Blog

นักเปิดเปลือยเนื้อหนังแห่งวงการแฟชั่น ช่างภาพสุดอื้อฉาวในตำนาน

นักเปิดเปลือยเนื้อหนังแห่งวงการแฟชั่น ช่างภาพสุดอื้อฉาวในตำนาน

12 มีนาคม 2562

อันเนื่องมาจากปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นวันเกิดของช่างภาพแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล เราเลยจะขอนำเสนอเรื่องของเขาได้อ่านกัน

ช่างภาพคนนั้นมีชื่อว่า เฮลมุท นิวตัน (Helmut Newton)

(31 ตุลาคม 1920 - 23 มกราคม 2004)

เกิดในเบอร์ลิน และโยกย้ายไปที่ออสเตรเลียในปี 1940 เก้าปีต่อมา เขาก็มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากการร่วมงานกับนิตยสาร โว้ค ฝรั่งเศส และคงความโด่งดังและทรงอิทธิพลต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และร่วมงานกับนิตยสารและแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกมากมาย

นิวตันชมชอบการถ่ายภาพในท้องถนนหรือตามสถานที่จริงมากกว่าจะขลุกอยู่ในสตูดิโอ ด้วยเรื่องราวที่โดดเด่น การจัดแสงและองค์ประกอบอันน่าตื่นตาตื่นใจ เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แต่สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงอย่างโดดเด่นแท้จริงคือการถ่ายภาพเปลือย ที่นำเสนอเนื้อหาแบบลามกอนาจาร ห่าม ดิบ เถื่อนแต่กลับดูสง่างามและเปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะ จนได้รับฉายาว่า “King of Kink” (เจ้าแห่งความวิตถาร) เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาชอบบั้นท้าย หน้าอกหน้าใจ และเรียวขาของผู้หญิง

เขาใช้ชีวิตและทำงานใกล้ชิดกับ จูน ภรรยาของเขา (เธอเป็นนางแบบเปลือยให้กับเขาหลายครั้งหลายครา) ตลอดจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต เขาตายเมื่ออายุ 83 หากผลงานของเขายังคงโดดเด่นเป็นสง่า เย้ายวนรัญจวนใจ และเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเทียบเคียงอย่างที่เคยเป็นเสมอมา

เข้าไปชมผลงานของเขาได้ที่ http://www.helmutnewton.com/

ผลงานชิ้นโดดเด่นของเขาที่พอจะนำมาลงให้ชมกันได้ในที่นี้ (เพราะภาพถ่ายส่วนใหญ่ของเขานั้นค่อนข้างโป๊และแรงเอามากๆ) ก็มีอาทิเช่น

Rue Aubriot, 1975

Rue Aubriot, French Vogue from the series White Women Paris 1975 © Helmut Newton Estate

ในปี 1975 เฮลมุท นิวตัน ได้รับการติดต่อจากนิตยสารโว้ก ปารีส ให้ถ่ายภาพเซ็ตแฟชั่นสำหรับฤดูกาลที่จะมาถึง ภาพเซ็ตนี้ถ่ายใน Aubriot ถนนแคบๆ ในย่านมาเรส์ ในปารีส ที่ นิวตัน อาศัยอยู่มา 14 ปีแล้ว ด้วยกองถ่ายที่มีผู้เข้าร่วมแค่เพียง 5 คนที่เป็นคนสนิทสนมคุ้นเคยกันอย่าง เฮลมุท นิวตัน และหัวหน้าบรรณาธิการโว้ก ปารีส ฟรองซีน ครีเซนต์ นักออกแบบทรงผม และนางแบบสองคน นิวตันบอกให้ วิเบเค (Vibeke Knudsen) นางแบบร่างระหง ขาประจำของเขา จำแลงกายเป็นไอคอนของแฟชั่นแห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง ‘แดนดี้’ (Dandy) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชายหนุ่มผู้ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าและรูปลักษณ์ของตน ผู้มักจะแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายดูดีมีราคา รู้จักการวางมาดโก้หร่านต่อหน้าผู้คน และเป็นตัวแทนของรสนิยมอันเลอเลิศในทุกด้าน เฉกเช่น ชาร์ลส์ โบดแลร์ กวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศส ในคราบของบุรุษที่หวีผมเสยสีดำสนิท นิ้วคีบบุหรี่ยืนหยัดอย่างมาดมั่นอยู่ในชุด Le Smoking, 1966 หรือชุดทักซิโด้สำหรับสุภาพสตรี ที่ดัดแปลงมาจากชุดสูท 3 ชิ้นของบุรุษ ผลงานออกแบบชิ้นสำคัญของ อีฟว์ แซ็งโลร็อง (Yves Saint Laurent) ที่ดึงดูดความสนใจของโลกแฟชั่นและวัฒนธรรมร่วมสมัย มันบุกเบิกสไตล์แบบไร้เพศอันน้อยนิ่งแต่สง่างามสำหรับสตรี แบบเดียวกับชุด power suits และ pantsuit ในปัจจุบัน ชุดของแซ็งโลร็องมอบอำนาจให้กับเหล่าสตรีโดยเปิดโอกาสให้พวกเธอได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกติจะสวมใส่อยู่บนร่างกายของบุรุษมีอำนาจและอิทธิพลในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่

ภาพนี้ถูกถ่ายในเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้มีผู้รบกวนการทำงาน ซึ่งโดยปกตินิวตันเองก็โปรดปรานการทำงานในยามค่ำคืนอยู่แล้ว เขาถ่ายภาพนี้โดยไม่ใช้แฟลช แต่อาศัยแค่แสงสว่างจากโคมไฟถนน จึงทำให้ภาพมีความจัดจ้านสมจริง ในการนำเสนอประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นในโมงยามนั้นของวงการแฟชั่น ด้วยความที่ภาพนี้ผิดแผกไปจากสไตล์ปกติของนิวตัน จากการที่นางแบบสวมใส่เสื้อผ้าเต็มยศ แทนที่จะเปล่าเปลือย เขาจึงถ่ายภาพนี้ออกมาอีกภาพที่มีรายละเอียดแทบจะไม่แตกต่างจากภาพแรก หากแต่เติมนางแบบร่างเปลือยเปล่าปราศจากอาภรณ์เว้นแต่รองเท้าส้นสูงและหมวกใบน้อยยืนเคลียคลอนางแบบในชุดสุภาพบุรุษอย่างยั่วเย้า และแน่นอนว่าภาพนี้ก็กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการแฟชั่นไปด้วยเช่นเดียวกัน (ภาพเปลือยในเซ็ตที่สองทีว่าคงต้องรบกวนให้ไปหาดูกันเอาเองนะครับ!)

Here They Come, 1981

Here They Come II, Paris from the series Big Nudes, 1981 © Helmut Newton Estate

ชุดภาพที่ถ่ายกลุ่มนางแบบสี่คนในสองรูปแบบที่มีในอิริยาบถที่เหมือนกันแทบจะทุกประการ ต่างกันเพียงแค่แบบหนึ่งใส่เสื้อผ้าเต็มยศ และอีกแบบไม่มีเสื้อผ้าเลยสักชิ้นเท่านั้นเอง (แน่นอนว่าแบบไม่มีเสื้อผ้าคงต้องให้ไปหาดูกันเอาเองเหมือนเดิมนะครับ!)

Venus in Furs, 1973

Venus in Furs, 1973 © Helmut Newton Estate

หนึ่งในภาพถ่ายชิ้นโด่งดังของนิวตัน ที่ถ่ายภาพนางแบบ นักร้อง และนักแสดงชาวอังกฤษ ชาร์ล็อต แรมพลิง (Charlotte Rampling) อนึ่ง ชื่อ Venus in Furs นั้นเป็นชื่อนิยายของนักเขียนชาวออสเตรีย ลีโอโปลด์ วอน ซาฮา-มาโซฆ์ (Leopold von Sacher-Masoch) และเป็นชื่อเพลงดังของวงดนตรีอาร์ตร็อก The Velvet Underground อีกด้วย

แถมท้าย Sumo, 1999 I หนึ่งในหนังสือที่ใหญ่และแพงที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตมาในศตวรรษที่ 20

SUMO เป็นอภิมหาหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อแสดงการคารวะแด่ช่างภาพผู้ทรงอิทธิพล น่าทึ่ง และอื้อฉาวที่สุดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบผู้นี้ จัดพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพียง 10,000 เล่ม โดยมีลายเซ็นและหมายเลขกำกับโดยช่างภาพชื่อดังเจ้าของผลงานในหนังสือ หนังสือเล่มมหึมานี้มีขนาด 50 x 70 ซม. น้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม ความหนา 464 หน้า

SUMO คัดสรรโดย จูน นิวตัน ภรรยาของ เฮลมุท ภาพส่วนใหญ่ที่มีถูกตีพิมพ์ลงหนังสือเป็นครั้งแรก โดยครอบคลุมทุกแง่มุมอันโดดเด่นตลอดชีวิตการทำงานถ่ายภาพของนิวตัน ตั้งแต่ภาพแฟชั่นอันน่าตื่นตะลึง ซึ่งกลายเป็นหลักไมล์ให้กับช่างภาพยุคหลัง ไปจนถึงภาพเปลือยอันโจ่งแจ้ง ร้อนแรง และหมิ่นเหม่อนาจาร และภาพพอร์ทเทรทบุคคลมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ด้วยความใหญ่โตและหนักหนาเข้าขั้นฉกาจฉกรรจ์ของมัน จึงมีออพชั่นเสริมพิเศษที่ถูกออกแบบมาสำหรับหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ นั่นคือขาตั้งโลหะมันวาวมั่นคงแข็งแรง ที่คอยรับน้ำหนักหนังสือเวลาเปิดอ่าน (ก็หนังสือล่อเข้าไป 30 กิโล ขึนยกอ่านหลังคงหักกันพอดี!) ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ซูเปอร์สตาร์ชาวฝรั่งเศสอย่าง ฟิลิปป์ สตาร์ก (Philippe Starck) นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/MMBKAM, https://goo.gl/y0V7uP

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #photographt #fashion #design #helmutnewton # lesmoking #yvessaint laurent #venusinfurs #sumo #photobook # #แรงบันดาลใจจากภาพถ่าย #แรงบันดาลใจจากแฟชั่น

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon


Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30