุปงานนั้นได้ไปแสดงที่นิวยอร์กไหม
ทอม:
ไม่ได้ไป ท้ายที่สุดก็ต้องเอางานมาเผยแพร่ในเมืองไทย เพราะว่ากระแสมันแรงมาก แล้วในสัญญาของนิวยอร์กคือห้ามเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ก็เลยเฟลไป แต่ก็เอาไปลงในโซเชี่ยลมีเดีย ที่เหลือสำนักข่าวอื่นๆ เขาก็เอาไปลงของเขาเอง คืองานที่มันเป็นงานเพื่อสังคมจริงๆ ผมจะไม่ค่อยระบุว่าต้องลงกับสำนักพิมพ์โน้นสำนักพิมพ์นี้ เพราะนั่นจะกลายเป็นงานจ้าง ไม่ใช่งานเพื่อสังคมแล้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วทางนู้นก็ตามงานให้ได้ไปตีพิมพ์ที่นิวยอร์ค แล้วพอดีช่วงนั้นเดินทางเยอะ ทำงานหนัก ทำหลายอย่าง ทั้งงานภาพถ่าย การเดินทาง ที่จะต้องไปคอยติดตามอดีตสามีไปในที่ต่างๆ ดูแลเรื่องการอนุรักษ์ ฯลฯ
WURKON:
อดีตสามีนี่ทำงานอะไรครับ
ทอม:
เขาเป็นนักบิน คือเขาเกษียณแล้ว เขาก็เลยคิดว่าอยากขับเครื่องบิน เพราะว่าช่วงนั้นเขามาเมืองไทยในช่วงที่เกิดสึนามิ แล้วเขาไปหาทุนมาช่วยชาวเรือที่สูญเสียเรือจากสึนามิ เอาเงินไปให้เขาสร้างเรือใหม่ เสร็จแล้วเขาไม่มีวิธีการติดตามเรือเหล่านี้ ก็เลยคิดว่า เฮ้ย! ฉันเรียนการบินเพื่อเอาไปติดตามเรือพวกนี้ดีกว่า ก็ไปเรียน พอเรียนเสร็จกระแสสึนามิจบแล้ว อ้าว จะไปทำอะไรดี? ก็เลยมานั่งคุยกันว่า คุณควรจะใช้การบินมาช่วยอนุรักษ์ในประเทศไทย เรื่องของปัญหาที่ใช้การบินช่วยเหลือได้ เช่นตอนนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราก็ระดมทุน เอาของใส่เครื่องบินไปแจกคนที่นครสวรรค์ ที่อ่างทอง
หลังจากนั้นก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายติดเชื้อปีหนึ่งสองสามครั้ง โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอคุณหมอกวิรัช (ตันติวงษ์) ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เขาก็ระบุได้ว่า เราเป็นคนที่เกิดมาแล้วมีไตสามอัน (duplex kidney system) เราก็ อ้าว มันงอกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาบอกว่ามันมีมาแต่กำเนิดแล้ว แม่คุณไม่ได้บอกเหรอ? ก็เลยโทรไปถามแม่ “แม่รู้ไหม ว่าลูกมีไตสามอันมาตั้งแต่กำเนิด” แม่บอก เออว่ะ! ลืมบอก! ของอย่างนี้มันไม่ควรลืมบอกหรือเปล่า (หัวเราะ)
แล้วคราวนี้อันที่เกินมานี่มันก็เสื่อมลง ทำให้ร่างกายเราติดเชื้อบ่อย เราก็ต้องกินยา ฉีดยาฆ่าเชื้อ แล้วเราก็จะง่อยไปประมาณสองเดือน จะเหนื่อยมาก จนกระทั่งคุณหมอบอกว่า เอาออกเหอะ ถ้าติดเชื้ออย่างนี้ต่อไป มันไม่ดีต่อสุขภาพ พอดูค่ารักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้วประมาณเก้าแสน เราก็ โห! แพงจัง เอาไปทำอย่างอื่นได้ตั้งเยอะ ตอนนั้นยังคิดแต่เรื่องงานอนุรักษ์ ช่วยเหลือสัตว์ป่า ช่วยโน่นช่วยนี่ ก็เลยคุยกับคุณหมอว่าคุณหมอออกตรวจที่โรงพยาบาลรัฐที่ไหนหรือเปล่า คือเราอยากเอาเงินส่วนต่างตรงนี้มาทำงานการกุศลมากกว่า คือเรื่องความสุขสบายที่เรานอนโรงพยาบาลเอกชนเราเฉยๆ มาก เพราะมันเป็นแค่วันเวลาไม่กี่วันของชีวิตเรา แต่สิ่งที่เราช่วยได้มันยิ่งใหญ่และมีค่ากับเรามากกว่า คุณหมอก็เลยบอกว่า งั้นมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะหมออกตรวจที่นั่น ก็ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเขามีคลีนิคพิเศษ ที่จ่ายมากกว่านี้นิดนึง แล้วคุณจะสบายมากขึ้น อีนี่ก็ไปคลีนิคอนาถาตั้งแต่ตีสี่ ไปรอบัตรคิว เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความเจ็บป่วยทุกรูปแบบของทุกคนตั้งแต่เดินเข้าไป
แล้วเราก็ไปเจอคนที่รอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เขาก็บอกว่า เขาเหมือนศพที่เดินได้ เขารอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมาหลายปีแล้ว เราก็รู้สึกว่า อ้าว! ฉิบหาย! ของกูนี่ดันมีเกิน แต่ใช้ไม่ได้ว่ะ แล้วอวัยวะของคนที่ตายไปเนี่ย ไปไหนหมด? เอาไปเผา แล้วคนอยู่ก็ไปซื้อโลงศพบริจาคให้ศพไร้ญาติ คือมันไม่เมคเซนส์เลย ก็เลยคิดว่า ทำไมไม่มีโครงการที่พูดถึงเรื่องบริจาคอวัยวะ ที่สามารถสื่อสารกับคน โดยที่ภาพไม่ต้องมีการถือหัวใจมาแบกับมือให้ ก็เลยคุยกับคุณหมอว่า ถ้าการผ่าตัดครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนต่างตรงนี้ส่วนหนึ่ง ผมจะเอามาทำโครงการให้กับโรงพยาบาล เพื่อผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะ ในช่วงก่อนผ่าตัด ก็นั่งทำรีเสิร์ช นั่งทำเรฟเฟอร์เรนซ์ ให้คุณหมอดูก่อนผ่าตัด บอกคุณหมอว่า คุณหมอรับปากนะว่า ถ้าผ่าตัดสำเร็จจะให้ทำ ก็ผ่าตัดสำเร็จ ออกมาปุ๊ปก็อยู่โรงพยาบาลอีกประมาณ 3 - 4วัน ก็นั่งทำรีเสิร์ชต่อ แล้วก็ให้คุณหมอดู บอกว่าจะทำประมาณนี้ เขาก็ไปเรียกคุณหมออีกท่านหนึ่ง ที่ตอนนั้นดูแลด้านสื่อของโรงพยาบาลให้มาดู คุณหมอบอกว่า คุณทอมเข้าใจใช่ไหมว่าที่นี่คือ รพ.จุฬาฯ และภาพที่คุณกำลังพยายามจะสื่อมันค่อนข้างจะไม่ใช่จุฬาฯ ผมก็บอกว่า ก็เพราะทุกคนคิดอย่างงี้ จุฬาฯ ก็ยังคงเป็นจุฬาฯ อยู่ทุกวันนี้ วันนี้จุฬาฯ ครบรอบ 100 ปี คุณหมอยังจะอยู่อย่างนี้ไปอีก 100 ปี หรือจะก้าวสู่ศตวรรษใหม่กับผมล่ะ? เขาก็เลยบอกว่า ก็ลองทำดู ลองดูแต่ว่าอย่าให้มันโฉ่งฉ่างมาก ก็พยายามสื่อสารกับทาง รพ. ตลอดว่าจะทำอะไร
หลังจากนั้นเราเข้าไปทำรีเสิร์ชอยู่ประมาณเกือบปีเหมือนกันนะ ว่าแต่ละโครงการเป็นยังไง อย่างภาพแต่ละภาพ มันต้องค่อนข้างที่จะใช้เทคนิคการแพทย์เข้ามาอยู่ในงานมาก อย่างเช่นภาพที่เป็นพระแล้วมีมีดผ่าตัด เราต้องดูว่ามีดที่ใช้ผ่า คือมีดเบอร์อะไร องศาที่กรีดกี่องศา ไฟมาจากทางไหน เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วถ้ามันมีปฏิกิริยาตอบโต้ หรือว่าคนเขาพูดขึ้นมา อ้าว ไอ้นี่แม่งมั่ว! โรงพยาบาลก็เสียอีก แล้วก็ต้องทำรีเสิร์ชเยอะมาก ก็ใช้เวลาประมาณสองเดือนกว่าจะทำเสร็จ ใช้พลังงานเยอะมาก
The Anatomy 101
หลังจากนั้นก็มีคำถามว่า แล้วจะไปแสดงที่ไหน ทุกคนก็บอกว่า ไปหอศิลป์, ไปเอ็มโพเรี่ยม, ไปเซ็นทรัลเวิร์ลสิ งานแบบนี้มันแสดงได้อยู่แล้ว เราบอก เฮ้ย! มันไม่ใช่ประเด็นที่เราอยากแสดงงานเลย คือเราไม่ได้อยากจะมีชื่อเสียงในฐานะศิลปิน การไปแสดงในแกลลอรี่ หรือมีงานโอเพนนิ่ง ให้คนดังๆ มารวมตัวกัน มันไม่ใช่เลย เราทำเพื่อตอบโจทย์ความรู้สึกของเราเองทั้งนั้น ก็คิดไม่ออกว่าที่ไหน จนสุดท้ายไปจบที่ตึกจักรพงษ์ รพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็นตึกแรกที่เราเข้ามาในโรงพยาบาลตอนที่มารักษา แล้วมันเป็นจุดแรกที่เขาตรวจกรองผู้ป่วย ฉะนั้นคนที่เข้ามาเนี่ย จะต้องเห็นงาน เราก็บอกว่าขอกันพื้นที่ครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งเป็นจุดตรวจจุดคัดกรองคนอยู่ แต่ว่าอีกครึ่งหนึ่งให้เป็นนิทรรศการไป ฉะนั้นในนิทรรศการเนี่ย คนที่เข้ามาในโรงพยาบาลจะเห็นงานเรา แล้วก็จะเห็น Live Installation (ศิลปะจัดวางแบบสดๆ) ซึ่งก็คือผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากทุกสาขา ทุกอาชีพ ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย แล้วคนที่เข้ามาดูเขาจะรู้สึกว่าเขาจะต้องทำอะไรโดยที่เราไม่ต้องบอกว่า เฮ้ย! คุณมาดูนิทรรศการแล้วคุณต้องบริจาคอวัยวะนะ เขาจะเห็นเอง และเราก็ทำการทดลองอย่างหนึ่งก็คือ เราเอาโต๊ะบริจาคอวัยวะ, ดวงตา และร่างกาย ไว้ที่จุดหนึ่งของนิทรรศการ แล้วดูซิว่าจะมีคนมาลงทะเบียนบริจาคกี่คน
ท้ายที่สุด นิทรรศการแสดงอยู่ 8 วัน เราได้ผู้บริจาคประมาณ 500 กว่าคน ซึ่งสภากาชาดไทยก็แฮปปี้มาก บอกว่า โอ้โห! ขนาดเขานั่งอยู่ทุกวัน เข้ามาคนหนึ่งก็เป็นบุญแล้ว แต่เราคิดว่ามันไม่ใช่เป็นบุญหรือเป็นอะไรหรอก แต่เราคิดว่าคนเขาไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยเนี่ย มันค่อนข้างจะซับซ้อน เพราะว่าเมืองนอกเนี่ย มันเขียนอยู่ในบัตรประชาชนเลยว่าคุณบริจาคอะไรบ้าง แต่เมืองไทยเนี่ย คุณจะต้องแยกว่า คุณจะบริจาคดวงตาคุณต้องไปที่นึง จะบริจาคร่างกายต้องไปอีกที่นึง จะบริจาคอวัยวะต้องไปที่หนึ่ง
WURKON:
ในนิทรรศการนี้เราสามารถรวบให้คนเข้ามาบริจาคในที่เดียวได้
ทอม:
ใช่ แต่ว่าเราก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการรวบระบบทุกอย่างให้เป็นอันเดียวกันได้
WURKON:
เป็นแค่การรวมกันเฉพาะกิจ
ทอม:
ใช่ ทำเฉพาะกิจ แต่อันนี้มันก็เป็นก้าวสำคัญในการทำงานของเราว่า ในการทำงานภาพถ่ายแฟชั่นรวมกับประเด็นสังคม มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง คือก่อนหน้านี้ แม่ผมก็ไม่เก็ตเรื่องบริจาคอวัยวะเลย ตอนไปผ่าไต ก็บอกแม่ว่าเราอยากจะบริจาคอวัยวะ บริจาคร่างกาย แม่ก็บอกว่า จะบ้าเหรอ! ทำอย่างนี้ได้ยังไง! เธอไม่เห็นหัวแม่เธอเลยเหรอ? เธอตายไปนี่ฉันจะเอาอะไรไปเผา? เราก็คิดว่า ทำให้ดูเลยละกัน ก็คือสร้างนิทรรศการนี้ขึ้นมา แล้ววันที่แสดงงานน่ะ เขาก็จูงมือเราไปเลย แล้วก็ไปนั่งลงทะเบียนบริจาคด้วยกัน วันนั้นเราร้องไห้เลยน่ะ เขาบอกว่าจะทำอะไรบ้าง เดี๋ยวทำด้วย
WURKON:
แปลว่าเขาเก็ตแล้ว?
ทอม:
เขาเก็ต เขาเข้าใจ หลายคนก็เก็ต คือจริงๆ ตอนทำงานเราไม่ค่อยมีเป้าหมาย ว่าเราจะไปอยู่จุดไหน ในวงการศิลปะ หรือวงการถ่ายภาพ คือเรารู้แค่ว่าเราอยากจะทำโปรเจกต์อะไร และหลังจากนั้นมันก็มีโปรเจกต์ต่างๆ ออกมามากมาย อย่างโปรเจกต์ป้อมมหากาฬ นี่ก็เป็นโปรเจกต์เฉพาะกิจจริงๆ เพราะว่าตอนนั้นเราเข้าไปที่ป้อมมหากาฬโดยบังเอิญ แล้วเราก็ไปเจอว่า เขามีปัญหาโดนไล่่ที่ เราก็แบบ เฮ้ย แล้วคนในยุคร่วมสมัยเรา คนที่อยู่ในสังคมเรา ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องนี้เลย ก็เลยคุยกับทีมเราว่าอยากทำเรื่องนี้ ทุกคนก็โอเค ก็เลยเป็นภาพถ่ายเซ็ตป้อมมหากาฬขึ้นมา แล้ววันที่ถ่ายเนี่ย ก็ค่อนข้างจะโกลาหล เพราะเราเลือกวันที่คิดว่าไม่มีนักข่าว ไม่มีเหตุการณ์การเมืองใดๆ ทั้งสิ้น คืนก่อนหน้าวันที่จะถ่าย คนที่ป้อมมหากาฬโทรมาบอกว่า พี่ทอม พรุ่งนี้ กทม. จะเข้ามาพร้อมนักข่าว เราก็บอกว่าเฮ้ย! งั้นเราไม่ถ่ายนะ เพราะว่าเดี๋ยวจะวุ่นวาย แล้วประเด็นมันจะเปลี่ยน จากการเมือง มันจะกลายเป็นปาหี่ทันที เขาบอกว่าไม่เป็นไร มาเลย ฉะนั้นวันที่ไปถ่ายเนี่ย จะมีนักข่าวมาประมาณ 80 - 90 คน เพราะเขาจะมารื้อบ้านกัน แล้วคุณทอม โพธิสิทธิ์ กับนางแบบ ซึ่งติดปีก ทาหน้าดำ ก็ต้องแบบคอยหาซอกซอย หลบนักข่าวแ ล้วก็ถ่ายงานจนเสร็จ
SKYfALL: น้ำตามหากาฬ
WURKON:
ทำงานแบบกองโจรมากเลยนะ ทั้งๆ ที่ดูในเซ็ตแฟชั่นออกจะอลังการ มีอุปกรณ์ มีเสื้อผ้าอะไรเยอะแยะ ทั้งเซ็ตซากวาฬ หรือป้อมหากาฬเนี่ย
ทอม:
(หัวเราะ) ครับ เซ็ตซากวาฬนี่มีทีมงานอยู่ 3 คนแต่ดูยิ่งใหญ่มาก (หัวเราะ) มีพี่คนขับแท็กซี่ไปด้วย แล้วก็มีผู้ช่วยช่างภาพ
WURKON:
แล้วใครขนเสื้อผ้าอะไรไปให้
ทอม:
ก็มีน้องสไตลิสต์อีกคนนึง คอยช่วยเหลือ คืองานพวกนี้มันต้องใช้คนที่มีใจกับเราด้วยจริงๆ น่ะ มันถึงจะออกมาสำเร็จ
WURKON:
คือมันดูลำบากลำบนมากเลยนะ แบบต้องลุยป่าชายเลน เจอแมลงดูดเลือดไรงี้
ทอม:
(หัวเราะ) ก็ลำบากครับ ไอ้แมลงไม่เท่าไร แต่พวกตัวเงินตัวทองที่เกาะต้นไม้แลบลิ้นใส่นะ ค่อนข้างจะโหด (หัวเราะ) แล้วก่อนถ่าย เพื่อนก็ส่งวีดีโอที่คนเอาเข็มไปจิ้มซากวาฬแล้วมันระเบิด คือส่งมาให้ทำไม (หัวเราะ) พอเขากำลังจะกรีดท้องซากวาฬเพื่อเอาลมออก เราก็หนีไปอยู่หลังต้นไม้ เพราะกลัวภาพที่ติดตาจากวีดีโอ (หัวเราะ) หลายๆ คนจะชอบถามว่า เราไปเอาแรงบันดาลใจมาจากไหนเยอะแยะมากมาย เราก็บอกว่า เฮ้ย จริงๆ เนี่ย ถ้าดูดีๆ มันคือธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา ฉะนั้นเนี่ย คุณจะหยิบจับอะไรมาก็ได้ แต่ว่าวิธีการนำเสนอของคุณจะต้องมี อย่าเรียกว่าเป็นแบบแผนเลย มันต้องมีกระบวนการคิดที่ค่อนข้างจะแยบยลหน่อย ว่าจะนำเสนอในรูปแบบไหน ต้องนำเสนอในรูปแบบใหม่ นั่นแหละของเรา
WURKON:
งานถ่ายแฟชั่นผู้สูงอายุนี่ก็สนุกดีนะ
NEV3R MIND THE BOTOX
ทอม:
งานผู้สูงอายุเป็นงานที่ทิ้งหลายๆ อย่างนะ คือตอนแรก ช่วงนั้นต้องไปไมอามี ไปถ่ายแคมเปญให้แบรนด์ของเยอรมัน แล้วเงินดีมากกก (หัวเราะ) จนกระทั่งมีคนมาติดต่อว่า มีโปรเจกต์อันนึง ต้องทำกับพี่ประสาน (อิงคนันท์) เราก็ใครวะ? (หัวเราะ) ก็ไปเสิร์ชดู ฉิบหายแล้ว โอ้โห! นี่มันมันสมองของราย การ คนค้นฅน นี่หว่า แล้วดูรูปแบบรายการแล้ว ดูสิ่งที่เขาพยายามจะนำเสนอ ดูความคิดของเขาแล้ว เราอยากทำ จริงอยู่ที่เรื่องเงินมันเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการทำงาน แต่โอกาสในการทำงานสำคัญมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่า ไอ้งานที่อเมริกาถ่ายแคมเปญ ใครก็ถ่ายได้ คือถ่ายแบบ ยืนเฉยๆ แสงนิ่งๆ ใครก็ถ่ายได้ แต่งานนี้คือ ฉันไม่เห็นคนอื่นที่สามารถทำแทนฉันได้ ในประเทศไทย ฉันรู้สึกว่าฉันจะทำงานนี้ได้ดี ก็เลยปฏิเสธงานที่ไมอามี บอกเขาว่าไม่ไปแล้ว จะทำงานที่นี่ ซึ่งเงินแบบต่างกันเยอะมาก แต่เรารู้สึกว่าอันนี้ทำแล้วมีความสุขที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นเม็ดเงินได้ ก็เลยทำ แล้วการทำงานก็ค่อนข้างจะสนุกเพราะว่าเราต้องไปทำงานกับผู้สูงอายุ ซึ่งเราไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในชีวิตมานานมาก แล้วเรารู้สึกว่า มันค่อนข้างท้าทาย ก็ไปทำความรู้จักกับเขา เรียนรู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาตีเป็นข้อมูลที่เราจะเอามาทำงาน ก็ออกมาตามที่เห็นในรายการ แต่ว่า สิ่งหนึ่งที่คนอื่นไม่สามารถสัมผัสได้ก็คือ ความสุขที่มันเกิดขึ้นในการทำงาน ระหว่างครอบครัว คือเรารู้เลยว่า อย่างเรากับแม่ค่อนข้างจะห่างกันเพราะว่าไลฟ์สไตล์ และวิถีการใช้ชีวิตใประจำวัน แล้วผู้สูงอายุพวกนี้ ที่ในจินตนาการของเราคือ อยู่บ้าน ชะเง้อ รอลูกรอหลาน วันๆ ใส่เสื้อคอกระเช้า นุ่งผ้าถุง อยู่กับหมา อยู่กับแมว อยู่กับเสียงนกเสียงกา คือเขาไม่มีโอกาสได้เชื่อมต่อกับในโลกปัจจุบันน่ะ แล้วในวันที่ถ่ายน่ะ ลูกหลานเขามาเยอะมาก เรารู้สึกว่า เขาได้เชียร์ผู้สูงอายุในบ้านเขา ให้ทำอะไรที่มันออกจากคอมฟอร์ตโซนมากๆ แล้วทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันน่ะ เรารู้สึกว่า ตรงนี้คือแก่นในการทำงานของเรา แล้วเรามีความสุขมาก
WURKON:
แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ High Fashion/ High Brand มาถ่ายด้วย ไปซื้อเสื้อผ้าตามจตุจักรเลย
ทอม:
ใช่ เสื้อผ้าจตุจักรมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ว่า จริงๆ ของรอบกายเรามันมีคุณค่าทั้งหมด ก็เหมือนแรงบันดาลใจทุกอย่างที่ผมนำมาใช้ เป็นของรอบกายทั้งนั้น ไม่ได้ต้องนั่งสมาธิไปถึงจักรวาล หรือว่าลงไปใต้ทะเล หรือว่าต้องขุดนิมิตอะไรขึ้นมา คือทุกอย่างเกิดขึ้นจากประสบการณ์การใช้ชีวิต ก็กลับมาเรื่องความหมายของคำว่า “ศิลปะ” สำหรับผม แล้วในการทำสไตลิ่งของแต่ละตัวละครมันก็มาจากความรู้สึกของเขา ว่าเขาอยากจะเป็น เขาสามารถเป็น และเขาคิดว่าเขาจะเป็นอะไรได้ มันไม่ใช่ว่าเราไปยัดเยียดความเป็นเรา ว่า เฮ้ย! ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้สนุกกับงานแล้ว เขาไม่ได้สนุกกับการเป็นตัวเขาในรายการนี้แล้ว ท้ายที่สุดแล้ว รายการนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเรา มันเกี่ยวกับตัวเขา โดยที่มีเราเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้งานนี้ออกมาสำเร็จ คือมันต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องของตัวตนกับเรื่องของงาน
WURKON:
ที่น่าสนใจก็คือ พอจบรายการแล้ว แฟชั่นเหล่านี้ เขาสามารถไปซื้อหามาใส่เองได้ เสื้อร้อยกว่าบาท กางเกงสามร้อยอะไรแบบนี้
ทอม:
ใช่ แต่ว่าด้วยมุมมองของคนไทยที่มีต่อผู้สูงอายุในประเทศไทย เราจะมองว่า ผู้สูงอายุจะต้องแต่งตัวเรียบร้อย จะต้องมีมาด จะต้องมีการหมอบกราบเข้าไปหา ซึ่งอันนี้มันเป็นกำแพงที่ปิดกั้นเราด้วยความต่างระหว่างอายุ ฉะนั้นคนที่สนิทกับผมจริงๆ ที่เป็นผู้สูงอายุ จะรู้เลยว่า อีนี่หยาบคายมาก คือจะพูดจาเหี้ยมาก พูดคำหยาบ แต่ว่าท้ายที่สุดทุกคนจะรู้ว่า เราพูดอย่างนี้เราไม่ได้อยากจะหยาบคาย แต่ว่ามันทำลายกำแพงในเรื่องของการสื่อสารให้สามารถคุยได้ทุกเรื่อง ไอ้คำหยาบคายต้องมีบ้าง ก็มีคนหนึ่งชื่อพี่ต้อง เป็นช่างภาพ เรียกว่าสายลุงน่ะ คือแก่มากเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่โรงเรียนที่พัทยา เราจะพูดหยาบกับเขาแบบ ลุง มึงแม่งถ่ายรูปเหี้ยมากเลยนะ แล้วเขาก็จะพัฒนางานเขา แล้วตอนนี้คืองานเขาดีมาก แล้วเราก็ปลื้มเขามาก ที่ยังมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน เราว่าวัฒนธรรมความเป็นอาวุโสของคนไทยเป็นกำแพงอย่างหนึ่งในสังคมไทย จริงๆ วัฒนธรรมทางภาษาและมารยาททางสังคมมันก็เป็นกำแพง หลายๆ อย่างที่ทำให้ประเทศไทยมันไม่มีความพัฒนาในหลายๆ ด้าน
WURKON:
เพราะเรามีการแบ่งชนชั้น
ทอม:
ใช่ ชนชั้นทางภาษา ชนชั้นทางอายุ ถ้าจะสนิทกับใครที่ศีลเสมอกันก็คุยเรื่องภาพถ่าย เรื่องศิลปะ เรื่องของการอนุรักษ์ จะไม่ค่อยมีมารยาท บางครั้งก็ต้องหยาบคายบ้างเนอะ (หัวเราะ)
WURKON:
ลักษณะการทำงานของคุณทอมน่าสนใจตรงที่มันไปพ้องกับประวัติศาสตร์ในการแสดงงานนอกพื้นที่ เป็นการปฏิวัติรูปแบบหนึ่งของวงการศิลปะ อย่างศิลปินมินิมอลลิสม์, แลนด์อาร์ต หรือศิลปินอย่าง โจเซฟ บอยส์ ที่ปลูกต้นไม้ในมหกรรม Documenta เพราะเขารู้สึกว่าการทำงานสูงส่งเกินไปจนคนเข้าไม่ถีง เขาจึงนำศิลปะออกไปหาผู้คน ออกไปหาชุมชน ที่เป็นลักษณะของการดึงศิลปะลงมาสัมผัสชีวิตคน ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยเข้าใจในงานศิลปะในลักษณะนี้เท่าไหร่
ทอม:
ใช่ เมืองไทยเราให้ความสำคัญกับ hierarchy (ลำดับชั้น) ลำดับความสำคัญอยู่ แต่ผมไม่ได้โตมาในวงการศิลปะโดยตรง ฉะนั้นผมจะไม่ค่อยรู้ลำดับจับความในแง่ของอาวุโส หรือการทำงานที่เป็นระบบขนาดนั้น
WURKON:
ไม่แคร์?
ทอม:
แคร์มันก็ต้องแคร์บ้าง (หัวเราะ) แต่ว่าเราคิดว่าในหัวของเรา ในสิ่งที่เราอยากจะทำ มันไม่ได้ต้องไปอิงกับระบบตรงนั้นมาก
WURKON:
เพราะเราไม่ได้อยู่ในวงการนั้นอยู่แล้ว
ทอม:
ครับ แต่ตอนนี้มันก็ถือว่าอยู่เกือบเต็มตัวแล้วนะ (หัวเราะ) และหลังจากนั้น ความสนใจของเรามันค่อนข้างจะหลากหลายมาก ฉะนั้นมันก็แตกไปเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของคน เรื่องของ LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ที่ตอนนี้กำลังเริ่มทำ แล้วเรื่องของประเด็น LGBT ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากทำมานานแล้ว แต่ตอนนี้อีกเรื่องหนึ่งที่อยากทำมากที่สุด คือเรื่องของโรคซึมเศร้า เพราะว่าคนรอบตัวเราหลายๆ คนเขาบอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่เราไม่เข้าใจ จนกระทั่งเลิกกับอดีตสามีเมื่อสองปีที่แล้ว เพราะเขาบอกเราว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แบบสายฟ้าฟาดมาเลย เลิก บูม! แล้วเราค่อนข้างจะเฟลมาก คือก่อนหน้านั้นเราไม่ได้ทำงานเต็มตัว เราเป็นเหมือนพ่อบ้านมาเกือบ 8 ปี แล้วอยู่มาวันหนึ่ง คือสูญเสียทุกอย่าง แล้วเราต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯ มีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง มีกล้องถ่ายรูปตัวหนึ่ง แล้วต้องสร้างชีวิตที่ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้บอกใครว่า เฮ้ย! ชีวิตกูลำบากนะตอนนี้ รู้แค่ว่าเรากลับมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว แล้วก็ผ่านช่วงนั้นมาได้ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจนะ ว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร จนกระทั่งล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะเป็นโรคซึมเศร้า มันก็จุดประเด็นขึ้นมาว่ามันอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับคน ให้คนได้เข้าใจ จริงๆ ถึงโรคนี้ ว่ามันไม่ใช่ความเท่ ไม่ใช่ความฮิต แต่มันเป็นโรคร้ายอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้กัดกินตัวคุณเองเท่านั้น แต่กัดกินคนรอบข้างด้วย อย่างถ้าคุณเลือกที่จะปลิดชีวิต หรือเลือกที่จะตาย มันก็ค่อนข้างจะส่งผลถึงคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ก็เลยสนใจประเด็นนี้ แล้วเริ่มทำรีเสิร์ชเรื่องนี้ เพราะว่าในหลายๆ งานเนี่ย ตัว Visual Impact (ผลกระทบทางสายตา) มันสำคัญมาก แล้วเรากลัวว่า Visual Impact ของเรามันจะไปกระตุ้นให้คนเกิดความฉิบหายมากกว่าเดิม มันอาจจะไปกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้ามากกว่าเดิม (หัวเราะ) หรือเขาอาจจะรู้สึกดีกว่าเดิมก็ได้ ก็เลยคิดว่า เออ ขอใช้เวลาในการทำงานกับตรงนี้นิดนึง ผมให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชค่อนข้างจะเยอะ เพราะว่ามันสร้างมิติให้กับงาน เรากดดันตัวเองเยอะ เราสร้างมิติในงานให้มันแบบซับซ้อนมากขึ้น ให้งานมันแน่นมากขึ้นเพื่อให้เราสามารถแสดงออกถึงประเด็นที่เราต้องการสื่อสารได้มากขึ้น
The Bedtime Stories : Babies Behind Bars Project
WURKON:
คุณทอมทำงานการกุศลนี่การเลี้ยงชีพการหาเงินเราได้มาจากไหน
ทอม:
งานการกุศลนี่ จริงๆ มันจะไม่ได้ตังค์หรอก เพราะว่ามันถือว่า หนึ่ง เป็นโปรเจกต์ส่วนตัว สอง เป็นพอร์ตโฟลิโอของเรา ฉะนั้นในการทำงานของผมเนี่ย ผมจะเก็บเงินส่วนหนึ่ง ประมาณ 30% ไว้ทำโปรเจกต์ส่วนตัว ซึ่งโปรเจกต์ส่วนตัวเหล่านี้ก็จะต้องเป็นโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับปัญหาสังคม หรือว่าเกี่ยวกับปัญหาธรรมชาติ มันเหมือนการลงทุนน่ะ มันเหมือนธุรกิจอย่างนึง ถูกป่ะ ธุรกิจทุกอย่างมันมีการลงทุน คุณจะแบบรอให้มีคนมาสนับสนุนว่าจะทำโปรเจกต์เพื่อรณรงค์การบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลจุฬาฯ ใครแม่งจะไปเข้าใจ กว่าจะขายโปรเจกต์ได้ถูกป่ะ ก็ต้องทำให้เขาเห็น เพราะเรื่องบางเรื่องไปพูดกับใคร 30-40 ชั่วโมง เขาไม่เข้าใจหรอก ต้องทำให้เห็นไปเลย
WURKON:
แล้วเอาเงินลงทุนที่จะทำตรงนี้มาจากไหน
ทอม:
ก็เอาเงินจากงานคอมเมอร์เชียลที่เราทำอยู่ทุกวัน งานหลักจริงๆ ก็ยังคงเป็นงานภาพถ่าย แต่ตอนนี้ก็เริ่มงอกมาเป็นงานครีเอทีฟ ทำโซเชียลแคมเปญให้กับหลายๆ องค์กร ซึ่งองค์กรล่าสุดที่เข้าไปทำด้วยก็คือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOMX) ซึ่งเราเข้าไปในฐานะโปรเจกต์โคออดิเนเตอร์กับครีเอทีฟ ซึ่งจริงๆ อ่ะ มันมีหลายองค์กรที่เราอยากเข้าไปทำมาก เพราะเราคิดว่ามันจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ว่าการจะก้าวไปถึงในจุดๆ นั้น เราก็จะต้องรวบรวมประสบการณ์ และอีกอย่างนึง เราเป็นคนไม่ค่อยมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ฉะนั้นจะทำรีเสิร์ชเยอะมาก จะต้องแบบคิดว่ากูพร้อมแล้วกูถึงจะไป ฉะนั้นการทำงานกับ IOMX เนี่ย ก็ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ท้าทาย เพราะ หนึ่ง เราไม่เคยทำงานกับองค์กรมาก่อน สอง เราไม่เคยทำงานในรูปแบบลูกจ้างมาก่อน แต่สัญญาเขาสองเดือน ฉะนั้นมันคนละโลกเลยน่ะ ระหว่างโลกที่เราเคยทำทุกอย่างที่มันออกมาจากมันสมอง และเราทำออกมาด้วยตัวเอง ตอนนี้คือต้องทำไปเสนอคนอื่น แล้วให้เขาคิดว่ามันจะได้หรือเปล่า เพราะว่ามันจะไปส่งผลต่อหลายๆ ขาขององค์กรเขา คือเหนื่อยมาก แต่เราคิดว่าถ้าทำได้มันจะเจ๋งมาก
อ๋อ ล่าสุดที่ยังไม่ได้เล่าให้ฟัง คือจริงๆ เราเป็นคนชอบเรื่องการศึกษา และเราคิดว่ากระบวนการศึกษาของประเทศไทยเราแม่งไม่เคยเปลี่ยนมานานแล้ว จนกระทั่งสถาบันกวดวิชาแม็ค (MAC EDUCATION) มาติดต่อ เขาบอกว่าอยากให้ช่วยทำหน้าปกหนังสือเรียนใหม่ เข้าทางเลย เราก็คิดว่า เชี่ย กูเปลี่ยนข้างในหนังสือเรียนเด็กไม่ได้ กูขอเปลี่ยนปกน่ะ อย่างน้อยเด็กแม่งต้องได้แรงบันดาลใจแหละ ว่าโตขึ้นแม่งไม่ใช่แค่ปลูกผัก ทำแกงส้มอะไรอย่างนี้ ก็ทำปกใหม่ให้เขา 36 ปก ซึ่งเราก็ใช้ศาสตร์ในการทำงาน 6 -7 ศาสตร์ มีคอลลาจ มีบอดี้เพนต์ ซึ่งเราก็ระดมทีมที่เราทำงานด้วยบ่อยๆ เอามาระดมสมองกันว่าใครอยากทำเรื่องไหน ใครอยากจะใช้ความสามารถตนเองในเรื่องไหน ซึ่งงานออกมาก็ค่อนข้างดี แฮปปี้กับมัน
THE SONS OF ANARCHY ภาพถ่ายแฟชั่นของ The Rebel Riot วงดนตรีพังค์จากกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า
WURKON:
ต่อจากนี้คุณทอมยังมีโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ อีกไหมครับ
ทอม:
ตั้งแต่สองปีที่แล้วเริ่มทำแพลตฟอร์มอันหนึ่งขึ้นมา ชื่อ QRATED COLLECTIONS ซึ่งเรามองว่าคนไทยมีศักยภาพในการทำงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพถ่าย แต่เขาไม่รู้จักวิธีการนำเสนอตัวเอง หรือไม่รู้ว่าตัวตนของตัวเองคือใคร และก็ไม่รู้ว่าจะเอางานของตัวเองไปขายใคร และก็ไม่รู้ว่าควรจะตั้งราคาขายเท่าไร เราก็เลยทำแพลตฟอร์มขึ้นมา ก็ไปคัดสรรงานของช่างภาพต่างๆ มามากมาย แล้วก็มาสร้าง แพลตฟอร์มให้พวกเขา คนก็ถามว่า ทำไมมึงไม่ไปอยู่เมืองนอกสักที เพราะว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาก็มีแกลลอรี่ติดต่อมาสองที่ แต่เขาให้ทำสัญญาสร้างนิทรรศการหกนิทรรศการทั่วโลกในหนึ่งปี เราก็บอก จะบ้าเหรอ! ใครจะไปทำทัน ไม่ไหว ก็เลยบอกว่า ขอทำงานในเมืองไทย คนก็ด่า ว่ามึงเสียเวลากับความฝันของคนอื่นทำไม ทำไมมึงไม่ตามความฝันของตัวเอง เราก็เลยบอกว่า แล้วถ้าความฝันของกูคือการทำให้คนอื่นได้เติบโตไปกับเราล่ะ มันก็คือความฝันของกูป่ะ? ก็เลยสร้างตัวนี้ขึ้นมากับเพื่อนอีกสองคน ตอนนี้ก็เป็นรูปเป็นร่างแต่ว่ายังไม่ค่อยมีเวลาให้กับมัน แต่ว่าช่วง 2 - 3 เดือนนี้จะใช้เวลากับมันมากขึ้น
อีกอันหนึ่งที่อยากทำมาก ก็คือ Art for the Oceans คือเรามองว่าศิลปินหลายๆ คนนี่ จะมีจิตอาสาที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อธรรมชาติ แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะต้องไปอิงกับองค์กรไหน เขาจะต้องเข้าทาง ไหน เราก็เลยอยากจะสร้างแพลตฟอร์มตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งงานหลักงานแรกที่อยากทำ ซึ่งอันนี้เริ่มต้นกับทาง TEDx Bangkok ไปแล้ว ก็คือการสร้างพิพิธภัณฑ์งานประติมากรรมใต้น้ำ เพื่อให้เป็นบ้านปลา และให้ปะการังเติบโตได้ ซึ่งอันนี้เราได้คุยกับทางกรมทรัพฯ แล้ว เขาค่อนข้างจะโอเคกับไอเดีย เพราะว่า หนึ่ง มันช่วยเรื่องการให้ความรู้ สอง เรื่องของการฟื้นฟู สาม ลดการลงไปเหยียบย่ำปะการัง สี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งมันค่อนข้างจะครบทุกขาของการทำงานแบบบูรณาการ คำนี้โคตรเกลียดเลยน่ะ (หัวเราะ) ที่เมืองไทยไม่เคยมีองค์กรไหนใช้คำนี้ได้แบบสมบูรณ์น่ะ ก็เลยพยายาม เฮ้ย! ขอกูทำหน่อยเถอะ แต่พอทำไปแล้วมันจะเกิดปัญหา อย่างเช่นหลายๆ คนน่ะ เราคิดว่ามีปัญหาเดียวกัน คือไอเดียดี คอนเซ็ปต์ดี แผนปฏิบัติการดี แต่พอไปคุยกับองค์กรที่เป็นผู้รับผิดชอบ เขาบอก มึงไปหาเงินมา โหย คนทำแม่งใจแป้วเลย คราวนี้เราก็เลยไปอิงกับ Monterey Bay Aquarium ที่ซานฟรานซิสโก ก็กำลังคุยกันอยู่ก็หวังว่ามันจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แล้วตอนนี้ส่วนใหญ่ก็อยากจะสนับสนุนศิลปินในเมืองไทยที่เจ๋งๆ หลายๆ คน สำหรับเรา เราเติบโตแค่นี้ เรารู้สึกว่าเราพอแล้ว เรารู้สึกมีความสุขในการทำงาน เรารู้สึกว่า เราได้เจอคนที่มีศักยภาพ มีพรสวรรค์ในการทำงาน ก็พอแล้ว นี่คือความสุขในการทำงานของเรา ไม่จำเป็นต้องไปเติบโตเป็นศิลปินระดับโลกขนาดนั้น เหนื่อย (หัวเราะ)
WURKON:
คุณทอมคิดว่าแฟชั่นมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ไหม
ทอม:
คือตอนนี้งานของผมมันไม่ใช่ภาพถ่ายแฟชั่น แต่ถ้ามองจริงๆ มันเป็นเรื่องของการทำงานศิลปะโดยใช้แฟชั่นเป็นสื่อ มันคือกระบวนการคิดที่ไปหยิบยืมมาจากสิ่งที่ศิลปินเขาทำกันน่ะนะ แล้วเราก็ใช้แฟชั่นเป็นสื่อ แต่บางงานเราก็ไม่ได้ใช้แฟชั่นเป็นสื่อ อย่างงานอินสตอลเลชั่นที่งาน Wonderfruit ที่เราไปรวบรวมเอาขยะทะเลมาประกอบเป็นตัวมังกร แล้วก็ให้ทีมอุปรากรจีนมาเชิดขยะทะเลเหมือนเชิดสิงโตเชิดมังกร คือมันไม่ได้จำกัดแค่ว่าเราใช้สื่ออะไร แต่แฟชั่นมันมีพลังพอ เพราะถ้าเราดูแบรนด์ชั้นสูงหรือแบรนด์หรูๆ มันก็จะไปเชื่อมโยงกับคนที่มีอำนาจอิทธิพลในแต่ละสังคม แล้วถ้าตัวดีไซเนอร์มีความรับผิดชอบมากพอที่จะไปโน้มน้าวผู้มีอำนาจชี้นำคนในสังคมเหล่านี้ให้มาพูดเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม, ประเด็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาต่างๆ มากมายในโลก มันก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เหมือน วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ที่เอาขยะมาทำแฟชั่น ซึ่งเจ๋งมาก ผมคิดว่ามันสร้างความตระหนักรู้ได้ดี (ยิ้ม)
ภาพถ่ายบุคคลโดย เซน ณัฐพงศ์ นาคีสถิตย์
ขอบคุณภาพผลงานและข้อมูลจากคุณทอม โพธิสิทธิ์
บทสัมภาษณ์โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ขอบคุณ Dinosaur Planet เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ
#WURKON #photography #art #fashion #conceptualphotography #socialissue #politicalissue #environmentalissue #savingtheplanet #naturepreservation #humanright #ภาพถ่ายเพื่อสังคม #แรงบันดาลใจจากศิลปะภาพถ่าย
สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon