Blog

คุยกับ ไมเคิล เอ็มกรีน หนึ่งในศิลปินคู่หู Elmgreen & Dragset ผู้ท้าทายขนบของโลกศิลปะ

คุยกับ ไมเคิล เอ็มกรีน หนึ่งในศิลปินคู่หู Elmgreen & Dragset ผู้ท้าทายขนบของโลกศิลปะ

15 มีนาคม 2562

ศิลปินคู่หู เอ็มกรีน และ แดรกเซ็ต (Elmgreen & Dragset) ที่เป็นการร่วมงานกันของ ไมเคิล เอ็มกรีน (Michael Elmgreen) และ อิงการ์ แดรกเซ็ต (Ingar Dragset) ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบเสียดสี อีกทั้งยังท้าทายขนบเดิมๆ ของโลกศิลปะ และตีแผ่สังคมและวัฒนธรรมในโลกร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ ผลงานของพวกเขาเป็นส่วนผสมอันลงตัวของงานศิลปะ, งานสถาปัตยกรรม และงานดีไซน์

ผลงานชิ้นที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของพวกเขาคือ Prada Marfa (2005) ผลงานศิลปะจัดวางเชิงสถาปัตยกรรมที่จำลองร้านบูติกของแบรนด์แฟชั่นสุดหรูเลิศอย่างปราด้า (Prada) ไปตั้งอยู่บนทะเลทรายรกร้าง ริมถนนไฮเวย์ ระหว่างเมืองวาเลนไทน์และเมืองมาร์ฟา รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

Prada Marfa (2005)

หรือผลงานศิลปะจัดวางที่ติดตั้งที่ ร็อคกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสระว่ายน้ำเปล่าๆ ขนาด 9 เมตร ที่ถูกพลิกวางในแนวตั้ง จนดูคล้ายกับใบหู พวกเขาจึงใช้ใบหูที่โด่งดังที่สุดในโลกศิลปะมาตั้งชื่อมัน ซึ่งก็คือ “ใบหูของแวนโก๊ะห์” หรือ Van Gogh's Ear (2016) นั่นเอง

Van Gogh's Ear (2016)

พวกเขามีผลงานแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก และร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลศิลปะที่เบอร์ลินในปี 1998 รวมถึงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ครั้งที่ 53 ในปี 2009 เป็นอาทิ และล่าสุด ในปี 2017 ที่ผ่านมา พวกเขายังได้รับเชิญให้เป็นภัณฑารักษ์ในเทศกาลศิลปะอิสตันบูล เบียนนาเล่ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี อีกด้วย

The Collectors / Curated by Elmgreen & Dragset (2009) ใน Danish Pavilion มหกรรมศิลปะ Venice Biennial ครั้งที่ 53 ปี 2009

ที่สำคัญในปี 2008 เอ็มกรีน และ แดรกเซ็ต ยังเคยแสดงงานศิลปะในบ้านเรามาแล้วด้วย ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า DISLOCATED Oriental (2008) ซึ่งเป็นการจำลองทางเดินหน้าห้องพักของโรงแรมหรูชื่อดังก้องโลกของกรุงเทพฯ อย่าง โรงแรมโอเรียนเต็ล มาตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะและสถานที่เดินทางอันแสนจะสับสนวุ่นวายอย่าง สถานีรถไฟหัวลำโพง จนสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณนั้นอย่างมาก

Dislocated Oriental, 2008 Courtesy of the Artists. ภาพโดย: Pimplus PR ภาพจาก https://goo.gl/zD167g

ข่าวดีก็คือ ในปี 2018 ที่จะถึงนี้ ศิลปินคู่หูอย่าง เอ็มกรีน และ แดรกเซ็ต ถูกเชิญให้มาร่วมแสดงงานใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) ในบ้านเรา ที่สำคัญ WURKON มีโอกาสได้พูดคุยสัมภาษณ์ ไมเคิล เอ็มกรีน หนึ่งในศิลปินคู่หูคู่นี้อีกด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาร่วมวงสนทนากับเขาไปพร้อมๆ กันเถอะ

ไมเคิล เอ็มกรีน ขณะมาบรรยายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในโปรแกรมของมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Bangkok Art Biennale

WURKON:

มาเมืองไทยอีกครั้ง เป็นยังไงบ้างครับ

เอ็มกรีน:

ผมชอบมากรุงเทพฯ เพราะผมมีเพื่อนที่นี่ ผมชอบพักโรงแรมเดิมๆ คือโรงแรมสุโขทัย ผมพักมาสิบรอบแล้ว ที่นี่เป็นที่โปรดของผมเลย พวกเขาดูแลผมเหมือนเป็นเจ้าชายน้อยๆ นี่เป็นเคล็ดลับของผมเวลาไปไหน คือให้พักที่เดิมๆ (หัวเราะ)

WURKON:

เราจำได้ว่าก่อนหน้านี้คุณเคยทำงานศิลปะจัดวางที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ด้วยการเอาทางเดินหน้าห้องของโรงแรมโอเรียนเต็ลมาตั้งไว้กลางหัวลำโพงด้วย

เอ็มกรีน:

ใช่ (ยิ้ม) มันสนุกมาก มีคนมาถ่ายภาพแต่งงานในงานจัดวางชิ้นนี้ด้วยนะ (หัวเราะ) ดีมากเลย เยี่ยมยอด แต่ตอนนี้ผมกำลังอินกับเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผมว่ามันเป็นเรื่องดีกับแวดวงศิลปะ ที่นี่ ที่มีศิลปินเมืองนอกเข้ามาทำงาน ด้วยสายตาแบบมืออาชีพ จากพื้นเพของผมในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มันสำคัญมากที่มีคนดูนานาชาติจำนวนมากมาที่โคเปนเฮเกน เพราะศิลปินอย่างพวกเราเองก็ถูกค้นพบโดยคิวเรเตอร์ที่เข้ามาจัดงาน ถ้าไม่มีเทศกาลศิลปะ ก็จะไม่มีใครรู้ว่าเราทำอะไรบ้าง ผมคิดว่ามันดีมากที่เรามีอีเวนต์ทางศิลปะระดับชาติใหญ่ๆ มันจะทำให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้รับการค้นพบสู่โลกศิลปะ ไม่ใช่เพียงแต่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ผมคิดว่าชุมชนทางศิลปะและแวดวงศิลปะทุกที่ ต้องการสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีมากที่มีอะไรแบบนี้ในวงการศิลปะของไทย

WURKON:

คุณได้ไปดูสถานที่ที่คุณจะแสดงงานหรือยัง

เอ็มกรีน:

ไปแล้ว มีให้เลือกหลายที่นะ

WURKON:

คุณเลือกหรือยังว่าจะทำที่ไหน

เอ็มกรีน:

ยังไม่ได้เลือก เพราะตอนนี้ผมมาแค่คนเดียว ส่วน อิงการ์ จะตามมาทีหลัง ผมก็แค่สำรวจก่อน แล้วเราค่อยดูด้วยกัน แล้วตัดสินใจ

WURKON:

นั่นเป็นวิธีการทำงานของพวกคุณใช่ไหม ต้องทำงานพร้อมกันสองคน

เอ็มกรีน:

บางครั้งน่ะ แต่บางครั้งเราก็แยกกันทำก่อน เพราะเรามีอะไรต้องทำหลายอย่าง บางทีเราไปสองคน แต่บางทีเราก็แยกกันไป

WURKON:

มีสถานที่ไหนน่าสนใจและมีศักยภาพพอสำหรับงานของคุณบ้างไหม

เอ็มกรีน:

มันมีที่นึงที่น่าสนใจ เป็นอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของบริษัทของเดนมาร์กเก่า คือบริษัท East Asiatic ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ลมาก เพราะผมมาจากเดนมาร์ก และบริษัทนี้เคยเป็นบริษัทที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเดนมาร์กมากๆ ซึ่งตอนบริษัทนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว แต่มันเคยก่อตั้งขึ้นที่นี่ ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายอันสำคัญมากของบริษัทนี้ เลยทำให้ตัวอาคารนี้น่าสนใจมาก อีกอย่างก็คือมันไม่ค่อยมีอาคารเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ในยุคนั้นหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เท่าไหร่แล้ว มันทำให้สถานที่นี้น่าสนใจมาก

WURKON:

เวลาดูงานของพวกคุณ เรามักจะเห็นการวางสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามที่ดูขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมที่ตั้งงาน เช่นงาน Prada Marfa ที่เอาช็อปปราด้าไปตั้งกลางทะเลทราย หรือ Van Gogh's Ear ที่เอาสระว่ายน้ำพลิกหงายไปตั้งหน้าร็อคกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ หรือ DISLOCATED Oriental ที่เอาทางเดินหน้าห้องของโรงแรมโอเรียนเต็ลมาตั้งไว้กลางหัวลำโพง นี่เป็นความตั้งใจของคุณที่จะแสดงความขัดแย้งแบบนี้หรือ

เอ็มกรีน:

ใช่ ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น เพราะคุณจะไม่สังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่าง ถ้าคุณเอามันไปวางไว้ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ของมัน คุณอาจจะไม่สังเกตเห็นช็อปปราด้า ถ้ามันตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าสุดหรู เพราะปกติมันก็อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นช็อปปราด้า, หลุยส์ วิตตอง, กุชชี่, เวอร์ซาเช่ หรืออะไรก็ตาม มันอยู่ในห้างหรูหราเหล่านั้น ซึ่งถ้าคุณไม่มีเงินมากพอ คุณก็ไม่ไปเดินร้านเหล่านั้น แต่ถ้าคุณเอามันไปวางกลางทะเลทราย ทุกคนก็จะสังเกตเห็นมันทันที และคุณก็จะเริ่มคิดว่า มันคืออะไร ธาตุแท้อันพิลึกพิลั่นของร้านหรูๆ แพงๆ เหล่านั้นมันคืออะไร ทำไมมันถึงมีลักษณะแบบนั้น หรือถ้าคุณเอาทางเดินของโรงแรมโอเรียนเต็ลไปตั้งไว้กลางสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่คนธรรมดาทั่วๆ ไปเดินทางสัญจร แทนที่จะไปวางไว้ในสนามบิน (ที่มีแต่คนบางชนชั้น) มันก็อาจจะทำให้เราตั้งคำถามว่า ใครที่เป็นแขกของโรงแรมโอเรียนเต็ล? แล้วใครที่เป็นแขกของสถานีรถไฟหัวลำโพง แล้วเราจะสร้างจุดเชื่อมระหว่างสถานที่สองแบบนี้ได้แค่ไหนในชีวิตนี้?

WURKON:

พูดถึงผลงาน Van Gogh's Ear ที่คุณหยิบเอาสระว่ายน้ำมาพลิกวางตั้ง ทำให้เรานึกไปถึงผลงาน Fountain (1917) ของดูชองป์ ที่หยิบเอาโถฉี่พลิกวางหงายอยู่เหมือนกัน คุณได้แรงบันดาลใจมาบ้างไหม

เอ็มกรีน:

แน่นอนว่าเราได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากดูชองป์ ที่หยิบเอาข้าวของรอบตัวหรือของสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นงานศิลปะ แต่งานของเราแตกต่างจากดูชองป์ตรงที่เราทำการสร้างสิ่งของเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเองอย่างประณีต ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน “สระว่ายน้ำ” เราก็ไม่ได้เอาสระว่ายน้ำจริงๆ มาตั้งเฉยๆ หากแต่เราสร้างสระว่ายน้ำขึ้นมาใหม่เลย และถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าด้านหลังของสระว่ายน้ำนี้มีการเก็บรายละเอียดอย่างเรียบร้อยสวยงาม ต่างจากด้านหลัง (หรือด้านใต้) ของสระว่ายน้ำปกติทั่วไป ที่คนมองไม่เห็น จึงไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยก็ได้ ถ้างานดูชองป์คือ Readymades (สำเร็จรูป) งานของเราน่าจะเรียกว่าเป็น Well-made (ทำขึ้นอย่างประณีต) น่ะนะ

WURKON:

คุณสองคนไม่ได้ร่ำเรียนทางด้านศิลปะมา คุณไปหัดทำมาจากไหนเหรอ

เอ็มกรีน:

เราก็แค่อยากทำ แล้วเริ่มต้นลงมือทำ พอเราทำแล้วเราก็พบว่า โอ้ เราทำได้นี่หว่า เราก็เลยทำมันต่อไป (ยิ้ม)

ผลงานของ Elmgreen & Dragset ที่เจาะรูบนเพดานทะลุขึ้นไปบนพื้นอพาร์ตเมนต์ของเพื่อนบ้านชั้นบน

Elmgreen & Dragset

Powerless Structures, Fig. 11 (1997), Museum of Modern Art in Humlebæk, Denmark, ภาพถ่ายโดย bjaglin, ภาพจาก https://goo.gl/UaUxVc

Powerless Structures, Fig 101 (2012), จัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square), ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ, ภาพถ่ายโดย Garry Knight, ภาพจาก https://goo.gl/x873ym

WURKON:

ได้ยินมาว่าคุณลงมือทำงานกันด้วยตัวเองด้วย คุณทำงานเองทั้งหมดเลยเหรอ

เอ็มกรีน:

บางส่วน เราทำในส่วนที่เราทำเองด้วยมือได้ แต่โครงการใหญ่ๆ เราก็ทำเองไม่ได้ทั้งหมด เราก็ต้องมีคนอื่นมาช่วยทำด้วย แต่เรามีส่วนร่วมอยางมากในกระบวนการทำงานเหล่านั้น เวลาเขาทำงานของเราในเวิร์กช็อป เราอยู่ที่นั่นทุกครั้ง ทุกสัปดาห์ เพื่อคอยดู คอยตรวจสอบความเรียบร้อย คอยแก้ไขข้อผิดพลาด ด้วยกันกับช่างที่ทำผลงานให้เรา

WURKON:

อะไรที่ทำให้คุณมาทำงานถึงเมืองไทย ทั้งๆ ที่แค่ส่งงานมาแสดงเอาก็ได้

เอ็มกรีน:

ที่นี่ ดร.อภินันท์ (โปษยานนท์) เก่งมาก ในการนำพวกเรามาอยู่ด้วยกัน และชักนำเราให้พบกับคนดีๆ ที่ใส่ใจดูแลในการผลิตผลงานให้เรา เมื่อเราได้ดูสถานที่ เราก็จะตัดสินใจได้ว่าเราต้องการจะทำงานประเภทไหน แล้วเราก็สื่อสารกับทีมผู้ผลิตงาน การที่เราได้เดินทางมาทำงานนี่นี่ ผมคิดว่ามันดีกว่าการที่เราจะทำงานที่เยอรมัน แล้วขนส่งทุกอย่างมาแสดงที่ประเทศไทย ซึ่งแพงมากๆ การจัดมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ เป็นอะไรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างมาก เพราะมันเป็นการสร้างรายได้และงานมากมายให้กับช่างฝีมือและผู้ผลิตท้องถิ่น และทำให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการศิลปะนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการจัดมหกรรมศิลปะเบียนน่าเล่ขึ้นในที่ไหนก็ตาม การที่ศิลปินได้มีโอกาสได้ทำงานกับช่างฝีมือ และประหลาดใจกับสิ่งที่เขาสามารถทำได้ ตอนนี้ผมสามารถพูดคำว่า “ไม่ๆ ๆ ๆ” ในหลายภาษาแล้ว (หัวเราะร่วน)

WURKON:

นอกจากทำงานกับช่างท้องถิ่นแล้ว เวลาคุณไปทำงานในประเทศต่างๆ คุณได้เอาผู้ช่วยหรือช่างเทคนิคส่วนตัวไปทำงานกับคุณด้วยไหม

เอ็มกรีน:

ใช่ บางทีเราก็เอาคนจากสตูดิโอเราไปช่วยทำงานด้วยเหมือนกัน แต่เราชอบทำงานกับคนท้องถิ่นมากกว่า อย่างงาน Prada Marfa เนี่ย สร้างโดยคนงานเม็กซิกัน ที่เดินทางข้ามพรมแดนมายังรัฐเท็กซัสมาทำงานก่อสร้างและงานอื่นๆ ตอนนั้น เราได้ทำงานร่วมกับพวกเขา พวกเขาอะเมซิ่งมากๆ เราได้กินอาหารกลางวันเม็กซิกันรสจัดจ้านด้วยกัน และทำงานด้วยกันเป็นทีม สิ่งเดียวกันที่ผมคาดหวังกับการทำงานในเบียนนาเล่ที่กรุงเทพฯ คือ ศิลปินหลายคนจะทำงานแบบเจาะจงพื้นที่ (Site-specific) และใช้เวลาที่นี่กับคนที่มีฝีมือหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นงานเหล็ก งานไม้ หรืออะไรก็ตาม

WURKON:

เท่าที่เคยเห็นงานของคุณมา มันดูเนี๊ยบมากๆ เลยนะ

เอ็มกรีน:

ใช่ เราเป็นคนสแกนดิเนเวียไง มันอยู่ในสายเลือดของเรา (หัวเราะลั่น)

WURKON:

นอกจากตัวอาคารของบริษัท East Asiatic แล้ว คุณไม่สนใจพื้นที่อื่นในการทำงานบ้างเหรอ อย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์อะไรแบบนี้

เอ็มกรีน:

ผมก็ชอบตึกนี้นะ (BACC) มันดูสนุกดี พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งก็น่าสนใจ แต่มันเป็นพื้นที่หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เกินไป มันเลยไม่ท้าทายผมในฐานะศิลปินเท่าไรนัก มันง่ายเกินไปที่จะทำอะไรที่นี่ มันมีห้องแสดงงานดีๆ แต่มันก็ไม่แตกต่างกับพื้นที่ทางศิลปะแห่งอื่นๆ ทั่วโลก มันก็เลยไม่พิเศษเท่าไหร่ ผมคิดว่าผมอยากทำอะไรกลางแจ้ง ให้เป็นศิลปะสาธารณะ เพราะผมคิดว่าคนดูงานศิลปะร่วมสมัยในกรุงเทพฯ คงมีไม่มากนัก มันอาจจะดี ที่เรานำศิลปะออกไปข้างนอก ไปหาผู้ชม มันก็จะไม่มีแต่งานศิลปะเพื่อการค้าหรือโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว เราสามารถทำอะไรที่คนเห็นแล้วอุทานว่า นี่มันอะไรกันวะเนี่ย!

WURKON:

เหมือนงานศิลปะของคุณในหัวลำโพง ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่ามันเป็นงานศิลปะ แต่คนเหล่านั้นก็สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับมันได้

เอ็มกรีน:

ถูกต้อง! พวกเขาสงสัยว่ามันคืออะไร มันทำขึ้นมาเพื่ออะไร? ทำไมมันมาอยู่ตรงนี้? ผมชอบสถานการณ์แบบนี้ อย่างพื้นที่ริมแม่น้ำผมก็คิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่เยี่ยมยอดสำหรับการแสดงศิลปะ เพราะทุกคนสามารถมองเห็นได้จากทั้งสองฝั่ง รวมถึงคนที่นั่งเรือเดินทางผ่านไปผ่านมาทุกวันด้วย (ยิ้ม)

WURKON:

คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในแวดวงศิลปะ หรือศิลปินในช่วงนี้ เริ่มตั้งคำถามกับรูปแบบของเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ ว่ามันกลายเป็นอะไรที่ซ้ำซาก คุณคิดยังไงกับประเด็นนี้

เอ็มกรีน:

ผมว่า “เบียนนาเล่” มันเป็นแค่คำคำนึง เมื่อก่อนผมยังเคยไปเบียนนาเล่ที่จัดขึ้นแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงคุณก็เรียกมันว่าเบียนนาเล่ไม่ได้แหละ แต่เขาก็เรียกไปแล้ว เบียนนาเล่ เป็นแค่ภาชนะ หรือกระเป๋าที่ว่างเปล่า มันขึ้นอยู่กับว่าคุณใส่อะไรลงไปในนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างยังไง สิ่งที่คุณใส่ลงไปในนั้นต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมได้ยินหลายคนบ่นเกี่ยวกับเบียนนาเล่ แต่ผมได้เพื่อนศิลปินใหม่ๆ จากทั่วโลกก็เพราะเบียนนาเล่นะ มันเป็นหนทางในการที่ศิลปินจากที่ต่างๆ ในโลกจะมาอยู่รวมกันที่หนึ่งในเวลาเดียวกัน และมันทำให้เราได้รู้ว่า มันมีวงการศิลปะร่วมสมัยที่น่าทึ่งจากทั่วโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ ในอาร์เจนติน่า และในอีกหลายๆ ที่ และคุณได้ข้อมูลเหล่านี้จากการพบปะและเชื่อมโยงของอะไรที่เรียกว่า เบียนนาเล่ นี่แหละ แน่นอนว่าเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ ไม่ใช่ภาพรวมของวงการศิลปะทั้งหมด แต่คนที่กังวลเกี่ยวกับเทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่อย่างเบียนนาเล่หลายคน ก็เป็นคนที่ไม่ทำอะไรนอกจากไปเทศกาลศิลปะพวกนี้นั่นแหละ ผมเคยไปร่วมเสวนาที่ลอนดอน คนในวงการศิลปะร่วมสมัยที่นั่นบ่นว่ามันมีเทศกาลศิลปะเยอะเกินไป ผมเลยถามว่า ผมเคยไปหอศิลป์ที่น่าสนใจทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนมา มันน่าสนใจดี พวกคุณเคยไปกันหรือยัง? พวกเขาบอก ไม่เคยเลย มีด้วยเหรอ? นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขากังวลกันนัก เพราะถึงจะมีเบียนนาเล่ แต่มันก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นอยู่ดี เบียนนาเล่ไม่ใช่ภาพทั้งหมดของวงการศิลปะ แต่เบียนนาเล่ก็สามารถช่วยเน้นย้ำว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวงการศิลปะที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก

WURKON:

แบบเดียวกับที่คุณทำในอิสตันบูลเบียนนาเล่ใช่ไหม

เอ็มกรีน:

ใช่ สำหรับเรามันสำคัญมาก ที่เรารวมศิลปินจากพื้นที่เล็กๆ พื้นที่ทางเลือก ศิลปินกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ศิลปินรุ่นใหม่ๆ หรือพื้นที่ทางศิลปะของท้องถิ่น ให้มาพบกับคนดูงานศิลปะในเบียนนาเล่ที่มีมากกว่าคนดูเฉพาะกลุ่ม ในทางกลับกัน คนดูกลุ่มใหญ่ๆ ของเบียนนาเล่ก็จะได้มาสัมผัสกับประสบการณ์ทางศิลปะอันแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ มันน่าสนุกออก

WURKON:

เวลาเราดูงานของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาน Prada Marfa เรารู้สึกว่าคุณวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมหนักหน่วงเอาการ คุณไม่ชอบมันเหรอ

เอ็มกรีน:

อันที่จริงเราเป็นส่วนนึงของมันนะ แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องตั้งคำถามกับมันแหละ เราต้องตั้งคำถามกับการที่เรานำพาสังคมไปในทิศทางไหน เพราะในปัจจุบัน เรามีสถานการณ์อันวิกฤตในสังคมโลกทุกวันนี้ ที่ความเหลื่อมล้ำของรายได้และเศรษฐกิจสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เรามีคนแค่ 1% ที่ครอบครองทรัพย์สิน 99% ในขณะที่คนที่เหลือส่วนใหญ่อดอยากยากจน ลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าคุณเป็นเด็กที่เล่นเกมเศรษฐีแล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เกมมันก็จบเลยนะ คุณเล่นต่อไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันเป็นสถานการณ์จริงของระบบเศรษฐกิจของโลกเราทุกวันนี้ เราต่างก็มีส่วนที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมอันมหาศาลเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ในโลก ดังนั้นเราจึงต้องคิดถึงมันในวิธีที่แตกต่าง เราต้องท้าทายมัน เราไม่สามารถทำเป็นเพิกเฉยกับมันได้ ถามว่ากระเป๋าแบรนด์เนม หรือรถซูเปอร์คาร์หรูๆ มันจำเป็นกับชีวิตของเราแค่ไหน ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องไร้สาระน่ะ คือก็ผมชอบอาหารดีๆ นิยมบริโภคอะไรต่างๆ แหละนะ แต่เราต้องสร้างสมดุลย์ให้มัน ด้วยการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือ อาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

WURKON:

แต่ในทางกลับกัน บางครั้งศิลปะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของมันด้วยเหมือนกัน

เอ็มกรีน:

แน่นอนที่สุด! ผมรู้สึกรังเกียจกับความจริงที่ว่ามันมีความโลภโมโทสันมากมายขนาดไหนในวงการศิลปะ แต่มันก็เป็นเฉพาะในวงการศิลปะกระแสหลักที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ ยังมีแง่มุมที่สวยงามของศิลปะที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเงินทอง มีคนที่ทำงานศิลปะเพื่อการให้ความรู้อย่างบริสุทธิ์ใจ หรือคนที่สนับสนุนซึ่งกันและกันในรูปแบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไป แต่โลกศิลปะมันก็มีความแตกต่างหลากหลาย หอศิลป์หรือศิลปินควรจะต้องคิดให้ดีๆ ก่อนที่จะขายงานให้นักสะสมบางคนที่อาจจะไม่ใช่คนดีนัก มันค่อนข้างน่าอายนะ ที่เรารู้ว่าเราขายงานให้นักธุรกิจและนักการเมืองแย่ๆ หรือเผด็จการทหารที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน คนในวงการศิลปะไม่ได้โง่ เขารู้ว่าเขาขายงานให้ใคร เขารู้ว่าเขาทำอะไร เขาทำเพราะความโลภอย่างไม่มีข้อแม้ มันเป็นเรื่องยากนะ สำหรับศิลปินที่จะปกป้องงานของตัวเอง พวกเรามีกฎของเราบางอย่างสำหรับหอศิลป์ที่ดูแลเรื่องการขายงานให้เรา ว่าเราจะไม่ขายงานให้ใคร ถ้าคุณขายงานให้พ่อค้าอาวุธ หรือองค์กรที่ใช้แรงงานเด็ก หอศิลป์เหล่านั้นต้องซื้องานกลับคืนมา ซึ่งเราก็เคยทำแบบนี้มาแล้วด้วย แต่ก็แน่นอนว่าเราต้องเคยขายงานให้คนบางคน ที่ไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในโลก คุณไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะผมเองก็ไม่รู้จักนักสะสมทุกคนที่ซื้องานของผมไป ผมกลัวมาก ถ้าผมต้องไปทำความรู้จักและต้องพบปะนักสะสมทุกคนที่ซื้องานของผม ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นเซลส์แมนมากกว่าศิลปิน ผมทำงานกับหอศิลป์ ผมก็ต้องเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าพวกเขาทำในสิ่งที่ผิด เราก็เลิกทำงานกับเขาเท่านั้นเอง

WURKON:

คุณเคยบอกว่า ตอนแรกที่ทำงาน Prada Marfa ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ แต่พอบียองเซ่ไปถ่ายรูปแล้วอัพลงอินสตาแกรม จนกลายเป็นไวรัล เลยทำให้มีคนรู้จักงานนี้ไปทั่วโลก คุณเองก็เป็นศิลปินที่อยู่ในยุคคาบเกี่ยวระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังโซเชียลมีเดีย คุณคิดยังไงกับมัน คุณได้ใช้ประโยชน์จากมันบ้างไหม

เอ็มกรีน:

โอย ผมแย่มากเรื่องโซเชียลมีเดีย (หัวเราะ) เราเปิดแอคเคานท์อินสตาแกรมขึ้นมา เพราะมีคนเปิดอินสตาแกรมโดยใช้ชื่อเรา และโพสต์อะไรแย่ๆ ลงไป เราเลยต้องทำของเราเองขึ้นมา (หัวเราะ) แต่ผมยังใหม่มาก ผมไม่ถนัดใช้มันเท่าไหร่

WURKON:

แล้วคุณทำยังไงกับอินสตาแกรมที่เอาชื่อคุณไปใช้ มันโดนปิดไปหรือยัง

เอ็มกรีน:

ไม่รู้สิ ผมไม่ได้เช็คเลย (หัวเราะ) ผมพยายามร้องเรียนนะ ว่า เฮ้ นี่มันชื่อเรานะ อะไรเนี่ย คุณอนุญาตให้คนอื่นเอาชื่อเราไปใช้ได้ยังไง (หัวเราะ) แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก

WURKON:

คุณคิดยังไงกับวัฒนธรรมเซลฟี

เอ็มกรีน:

ผมคิดว่ามันค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว ที่โลกเราต้องเผชิญกับใบหน้าแสนสุขของใครสักคน ตลอดเวลา โอ้ คนกำลังอดอยากในแอฟริกา เฮ้ ดูสิ นี่ฉันเอง! อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เฮ้ ดูสิ นี่ฉันเอง! มันป่วยมากนะ มันเหมือนโลกไม่สามารถมีอยู่ได้โดยไม่มีหน้าของคุณปรากฎอยู่ข้างหน้า ก่อนหน้านี้ที่เราใช้กล้องแบบเก่า เราใช้กล้องถ่ายรูปอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง แต่ตอนนี้เราถ่ายแต่รูปตัวเอง มันป่วยมากเลยนะ

WURKON:

อ้าว เรากำลังจะขอถ่ายเซลฟีกับคุณไปโพสต์ลงอินสตาแกรมอยู่พอดีเลย

เอ็มกรีน:

(หัวเราะลั่น)

WURKON:

ถ้าเด็กรุ่นใหม่มาฟังคุณพูดแบบนี้ อาจจะบอกว่าคุณอายุมากแล้ว คุณไม่เข้าใจวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ คุณคิดว่ายังไง

เอ็มกรีน:

แน่นอน พวกเขาต้องพูดแบบนี้อยู่แล้ว ผมเองก็เคยพูดแบบนี้ คนทุกรุ่นต้องเคยพูดอะไรแบบนี้ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อคุณแก่ตัว คุณก็จะบ่นว่าคุณไม่เข้าใจดนตรี ไม่เข้าใจวัฒนธรรมสมัยใหม่เลย ทุกคนเป็นหมดแหละ ตอนผมเป็นเด็กๆ ก็เคยมีคนบ่นเมื่อมีซีดีออกมาว่า โอ้ย สียงมันแบนมาก! มันไม่ใช่การฟังเพลงที่แท้จริงเหมือนแผ่นเสียง อะไรของคุณ? (หัวเราะ) ยิ่งตอนนี้มีเอ็มพีสามออกมา คนก็บ่นว่า ไม่ เสียงมันแย่มาก ไม่มีไดนามิก อะไรกันนักกันหนา (หัวเราะ) มันคงดีแหละนะ ถ้าโลกมันจะหยุดหมุนอยู่ตรงจุดที่เราชอบ แต่มันเป็นไปไม่ได้ไง

WURKON:

ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม มันจะต้องมีความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) ไปเสียหมด เลยดูเหมือนว่าทำให้อารมณ์ขันหดหายไป เวลาคุณจะพูดอะไรออกมาแต่ละที คุณต้องคิดให้มากกว่าแต่ก่อน ดูเหมือนว่าประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในทุกวันนี้มันจะมีอิทธิพลมากจนทำให้บางครั้งเราอาจสูญเสียเสรีภาพในการพูดไป คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้

เอ็มกรีน:

ในทางกลับกัน ผมว่ามันสำคัญที่เราจะมีความถูกต้องทางการเมืองนะ เพราะยังไงเสีย การมีก็ยังดีกว่าไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ ที่ความไม่ถูกต้องทางการเมืองมันก็มีมากโขอยู่แล้ว

WURKON:

สุดท้ายแล้ว ธีมของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในปีนี้คือ Beyond Bliss หรือ สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต คุณคิดว่าในโลกที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ ศิลปะ จะนำพาความ “สุขสะพรั่ง” ให้กับผู้คนได้จริงๆ เหรอ

เอ็มกรีน:

ผมคิดว่าการที่คนในโลกปัจจุบันกำลังแสวงหาความสุข และพยายามทำให้ตัวเองดูสมบูรณ์แบบทุกสิ่งอย่างบนโลกออนไลน์ บางคนรู้สึกด้วยซ้ำว่า ถ้าตัวเองไม่มีความสุข นั่นคือความผิด มันเลยทำให้ผมกลับมาย้อนมองตัวเองในฐานะศิลปิน และตระหนักว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราเป็นมนุษย์ที่อยู่กับความจริงมากขึ้น คือถ้าศิลปิน (ขี้เกียจๆ) อย่างผม ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง สร้างงานประหลาดๆ ผมมองว่าคนที่เห็นและมาดูงาน ก็อาจจะมีความกล้า ปลดเปลื้องความกลัวในใจของตนเอง และลุกขึ้นมาทำอะไรที่เราอยากจะทำได้ ผมคิดว่าศิลปะมีคุณสมบัติในการลดความกลัว พอเราไม่กลัวปุ๊บ เราก็จัดการกับอะไรในชีวิตของเราได้ง่ายขึ้น

การทำงานเป็นศิลปินอาชีพ บางทีมันก็เป็นเรื่องของความบังเอิญและโชคด้วย ผมเห็นศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในเมืองใหญ่หลายคน พยายามทำงาน พยายามหาเงิน จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง จนทำให้ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว การเป็นศิลปินคือการที่ได้สื่อสารกับผู้คน ถ้าคนดูงานได้อะไรจากผมไปบ้าง นั่นคือความสำเร็จของผมแล้ว

สำหรับผม ความสำเร็จไม่ได้วัดที่เงินและชื่อเสียง ไม่ได้วัดว่ามีคนมาดูจนล้นห้องแสดงงาน แต่ถ้าทุกคนกลับไปแล้วไม่ได้อะไรเลย ผมก็คงเสียใจ ความสำเร็จของผม คือการที่ศิลปินคนหนึ่งได้สื่อสารบางสิ่งบางอย่างออกมา แล้วคนที่รักศิลปะ อาจจะเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ แต่รวมตัวกันมาดูงานศิลปะด้วยความเข้าใจ เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้ว สิ่งนี้ต่างหากคือความสำเร็จของผม (ยิ้ม)

Elmgreen & Dragset ซ้าย: อิงการ์ แดรกเซ็ต, ขวา: ไมเคิล เอ็มกรีน, ภาพถ่ายโดย Elmar Vestner, ภาพจาก https://goo.gl/fwjZMA

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

#WURKON #art #contemporaryart #elmgreenanddragset #michaelelmgreen#interview #ingardragset #BangkokBiennale #BAB2018 #CreativeEconomy#Bangkok #biennale #pradamarfa #vanhoghear #DISLOCATEDOriental#ศิลปะ #สถาปัตยกรรม #ดีไซน์ #ศิลปะจัดวาง #ประติมากรรม #ศิลปะร่วมสมัย#inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

สัมผัสแรงบันดาลใจจากความคิดสร้างสรรค์แห่งการออกแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ได้ที่ WURKON ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่

สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : www.wurkon.com

สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON

สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557

Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon

Follow Instagram : @wurkon



Related Stories

Showroom
Address

71/15 Soi Pattanavate 12, Sukhumvit 71 Road, Prakanong-Nua, Wattana, Bangkok 10110, Thailand

Call Us
  • (66) 02-005-3550
  • (66) 096-391-9462
Fax

(66) 02-005-2557

Opening Hours

Mon - Fri: 08:30 - 17:30